โรคระบาดที่วันจบจะมาถึงเมื่อไหร่ก็ยังไม่แน่นอนเหมือนใจคน (อ้าว…) สำหรับชาวญี่ปุ่นที่ว่ากันว่าเป็นประเทศที่ไฮยีนยิ่งชีพ เรื่องนี้ก็หนักหนาพอแล้ว แต่ในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่าน ชาวญี่ปุ่นต้องรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างแข็งแกร่งอีกรอบ เมื่อ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีสองสมัยประกาศลาออกจากตำแหน่ง สาเหตุจากอาการเจ็บป่วยลำไส้เรื้อรัง
ว่ากันว่าในช่วงวิกฤติ การเปลี่ยนแปลงผู้นำคือสิ่งที่ถ้าเลี่ยงได้ควรเลี่ยง (ถ้าผู้นำคนนั้นบริหารประเทศได้โอเคและมาจากการเลือกตั้งอะนะ) แต่สำหรับสถานการณ์ญี่ปุ่นในตอนนี้ – ก็คงต้องยอมรับและเดินต่อไป และไม่ว่าจะมีการเมืองเบื้องลึกเบื้องหลังหรือไม่…
แต่สุดท้าย ส.ส.ญี่ปุ่นก็ได้เลือกนายกฯ คนใหม่มาประจำการ นั่นก็คือ โยชิฮิเดะ ซูกะ
โดยก่อนหน้านี้ ซูกะ นั่งตำแหน่งเลขาธิการใหญ่แห่งคณะรัฐมนตรีอาเบะ ได้กลายเป็นนายกฯ คนแรกแห่งสมัยเรวะ นอกจากนั้นยังคงเป็นหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตยควบไปด้วย
แม้ญี่ปุ่นจะเป็นดินแดนที่ว่ากันว่ามีชนชั้นกลางมากที่สุดในโลก แต่ก็มีปัญหาเรื้อรังตามกาลเวลา และค่านิยม
และเนื่องจากอาหารการกินที่ดีและคุณภาพชีวิต ทำให้ประชากรญี่ปุ่นอายุยืนและก้าวสู่สังคมผู้สังวัยอย่างรวดเร็วชนิดเกินต้าน วัฒนธรรมการทำงานหนักก็ทำให้คนไม่มีเวลาไปเดท เอาตัวเองยังจะไม่รอดจะเอาเวลาที่ไหนมาสร้างครอบครัว นำมาซึ่งกำลังจับจ่ายที่ลดลงฮวบฮาบในสิบปีที่ผ่านมา
และที่น่าประหลาดใจจนต้องขมวดคิ้วก็คือ ญี่ปุ่นคือผู้ผลิตนวัตกรรมล้ำสุดขอบโลกหลายอย่าง แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังอนาล็อก – ระบบราชการยังใช้กระดาษเป็นตั้ง แถมด้วย pain point จากประชาชน ที่ยังนิยมการใช้เงินสดเมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลก ที่ต้อนรับออนไลน์แบงค์กิ้งกันอย่างอบอุ่น ยอดธุรกรรมพุ่งทะลุเพดานขึ้นทุกปี
Chaptor One ของ ‘ซูกะโนมิกส์’
ในยุครัฐบาลของ ชินโซ อาเบะ เขามีนโยบายเศรษฐกิจชุดหนึ่ง ตั้งชื่อว่า ‘อาเบะโนมิกส์’ เป้าหมายคือแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืดเคืองของญี่ปุ่นที่เป็นมาสองทศวรรษ จากปัจจัยต่างๆ ที่เราเล่าไปข้างบน
หลักๆ ของนโยบายอาเบะโนมิกส์คือหล่อลื่นเศรษฐกิจให้ไหลเวียน โดยอัดเงินในระบบเพื่อให้เงินเฟ้อขึ้น 2% และทำให้เงินเยนอ่อนค่าลง ลงทุนเพิ่มจากรัฐบาล พร้อมไปกับกระตุ้นให้ฝั่งเอกชนลงทุนมากขึ้น สร้างงานในประเทศ
พอเปลี่ยนมือสู่ยุคของซูกะ ในวันที่เขารับตำแหน่ง เขาประกาศว่า นโยบายเศรษฐกิจจะยังคงรักษาฐานบางอย่างจากอาเบะโนมิกส์เอาไว้ (ในเชิงการเมือง การดำเนินการอาเบะโนมิกส์ต่อเนื่อง ก็เป็นความต้องการของพรรคฯ และเป็นการตัดสินใจที่ทำให้ซูกะได้รับตำแหน่งนายกฯ) แต่ญี่ปุ่นจะต้องก้าวสู่ยุคสมัยดิจิทัลเต็มตัว ซึ่ง ‘ซูกะโนมิกส์’ จะเดินหน้าไปในทิศทางนั้น
เขาบอกเหตุผลที่ยังสานต่อนโยบายอาเบะไว้ว่า ในช่วงเวลาที่ประชาชนเผชิญความไม่แน่นอนของโรคระบาด และเศรษฐกิจ รัฐบาลกังวลใจว่าตลาดจะปั่นป่วน ถ้านโยบายเศรษฐกิจหลักของประเทศถูกเปลี่ยนแปลง
ความน่าสนใจคือการจัดตั้งรัฐบาลของซูกะยังคงขุนพลรัฐมนตรีหน้าเดิมไว้หลายคน ในหลายตำแหน่งสำคัญ ซึ่งหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ยาสุฮิเดะ ยาจิมะ ของ สถาบันวิจัย NLI ให้ความเห็นกับเจแปนไทมส์ ว่า “การที่ยังให้รัฐมนตรีที่เป็นกระดูสันหลังในยุคอาเบะทำงานต่อ เป็นเพราะซูกะน่าจะต้องการที่จะสร้างความเชื่อมั่นต่อเนื่องในการรับมือต่อสถานการณ์ไวรัสระบาดต่อประชาชน”
ซึ่งภายใต้ซูกะโนมิกส์ มีอะไรบ้าง The MATTER ลองย่อยมาให้อ่านง่ายๆ กัน
‘ซูกะโนมิกส์’ จะยังคงสานต่อ ‘อาเบะโนมิกส์’
อาเบะโนมิกส์ คือชื่อยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีคนก่อนอย่างชินโซ อาเบะ เน้นเรื่องการใช้จ่ายทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลักดันการลงทุนจากภาคเอกชน แต่สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาก็คือ การเดินหน้าปรับสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ
จากอานาล็อก สู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“ถึงเวลาสิ้นสุดเอกสารกระดาษ” เร่งจัดตั้งหน่วยงานดิจิทัล เพื่อประสานงานให้องค์กรรัฐสามารถทำงานออนไลน์ร่วมกันได้ทั้งประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาแม้ประเทศญี่ปุ่นจะผลิตนวัตกรรมอย่างมากมายและล้ำหน้า แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ ระบบราชการยังใช้เอกสารกระดาษเยอะมาก และสิ่งที่ชัดเจนว่าเป็นปัญหาเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากรัฐบาลประกาศแจกเงินช่วยเหลือประชาชน 1 แสนแยน แต่กลับจ่ายล่าช้าเพราะเอกสารกระดาษจำนวนมหาศาลที่ต้องตรวจสอบ
ชูการ์ด My Number
My number คือ หมายเลขประจำตัว 12 หลักที่รัฐบาลญี่ปุ่นกำหนดเพื่อใช้ระบุตัวบุคคลในการเก็บภาษี ประกันสังคม และระบุตัวตนช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัติ โดยแต่ก่อนคนไม่ได้ใช้กันมากนักทำให้เกิดการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน แต่ในรัฐบาลนี้จะมีการผลักดันให้ประชาชนใช้บัตรประกันสังคมและการจ่ายภาษีดิจิทัลมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ใช้งานเพียง 19.4% ทั่วประเทศ โดยซูกะบอกว่า หากต้องการให้ประเทศญี่ปุ่นก้าวข้ามจากสังคมผู้สูงวัย สู่สังคมดิจิทัลสมบูรณ์แบบ การทำให้ประชาชนหันมาใช้ My Number คือกุญแจที่สำคัญมากๆ
ค่ายมือถือต้องลดค่าเน็ต
ญี่ปุ่นถือว่ามีค่าบริการเครือข่ายโทรศัพท์แพงเมื่อเทียบประเทศอื่น เป้าหมายคือให้ 3 ค่ายโทรศัพท์ใหญ่ลดค่าบริการลง 40% การลดค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นภาระประชาชนซึ่งซูกะมองว่า ‘มากเกินไป’ จะทำให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้นไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
ปกป้องประชาชนไม่ให้ตกงาน
จากการระบาด COVID-19 รัฐบาลจะทุ่มงบเงินกู้และเงินอุดหนุนบริษัทเอกชน เป้าหมายสำคัญที่สุดคือ ‘ปกป้องประชาชนไม่ให้ตกงาน’ พร้อมกับการออกแคมเปญ Go To Travel กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการท่องเที่ยวในประเทศ โดยให้คนญี่ปุ่นออกมาจับจ่ายใช้สอยในประเทศกันเอง เพื่อพยุงเศรษฐกิจ
illustration by Monsicha Srisuantang