Illustration by Namsai Supavong
ใกล้ถึงวันวิวาห์ เอ๊ย! วันทำประชามติกันแล้วนะครับพ่อแม่พี่น้อง!
เมื่อใกล้ถึงช่วงเวลา (ที่หลายคนบอกว่า) สำคัญ, แบบนี้ ผมจึงอยากชวนคุณมาพินิจพิเคราะห์สิ่งที่เรียกว่า ‘ประชามติ’ กันเสียหน่อยนะครับ โดยผมอยากอยากชวนคุณตั้งคำถามพื้นๆ สองคำถามเกี่ยวกับคำว่า ‘ประชามติ’ กัน
คำถามที่ว่าก็คือ
1) ประชามติคืออะไรกันแน่ (ฟะ)
และ 2) ประชามติที่ดีควรจะเป็นอย่างไร
คำถามแรกจะเป็นคำถามที่ทำให้เราตอบตัวเองได้นะครับ ว่าอะไรคือประชามติ อะไรไม่ใช่ประชามติ และอะไรคือสิ่งที่ดูคล้ายประชามติ ส่วนคำถามที่สองเป็นการ ‘ขยายความ’ จากคำถามแรกอีกต่อหนึ่ง ว่าก็ถ้าสิ่งนั้นคือประชามติแล้วไซร้ มันก็ย่อมจะมีประชามติที่ดีและประชามติที่ห่วยแตกอยู่แน่ๆ ดังนั้นประชามติที่ทำออกมาแล้วดี ตกไม่แตก สายรัดไม่ขาด ควรจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
มาที่คำถามแรกกันก่อนนะครับ
ประชามติคืออะไร?
พื้นฐานที่สุดนะครับ คำว่า ‘ประชามติ’ ก็คือการ ‘ออกเสียงโหวตโดยตรง’ (หรือฝรั่งเรียกว่า Direct Vote) ซึ่งแปลว่า ‘ทุกคน’ (ที่มีสิทธิโหวต) สามารถมาออกเสียงร่วมกันได้ว่าจะเอาหรือไม่เอาอะไร ในกรณีของการปกครองบ้านเมืองนี่ ส่วนใหญ่ก็เป็นการเอาหรือไม่เอากฎหมายนั่นแหละครับ โดยกฎหมายที่ว่ามีตั้งแต่กฎหมายทั่วไปจนถึงกฎหมายสูงสุดอย่างรัฐธรรมนูญกันเลยทีเดียว
ทีนี้ถ้ากลับมาพิจารณาว่า แล้วไอ้เจ้า ‘การออกเสียงโหวตโดยตรง’ หรือ Direct Vote ที่ว่านี้ มันเกิดอยู่บนพื้นฐานอะไร ทำไมถึงจะต้องมีประชามติหรือการออกเสียงโดยตรงขึ้นมา เราก็จะพบว่า การออกเสียงโดยตรงนั้น คือ ‘กลไก’ อย่างหนึ่งของการปกครองที่เรียกว่า-ประชาธิปไตยทางตรง หรือ Direct Democracy ซึ่งเจ้าประชาธิปไตยทางตรงนั้นไซร้ ก็คือกระบวนการที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคน (ย้ำว่า-ทุกคน, หมายถึงทุกคนที่มีสิทธิออกเสียง) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ ถือเป็นการ ‘พัก’ (waive) ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (หรือ Representative Democracy) ที่คนทั่วๆ ไป ‘มอบอำนาจ’ ให้คนบางคนเป็นตัวแทนของตัวเองเข้าไปตัดสินเรื่องต่างๆ แทนตัวเองเอาไว้ก่อน
เพราะฉะนั้น ‘ฐาน’ ของคำว่า ‘ประชามติ’ จึงคือวิธีคิดที่ต้องบอกว่า ‘โคตรประชาธิปไตย’ เลยนะครับ เพราะมันคือการ ‘หยุด’ การใช้ประชาธิปไตยตัวแทนในบางเรื่องที่สำคัญ เพื่อย้อนกลับไปใช้ประชาธิปไตยที่ ‘เข้มข้น’ และ ‘ถึงรากถึงโคน’ มากกว่า-ซึ่งก็คือประชาธิปไตยทางตรง
อย่างที่เคยเขียนไว้ในคอลัมน์นี้แล้วนะครับ ว่าประเทศขนาดเล็กที่เป็นประชาธิปไตยมากๆ หลายประเทศมีการทำประชามติกันบ่อยครั้ง เช่นสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อให้คนทั่วไปทั้งหลายทั้งปวงได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่าประเทศ (หรือชุมชนที่ตัวเองสังกัดอยู่) ควรจะมีอนาคตไปในทางไหน
แต่กระนั้น ในโลกนี้ก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชามติเทียม’ หรือ Pseudo-Referendum อยู่ไม่น้อยนะครับ แน่นอน ไม่ใช่เรื่องง่ายหรอกที่เราจะไปแยกแยะแปะป้ายว่าประชามติครั้งไหนเป็นประชามติแท้หรือประชามติเทียม เพราะประชามติแต่ละครั้งคราวย่อมมี ‘ดีกรี’ ในมิติต่างๆแตกต่างกันไป แต่โดยรวมๆแล้ว นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า มีอย่างน้อยสองครั้งในโลก ที่อาจเกิดสิ่งที่เป็นประชามติเทียมหรือประชามติหลอกๆขึ้นมา เป็นไปได้อย่างยิ่งที่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นเพียง ‘ปาหี่ทางการเมือง’ เพื่อสร้างความชอบธรรม (ซึ่งก็เป็นความชอบธรรมเทียม) ให้ผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้น ได้แก่การทำประชามติในพม่าปี 2008 กับการทำประชามติในอียิปต์ปี 2014 ซึ่งทั้งสองครั้งเป็นการทำประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญ และจัดขึ้นโดยรัฐบาลที่ถือได้ว่าเป็นรัฐบาลทหารทั้งคู่ ที่สำคัญก็คือ ผลลัพธ์ออกมาแบบถล่มทลาย มีการ ‘โหวตเยส’ มากกว่า 90% ทั้งสองครั้ง
ที่หลายคนมองว่าประชามติทั้งสองครั้งไม่ใช่ประชามติที่แท้จริงก็เพราะ ‘ฐานคิด’ ที่เกิดจากการทำประชามตินั้น ไม่ได้เกิดขึ้นเนื่องจากความเป็นประชาธิปไตยนั่นแหละครับ ทั้งสองครั้งไม่ใช่การ ‘พัก’ จากประชาธิปไตยตัวแทนชั่วคราวเพื่อให้คนทั่วไปได้ใช้อำนาจทางตรง แต่มีการวิเคราะห์ว่าประชามติทั้งสองครั้งเกิดขึ้นเพราะเจตจำนงที่ไม่เสรีบางอย่าง ทำให้สิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ประชามติ’ นั้น ไม่ได้มี ‘ความหมาย’ ตรงกับคำว่า ‘ประชามติ’ จริงๆ เป็นแต่เพียง ‘ชื่อ’ ที่ใช้เรียก ‘การแสดง’ เพื่อสร้างความชอบธรรมบางอย่างให้เกิดขึ้นเท่านั้น
ทั้งหมดนี้ต้องออกตัวเอาไว้ก่อนนะครับ ว่าผมไม่ได้สร้างนัยประวัดอะไรมาบอกคุณว่า ประชามติในสังคมไทยเป็นประชามติที่แท้หรือเทียม เพราะเราคงไม่อาจหยั่งลึกไปถึง ‘เจตจำนง’ ที่เร้นซ่อนอยู่เบื้องหลังผู้มีอำนาจได้หรอกนะครับ ว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน เพราะกระทั่ง Totalitarian Democracy ก็ยังถือว่าเป็นประชาธิปไตยได้เหมือนกันในบางกรณี
เพราะฉะนั้น มาถามคำถามที่สองกันดีกว่าครับ คำถามนี้ก็คือ-แล้วประชามติที่ดีควรมีลักษณะอย่างไร
คำถามนี้ตอบได้ง่ายมากเลยนะครับ เพราะมันเป็นคำถามพื้นฐานมากๆ เนื่องจากเวลาเกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันขึ้นมาในสังคมหนึ่งๆ จนต้องการการ ‘ออกเสียง’ เลือก สิ่งที่เราควรทำก่อนจะตัดสินใจว่าจะ ‘เลือก’ อะไร ก็คือเราควรสะสมรับฟัง ‘ข้อมูล’ และ ‘ความรู้’ เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้มากที่สุด เพื่อนำความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการตัดสินใจ ดังนั้น ประชามติที่ดีจึงคือประชามติที่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆสามารถไหลเวียนแพร่หลายไปได้ทั่วถึง การตัดสินใจเลือกจึงจะเกิดอยู่บนฐานของ ‘ประชาชน’ อย่างแท้จริง
ความรู้ที่ว่า พึงเป็นความรู้ที่ลึกลงไปถึงก้นบึ้งของมันจริงๆด้วยนะครับ ไม่ใช่ความรู้ที่ถูกแยกย่อย ถูกเคี้ยวโดยใครบางคน แล้วเอามาป้อนใส่ปากของคนอื่น เพราะนั่นอาจเป็นความรู้ที่ถูกบิดเบือนทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ และอาจส่งผลให้การตัดสินใจของคนอื่นผิดพลาดก็ได้
ดังนั้น สิ่งที่มักเกิดขึ้นกับการทำประชามติในโลกที่เป็นประชาธิปไตยและศิวิไลซ์โมเดิร์นไนซ์แล้วทั้งหลายแหล่ จึงคือการ ‘เปิด’ ให้ข้อมูลทั้งหลายได้หลั่งไหลตีความกันไปให้ได้มากที่สุด ใครเชื่ออะไรก็มีสิทธิออกมาพูดและออกมา ‘โน้มน้าว’ คนอื่นตามหลักคิดของตัวเอง หรือพูดให้สุดขั้วไปกว่านั้นอีกขั้นก็คือ ทุกคนมีโอกาสที่จะ ‘บิดเบือน’ (ในเครื่องหมายคำพูด) หลักการบางอย่างทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวได้อย่างเสรี เมื่อทุกคนมีความสามารถที่จะ ‘บิดเบือน’ หรือ ‘ตีความ’ ได้เหมือนๆ กัน ที่สุดแล้ว การบิดเบือนหนึ่งก็จะถูกการบิดเบือนอีกอย่างหนึ่งหักล้างกันไป เหมือนต่างฝ่ายต่างถูกอีกฝ่ายเปลื้องผ้าออกทีละชิ้น แล้วในท่ีสุดคนส่วนใหญ่ก็จะได้เห็นว่า ‘ความจริง’ ที่เปิดเปลือยตั้งอยู่ตรงหน้านั้นเป็นความจริงที่ ‘ถูกสร้าง’ ขึ้นมาจากหลักการหรือหลักคิดแบบไหนกันแน่
ยิ่งหากเป็นเรื่องของกฎหมายที่สลับซับซ้อนอย่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ยิ่งต้องเปิดโอกาสให้คนได้ออกมาโต้แย้งโต้เถียงกันให้ถึงพริกถึงขิงถึงแก่น เปิดโอกาสให้มีการตีความที่ละเอียดยิบเพื่อแสวงหา ‘ความเป็นไปได้’ ทั้งปวงที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งนี้
โดยมากแล้ว หากเป็นประชามติประเภทที่เป็น Pseudo-Referendum นั้น ข้อมูลต่างๆ มักจะไม่ค่อยไหลเวียนแพร่หลาย ทั้งนี้ก็เพราะฝ่ายที่มีอำนาจมักหวั่นเกรงว่าจะเกิดการตีความไปในทิศทางที่ไม่ต้องตรงกับความประสงค์ของตน จึงมักควบคุมการไหลเวียนแพร่หลายของข้อมูลความรู้ด้วยวิธีการต่างๆ
จะเห็นได้ว่า เมื่อตั้งคำถามสองคำถามนี้เสียก่อนแล้ว คำว่า ‘ประชามติ’ ก็จะฉายโชนให้เราเห็นชัดเจนว่า-มันคือ ‘กระบวนการ’ ที่เกิดขึ้นในระบอบปกครองแบบ ‘ประชาธิปไตย’ ที่ถึงรากถึงแก่นอย่างยิ่ง เพราะเป็นประชาธิปไตยแบบเข้มข้นที่ย้อนรอยกลับไปหา ‘ราก’ ดั้งเดิมของมันคือการออกเสียงทางตรง ที่สำคัญก็คือ ถ้าจะเป็นประชามติ ‘ที่มีคุณภาพ’ ได้ ก็ต้องผ่านการเคี่ยวคร่ำของการถกเถียงตีความกันอย่างลึกซึ้งในทุกมิติเสียก่อน เช่น ถ้าจะลงประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ต้องเอารัฐธรรมนูญนั้นมาขยำขยี้ แช่น้ำ เอากรดสาด เอาไปใส่ในตัวทำละลายแล้วฉีดเข้าไปในเครื่องโครมาโตกราฟีเพื่อแยกแยะดูว่ามันสารประกอบอะไรเป็น ‘ฐานคิด’ ของรัฐธรรมนูญนั้นบ้าง
มีแต่ทำอย่างนี้แล้วเท่านั้น การตัดสินใจเลือกโหวตจึงจะเป็นการตัดสินใจที่มีคุณภาพได้!
กระบวนการที่ว่า เป็นไปเพื่อร่วมกันดูร่วมกันคิดว่าสิ่งที่ควรจะเป็นสำหรับอนาคตของคนทั้งสังคม รวมไปถึงคนที่จะเกิดมาใหม่ในอนาคตนั้น, ควรจะเป็นอย่างไร แต่ประชามติที่ไม่มิติแบบนี้-ย่อมเป็นประชามติที่มีคุณภาพไปไม่ได้
โดยส่วนตัวแล้ว เวลาเห็น Pseudo-Referendum ในบางสังคม ผมมักนึกในใจว่านั่นไม่ได้แปลว่า ‘ประชามติ’ หรอก แต่คือ ‘ประชามตะ’ ต่างหากเล่า
คำว่า ‘มตะ’ หมายถึง ‘ตาย’ ที่จริงเป็นคำกริยาภาษาบาลีที่หมายถึง ‘ตายแล้ว’ ใช้คู่กับคำว่า ‘ชาตะ’ ที่แปลว่าเกิด (หรือเกิดแล้ว) คำว่า ‘มตะ’ นี้ ตรงข้ามกับคำว่า ‘อมตะ’ (ซึ่งแปลว่า ‘ไม่ตาย’ หรืออยู่กันไปจนชั่วฟ้าดินสลายนั่นแหละครับ)
เราจะเห็นได้จากประวัติศาสตร์ประชามติทั่วโลกนะครับ ว่า Pseudo-Referendum นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากผู้มีอำนาจที่อยากสถาปนาความ ‘อมตะ’ ให้ตัวเองโดยผ่านการทำประชามติ
และเพราะฉะนั้น ประชามติเทียมจึงมักกลายเป็นเป็นประชามตะเสมอ