ความตายไม่ใช่ประตูที่จะเดินก้าวเข้าไปได้ง่ายๆ เราไม่รู้เลยว่าพ้นไปจากการไร้ร่างคืออะไร โลกหลังความตายมีจริงไหม หรือมีเพียงความว่างเปล่า เพราะแบบนี้เอง หนังที่เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับความตายจึงมีให้เราได้ดูกันบ่อยๆ
ภายในกลุ่มหนังที่มีความตายมาเกี่ยวข้องก็จะมีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่หนังหลายเรื่องทำออกมาได้น่าสนใจและน่าติดตามคือฉาก ‘โลกหลังความตาย’ ซึ่งหลายเรื่องก็จะทำออกมาให้สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนาบ้าง บางเรื่องอาจจะพลิกมุมมองนิดๆ หน่อยๆ ไปจนถึงบางเรื่องที่สร้างภาพจนคนดูต้องเซอร์ไพรส์กับแนวคิดของผู้สร้างหนังและเอฟเฟ็กต์ที่เกิดขึ้น
ในครั้งนี้ The MATTER จะแง้มประตู ‘โลกหลังความตาย’ ผ่านหนังคนแสดง ซึ่งแต่ละเรื่องก็มีการจินตนาการถึงโลกหลังความตายที่ต่างกัน บางเรื่องก็อาจจะดูน่ากลัวไปบ้าง ลองไปส่องๆ กันดูว่า ถ้าเป็นไปได้อยากให้โลกหลังความตายของคุณเป็นแบบไหน
Homestay – ไปอยู่โฮมสเตย์
หนังไทยเรื่องนี้ทีมผู้สร้างหนังออกตัวอย่างชัดเจนว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายญี่ปุ่นเรื่อง Colorful ตัวหนังได้รับความสนใจจากหลายๆ ฝั่ง ไม่ว่าจะเพราะดารานักแสดงที่มารับบทนำในเรื่องนี้ (ถ้าใครยังไม่รู้ ใบ้ให้ว่าชื่อมีตัว ฌ. เฌอ) หรืออาจจะเป็นเพราะการตีความแนวคิดของคนตายกลับมามีชีวิตอีกครั้งนั้นดูเป็นไอเดียที่น่าติดตาม แต่ที่รู้สึกสะดุดตาก็คงจะเป็นการสร้างฉากที่ มิน กับ ผู้คม สองตัวละครที่ถือว่า ‘ผ่านพ้นการมีชีวิต’ มาพบกัน ฉากเหล่าที่ทั้งคู่เจอกันจะถูกแสดงออกมาเป็นโลกที่มีแรงดึงดูดผิดเพี้ยนไปจากโลกปกติ บางทีก็ยืนข้างตึกได้บ้าง บางทีเม็ดฝนก็ไหลย้อนขึ้นฟ้าได้บ้าง
การที่หนังใข้สัญญะนี้ในการแสดงตัวตนของ ‘โลกหลังความตาย’ อาจจะเพราะคนเป็นที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นเดินอยู่บนพื้นดินตามแรงดึงดูด ส่วนผีนั้นล่องลอยค้านกับกฎฟิสิกส์ ตัวตนของมินกับผู้คุมที่อยู่ก้ำกึ่งระหว่างความเป็นกับความตายก็ดูเหมาะกับพื้นที่ที่มีแรงดึงดูดผิดเพี้ยนไป
What Dreams May Come – ไปโลกภาพสีน้ำมัน
หนังเรื่องแรกๆ ที่ทำให้นึกถึงโลกหลังความตายอีกเรื่องก็คือ What Dreams May Come ที่มี โรบิน วิลเลียมส์ (Robin Williams) ดารามากฝืมือผู้ล่วงลับ รับบทเป็นชายหนุ่มที่รักครอบครัวสุดใจแต่เหมือนโชคร้ายพุ่งเข้าใส่ตลอดเวลา คู่สามีภรรยาต้องพยายามมีชีวิตอยู่ต่อไปจากการที่ลูกๆ สองคนของพวกเขาเสียชีวิตไปด้วยวัยอันน้อยนิด ฝั่งสามีเองก็คอยปลอบประโลมใจภรรยาจนพวกเขาพอจะใช้ชีวิตต่อไปได้ แม้เกือบจะหย่าร้างกันก็ตาม
แล้วเหมือนโชคชะตาเล่นตลก ฝั่งสามีถูกรถชนเสียชิวิต แม้ว่าช่วงแรกสามีจะพยายามติดต่อภรรยาที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่การวนเวียนบนโลกคนเป็นกลับทำให้ภรรยาทรมานใจ ฝ่ายสามีจึงทำใจแล้วมุ่งหน้าสู่โลกหลังความตายที่มีความงดงามแบบภาพวาดสีน้ำมันและสามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ให้เป็นไปได้ดั่งใจ แต่เขาสังเกตว่ามีพื้นที่บางส่วนถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยที่เขาไม่ได้ตั้งใจให้เปลี่ยน นั่นทำให้คนนำทางในสวรรค์บอกว่าเป็นสัญญาณของคู่แท้เท่านั้นที่จะสื่อสารกันแบบนี้ได้
ความสุขดำเนินไปช่วงสั้นๆ เพราะฝั่งภรรยาที่ยังมีชีวิตสุดท้ายก็ไม่สามารถทนเห็นภาพอดีตที่เคยมีความสุขได้ ในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวตาย และสถานที่เดียวในโลกหลังความตายที่ผู้กระทำการอัตวินิบาตกรรมจะได้ไปก็คือนรกขุมที่ลึกที่สุด และผู้เป็นสามีก็ตัดสินใจเดินทางจากสรวงสวรรค์ของตนเองเพื่อไปช่วยภรรยาสุดที่รัก
โลกหลังความตายในหนังเรื่องนี้อิงความเชื่อเชิงคริสต์ศาสนากับแนวคิดอื่นๆ ในฝั่งชาติตะวันตก ในช่วงที่เราได้เห็นโลกหลังความตายของฝั่งภรรยาก็อาจจะดูทรมานสมนิยามของนรกตามท้องเรื่อง แต่รูปลักษณ์ของบ้านฝั่งภรรยาก็เป็นบ้านหลังเดียวกันกับฝั่งสามี และสุดท้ายเมื่อทั้งสามีภรรยาที่เป็นคู่แท้ทางจิตวิญญาณ (soul mate) ตัดสินใจจะร่วมทุกข์ร่วมสุขไปด้วยกัน โลกของสามีภรรยากลับกลายเป็นมีสีสัน เหมือนจะบอกว่า โลกหลังความตายจะมีภาพเป็นแบบใดก็ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนที่อาศัยอยู่ ณ ที่แห่งนั้น
Black Panther – ไปยังถิ่นกำเนิดของตน
ภาพยนตร์ฮีโร่สาย Marvel อาจจะถูกจดจำได้ในฐานะหนังรวมดารากับเรื่องราวที่ร้อยเกี่ยวกันจนทำให้คอหนังต้องเปย์เงินไปดู แต่ตัวหนังก็มีส่วนพูดถึงโลกแห่งความอยู่บ้างเช่นกัน ไม่ได้หมายถึงอีเวนต์ในหนัง Avengers: Infinity Wars นะ เพราะหนังที่จะพูดถึงคือ Black Panther ต่างหาก
ขอละประเด็นที่ว่า Black Panther เป็นหนังฮีโร่จากดินแดนวาคานดา (Wakanda) โดยผู้สวมชุดเสือดำคนปัจจุบันคือทีชาลา (T’Challa) และจะขอพูดถึงประเด็นที่เกี่ยวกับโลกหลังความตายที่ถูกนำเสนอในหนังเรื่องเพราะฉากดังกล่าวถูกแสดงให้เห็นเมื่อตัวทีชาลากับ อีริค คิลมองเกอร์ (Erik Killmonger) กินสมุนไพรรูปหัวใจเข้าไปเพื่อเพิ่มพลังให้กับประสาทสัมผัสของผู้รับประทาน ทว่าในช่วงที่สมุนไพรออกฤทธิ์อยู่นั้นจะมีผลข้างเคียงด้วยการส่งผู้รับประทานไปยัง แดนบรรพชน (Ancestral Plane) ที่ในฉบับหนังได้นำเสนอว่า ฝั่งทีชาลาได้ไปพบกับแบล็คแพนเธอร์—ราชาองค์ก่อน ส่วนฝั่งอีริคกลับไม่ได้ไปอยู่ในทุ่งหญ้าแบบเดียวกับทีชาลา แต่อยู่ภายในห้องพักที่เขาเกิดและเติบโตมาในอเมริกาแทน
แม้ว่าสถานที่ที่วิญญาณของพวกเขาไปถึงจะมีลักษณะแตกต่างกันอย่างมาก แต่จุดร่วมกันของแดนบรรพชนที่ทั้งสองเจอเหมือนกันก็คือ พวกเขาต่างกลับสู่ถิ่นกำเนิดของตัวเอง ถิ่นกำเนิดนั้นไม่ใช่จุดที่พวกเขาคลอด แต่เป็นจุดที่สร้างตัวตนของพวกเขาเสียมากกว่า และถ้ามีใครอื่นสามารถกินสมุนไพรแบบเดียวกันกับสองตัวละครนี้อีก พวกเขาก็น่าจะได้ไปยังสถานที่กำเนิดของตัวเองเช่นกัน อาจจะเพราะว่า ไม่ว่าใครหรืออยู่ในสภาพไหนก็อาจจะอยากกลับไปเยือนสถานที่พวกเขามองว่าเป็นบ้านที่แท้จริงในใจของพวกเขา
Heaven Can Wait – ไปสนามบิน
ต้องเท้าความกันเบาๆ ว่า ในช่วงยุค 1980s การตีความของความทันสมัยหรือมาจากต่างภพให้กลายเป็นแนวสดใสแบบไฟนีออน (หรือที่ยุคนี้เรียกสไตล์ศิลป์ดังกล่าวว่า Outrun กับ Synthwave) กำลังเป็นที่นิยมในวงการบันเทิง แล้วเมื่อถึงคราวจะนำเสนอโลกหลังความตาย สีที่ถูกหยิบยกมาสร้างก็จะเป็นสีขาวนีออนสะท้อนแสงแสบตาจนคุณอาจจะอยากหาแว่นกันแดดมาบังเล็กน้อย ภาพยนตร์ที่นำเสนอสวรรค์เป็นสีนีออนขาวปลอด หนังเรื่องที่นึกได้ก็คงจะเป็น Chances Are ออกฉายในปี 1989 ที่มีดาราหนุ่มหน้าใสอย่าง โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ เป็นพระเอก แต่พอดีว่าสวรรค์ในเรื่องนี้มาเป็นแค่เคาน์เตอร์เล็กๆ เท่านั้น
ย้อนเวลาไปอีกหน่อย หนังตลกโรแมนติกเรื่อง Heaven Can Wait ที่ออกฉายในปี 1978 เล่าเรื่องของควอเตอร์แบ็คอเมริกันฟุตบอลที่ฟอร์มดีแต่เสียชีวิตก่อนเวลาอันควร เนื่องจากเทวดาคุ้มครองเข้าใจผิดว่านักกีฬาคนนี้เสียชีวิตแล้ว แต่จริงๆ แล้วชะตากรรมของชายคนนี้จะเสียชีวิตจริงๆ ในอนาคตอีกกว่า 50 ปี ทำให้เจ้านายของเทวดาคุ้มครองต้องพาเขาเดินทางออกจากแพลตฟอร์มสู่สรวงสวรรค์ซึ่งถูกจำลองเป็นสนามบินส่วนตัวขนาดย่อม มีเครื่องบินลำใหญ่สีขาวปลอด พร้อมควันสีขาวล่องลอยราวกับบอกว่านี่คือปุยเมฆ
สวรรค์ชั้นต้นปรากฏตัวอยู่ในหนังพอสมควร เพราะมีจังหวะให้พระเอกกับเจ้านายของเทวดาคุ้มครองต้องเสวนากันบ้าง และพอจะเห็นได้ว่าแนวคิดสวรรค์ทันสมัยสีขาวปลอดที่มีเทวดาทั้งหลายใส่ชุดเหมือนคนทำงานออฟฟิศในหนังเรื่องจะส่งผลต่อภาพยนตร์ในยุค 1980s อีกหลายเรื่อง
Beetlejuice – ไปยังสำนักงานแสนประหลาด
ทิม เบอร์ตัน (Tim Burton) เป็นผู้กำกับที่เล่าเรื่องชีวิตโลกหลังความตายอยู่บ่อยครั้ง ที่เห็นได้ชัดๆ ก็ Corpse Bride, Frankenweenie หรือจะนับว่า The Nightmare Before Christmas เป็นมู้ดหนึ่งของโลกหลังความตายก็ได้
Bettlejuice หนังคนแสดงเป็นหลักเรื่องหนึ่งของทิม เบอร์ตันที่เล่าเรื่องโลกหลังความตาย แม้ว่าชื่อหนังจะบ่งบอกว่าผี ‘Betelgeuse’ (อ่านออกเสียงว่า บีเทิลจุยส์ เหมือนชื่อหนัง) เป็นตัวเอก ความจริงบทเด่นอยู่ที่วิญญาณคู่รักที่เสียชีวิตกะทันหัน และบ้านของพวกเขา เมื่อทั้งคู่ตายแบบปุบปับก็เลยไม่รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร และจังหวะนั้นบ้านของสองคู่รักก็ถูกขายต่อไปแล้ว เพื่อจะทวงบ้านคืน ผีวิญญาณแพ็คคู่ก็เลยเดินทางไปยังโลกหลังความตายที่มีวิญญาณมากมายมาร้องทุกข์ โครงสร้างของโลกหลังความตายในหนังเรื่องนี้ออกมาในลักษณะสำนักงานบริษัทที่พนักงานทำงานหนักมากๆ จนกลายเป็นกระดูกบ้าง อวัยวะหลุดออกจากกันบ้าง (เอ๊ะ? หรือว่าจะอยู่ในสภาพนี้กันก่อนแล้ว) แถมยังมีคนตายเดินทางมาร้องเรียนปัญหาตลอดเวลา เรียกได้ว่าแม้จะเป็นโลกหลังความตาย การทำงานก็ยังไม่จบสิ้นแถมอาจจะยาวขึ้นเป็นชั่วกัปชั่วกัลป์ก็ได้
กลายเป็นว่าโลกหลังความตายที่ต้องทำงานไม่หยุดหย่อนเพราะยังมีคนตายมาเรื่อยๆ แบบในหนังเรื่องนี้ฟังดูโหดกว่าไปสู่สุขติหรือไปลงนรกรับโทษเป็นเรื่องราวเสียอีก
After Life – ไปสถานีส่งต่อยังโลกใหม่
ไม่ใช่ว่าภาพยนตร์เอเซียจะไม่พูดถึงเรื่องโลกหลังความตายเลย แต่ส่วนใหญ่เรื่องของโลกหลังความตายมักควบพ่วงไปกับหนังผีเสียเยอะ และหลายๆ ทีการนำเสนอก็นำเอาวิญญาณกับปีศาจและสัตว์ประหลาดที่ต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันจนบางทีเหมือนหนังจะเล่าเรื่องในโลกปกติมากกว่า อย่างหนังเรื่อง ‘โปเยโปโลเย เย้ยฟ้าแล้วก็ท้า’ ก็น่าจะพอจัดอยู่ในหนังประเภทนี้ได้
แล้วก็มีภาพยนตร์อีกส่วนที่สร้างภาพโลกหลังความตายตามความเชื่อทางศาสนา ถ้าเอาหนังที่เพิ่งผ่านตาหลายท่านไปไม่นานนักก็จะมี Along With The Gods ที่สร้างฉากในแดนหลังความตายได้อลังการไม่น้อย แถมยังเป็นการตีความเอาแนวคิดทางศาสนาหลายแนวคิดมาผสมรวมกันเป็นฉากแฟนตาซีอลังการ แต่โลกหลังความตายที่ดูฉีกแนวออกไปอีกนิดหนึ่งคงจะเป็นหนังเรื่อง After Life ที่มีอะไรชวนฉงนปนสะกิดใจอยู่ไม่น้อย
After Life เป็นงานภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี 1998 โดยที่ โคเรเอดะ ฮิโรคาซุ ทั้งเขียนบท กำกับ และตัดต่อเอง หนังเล่าเรื่องชวนฉงนเล็กน้อยเพราะเปิดเรื่องมาที่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งเดินทางมายังสถานีละม้ายคล้ายจะเป็นสถานีรถไฟเก่าๆ และพนักงานในสถานีนั้นก็จะเชิญผู้มาถึงไปสัมภาษณ์เรื่องราวต่างๆ ซึ่งเราจะเข้าใจได้ในเวลาไม่นานนักว่าสถานีแห่งนี้คือสถานีรับบุคคลที่เพิ่งตาย ตามการตีความของโคเรเอดะ โลกหลังความตายมีภาวะละม้ายคล้ายสถานีรถไฟผสมสถานที่ราชการและเป็นอาคารพักแรมชั่วคราว เพราะคนตายจะถูกแจ้งให้เลือกว่าสุดท้ายเขาเหล่านั้นจะเลือกเอาความทรงจำไหนติดตัวไป และพนักงานในสถานีแห่งนี้จะช่วยกันถ่ายทำเป็นภาพยนตร์ออกฉายในโรงหนังขนาดเล็กภายในสถานี ถ้าสำเร็จวิญญาณผู้ตายก็จะหายไปจากสถานีแห่งนี้
ตัวภาพยนตร์เปิดช่องให้ตีความหมายได้เยอะพอสมควร และรายละเอียดบางอย่างก็ไม่ได้บอกเล่าโดยตรง (อย่างการที่พนักงานในสถานีเป็นคนตายที่เลือกความทรงจำไม่ได้ แต่ก็บอกเล่าแบบหลวมๆ ไม่ได้ระบุว่าใครมาทำงานนานเท่าไหร่แล้ว และใครเป็นคนจ้างวาน) กระนั้นหลายคนก็ดูภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วเข้าใจมากขึ้นว่า การมีชีวิตอยู่ ต่อให้ยาวนานขนาดไหน สุดท้ายก็เป็นช่วงเวลาเพียงชั่วคราวสำหรับโลกนี้เท่านั้น และการเลือกจดจำอะไรเอาไว้ในใจอาจจะไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายเลย
The Lovely Bones – ไปยังจุดเชื่อมต่อของภพภูมิ
ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากนิยายชื่อดังและได้ผู้กำกับอย่างปีเตอร์ แจ็คสัน (Peter Jackson) มากำกับ เรื่องนี้อาจจะไม่ได้รับการจดจำในแง่บวกนักจากผู้ชมหนังและแฟนหนังสือ ด้วยความที่มีการทอนเรื่องบางส่วนในช่วงหลัง แม้ว่าทำให้ประเด็นหลักของหนังสือโดนทอนรายละเอียดไปบ้าง แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนเห็นพ้องตรงกันว่าเป็นส่วนที่น่าชื่นชมก็คือฉากในโลกหลังความตายของหนังเรื่องนี้
เรื่องในหนังเริ่มเล่าจากปูมหลังของ ซูซี แซลมอน (Susie Salmon) เด็กสาววัย 14 ปี ที่เหมือนกับเด็กในวัยเดียวกัน มีความฝัน มีรักแรก สนิทชิดเชื้อกับครอบครัวทั้งน้องชายและน้องสาวจนยอมทำอะไรห่ามๆ อย่างการตะบึงรถประจำบ้านไปโรงพยาบาลเพื่อช่วยชีวิตน้องชายที่กำลังขาดอากาศหายใจ เรียกได้ว่าชีวิตของเธอมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่ง ซูซีถูกเพื่อนบ้านที่เป็นฆาตกรต่อเนื่องทำการสังหารชีวิตเธอ (ในหนังสือจะระบุชัดว่ามีการข่มขืนด้วย) แต่แล้วเธอก็ลอยละล่องไปยังดินแดนอีกแห่งหนึ่งที่ช่วงแรกเธอเข้าใจว่านี่คือแดนสวรรค์ แต่เมื่อเธอวนเวียนอยู่ในดินแดนแห่งนี้จนได้พบกับเด็กหญิงลึกลับที่เรียกตัวเองว่า มอลลี (Molly) และได้รู้ว่าสถานที่ที่ซูซีอาศัยอยู่เป็นไม่ใข่สวรรค์เสียทีเดียวแต่เป็นโลกของคนตายที่ยังมีห่วงจนไม่สามารถเดินทางต่อไปสวรรค์ได้ ในขณะเดียวกันก็มีจุดเชื่อมต่อให้ซูซีสามารถติดตามชีวิตของคนที่เธอมีความสัมพันธ์ได้ ด้วยเหตุนี้พื้นที่รอบตัวของซูซีจึงแปรสภาพสอดคล้องกับสภาพในใจทั้งของตัวซูซีและคนใกล้ชิด
แนวคิดของดินแดนเชื่อมภพภูมินี้ถูกสร้างออกมาสวยงามเพราะตัวผู้อาศัยอยู่เป็นเด็กสาววัย 14 แต่เมื่อเรื่องราวเดินผ่านไปก็ทำให้เห็นได้ว่าการยังยึดติดต่อกันและกันไม่ได้ส่งผลเสียกับผู้ตายอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกับคนที่ยังอยู่ด้วย โลกนี้จึงค่อยๆ เปลี่ยนสภาพไป แต่ในขณะเดียวกันเมื่อเรื่องราวเดินไปจนถึงจุดที่ทั้งตัวซูซีและครอบครัวของเธอต่างยอมรับถึงการต้องจากลากัน โลกก็กลับมามีสีสันอีกครั้ง
แม้ว่าฉบับหนังอาจจะขยี้อารมณ์ได้ไม่ถึง แต่เราก็เข้าใจว่า ‘จุดเชื่อม’ ก็ไม่ใช่ดินแดนถาวร แม้ว่าจะรักแนบชิดกันขนาดไหน กาลเวลาก็พร้อมจะทำให้เราจากกันได้ การทำความเข้าใจและยอมรับจะทำให้เรื่องราวคลายปมไป แม้ว่าทิศทางอาจจะไม่ได้เป็นไปอย่างที่ใจเราคาดไว้ก็ตามที
The Sixth Sense – ไม่ไปที่ไหน เรายังอยู่ที่นี่
แนวคิดหนึ่งที่ภาพยนตร์หลายๆ เรื่องนำเสนอให้เราเห็นเกี่ยวกับโลกแห่งความตายบ่อยครั้งก็คือ แนวคิดที่ว่า ‘วิญญาณยังวนเวียนอยู่ในโลกใบเดิม’ ไม่ว่าจะเป็นผลพวงจากความเชื่อเชิงศาสนาหรือเชิงวิทยาศาสตร์ก็ตามที หนังเด่นๆ ที่เล่าเรื่องของคนตายที่อยู่ในโลกเดียวกับคนเป็นที่พอจะนึกออกในหัวทันทีทันควันก็มีเรื่อง The Others ที่ได้ นิโคล คิดแมน (Nicole Kidman) รับบทนำ ก็บอกชัดว่าผีอยู่กับคนเป็นไปเลย หรือหนังผีฮ่องกงของผู้กำกับสองพี่น้องตระกูลแปงอย่าง The Eye คนเห็นผี ก็มีคนเป็นมาเห็นผีจำนวนมากเช่นกัน
ถึงภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องที่กล่าวไป รวมถึงเรื่องอื่นๆ อาจจะเล่าการอยู่ร่วมกันของคนตายและคนเป็นได้น่าตรึงตา (หรือจะบอกว่าเน้นสะดุ้งก็ไม่ผิด) แต่ก็มีภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ทำให้แทบทุกคนที่ดูต้องมาปรับแนวคิดในหัวว่า…บางทีวิญญาณอาจจะอยู่ข้างตัวเราจริงๆ หนังเรื่องที่ว่าก็คือ The Sixth Sense ที่มาของมุก “I See Dead People”
The Sixth Sense เล่าเรื่องของ มัลคอล์ม โครว์ (Malcolm Crowe) หมอจิตวิทยาเด็กที่เคยเข้าไปขวางทางโจรที่ขึ้นบ้าน เวลาล่วงเลยผ่านไป เขาได้พยายามหาทางช่วยเหลือ โคล เซียร์ (Cole Sear) เด็กชายวัยเก้าขวบที่มีอาการทางจิตคล้ายกับคนไข้ในอดีตของเขา ด้วยปมปัญหาครอบครัวทำให้มัลคอล์มค่อนข้างเชื่อว่าเด็กชายโดนแม่ทำร้ายจนเกิดแผลตามตัวขึ้น ส่วนการที่เด็กชายพูดถึงคนต่างๆ นั้น จิตแพทย์เด็กเหมารวมว่าเป็นการที่เด็กพยายามสร้างภาพเพื่อเบี่ยงประเด็นจากปัญหาที่เขาพบ แต่พอนานวันเข้า มัลคอล์มก็รับรู้และเชื่อว่าโคลสามารถมองเห็นคนตายได้ตลอดเวลาจริงๆ จากนั้นจิตแพทย์เด็กก็เสนอให้เด็กชายใช้พลังของเขาในการช่วยเหลือวิญญาณที่เขาพอจะติดต่อได้ ซึ่งเด็กชายก็ทำได้สำเร็จ และยอมรับตัวตนของตนเองจนกลายเป็นเด็กที่สดใสขึ้นอีกครั้ง ทั้งยังทำให้เขาเข้าใจแม่ของเขามากขึ้น ทุกอย่างเหมือนจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่สุดท้ายเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ถูกบอกเล่าก็คือ แท้จริงแล้วมัลคอล์มเองก็เป็นหนึ่งในคนตายที่โคลมองเห็นเช่นกัน พอเข้าใจว่าตนเองตายไปแล้ว เรื่องก็จบลงด้วยภาพจำความรักของเขากับภรรยา
จริงๆ หนังยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างอยู่ในเรื่อง แต่มั่นใจว่าคนที่ดูภาพยนตร์เรื่องนี้ (โดยเฉพาะในโรง) สิ่งที่จะค้างอยู่ในหัวจะเป็นประเด็นที่ ‘คนตายอยู่รอบตัว’ มากกว่าเรื่องราวของตัวละครที่เพิ่งจบลงไป และหลายคนก็ย้อนไปดูหนังเรื่องนี้อีกรอบเพื่อตรวจเช็กว่ามีจุดไหนที่เราเห็นได้ถึงความเป็นผีกับความเป็นคน และสุดท้ายก็อดคิดไม่ได้ว่า บางทีในห้องของเราอาจจะมีคนอื่นที่รอคนมาพบและบอกกล่าวเรื่องที่พวกเขายังค้างคาใจอยู่ก็ได้
The Seventh Seal – อยู่ทุกหนแห่ง ทุกขณะจิต ทุกชั่วลมหายใจ
เรื่องนี้เป็นหนังของประเทศเดนมาร์กที่ถูกฉายในปี 1957 หนังเรื่องนี้ถือว่าเป็นหนังชั้นครูที่ควรจะมีโอกาสนั่งดูสักครั้ง เรื่องราวในหนังเกี่ยวข้องกับอัศวินคนหนึ่งที่เดินทางกลับมาเดนมาร์กหลังทำการศึกในสงครามครูเสด แต่สิ่งที่รออยู่บนผืนดินไม่ใช่คนที่รอชื่นชม แต่เป็นยมฑูตซึ่งมาทำหน้าที่ริบชีวิตของอัศวินคนดังกล่าว กระนั้นอัศวินก็ไม่ได้มอบชีวิตได้ทันทีทันควัน เขาได้ชักชวนยมฑูตเล่นหมากรุก และตกลงกันว่าถ้าชนะในกระดานนี้ อัศวินจะมีชีวิครอดต่อไป หมากเกมนี้ดำเนินไปอย่างยาวนานและหลายสิ่งก็เกิดขึ้นในระหว่างการเดินทางควบการแลกหมากครั้งนี้
ภาพยนตร์เรื่องนี้มีสัญญะเชิงคริสต์ศาสนาอยู่มาก และเป็นการสะท้อนสังคมในทวีปยุโรปยุคกาฬมรณะระบาดไปทั่ว แทบทุกท้องที่ในดินแดนที่กว้างใหญ่กลายเป็นดินแดนแห่งความตาย แต่สิ่งสำคัญที่ภาพยนตร์คลาสสิกเรื่องนี้บอกเล่าได้ดีเหลือเกินคือคำพูดนับตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องของอัศวินกับยมฑูต อัศวินตั้งคำถามว่า “ท่านมาเพื่อเอาชีวิตข้างั้นหรือ?” ก่อนที่ยมฑูตจะตอบกลับว่า “ข้าเดินอยู่เคียงข้างเจ้าเสมอ”
ประโยคสนทนาสั้นๆ นี้กลับสอดคล้องกับความเป็นจริงของโลกแบบไม่เกี่ยงศาสนาว่า โลกหลังความตายอาจจะไม่ได้อยู่ไกลหรือมีรูปลักษณ์แปลกประหลาด แต่โลกหลังความตายอยู่เคียงข้างเราเหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายตลอดเวลา ตลอดไป เหลือเพียงว่า ‘ตัวเรา’ จะสามารถเข้าใจและตั้งรับกับเรื่อง ‘ความตาย’ ได้หรือไม่ก็เพียงเท่านั้น