COVID-19 เป็นชื่อที่เชื่อว่าแทบทุกคนบนโลกคุ้นเคยกันดีในเวลานี้ เจ้าไวรัสที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว สร้างความเสียหายต่อชีวิตประชากรโลกไปแล้วกว่า 265,000 คนทั่วโลก (ประเทศไทยอยู่ที่ 55 คน – ข้อมูลวันที่ 07/05/2020) ยิ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอย่างคนวัยชราหรือมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว ยิ่งทำให้ไวรัสนี้รุนแรงกว่าเดิม สำนักข่าวหลายแห่งบอกว่าตัวเลขความเสียหายนี้ยังคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะจบแบบไหนอย่างหนึ่งเพราะอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกันอย่างมาก อย่างในอิตาลี 13%, อเมริกา 4.3%, เกาหลีใต้ 2% หรืออย่างไทยเองก็ประมาณ 1.8% (และไม่ใช่แค่ระหว่างประเทศเท่านั้นที่แตกต่างกัน ในแต่ละพื้นที่ของประเทศเดียวกันก็แตกต่างกันมาก อย่างรัฐมิชิแกนก็สูงถึง 7% แต่ในรัฐไวโอมิ่งอยู่ที่ 0.7%)
มันเป็นช่วงเวลาที่มืดมนและชวนหดหู่ มองไปทางไหนก็มีแต่ข่าวชวนซึมเศร้าและหวาดหวั่นวิตกไปทุกอย่าง คนนั้นไอจะ ‘เป็นไหมนะ?’ คนนี้ดูมีไข้ ‘เป็นไหมนะ?’ ฉันดูตัวอุ่นๆ ‘เป็นไหมนะ?’ คนนั้นเดินทางมาจากพื้นที่เสียง ‘เป็นไหมนะ?’
ในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนและหวาดผวาไปซะทุกอย่าง (เรียกได้ว่าแทบประสาทกินกันแล้วเวลาจะออกจากบ้านไปทำอะไรข้างนอกแต่ละที หน้ากากอยู่ไหน แอลกอฮอล์อยู่ไหน) จึงเข้าใจได้ว่าทำไมเราถึงยอมรับระบบเทคโนโลยีการเฝ้าระวังที่ติดตามผู้ป่วย บุคคลที่มีความเสี่ยง และคนทั่วไปเข้ามาอยู่ในชีวิต ทั้งๆ ที่ด้วยตัวของมันเองระบบการเฝ้าติดตามแบบนี้ที่เรียกว่า tracking เป็นประเด็นใหญ่เกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวที่ก่อนหน้าเหตุการณ์ระบาดของ COVID-19 คนส่วนใหญ่ออกมาต่อต้านและไม่อยากให้มันเกิดขึ้นด้วยเหตุผลของการละเมิดความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อเจ้าไวรัสตัวนี้ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ และวัคซีนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะออกมาสู่ท้องตลาดง่ายๆ ดูเหมือนว่าทางเลือกเดียวที่จะช่วยป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสก็คือการติดตามผู้ป่วย ผู้มีความเสี่ยง และทุกคนที่พวกเขามีโอกาสได้ไปสัมผัสใกล้ชิดตลอดเวลา มันให้ความรู้สึกเหมือนกับการไปทำสัญญาสงบศึกชั่วคราวกับศัตรูที่ต่อสู้กันมายาวนานเพื่อร่วมมือกันโค่นล้มคู่ต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่กว่ายังไงยังงั้นเลย
ซึ่งตอนนี้รัฐบาลหลายๆ ประเทศได้เริ่มต้นการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อติดตามโลเคชั่น (ทุกที่-ทุกเวลา) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับบุคคลอื่นๆ ในสังคม โดยตอนแรกนั้นทำกันง่ายๆ โดยใช้กำลังของมนุษย์ช่วยกันดูช่วยกันรายงาน (กำนันผู้ใหญ่บ้านต่างๆ) ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาคือเรื่องของประสิทธิภาพด้วยความเป็นมนุษย์นั่นแหละ ภายหลังจึงเกิดมาเป็นระบบดิจิทัลที่คอยติดตามความเคลื่อนไหวผ่านระบบ GPS และ Bluetooth ของโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจสอบว่าใครบ้างที่มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้ป่วยในช่วงเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และจะแจ้งเตือนบุคคลเหล่านั้นทันทีให้เฝ้าระวังตัวเองและเข้ารับการรักษาทันทีเมื่อมีอาการ (โดยโมเดลการติดตามที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่ถูกใช้ในประเทศจีนและได้ผลเป็นอย่างดี แต่ที่จีนเรื่องความเป็นส่วนตัวนั้นเป็นประเด็นรองอยู่แล้ว) แต่ที่สุดแล้วมันก็อาจจะกลายเป็นเคส false positives หรือ negatives ได้เช่นเดียวกัน
หลังจากที่ทุกคนถูกกักตัวอยู่ที่บ้านเป็นเดือนๆ ธุรกิจหลายต่อหลายแห่งก็ปิดทำการอย่างไม่รู้ชะตากรรมว่าจะกลับมาเปิดเมื่อไหร่ หรือถ้ากลับมาเปิดแล้วทุกอย่างจะเป็นเหมือนเดิมไหม มาตรการการป้องกันตัว การใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือและพกเจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาด รวมถึงการรักษาระยะห่างในสังคมก็ยังดำเนินต่อไป จึงไม่แปลกที่ตอนนี้เมื่อมีแอพพลิเคชั่นติดตามตัวจึงมีแนวโน้มมีผู้สมัครมากขึ้น โดยที่ตัวเองอาจจะไม่จำเป็นต้องอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือใกล้ชิดกับบุคคลจากกลุ่มเสี่ยงด้วยซ้ำ จากผลการสำรวจของ Oxford Big Data Institute พบว่ากว่า 84.3% ของผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจากกลุ่มสำรวจกว่า 6000 คนในกลุ่มประเทศ สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และ อิตาลคิดว่าจะลงโปรแกรมติดตามนี้บนเครื่องของตัวเอง
ทั้งๆ ที่บางประเทศ อย่างเช่น
ฝรั่งเศสมีประเด็นความเป็นส่วนตัวสูงมากมาโดยตลอด
อีกเหตุผลหนึ่งที่แอพพลิเคชั่นติดตามเหล่านี้มีโอกาสถูกใช้งานกันในวงกว้างก็เพราะว่าที่จริงแล้วก็มีประชากรกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้สนใจเกี่ยวกับประเด็นความเป็นส่วนตัวแบบนี้เท่าไหร่ อาจจะเห็นว่ามันไม่ได้สำคัญหรือเพียงเพราะไม่สนใจ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม อย่างที่ผ่านมาบริการต่างๆ อย่าง Search Engines, โซเชียลเน็ตเวิร์ก, แอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร, Marketplaces และอีกมากมาย ผู้ใช้งานทั่วไปก็เลือกที่จะแลกข้อมูลกับความสะดวกสบายอยู่แล้ว (ถามว่ามีใครเคยอ่าน Terms & Conditions หรือ Privacy Policy จริงๆ จังๆ ก่อนจะคลิ๊ก ‘Yes’ รึเปล่า?)
ตัวอย่างของบ้านเราที่เพิ่งเกิดขึ้นก็คือแอพพลิเคชั่น ‘หมอชนะ’ เป็นแอพเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน เพื่อประเมินความเสี่ยงได้ว่า ในบริเวณนั้นมีผู้ป่วย COVID-19 หรือไม่ โดยเก็บข้อมูลจาก GPS และ Bluetooth และจะแบ่งออกเป็นสองส่วนคือหนึ่งส่วนประเมินความเสี่ยงของตัวเอง และสองคือแจ้งเตือนเมื่อผู้ใช้งานนั้นเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อ COVID-19
หลังจากโหลดแอพแล้วก็สามารถทำแบบสอบถาม แอพก็จะจัดหมวดหมู่ให้ผู้ใช้งาน (เขียว, เหลือง, ส้ม, แดง ตามความเสี่ยงและคำตอบที่ให้) โดยการประมวลผลส่งไปยังระบบ ผู้ใช้คนอื่นๆ จะมองไม่เห็นว่าแต่ละคนอยู่ที่ไหนบ้าง แต่จะมีการแจ้งเตือนหากเข้าไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยงเพียงเท่านั้น การใช้งานเบื้องต้นคือถ่ายรูปของตัวเองแล้วก็เปิดให้แอพเข้าใช้โลเคชั่นของโทรศัพท์พร้อมกับเปิด Bluetooth เพียงแค่นี้ ไม่จำเป็นต้องใส่เลขบัตรหรือชื่อนามสกุลใดๆ ทางทีมผู้พัฒนาระบุว่า
“ตัวโค้ดของแอพเป็นโอเพนซอร์สให้ตรวจสอบได้ ส่วนข้อมูลที่บันทึกเข้าแอพจะถูกทำลายทิ้งหลังผ่านวิกฤตแล้ว และจะร่วมมือกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล จัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบกระบวนการจัดการข้อมูลให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562”
แอพพลิเคชั่นตัวนี้จะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อสามปัจจัยเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
หนึ่งคือจำนวนผู้ใช้งานที่มากเพียงพอ สองคือการตอบคำถามแบบไม่มีการปิดบังและบิดเบือนความจริง และสามคือประชาชนทุกคนมีอุปกรณ์ที่สามารถเข้าถึงแอพพลิเคชั่นนี้ได้ ซึ่งในสองข้อแรกนั้นอาจจะยังพอโปรโมตและให้ความรู้แก่ผู้ใช้งานได้ แต่ข้อสุดท้ายมันเป็นปัญหาที่แก้ลำบากเพราะไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงแอพพลิเคชั่นเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่มคนยากไร้และไม่มีความรู้จะกลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังทันทีและมีความเสี่ยงมากกว่ากลุ่มอื่นๆ
ปัญหามันยังไม่จบแค่นั้น เพราะถึงแม้ว่าแอพพลิเคชั่นติดตามตัว (อย่าง ‘หมอชนะ’) จะบอกว่าเมื่อพ้นวิกฤติไปแล้วข้อมูลจะถูกลบทันที แต่สิ่งนี้เราเชื่อมั่นได้มากแค่ไหน มันอาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นจริงๆ ก็ได้ ใช้ความเชื่อใจอย่างเดียวเพียงพอจริงๆ นะเหรอ
เพราะอยากให้ลองคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ต่อจากนี้ ในเมื่อ COVID-19 ได้ทำตัวเป็นใบเบิกทางสู่การยอมรับการใช้แอพพลิเคชั่นที่ติดตามตัวประชาชนของรัฐบาลที่มีอำนาจในมือ ซึ่งแม้ว่าในตอนนี้มันดูเป็นมาตรการที่จำเป็น แต่เมื่อข้อมูลส่วนตัวของเราถูกบันทึกเอาไว้แล้ว ในอนาคตเราไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง สมมติเหตุการณ์ COVID-19 เป็นแค่จุดเริ่มต้น ต่อไปถ้ามีโรคระบาดเกิดขึ้นอีกครั้ง ผู้ดูแลกฎหมายอาจจะคอยจับตาดูการเคลื่อนไหวของทุกคนได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่โหลดมาแล้วเรายินดีใช้แบบยินยอมพร้อมใจแล้ว แต่ฝังอยู่ในตัวซอฟท์แวร์ของสมาร์ทโฟนเลยล่ะ? (เหมือนที่ Apple กับ Google กำลังร่วมมือกันทำเพื่อให้ผู้มีอำนาจจากหน่วยงานสาธารณสุขเท่านั้นที่จะเข้าถึงข้อมูลได้) หรือถ้าเกิดว่าเราเดินออกนอกพื้นที่ที่จัดโซนเอาไว้ให้แล้วถูกใบสั่งเข้ามาในโทรศัพท์เลยล่ะ? อาจจะฟังดูเลยเถิดและเกินเลยไปสักหน่อยแต่มันก็มีตัวอย่างให้เห็นเช่นจีน, รัสเซีย หรือ ดูไบ ที่มีกฎหมายออกมาบังคับเพื่อติดตามประชากรของพวกเขา
คำถามต่อมาก็คือว่านี่เป็นอนาคตที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวมหรือเป็นการเพิ่มอำนาจการควบคุมข้อมูลของประชาชนโดยการพัฒนาของเทคโนโลยีกันแน่? เพราะจริงอยู่ว่าขณะนี้ทั้งสองฝ่ายนั้นต่างมีเหตุผลที่น้ำหนักใกล้เคียงกัน การโต้เถียงกันถึงประเด็นที่ว่าอันไหนควรทำหรือไม่ควรทำจึงเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก โดยเฉพาะตอนนี้ที่มีประเด็นเรื่องความกังวลและความเป็นความตายเป็นส่วนประกอบ การถกเถียงแบบใช้เหตุผลไม่มีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องจึงทำได้ไม่ง่ายเท่าไหร่นัก
ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ไม่ได้ตื่นตัวกับเรื่องเหล่านี้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าพวกธุรกิจหรือรัฐทำอะไรกับข้อมูลของพวกเขาบ้าง
บางส่วนรู้แต่ไม่สนใจ บางคนบอกว่าไม่มีอะไรต้องปิดบังอยู่แล้วจะไปกลัวอะไร แล้วการพยายามเอาข้อมูลเหล่านี้ยัดเข้าไปอีก ยิ่งกลายเป็นการผลักให้กลุ่มคนที่ไม่สนใจอยู่แล้วเกิดความรำคาญมากยิ่งขึ้นกลายเป็นไม่สนใจมากกว่าเดิมก็เป็นได้
กลุ่มคนที่ไม่รู้ว่าข้อมูลของพวกเขามีมูลค่าแค่ไหนก็มีไม่น้อย ซึ่งเหตุผลหนึ่งก็คงเพราะว่าข้อมูลเหล่านี้นับออกมาเป็นเม็ดเงินไม่ได้ เมื่อไหร่ก็ตามที่จุดนี้มีการเปลี่ยนแปลง เช่น บริการต่างๆ ที่ใช้ข้อมูลของเราเพื่อหาผลกำไรเปลี่ยนมาจ่ายเงินให้กับผู้ใช้งานแทน มุมมองตรงนี้ของผู้ใช้งานจะเปลี่ยนไปทันที (ซึ่งวันนั้นคงไม่มีทางมาถึง) และธุรกิจต่างๆ มีการแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลไม่มากก็น้อยอยู่แล้ว หลายต่อหลายครั้งที่เราเห็นข่าวข้อมูลที่หลุดรอดออกไป ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตามที
เพราะฉะนั้นเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลนั้นมีหลายด้าน สิ่งสำคัญก็คือเรื่องความโปร่งใสของการจัดการข้อมูลและการให้ความรู้แก่ประชาชนผู้ให้ข้อมูลว่ามันจะถูกนำไปใช้ยังไงบ้างและตรวจสอบได้แบบไหน มีกฎหมายอะไรรองรับถ้าเกิดว่าไม่เป็นไปตามนั้นบ้าง มีการชดเชยให้กับผู้ใช้งานรึเปล่าหากเกิดพบว่าข้อมูลถูกนำไปใช้ในทางอื่นที่ไม่ได้บ่งบอกเอาไว้ตั้งแต่แรก เพราะในเชิงของเทคโนโลยีแล้วการติดตามการเคลื่อนไหวที่สอดส่องผู้ใช้งานนั้นทุกอย่างเป็นไปได้หมด เพียงแต่จะทำยังไงให้มันไม่ดูก้าวก่ายและละเมิดสิทธิ์ส่วนบุคคลมากเกินไปเท่านั้น
มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าสุดท้ายแล้วเจ้า COVID-19 จะจบยังไงและแอพพลิเคชั่นติดตามตัวประชาชนจะกลายเป็น New Normal ที่ทุกคนยอมรับไปในชีวิตประจำวันเลยรึเปล่า ตอนนี้เราอาจจะต้องยอมแลกความเป็นส่วนตัวกับความปลอดภัยของชีวิต มันเป็นเรื่องของความจำเป็นและอยู่ในจุดที่ทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ แต่ในช่วงอนาคตข้างหน้าเราอย่าลืมว่าเมื่อควบคุมไวรัสร้ายนี้ได้ ปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลจะกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหนึ่ง เราต้องระมัดระวังไม่ให้แอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่ตามมามีการติดตามตัวผู้ใช้งานแอพพลิเคชั่นและดึงข้อมูลเราไปใช้โดยไม่มีการแจ้งเตือนหรือได้รับการยินยอมจากผู้ใช้งาน เพียงเพราะช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้นส่วนใหญ่อาจยอมรับได้ในจุดนี้
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คืออย่าให้ COVID-19 เป็นสะพานข้ามไปยังจุดที่เราไม่มีสิทธิ์ในข้อมูลความเป็นส่วนตัวของเราได้อีกเลยในอนาคต
อ้างอิงข้อมูลจาก
EU privacy body urges anonymization of location data for COVID-19 tracking