บางทีผมก็อยากขึ้นต้นบทความด้วยประโยคเดียวกันกับประโยคเปิดเรื่องในหนัง ‘The Imitation Game’ (2014) ว่า “คุณตั้งใจฟังอยู่หรือเปล่า?”
ก่อนที่จะอ่านเรื่องราวทั้งหมดต่อจากนี้ ผมอยากขอให้คุณตั้งใจฟัง เพราะผมมีเจตนาที่ดี หรือ ‘เหนียต’ เพื่อเขียนเรื่องเหล่านี้ ผมเองไม่อยากถูกไล่ออกไปจากพื้นที่ หรือตกเป็นประเด็นดราม่าเหมือนที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2560 กรณี ‘ห้องเรียนเพศวิถี’ ของร้านหนังสือบูคู จังหวัดปัตตานี ที่ถูกวิจารณ์ว่า จัดกิจกรรมที่สอนให้เยาวชนในสามจังหวัดภาคใต้เป็น ‘รักร่วมเพศ’
ปอแนใต้ปอเนาะ
สิ่งที่ผมอยากแบ่งปันเรื่องราวให้ฟังคือ ผมถูกเรียกว่า ‘ปอแน’ หรือ กะเทย ที่สังคมไทยนิยมใช้เรียกเพศที่ถูกตัดสินว่าผิดเพี้ยนไปจากบรรทัดฐานของสังคม และผมที่เป็นปอแนก็มีประสบการณ์ทางเพศกับผู้ชายในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม หรือ ปอเนาะ กับรุ่นพี่หลายคนที่บอกว่าตัวเองเคร่งศาสนา บางคนพาผมไปบ้านและทำในสิ่งที่ผมหลีกหนีไม่ได้ เพราะตอนนั้นผมเพิ่งจะเข้าเรียนอยู่ชั้น ม.1 ที่ปอเนาะแห่งนั้น #metoo
ปอแน (Pondan) และ ปอเนาะ (Pondok) เหมือนกันตรงที่เป็นคำจากภาษามลายู (ภาษาหลักในสามจังหวัดชายแดนใต้ และบางชุมชนมุสลิมในภาคกลาง) แต่สองคำนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน แต่เหตุการณ์ที่ผมกำลังจะเล่านั้นมาจากคำหลักๆ สองคำนี้
ปอแน-ปอเนาะ สัมพันธ์กันตรงที่เป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ของนักเรียนชายในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโรงเรียนที่ผมเคยอยู่ แต่มันเกิดขึ้นซ้ำๆ อยู่บ่อยครั้งในสังคมมลายูของสามจังหวัดภาคใต้ที่มีโรงเรียนปอเนาะอยู่เป็นจำนวนมาก แต่คงพูดมากไปกว่านี้ไม่ได้ ขอเล่าแค่สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองน่าจะดีกว่า เท่าที่ผมอยู่มาในปัตตานีเกือบหนึ่งปีที่ผ่านมา ผมก็ได้เรียนรู้ว่าเรื่องเหล่านี้มักถูกติดป้ายไว้สั้นๆ ว่าเป็น ‘เรื่องที่ไม่ควรพูด’ หรือ ‘เป็นเรื่องละเอียดอ่อน’ แต่เชื่อเถอะครับ ถ้ามีใครสักคนในพื้นที่เปิดใจเล่าปัญหานี้ให้ฟัง เราจะรู้ว่ามันสำคัญมาก
โรงเรียนปอเนาะที่ผมเคยเรียน และหลายๆ ที่ มักแบ่งแยกการใช้พื้นที่ของหญิง-ชายอย่างชัดเจน ตัวผมเองที่มีเพื่อนสนิทเป็นผู้หญิง จำได้ว่าเคยโดนครูปกครองเดินมาจับแยกหัวให้ห่างกันคนละม้านั่งเพราะนั่งใกล้ชิดกันเกินไป ผนวกกับนักเรียนที่เรียนศาสนาต่างตระหนักเป็นอย่างดีว่า อิสลามไม่ให้ปะปนการอยู่ด้วยกันของหญิงชาย เพราะมันจะนำไปสู่ ‘ฟิตนะห์’ หรือ ความวุ่นวายต่างๆ ที่นำไปสู่ปัญหา
ความเดือดร้อน หรือ บาปที่เกิดขึ้น คือนักเรียนปอเนาะชายสนิทสนมเชิงกายภาพด้วยกันเองมากกว่าไปสัมพันธ์ข้องเกี่ยวกับผู้หญิงในโรงเรียนอย่างเปิดเผย แม้ว่าหลายคนจะคบหาผู้หญิงเป็นแฟน แต่ตกค่ำการใช้ชีวิตในหอพักปอเนาะ นักเรียนชายมัก ‘เล่นเพื่อน’ หรือมีกิจกรรมทางเพศกับผู้ชายด้วยกัน บางคนคิดว่าแบบนี้ยังดีกว่าไปยุ่งกับผู้หญิงเพราะอาจบาปมากกว่า บางคนก็คิดว่าเป็นแค่การปลดปล่อยอารมณ์ทางเพศ ไม่ได้คิดอะไรมากกว่านั้น แต่กรณีที่แย่กว่าคือ รุ่นพี่ในปอเนาะที่เรียกให้รุ่นน้องผู้ชาย และกลุ่มปอแน มาหาที่ห้องเพื่อช่วยให้สำเร็จความใคร่ด้วยปาก หรือมีเซ็กซ์กันตรงบริเวณช่องระหว่างขา
‘จือเลาะ แกเกง’ (ช่องว่างระหว่างขา)
คำว่า ‘จือเลาะ แกเกง’ ผมได้มาจากการไปร่วมกลุ่มเกย์มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เกาะกลุ่มเป็นเพื่อนสาวในวัยและสายอาชีพเดียวกัน (ไม่ได้ก่อตั้งเป็นสมาคมอะไร) ว่าภาษาที่อธิบายการมีเพศสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ขาหนีบ” คือคำนี้ในภาษามลายู เป็นคำเฉพาะที่ใช้ถามเวลาที่เพื่อนในกลุ่มมีประสบการณ์เรื่องเพศกับเพื่อนผู้ชายคนอื่นๆ
ตอนช่วงม.1 ที่ย้ายเข้ามาเรียนปอเนาะใหม่ๆ ด้วยความเป็นเด็กและมาใหม่ นอกจาก ‘ใช้ปาก’ ให้เพื่อนในวัยไล่เลี่ยกันแล้ว รุ่นพี่หลายๆ คนก็เอ่ยปากชวนผมไปนอนด้วย และให้ช่วยสำเร็จความใคร่ในหลายๆ แบบ รุ่นพี่บางคนพยายามให้ผมกลืนน้ำอสุจิ (โดยอ้างว่าดีต่อสุขภาพ) บ้างก็ให้ผมใช้ขาหนีบเพื่อความรู้สึกที่เหมือนได้มีเซ็กซ์จริงๆ โดยไม่ให้อวัยวะเพศเข้าไปจนเกินขอบเขตที่ศาสนาระบุว่า หากเกินมากไปกว่านั้นจะเรียกว่า ‘ซินา’ หรือความผิดจากการเพศสัมพันธ์ที่ไม่ถูกต้อง รุ่นพี่หลายคนเรียนศาสนามาหลายปี ทุกคนรู้ว่าศาสนาบอกไว้อย่างไร หลายคนจึงตีความแบบที่สบายใจ เพื่อให้ตัวเองระบายความใคร่ทางเพศในตอนค่ำๆ กับรุ่นน้องผู้ชาย พอตื่นเช้ามา เขาก็สามารถคบหากับผู้หญิงเหมือนผู้ชายปกติ
ซึ่งผมได้เขียนบทความเรื่อง ‘ปอแนใต้ปอเนาะ’ ตีพิมพ์ในวารสารประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2560) เพื่ออธิบายถึง รักร่วมเพศในศาสนาอิสลามผ่านเส้นแบ่งทางเพศที่ปรากฏชัดในปอเนาะ ผ่านความคิดว่าด้วย ‘ความเป็นพี่น้อง’ หรือ brotherhood กันในอิสลาม ซึ่งนำไปสู่ความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกัน รวมถึงการตีความหลักการศาสนาเกี่ยวกับร่างกายและเพศวิถีใหม่เพื่อสนองแรงปรารถนาทางเพศ ที่สะท้อนถึงความลักลั่น ยอกย้อนของความคิดรากฐานนิยมอิสลามต่อเรื่องเพศสภาพในปัจจุบัน
รักร่วมเพศในอิสลาม
คำว่า ‘รักร่วมเพศ’ ไม่มีใช้ชัดเจนในศาสนาอิสลาม แต่แสดงออกในหลายความหมายและการปฏิบัติ จึงถูกตีความไปไม่เหมือนกัน เมื่อเปิดประเด็นเรื่อง ‘เควียร์กับอิสลาม’ งานศึกษาแทบทุกชิ้นกล่าวถึงประวัติศาสตร์อิสลามในช่วงท่านนบีลู๊ฏ (อ.ซ.) ที่ท่านศาสดาได้รับบัญชาจากพระเจ้าให้มาตักเตือนและหยุดยั้งพฤติกรรมผิดเพศให้หมดไปจากเมืองโสโดม (หรือ โซโดมี – Sodomy) แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จึงถูกพระเจ้าสาปแช่งและลงโทษด้วยการกำจัดชนชาตินี้ให้หมดไป ซึ่งศาสนาอิสลามอธิบายความชั่วของคนในเมืองนี้ ว่าเป็นเพราะผู้ชายมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชายด้วยกันเอง เป็นการกระทำที่เลวทรามผิดธรรมชาติ
Faris Malik (2008) ได้เขียนเรื่อง Queer Sexuality and Identity in the Qur’an and Hadith ซึ่งอธิบายถึงการตีความในหลายทัศนะ และการพยายามหยุดยั้งความปรารถนาของผู้ชายที่มีต่อเด็กผู้ชาย Malik ได้แยกความแตกต่างของการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กผู้ชาย (pederasty) และทางทวารหนักกับผู้ชาย (sodomy) ว่าถูกมองไม่เหมือนกัน ในสังคมอาหรับมองเซ็กซ์กับเด็กผู้ชายโดยใช้คำว่า ‘เล่น’ (play) หมายถึงสิ่งรับได้และไม่ได้ทำผิดแต่อย่างใด เพราะมองว่าเด็กผู้ชายยังขาดทักษะของความเป็นชาย
ผมหวนนึกถึงวรรณกรรมเรื่อง ‘The Kite Runner’ เขียนโดย Khaled Hosseini (2003) ซึ่งได้ดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี 2007 พูดถึงความสัมพันธ์ทางเพศของเด็กผู้ชายและวัฒนธรรมการเอาเด็กผู้ชายไปเป็นเด็กเต้นระบำในกลุ่มตาลีบันที่ปกครองสังคมมุสลิมในอัฟกานิสถาน แล้วเอากฎหมายอิสลามแบบสุดโต่งมาคลุมเอาไว้
หนังสือ ‘Before Homosexuality in the Arab-Islamic World, 1500–1800’ โดย Khaled El-Rouayheb (2005) ได้ตั้งข้อถกเถียงไว้ว่าในวัฒนธรรมอาหรับยุคก่อนสมัยใหม่ ไม่มีมโนทัศน์เรื่อง ‘รักร่วมเพศ’ หรือ Homosexuality มาก่อน เขาจึงสนใจว่ามโนทัศน์นี้พัฒนาขึ้นมาในตำแหน่งไหนและแสดงออกมาในลักษณะใด ช่วง ค.ศ.1516-1798 ในสมัยอ๊อตโตมัน (Ottoman) ได้มีความสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันอย่างแพร่หลายในวรรณกรรมอาหรับ รวมถึงในบทกวีที่บรรยายความรักใคร่ที่บรรดาหนุ่มใหญ่มีต่อหนุ่มวัยรุ่น ซึ่งกวีรักที่กล่าวถึงเพศชายโดยเฉพาะนั้นแยกออกมาจากส่วนของเพศหญิงอย่างชัดเจน
เควียร์มุสลิม
Arnika Fuhrmann (2016) พิจารณาคำว่า ‘เควียร์’ ด้วยความหมายเกี่ยวกับเพศวิถีที่ไม่สอดคล้องกับบรรทัดฐาน โดยเฉพาะที่เกิดขึ้นในสังคมไทย หนังสือ ‘Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema’ รวมถึงภาพสะท้อนของเกย์มุสลิมจากภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘บริเวณนี้อยู่ภายใต้การกักกัน’ (2008) ของธัญสก พันสิทธิวรกุล โดย Furhmann พิจารณาถึงอารมณ์ปรารถนาของเควียร์ ความเป็นมุสลิมกับการเป็นเกย์ที่อยู่ท่ามกลางบริบทของความขัดแย้ง บริเวณที่ถูกกักกันทั้งเรื่อง เพศ ศาสนา และการเมือง สะท้อนความล้มเหลวของการอยู่ด้วยกันบนความต่างในสังคมไทย
ประเด็นเรื่อง ‘เควียร์มุสลิม’ นั้นยังมีการศึกษาในประเทศที่มีมุสลิมเป็นประชากรส่วนใหญ่ บริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ภาคพื้นสมุทร) ในวิทยานิพนธ์ของ Collin Jerome (2011) เรื่อง ‘Queer Melayu: Queer Sexualities and Politics of Malay Identity and Nationalism in Contemporary Malaysian Literature and Culture’ ได้ตั้งคำถามต่อการแสดงออกทางอัตลักษณ์ของเควียร์มุสลิมมาเลย์ (เกย์ เลสเบี้ยน และข้ามเพศ) ว่าถูกจัดให้เป็นสิ่งที่ ‘ไม่ใช่มาเลย์’ (การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ทางเพศ) และ ‘ไม่ใช่อิสลาม’ (เพศวิถีที่ไม่ถูกยอมรับและขัดแย้งกัน)
ในขณะที่นักวิชาการด้านเพศวิถีของอินโดนีเซีย Farid Muttaqin มองว่าจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้มีการถกเถียงเพื่อเปลี่ยนมุมมองทางอิสลามที่มีต่อความสัมพันธ์รักร่วมเพศ รวมถึงพิจารณาวัฒนธรรมและประเพณีที่กดขี่ครอบงำในสังคมอิสลามยุคอาหรับเป็นศูนย์กลาง ที่ปรากฏในหลักการคำสอนและกฎหมายอิสลามที่เกี่ยวกับรักร่วมเพศ
กรณีสามจังหวัดภาคใต้ของไทย การเป็นเควียร์มุสลิมยังไม่ไปไกลถึงขนาดพูดเรื่อง การสร้างอัตลักษณ์ เฉพาะกลุ่ม เพราะแค่สิทธิที่จะมีตัวตน หรือเป็นการเป็นตัวเองยังเป็นไปได้ยาก พวกเขาไม่มีพื้นที่สำหรับตัวตน เขาจึงต้องย้ายไปที่อื่น ไปในที่ที่เขาสามารถแสดงความเป็นเควียร์ของตัวเองได้ เกย์มุสลิมหลายคนจึงย้ายไปทำงานหรืออยู่นอกสามจังหวัด เช่น ย้ายไปทำงานที่หาดใหญ่ และกรุงเทพฯ แต่สุดท้าย เมื่อถึงวัยที่ต้องกลับมาดูแลครอบครัว (พ่อแม่) การจัดการกับเพศวิถีของตัวเองจึงเป็นปัญหาขึ้นมาอีกครั้ง ดังที่เห็นจากกรณีมุสลิมที่รู้กันว่าเป็นเกย์ แต่ต้องยอมแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อความสบายใจของครอบครัว ศาสนาจึงเข้ามามีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการเอามาใช้กดความปรารถนาทางเพศของตัวเองให้ไม่แปลกแยกไปจากบรรทัดฐานของสังคมในอีกระนาบหนึ่ง
‘บังลี’ ใน NEVERLAND
การไม่มีพื้นที่ หรือ no space ของเควียร์มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ ทำให้ผมทดลองทำชิ้นงานออกมาเป็น video art ชื่อว่า NEVERLAND ในช่วงปลายปี 2560 ผมทำงานศิลปะชิ้นนี้ออกมาเพื่อให้ ‘กระบวนการ’ ของการทำงานชิ้นนี้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมมลายู เมื่อปอแนคนหนึ่งแสดงท่าทางอย่างเสรีเมื่อเขาจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในดินแดนที่อยากทำอะไรก็ได้โดยไม่มีเงื่อนไขและข้อจำกัด ไม่ถูกใครเอาหลักการศาสนามาตราหน้าพวกเขาว่าเป็นคนที่เต็มไปด้วยบาป เพื่อให้ขัดแย้งกับความจริงที่มุสลิมในสามจังหวัดไม่เคยมีพื้นที่ให้เขามีตัวตน
บังลีเป็นน้องนักเรียนศิลปะที่มีความเป็นตัวเองสูงมาก เขาเป็นนางแบบหลักของงานศิลปะที่วาดโดย อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล ซึ่งผมได้มีโอกาสแสดงงานร่วมกันเรื่องเกี่ยวกับสังคมวัฒนธรรมในสามจังหวัดภาคใต้ และมีส่วนร่วมในการนำบังลีมาเป็นนักแสดง โดยอนุวัฒน์จับวางบังลีในหลายๆ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของรัฐไทย และปล่อยให้งานศิลปะทำหน้าที่สะท้อนด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ด้านศาสนา ที่แสดงตัวตนของบังลี ในฐานะปอแนคนนหนึ่งที่เติบโตมาในสังคมมลายู
การทำงานร่วมกับน้องๆ ที่เรียกตัวเองว่าเป็นปอแน จากกระบวนการที่ผ่านมา หลายคนยังมีความอิหลักอิเหลื่อต่อการนิยามตัวเองเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่สามจังหวัด เพราะแม้ไม่ถึงกับถูกด่าว่าในที่สาธารณะ แต่ดูเหมือนพวกเขาถูกห้ามที่จะแสดงตัวตนทางเพศไปพร้อมกับอัตลักษณ์ทางศาสนา นอกจากนั้นยังต้องพยายามนำเสนอว่า ตนเองเป็นคนดี ไม่สร้างปัญหาให้สังคม (ถึงแม้ว่าตัวเองจะเป็น ‘ปอแน’ ก็ตาม)
‘อัลลอฮ์ทรงกริ้วค่ะ’
แบมุสเป็นคนที่พาผมไปทำความเข้าใจเรื่องคลื่นที่เทพา แล้วยังพาผมไปรู้จักนักเรียนของเขาที่ดูแลอยู่ในโรงเรียนปอเนาะด้วย ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ แบมุสก็สอนหนังสือด้วย ผมแลกเปลี่ยนเรื่องเพศที่ถูกมองว่าผิดแปลกไปจากศาสนาอิสลามอยู่หลายครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าแบมุสไม่เคยมีทัศนคติในด้านลบกับนักเรียนที่เป็นปอแน โดยทางโรงเรียนนั้นให้แบมุสดูแลเด็กเหล่านี้เป็นพิเศษ เขาจึงแยกนักเรียนเหล่านี้มาละหมาดเพื่อที่เขาจะสามารถอบรมสอนเรื่องการอยู่ร่วมกันในสังคมมุสลิม แบบที่เป็นตัวของตัวเอง โดยที่สังคมศาสนาไม่เริ่มมองพวกเขาว่าเป็นปัญหา แบมุสไม่เห็นด้วยกับการผลักคนที่เพศของตัวเองไม่ตรงขั้วหญิง-ชายตามที่ศาสนากำหนด หรือการปล่อยพวกเขาไว้แบบไม่สนใจใยดี เหมือนตัดพวกเขาออกใจจากสังคมที่เขาเองก็มีสิทธิอยู่ในฐานะที่เป็นบ้านของพวกเขาเหมือนกัน ‘สังคมจึงต้องมีใจกว้างมากกว่านี้’ (ดังที่พี่เล็ก งามศุกร์ เคยใช้คำนี้ตอนแลกเปลี่ยนเรื่องปัญหาต่างๆ ในสามจังหวัดภาคใต้)
ผม และแบอานัส จากกลุ่มทำงานด้านกิจกรรมทางสังคมชื่อ Saiburi Looker ได้ติดตามแบมุสไปลงพื้นที่ในโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่งด้วยกัน ซึ่งการได้พบและแลกเปลี่ยนกับนักเรียนที่ถูกเรียกว่าปอแน ทำให้เราเรียนรู้ความคิดที่น่าสนใจของเด็กปอแนที่มีต่อการนิยามเพศสภาพตัวเอง หลังจากแบอานัสได้คุยกับน้องคนหนึ่ง เขาบอกว่า ‘เขาไม่ใช่ผู้ชาย แต่ก็อยากแต่งงานกับผู้หญิง เหมือนใบจากที่ไม่มียาเส้น มันจะหวานๆ หน่อย’ น้องเขาเปรียบเทียบวัฒนธรรมการสูบใบจากเป็นภาพแทนของผู้ชาย แต่การไม่มียาเส้น คือการเป็นผู้ชายในอีกแบบหนึ่ง ตามคำนิยามของพวกเขาเอง
ครั้งหนึ่งแบมุสให้นักเรียนปอแนของเขาอ่านหนังสือที่ว่าด้วยการเป็นกะเทยในอิสลาม เพื่อจับใจความว่าแต่ละคนอ่านแล้วได้สาระว่าอย่างไร สิ่งที่น่าสนใจคือ นักเรียนแต่ละคนตอบในคำที่คล้ายๆ กัน คือ ‘อัลลอฮ์ทรงกริ้ว (ค่ะ)’ เพราะในหนังสือที่พวกเขาอ่าน เน้นย้ำว่าการเป็นเพศที่เบี่ยงเบนไปจากที่พระเจ้ากำหนดนั้น สร้างความไม่พอใจให้กับพระเจ้า ตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งน่าสนใจที่จะวิเคราะห์ต่อไป แต่อยากทำงานภาคสนามมากกว่านี้ก่อน
เหมือนตอนที่ผมดูภาพยนตร์ของพี่ปุ่น ธัญสก ประโยคในฮาดิส หรือ วัจนะของท่านศาสนานบีมูฮัมหมัด (ซ.ล.) ที่ผู้กำกับเองนำเอามาใส่ในตอนหนึ่งคือ
لَعَنَ رَسُولُ اللهِ صلى اللهُ عليهِ وَسلَّمَ المُتَشَبِّهِينَ مِنَ الرِّجَالِ بالنِّساءِ وَالمُتَشَبِّهاتِ مِنَ النِّساءِ بالرِّجالِ
‘ท่านรอซู้ลฯ ได้สาปแช่งบรรดาผู้ชายที่ทำตัวเป็นกะเทย และบรรดาผู้หญิงที่ทำตัวเป็นผู้ชาย’
ซึ่งผมมองว่าคำกล่าวนี้เองที่มักถูกนำมากล่าวอ้างแทบทุกครั้ง ในเวลาที่สังคมมุสลิมต้องการ ‘กดปราบความปรารถนาแบบเควียร์’ ดังที่เห็นได้จากการสะท้อนของนักเรียนที่จับใจความจากสิ่งที่ศาสนาได้สาปแช่งไว้ในวันหนึ่งที่คุณเป็นเควียร์
ปัญหาเรื่อง ‘โรคกดทับ’
การเปิดประเด็นเรื่อง ‘เพศ’ คุยในวงกว้างนั้นยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากในสังคมมุสลิมสามจังหวัดภาคใต้ เพราะมักถูกมองว่าพยายามโต้แย้งด้วยกรอบคิดแบบเสรีนิยม ลำพังแค่การมองด้วยความคิดที่สะท้อนเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมที่นี่ยังเป็นปัญหาเลย หากจะอธิบายด้วยเรื่องเควียร์ คงต้องรอให้คนในสังคมใจกว้างกว่านี้อีกมาก ผมเคยไปสัมภาษณ์กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานขับเคลื่อนเรื่องเพศกับพี่เล็ก งามศุกร์ รัตนเสถียร เน้นสัมภาษณ์ที่เจาะเฉพาะกลุ่มผู้หญิงเป็นหลัก พบว่าพวกเขายังมองเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้พูดถึงนัก จนเรียกกันว่าเป็นปัญหาเรื่อง ‘โรคกดทับ’ (ทางเพศ) ซึ่งยังมีอยู่เสมอมาในสังคมที่นี่ และส่วนมากนักวิชาการในพื้นที่นี้สนใจแต่เรื่องปัญหาความรุนแรงจากภาครัฐ จนปัญหาเรื่องเพศที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในระดับครอบครัวไม่เคยมีใครให้ความสนใจ ปัญหาหลายๆ เรื่องที่ได้ฟังจากเพื่อนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน จึงเป็นเรื่องเพศเกือบทั้งหมด รวมถึงปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ
กลุ่มเพศที่สามถูกเรียกว่า ‘ปอแน’ หรือมุสลิมที่เป็นกะเทยจึงยิ่งแปลกแยกจากสังคม มันไม่มีพื้นที่ให้พวกเขามีตัวตนหรือเป็นตัวเองในแบบของเขา ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะจัดการปัญหาของตัวเองกันอย่างไร หลายคนหาโอกาสไปอยู่หาดใหญ่ ไปอยู่กรุงเทพฯ ย้ายออกนอกพื้นที่ไปเลย แต่นี้คือกรณีที่เขาพยายามหาทางออกให้ตัวเอง บางคนประสบเจอการดูถูก หรือความรุนแรงอื่นๆ บางกรณีจึงไม่ใช่แค่การออกนอกพื้นที่ แต่เป็นการออกจากศาสนาอิสลามไปเลย เพราะสังคมไม่ยอมเปิดรับตัวตนของพวกเขาได้เลย
กลุ่มเพศที่สามจึงมีแนวโน้มที่ออกจากพื้นที่มากขึ้นหากมีโอกาส แต่สุดท้ายหลายคนก็ต้องกลับมาเพราะเรื่องครอบครัว การกลับมาอยู่ในพื้นที่คือการเริ่มต้นใหม่ว่าจะทำอย่างไรกับชีวิต บางคนยอมทำตามพ่อแม่เพื่อแต่งงานไปมีครอบครัว ซึ่งกรณีที่เป็นปอแนแล้วไปแต่งงานก็มีหลายคน บางคนภรรยาก็รู้ มีการคุยกันว่าจะแต่งแล้วทำอย่างไร เพื่อให้มีเซ็กส์ครั้งเดียวเพื่อให้มีลูกเลย เพราะสังคมคาดหวังกับการมีชีวิตที่เป็นไปตามเพศของตัวเองมาก
ประเด็นเรื่อง เพศที่สาม หรือเพศที่ถูกมองว่าเบี่ยงเบน จึงถูกติดเครื่องหมายว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรพูด เป็นความน่ากลัวที่มันถูกพยายามกวาดไว้ใต้พรมละหมาด และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนักการศาสนาหรือผู้รู้ออกมาทำหน้าที่ตัดสินว่าปล่อยให้เป็นเรื่องที่สังคมจัดการ ให้ศาสนามาเป็นตัวแก้ไข และรับผิดชอบโดยครอบครัว ผมเองอาจกล้าพูดและกล้าแลกเปลี่ยนกับเรื่องนี้เพราะผมเป็นมุสลิม เป็นเกย์ และเคยเรียนโรงเรียนปอเนาะมาก่อน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าผมรู้และถูกต้องไปหมด แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่ได้เป็นเกย์มุสลิม หรือไม่เคยเรียนปอเนาะแล้วจะพูดไม่ได้ ทุกคนสามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- El-Rouayheb, Khaled. Before Homosexuality in the Arab-Islamic World, 1500–1800. Chicago and London: University of Cambridge, 2005.
- Fuhrmann, Arnika. Ghostly Desires: Queer Sexuality and Vernacular Buddhism in Contemporary Thai Cinema. Duke University Press, 2016.
- Jerome, Collin. Queer Melayu: Queer Sexualities and Politics of Malay Identity and Nationalism in Contemporary Malaysian Literature and Culture. PhD Dissertation, University of Sussex, 2011.
- Malik, Faris. “Queer Sexuality and Identity in the Qur’an and Hadith.” Journal of Life and Science. (2008) http://journaloflifeandscience.blogspot.com/2008/08/homosexuality-in-quran-and-hadith.html (accessed February 3, 2017).
- Murray, Stephen O. and Will Roscoe. Islamic Homosexualities: Culture, History and Literature. New York: New York University Press, 1997.
- Muttaqin, Farid. “Changes needed to Islamic view on homosexuality.” The Jakarta Post. http://www.thejakartapost.com/detaileditorial.asp?fileid=20060902.F04&irec=3 (accessed February 1, 2017).