เมื่อสังคมมีความเห็นแตกต่างและต้องการหาข้อสรุป กลไกทางการเมืองต่างๆ จึงถูกออกแบบมาเพื่อตอบโจทย์ที่ว่านี้ให้ได้
หนึ่งในกลไกที่หลายๆ สังคมหยิบยกมาใช้คือ ‘ประชามติ’ (referendum) ในฐานะกระบวนการที่ให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (หรือบางครั้งคือสมาชิกในชุมชนนั้นๆ ที่มีสิทธิลงคะแนนเสียง) ได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ในประเด็นที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับตัวพวกเขา
สังคมไทยเคยผ่านประชามติครั้งใหญ่ระดับชาติมาแล้ว 2 ครั้ง นั่นคือประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และ 2559
แม้ประชามติที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องระดับคนทั่วประเทศ แต่ถึงอย่างนั้น การทำประชามติในโลกเราก็สามารถใช้ได้กับประเด็นอื่นๆ ที่ไม่ต้องเป็นเรื่องการเมืองอย่างเป็นทางการได้ด้วยเช่นกัน หลายครั้ง ประชามติยังรวมไปถึงเรื่องที่สังคมกำลังให้ความสนใจ เช่น การทำแท้ง การเปิดเสรีกัญชา หรือสิทธิแต่งงานของเพศเดียวกัน
ในสังคมไทยเรากำลังจะมีประชามติขนาดย่อมๆ ที่น่าสนใจไม่น้อย โดยมันกำลังจะเกิดขึ้นที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในประเด็นว่าด้วยการมีอยู่ของตำแหน่ง ‘ดาว เดือน และดาวเทียม’ ในวันที่ 2 พฤศจิกายนนี้
เห็นไหม ประชามติก็ทำในเรื่องระดับมหาวิทยาลัยก็ได้เหมือนกัน
วันนี้เราจะพาไปโหมโรงในเรื่องนี้ก่อนการโหวตจะเกิดขึ้น!
ข้อคัดค้านการประกวดดาว เดือน ดาวเทียม
เกิดเรื่องราวขึ้นในโซเชียลมีเดีย เป็นที่ถกเถียงกันในกลุ่มนิสิตคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ถึงบทบาทหน้าที่ และภาพสะท้อนความเป็นตัวแทนของตำแหน่งนิสิต ดาว เดือน และดาวเทียมประจำคณะ
มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า หลายครั้งตำแหน่งดาวและเดือน มักตกไปอยู่กับนิสิตที่หน้าตาหล่อ สวย เท่ และน่ารัก ซึ่งอาจจะเป็นการเลือกปฏิบัติต่อนิสิตคนอื่นๆ ที่มีความสามารถด้วยเช่นกัน ขณะที่ตำแหน่งดาวเทียม ก็มักถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของนิสิตที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งคำถามถึงการใช้งบประมาณของคณะเพื่อใช้จัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งเหล่านี้ ตลอดจนข้อเสนอที่ให้ปรับปรุงรูปแบบกิจกรรมให้มีความหลากหลาย และมีผลผลิตที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
ด้วยข้อสังเกตและคำถามต่อการมีอยู่ของตำแหน่งดาว เดือน ดาวเทียม ในคณะ นิสิตกลุ่มหนึ่งจึงได้รวมตัวกันส่งจดหมาย “ขอให้ทบทวนและยกเลิกการจัดประกวด ดาว เดือน และดาวเทียม” ไปยังนายกสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ
เนื้อหาของจดหมายฉบับนี้ ได้ยกเหตุผล 5 ข้อ ได้แก่
- การจัดประกวดดาว เดือน มีนัยของคำแฝงอยู่แล้วถึงความเด่นกว่า เหนือกว่าคนอื่น ถ้าเชื่อว่าแต่ละคนมีความพิเศษต่างกัน ก็ไม่ควรนำคุณค่าหนึ่งสูงกว่าคุณค่าอื่นๆ
- การจัดประกวดในปีนี้ ไม่ได้ใช้งบประมาณอย่างสมเหตุสมผล
- การใช้คำว่า ดาวเทียม หมายถึงคำว่าไม่แท้ ไม่จริง เป็นการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ และการสื่อสารของสโมสรนิสิตฯ และมีประเด็นเกี่ยวกับภาพลักษณ์การเป็นคนตลกของนิสิตที่เป็นเพศทางเลือก
- การจัดประกวดหมดสมัยลงแล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องรู้จักกันผ่านเวทีเพียงไม่กี่นาทีอีกแล้วในยุคนี้
- การจัดประกวดเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของนิสิตอย่างแท้จริง จึงไม่มีเหตุผลที่คณะควรสนับสนุนให้งบประมาณการจัดกิจกรรมดังกล่าว และสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์จึงไม่ควรจัดกิจกรรมนี้เช่นกัน
ฟังเสียงสะท้อนจากอีกฝ่าย
หลังจากมีข้อสังเกตเช่นนี้เกิดขึ้น ประเด็นการถกเถียงในโลกออนไลน์ก็ได้กว้างขวางมากขึ้นเรื่อยๆ มีนิสิตที่มีความเห็นต่างๆ เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน
ตัวอย่างบทสนทนาที่แลกเปลี่ยนกัน (อย่างเข้มข้น) บนเฟซบุ๊ก เช่น
“พี่ขอพูดตรงนี้ว่าการแสดงทุกครั้ง เราไม่เคยคิดให้ไปลดคุณค่าความเป็นคนของใคร และไม่เคยเอาเรื่องเพศมาล้อเล่นเป็นเรื่องตลก หรือทำให้คนขำกับเรื่องเพศสภาพใดๆ เราเคารพทุกความแตกต่าง เนื้อหาในการแสดงล้วนแล้วแต่เกี่ยวกับการเมืองหรือประเด็นทางสังคมที่ดังๆ ตอนนั้นทั้งนั้น”
นอกจากนี้ ยังมีความเห็นซึ่งอธิบายว่า ถึงแม้จะเห็นด้วยกับการตั้งคำถามต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่องเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่เห็นไม่ตรงกับฝ่ายที่ให้ยกเลิกกิจกรรมนี้ออกไปจากคณะ
“คือบริบทดาวเดือนดาวเทียมของเรา มันเหมือนมหาลัยหรือแม้แต่คณะอื่นไหม ก็ไม่ มันไม่ได้เป็นสิ่งที่คุณคิดแบบนั้นอะว่าเอาคนสวย หล่อ หรือตลก ในแต่ละปีคนที่ได้รับตำแหน่ง เขาก็แค่เป็นคนที่เพื่อนเสนอชื่อ เนี่ย แค่นี้เลย เสนอชื่อใครคนนั้นก็ได้เป็น แล้วใต้การเสนอชื่อนี้คือไม่เห็นมีใครได้มาระบุเลยว่า เลือกเอาคนสวยหล่อ เพื่อนเลือกกันเอาเองทั้งนั้นตามความคิดของแต่ละคนเองว่าอยากให้ใครได้ตำแหน่งไป…”
“…ในเมื่อทุกๆ คนมีความเสมอภาคในตัวเองอยู่แล้ว ตั้งแต่การเกิดซึ่งนั่นก็คือการแรนด้อม การที่คนบางคนเขาเกิดมาตัวสูง เกิดมาฉลาด หรือเกิดมาดูดีกว่าคนอื่นนี่เอาผิดเหรอ ก็เขาไม่ได้เลือก เขาเกิดมาเป็นแบบนี้เอง แล้วเราไม่มีสิทธิที่จะไป appreciate ความากกว่าคนอื่นตรงนั้นของเขาหรือไง”
ประเด็นที่น่าสนใจของท้ายความเห็นนี้คือการระบุว่า ทั้งคนที่เสนอให้ยกเลิกกับคนที่อยากให้มีกิจกรรมนี้ต่อควรได้มีโอกาสมานั่งคุยและตกลงกันให้เรียบร้อยก่อนที่จะมันจะกลายเป็นประเด็นไวรัลในอินเทอร์เน็ตขนาดนี้
ด้านสโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมนี้ ได้ชี้แจงในหลายเรื่อง โดยประเด็นสำคัญ คือการยืนยันเรื่องการใช้งบประมาณที่ใช้แค่ในเรื่องส่วนรวม ส่วนเรื่องการตั้งชื่อตำแหน่ง ดาวเทียม ก็ยอมรับว่า เป็นชื่อที่ทำให้ตีความได้หลากหลาย ถ้าหากคำเรียกนี้สร้างความไม่สบายใจ สโมสรนิสิตฯ ก็พร้อมรับฟังและเปลี่ยนชื่อดังกล่าว
คลี่คลายปัญหา ด้วยเครื่องมือประชาธิปไตย
หลังจากที่ประเด็นยกเลิกการประกวดดาว เดือน ดาวเทียม กลายเป็นสิ่งที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่องในกลุ่มนิสิต สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ฯ จึงร่วมกับนิสิตคณะรัฐศาสตร์ จัดให้มีประชามติประเด็น ‘การมีดาว เดือน และดาวเทียม’ ขึ้นมา
ความน่าสนใจคือ ไม่เพียงแค่มีการจัดอภิปราย ถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูลจากฝั่งที่เห็นด้วยและคัดค้านกิจกรรมนี้แล้ว เมื่อการอภิปรายจบ ยังจะมีการทำ ‘ประชามติ’ โดยให้นิสิตชั้นปีที่ 1 ซึ่งเกี่ยวข้องกับกิจกรรมนี้โดยตรงเป็นผู้มีสิทธิออกเสียง กำหนดทิศทางของกิจกรรมได้ด้วยตัวเอง
“สังคมไม่ได้เคลื่อนด้วยดราม่า แต่ต้องใช้ปัญญาด้วยวิถีประชาธิปไตย” คือคำแนะนำกิจกรรมที่สโมสรนิสิตคณะรัฐศาสตร์ฯ จัดขึ้นมา
อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง สิริพรรณ นกสวน สวัสดี นักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องการทำประชามติ อธิบายถึงกิจกรรมนี้เอาไว้ว่า ‘นิสิต’ จัดให้มีการทำประชามติที่ยึดหลักการ ตัดสินใจด้วยข้อมูล คิดอย่างอิสระ รณรงค์เท่าเทียม กระบวนการโปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้
“นิสิตจากทั้ง 2 ฝั่งความคิด ร่วมเป็น กกต. (อนุกรรมการจัดทำประชามติ) ร่างประกาศ “รัฐศาสตร์กิจจา” กำหนด เกณฑ์ กติกา ส่งตัวแทน และเชิญผู้ทรงคุณวุฒิร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ก่อนตัดสินใจหย่อนบัตร” อ.สิริพรรณ ในฐานะผู้ได้รับเชิญจากนิสิตเป็นผู้ทรงคุณวุฒิและที่ปรึกษา ระบุ
ความจริงจังของประชามติ ยังไม่จบแค่กระบวนการ หากแต่ทางนิสิตยังได้จัดทำ ‘รัฐศาสตร์กิจจา’ ที่จะกำหนดถึงกติกาการทำประชามติต่างๆ คล้ายกับประชามติในระดับชาติ รวมถึง การยืนยันว่า ผลประชามติครั้งนี้จะถือเป็นที่สิ้นสุด และมีผลผูกมัดให้ปฏิบัติตาม
ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่น่าสนใจมากๆ และต้องให้เครดิตนิสิตในฐานะผู้มองเห็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะลุกขึ้นไปหยิบเครื่องมือจากในหนังสือเรียน และใช้มันจริงในเชิงปฏิบัติ
ดูผิวเผินแล้ว อาจเป็นเรื่องความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันภายในคณะ แต่รายละเอียดต่างๆ จากฝั่งที่เห็นด้วยและคัดค้านก็สะท้อนให้เห็นว่า ประเด็นเช่นนี้น่าจะมีจุดร่วมกับคณะอื่นๆ ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ไม่น้อยเหมือนกัน
หรือพูดอีกแบบหนึ่งได้ว่า เมื่อกิจกรรมประกวด ดาว เดือน ดาวเทียม เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยจำนวนมากทั่วประเทศ การจัดให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยน ตั้งคำถาม และถกเถียงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลแบบที่กำลังจะเกิดขึ้นในคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ก็น่าจะเป็น ‘โมเดล’ ที่สถาบันหรือองค์กรนิสิตในที่อื่นๆ นำไปปรับใช้ได้ตามบริบทที่แตกต่างกันไป
ที่สำคัญที่สุดคือ เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ความคิดระหว่างนิสิตไม่ลงรอยกัน หนทางในการคลี่คลายที่ดีสุด คือการหันหน้าคุยกัน และแลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผลและเคารพซึ่งสิทธิของกันและกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนภาคปฏิบัติของประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นได้ในสถาบันการศึกษา
ส่วนผลประชามติจะเป็นอย่างไร ดาว เดือน และดาวเทียม จะยังคงมีต่อไปในคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ ไหม วันที่ 2 พฤศจิกายนนี้เราก็จะได้รู้กัน
ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร หากแต่กระบวนการคลี่คลายปัญหาด้วยวิธีการที่เป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ ก็ถือว่าน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็นกระบวนการที่นิสิตเป็นผู้ผลักดันด้วยตัวเอง