คุณเชื่อไหมครับว่า บทความที่คุณกำลังอ่านอยู่ตอนนี้ประมาณ 80 เปอร์เซนต์เขียนโดยหุ่นยนต์ ส่วนผมมีหน้าที่ช่วยอีดิตเท่านั้นเอง !!!
พูดเล่นครับ บทความนี้ยังเขียนโดยคนอยู่ แต่อีกไม่นานหรอกครับที่หุ่นยนต์จะเขียนบทความให้เราอ่านจริงๆ
ผมใช้คำว่า ‘อีกไม่นาน’ ไปอย่างนั้นแหละครับ เพราะเรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นแล้วแบบเงียบๆ
Martin Ford นักเทคโนโลยีศึกษาเล่าไว้ในหนังสือเล่มใหม่ของเขาเรื่อง ‘Rise of the Robots : Technology and the Threat of a Jobless Future’ ว่า ปัจจุบันสำนักสื่อเป็นจำนวนมาก รวมถึงสื่อชื่อดังอย่าง Forbes ได้ทดลองใช้โปรแกรมชื่อ Quills เขียนข่าวและบทความแล้ว แต่ยังไม่เป็นที่เปิดเผยมากนัก ณ สมรรถนะปัจจุบันอัลกอริธึ่มของ Quills สามารถเขียนข่าวใหม่ได้ทุกๆ 30 วินาที โดยบทความสามารถอ่านรู้เรื่อง หลักไวยากรณ์ถูกต้อง และมีข้อมูลสนับสนุนแม่นยำชัดเจน
ยิ่งไปกว่านั้น Quills กำลังถูกพัฒนาให้สามารถเขียนรายงานและบทวิเคราะห์ได้อีกด้วย โดยความสามารถพิเศษของ Quills คือการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่และหลากหลาย เช่น ข้อมูลการขาย รายงานและบทวิเคราะห์ฉบับก่อนๆ เว็บไซต์ และพฤติกรรมของผู้คนบนโลกออนไลน์ Narrative Science Inc. ผู้พัฒนาโปรแกรมอ้างว่า ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันบทความสามารถในการวิเคราะห์และเชื่อมโยงของ Quills ไม่ได้เป็นรองมนุษย์แต่อย่างใด ทว่า Quills สามารถอัพเดตข้อมูลจำนวนมหาศาลในทุกวินาที และสามารถผลิตรายงานใหม่ๆ ได้ทันทีที่ผู้ใช้ต้องการ ว่ากันว่า หน่วย CIA ของสหรัฐอเมริกาทดลองใช้ Quills ในการย่อยข้อมูลดิบที่ถูกส่งมาจากสายลับทั่วโลกให้อยู่ในรูปแบบรายงานอ่านง่ายแล้ว
ว่ากันว่า ในอีก 15 ปีข้างหน้า หุ่นยนต์จะเป็นผู้เขียนบทความเชิงข่าวราวๆ 90 เปอร์เซ็นต์ของข่าวที่อยู่ในสื่อทั้งหมดทั้งหมด
สำหรับคนที่ต้องทำอาชีพเขียนรายงานและบทความอย่างผม (อย่างบทความสั้นๆ นี้ใช้เวลา 1-2 วัน ไม่นับว่าผมส่งงาน บก.ช้าเป็นอาทิตย์) เทคโนโลยีนี้ช่างน่าทึ่งและน่ากลัวไปพร้อมๆ กัน
ที่น่าทึ่งคงไม่ต้องขยายความกันมาก แต่ที่น่ากลัวเป็นเพราะว่า ขนาด ‘งานเขียน’ ที่มักถูกมองว่าเป็นทักษะเฉพาะของ ‘คนที่มีความรู้’ และดูเป็นงานที่เครื่องจักรไม่น่าจะทำแทนมนุษย์ได้ ก็ยังมิอาจต้านทานความล้ำหน้าของเทคโนโลยีได้
และไม่ใช่แต่งานเขียนเท่านั้นหรอกนะครับที่อาจถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร อาชีพที่ต้องใช้ความรู้อย่างเข้มข้นอีกหลายอาชีพกำลังถูกทดแทนด้วยโปรแกรมและเครื่องจักรเช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ทุกวันนี้โปรแกรมที่ใช้อ่านฟิล์มเอกซเรย์แทนแพทย์รังสีวิทยา (radiologist) ได้ถูกพัฒนาจนกระทั่งสามารถวิเคราะห์ฟิลม์เอกซเรย์ได้อย่างแม่นยำ โดยแทบไม่ต้องใช้มนุษย์เลยด้วยซ้ำ อีกตัวอย่างที่มหัศจรรย์อย่างยิ่งสำหรับผมคือ อัลกอริธึ่มที่สามารถตรวจและให้คะแนนเรียงความระดับมัธยมได้ใกล้เคียงกับครูที่มีประสบการณ์ในการสอนมาอย่างยาวนานเป็นผู้ตรวจ
แม้แต่ศาสตร์ทางดนตรีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่ของศิลปิน ไอ้เจ้าเครื่องจักรก็ยังอุตสาห์รุกล้ำเข้ามาได้ แถมยังได้รับการยอมรับจากนักดนตรีชั้นนำอีกด้วย หมุดหมายสำคัญในเรื่องนี้คือ การเที่วงดนตรีระดับโลกอย่างลอนดอนซิมโฟนี ออร์เคสตร้าได้บรรเลงบทเพลงชื่อ Transits—Into an Abyss ซึ่งเป็นเพลงที่แต่งโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ล้วนๆ
ยังมีตัวอย่างอีกเยอะเลยนะครับที่บอกเราว่า เครื่องจักรหรือคอมพิวเตอร์เข้าไปทำงานในพื้นที่ที่เคยเชื่อกันว่ามีแต่มนุษย์ (ผู้ปราดเปรื่อง) เท่านั้นที่ทำได้ คุณผู้อ่านเองก็น่าจะเห็นข่าวทำนองนี้อยู่บ้าง และน่าจะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต
ในโลกของธุรกิจ เรื่องนี้โคตรจะสำคัญเลยหละครับ โดยเฉพาะถ้าเรามองเรื่องนี้จากมุมของต้นทุนการผลิต ‘คนเก่ง’ สักคนหนึ่ง ลองคิดดูสิครับว่า กว่าที่นักเรียนแพทย์ หรือคนเขียนเพลงจะเรียนจบมาคนหนึ่งนี่ต้องใช้ทรัพยากรเท่าไหร่ ไม่นับว่า ต้องใช้เวลาฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกแค่ไหนจึงจะได้ชื่อว่าเป็น ‘คนเก่ง’
ที่โหด(สัส)ไปกว่านั้นคือ เครื่องจักรทำงานได้ไม่มีเหนื่อยครับ แพทย์รังสีวิทยาคนหนึ่งให้ขยันเท่าไหร่ ทั้งชีวิตก็คงตรวจคนฟิล์มคนไข้ได้ไม่ถึง 150,000 คน (ทำงาน 40 ปี ตรวจทุกวัน วันละ 10 คน…ห้ามขาด!!) แต่สำหรับเจ้าอัลกอริธึ่มที่ว่านี่ การตรวจฟิลม์คนไข้ 1,000,000 คนนี้เป็นเรื่องจิ๊บๆ หรือคนอาชีพอย่างพวกผมนี่ให้เทพแค่ไหนทั้งชีวิตก็เขียนได้ไม่เกิน 25,000 ชิ้นหรอกครับ (เขียนทุกวัน วันละ 2-3 ชิ้น ทุกวัน เป็นเวลา 50 ปี…ห้ามขาด) แต่เจ้า Quills ใช้เวลาแค่ 8 วันก็ผลิตงานจำนวนที่ว่าได้แล้ว (แบบไม่เลทด้วย)
นี่ยังไม่พูดถึงว่า ความเร็วและความแรงของเครื่องจักรเหล่านี้ยังไม่ถึงขีดจำกัดของพวกมันนะครับ แต่ศักยภาพของมนุษย์เรานี่ ถ้ายังไม่ถึงขีดจำกัด ก็คงปริ่มๆ แล้วหละ
เพราะอย่างนี้บรรดากูรูด้านเทรนด์ทั้งหลายจึงทำนายทายทักว่า จำนวนผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะมีแค่คนระดับหัวกะทิไม่กี่คนเอาไว้ตรวจงานที่เครื่องจักรทำเท่านั้น
ดูเผินๆ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะที่ผ่านมาเครื่องจักรก็ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้นๆ มาโดยตลอด แต่จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ส่งผลสะเทือนอย่างยิ่งต่อมนุษย์และสังคมเลยหละครับ เพราะมันเปลี่ยนความสัมพันธ์พื้นฐานที่สุดระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร
เดิมเราเชื่อกันว่า เครื่องจักรเป็นเครื่องมือที่มนุษย์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการทำงาน ซึ่งมันก็เป็นแบบนั้นมาตลอดประวัติศาสตร์ ตั้งแต่คนรุ่นโคตรปู่ของปู่รู้จักใช้ขวานหินล่าสัตว์ จนถึงคนรุ่นพวกเราที่ใช้สมาร์ทโฟนตามล่าโปเกมอน
ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องจักรและมนุษย์แบบที่ว่า โดยรวมๆ ต้องบอกว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ ‘สุขภาพดี’ ไม่น้อยเลยทีเดียวนะครับ เพราะเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นย่อมหมายความว่า มนุษย์เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย และนั่นทำให้เรามีคุณค่า (ทางเศรษฐกิจ) เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
กระนั้น มันก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่ ‘เพอร์เฟกต์’ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
เดิมนั้นเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้ามากขึ้นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมักจะเป็นแรงงานไร้ฝีมือราคาถูก เพราะลักษณะงานของคนกลุ่มนี้มักถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักรได้ง่าย ทางเลือกทางรอดของคนที่ไม่อยากตกงานคือหาความรู้เพิ่มเติมและพัฒนาทักษะใหม่ๆ ที่เครื่องจักรไม่สามารถทำงานแทนได้ (ซึ่งในสังคมสมัยใหม่ก็คือการเข้าสู่ระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ) เมื่อคนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเศรษฐกิจก็เติบโต เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่มากดดันแรงงานอีกรอบ คนที่ไม่อยากตกงานก็ต้องพัฒนาตัวเองขึ้นไปอีก เกิดเป็นวงจรวนไปอย่างนี้เรื่อยๆ
แต่วงจรแบบนี้กำลังถูกทำลายลง เมื่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีกำลังสั่นคลอนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักรอย่างรุนแรง เครื่องจักรเริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ในการผลิตและการทำงานในทุกมิติอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน, แทนที่จะทำงานควบคู่กับมนุษย์เหมือนที่ผ่านมา
พูดอีกอย่างคือ แรงงานมนุษย์จะกลายเป็นส่วนเกินในการทำงานและการผลิตในเศรษฐกิจยุคใหม่ คนรุ่นถัดไปจะมีจำนวนแค่หยิบมือเดียวที่หางานได้ ส่วนที่เหลือเครื่องจักรแย่งทำไปหมดแล้ว ทั้งๆ ที่เรียนหนังสือจบสูงกันซะเป็นส่วนใหญ่
โลกอนาคตจึงเป็นโลกที่โคตรยาก แต่ก็เป็นโอกาสสำหรับคนที่เตรียมพร้อม
คำถามคือ พวกเราเตรียมพร้อมกันแค่ไหน!!!