หลักในทางกฎหมายอย่างหนึ่ง คือการ ‘ได้ส่วน’ หรือ Proportionality
คำว่า ‘ได้ส่วน’ ในที่นี้ คือได้ส่วนกับความผิด นั่นแปลว่า ความยุติธรรมที่เกิดขึ้นต่อการกระทำผิดบางอย่าง นอกจากจะต้องยุติธรรมทั้งกระบวนการ (ซึ่งเรียกว่าเป็น Due Process Justice) แล้ว ยังต้องเป็นความยุติธรรมที่เรียกว่า ‘ยุติธรรมในกระบวนการลงโทษ’ ด้วย ซึ่งหลักการของมันก็คือการลงโทษนั้นต้อง ‘ได้ส่วน’ กับความผิด
อิมมานูเอล คานต์ เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ใน Science of Right โดยบอกว่าการลงโทษอย่างยุติธรรมนั้นไม่เหมือนกับการแก้แค้นที่ทำไปโดยอำเภอใจ ยิ่งแค้นใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งตอบสนองต่อความแค้นมากเท่านั้น หรือไม่ในอีกด้านหนึ่งก็คิดว่าต้องลงโทษให้ ‘แรง’ เอาไว้ก่อน เพื่อจะได้หลาบจำ ผู้กระทำผิดจะได้ไม่ทำอย่างที่ทำอีก แถมยังเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูด้วย ถ้ามีการลงโทษแรงๆ คนอื่นจะได้ไม่เอาเยี่ยงอย่าง การลงโทษแบบนี้ฝรั่งเรียกว่า Retributive Justice หรือความยุติธรรมเชิงชดใช้ คือแนวคิดใช้วิธีลงโทษที่รุนแรงตอบโต้ผู้กระทำ
ที่จริงแล้ว ทฤษฎีเกี่ยวกับความยุติธรรมนั้นมีหลายอย่าง แม้ในระบบยุติธรรมของแต่ละสังคมจะวางตัวอยู่บนฐานทฤษฎีที่ต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยที่สุด ในกระบวนการยุติธรรมจริงๆ อย่างน้อยก็ยังมีศาล มีผู้พิพากษา มีกระบวนการสั่งฟ้อง แม้อาจเกิดข้อบกพร่องขึ้นมาได้บ้างอย่างที่เราเคยเห็นกันมาในกลายกรณีในประวัติศาสตร์ แต่ขั้นตอนกลั่นกรองที่ละเอียดพอสมควร ก็มักจะยึดหลักการลงโทษที่ ‘ได้ส่วน’ อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในโลกยุคใหม่นี้ เริ่มมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เกิดการลงโทษในแบบที่ ‘ไม่ได้ส่วน’ มากขึ้น
นั่นก็คือการลงโทษที่เกิดจาก Social Media Sanction หรือการคว่ำบาตรคว่ำขันสาปแช่งคนที่กระทำผิดตามหน้าโซเชียลมีเดีย ซึ่งบ่อยครั้งมีผลทำให้คนที่ถูกคว่ำบาตรนั้นแทบจะหมดอนาคตไปเลย
กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในสังคมไทยคือเรื่องที่ครูตรวจการบ้านเด็กผิด เราจะพบว่าความคิดเห็นต่อกรณีนี้แทบจะเป็นด้านเดียวเลย คือต่อว่าต่อขานครู ซึ่งก็มีทั้งต่อว่าต่อขานธรรมดาๆ และต่อว่าต่อขานในระดับที่อยากไล่ให้ครูคนนั้นพ้นจากการทำงานเป็นครูไปเลย เช่นบางคอมเมนต์บอกว่าครูคนนั้นควรจะลาออกจากการเป็นครูไปเลย บางคนก็ตั้งคำถามเลยไปไกลไปว่า ครูเอาแต่แต่งเนื้อแต่งตัวหรือเปล่า เลยไม่ได้มาสนใจเรื่องการตรวจข้อสอบ บางคนก็บอกว่าครูทำแบบนี้มักง่ายมาก การทำผิดพลาดเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ สะท้อนให้เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องใหญ่จะต้องทำผิดพลาดมากกว่านี้แน่ๆ และมีรายงานข่าวด้วยว่า ครูคนนี้เครียดมากกับกระแสมหึมาออนไลน์ที่เกิดขึ้นโดยคาดไม่ถึง
ปรากฏการณ์นี้ทำให้ผมนึกถึงบทความออนไลน์บทความหนึ่ง ที่อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีนี้โดยตรง แต่อ่านแล้วก็น่าตระหนกตกใจอยู่พอสมควร
บทความนี้บอกว่า มีการสำรวจพบว่า มีคนจำนวนมากในโลกออนไลน์ ที่รายงานว่าการประทุษร้ายด้วยวาจาออนไลน์ (Online Harassment) เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าหากว่าอีกฝ่ายเป็นผู้ที่ทำอะไรบางอย่างผิดพลาดจริง และถือเป็นเรื่องชอบธรรม (Justified) ด้วย ถ้าหากคนคนนั้นจะถูกจาบจ้วงต่างๆ แม้ว่าคนเหล่านั้นก็รู้อยู่แก่ใจว่าประทุษวาจาไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสมหรือควรทำโดยหลักการ โดยนักวิจัยพบว่า คนที่อยู่ในโลกออนไลน์นั้น มักทำตัวเป็นเหมือนผู้พบเห็นเหตุการณ์หรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ (Bystander) เนื่องจากสภาวะในโลกออนไลน์ทำให้คิดแบบนั้น เลยมองว่าตัวเองสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องหรือแสดงความคิดเห็นได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าประทุษวาจาออนไลน์เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว
การทดลองของมหาวิทยาลัยมิชิแกนนี้ แบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกนักวิจัยเลือกผู้เข้าร่วมจากทวิตเตอร์ แล้วให้ตอบสนองต่อเหตุการณ์สมมุติที่เกิดขึ้นสามอย่าง อย่างแรก มีการเขียนกล่าวหาว่ามีคนขโมยเงินจากคนชรา 100 เหรียญ อย่างที่สองเหมือนอย่างแรกทุกประการ ยกเว้นเงินที่ขโมยไปนั้นเพิ่มเป็น 10,000 เหรียญ ส่วนอย่างที่สาม เป็นการเขียนด่าอย่างเดียวโดยไม่เล่าบริบท (เพื่อเป็นกลุ่มควบคุม)
จากนั้นในการศึกษาส่วนที่สอง นักวิจัยเลือกผู้เข้าร่วมจากทวิตเตอร์และ Amazon Mechanical Turk ซึ่งเป็นระบบ Crowdsourcing ออนไลน์ที่คนสามารถเข้ามาร่วมมือกันทำสิ่งที่คอมพิวเตอร์ยังทำไม่ได้ โดยแบ่งคนเหล่านี้ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มควบคุม กลุ่มที่สองเล่าเรื่องการขโมยเงินคนแก่มูลค่า 1,000 เหรียญ แล้วมีการทวิตด่า โดยให้คนในกลุ่มที่สองเห็นข้อความที่เห็นด้วยกับการด่านั้นห้าข้อความ ส่วนกลุ่มที่สามสถานการณ์แบบเดียวกัน แต่ให้เห็นข้อความที่เห็นด้วยกับการด่าห้าข้อความ และอีกหนึ่งข้อความไม่เห็นด้วย
หลังจากนั้นก็มาสอบถามผู้เข้าร่วม พบว่าผู้เข้าร่วมเห็นว่าควรจะออกมาตำหนิคนที่ทำผิด โดยไม่ว่าจะขโมยเงินมากหรือน้อยก็ต้องถูกตำหนิทั้งนั้น เพราะถือว่าเป็นความผิดแบบเดียวกัน และแม้บางส่วนจะเห็นว่าคำด่าในการทดลองนั้นรุนแรงเกินไป แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เห็นว่าการด่าว่าแบบรุนแรงนั้นเป็นเรื่องปกติในโลกออนไลน์ไปแล้ว ที่น่าตื่นตระหนกก็คือ ผลสรุปของการทดลองนี้ปรากฏออกมาตามชื่อบทความเลยว่า When Online Harassment Is Perceived as Justified ซึ่งในแง่หนึ่งก็คือการสถาปนาความยุติธรรมแบบ Retributive Justice ขึ้นมาในโลกออนไลน์นั่นเอง
ผลลัพธ์ของเรื่องนี้ที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงคือการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน (คือไม่มี Proportionality) เพราะโลกออนไลน์มักจะก่อให้เกิดการลงโทษที่ ‘เกินจริง’ ไปมาก
แม้ในบางกรณีจะเป็นประทุษวาจาเล็กๆ แต่เมื่อรวมกันเข้าหลายๆ ครั้งจากหลายๆ คน ก็อาจกลายเป็นมวลขนาดใหญ่ และมวลขนาดใหญ่นี้เอง ที่ไป ‘เสริมแรง’ ทำให้เกิดประทุษวาจาที่ร้ายแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ได้ แบบ Snowball Effect สุดท้ายแล้ว การลงโทษที่เกิดจากโซเชียลมีเดียที่กลายเป็นกระแสดังๆ จึงแทบไม่เคย ‘ได้ส่วน’ กับความผิดของคนที่ทำผิดเลย
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ หลายคนผูกพันตัวเองเข้ากับบางกรณี และนำความผูกใจเจ็บในอดีตเข้ามาใส่ จึงทำทุกวิถีทางที่จะ ‘ล้างแค้น’ แทนความเจ็บแค้นในอดีตของตัวเอง ด้วยการพยายามสืบค้นและนำข้อมูลส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับผู้กระทำผิดออกมาตีแผ่แบบที่บางคนเรียกว่า ‘ล่าแม่มด’ แต่บางคนก็เรียกว่า Doxing
ลินด์ซีย์ แบล็คเวลล์ นักศึกษาปริญญาเอกจาก School of Information จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน อธิบายว่า ในโลกออนไลน์นั้น คนเราแทบไม่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองเหมือนเวลาอยู่ในโลกจริง เพราะโลกออนไลน์มีสองลักษณะสำคัญ อย่างหนึ่งคือภาวะไร้ชื่อไร้นาม (Anonymity) อีกอย่างหนึ่งคือความชั่วครู่ประเดี๋ยวประด๋าว (Ephemerality) ทำให้คนที่เข้ามาด่าสามารถวิพากษ์วิจารณ์อย่างไรก็ได้โดยที่ระบบกฎหมาย (หรือกระทั่งระบบศีลธรรม) ภายนอกตามเข้ามาจัดการไม่ทัน
ด้วยเหตุนี้ ทุกคนจึงหยิบ ‘รหัสศีลธรรม’ (Moral Codes) ของตัวเองที่มีหลากหลายมาตรฐานขึ้นมาใช้ การลงโทษที่ว่าจึงมีทั้งแรงและค่อย เข้มข้นและเจือจาง แต่ทั้งหมดพุ่งเป้าไปยังคนกระทำผิดคนเดียว
แบล็คเวลล์ยกตัวอย่างเหตุการณ์แบบนี้ในโลกตะวันตก เช่น ในเดือนธันวาคมปี 2013 เกิดปรากฏการณ์ทำให้อับอายสาธารณะ (Public Shaming) กับผู้หญิงคนหนึ่ง เธอคือ จัสทีน แซ็คโค (Justine Sacco) ในตอนนั้น เธอกำลังจะเดินทางจากนิวยอร์คไปเคปทาวน์ ก่อนขึ้นเครื่องเธอทวีตว่า Going to Africa. Hope I don’t get AIDS. Just Kidding. I’m white!” แล้วก็ขึ้นเครื่องนอนหลับไป 11 ชั่วโมง
จริงๆ แล้วเธอมีผู้ติดตามทางทวิตเตอร์แค่ 170 คนเท่านั้น แต่พอผ่านไป 11 ชั่วโมง เมื่อเธอบินถึงที่หมายแล้ว เธอพบว่าตัวเองถูกไล่ออกจากงาน บริษัทที่เธอทำงานด้วยประกาศว่าเธอไม่อาจดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรต่อไปได้ เธอกลายเป็นหัวข้อพูดคุยอันดับหนึ่งในโลกทวิตเตอร์ทั่วโลก ทุกคนทวีตถามว่า จัสทีนลงเครื่องหรือยัง จนเกิดเป็นแฮชแท็ก #HasJustineLandedYet ขึ้นมา และต่างแสดงความยินดีปรีดาที่เธอต้องตกงานเพราะทวีตประโยคเหล่านั้น
อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือกรณีของเว็บหาคู่จากแคนาดาชื่อ แอชลี เมดิสัน (Ashley Madison) ซึ่งถูกแฮ็ก แล้วมือดีที่แฮ็กข้อมูลไปก็นำทั้งชื่อ ที่อยู่ อีเมล และรายละเอียดต่างๆ ของคนที่เข้าไปใช้บริการหาคู่จากเว็บนี้ เช่น จินตนาการทางเพศต่างๆ ออกมาปล่อย ซึ่งถือว่าเป็น Online Shaming อย่างหนึ่ง เพราะคนที่เข้าไปใช้บริการหาคู่เหล่านี้ มีคนที่แต่งงานแล้วและมีลูกรวมอยู่ด้วย คนเหล่านี้จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์เสียหายรุนแรง นักจิตวิทยาบางคนบอกว่า โซเชียลมีเดียได้สร้าง ‘วัฒนธรรมใหม่’ ขึ้นมาเป็นวัฒนธรรมก้าวร้าวที่ ‘ตัดสิน’ คนอื่นอย่างรวดเร็วโดยใช้ฐานที่หลากหลาย และเลือกลงโทษคนคนนั้นอย่างรุนแรงไร้ขีดจำกัดและไม่คงเส้นคงวา เพราะต่างคนต่างทำโดยไม่เข้าใจว่าความยุติธรรมคืออะไร
เป็นไปได้ไหมว่า – การลงโทษทำนองนี้ แม้จะเกิดขึ้นเพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่กลับพามนุษย์ย้อนยุคสู่วิธีลงโทษแบบดึกดำบรรพ์ที่ต่างคนต่างทำโดยไร้หลักการสากล ซึ่งก็น่าเสียดาย เพราะกว่าจะมาถึงกระบวนการยุติธรรมแบบที่เห็นในปัจจุบันได้ มนุษย์เราต้องลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักการว่าด้วยความยุติธรรมมานานนับพันปี แต่จู่ๆ ก็คล้ายเราถูกอะไรบางอย่างถีบย้อนเวลากลับไปในพริบตา
ถ้าเราตระหนักอยู่เสมอว่า ในโลกโซเชียลมีเดียที่มีการคว่ำบาตรหรือลงโทษกันนั้น มีความยุติธรรมเชิงชดใช้หรือ Retribution แฝงฝังอยู่เป็นฐาน ครั้งต่อไปที่เราจะจรดมือลงพิพากาษาอย่างรุนแรง เราอาจต้องลองถามตัวเองดูเสียก่อนว่า – นี่คือการลงโทษที่ ‘ได้ส่วน’ กับความผิดหรือเปล่า
แน่นอน – การลงมือถามตัวเองเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย และเป็นไปได้ ที่การหาคำตอบอาจยากยิ่งกว่า
แต่ถ้าอยากอยู่ในสังคมที่ดีกว่านี้ – บางทีเราก็อาจต้องลองทำดู