ช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา หลายคนอาจจะได้เห็นบรรยากาศการแข่งขันหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่นที่เข้มข้นมากขึ้นทุกวัน ภาพของนักการเมืองหาเสียงกันฝุ่นตลบ ก้มไหว้ประชาชนทุกคนด้วยความนอบน้อม ยิ้มแย้มทักทายโดยไม่สนว่าคนคนนั้นจะเป็นใคร บางคนถึงกับลงทุนปรับภาพลักษณ์ตัวเองใหม่หมด หันมาใช้โซเชียลมีเดียเพื่อพูดคุยกับประชาชนมากขึ้น บางคนพยายามเล่นกับกระแสสังคม เพื่อดึงให้ตัวเองมีแอร์ไทม์
ในแง่หนึ่ง ความพยายามทำตัว ‘เฟรนด์ลี่’ ของนักการเมืองถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะความเฟรนด์ลี่ทำให้ภาพลักษณ์ของนักการเมืองดูเป็นคนที่เข้าถึงง่ายและใส่ใจประชาชนแท้จริง ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า นี่คือหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญของนักการเมืองในอุดมคติของใครหลายคน จึงไม่แปลกที่ทำให้นักการเมืองที่แสดงออกถึงคุณสมบัติเหล่านี้จะได้รับความนิยมอย่างสูง และประสบความสำเร็จทางการเมืองในเวลาต่อมา นอกจากนี้ ในยุคที่โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาทสำคัญทางการเมือง การทำตัวเฟรนด์ลี่เลยเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายและราคาถูกกว่าเมื่อก่อนมาก
แต่อีกแง่หนึ่ง ความเฟรนด์ลี่ก็อาจส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน โดยเฉพาะถ้านักการเมืองคนนั้นไม่เคยทำตัวแบบนี้มาก่อน หรือเคยทำมาก่อนแล้วแต่อยู่ดีๆ ก็ทำหนักขึ้นจนหลายคนอดรู้สึกว่ามัน ‘เฟค’ ไม่ได้
ภาพลักษณ์กับการเมืองในยุค ‘เบื่อหน่าย’
ประเด็นเรื่องความเฟรนด์ลี่จริงๆ ก็ถือเป็นประเด็นสำคัญที่ยากจะแยกออกจากการเมืองปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อ “ความเบื่อหน่ายทางการเมือง” (anti-politics) กลายเป็นกระแสอารมณ์หลักร่วมของคนทั่วโลก หลังการเมืองแบบดั้งเดิมไม่ตอบโจทย์ต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกที่นับวันจะรวดเร็วและรุนแรงมากขึ้น ประชาชนจึงต้องแสวงหาการเมืองแบบใหม่ที่สามารถตอบสนองความต้องการของเขาได้อย่างแท้จริง
ซึ่งความเฟรนด์ลี่นี่แหละที่กลายมาเป็นพระเอกขี่ม้าขาวของเรา เพราะมันช่วยสลัดภาพลักษณ์ของนักการเมืองที่มักจะมีภาพจำเป็นคนแก่ พูดจาไม่รู้เรื่อง หน้าตาเคร่งเครียด แถมยังชอบทำตัวห่างเหินกับประชาชน ให้กลายเป็นนักการเมืองที่ดูเป็นมิตรมากขึ้นนั้นเอง นักการเมืองหลายคนจึงต้องสรรหาวิธีในการทำตัวให้เป็นมิตรมากขึ้นเพื่อดึงดูดความนิยมจากประชาชนอีกครั้ง
นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียของนักการเมือง ก็ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางการเมืองไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากมันได้ให้อำนาจนักการเมืองในการ ‘ออกแบบ’ ภาพลักษณ์และบุคลิกของตนเองโดยไม่ต้องผ่านการปรุงแต่งจากสื่อหลัก เช่นสมัยก่อน ประชาชนจึงรู้สึกได้ว่า ภาพลักษณ์และบุคลิกที่แสดงออกมาผ่านโซเชียลมีเดียนั้นเป็น “ของจริง”
ในรายงานวิชาการหลายชิ้นระบุว่า การแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เริ่มสัมพันธ์กับจุดยืนทางโครงสร้างของสังคมน้อยลง แต่กลับยึดโยงกับความเป็นตัวตนที่แท้จริงและความคิดเห็นต่อประเด็นทางการเมืองมากขึ้น
นั้นหมายความว่า ยิ่งนักการเมืองคนไหนสามารถแสดงความเป็นตัวเองได้โดยเชื่อมโยงความรู้สึก ประสบการณ์ และความคิดให้เข้ากับประชาชน ผ่านคำพูดเช่น “ฉันเข้าใจเธอนะ เพราะฉันก็คิดเหมือนเธอ” หรือ “ฉันรู้ว่าเธอกำลังประสบปัญหานี้อยู่ใช่ไหม ฉันรู้ เพราะเราคือคนบ้านเดียวกัน” หรือการแสดงออกว่า เฮ้ย ฉันเป็นพวกเดียวกันเธอนะ เราไม่ใช่คนอื่นคนไกล ก็จะยิ่งได้รับความนิยม
(ที่มาภาพ: Washington Post)
งานนี้ต้องบาลานซ์ให้ดี
จริงอยู่ที่ความเฟรนด์ลี่ช่วยลบภาพนักการเมืองแบบเก่าๆ ทิ้งไป และช่วยให้นักการเมืองได้รับความนิยมอย่างท่วมท้น แถมยังช่วยให้นักการเมืองหันมาสนใจและรับฟังประเด็นปัญหาสังคมอย่างจริงจังอีกครั้ง แต่ความเฟรนด์ลี่ก็มีขอบเขตของมันในเกมการเมือง ใช่ว่าการทำตัวเฟรนด์ลี่จะช่วยให้ภาพลักษณ์มันดีขึ้นเสมอไป ดังนั้น ถ้าไม่อยากโดนจับ ‘โป๊ะ’ ก็ต้องเข้าใจความท้าทายของการทำตัวเฟรนด์ลี่ในการแสดงออกทางการเมืองเสียก่อน
ความท้าทายสำคัญข้อแรกคือ ความต่อเนื่อง เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยมีประสบการณ์ที่อยู่ดีๆ นักการเมืองแถวบ้านก็เข้ามาทักทายถึงบ้าน ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ ยกมือไหว้ปลกๆ ทั้งที่ร้อยวันพันปีไม่เคยเหยียบซอยในหมู่บ้านเลยด้วยซ้ำ และพอผ่านพ้นการเลือกตั้งไปก็กลับไปทำตัวห่างเหินเหมือนเดิม โอเคว่าการทำตัวเฟรนด์ลี่แบบ ‘ปุ๊ปปั๊ป จะทำให้กระแสความนิยมจะพุ่งสูงขึ้นก็จริง เพราะใครๆ ต่างก็ตื่นเต้นที่ได้เห็นนักการเมืองหันมาใส่ใจปัญหาและความเป็นอยู่ของเรามากขึ้น
แต่งานวิจัยในช่วงหลังชี้ให้เห็นว่า กลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับความต่อเนื่องของภาพลักษณ์มากขึ้น เนื่องจากมันจะช่วยสะท้อนให้พวกเขาเห็นว่า นักการเมืองที่เขาเลือกหรือชื่นชอบกำลังตอบสนองต่อนโยบายหรือประเด็นสังคมที่พวกเขาเป็นกังวลอยู่หรือไม่และอย่างไร หากนักการเมืองไม่สามารถรักษาความต่อเนื่องนี้ได้ ก็หมายความว่านักการเมืองคนนี้ไม่ได้ใส่ใจต่อประเด็นของพวกเขาขนาดนั้น หรือในแง่ร้ายที่สุด เขาอาจจะแค่ ‘แกล้ง’ ทำเป็นสนใจในตอนแรกก็ได้
ความท้าทายต่อมาคือ ความเป็นมืออาชีพ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ทำให้หลายคนต้องตกม้าตาย เพราะอย่าลืมว่า ถึงแม้ประชาชนจะคาดหวังให้นักการเมืองมีความเป็นมิตรและทำตัวให้เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้นกว่าเก่า แต่พวกเขาไม่ได้คาดหวังให้นักการเมืองต้องทำตัวเช่นนี้ตลอดเวลา พวกเขาต้องการเห็นนักการเมืองอาชีพที่ตระหนักว่าเวลาไหนควรเล่น เวลาไหนควรจริงจังเสียมากกว่า เพราะนักการเมืองคืออาชีพสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีกรุงลอนดอน ได้โพสต์ภาพตัวเองขณะพูดคุยกับวิลล์ และเจเดน สมิธ นักแสดงพ่อลูกชื่อดังลงทวิตเตอร์ แถมยังมีข่าวออกมาอีกว่า บอริสบอกกับวิลล์ว่า เขาเพิ่งแต่งเพลงแร็พเกี่ยวกับงาน Queen’s jubilee อีกด้วย (เออ เอาสิ) เท่านั้นแหละ ผู้คนแห่กันแสดงความคิดเห็นกันอย่างดุเดือด โดยส่วนมากก็ติให้เขาเลิกเอาเวลาบริหารบ้านเมืองไปโม้เรื่องเพลงแร๊พกับใช้เวลากับดาราเสียที!
ส่วนความท้าทายสุดท้ายและเป็นข้อที่สำคัญที่สุดคือ ความแนบเนียน ซึ่งเป็นความท้าทายที่นักการเมืองหลายคนไม่สามารถเอาชนะได้เลย เพราะประชาชนมักจะตั้งแง่ต่อภาพลักษณ์และการกระทำของนักการเมืองอยู่เสมอ มันคือการไม่ไว้ใจ ไม่เชื่อว่าการกระทำของนักการเมืองจะปลอดวัตถุประสงค์แอบแฝง (hidden agenda) โดยเฉพาะประเด็นทางการเมือง เรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ที่จะตามมาทีหลัง
จริงอยู่ที่บางครั้งภาพลักษณ์และการแสดงออกของนักการเมืองอาจจะไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเลย (น้อยมากๆแหละ) แต่ในเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองแล้ว อะไรๆ มันก็เกี่ยวข้องกับการเมืองไปซะหมด
ตรงนี้จึงกลายเป็นด่านสุดท้ายที่นักการเมืองแต่ละคนจะต้องมาพิสูจน์กันแล้วว่า ตัวเองจะแนบเนียนได้แค่ไหน หรือจะแสดงความเป็นตัวเองอย่างไรให้คนไม่รู้สึกว่ามันปลอมดี
ดังนั้น ถ้าอยากทำตัวเฟรนด์ลี่ทั้งที ก็อย่าทำให้น้อยเกินไป จนโดนหาว่าห่างเหิน แต่ก็อย่าทำให้มันมากเกินพอดี ไม่งั้นคนเขาจะหาว่าเฟคเกิน