เลื่อนซ้ายเพื่อผ่าน เลื่อนขวาเพื่อพบ กลายเป็นสัญลักษณ์ของแอพหาคู่ไปแล้วด้วยความโด่งดังของ Tinder แอพที่รู้จักกันดีสำหรับกลุ่มคนที่รักสนุก แต่ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา บริษัทสตาร์ทอัพ แอพพลิเคชั่นหาคู่อย่าง Raya กำลังกลายเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง Raya ก็ใช้ระบบการเลื่อนซ้ายขวาที่คล้ายคลึงกัน แต่ความเหมือนกันก็จบลงแค่นั้น เพราะ Raya นั้นต่างจาก Tinder ตรงที่มันเป็นเหมือนสังคมลึกลับที่คนธรรมดาไม่สามารถเข้าถึง เป็นสถานที่สำหรับบุคคลที่ถูกเลือกว่ามีเสน่ห์ดึงดูด มีชื่อเสียงในแวดวงหลากหลายมาพบเจอกัน
คุณต้องได้รับคำเชิญจากเพื่อนที่อยู่ด้านใน เหมือนเป็นจดหมายแนะนำตัวว่าคุณน่าสนใจยังไง แถมขั้นตอนการสมัครคุณยังต้องเขียนเรียงความเพื่อตอบคำถามต่างๆ อีกมากมาย และเมื่อเข้าไปได้แล้วก็เสียค่าสมาชิกอีก $8/เดือน โดยคุณสามารถเลือกโชว์วิดีโอของตัวเองที่คิดว่าน่าสนใจ เพื่อเชื่อมโยงกับบุคคลต่างๆ ที่อยู่ในเครือข่าย ทั้งเรื่องงานและการหาคู่ แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนสนใจ Raya มากกว่าอย่างอื่นคือเหล่าเซเลปดาราที่อยู่ในกลุ่มบุคคลของสังคมลับนั้นต่างหาก
ถ้าใครรู้จัก Tinder คงรู้ดีว่าหลังจากที่ใส่ข้อมูลของตัวเองเข้าไปแล้ว Tinder จะพยายามเชื่อมโยง (match) คนที่มีความสนใจคล้ายกันเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นคุณก็แค่เลือกเลื่อนซ้ายเพื่อผ่านไปดูคนอื่นต่อก็ได้เรื่อยๆ หรือเลื่อนขวาบอกว่าสนใจแล้วก็นัดเจอกันก็ได้ แน่นอนว่ามันเป็นแอพหาคู่ที่ค่อนข้างฉาบฉวย ตัดสินกันด้วยภาพถ่ายเพียงไม่กี่ภาพ ความสนุกเพียงชั่วข้ามคืนแล้วก็จากลากันไป พูดง่ายๆ มันเป็นเพียงแอพหา One night stand ที่ไม่มีอะไรยึดติดกันภายหลังนั้นแหละ แต่ Raya วางตัวเองเอาไว้ว่าเป็นแอพ Professional Networking และ Dating ที่ใช้ทั้งการสร้างเครือข่ายในการทำงานและหาคู่ในเวลาเดียวกันเลย
Raya ทำให้นึกถึงหนังสุดคลาสสิกอย่าง Fight Club ขึ้นมาทันที เพราะกฏข้อแรกของ Fight Club คือการไม่พูดถึง Fight Club
ในเดือนมีนาคมปี 2015 Raya เปิดตัวอย่างเงียบๆ ไม่มีการประกาศหรือให้สัมภาษณ์อะไรเลยในช่วงเวลานั้น รายละเอียดของผู้ก่อตั้งก็แทบไม่มี ขนาดข้อมูลบริษัทบน Crunchbase ที่เป็นฐานข้อมูลบริษัทสตาร์อัพก็ไม่มี แถมในช่วงปลายปี 2016 ยังได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท Chime ผู้สร้างแอพพลิเคชั่นส่งข้อความวิดีโอโดยไม่ออกสื่อเลยแม้แต่นิดเดียว หลังจากนั้นหนึ่งปี Jared Morgenstern อดีตผู้นำของ Chime และพนักงานเก่าของ Facebook ก็กลายมาเป็นหนึ่งในนักลงทุนกลุ่มแรกของ Raya แถมยังขึ้นเป็น COO (Chief Operating Officer) ของ Raya อีกด้วย
เมื่อไม่นานมานี้ Jared เพิ่งให้สัมภาษณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับ Raya ว่า “Raya เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการแนะนำคุณกับกลุ่มคนที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตของคุณได้ เหมือนกับ Soho House (คลับส่วนตัวสำหรับกลุ่มคนมีชื่อเสียงทั่วโลกที่ต้องมีการเชิญเข้าเป็นสมาชิก) ที่ใช้สถานที่เพื่อการพบเจอ เราพยายามใช้ซอฟท์แวร์แทน”
เขาบอกเพิ่มเติมอีกว่าในตอนนี้คนอาจจะรู้สึกว่าการถูกเลือกแบบนี้เหมือนเป็นการ ‘แบ่งชั้น’ ให้คุณค่าสำหรับคนบางกลุ่ม ไม่มีความยุติธรรมสำหรับทุกคน ถึงแม้ว่า Raya นั้นจะคัดคนเข้ากลุ่มจากการแนะนำของคนด้านใน ไม่ได้ให้น้ำหนักกับฐานะหรือผิวสี เขาแย้งกลับว่าปกติคนทั่วไปก็มีการแบ่งตัวเองอยู่แล้ว ไม่ว่าจากสถานที่ที่ตัวเองไป กลุ่มเพื่อนที่รู้จัก หรือกิจกรรมที่ทำอยู่แล้ว ซึ่ง Raya ก็แค่ทำสิ่งเหล่านี้ออกมาในรูปแบบดิจิทัลเท่านั้น
Jared Morgenstern ไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเงินทุนของ Raya ที่ระดมขึ้นมาได้ ว่าจุดเริ่มต้นและความเป็นมาคืออะไร รวมถึงกลุ่มคนที่เป็นผู้เริ่มต้นของสังคมลับแห่งนี้ เขาบอกเพียงว่าเป็นกลุ่มคนที่เรียบง่ายและไม่อยากแสดงตัวตน แต่เขาเองก็บอกว่ากลุ่มคนหลักๆ ที่ดึงดูดเซเลปเข้ามาก็เป็น DJ ที่มีชื่อเสียงหลายคนอย่าง Diplo และ Skrillex นักแสดงอย่าง Elijah Wood ที่รู้จักกันดีในบทบาท Frodo Baggins ในเรื่อง The Lord of the ring นักแสดงตลกหญิงอย่าง Amy Schumer และนักดนตรีที่มีผลงานมากมายอย่าง Demi Lovato กับ John Mayer รวมไปถึงนางแบบชื่อดังอย่าง Cara Delevingne และโมเดลอีกหลายคนจาก Instagram จึงไม่แปลกใจที่ชื่อเล่นของ Raya คือ ‘Celebrity Tinder’ ที่หลายคนเรียกจนติดปาก
จากคำให้สัมภาษณ์ของ Jared Morgenstern Raya ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความสนุกในการเลื่อนซ้ายเลื่อนขวาเพียงเท่านั้น มันเป็นตัวกลางสำหรับสังคมที่มีการจัดเตรียมเพื่อให้คนได้ค้นพบใครสักคน (ที่ทางแอพเห็นว่าน่าจะมีความสนใจคล้ายกัน) แล้วสร้างช่องทางให้ทั้งคู่นั้นได้ติดต่อกันอย่างเร็วที่สุด สมาชิกในกลุ่มจะรู้สึกปลอดภัยและเป็นมิตรเพราะมั่นใจว่าคนในกลุ่มนั้นถูกคัดเลือกมาแล้ว (ไม่ว่าจะด้วยหลักเหตุผลใดก็ตามแต่) ซึ่งจะทำให้กล้าที่จะเปิดเผยตัวเองมากขึ้นอีกด้วย
ในหน้าจอต้อนรับของแอพพลิเคชั่นเขียนว่า“ที่นี่คือกลุ่มสังคมอันใกล้ชิดที่ไม่ทนต่อการไม่เคารพคนอื่นหรือพฤติกรรมที่ประสงค์ร้าย มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นและทักทายเหมือนคนที่โตกันแล้ว”
เมื่อกดตกลงถึงจะผ่านหน้าจอนั้นเข้าไปได้ แถมมันจะเปิดขึ้นมาทุกครั้งที่เปิด Raya ด้วย ซึ่งก็ถือเป็นการเตือนผู้ใช้ว่าอย่าไปดูถูกคนอื่นโดยใช้คำพูดที่หยาบคายหรือแทะโลม อีกอย่างหนึ่งคือคุณจะแคปหน้าจอไม่ได้ ถ้าทำก็ถูกตำหนิและตักเตือน ซึ่งนี่ยิ่งทำให้ Raya เป็นสังคมที่มีเหตุมีผลที่มีคนคอยดูแล มันไม่ใช่การเลื่อนซ้ายขวาที่ไม่มีอันสิ้นสุดแล้วต่อสู้กับข้อความที่น่ารำคาญ ทุกคนในนี้ทำตามกฎเพราะกลัวว่าจะโดนเตะออกจากกลุ่ม Raya ได้สร้างสังคมของกลุ่มคนทำงานและคนหาคู่ที่เป็นเมืองเล็กๆ เมืองที่ชื่อเสียงของคุณเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ และความรู้สึก ‘เชื่อใจ’ และ ‘วางใจ’ ใน Raya ทำให้พวกเขานั้นแตกต่างจาก Tinder หรือ LinkedIn อย่างสิ้นเชิง
ในช่วงแรกที่ Raya เปิดให้บริการ แอพพลิเคชั่นนี้จะแสดงสมาชิกที่อยู่ในเมืองเดียวกันและทั่วโลก ซึ่งมันก็เป็นเรื่องที่แปลกดีเพราะโอกาสได้เจอกันเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เป้าหมายของ Raya คือการทำให้คนสองคนมาเจอกัน ตอนนี้แอพเลยมีการพัฒนาเพื่อแสดงตำแหน่ง GPS บนแผนที่ของสมาชิกถ้าเกิดว่าคุณอยู่ในตำแหน่งที่น่าสนใจอย่างร้านกาแฟหรือบาร์ โดยมีไอเดียว่าถ้าเกิดทั้งคู่เลื่อนขวาเหมือนกัน ก็สามารถข้ามขั้นตอนการส่งข้อความและเดินไปหากันได้เลยทันที (งานของกามเทพแผลงศรลดลงอีกเพียบ)
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Tinder หรือแอพหาคู่รายใหญ่อื่นๆ ทำแบบนี้ไม่ได้เพราะจำนวนสมาชิกที่เยอะเกินไปจึงทำให้การแสดงตำแหน่งบนแผนที่เป็นเรื่องที่ดูน่ากลัว หรือแม้แต่แอพหาคู่ที่เลือกคนจากประวัติบนใบสมัคร (resume) มากกว่าลักษณะนิสัยก็ดูเหมือนจะไม่เหมาะสำหรับการโชว์ตำแหน่งบนแผนที่เช่นกัน เพราะไม่ได้หมายความว่าคุณเรียนจบจากมหาวิทยาลัยค่าเทอมแพงชื่อเสียงโด่งดังแล้วจะเป็นคนดีเสมอไป และในหลายๆ ครั้งมันก็ตรงกันข้ามซะด้วยซ้ำ
สตาร์ทอัพอย่าง Raya พยายามสร้างสังคมสำหรับกลุ่มคนที่ถูกเลือกมาแล้ว ที่ต้องคูลระดับหนึ่งถึงจะมาอยู่ตรงนี้ได้ มันจึงทำให้การพบปะสมาชิกคนอื่นนั้นเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น เพราะคุณอาจเจอเพื่อนใหม่ที่อยากร่วมทำธุรกิจด้วยกัน มีอุดมการณ์ที่น่าสนใจ หรือบางทีอาจจะเจอ ‘the one’ แล้วไม่นกอีกต่อไปก็เป็นได้ มันทำให้ Raya นั้นเป็นเหมือนแอพหาคู่ที่ทรงพลัง คุณไม่ต้องมากังวลว่าจะเจอคนแปลกๆ ที่พูดจากันคนละภาษา เพราะในแอพคุณสามารถระบุอายุและเพศสำหรับการหาเพื่อนใหม่ หรือตามกลุ่ม ‘Entertainment & Culture’ ‘Art & Design’ และ ‘Business & Tech’ สำหรับการติดต่อหางาน หลังจากนั้นแอพก็จะเลือกคนที่น่าจะเข้ากับคุณได้มาให้ เมื่อดูประวัติและสไลด์โชว์ภาพถ่ายแนะนำตัวเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่คุณต้องทำก็แค่เลือกว่าจะเลื่อนนิ้วไปซ้ายหรือขวาเพียงเท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากพบเจอกันเสร็จเรียบร้อย ถ้ารู้สึกว่าอีกฝั่งหนึ่งทำท่าทีแปลกๆ หรือทำตัวมีพิรุธก็สามารถแจ้งทาง Raya เพื่อทำการตรวจสอบต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจของ Raya นั้นน่าสนใจคือสมาชิกทุกคนต้องจ่ายเงิน $8/เดือน ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับสตาร์บัคส์เพียงสองแก้ว มันดูไม่มาก แต่ถ้ามีสมาชิกในมือจำนวนหนึ่ง รายได้ต่อเดือนก็ไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งอัตราค่าสมาชิกเป็นฟิลเตอร์ชั้นดีเพื่อกรองคนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับสังคมที่พวกเขาต้องการสร้างขึ้นมา มีหลายคนที่ใช้ Raya แล้วหยุดใช้เพราะเจอคนที่ใช่และแต่งงานกันเรียบร้อย แต่ก็มีหลายคนเช่นกันที่แต่งงานแล้วแต่ก็ยังเป็นสมาชิกอยู่ ไม่ใช่เพื่อหาคู่นอนคนใหม่ แต่เพื่อการสร้างเครือข่ายเพื่อนฝูงและธุรกิจของตัวเองเรื่อยๆ อีกด้วย นี่ก็เป็นข้อดีอีกอย่างของ Raya เช่นเดียวกัน
หลายคนอาจจะบอกว่า Raya เป็นแค่แอพสำหรับกลุ่มเซเลปดาราคนมีเงินเพื่อหาคู่ ในมุมหนึ่งมันก็ไม่ได้ผิด มันเป็นสังคมที่ดูเข้าถึงยากคล้ายกับกลุ่มเด็กนักเรียนป๊อปมัธยมปลายที่ใครๆ ก็อยากมีส่วนร่วม Tinder อาจจะได้เปรียบตรงที่มีสมาชิกเยอะกว่าก็จริง แต่มันก็เยอะเกินไปและกลายเป็นสร้างความเหนื่อยหน่ายให้กับผู้ใช้ เมื่อมีตัวเลือกมากล้นมนุษย์จะชินชาและเริ่มไม่ใส่ใจกับสิ่งเหล่านั้น เพราะเราจะคอยตั้งคำถามเสมอว่า “หรือรอคนต่อไปดี?” Raya จึงเลือกที่จะสร้างสังคมเล็กๆ ที่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้และเป็นสังคมของผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ โดยถ้ามองตามความเป็นจริงแม้ Raya จะดูเย่อหยิ่งจับต้องยาก มันก็ดูปลอดภัยและเป็นชุมชนออนไลน์ที่น่าอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
Illustration by Kodchakorn Thammachart