เมื่อวันที่ 3 มกราคมที่ผ่านมา นายพลคาเซ็ม ซูลีมานี (Qasem Soleimani) ผู้บัญชาการกองกำลังรบพิเศษคุดส์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังปฏิวัติแห่งอิหร่านถูกโดรนของสหรัฐอเมริกายิงมิสไซล์ใส่ขบวนรถจนเสียชีวิตพร้อมทีมอารักขาความปลอดภัยในเมืองแบกแดด ประเทศอิรัก
เหตุการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ความตึงเครียดในตะวันออกกลางทันที อิหร่านประกาศจะล้างแค้นอเมริกาหลังความตายของนายพลคนดัง ด้านอิรักซึ่งเป็นพื้นที่ที่คาเซ็มเสียชีวิต ก็ประกาศผลักดันกองทัพอเมริกาออกจากประเทศ พร้อมพยายามต่อต้านอิหร่านที่มีอิทธิพลในอิรักมาอย่างยาวนาน เกิดความตื่นกลัวไปทั่วโลก เมื่อประธานาธิบดีทรัมป์ก็พร้อมจะลั่นกลองรบใส่อิหร่านด้วย
ความตายของนายพลคาเซ็มวัย 62 ปี นำไปสู่ผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เราอาจรู้ว่าเขามีอำนาจและอิทธิพลเป็นอันดับ 2 ในอิหร่านรองจาก อาลี คาเมเนอี (Ali Khamenei) ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดเท่านั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวชีวประวัติของนายพลคนนี้ เพราะเขาทำงานด้านข่าวกรองอยู่เบื้องหลังปฏิบัติงานลับมากมาย
นอกจากนี้เขายังถือเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามของสหรัฐอเมริกามาเกือบ 20 กว่าปี และมีความพยายามจะลอบสังหารเขาหลายครั้ง แต่ทุกข้อมูลทั้งจากมิตรและศัตรูในโลกของข่าวกรองยืนยันได้ว่านายพลคนนี้คือของจริงที่ทำให้สมรภูมิรบตะวันออกกลางดุเดือดเลือดพล่านจนสิ้นเปลืองชีวิตมนุษย์ไม่แพ้สมรภูมิใดในโลกหล้า
ยอดขุนพล
คาเซ็มเกิดในหมู่บ้านแร้นแค้นทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน พ่อทำงานเป็นชาวนา ซึ่งในสมัยนั้นอยู่ในการปกครองของพระเจ้าชาห์ (Mohammad Reza Pahlavi) พ่อทำนาด้วยการกู้หนี้ยืมสินจากทางรัฐบาลจนเป็นหนี้อยู่ 900 เหรียญและไม่มีปัญญาจ่ายคืน คาเซ็มจึงต้องออกจากโรงเรียนและบ้านเกิดเพื่อไปหางานทำต่างเมืองกับลูกพี่ลูกน้องที่มีชะตากรรมเดียวกับตัวเขา
“กลางคืนพวกเราหลับไม่ลงเพราะกลัวว่าเจ้าหน้าที่รัฐจะมาจับพ่อ”
ทั้งสองเดินทางไปสู่เมืองใหญ่ และเริ่มหางานทำเป็นกรรมกรสร้างโรงเรียนได้ค่าแรง 2 เหรียญต่อวัน ทั้งสองคนมุ่งมั่นทำงานอยู่ 8 เดือนก็มีเงินเพียงพอจ่ายหนี้และกลับบ้านได้ เมื่อกลับไปถึงบ้านยามรุ่งอรุณ ทุกคนต่างแตกตื่นราวเห็นผีเมื่อพวกเขากลับมาพร้อมเงินที่สามารถปลดหนี้ให้กับพ่อของคาเซ็มได้
เมื่อโตมาหน่อย เด็กหนุ่มก็ไปทำงานอยู่ในหน่วยงานด้านน้ำ ใช้เวลาว่างเข้ายิมออกกำลังกายและฝึกฝนด้านศิลปะป้องกันตัว อันเป็นเรื่องปกติของชายหนุ่มในประเทศมุสลิมยุคนั้นที่ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นนักรบพลีชีพ
พลันที่ระบอบพระเจ้าชาห์ล่มสลาย คาเซ็มวัย 22 ปีก็เข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติ ซึ่งตั้งขึ้นมาเพื่อคานกับกองทัพไม่ให้ทำการรัฐประหารล้มระบอบใหม่ แม้จะได้รับการฝึกเพียงแค่ 45 วัน แต่เขาก็ออกปฏิบัติหน้าที่และก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว คาเซ็มถูกส่งไปยังภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่านเพื่อจัดการกับชาวเคิร์ดที่ลุกฮือในตอนนั้นและทำผลงานได้ดีเลยทีเดียว
แต่เหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนชีวิตนักรบหนุ่ม ก็คือ 18 เดือนหลังการปฏิวัติอิสลาม เมื่อ ซัดดัม ฮุสเซน (Saddam Hussein) นำกองทัพอิรักบุกอิหร่าน เลือดรักชาติที่พร้อมจะพลีกายเพื่อปฐพีจึงเกิดขึ้น ชายอิหร่านต่างเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติแล้วออกรบ ประเทศสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวคือต่อต้านผู้รุกราน คาเซ็มเล่าถึงความหลังระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า
“ตอนนั้นพวกเรายังเด็ก และต้องการรับใช้การปฏิวัติ”
ด้วยความกล้าและความห้าวหาญทำให้นักรบคนนี้
ได้รับการจับตามองจากผู้บังคับบัญชาจนได้เลื่อนขั้นคุมกองร้อย
ในทุกครั้งที่เขาจะนำทหารออกศึก คาเซ็มจะกล่าวสุทรพจน์อำลาทหาร เน้นย้ำว่าทุกคนคือผู้พลีชีพเพื่อศาสนา หลายครั้งเขาขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาเพราะไม่ต้องการพาลูกน้องไปตาย ในสงครามครั้งนั้น อิรักใช้อาวุธชีวภาพสังหารทหารอิหร่าน ทหารในการบังคับบัญชาของคาเซ็มเองก็ถูกอาวุธนี้คร่าชีวิตไปหลายร้อยคน
หลายครามีคนเห็นคาเซ็มนั่งเงียบๆ เพื่อคิดถึงผู้ใต้บังคับบัญชาที่จากไประหว่างสงครามครั้งนั้น
สมรภูมิอิรักอิหร่านนั้นพรากลูกพี่ลูกน้องที่เดินทางจากบ้านไปทำงานหาเงินใช้หนี้ด้วย แม้ตัวคาเซ็มเองก็เคยได้รับบาดเจ็บจากการทำศึก แต่บาดแผลไม่ทำให้เขาเลิกมุ่งมั่นกับงาน เขาแทบจะเพลิดเพลินกับงานในกองทัพ อดีตซีไอเออเมริกาบอกว่า พวกทหารกองกำลังปฏิวัตินี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท พวกแรกแหลกสลายทั้งร่างกายและจิตใจ พวกต่อมาคือไม่รีรอที่จะพาตัวเองกลับไปสู่สนามรบ
คาเซ็มคือคนประเภทที่ 2
สงครามครั้งนั้น ทำให้ผู้นำอิหร่านรู้ดีว่าพวกเขาเป็นเป้าแห่งความเกลียดชังในภูมิภาค และชาติตะวันตกก็สนับสนุนรวมถึงอยู่เบื้องหลังอิรักในการจัดหาอาวุธทำสงครามเพื่อโค่นล้มระบอบการปกครองในอิหร่าน ความกลัวตรงนี้นำไปสู่การวางแผนก่อตั้งยุทธศาสตร์ เพราะหากไม่สามารถทำสงครามชนะเพื่อยึดดินแดนได้ ก็เสี่ยงต่อการนองเลือดเกินไป หรืออาจต้องใช้สงครามแบบอสมมาตรสร้างอิทธิพลให้อิหร่านครอบงำประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคตะวันออกกลางให้ได้
กองกำลังรบพิเศษคุดส์จึงถือกำเนิดมาด้วยเหตุนี้ เพื่อทำสงครามนอกแบบ สร้างอิทธิพลให้กับอิหร่าน สนับสนุนนักรบในประเทศเพื่อนบ้านให้เดินตามแนวทางการปฏิวัติอิสลามแบบอิหร่าน
คาเซ็มได้เข้าร่วมกองกำลังนี้ด้วย จนปี ค.ศ.1998 ก็ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยดังกล่าว พร้อมสร้างชื่อเสียงให้กับหน่วยนี้ ยกระดับเป็นศัตรูที่น่าเกรงขามที่สุดในหมู่มวลศัตรูทั้งหมดของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะภายหลังเหตุการณ์ 9/11 และการบุกอิรักในปี ค.ศ.2003 ซึ่งทำให้โลกของข่าวกรองและสงครามรู้จักชื่อของคาเซ็ม
นายพลคนนี้สร้างผลงานก่อกำเนิดแนวร่วมกลุ่มนักรบที่ถูกประณามว่าเป็นผู้ก่อการร้ายในสายตาตะวันตก เขาคือผู้ค้ำยัน บาชาร์ อัล อัสซาด (Bashar al-Assad) ให้เป็นประธานาธิบดีในซีเรียได้ต่อไป แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงที่สุดคือการสร้างอิทธิพลในอิรักให้เอียงเข้าหาอิหร่าน ความสุดยอดก็คือ การสร้างอิทธิพลนี้เกิดขึ้นภายหลังการบุกยึดครองอิรักของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.2003 ด้วย
ตลอดการทำงานเขาไม่ลังเลในการผลักดันการก่อการร้ายในประเทศต่างๆ ทั่วโลก (รวมถึงในประเทศไทยด้วย)
เขาไม่ลังเลในการวางแผนลอบสังหารคีย์แมนคนสำคัญ
ในตะวันออกกลางที่ถูกระบุว่าเป็นศัตรูของอิหร่าน
ครั้งหนึ่งเขาเคยว่าจ้างแก๊งค้ายาเม็กซิกันให้ลอบสังหารนักการทูตซาอุดีอาระเบียในสหรัฐอเมริกา โดยแผนนั้นจะสังหารนักการทูตขณะกินข้าวอยู่ที่ร้านอาหารห่างจากทำเนียบขาวไม่กี่กิโลเมตรด้วย โชคดีที่แผนนั้นล้มเหลวเสียก่อน
หลายปีที่ผ่านมาเขาปะมือกับนายพลอเมริกาหลายคน แหล่งข่าวใกล้ชิดบอกว่านายพลคนนี้มักจะตื่นตี 4 ของทุกวันและเข้านอนตอนสามทุ่มครึ่ง ในช่วงสงครามกลางเมืองซีเรีย เขาไปบัญชาการสงครามที่กรุงดามัสกัส เมืองหลวงซีเรียด้วยตัวเอง เขาเน้นย้ำว่าหากเสียซีเรีย (หมายถึงปธน.อัสซาดล้ม) กรุงเตหะรานก็จะล้มตามไปด้วย
เขาสร้างเครือข่ายข่าวกรองไปทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง เจ้าหน้าที่อิหร่านสามารถทำงานนอกประเทศและสร้างสายสัมพันธ์กับผู้นำระดับสูงในประเทศต่างๆ หลักการสำคัญที่นายพลคนนี้ให้ไว้ก็คือการไม่ละทิ้งเพื่อน เพราะพวกเราไม่ใช่สหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักการนี้ทำให้อิหร่านคงอิทธิพลในตะวันออกกลางได้อย่างทรงพลังยิ่งนัก
ตัวคาเซ็มเองไม่ใช่คนเคร่งศาสนามาก แต่ก็ไม่ผ่อนปรน ไปมัสยิดเป็นครั้งคราว ไม่เคยร้องหรือฟังเพลง คนรู้จักบอกว่าความเชื่อทางศาสนานั้นไม่ใช่แรงผลักดันเขาในการทำงาน แต่เป็นความรักชาติและความชอบในการโรมรันต่างหากที่ผลักดันท่านนายพลไปสู่ทางเดินสุดแสนอันตรายนี้
คาเซ็มมีครอบครัว เคารพรักและให้เกียรติภรรยา เป็นพ่อที่เข้มงวดแต่ก็น่ารักสำหรับลูกๆ ทั้ง 5 คนที่เป็นผู้ชาย 3 คน เป็นผู้หญิง 2 คน โดยลูกสาวคนหนึ่งอาศัยอยู่ในมาเลเซีย ครั้งหนึ่งซูลีมานีผู้พ่อเป็นกังวลว่าลูกคนนี้จะหันเหออกจากวิถีของศาสนาอิสลาม
มีรายงานว่าส.ส.ของอเมริกาเคยพยายามผลักดันให้ลอบสังหารนายพลคนนี้ผ่านทางคณะกรรมการ แต่ไม่เป็นผล แม้ที่ผ่านมาจะมีข้อมูลและหลักฐานว่าเขาอยู่เบื้องหลังการสังหารคนอเมริกาหลายครั้งก็ตาม
สำหรับชื่อเสียงของเขาในอิหร่านนั้นเกิดขึ้นเมื่อสื่อนำเสนอตัวเขาได้เพียง 3 ปีที่ผ่านมานี้เอง แต่อิทธิพลทางการเมืองนั้น นายพลมีกำลังภายในมานมนานแล้ว ดังเช่นในปี ค.ศ.1999 เขาเคยร่วมกับเพื่อนกองกำลังปฏิวัติเขียนจดหมายหาประธานาธิบดีอิหร่านที่มีหัวปฏิรูปและมีนโยบายเสรีนิยมเกินไป ให้เร่งจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วงในขณะนั้นเสีย โดยเขาย้ำว่า
“หากยังดำเนินนโยบายแบบนี้อยู่ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำการปฏิวัติ!”
วันลอบสังหาร
ในวันเกิดเหตุ นายพลเดินทางกลับมาจากกรุงดามัสกัส ซีเรีย เครื่องบินลงจอดที่สนามบินในแบกแดด โดยเครื่องจอดที่ลานจอดลับซึ่งได้รับการคุ้มครองปกป้องเป็นอย่างดี นายพลขึ้นรถอีกคันพร้อมกับมีผู้ช่วยขับนำ และมีทีมรักษาความปลอดภัยขับตาม
ก่อนการลอบสังหารนายพล มีเหตุการณ์ประชาชนบุกสถานทูตอเมริกาในกรุงแบกแดด แม้จะไม่ถึงขั้นเข้าไปยึด เพราะหลังจากบุกเข้าไปเพียงนิดเดียวก็ได้ถอนกำลังกลับมา แต่ระหว่างการบุกนั้น มีการจุดไฟเผาโซนต้อนรับ ที่แม้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่เรื่องนี้สร้างความตื่นตระหนกและไม่พอใจให้กับประธานาธิบดีทรัมป์เป็นอย่างยิ่ง จนต้องเลือกมาตรการตอบโต้
ทางกระทรวงกลาโหมเสนอแผนการหลากหลายชนิด ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์รู้ว่าการสังหารนายพลเป็นหนึ่งในแผนการของปฏิบัติการ ซึ่งครั้งก่อนๆ เขาเลือกที่จะไม่ฆ่านายพลเป็นแนวทางการตอบโต้
แต่ไม่ใช่ครั้งนี้
เมื่อขบวนรถเคลื่อนออกจากสนามบิน อเมริกาได้ตรวจสอบจนแน่ใจแล้วว่าไม่มีเจ้าหน้าที่อิรักหรือใครอื่นอยู่ใกล้ขบวนรถดังกล่าว โดรนก็ปล่อยจรวดมิสไซลส์ 2 ลูกใส่รถของนายพล ก่อนจะยิงลูกที่ 3 ใส่ขบวนผู้คุ้มกัน
ปิดฉากชีวิตศัตรูของอเมริกาอย่างสั่นสะเทือนโลก
มีข้อมูลชัดเจนว่าตอนที่ประธานาธิบดีทรัมป์อนุมัติแผนการสังหารนี้ เขาอยู่ที่สนามกอล์ฟในฟลอริด้า ความตายครั้งนี้ได้ส่งผลสะเทือนไปทั้งโลกเป็นอย่างยิ่ง รวมถึงสถานการณ์ในตะวันออกกลางที่จะน่ากลัวมากกว่าเดิม และยังไม่อาจเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เพราะแม้คาเซ็มจะตายจากไป แต่เหตุการณ์ในตะวันออกกลางจะยังไม่เปลี่ยนแปลง ตราบใดที่ระบบกดขี่ยังคงอยู่แบบนี้
อิหร่านก็จะมีช่องทางในการครอบงำประเทศเพื่อนบ้านต่อไป
ไม่มีใครรู้ว่าห้วงเวลาสุดท้ายของท่านนายพลเป็นอย่างไร เขาจะคิดเห็นอย่างไร หรือคิดถึงใครบ้างไหม ไม่มีใครทราบ