การข่มขืนไม่เพียงเป็นการสำเร็จความใคร่ทางเพศบนเนื้อตัวร่างกายผู้อื่นซึ่งเจ้าของไม่ยินยอม แต่ยังเป็นการสำเร็จความใคร่ทาง ‘อำนาจ’ ในความหมายของการครอบงำและการกดบังคับ ในความสัมพันธ์ที่ไม่มีความสมดุลของอำนาจ
สังคมที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจไม่สมดุลกัน ซึ่งก็มีอยู่ทั่วไป การขืนใจ ข่มขืน หรือการล่วงละเมิดทางเพศจึงมักเกิดขึ้นได้ง่าย และเรือนจำก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจเช่นนั้นดำรงอยู่ชัดเจน เพราะถือว่าเป็นพื้นที่แห่งการลงโทษผู้กระทำความผิดด้วยการทำให้หมด ‘เสรีภาพ’ ในความหมายของขาดการติดต่อสื่อสารโลกภายนอกและเสรีภาพในการออกจากทัณฑสถาน[1] หากแต่สิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องโทษยังคงอยู่ ทว่ากลับถูกล่วงละเมิดเสมอ ถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ แม้จะเป็นหน่วยงานหนึ่งสังกัดอยู่กระทรวงยุติธรรมก็ตาม
จากรายงานของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ร่วมกับสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) สำรวจเรือนจำไทยเฉพาะทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงกลางและเรือนจำพิเศษกรุงเทพ[2] ก็พบปัญหาการลดทอนความเป็นมนุษย์และละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานผู้ต้องขังนำไปสู่ความทุกข์ทรมาน เช่น การถูกจับอยู่ในที่คับแคบแออัด แม้แต่ที่นอนที่เป็นห้องว่างๆ ปูพื้นด้วยกระเบื้องเท่านั้นก็มีสภาพต่ำกว่ามาตรฐานคณะกรรมการกาชาดสากล ที่กำหนดให้เมื่อจะต้องพักร่วมกับผู้อื่น ที่แต่ละคนจะต้องมีพื้นที่ขั้นต่ำ 3.4 ตรม. ทว่าระเบียบกรมราชทัณฑ์กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำ 1.1 ตรม.สำหรับผู้หญิง และ 1.2 ตรม. สำหรับผู้ชาย แต่ชีวิตจริงแย่กว่านั้น ผู้หญิงมีพื้นที่เฉลี่ยความกว้าง 0.45 ม. ผู้ชาย 0.60 ม. เท่านั้น สุขอนามัยภายในเรือนจำก็ยังไม่ดี น้ำไม่เพียงพอที่จะอาบทำให้ต้องเร่งรีบแย่งกันใช้ อาหารน้ำดื่มก็สกปรกรสชาติแย่ และขาดคุณค่าทางโภชนาการ การรักษาพยาบาลก็ไม่มีประสิทธิภาพและทั่วถึง กลายเป็นยาพาราฯ รักษาทุกโรค และสำนวน ‘พบหมอสองนาที’ นี่ยังไม่รวมการเอาเปรียบด้านแรงงานที่ใช้แรงงานให้ค่าตอบแทนต่ำ
ซ้ำร้ายการเข้าเยี่ยมก็เต็มไปด้วยเงื่อนข้อจำกัด ภายใต้การควบคุมกำกับของเจ้าหน้าที่ การสื่อสารที่พอจะเป็นส่วนตัวระหว่างผู้ถูกคุมขังกับญาติพี่น้องครอบครัวคนรักจึงเป็นเพียงจดหมาย แต่นั่นก็ไม่ได้ส่วนตัวอย่างที่ว่า เพราะก็ถูกตรวจสอบ คัดกรองและเซนเซอร์โดยเจ้าหน้าที่ว่าจดหมายไหนของผู้ถูกคุมขังสามารถส่งออกสามารถส่งออกข้างนอกได้ หรือผู้ต้องขังจะสามารถอ่านจดหมายอะไรได้บ้าง ด้วยข้ออ้างว่ารักษาภาพลักษณ์ของเรือนจำ[3]
ในงานศึกษาเดิม อดีตนักโทษคนหนึ่งในทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิงกลางได้เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่ถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้าเพื่อตรวจค้นร่างกาย ทั้งก่อนและหลังการเข้าเยี่ยมญาติว่า “ทุกครั้งที่ออกไปตรงพื้นที่เพื่อเข้าเยี่ยม และเพราะว่าดิฉันอยู่ในแดนแรกรับ ดิฉันต้องเดินผ่านประตูและต้องเปิดผ้าถุงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจเช็กว่าไม่ได้นำอะไรออกไป หรือไม่ได้นำอะไรกลับเข้ามา ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่แค่จับๆ ดูที่ผ้าถุง แต่ตอนหลังเจ้าหน้าที่มาใหม่ซึ่งจะเอามือล้วงเข้าไปใต้ผ้าถุง (และบังคับให้ดิฉัน) ถอดเสื้อยกทรงออก”[4]
เช่นเดียวกับเมื่อพฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา ที่นักศึกษานักกิจกรรมหญิงมหา’ลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยประสบการณ์การถูกตรวจภายใน ด้วยการจัดกิจกรรมตรวจสอบความโปร่งใสของรัฐบาล เธอจึงถูกคุมขัง เมื่อแรกเข้าในเรือนจำหญิง ระหว่างรอผลประกันตัวในวันที่ยื่นฟ้องศาล เธอโดนตรวจภายในและร่างกายด้วยการถูกเร่งให้เปลือยกายต่อหน้าผู้คนจำนวนมากบนลานกว้าง หมุนตัวลุกนั่ง มีเพียงผ้าถุงผืนเดียวคอยบังสายตาประชาชี มากไปกว่านั้นเธอถูกสั่งให้ขึ้นขาหยั่งเพื่อค้นหายาเสพติดภายในร่างกาย
เมื่อเธอได้รับการปล่อยตัวและแชร์ประสบการณ์ตั้งคำถามถึงระบบตรวจค้นในเรือนจำในที่สาธารณะ ไม่เพียงทางเรือนจำจะออกมาชี้แจ้งว่าเป็นระเบียบตรวจหายาเสพติด ดูร่องรอยการถูกละเมิดทางเพศ และเป็นการตรวจดูอนามัยว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่ แต่ยังนำไปสู่การรวมตัวกันขององค์กรที่ทำงานด้านสิทธิผู้หญิง 16 องค์กรเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเพื่อไขปัญหาอย่างเร่งด่วน บังคับใช้กฎเกณฑ์การตรวจค้นที่มีอยู่อย่างเคร่งครัดและเป็นไปตามกฎสากล รวมถึงใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เครื่องสแกนร่างกาย[5]
ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจนี้ เจ้าพนักงานของเรือนจำมีสิทธิ อำนาจมากพอที่จะสั่งให้ผู้ต้องขังแก้ผ้า ล้วงควักเนื้อตัวร่างกายใครก็ได้ในนามของการตรวจร่างกายตรวยภายใน ราวกับว่ามันเป็นเรื่องปรกติในการใช้อำนาจนั้นอันเกิดจากความคุ้นชิน ทั้งๆ ที่มันเป็นล่วงละเมิดทางเพศ
เช่นเดียวกับผู้ต้องขังที่แปลงเพศแล้วจากชายเป็นหญิง มักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายของการล่วงละเมิดทางเพศทางอ้อม จากบันทึกของชายที่อยู่ในเรือนจำบรรยายว่า สาวประเภทสองไม่เพียงถูกทำให้เป็นตัวตลกในเรือนจำ ยังถูก “…บังคับให้เปลือยกายเพื่อตรวจค้นตอนออกศาล การถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยกล้องวงจรปิดตอนอาบน้ำ การเรียกให้ผู้ต้องขังโชว์หน้าอกต่อหน้านักโทษเพื่อความสนุกสนาน การจับ สัมผัส หน้าอก ของสงวน ของผู้ต้องขังกลุ่มนี้ โดยถือเป็นเรื่องธรรมดา”[6]
แต่ใช่ว่าผู้ต้องขังชายจะไม่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
จากการที่ได้พูดคุยกับ ‘มิตรสหายท่านหนึ่ง’ เป็นชายที่เคยเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำระยะหนึ่งในปี 2558 เมื่อแรกเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ เขาถูกสั่งให้แก้ผ้า ลุกนั่ง โก้งโค้งแล้วแหวกแก้มก้นตัวเอง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดูว่ามีการซ่อนยาเสพติดหรือไม่
แม้ว่าจะมีการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคมให้การตรวจค้นร่างกายผู้ถูกคุมขังเป็นไปตามหลักปฏิบัติสากลแต่ดูเหมือนไม่ได้รับการสนใจ หรือสนสี่สนแปดจากกรมราชทัณฑ์ ล่าสุดเกิดกับ ‘ไผ่’ จตุภัทร์ บุญภัทร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหา’ลัยขอนแก่น นักกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ ตั้งแต่ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน ชาวบ้าน ไปจนถึงเพื่อประชาธิปไตย จนกลายเป็นนักโทษการเมืองถูกคุมขัง
ในการเบิกตัวมาศาลแล้วนำตัวกลับเข้าเรือนจำแต่ละครั้ง เขาถูกเจ้าหน้าที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ จ.ขอนแก่นสั่งให้ถอดเสื้อผ้าทั้งหมด สั่งให้ลุกนั่ง กางแขน และโก้งโค้งถูกแหวกทวารหนัก อ้างว่าเพื่อตรวจหายาเสพติดหรือของผิดกฎหมาย ทั้งๆ ที่เขาพยายามทักท้วง เพราะเขาไม่ใช่นักโทษคดียาเสพติด ไม่มีการตรวจค้นลักษณะนี้มาก่อนกับผู้ต้องขังในคดีของเขา ไม่ใช่ผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำใหม่ การที่ถูกเบิกตัวมาศาลก็เข้มงวดมาก ไม่มีความจำเป็นใดๆ ให้ต้องตรวจหายาเสพติดอีก[7]
…แต่คำทักท้วงของเขาก็ไม่เป็นผลสำเร็จ
เมื่อไผ่ถูกส่งตัวจากทัณฑสถานบำบัดพิเศษขอนแก่นมาขังยังเรือนจำภูเขียว ซึ่งในการตรวจรับเข้าเรือนจำแห่งใหม่ เขาถูกผู้คุมตบหัวอย่างรุนแรง 3 ครั้ง และถูกตรวจหายาเสพติดเช่นเคยที่จะต้องถอดเสื้อผ้า ลุกนั่ง แหวกทวาร ทั้งๆ ที่แค่ถูกย้ายเรือนจำภายใต้การควบคุมอย่างเข้มงวดตลอดเวลา และร้ายลงไปอีกในการตรวจหายาเสพติดเขายังถูกชักอวัยวะเพศขึ้นลง 5 ครั้ง [8]
การตรวจหารสารเสพติดในร่างกายผู้ชาย ชวนให้นึกถึงภาพยนตร์ฮ่องกงเรื่องหนึ่งที่ประเด็นการข่มขืนผู้ชายโดยผู้ชายก็เป็นอีกหัวใจของเรื่อง Amphetamine (2010) กำกับเขียนบทและโปรดิวซ์โดย Danny Cheng Wan-Cheung ในฉากหนึ่งของเรื่องพระเอกทั้ง 2 คนถูกเจ้าหน้าที่รัฐชายใช้อำนาจและความเกรี้ยวกราด ตรวจค้นหายาเสพติดภายในทวารหนัก ที่ภาพไม่ต่างไปจากการถูกข่มขืนโดยกลุ่มกุ๊ยอันธพาลที่ต้องการแสดงอำนาจเหนือผู้อื่นด้วยการข่มขืนไม่ว่าต่อผู้หญิงหรือผู้ชาย
นี่เป็นเพียงเคสที่พอจะรับรู้ได้บ้าง กับบางบุคคลที่กล้าเปิดเผย จากจำนวนผู้ต้องขังทั้งหมด289,675 คน ตามสำรวจเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 จากเรือนจำบางแห่งภายในเรือนจำไทยทั้งหมด 199 แห่ง แบ่งออกเป็นเรือนจำกลาง 33 แห่ง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษ 26 แห่ง เรือนจำพิเศษ 30 แห่ง สถานที่ควบคุมตัว 5 แห่ง เรือนจำจังหวัด 48 แห่ง เรือนจำอำเภอ 26 แห่ง เรือนจำชั่วคราว 31 แห่ง และยิ่งนับตั้งแต่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม ปี 2557 การเข้าถึงข้อมูลเรือนจําก็ยิ่งยากลําบากมากขึ้น [9]
แม้ทุกเรือนจำจะอยู่ภายใต้กรมราชทัณฑ์เดียวกัน แต่ละที่ก็มีข้อกำหนดต่างกัน ต่างเจ้าหน้าที่ก็ต่างจิตต่างใจต่างการปฏิบัติ มันจึงยังมีอีกหลายที่หลังกำแพงอันสูงตระหง่าน ที่การสอดส่องตรวจสอบและสิทธิมนุษยชนเดินทางเข้าไปไม่ถึง กลายเป็นดินแดนลึกลับดำมืดที่ไฟฉายยังส่องเข้าไปไม่ถึง ยังมองไม่เห็นว่ามีการกระทำแบบนี้ต่อผู้ต้องขังที่ไหนอีกบ้าง และยังมีอีกกี่ชีวิตที่จะต้องถูกล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเงียบงัน
ในเมื่อรัฐไทยเองได้ลงนามและให้สัตยาบันใน ‘อนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี’ (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) เมื่อ 2550 อันเป็นกรอบกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้ต้องขัง ทบทวนกระบวนและตรวจสอบการคุมขัง ที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชน (Core international human rights treaties) อันเป็นตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ถือเป็นสนธิสัญญาหลักด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ภายใต้สหประชาชาติ ก็ต้องปฏิบัติตาม ทว่าหลายครั้งการทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังก็เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรืออยู่ในการรับรู้ของเจ้าหน้าที่รัฐ และการเข้าไปตรวจสอบสอดส่องก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะระเบียบของเรือนจำเต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัด ซึ่งเท่ากับว่ารัฐไทยในฐานะรัฐภาคีล้มเหลวในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญา
เพราะ ‘การตรวจภายใน’ ด้วยการให้แก้ผ้าล้วงควักชักอวัยวะของสงวนผู้อื่นเป็นการไม่เคารพและคำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ เป็นการล่วงละเมิดสิทธิในร่างกาย ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ผู้ถูกตรวจเกิดความอับอาย และเข้าข่ายอนาจาร ขณะเดียวกันก็เป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่งเพื่อบ่งบอกสถานะผู้คุมและผู้ถูกคุมขังตั้งแต่เมื่อแรกเข้าไปในเรือนจำ อันเป็นพื้นที่ที่ผู้คุมขังสามารถสถาปนาอำนาจเหนือกว่าได้ผ่านระบบระเบียบโครงสร้างของทัณฑสถานที่เข้ามาสร้างความชอบธรรม และประกาศถึงสถานะของตนด้วยการออกคำสั่งให้ผู้ถูกคุมขังเปลือยกายและเข้าไปล่วงล้ำภายในเนื้อตัวร่างกาย อันเป็นการแสดงอำนาจขั้นสูงราวกับเป็นเจ้าชีวิต ด้วยข้ออ้างที่ว่าเพื่อตรวจหายาเสพติด
เช่นเดียวกับการข่มขืนที่เป็นการสำเร็จความใคร่ทางอำนาจของผู้ข่มขืนเหนือบุคคลอื่น
ในรัฐที่ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐและประชาชนไม่สมดุลกันอย่างรุนแรงก็มักมีข้ออ้างมากมายที่รัฐจะใช้ล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานประชาชน ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่นความมั่นคง ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของชาติ ศีลธรรมอันดีงาม ไปจนถึงตรวจหาสารหรือยาเสพติด เพราะยาเสพติดไม่เพียงถูกจัดให้เป็นภัยคุกคามประชากรของประเทศแล้ว แต่ยังลักลอบขนส่งหลายรูปแบบ ขนาดเฮโรอีน ปริมาณ 6.5 กิโลกรัมยังใส่กล่องนมถั่วเหลืองดอยคำขนส่งข้ามประเทศได้[10]
แต่นั่นก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่สมเหตุสมผลหรือชอบธรรมที่จะให้เจ้าพนักงานเรือนจำเที่ยวไปบังคับให้ใครแก้ผ้า แล้วล้วงควักชักแหวกอวัยวะผู้ต้องขัง หากจะอ้างว่าไม่รู้จักเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับการจัดการตรวจค้นผู้คุมขังในทัณฑสถาน เช่นเครื่องสแกนร่างกายมนุษย์ ก็แย่พอทนแล้ว นี่กลับไม่รู้จักการเคารพสิทธิเนื้อตัวร่างกายนักโทษหรือผู้ถูกคุมขังยิ่งน่ากังวลใจ แม้จะอ้างงบประมาณ ก็ยิ่งต้องกังวลหนักว่าประเทศเช่นไหนกัน ถึงไม่มีงบในการรักษาความเป็นมนุษย์ให้กับประชาชน เพื่อเคารพเนื้อตัวร่างกายของพลเมือง
ด้วยสำนึกเช่นนี้ เทคโนโลยีประเภท CCTV จึงมีค่าเพียงเครื่องทุ่นแรงอำนวยความสะดวกเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่มากกว่าเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาความปลอดภัยของประชาชน
แต่ด้วยข้ออ้างต่างๆ นานา มักจะอยู่ในร่มข้ออ้างประเภทที่ว่า “ก็เป็นคุก เป็นเรือนจำ เอาไว้ลงโทษคนทำผิด พวกนี้มันนักโทษจะให้ปฏิบัติดีๆ ด้วยได้ไง” ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้ว การถูกพิพากษาให้ถูกขัง จำกัดอิสรภาพก็ถือว่าเป็นการลงโทษอยู่แล้วในตัวของมัน ไม่มีความจำเป็นใดๆ ต้องทรมานด้วยการกระทำรุนแรงอื่นๆ ไปละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของเขาและเธอเท่าที่เหลืออยู่ หรือทำให้เลวร้ายไปกว่านั้นด้วยการลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เพราะเมื่อรัฐจำกัดเสรีภาพของบุคคลหนึ่งให้ไปอยู่ในเรือนจำเป็นการลงโทษ รัฐก็ต้องดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพของบุคคลนั้นตามหน้าที่เจ้าพนักงานของเรือนจำก็มีหน้าที่ควบคุมผู้ต้องขัง ไม่ได้มีอาชีพล้างแค้นผู้กระทำความผิด หรือมีหน้าที่ข่มขืนผู้ต้องขัง
สรุปแล้วสวัสดิภาพของผู้คุมขังอยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วงแค่ไหน เพดานความคิดของกรมราชทัณฑ์ ทัศนคติของรัฐไทยต่อผู้ถูกคุมขัง ความรู้ความเข้าใจในอาชีพบทบาทหน้าที่ตนเองของเจ้าพนักงานก็อยู่ในสภาวะน่าเป็นห่วงเท่ากัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] สายพิณ ศุพุทธมงคล. คุกกับคน : อำนาจและการต่อต้านขัดขืน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2545.
[2] International Federation for Human Rights / Union for Civil Liberty. หลังกำแพง ส่องสภาพเรือนจำไทยภายหลังรัฐประหาร (E-book). 2560. ดาวน์โหลดได้ที่ www.fidh.org
[3] เรื่องเดียวกัน, น. 25-26.
[4] เรื่องเดียวกัน, น. 26.
[5] สำนักข่าวประชาไท. ผู้หญิงขยับ! 16 องค์กรเรียกร้อง เลิก ‘ตรวจภายใน’ ผู้ต้องขังหญิงทุกคน. เผยแพร่วันที่ 13 พฤษภาคม 2559, 15:49 น. prachatai.com
[6] iLaw. เรื่องเล่าคนห้องกรง (E-Book). 2557, น. 32. ดาวน์โหลดได้ที่ ilaw.or.th
[7]สำนักข่าวประชาไท. ราชทัณฑ์เพิ่มมาตรการตรวจทวารหนัก ไผ่ ดาวดิน อ้างกลัวนำเข้ายาเสพติด-ศาลอนุมัติฝากขังผัด 4. เผยแพร่วันที่ เผยแพร่วันที่ 6 มกราคม 2560, น. 23:57. prachatai.com/journal
[8] สำนักข่าวประชาไท. ไผ่ ดาวดิน เผยถูกผู้คุมเรือนจำตบหัว 3 ครั้ง และถูกชักอวัยวะเพศขึ้นลงเพื่อตรวจหายาเสพติด. เผยแพร่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2560, 16:40 น. prachatai.com/journal/2017
[9]สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล. (2560). หลังกำแพง ส่องสภาพเรือนจำไทยภายหลังรัฐประหาร, น. 8-9, ด่าวน์โหลดได้ที่ www.fidh.org
[10] สำนักข่าว TNN 24. ผบช.ปส.รู้ตัวมือซุกเฮโรอีนในกล่องดอยคำส่งไต้หวัน เผยแพร่วันที่ 21 สิงหาคม 2557, 15.51 น. www.tnnthailand.com