1
28 มิถุนายน 1794 คือวันที่มักซิมิเลียน ฟรังซัวส์ มารี อิซาดอเร เดอ โรเบสปิแอร์ ตาย
เขาไม่ได้ตายคนเดียว แต่ตายไปพร้อมกับอีก 21 คน ที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘สาวกโรเบสปิแอร์’ หรือที่เรียกว่า Robespierrists
อายุเฉลี่ยของคนทั้ง 22 คน คือ 34 ปี โดยตอนตาย โรเบสปิแอร์มีอายุ 36 ปี
วันนั้น หากเรียกตามวิธีการแบบฝรั่งเศสหลังปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 ต้องบอกว่าเป็นวันที่ 10 Thermidor อันถือเป็นเดือนที่ 11 ตามปฏิทินสาธารณรัฐฝรั่งเศส ที่ใช้ในช่วงปี 1793 ถึง 1805
ในตอนบ่าย คนทั้ง 22 คนถูกนำตัวออกมายัง ปลาซเดอลาเรโวลูซิยง (Place de la Révolution) ซึ่งที่จริงก็คือปลาซเดอลาคองคอร์ด (Place de la Concorde) นั่นเอง
ที่นั่น สาธารณชนส่งเสียงสาปแช่ง ขณะที่พวกเขาถูกนำตัวขึ้นตะแลงแกง โรเบสปิแอร์มองไม่เห็นอะไรเพราะเขาถูกปิดตา ใบหน้าของเขาบวมช้ำเพราะขากรรไกรหัก เขาขึ้นสู่แท่นประหารเป็นคนที่สิบ และก้าวขึ้นไปบนนั้นโดยไม่มีผู้ช่วย ลำคอของเขามีผ้าพันเพื่อกระชับขากรรไกรของเขาให้หุบแน่นเข้าที่ แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ฉีกผ้าพันออกจนเหลือแต่ลำคอเปล่าเปลือย โรเบสปิแอร์ก็ส่งเสียงกรีดร้องสิ้นหวังหวาดกลัวออกมา
เสียงกรีดร้องนั้นดังก้องอยู่จนกระทั่งคมมีดร่วงหล่นลงมาดับเสียงนั้นให้สิ้นสนิท
เสียงปรบมือและตะโกนยังดังต่อไปอีกกว่าสิบห้านาที
เขาคงรู้เหมือนที่ทุกคนรู้—ว่าปลาซเดอลาเรโวลูซิยงหรือปลาซเดอลาคองคอร์ด ก็คือสถานที่เดียวกับที่สับพระศอของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั่นเอง
2
การปฏิวัติฝรั่งเศสไม่ได้มีรอบเดียว การได้มาซึ่งประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องของการเปิดสวิตช์ เพียงสับคัตเอาต์แล้วทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป ทว่าการปฏิวัติคือกระบวนการ มีการต่อสู้ผลักกลับไปมาระหว่างกัน และอาจต้องใช้เวลาชั่วนิรันดร์ในการผลักขับกันไปมาไม่รู้จักสิ้นสุด
การปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นกระบวนการที่สลับซับซ้อน 1789 คือปีที่เกิดการปฏิวัติฝรั่งเศสคราวแรก อันเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสที่ก่อให้เกิดยุคแห่งความน่าสะพรึงกลัวตามมาภายหลัง แล้วฝรั่งเศสก็ต้องเผชิญกับความระส่ำระสายต่อมาอีกเป็นร้อยปี ผ่านการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1848 หรือที่เรียกว่าปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์อีก ก่อนมาสู่ยุคแห่ง Paris Commune ที่โฮเวิร์ด ซินน์ (Howard Zinn) นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของอเมริกาเคยยกตัวอย่างว่านี่คือ ‘อุดมคติ’ แห่งการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ แต่กระนั้น ปารีสคอมมูนก็อยู่ไม่ได้ เพราะสุดท้ายก็เกิดรอยร้าวของการกระทบกระทั่งระหว่างแนวคิดแบบอนาธิปไตยและคอมมิวนิสม์ ‘คอมมูน’ แห่งนี้จึงล่มสลายไป
แต่กระนั้น การปฏิวัติฝรั่งเศสที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และเกี่ยวพันกับโรเบสปิแอร์โดยตรง ก็คือการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 นี่เอง
3
อย่างที่เรารู้กันอยู่ ว่าฝรั่งเศสและอังกฤษคือ 2 ชาติที่ผูกพันกันแน่นแฟ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นปรปักษ์กันอย่างลึกซึ้งด้วยในหลายด้าน ตั้งแต่ศาสนา ระบอบกษัตริย์ที่ขันแข่งกัน ไล่เลยไปถึงอารมณ์ขันต่างแบบ และอาหารที่ชิงเด่นกันว่าใครจะอร่อยกว่ากัน
ในเวลาที่อังกฤษเปลี่ยนผ่านทางศาสนาไปสู่การเป็นโปรเตสแตนต์และมีนิกายแองกลิกันที่ไม่ขึ้นต่อพระสันตะปาปา ฝรั่งเศสยังคงนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกอย่างเหนียวแน่น ซึ่งก็รวมถึงยุคของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon) ตั้งแต่พระเจ้าอองรีที่ 4 จนถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วย
ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เกิดสงครามใหญ่ในยุโรปขึ้น เรียกว่าสงครามเจ็ดปีหรือ Seven Years’ War เป็นสงครามที่มีที่มาซับซ้อน เกี่ยวพันไปถึงราชวงศ์ฮับสบูร์กของออสเตรีย ที่มีพระนางมาเรีย เทเรซา เป็นผู้นำ สงครามครั้งนี้แบ่งยุโรปออกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ คือฝั่งที่มีฝรั่งเศสเป็นผู้นำ โดยมีออสเตรีย รัสเซีย สวีเดน และอื่นๆ อยู่ร่วมกัน กับอีกฝั่งหนึ่งที่มีอังกฤษ (หรือเกรตบริเทน) รวมกับปรัสเซียและนครรัฐเล็กๆ ในเยอรมนี
บางคนขนานนามว่า นี่คือ ‘สงครามโลกครั้งที่ศูนย์’ ด้วยซ้ำ เพราะมีหลากหลายประเทศเข้าร่วม และถ้านับรวมถึงอาณานิคมของประเทศที่เข้าร่วมด้วย ก็น่าจะกินพื้่นที่ราวๆ ครึ่งโลก
สงครามนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของฝ่ายฝรั่งเศส จนเกิดเป็นสนธิสัญญาปารีสในปี 1763
เมื่อถึงปี 1773 เกิดสงครามประกาศเอกราชในอาณานิคมอเมริกา โดย 13 อาณานิคมที่เคยขึ้นอยู่กับอังกฤษ (หรือเกรตบริเทน) ประกาศตัวเป็นเอกราช ฝรั่งเศสจึงไปสนับสนุนชาวอาณานิคมอย่างลับๆ ในตอนแรก ก่อนจะเปิดเผยในเวลาต่อมา การประกาศอิสรภาพของอเมริกา จึงมีทั้งฝรั่งเศสและอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
เรื่องที่อาจฟังดู ‘ซ้ำรอย’ จนน่าตลกก็คือ การยุติสงครามประกาศอิสรภาพมาทำสัญญาสงบศึกกันที่กรุงปารีสอีกนั่นแหละ ครั้งนี้เรียกว่าสนธิสัญญาสันติภาพปารีสปี 1783 ยี่สิบปีถัดจากปี 1763 และที่จริงแล้ว สนธิสัญญาปารีสนั้นมีเป็นสิบๆ ครั้ง เพื่อยุติสงครามโน่นนั่นนี่มากมาย จนดูคล้ายกับว่าปารีสเป็นเสมือนดินแดนแห่งความสงบกระนั้น
แต่อีกไม่กี่ปีถัดมา—ก็ไม่มีใครเรียกปารีสได้ว่าสงบ
4
การที่ฝรั่งเศสเที่ยวไปสู้รบในศึกต่างๆ ทั้งที่เป็นเรื่องของตัวเองโดยตรงและที่ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง ก็คล้ายกับการที่อิหร่านในปัจจุบันไปวุ่นวายกับสงครามในซีเรีย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือผู้คนในประเทศของตัวเองเดือดร้อนขาดแคลน
ที่สำคัญก็คือ ในปี 1788 ก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1789 เพียงหนึ่งปี เกิดความแห้งแล้งใหญ่ขึ้นในฝรั่งเศสซึ่งเกี่ยวพันกับการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างลึกซึ้ง (ดูการศึกษาเรื่องนี้ได้ ที่นี่) ความแห้งแล้งนี้ทำให้ผู้คนและชาวนาไม่มีจะกิน แต่ในเวลาเดียวกันกับที่ผู้คนไม่มีจะกิน รัฐบาลของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ก็กลับคิดเก็บภาษีผู้คนเพิ่มขึ้น เพราะรัฐบาลเองก็เริ่มขัดสนเหมือนกัน
ก่อนหน้านั้น สังคมฝรั่งเศสมีลักษณะเป็นแบบฟิวดัล แต่มีการปฏิรูประบอบการปกครองในยุคพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทำให้เกิดการปกครองแบบรวมศูนย์ ศูนย์กลางอำนาจอยู่ที่กษัตริย์และขุนนางทั้งหลาย แต่นอกจากนี้แล้ว ฝรั่งเศสยังคงยึดมั่นในศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ดังนั้นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สำคัญมากต่อการปกครองของประเทศ—ก็คือคณะสงฆ์
ด้วยเหตุนี้ การควบคุมประเทศให้ได้ผล จึงต้องทำให้สองส่วนสำคัญ—คือขุนนางและพระ, เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้เสียก่อน ซึ่งในตอนนั้นก็ต้องบอกว่าไม่มีปัญหาใดๆ
ปัญหามาติดอยู่ที่คนอีกกลุ่มหนึ่งต่างหาก,
คนกลุ่มนี้คือสามัญชนหรือประชาชนนั่นเอง
ในตอนนั้น แนวคิดจะ ‘หาเงิน’ เข้ารัฐมีวิธีเดียว นั่นคือการขึ้นภาษี แต่จู่ๆ จะขึ้นภาษีเลยทันที ก็อาจไม่มีความชอบธรรมเท่าไหร่ พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 จึงเรียกประชุมสภาฐานันดรขึ้นที่พระราชวังแวร์ซาย โดยสภานี้แบ่ง ‘ฐานันดร’ ออกเป็นสามส่วน ได้แก่ขุนนาง, พระ และสามัญชน แล้วให้ทั้งสามฐานันดรออกเสียงลงคะแนน
ในปัจจุบัน เราอาจได้ยินแนวคิด ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ ในฝรั่งเศสตอนนั้นก็มีแนวคิด ‘หนึ่งฐานันดรหนึ่งเสียง’ นั่นคือแต่ละฐานันดรจะมีสิทธิออกเสียงหนึ่งเสียงเพื่อตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ของสภา
แต่ปัญหาก็คือ แต่ละฐานันดรมีสมาชิกไม่เท่ากัน ฐานันดรขุนนางกับพระนั้น นับรวมกันแล้วมีคนอยู่เพียง 10% เท่านั้นเอง ในขณะที่ฐานันดรที่สามซึ่งคือสามัญชนคิดเป็น 90% ของสภา แต่กลับมีเสียงแค่หนึ่งเสียงเท่านั้น
ดังนั้น เมื่อโหวตจะขึ้นภาษี เสียงของฐานันดรประชาชนย่อมแพ้อยู่ร่ำไป ฐานันดรที่สามไม่มีทางมีเสียงเหนือกว่าสองฐานันดรแรกได้ แม้จะมีจำนวนคนมากกว่าก็ตามที
แน่นอน ฐานันดรที่สามย่อมเรียกร้องให้มีการลงคะแนนแบบ ‘หนึ่งคนหนึ่งเสียง’ แต่ก็แน่นอนอีกเช่นกัน—ที่สองฐานันดรแรกย่อมปฏิเสธ ผลลัพธ์ก็คือ ฐานันดรที่สามแยกตัวออกไปตั้งสภาของตัวเอง และประกาศว่าต้องเป็นสภานี้เท่านั้นที่มีสิทธิขึ้นภาษี และสภานี้ไม่ไว้วางใจการทำงานของรัฐบาลพระเจ้าหลุยส์ที่ 16
คนในฐานันดรที่สามนี้มีนักคิดรวมอยู่ด้วยหลายคน ตั้งแต่ฌอง ฌาคส์ รุสโซ, วอลแตร์ กระทั่งถึงนักวิทยาศาสตร์อย่างปาสกาล ซึ่งคอยเป็นขุมกำลังทางความคิดให้กับขบวนการ เมื่อเหตุปัจจัยต่างๆ ผนวกรวมตัวกันเข้าจนเขม็งเกลียว ในที่สุดก็นำไปสู่การทลายคุกบาสติลเพื่อนำดินปืนออกมาใช้ และสุดท้ายก็กลายเป็นการปฏิวัติฝรั่งเศสอย่างที่หลายคนรู้ดีอยู่แล้ว
และนั่นเอง ที่ทำให้โรเบสปิแอร์มีบทบาทสำคัญขึ้นมา
5
โรเบสปิแอร์เป็นเด็กกำพร้า แต่เติบโตมาเป็นนักกฎหมายที่มีอนาคต เขามีวาทศิลป์ มีหลักการ และเป็นสมาชิกของจาโคแบงคลับ (Jacobin Club) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านกษัตริย์ของฝรั่งเศสในเวลานั้น (ปัจจุบันนี้ เวลาใช้คำว่าจาโคแบง จะมีความหมายหมายถึงฝ่ายซ้ายแบบสุดขั้ว) เขารณรงค์ให้ทุกคน (ที่เป็นผู้ชาย) สามารถลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ รวมทั้งเลิกทาสด้วย
เรื่องเล่าเกี่ยวกับโรเบสปิแอร์มีให้อ่านมากมาย โดยเฉพาะการเรืองอำนาจของเขาและการที่เขามีส่วนสำคัญต่อการล่มสลายของราชวงศ์ฝรั่งเศส แต่เรื่องที่ซับซ้อนกว่านั้น และแท้จริงก็สำคัญต่อตัวเขามากกว่านั้น—ก็คือเรื่องราวการล่มสลายของตัวเขาเอง
หลังปฏิวัติฝรั่งเศส โรเบสปิแอร์ได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวม (Committe of Public Safety) ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลปกป้องสาธารณรัฐที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่หมาด เพื่อไม่ให้เกิดการโจมตีจากต่างชาติและเกิดการขบถภายใน คณะกรรมมาธิการนี้มีอยู่แค่ไม่กี่คน ตอนแรกมีอยู่เก้าคน แต่ตอนหลังเพิ่มเป็นสิบสองคน และในที่สุด เขาก็ได้เป็นประธานคณะกรรมาธิการนี้
ที่จริงแล้ว ผู้ปกครองสาธารณรัฐฝรั่งเศสตอนนั้นคือสภาที่เรียกว่า National Convention ดังนั้นถ้าจะเปรียบกับบริษัท National Convention ก็เหมือนเป็นบอร์ดบริหาร ในขณะที่คณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมเป็นเหมือนบอร์ดนโยบาย แต่บอร์ดนโยบายนี้กลับทำหน้าที่ควบคุมดูแลทุกสิ่งทุกอย่างในประเทศ ตั้งแต่อำนาจทางการทหาร อำนาจตุลาการ อำนาจบริหาร รวมไปถึงอำนาจนิติบัญญัติ แถมยังทำงานคล้ายๆ ศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันอีกต่างหาก คือสามารถตีความ เปลี่ยนแปลง และบังคับใช้คำสั่งต่างๆ ที่เกิดจาก National Convention ได้อีกด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดนั่นเอง
คณะกรรมการที่ว่านี้มีอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีการกำหนดมาตรการหลายอย่างขึ้นมาในเวลานั้น ที่สำคัญก็คือ Law of Suspects ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจจับกุมศัตรูของขบวนการปฏิวัติ (หรือ ‘ศัตรูของชาติ’) ทั้งหลายได้ แม้ไม่มีหลักฐาน แค่เพียงสงสัยก็จับได้เลย โดยเป้าหมายของกฎหมายนี้มักจะเป็นเหล่าขุนนางหรือเจ้าหน้าที่ที่เคยร่วมงานกับรัฐบาลในอดีต
นักประวัติศาสตร์หลายคนเห็นว่า กฎหมายนี้คือกฎหมายที่เป็นจุดเริ่มต้นของ The Terror หรือยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัว ทำให้เกิดการ ‘ฆ่า’ มากมายนับไม่ถ้วน บางกระแสบอกว่ามีคนถูกสังหารไปหลายพันคน บางกระแสก็บอกว่าอาจมากถึงห้าหมื่นคนด้วยซ้ำ การฆ่าเพื่อกำจัด ‘ศัตรูของชาติ’ เหล่านี้ ล้วนเกิดจากความบ้าเลือดและความ ‘กลัว’ ของโรเบสปิแอร์เอง
ตัว National Convention ที่เป็นเหมือนรัฐบาลของสาธารณรัฐฝรั่งเศสนั้น จะมีการเลือกคนขึ้นมาเป็นประธานหรือผู้นำสลับกันทีละสองสัปดาห์ ประธานที่ว่าจึงมีเป็นสิบๆ คน แต่ล้วนไม่มีอำนาจแท้จริงเท่าไหร่ อำนาจแท้จริงอยู่ในมือของคณะกรรมาธิการความปลอดภัยส่วนรวมมากกว่า ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 1793 จนถึงกรกฎาคม 1794 เริ่มเกิดความวุ่นวายขัดแย้งเกิดขึ้นมากมาย ไม่มีความไว้วางใจระหว่างกลุ่ม ใครกล่าวหาใครได้ ใครใช้กฎหมายอะไรได้ ก็จะใช้เป็นอาวุธเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้ามเสีย
ตัวอย่างเช่น ก่อนปฏิวัติ ทุกคนอาจมีเป้าหมายร่วมกัน คือโค่นล้มพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 แต่หลังปฏิวัติแล้ว แต่ละฝ่ายเริ่มเห็นความต่าง ทำให้เกิดกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยขึ้นมาในขบวนการปฏิวัติ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มปีกซ้ายที่เรียกว่า Ultra-Revolutionaries (กลุ่ม Ultras) หรือกลุ่มขวากลางที่เรียกว่า Citra-Revolutionaries (กลุ่ม Citras) ซึ่งก็มีหัวหอกนำขบวนของตัวเอง แต่สุดท้ายแล้ว ผู้นำของทั้งสองกลุ่มก็ถูกคณะกรรมาธิการฯ กำจัดด้วยการใช้กิโยตินบั่นหัว ซึ่งยิ่งทำให้อำนาจของคณะกรรมาธิการ (ใต้อำนาจของโรเบสปิแอร์) มั่นคงขึ้นไปอีก
ในปี 1794 โรเบสปิแอร์เองได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานของ National Convention ด้วยเหมือนกัน เท่ากับว่าเขาควบสองตำแหน่ง ในช่วงนั้น โรเบสปิแอร์ผลักดันเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง เช่น ผลักดันหลักความเชื่อของรัฐให้กลับไปหาหลักการคล้ายๆ ศาสนา เป็นการรวมเอาสาธารณรัฐเข้ากับระบบศีลธรรมและศาสนา เรียกว่า Cult of Supreme Being ซึ่งจะมาแทนที่ Cult of Reason ที่เคยเป็นหลักการในการใช้เหตุผลแทนการใช้ศรัทธาแบบคริสต์ ซึ่งก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กันว่า ใครหรือคือ Supreme Being หรือบุคคลสูงสุดที่ว่า เพราะมีคนอย่าง แคทเธอรีน เธโอต์ (Catherine Theot) ผู้ประกาศว่าตัวเองเป็นมารดาของพระเจ้า ออกมายืนยันกับประชาชนว่า—โรเบสปิแอร์คือพระผู้ไถ่ที่จะมาช่วยผู้คนให้รอด หลายคนในสภาฯ และในคณะกรรมาธิการฯ จึงเริ่มมองโรเบสปิแอร์แปลกๆ
เอาเข้าจริง โรเบสปิแอร์อาจไม่ได้อยู่ในสภาวะปกติทางจิตเท่าไหร่ เพราะแรงกดดันจากหลายเรื่องรุมเร้าเข้ามา เขามีอำนาจมากมายก็จริง แต่อำนาจพวกนี้ล้วนเปราะบาง เขาถูกลอบสังหารถึงสองครั้ง จึงพยายามผลักดันอีกหลายเรื่อง เช่น กฎหมายเร่งกระบวนการไต่สวนคนที่เป็น ‘ศัตรูของรัฐ’ ให้จัดการกับคนพวกนี้ได้เร็วขึ้น
ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นจากสุนทรพจน์ของโรเบสปิแอร์ในวันที่ 26 กรกฎาคม 1794 ซึ่งเขาพยายามป้องกันตัวเองจากข่าวลือและการโจมตีต่างๆ แต่คำพูดของเขากลับไปโจมตีคนอื่นๆ หลายคน สมาชิกของสภาฯ จึงอภิปรายโจมตีโรเบสปิแอร์อย่างรุนแรง หลายคนคิดว่า โรเบสปิแอร์กำลังวางแผนจะกำจัดฝ่ายตรงข้ามเหมือนที่เคยกำจัดผู้นำของกลุ่ม Ultras และ Citras มาแล้ว และใครก็อาจถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ศัตรูของชาติ’ (หรือที่จริงก็คือศัตรูของโรเบสปิแอร์) ได้ทั้งนั้น สุดท้ายจึงมีการลงมติให้จับโรเบสปิแอร์และพวก
แล้วในวันที่ 28 กรกฎาคม 1794 โรเบสปิแอร์ก็จบชีวิตลงกับกิโยติน และได้พาเอา The Terror หรือยุคสมัยแห่งความน่าสะพรึงกลัวติดตัวตามความตายของเขาไปด้วย
5
เรามักมองว่า โรเบสปิแอร์เป็นตัวร้ายมิติดียว แต่ที่จริงแล้วมีหลายปัจจัยขับเคลื่อนผลักดันให้เด็กหนุ่มอนาคตไกลคนหนึ่งกลายเป็นคนกระหายเลือดบ้าคลั่งไปได้ จากเดิมที่เขาสนใจแนวคิดในยุคแสงสว่าง สนใจงานเขียนของฌอง ฌาคส์ รุสโซ, มองแตสกิเออร์ และวอลแตร์ สนใจอุดมคติ สนใจอุดมการณ์ในความเท่าเทียมเสมอภาค สนใจประเด็นเรื่อง ‘สิทธิ’ ของผู้คนที่รัฐบาลต้องเป็นผู้ปกป้อง แต่สุดท้ายกลับกลายมาเป็นทรราชย์ที่โหดเหี้ยมเสียเอง
บนเส้นทางระหว่างนั้น—เกิดอะไรขึ้นบ้างหรือ?
มีบทวิเคราะห์ (อ่านได้ ที่นี่) บอกไว้ว่าที่สุดแล้ว เหตุผลของความโหดร้ายและการสังหารหมู่ผู้คน ก็คือการแบ่งโลกออกเป็น ‘มิตร’ กับ ‘ศัตรู’ โดยลดสถานะของศัตรูลงจนต่ำกว่าความเป็นมนุษย์
โรเบสปิแอร์เคยพูดว่า การสมคบคิดกันต่อต้านเสรีภาพของส่วนรวมนั้น มียาแก้เพียงอย่างเดียวคือต้องลงโทษผู้ทรยศให้สาสม เขายังเคยบอกด้วยว่า แม่น้ำแห่งสายเลือดจะช่วยแยกฝรั่งเศสออกจากศัตรูของชาติ
ก่อนถูกบั่นคอ โรเบสปิแอร์พยายามฆ่าตัวตาย เขายิงตัวเอง แต่กระสุนพลาด ผลที่เกิดขึ้นมีเพียงขากรรไกรหัก และสุดท้ายเขาก็ตายบนกิโยติน
วันรุ่งขึ้นหลังโรเบสปิแอร์ตาย สมาชิกใหม่ได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่คณะกรรมาธิการฯ แทนที่ และนับแต่นั้นมา ก็มีการออกกฎเกณฑ์ข้อจำกัดต่างๆ เช่น ให้คณะกรรมาธิการหนึ่งในสี่พ้นจากตำแหน่งทุกๆ สามเดือน ฯลฯ จึงทำให้อำนาจของคณะกรรมาธิการค่อยๆ ลดลงในที่สุด
คล้ายผู้คนตระหนักได้หลังการตายของโรเบสปิแอร์ว่า—อำนาจทำให้เสื่อม และความเสื่อมก็ทำให้สิ้น
นี่คือบทเรียนที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในประวัติศาสตร์,
แต่ก็ดูคล้ายผู้มีอำนาจหลายคนในยุคหลังจะจดจำบทเรียนเหล่านี้ได้น้อยเต็มที
ป.ล. โปรดติดตามตอนหน้า กับการวิเคราะห์ว่าทำไมโรเบสปิแอร์จึงเปลี่ยนแปลงจากนักปฏิวัติเป็นเผด็จการกระหายเลือดไปได้