COVID-19 สร้างหายนะให้กับมนุษยชาติทั้งทางด้านชีวิตและทรัพย์สิน เกือบ 1 ล้านคนทั่วโลกต้องสังเวยชีวิตให้กับเชื้อไวรัสนี้ ไม่เพียงเท่านั้น มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลแต่ละประเทศนำมาใช้เพื่อควบคุมการระบาดได้ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดนิ่ง จากการคาดการณ์โดย IMF เศรษฐกิจโลกมีโอกาสติดลบถึง 5%
เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ปัญหาอื่นๆ จึงตามมา ไม่ว่าจะเป็นการว่างงาน อาชญากรรม การฆ่าตัวตาย รวมไปถึงการเร่ร่อนไร้ที่อยู่อาศัย เมื่อรวมปัญหาหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน นักวิจัยจึงได้คาดการณ์ไว้ว่า เศรษฐกิจที่ชะลอตัวนี้อาจทำให้ ‘คนจน’ ในโลกเพิ่มขึ้นกว่า 500 ล้านคน ชะลอเป้าหมาย ‘โลกที่ปลอดคนจน’ ที่องค์การสหประชาชาติตั้งไว้ว่าจะสำเร็จในปี ค.ศ.2030
ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการลดความยากจนในช่วงปลายสิบปีที่ผ่านมา กระสุนหลักก็คือ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง (sustained growth) ผ่านนโยบายการผลิตเพื่อการส่งออก (export orientation) ขณะที่การทำเกษตรแบบดั้งเดิมก็ค่อยๆ ลดลงตามกาลเวลา
ในช่วง 20–30 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างประเทศของไทยถูกขับเคลื่อนด้วยห่วงโซ่การผลิตข้ามชาติ (global value chains) ซึ่งเป็นรูปแบบและขบวนการผลิตสินค้าที่แทนที่จะผลิตทุกอย่างในประเทศเฉกเช่นที่ทำมา ก็แบ่งแยกออกเป็นงาน (slide/task) ย่อย ๆ และกระจายการผลิตไปในประเทศต่างๆ และนำมารวมกัน (final assembly) ใครถนัดผลิตอะไรก็ผลิตสินค้าชนิดนั้นไป GVCs ยังรวมถึงขั้นตอนของการออกแบบและพัฒนาสินค้า บรรจุภัณฑ์ และการขนส่ง
สมมติว่าจะผลิตรถจักรยานสักหนึ่งคัน อานอาจจะผลิตในจีน เบรกทำในญี่ปุ่น ล้อผลิตในจีน และสุดท้ายมาประกอบกันที่ไต้หวัน สินค้าอุตสาหกรรมไทยที่เข้าร่วมใน GVCs ก็เช่น ฮาร์ดดิสก์ และชิ้นส่วนยานยนต์ (เชื่อหรือไม่ว่า ชิ้นส่วนเล็กๆ และถาดอาหารในเครื่องบินก็ถูกผลิตโดยบริษัทคนไทย) เศรษฐกิจไทยยังพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลัก ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านคน ทำรายได้เข้าประเทศเกือบปีละ 2 ล้านล้านบาท ต้นปี พ.ศ.2563 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2563 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยทะลุ 40 ล้านคน สร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยทะลุ 3 ล้านล้านบาท
การค้าขายกับต่างชาติและการท่องเที่ยว
ได้เปลี่ยนสภาพเศรษฐกิจและสังคมของไทยไปโดยสิ้นเชิง
จากประเทศที่เรียกได้ว่ายากจนที่สุดในโลกในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายมาเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลกในช่วงปี พ.ศ.2531-2534 คนจนเกือบครึ่งค่อนประเทศก็ลดลงเหลือเพียงหยิบมือ ส่งผลชนชั้นกลางในไทยขยายใหญ่ขึ้น แข็งแรงขึ้น มีหน้ามีตาเทียบครอบครัวอำมาตย์
แต่ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะโรยไปด้วยกลีบกุหลาบ มรดกของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบไทยๆ ก็คือ ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย และการพัฒนาที่กระจุกอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างภูมิภาค (ซึ่งบ้างก็ว่า ความเหลื่อมล้ำทางภูมิภาคนี้เองที่เป็นชนวนให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง เสื้อเหลือง เสื้อแดง) จริงอยู่ที่สังคมไทยไม่มีวรรณะ ไม่มีแบ่งแย่งสีผิว แต่สุดท้าย ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจก็แบ่งแยกคนด้วยเงินในกระเป๋า ด้วยนามสกุล หรือด้วยที่จอดรถ supercar ในห้าง ที่เป็นหลักฐานชิ้นดีของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย (แน่นอนว่าข้อแก้ตัวเรื่องที่จอดรถ ก็คงหนีไม่พ้น เรื่องของความปลอดภัย ซึ่งก็แปลกประหลาดดีที่ความปลอดภัยมีค่าตามราคาของรถที่ใช้)
การพัฒนาเศรษฐกิจแบบไทยๆ ที่คนยากจนลดลง แต่ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำก็เพิ่มขึ้นนี้ ก็มาสะดุดลงด้วยการระบาดของ COVID-19 ที่ไทยถือว่าได้รับผลกระทบถือ 2 เด้ง เด้งแรกคือ เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออก การส่งออกคิดเป็น 60% ของ GDP ในขณะที่โลกเข้าสู่ช่วง ‘deglobalisation’ ในช่วง COVID-19 กระแส protectionism ก็เบ่งบานทั่วโลก แต่ละประเทศปิดประตูการค้า หันมาพึ่งพาการผลิตของตัวเอง เด้งสองคือ การท่องเที่ยว การปิดน่านฟ้าและปิดพรมแดน ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวหดหาย ธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารต้องปิดตัว พนักงานก็ถูกปลดออก หรือที่ไร้ศีลธรรมที่สุดคงหนีไม่พ้น leave without pay ที่ก็ไม่รู้มีกฎหมายฉบับไหนรองรับให้ทำได้
โจทย์สำคัญก็คือว่า แล้วจะทำอย่างไรให้กระบวนการลดความยากจน ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป ทั้งที่ไม่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่มีรายได้จากการท่องเที่ยว และการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว ความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยากจน และความเหลื่อมล้ำนี้ ไม่ได้มีอะไรสลับซับซ้อน ถ้าเศรษฐกิจมีการเติบโต และความเหลื่อมล้ำมันไม่ได้แย่มาก (ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า จริงๆ แล้ว การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นจริงๆ หรือเปล่า) ความยากจนก็ต้องลดลงเป็นธรรมชาติของมัน
แต่ในช่วง COVID-19 ที่เศรษฐกิจจะไม่เติบโต (หรือติดลบด้วยซ้ำ) ความยากจนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เว้นเสียแต่ว่า เราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน การลดความเหลื่อมล้ำจึงทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการลดความยากจนในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง รัฐบาลสามารถใช้โอกาสนี้ปฏิรูปโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทบทวนการลดหย่อนนับร้อยรายการที่เอื้อต่อเศรษฐีและผู้แสวงหากำไรในตลาดหุ้นที่ร่ำรวยอย่างฉาบฉวย แต่ไม่สร้างมูลค่า ไม่สร้างการจ้างงานในตลาดหุ้น หรือใช้โอกาสนี้ รื้อระบบการศึกษาและสาธารณสุข ให้คนจนเข้าถึงบริการของรัฐได้มากขึ้น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชนชั้นกลาง และทำให้เศรษฐกิจเดินต่อไปได้
คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หากรัฐบาลจะหันมาให้ความสนใจกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางได้รายได้ ทรัพย์สิน ที่ดิน การศึกษา และสุขภาพ อย่างจริงๆ จังๆ แทนที่จะปล่อยให้ภารกิจลดความเหลื่อมล้ำเป็นแค่คำสร้อย ประดับสุนทรพจน์ ไพเราะแต่ไร้ความหมาย