ใกล้จะหมดปี เรื่องภาษีกลับมาอีกหน และครั้งนี้คนรุ่นใหม่ เด็กนักเรียน ส่งเสียงถึงประเด็นนี้กันอย่างเต็มเสียง
เรื่องของภาษีนั้นปวดหัว และมักจะถูกพูดถึงบ่อยมากในช่วงต้นปีของทุกปี เพราะเหล่าผู้มีรายได้จะต้องยื่นและชำระภาษีในฐานะประชาชน
น่าสนใจที่หลายเดือนที่ผ่านมา เรื่องของภาษีถูกหยิบมาพูดถึงอย่างดุเดือด ทั้งบนโลกออนไลน์และออฟไลน์ – โดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ และโดยเฉพาะประเด็นการเรียกร้องเพื่อที่อยากให้กลุ่มผู้บริหารประเทศจัดการภาษีในฐานะเงินกองกลางของประเทศอย่างถูกต้อง
ภาษีคืออะไร? หลายคนบอกว่าเด็กๆ ไม่ได้จ่ายภาษีเพราะไม่มีรายได้ จริงไหม? เด็กรุ่นใหม่อาจจะมีคำถามในใจว่าไม่อยากจ่ายภาษีเลยอยากจะลดหย่อนให้หมด ทำได้ไหม? การลดหย่อนภาษีดียังไงบ้าง? ภาษีเกี่ยวข้องกับสถานการณ์บ้านเมืองที่ขึ้นๆ ลงๆ อย่างไรบ้าง และภาษีเป็นเรื่องของคนทุกคนได้อย่างไร?
The MATTER ไปชวน มิก – ผศ.ดร.ยุทธนา ศรีสวัสดิ์ ผู้ก่อตั้ง iTax แพลตฟอร์มที่ใช้เทคโนโลยีในการช่วยคนไทยในการคำนวณภาษีแต่ละปีได้ง่ายดายขึ้น และจ่ายภาษีได้อย่างประหยัดที่สุด ถึงเรื่องราวของภาษีที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ
แต่ก่อนอื่นที่จะเลื่อนลงไปยังบทสัมภาษณ์ เราขออนุญาตปูพื้นฐานเล็กๆ น้อยๆ
ภาษี คือ เงินหรือทรัพย์สินที่รัฐหรือสถาบันที่ปฏิบัติหน้าที่เทียบเท่ารัฐ เรียกเก็บจากราษฎร หรือพลเมืองในประเทศ และถือเป็นหน้าที่ที่ประชาชนจะต้องจ่าย
ประเภทของภาษีมีมากหน้าหลายตา แต่หลักๆ ที่อยากให้ทำความเข้าใจ คือ ‘ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา’ ที่ประชาชนต้องเสียภาษีตามเปอร์เซ็นต์ขั้นบันไดรายได้ที่ได้รับในแต่ละปี และ ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ หรือภาษีบริโภค ที่เก็บทางอ้อมจากการบริโภคหรือการได้รับบริการ จำนวน 7% ของราคาสินค้า
ส่วนการลดหย่อนภาษี คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากทางภาครัฐ ที่หากเราปฏิบัติตามแล้ว เราสามารถที่จะจ่ายภาษีได้ถูกลง หรืออาจจะได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น โดยเราสามารถเลือกจะลดหย่อนแบบไหนก็ได้ หรือจะเลือกไม่ลดหย่อนก็ได้
เอาล่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ไปเข้าใจเรื่องกันเลย
ถ้าให้อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ ‘ภาษี’ คืออะไร มันมีส่งผลอะไรกับประเทศและประชาชนบ้าง
ผมโยงให้เห็นภาพใหญ่ก่อนนะ ภาษีคือเครื่องมือชิ้นหนึ่งของรัฐบาล ที่ใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ เราก็จะมองว่าภาษีเป็นเรื่องรายได้เข้ารัฐอย่างเดียว อันนั้นเป็นเรื่องมิติเดียว แต่ภาษีจริงๆ เป็นเครื่องมือทางการคลังหนึ่งที่รัฐใช้ในการบริหารประเทศ กิจการในประเทศ และควบคุมพฤติกรรมบางอย่างของสังคมด้วย
ถ้าเราอยากให้คนทำอะไรสักอย่าง เราก็จะมีนโยบายภาษีเพื่อเชิญชวนให้คนทำอะไรบางอย่าง ถ้าจำได้ ห้าปีก่อนจะมีโครงการรถคันแรก คนซื้อกระจุยเลยเพราะอยู่ๆ เขาลดภาษีให้หนึ่งแสนบาท เซลล์คนไหนในประเทศก็ลดขนาดนี้ให้เราไม่ได้ มันอาจจะไม่มีอีกแล้ว คนก็กระโดดกระโจนเข้าไป พฤติกรรมเราเปลี่ยน ไม่คิดหน้าคิดหลังแล้ว
หรือถ้าไม่อยากให้คนทำบางอย่าง ก็อาจจะเป็นนโยบายขึ้นภาษี ทำให้ราคามันแพงขึ้น บุหรี่แพง เหล้าแพง อาจจะดูดวันละซอง มวนต่อมวนไม่ไหวแล้ว อาจจะเป็นสองวันซองแทน อะไรแบบนี้เป็นต้น ดังนั้นเครื่องมือภาษีจะมาตอบรับอะไรบางอย่างของรัฐเสมอ
และถ้าพูดถึงการจ่ายภาษี มันเกี่ยวข้องหรือส่งผลอย่างไร กับสถานการณ์เรื่อง COVID-19 ระบาด หรือสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่มั่นคงบ้าง
พอพูดถึงโควิด โรคระบาด หรือวิกฤตเศรษฐกิจ ภาษีก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เอามาใช้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าอยากให้คนไปกระจุกที่ไหน เราก็เอา incentive (สิทธิประโยชน์) ไปวางไว้ตรงนั้น
ปีก่อนถ้าได้ยิน ก็จะเป็นเรื่องท่องเที่ยว คนก็ไปเที่ยวกันแต่ปกติจะไปเมืองหลักตลอดเลย จะไปเชียงใหม่ ภูเก็ตบ้าง โคราชบ้าง เขาก็อยากให้กระจาย ก็มีการให้ไปเที่ยวเมืองรอง ถ้าคุณเที่ยวเมืองรอง คุณลดหย่อนภาษีได้มากกว่า
หรือในช่วงโควิด ในวงการการแพทย์ ตอนนั้นก็มีนโยบายบอกว่า รายได้พิเศษของหมอที่เกิดในช่วงทำงานนอกกะ จะไม่เสียภาษี ถือเป็นกำลังใจให้
คนรุ่นใหม่หลายคนโกรธ ไม่อยากจ่ายภาษี เพราะไม่เชื่อในการบริหารของรัฐ คุณคิดเห็นยังไงกับประเด็นนี้
คนชอบเข้าใจว่าเวลาเราพูดถึงภาษี มันผูกโยงแค่กับภาษีเงินได้ (ภาษีจากรายได้) เสมอ คือหมายถึงที่ฉันต้องไปยื่นแต่ละปี จริงๆ มันไม่ใช่ ภาษีมันแทรกซึมในหลายจุดหลายพื้นที่มาก มันอยู่ในทุกวัน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ก็แล้วแต่ มันคือ ‘ภาษีการบริโภค’ ฉันจ่ายเพราะฉันใช้ อย่างเช่น คุณซื้อสตาร์บัคแก้วหนึ่ง มันก็มีภาษีมูลค่าเพิ่มหมด หรือซื้อของตามห้างฯ ตามอะไรก็ตาม มันมีภาษีมูลค่าเพิ่มแฝงไว้
ในเชิงเทคนิคแสดงว่า ทุกคนเสียภาษี คือมันเก็บ ณ เวลาที่จ่ายเงิน ณ เวลาที่ควักเงินออกไป และมันรวมในราคาสินค้าอยู่แล้ว ดังนั้นเราไม่สามารถบอกคนขายได้ว่า เออ ฉันขอจ่ายแค่ 100 บาท อีก 7 บาทไม่จ่าย
ส่วนภาษีเงินได้บ้านเรามันคือการที่ผู้เสียภาษีต้องแสดงตัวเอง คุณไปรวบรวมมาเพื่อยื่นให้ฉันดู ประเด็นคือถ้าไม่ยื่นคือผิดกฎหมาย เพราะตามกฎหมายคือคุณต้องยื่น
และถ้ายื่นแล้วมันมีภาษีที่ต้องจ่ายเพิ่ม แล้วไม่จ่าย มันจะมีบทลงโทษตามกฎหมาย ต้องเข้าใจด้วยว่าหลักการเรื่องภาษี ถ้าเรามองในมุมเปิดใจกว้างๆ ภาษีมันคือเงินกองกลาง นึกเสียว่าเราอยู่คอนโด มันจะมีนิติบุคคล คือคนที่ดูแล เหมือนคณะกรรมการหมู่บ้าน
นิติฯ ต้องการเงินกองกลางเพื่อไปจ่ายค่าไฟ ค่าลิฟต์ ค่าพนักงาน แม่บ้าน รปภ. เพื่อดูแลเรา คำถามก็คือว่าแล้วใครควรจะจ่าย มันก็คือผู้อาศัยต้องจ่ายตามตารางเมตรของพื้นที่ที่อาศัยอยู่ มันเป็นเงินกองกลางที่เราต้องรับผิดชอบร่วมกัน ถามว่าถ้าไม่จ่ายเกิดไรขึ้น ก็ไม่มีรปภ. ลิฟต์เสีย ไม่มีคนดูแล บ้านสกปรก สระว่ายน้ำสีเขียวอี๋เป็นสีมรกต ดังนั้นต้องเข้าใจก่อนว่าต่อให้เราต่างคนต่างอยู่ แต่มันจะมีพื้นที่ส่วนกลาง ที่เราต้องใช้ร่วมกัน
ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศ ไม่ต่างกัน เงินกองกลางที่เราจ่ายก็คือค่าส่วนกลาง คือภาษี เนี่ยแหละ แต่คราวนี้เราไม่ได้มีนิติบุคคล เรามีรัฐบาล ซึ่งหลักการเดียวกันก็คือว่า เราเลือกผู้แทนฯ ให้ผู้แทนฯ เลือกนายกรัฐมนตรี ฟอร์มทีมบริหารขึ้นมา แล้วเขาก็เอาเงินกองกลางนี้ไปใช้ เสนอแผนมา อีกด้านก็คือจะมีสภาผู้แทนราษฎรทำหน้าที่ตรวจสอบว่างบที่ใช้มันโอเคไม่โอเค ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
ทีนี้พอพูดถึงสถานการณ์ตอนนี้ปุ๊ปแล้วบอกว่าเราไม่อยากจ่าย อย่างแรกเลยผิดกฎหมาย อย่างที่สองคือ – ผมอาจจะพูดแรงนิดหนึ่ง การที่เรารู้สึกว่าไอ้พวกนี้มันนิสัยไม่ดี มันเลว ฉันเลยไม่อยากจ่ายภาษี เรากำลังทำตัวแบบไม่รู้หน้าที่ เหมือนที่เรากำลังด่าคนพวกนี้ว่าไม่รู้หน้าที่รึเปล่า ผมมองมุมกลับนะ
ซึ่งนี่เป็นเหตุผลที่เราทำ iTAX คือเราอยากด่าเขาอะ
แต่ก่อนจะด่าเขาได้ เราต้องสง่าผ่าเผยก่อนว่าฉันทำหน้าที่
ของฉันแล้วนะ แล้วคุณทำหน้าที่ของคุณหรือยัง
ซึ่งพอฉันจ่ายภาษีทุกบาท ทีนี้ฉันด่าเธอได้แล้วนะว่า เธอเอาภาษีฉันไปใช้เละเทะมาก
ทีนี้บางคนบอกว่าอยากลดหย่อนภาษีให้ได้มากที่สุด เพราะไม่อยากให้รัฐเอาเงินไปบริหารเละเทะแบบนี้ ชุดความคิดแบบนี้ผิดไหม?
ผิดหรือถูกมันขึ้นกับมุมมอง แต่ตามกฎหมายไม่ผิดเลย เพราะนั่นคือสิ่งที่กฎหมายมอบให้ เพราะคุณไม่ได้หนีภาษี คุณกำลังทำวางแผนภาษี คือการหนีภาษีนั้น คุณมีหน้าที่ต้องจ่ายแต่คุณไม่จ่าย หนีไปดื้อๆ เลย
ทีนี้ผมจะเล่าให้ฟังต่อว่า แล้วในมุม ‘การวางแผนการเงิน’ มันใช่ไหม คำตอบก็คือ มันอาจจะไม่เสมอไป โดยปกติไอ้เครื่องมือเรื่องของการลดหย่อนภาษี การจ่ายภาษีควรจะเป็นเรื่องรองนะ ภาษีคือของแถม ตัวหลักจริงๆ คือเป้าหมายทางการเงินเช่น สมมติว่าอยากจะซื้อประกัน หรือกองทุนเพื่อลดหย่อน ผมต้องถามตัวเองก่อนเลยนะว่า ผมต้องไปซื้อประกันและกองทุนไหม ถ้าไม่จำเป็น ผมก็ไม่ไปทางนั้นก็ได้ ก็จ่ายภาษีไปตามปกติ แต่ถ้ารู้สึกมีความเสี่ยงที่เรากลัว มีลูกแล้ว ลูกกำลังเล็ก อยากดูแลเขา เลยซื้อประกันตลอดชีพเพื่อลดหย่อนภาษี แบบนี้โอเค หรือฉันโสดๆ ไม่มีภาระอะไร เลยซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี ซื้อประกันออมทรัพย์แล้วกัน เพราะยอดภาษีเริ่มแพงแล้ว ก็ทำได้ ถ้ามีเงินวางไว้เย็นๆ ก็โอเค
แต่ถ้าเราไม่ได้มีเงินเย็นขนาดนั้น และเราเอาเงินไปโปะตรงนั้นทั้งหมด และกว่าจะเอาเงินตรงนั้นออกมาได้นี่ มันอีกหลายปี บางทีเราอาจจะลำบากไปเองก็ได้ เพราะงั้นความโกรธแค้นมันเป็นเรื่องอารมณ์ แต่เรื่องการวางแผนการเงินเป็นเรื่องเหตุผล ไอ้สองอันนี้เนี่ย มันจะมีความย้อนแย้งอยู่แล้ว
เรื่องที่สองคือ ต่อให้เราไม่จ่ายภาษีให้เขา คือเราลดหย่อนจนภาษีเหลือศูนย์ แล้วเรามีความสะใจตรงนั้นน่ะ อันนั้นโอเคนะ ไม่มีปัญหาหรอกถ้าเราแฮปปี้ แต่ต้องบอกก่อนว่า จริงๆ พวกเครื่องมือลดหย่อนภาษีมันก็เป็นสิ่งที่รัฐเองเขาเห็นอยู่แล้ว เขาเลย Lead ไปทางนั้น ยกตัวอย่าง ถามว่าทำไมซื้อประกัน, กองทุน มาลดหย่อนภาษีได้ล่ะ? แสดงว่ารัฐต้องเห็นดีเห็นงามกับการที่เราเอาเงินไปกองตรงนั้นสิ เพราะถ้าเขาไม่เห็นดีเห็นงาม เขาจะเปิดช่องนี้ทำไม
ยกตัวอย่างเช่น การเกษียณ บ้านเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการ แต่เราคาดหวังกับชีวิตที่มันดีกว่านี้ มันก็มีปัญหาตามมาว่า ถ้าเกษียณแล้วรัฐให้เงิน รัฐมองว่าไม่ไหวนะ ดังนั้นถ้าคุณช่วยตัวเองได้ ช่วยตัวเองไปก่อนเลย ซื้อกองทุนเพื่อการออมระยะยาว เพื่อเกษียณ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพคุณโปะไปเลยนะ คุณซื้อไปเลยนะ แล้วเอามาลดหย่อยภาษีกับเรา แล้วพอถึงเวลาตอนแก่คุณดูแลตัวเองนะ แต่เราได้ให้ incetive คุณไป ณ วันนี้ที่คุณวางแผนสิ่งนี้ได้ มันเป็นผลลัพธ์ที่รัฐอยากได้เหมือนกัน ดังนั้นมองอีกด้าน ก็คือไอ้เครื่องมือเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามีพฤติกรรมทางอ้อมแบบเขาต้องการ
การลดหย่อนมันเหมือนกับว่าเราแค่ตัดสินใจได้ว่าเราจะเอาเงินเหล่านั้นไปให้ใคร แต่ถ้าเอาเงินไปฝากหลวง เราจ่ายภาษีไป หลวงก็จะเป็นคนคิดต่อแทนว่าจะเอาเงินตรงนั้นไปให้ใครบ้าง ถ้าเราไม่ชอบวิธีคิดของเขา เราก็เลือกของเราเองได้
มีเรื่องนึงที่ถกเถียงกันเยอะมาก เด็กมัธยม หรือเด็กๆ ที่ไม่มีรายได้ของตัวเอง เขาจ่ายภาษีไหม
ในชีวิตประจำวันที่เราเจอกันแน่ๆ ก็คือภาษีมูลค่าเพิ่มนี่แหละ การที่เราได้ค่าขนมจากที่บ้านมา เราก็ไปซื้ออะไรบางอย่าง อาหาร ขนม อะไรก็แล้วแต่ มันจะมีภาษีการบริโภคเกิดขึ้นกับเรา เราก็จะเสียตรงนั้นไป หรือบางทีเราไปจ่ายเงินให้กับคนที่เขาไม่ได้เข้าระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม โอเค ตอนเราซื้อไม่มี VAT แต่ฝั่งเขาเองเขาก็ต้องไปเสียอีกที สุดท้ายเงินมันจะกระจายแล้วก็วิ่งไป เราไม่ได้จ่ายทางตรง แต่ก็มีทางอ้อมที่มันเกิดขึ้น เราเป็นสาเหตุที่ทำให้ใครบางคนเสียภาษีอยู่แล้ว
ถ้าเกิดเรานิยามว่าใครคือผู้เสียภาษีเนี่ย ผมการันตีเลยว่า
แม้แต่ผู้ใหญ่ที่บอกว่าเด็กไม่ได้จ่ายภาษีเพราะไม่มีรายได้
ต่อให้เขาเกษียณไม่มีรายได้ เขาก็เป็นผู้เสียภาษีอยู่ดี
หรือกระทั่งเด็กที่เกิดมาวันแรก ผมเชื่อว่าเขาเป็นผู้เสียภาษีแล้ว
แพมเพิร์สชิ้นแรกก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แพมเพิร์สผู้ใหญ่ชิ้นนั้นที่เขาซื้อใส่เป็นชิ้นสุดท้าย มันก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งแสดงว่าทุกคนในมุมของภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกคนเป็นคนควักเงินภาษีนั้นออกไปจ่าย ปฏิเสธไม่ได้
เราอย่ามองข้ามเรื่องหนึ่งนะ ภาษีมันไม่ได้ยึดโยงกับเงินได้เสมอ ภาษีจริงๆ มีหลายรูปแบบ หลายฟอร์มมาก แล้วภาษีมูลค่าเพิ่มมันไม่น้อยนะ ถ้าเป็นยอดในช่วงเวลาปกติ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปีหนึ่งเขาจัดเก็บได้ประมาณสัก 400,000 ล้าน
แต่ถ้าเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ 700,000 ล้าน บ้านเราสัดส่วนภาษีบริโภค เยอะกว่าเงินได้เป็นเท่าตัว มันเป็นโครงสร้างที่ดูแปลกเหมือนกันนะ คือเราเก็บจากการบริโภคได้เยอะ แต่เก็บจากเงินได้ หรือคนรวยได้น้อย ถ้าเกิดว่าสะท้อนอีกด้านนึงก็คือแปลว่า คนไทยรวยไม่พอ
แล้วจริงๆ ภาษีเงินได้ ควรเก็บได้มากกว่าภาษีบริโภคเหรอ?
ถ้าจะให้ดี ผมว่าจริงๆ แล้วทุกคนควรรวย เพราะถ้าทุกคนเป็นรากฐาน SMEs คนทำงานทุกคนรวยหมด คุณภาพชีวิตทุกคนดีขึ้น เขาจะเรียกร้องจากรัฐน้อยลง แต่ถ้าเกิดคุณภาพชีวิตไม่ดี เขาจะเรียกร้องจากรัฐเยอะขึ้นเพราะเขาคิดว่ารัฐคือบุคคลที่ต้องรับผิดชอบชีวิตเขา ทีนี้การที่ทุกคนจะรวยหมดเราก็ต้องวางสิ่งแวดล้อมผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ให้ทุกคนรู้สึกว่าการใช้ชีวิตในเมืองนี้มันดีมันง่าย พอมันเป็นงั้น คำว่ารัฐสวัสดิการจะกลายเป็นเรื่องที่คนไม่ถามถึง
ถ้าเกิดเราพูดในมุมว่าทุกคนรวยหมดจะเกิดไรขึ้น? ถ้าทุกคนรวยหมด มีเงิน แม้แต่บริษัทคอร์เปอเรตขนาดใหญ่ ที่เราบอกว่าผูกขาดๆ เขาจะรวยได้มากกว่านี้อีกสี่เท่า ห้าเท่าเลยก็ได้ เพราะกำลังซื้อผู้บริโภคมันสูงขึ้น
สิงคโปร์เขาเก็บภาษีบุคคลธรรมดาสูงสุดที่ 22% บ้านเราคือ 35% ต่างกันเยอะนะ
ที่สำคัญ คนที่เสีย 22% ของเขารายได้สุทธิเขาประมาณเจ็ดล้านบาทต่อปี หลังจากหักทั้งหมด แต่ของเรามีเงินได้สัก 1 ล้าน ก็เริ่มเสียภาษีขั้นสูงสุดละ คือจุดเดือดเราต่ำมากเลย มันแปลว่าอะไร? แปลว่าถ้าเราสามารถปรับโครงสร้างให้คนรวยขึ้นมาได้ เราสามารถจ่ายภาษีได้มากขึ้น แสดงว่าความจำเป็นในการจัดเก็บภาษีแพงขนาดนี้ ก็จะลดลง แล้วเทรนด์โลกอัตราภาษีมีแนวโน้มที่จะลดลงมากกว่า ไม่ได้แนวโน้มจะสูงขึ้น แล้วทีนี้คือถ้าเราสามารถทำให้ทุกคนรวยขึ้นได้เท่าตัว ประชาชนช่วยกันจ่ายภาษีกันได้มากขึ้น ผมก็คาดหวังนะว่าในเวลาอันใกล้ การจ่ายภาษีของเราจะถูกลงกันคนละครึ่ง
หลายคนต้องการรัฐสวัสดิการ แต่จริงๆ แล้วรัฐสวัสดิการจำเป็นต่อทุกสังคมไหม
โมเดลที่ผมพูดถึงแบบสิงคโปร์ คือเขาไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการจัดๆ ขนาดนั้น
ถ้าว่ากันตามตรง อัตราภาษีต่อ GDP เขาเก็บได้น้อยกว่าเรา – สิงคโปร์เก็บได้ 15% บ้านเราเก็บได้ 17% แถบสแกนดิเนเวียที่เป็นรัฐสวัสดิการคือราวกว่า 50% แต่รัฐสวัสดิการคือรัฐเอาเงินไปจัดสรรทุกอย่างกลับมาให้ประชาชนทุกมิติชีวิตเลย ไม่ว่าจะค่าเล่าเรียนหรือรักษาพยาบาล
สิงคโปร์เก็บภาษีได้ 15% ของ GDP ซึ่งถ้าเป็นสัดส่วนคือไม่ได้เยอะ แต่วงเงินเขาเยอะมากเลยเพราะอะไร? เพราะ GDP บ้านเขามันโตและสูงมาก และคนในประเทศนั้นเขาทำงานอะไรก็มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีได้ ในขณะที่บ้านเรา – คงเคยได้ยินคำว่าขยันผิดที่ ทำไมคนขยันผิดที่สิบปีก็ไม่รวย คำถามคือแล้วทำไมเราไม่จับเขาไปอยู่ให้ถูกที่ล่ะ เราจะได้ไปข้างหน้าด้วยกันได้ จุดนี้น่าจะเป็นจุดที่เป็นประเด็นมากกว่า
ชวนคุยถึงเรื่องระยะใกล้ขึ้นกันบ้าง ปีนี้เศรษฐกิจไม่ดี และเรียกว่า GDP ประเทศไทยจะติดลบเพราะโรคระบาด สถานการณ์ของกรมสรรพากรก็อาจจะแย่ในปีนี้ ทีนี้สรรพากรจะหารายได้เพิ่มยังไง
ผมเดานะ ก็คงต้องไปหาคนที่จ่ายภาษีมาเพิ่มแหละ ถ้าเป้าของเขาคืออยากได้เงินเท่าเดิม เขาก็ต้องทำและความเข้มข้นก็จะเพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่เพราะเขาเคี่ยวนะ แต่มันต้องหาทางออก
แต่เดิมนะครับ ปกติเรามีประชากรประมาณ 67 ล้านคน มีคนในตลาดแรงงาน 38 ล้านคนจากข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ส่วนคนที่ยื่นภาษีหรือเข้าระบบภาษีบุคคลธรรมดามีสัก 11 ล้านคน ช่องว่างมันหายไปเยอะมาก
ถ้าถามว่าหายไปไหนหมด เรียกว่ากลุ่มที่หายไปนี้เป็น informal ก็คือคนขายของ อาจจะเป็นหาบเร่แผงลอย บางคนอาจจะขายไม่ดีหรอก แต่บางคนอาจจะขายดีมาก หรือขายของออนไลน์ที่บางคนไม่รู้ตัวว่าต้องเสียภาษี คนพวกนี้ที่ไม่ได้เสียภาษีมานาน วันนี้อาจจะกลายเป็นว่ากรมสรรพากรจะเริ่มหมายตาแล้ว เพราะเมื่อเรามองว่ามีคนในระบบจำกัด สิ่งที่เขาต้องทำก็คือการขยายฐานให้คนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบให้ได้
ผมคิดว่าเขามีวิธีจะควานหาเจอให้ได้ ถ้าเขาเก็บเงินในระบบได้น้อยลง เขาจะต้องออกไปควานหาคนนอกระบบให้เยอะขึ้น ซึ่งต้นทุนในการหลบหนีผมว่ามันแพงขึ้นแล้วล่ะ เพราะเขาหมายตาเรา วิธีการหลบให้ไม่เจอบางทีมันอาจจะแพงกว่าการจ่ายเขาไปเลย เพราะเราหลบมันไม่ใช่แค่ภาษีที่เราต้องจ่าย แต่มีค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่ม มันเป็นค่าปรับกับดอกเบี้ย สูงได้สองสามเท่าของค่าภาษีที่เราค้างเลย บางทีค้างแสนหนึ่งอาจจะต้องจ่ายสี่แสน
อีกแบบหนึ่ง ที่กรมสรรพากรควรทำคือ – ในวิธีการที่คนไม่มีกำลังจ่ายภาษีแต่เขามีหน้าที่ต้องจ่าย เรามีมาตรการช่วยเหลืออะไรได้มากที่สุด? บ้านเราช่วยมากสุดคือ ถ้าเรามีภาษีต้องจ่าย สามารถผ่อนศูน 0% ได้ 3 เดือน แต่สิงคโปร์เขาให้กระจายไป 12 เดือนแล้วตัดกับบัญชีเงินฝาก ดังนั้นการผ่อนแต่ละก้อนมันก็จะเล็ก และการตัดบัญชีก็แปลว่าจะไม่มีปัญหาว่าคุณจะลืมจ่าย ของเราถ้าลืมจ่ายก้อนใดก้อนหนึ่ง เขาจะให้เราจ่ายครบทั้งก้อนพร้อมกับดอกเบี้ย เนื่องจากเราจ่ายภาษีช้าก็เลยมีบทลงโทษตามมา ซึ่งที่สิงคโปร์นั้น วิธีคิดคือพยายามให้เป็นภาระประชาชนน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ดังนั้นกระบวนการภาษีมันจะง่ายมาก
แล้วสถานการณ์ในปีหน้าล่ะ คุณคิดว่าจะเป็นยังไงต่อไป?
ปีหน้า ก็ไม่น่าจะดีขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นไปตามเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ผมให้ข้อมูลเพิ่มเติมก่อนนะ ปีนี้เป็นปีที่กรมสรรพากรก็เซอร์ไพรส์เหมือนกัน ปกติมันจะมีคนไม่ยื่นภาษีอยู่แล้ว แต่ในปีนี้เป็นปีที่คนไม่ยื่นเยอะกว่าทุกปี เข้าใจว่าหลักล้านคน จากเดิมที่มีประมาณหลักแสน ผมเดาได้ไม่ยากเลยว่าเหตุผลคืออะไร
แต่มาตรการจะไปพยุงหรือลงโทษเขาเนี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าจะเอายังไงต่อ แต่ว่าในปีถัดๆ ไป ถ้ามันยังไม่ดีขึ้น ซึ่งผมคาดว่ายังไม่ฟื้นหรอก เพราะคนยังไม่รวยขึ้น ท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นกลับมา โอกาสที่เราจะไปเก็บภาษีได้เนี่ย น่าจะยากอยู่
กระบวนการที่เป็นไปได้คือ รัฐบาลลดงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จะเสนอเข้าสภาเพื่ออนุมัติการเบิกจ่าย ก็คงต้องลดลงมาพอสมควร รายจ่ายไม่จำเป็นผมเชื่อว่า ส.ส. ในสภาคงจะค้านกันยับเหมือนกันว่า ในจังหวะที่เศรษฐกิจมันไม่ดี มันลดลงมาได้ไหม แปลว่าอะไร ภาษีอาจจะเก็บได้น้อยลง แต่รายจ่ายลดลงมาด้วย ก็อาจจะได้สัดส่วนที่พอดีกันก็ได้
หรือในกรณีที่จำเป็นจะต้องใช้จ่ายให้เยอะขึ้น แล้วเงินมันไม่พอ เค้นไปสุดๆ ก็เก็บได้แค่นี้ ก็จะนำไปสู่การขาดดุล ก็จะต้องไปกู้เพิ่ม ซึ่งท่าทีที่เราเจอบ่อยๆ ก็คือการกู้ประชาชน โดยการออกพันธบัตรต่างๆ
ตอนนี้ทาง iTAX จัดงาน ‘iTAX 2020 เทศกาลลดหย่อนภาษีประจำปี’ ช่วยหาช่องทางลดหย่อนภาษีให้ทุกคนโดยไม่ต้องรู้เรื่องภาษี 23 – 25 ต.ค. 2563 ที่ชั้น 1 ห้างสรรพสินค้าเมกะ บางนา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
Illustration by Sutanya Phattanasitubon