หุ่นยนต์คือภาพจินตนาการที่มีให้เห็นผ่านสื่อบันเทิงมาตลอด โดยเฉพาะในวงการอนิเมชั่นของญี่ปุ่น
แต่ถ้าจะให้พูดถึงการ์ตูนหุ่นยนต์ทุกเรื่องไปเลยอาจจะมีจำนวนมากไปสักนิดหนึ่ง เพราะถ้านับเฉพาะคำว่า ‘หุ่นยนต์’ เฉยๆ ก็จะมีการ์ตูนอย่าง เจ้าหนูอะตอม หรือ ร็อคแมน ที่เป็นหุ่นยนต์แต่มีความนึกคิดและจิตใจเหมือนมนุษย์ หรือ Ghost in the Shell ที่ตัวเอกอยู่ในสภาพไซบอร์ก ก่อนจะกลายเป็นหุ่นยนต์ทั้งหมดแต่สมองยังมีความเป็นมนุษย์อยู่ และเมื่อพูดถึงอีกกลุ่มหุ่นยนต์ที่สำคัญ ก็คงจะเป็นหุ่นยนต์ขนาดใหญ่อย่างในขบวนการห้าสีซูเปอร์เซนไทต่างๆ หรือใน Gundam นั่นเอง
The MATTER ชวนไปสัมผัสความยิ่งใหญ่ของเหล่าหุ่นยนต์ไซส์บิ๊กในอนิเมชั่นญี่ปุ่นที่เน้นให้หุ่นยนต์ยักษ์เป็นตัวละครหลักหรือเป็นจุดเด่นของเรื่อง และมีความสำคัญต่อวงการการ์ตูนในญี่ปุ่น รวมถึงบางเรื่องที่คนไทยหลายคนอาจจะคุ้นเคย แต่จะไม่นับหุ่นยนต์ขบวนการห้าสีที่ตัวคนแสดงจริงๆ นั้นดูจะมีบทบาทมากกว่า หรือเรื่อง Magic Knight Rayearth ที่ตัวหุ่นออกมาตอนท้ายเรื่องมากๆ
Tetsujin 28-go
ออกทำการครั้งแรกใน 1956
ถ้านับแค่การ์ตูนที่มี ‘หุ่นยนต์’ เป็นตัวเอก เราคงต้องยกให้ เจ้าหนูอะตอม ของ เท็ตสึกะ โอซามุ ปรมาจารย์แห่งการ์ตูนของญี่ปุ่น แต่ถ้าเป็นหุ่นยักษ์เรื่องแรกก็ต้องยกให้ผลงานของอาจารย์โยโกยามะ มิทสึเทรุ อย่างหุ่นเหล็กหมายเลข 28 นี่ล่ะ
เรื่องราวของหุ่นเหล็กหมายเลข 28 เริ่มขึ้นในช่วงท้ายของสงคราม ศาสตราจารย์คาเนดะได้สร้างหุ่นยนต์ยักษ์เอาไว้หมายว่าจะให้เป็นอาวุธลับพลิกสถานการณ์ แต่สงครามได้จบลงก่อนหุ่นจะสร้างเสร็จ จนกระทั่งหลังสงครามศาตราจารย์คาเนดะได้เสียชีวิตลง จึงได้ฝากลูกชาย โชทาโร่ คาเนดะ ไว้กับศาสตราจารย์ชิกิชิมะที่เป็นลูกศิษย์ให้ดูแล ทว่าหุ่นดังกล่าวก็มีพลังมากจนเหล่าร้ายพยายามนำมันไปใช้งาน ทำให้หุ่นออกมาอาละวาดอยู่ระยะหนึ่ง จนกระทั่งศาสตราจารย์ชิกิชิมะสามารถสร้างรีโมตคอนโทรลให้โชทาโร่ใช้บังคับหุ่นยักษ์สำเร็จ การต่อสู้กับเหล่าร้ายจึงเริ่มต้นขึ้น
ถึงจะคลาสสิกแต่พล็อตของเรื่องนี้ก็ยังแฝงประเด็นเชิงสังคมที่น่าสนใจว่า อย่างการที่ตัวหุ่นเหล็กหมายเลข 28 แม้จะแข่งแกร่งสุดๆ แต่ถ้าใครได้ครอบครองรีโมตคอนโทรลก็สามารถใช้งานมันได้ หรือเป็นนัยแฝงว่า ‘อาวุธ’ ถ้าอยู่ในมือผิดคนก็อันตรายต่อคนหมู่มากอยู่ดี ซึ่งภายหลังอาจารย์โยโกยามะ ก็เขียนเรื่อง ไจแอนท์โรโบ ที่ปรับพล็อตให้เฉพาะพระเอกเท่านั้นที่ขับหุ่นได้ออกมาอีกเรื่องหนึ่ง
หุ่นเหล็กหมายเลข 28 ได้รับความนิยมตั้งแต่แรกเริ่มที่ตีพิมพ์เป็นฉบับหนังสือการ์ตูนในญี่ปุ่น แถมยังได้รับความนิยมยิ่งขึ้นเมื่อถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นในปี 1963 ทั้งยังถูกนำไปฉายในอเมริกาแต่ดัดแปลงเนื้อเรื่องให้กลายเป็นโลกหลังยุค 2000 กับปรับชื่อหุ่น เป็น Gigantor แทน ความนิยมที่มากล้นนี้ก็จุดประกายให้นักเขียนรุ่นหลังสร้างการ์ตูนหุ่นยักษ์ออกมาในภายหลัง รวมถึงมีการรีเมคตัวหุ่นเหล็กหมายเลข 28 ทั้งในแบบมังงะ อนิเมะ และละครทีวี ในปัจจุบันนี้่ก็มีรูปปั้นของหุ่นเหล็กหมายเลข 28 สูง 18 เมตร เท่าสเกลในเรื่อง ตั้งในอยู่ในเมืองโกเบ ซึ่งถูกสร้างขึ้นในวาระครบรอบ 15 ปี กรณีเกิดเหตุธรณีพิบัติครั้งใหญ่ในโกเบจนชาวญี่ปุ่นออกมารวมใจอย่างแข็งแกร่งเหมือนหุ่นเหล็ก
อีกส่วนที่การ์ตูนเรื่องนี้สร้างอิทธิพลโดยอ้อมก็คือ การเกิดคำคะนอง ‘โชตะคอน’ (Shotacon) ในกลุ่มผู้เสพการ์ตูนญี่ปุ่น ที่เป็นการย่อมาจากคำว่า Shotaro Complex และใช้เรียกกลุ่มคนที่นิยมตัวละครเด็กชายในการ์ตูน เนื่องจากตัวโชทาโร่ในหุ่นเหล็กหมายเลข 28 ใส่กางเกงขาสั้นโชว์เรือนขาของเจ้าตัวซะหนักหน่วงนั่นเอง
Mazinger Z
ออกทำการครั้งแรกในปี 1972
คาบูโตะ โคจิ เด็กหนุ่มผู้รับช่วงต่อ มาชินก้า Z หุ่นยนต์ยักษ์ที่ “เป็นได้ทั้งพระเจ้าและปิศาจ” ที่สร้างจากสุดยอดโลหะผสม Z มีอาวุธที่หลากหลายอย่างการปล่อบแสงโฟตอนจากลูกตา ปล่อยหมัดจรวด ฯลฯ มาจากปู่ที่แอบสร้างหุ่นยนต์ยักษ์ตัวนี้ไว้อย่างลับๆ ต่อมาโคจิได้นำเอาหุ่นยักษ์ตัวนี้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยพลังงานโฟตอนเข้าต่อสู้กับกับกองกำลังจักรกลของ ดร.เฮล ที่หมายจะเข้ายึดครองโลก
แม้ว่า มาชินก้า Z จะไม่ใช่เรื่องแรกในกลุ่มตระกูลหุ่นยนต์ยักษ์ แต่น่าจะถือได้ว่าเป็นเรื่องที่สร้างอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่นมากที่สุด อย่างตัวอนิเมชั่นภาคดั้งเดิมก็กวาดเรตติ้งได้สูงถึง 30.4% ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ใครต่อใครก็อยากจะสร้างหุ่นยักษ์ตัวใหม่เพื่อเกาะกระแสความสำเร็จ ตัวอนิเมชั่นของ มาชินก้า Z เองก็มีภาคต่อ ทั้ง เกรทมาชินก้า หรือการ์ตูนหุ่นภาคข้างเคียงอย่าง เกรนไดเซอร์ ก็ตามออกมาในภายหลัง ก่อนจะมีอนิเมชั่นภาคตีความใหม่ออกมาอีกหลายต่อหลายภาค อย่างตัวภาพยนตร์ Mazinger Z: Infinity ที่เข้าฉายในบ้านเราช่วงนี้ ก็ถือว่าเป็นเนื้อเรื่องต่อจากเกรนไดเซอร์ด้วย
อาจารย์นากาอิ โก ผู้เขียนหนังสือการ์ตูนต้นฉบับเคยให้สัมภาษณ์ว่าตัวเขาเองได้รับแรงบันดาลใจมาจาก เจ้าหนูปรมาณู กับหุ่นเหล็กหมายเลข 28 ในภายหลังตัวอาจารย์เองก็ทำการเขียนการ์ตูนทั้งภาคต่อและภาคตีความใหม่อยู่หลายครั้ง และในระยะหลังก็เริ่มให้นักเขียนท่านอื่นมาทำการตีความมาชินก้า Z อีกด้วย ตัวอย่างเช่น Shin Mazinger Zero ที่ตีความไปไกลว่า หากมาชินก้า Z สามารถควบคุมความเป็นไปของห้วงมิติและกาลอวกาศได้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งขออนุญาตไม่สปอยล์เพิ่มเติม
มาชินก้า Z ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ชมทั่วโลก ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ ก็คือ Guillermo Del Toro ที่ปลื้มปริ่ม มาชินก้า Z (กับหนังสัตว์ประหลาด) จนเป็นแรงบันดาลใจในการสร้าง Pacific Rim ภาคแรก ซึ่งในหนังเรื่องดังกล่าว หุ่นยนต์ยักษ์ Gypsy Danger มีทั้งหมัดจรวด มีทั้งปล่อยไอเย็นแช่แข็ง แล้วก็ปล่อยแสงออกจากหน้าอก ที่เห็นได้ชัดแจ้งว่าแรงบันดาลใจมาเต็มจากหุ่น Z อย่างแน่นอน
Getter Robo
ออกทำการครั้งแรกในปี 1972
หลังจากอาจารย์นากาอิ โก ส่ง มาชินก้า Z ให้ฮิตติดลมบนแล้ว อาจารย์นากาอิก็ร่วมมือกับคู่หูของในบริษัท Dynamic Productions อาจารย์อิชิคาวะ เคน สร้างการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องใหม่ที่เกาะกระแสความนิยมของสื่อบันเทิงสำหรับเด็กที่ได้เปลี่ยนไปเล็กน้อยจากการมาถึงของเหล่าฮีโร่แปลงร่าง และสุดท้ายพวกเขาก็สร้างหุ่นยนต์ยักษ์รวมร่างเรื่องแรก – เก็ตเตอร์โรโบ
เรื่องมีอยู่ว่า สถาบันวิจัยซาโอโตเมะพบว่ามีอาณาจักรไดโนเสาร์ซ่อนตัวอยู่ในพื้นโลกและหมายจะกลับมาครองพื้นพิภพอีกครั้ง แต่เผ่าพันธุ์เหล่านี้หวาดกลัวรังสีเก็ตเตอร์ ศาสตราจารย์ซาโอโตเมะจึงดัดแปลงยานสามลำที่เดิมตั้งเป้าไว้ใช้สำหรับสำรวจอวกาศ ให้กลายเป็นยานอีเกิล ยานจากัวร์ และยานแบร์ ซึ่งยานเหล่านี้ใช้พลังงานเก็ตเตอร์ในการขับเคลื่อนและทำให้สามารถรวมร่างเป็น เก็ตเตอร์โรโบ และการรวมร่างนั้นก็สามารถทำได้สามแบบสามสไตล์ตามความเหมาะสมในการใช้งาน
ตัวอนิเมชั่นถูกวางแผนให้ออกฉายในระยะใกล้ๆ กันกับช่วงวางขายฉบับหนังสือการ์ตูน และแน่นอนว่าได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม แม้ว่าในฉบับอนิเมชั่นจะเน้นดราม่าของทีมนักบิน แต่ในฉบับหนังสือการ์ตูนจะมีฉากแอ็กชั่นรุนแรงอย่างชัดเจน เก็ตเตอร์โรโบได้รับความนิยมอย่างมากจนมีภาคต่อโดยตรงอย่าง เก็ตเตอร์โรโบ จี ออกมาในปี 1975 จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปออกหนังโรงคู่กับเกรทมาชินก้า และมีโอกาสได้สร้างภาคต่อทั้งในแบบ มังงะ อนิเมชั่น นิยาย ฯลฯ อีกหลายต่อหลายภาค รวมถึงยังเป็นแรงบันดาลใจให้หลายต่อหลายคนมาจนถึงปัจจุบัน
Chodenji Robo Combattler V
ออกทำการครั้งแรกในปี 1976
แค่สามลำมันอาจจะน้อยไป ในการ์ตูนรื่องนี้เลยจัดเต็มไปเลยห้าลำรวมร่างกลายเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ตัวเดียว โดยคอนเซ็ปต์ที่ว่ามาจากการที่หุ่นรวมร่างแบบเก็ตเตอร์โรโบนั้นเป็นที่นิยมก็จริง แต่กลับขายของเล่นได้ยาก คอมแบทเลอร์ วี จึงออกแบบด้วยการคิดไว้สำหรับการทำของเล่นแต่เริ่ม ในขณะเดียวกันก็คงความเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ทรงพลังเหมือนอย่าง Yusha Raideen ที่เป็นผลงานดังก่อนหน้านี้
คอมแบทเลอร์ วี เดินเรื่องด้วยการใช้หุ่นพลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ที่ทำการต่อสู้กับเหล่าของดาวแคมเบลล์ที่ถูกส่งมาเพื่อยึดครองดาวดวงอื่นๆ อาวุธส่วนหนึ่งของตัวหุ่นคอมแบทเลอร์ วี มาจากการละเล่นของเด็กญี่ปุ่น และมีท่าไม้ตายสุดยอดเป็น โชเด็นจิสปิน (ท่าควงสว่างสุดยอดคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ที่เจาะทะลวงร่างกายของศัตรู
ด้วยความที่วางแผนมาค่อนข้างดี ทั้งการเดินเรื่องที่จริงจังและหุ่นที่สามารถขายของเล่นได้จริงๆ การ์ตูนเรื่องนี้จึงได้รับความนิยมพอสมควร จนมีการสร้างการ์ตูนอีกสองเรื่องที่ยังคงพล็อตการต่อสู้กับเผ่าต่างดาวที่มีดราม่าปนอยู่ และใช้ผู้กำกับคนเดิม นากาฮาม่า ทาดาโอะ (Nagahama Tadao) ซึ่งก็คือเรื่อง โวลเทส ไฟว์ (Voltes V) กับ ไดมอส (Tosho Daimos) ที่ภายหลังถูกเรียกรวมกันว่า Nagahama’s Robot Romance Trilogy
คอมแบทเลอร์ วี ยังส่งผลต่อการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ยุคหลังที่เริ่มแคร์เรื่องการออกแบบหุ่นให้สามารถทำของเล่นได้ ซึ่งเชื่อกันว่าการที่หุ่นยนต์รวมร่างของกลุ่มซูเปอร์เซนไทที่่แยกขายเป็นลำๆ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากการ์ตูนเรื่องนี้เช่นกัน
Mobile Suit Gundam
ออกทำการครั้งแรกในปี 1979
หลังจากการ์ตูนหุ่นเริ่มเต็มตลาดจนกลายเป็นธุรกิจ ‘โฆษณาของเล่นรายสัปดาห์’ แล้ว ผู้กำกับอนิเมชั่นที่ชื่อ โทมิโนะ โยชิยูกิ ได้ตัดสินใจสร้างผลงานเรื่องหนึ่งที่ในตอนแรกเกือบจะเป็นเรื่องที่ล้มเหลว ก่อนจะพลิกกลับมาเป็นก้าวใหม่ของอุตสาหกรรมการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ และทำให้เกิดการแยกกลุ่มหุ่นยนต์ เป็นกลุ่ม ซูเปอร์โรบอต (super robot) กับกลุ่มเรียลโรบอต (real robot) การ์ตูนดังเรื่องนั้นก็คือ โมบิลสูทกันดั้ม
กันดั้ม เล่าเรื่องโลกในอนาคตที่มนุษย์เริ่มตั้งอาณานิคมนอกโลกจนถึงจุดที่ชาวอาณานิคมเชื่อว่าพวกเขากำลังถูกสหพันธ์โลกเอาเปรียบ และเริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มราชรัฐซีอ้อนก่อสงครามกับโลกด้วยการใช้อาวุธที่มีเทคโนโลยีเหนือชั้นอย่างโมบิลสูท ทำให้สหพันธ์โลกตกอยู่ในภาวะเสียบเปรียบจนต้องพัฒนา กันดั้ม หุ่นรุ่นใหม่มาต้านทาน ทว่ากันดั้มกลับได้เด็กหนุ่มอินโทรเวิร์ตอย่าง อามุโร่ เรย์ มาเป็นนักบิน และทางซีอ้อน ก็มี ชาร์ อัสนาเบิล หรือดาวหางสีแดงออกมาไล่ล่าหุ่นรุ่นใหม่ตัวนี้ แล้วการมาถึงของหุ่นเพียงตัวเดียวก็กลายเป็นชนวนที่อาจจะทำให้สงครามสิ้นสุดลง
หากเทียบกับการ์ตูนหุ่นรุ่นก่อนหน้าที่อาจจะแฝงปรัชญาบางอย่างไว้บ้างแต่ก็ยังมีส่วนที่เด็กดูได้สบายๆ อยู่ แต่ตัวผู้กำกับโทมิโนะที่อยากจะผลักดันให้การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ที่มีเนื้อเรื่องสำหรับผู้ใหญ่มากขึ้น อย่างที่เขาเคยทำไว้กับอนิเมชั่นเรื่อง ซัมบอต 3 (Zambot Three) ที่ฉากจบนั้นกลายเป็นเชิงโศกนาฎกรรม พอมาถึงกันดั้มเขาก็โฟกัสเรื่องให้ผู้ใหญ่ยิ่งขึ้น การต่อสู้ในเรื่องเกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง แถมยังมีความแค้นระหว่างบุคคลแอบแฝงอยู่มาก ทำให้ผู้ชมของเรื่องนี้กลายเป็นกลุ่มเด็กวัยรุ่นจนถึงวัยทำงาน แทนที่จะเป็นกลุ่มเด็กอย่างที่การ์ตูนเคยเป็นมา
หลังจากนั้นกันดั้มก็วนเวียนอยู่ในสงครามยุคศักราชอยู่หลายภาค ก่อนจะปรับเปลี่ยนรูปแบบและทำให้กันดั้มได้รับความนิยมข้ามยุคข้ามสมัย ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วโลกจนสามารถสร้างหุ่นยนต์ยักษ์ขนาดเท่าตัวจริงเป็นแลนด์มาร์กที่เกาะญี่ปุ่นได้ ส่วนที่ฟังดูน่าจะเป็นเรื่องตลกร้ายสักหน่อยก็คงเป็นเรื่องในปัจจุบันนี้ของเล่นกันดั้มกลายเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมสูง สวนทางจากการที่ตอนแรกถูกสร้างขึ้นมาโดยหวังจะสวนกระแสการ์ตูนขายพ่วงของเล่นไปโดยปริยาย
Hyaku Juo GoLion
ออกทำการครั้งแรกในปี 1981
ว่ากันจริงๆ โกไลอ้อน ถือว่าเป็นการตามเทรนด์การ์ตูนหุ่นยนต์รวมร่างในช่วงยุค 1970-1980 ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นเกินกว่าปกติเป็นพิเศษครับ แต่เพราะเกิดอุบัติเหตุประการหนึ่ง จึงทำให้การ์ตูนเรื่องนี้เป็นที่จดจำในตลาดโลกไปเสียอย่างนั้น
โกไลอ้อน เล่าเรื่องในปี 1999 ที่นักบินอวกาศได้เดินทางกลับมาโลกและพบว่าโลกได้ทรุดโทรมไปจากสงครามโลกครั้งที่สาม แล้วทั้งห้าคนก็ถูกมนุษย์ต่างดาวจักรวรรดิกัลร่าจับตัวไปขังที่ดาวอื่น ซึ่งสุดท้ายนักบินอวกาศทั้งห้าก็หลบหนีไปถึงดาวอัลเทีย และได้พบกับราชวงศ์ของดาวดวงนั้น และได้รับรู้ตำนานหุ่นเทพพิทักษ์ รูปทรงสิงโตห้าตัว (แต่หน้าเหมือนเสือนะ) ที่สามารถรวมร่างเป็นหุ่นยนต์ยักษ์ โกไลออ้อน ผู้เป็นความหวังสุดท้ายของจักรวาล
อย่างที่บอกไป พล็อตของเรื่องก็ไม่ได้ใหม่อะไรมาก เรื่องนี้มาพีคเป็นไฮไลต์จริงๆ ก็ตรงที่เดิมทีแล้วเรื่องนี้ไม่ได้มีแผนนำไปฉายในอเมริกาแต่อย่างใด แต่มีการวางแผนจะนำเอาเรื่อง ดัลทาเนียส (Mirai Robo Daltanious) มาดัดแปลงพล็อตให้เข้ากับผู้ชมชาวอเมริกามากขึ้น แต่ว่ากันว่ามีการสื่อสารผิดพลาอันเนื่องจากทางอเมริกาแจ้งแค่ “อยากได้หุ่นที่มีสิงโต” ทางญี่ปุ่นก็เลยส่ง โกไลอ้อน ไปให้แทน
แล้วในสมัยนั้นการจะให้ส่งของมาใหม่ก็อาจจะไม่ทันการฉาย ทางอเมริกาจึงปรับบทของ โกไลอ้อน แล้วยำเรื่องรวมกันกับการ์ตูนหุ่นยนต์อีกสองเรื่องคือ Kiko Kantai Dairugger XV กับ Kosoku Denjin Albegas ให้กลายเป็นมหากาพย์ Voltron สามยุคสามสมัย แต่ตัวที่ได้รับความนิยมที่สุดก็คือ Voltron ที่ดัดแปลงมาจาก โกไลอ้อน นั่นเอง
กระแสความนิยมของ Voltron ในฝั่งอเมริกาสูงมากจนสุดท้ายกลายเป็นซีรีส์ในอเมริกาที่แตกแยกจากต้นทางอย่างถาวร และมีการสร้างภาคต่อตามมาอีกหลายภาค ก่อนที่ความนิยมจะเริ่มลดลงไปในภาคหลังๆ จนกระทั่งในปี 2016 ทาง DreamWorks Animation ก็เอา Voltron ภาคแรกมารีบูทใหม่เป็น Voltron: Legendary Defender ที่นอกจากหุ่นสิงโตห้าตัวแล้ว เนื้อเรื่องถือว่าเป็นต้นฉบับใหม่หมดที่ได้รับความนิยม และซีซั่นที่สามก็เริ่มฉายไปแล้วเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมปีนี้
ด้าน โกไลอ้อน ถึงจะได้รับความนิยมตามยุคสมัยและเคยมาฉายในไทย แต่ก็ยังไม่มีแผนการรีเมคเหมือนฝั่ง Voltron แต่อย่างใด
Macross
ออกทำการครั้งแรกในปี 1982
สงคราม ห้วงอวกาศ เสียงเพลง และรักสามเส้า คือองค์ประกอบของการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องนี้ รวมไปถึงว่าตัวหุ่นในเรื่องมีแบ่งเป็นสองส่วนหลักๆ คือส่วนของกองทัพมนุษย์กับกองทัพต่างดาว และหุ่นฝั่งมนุษย์ก็คือ ยานอวกาศขนาดยักษ์ ‘มาครอส ‘กับ ยานรบขนาดเล็กที่สามารถเปลี่ยนร่างไปมาได้
เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่มียานอวกาศลึกลับตกลงมาบนโลกในปี 1999 ก่อนที่โลกจะก่อตั้ง U.N. Spacy และได้ทำการวิศวกรรมผันกลับ จนสามารถฟื้นฟูยานอวกาศขนาดยักษ์มาครอสได้สำเร็จใน 10 ปีต่อมา แต่ในวันเปิดตัวยานมาครอส กองกำลังต่างดาว ‘เซนทราดี้’ ก็ได้บุกเข้าโจมตียานแห่งนี้ ทำให้ตัวยานต้องตัดสินใจเดินเครื่องและวาร์ปเพื่อให้โลกปลอดภัย แต่กลายเป็นว่าสงครามระหว่างโลกกับมนุษย์ต่างดาวก็ได้เริ่มขึ้น ณ จุดนี้ โชคดีเล็กๆ ที่ชาวเซนทราดี้ดูจะมีอาการตื่นตะลึงทุกครั้งที่พบวัฒนธรรมของมนุษย์ และนั่นอาจจะเป็นจุดที่ทำให้โลกปลอดภัยจากการต่อสู้ครั้งนี้
ถ้าบอกว่ากันดั้มเป็นการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ที่เพิ่มเติมความสมจริงของหุ่นลงไปได้ มาครอสก็เอาเรื่องความรักมาผสมเพิ่มเติมขึ้นไปอีก โดยยังไม่ทิ้งความจริงจังของการรบและเทคโนโลยีในเรื่อง จนมาครอสสามารถทะยานขึ้นมาโดดเด่นในอุตสาหกรรมการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ที่ในช่วงนั้นเริ่มจะไม่มีอะไรใหม่ๆ มาพักหนึ่งแล้ว
อีกเรื่องที่ถือว่าเป็นดราม่าสำคัญของมาครอสก็คือ การถูกดัดแปลงไปฉายในอเมริกาในชื่อ Robotech แต่เส้นทางของการ์ตูนเรื่องนี้ไม่ราบรื่นเหมือนฝั่ง Voltron เนื่องจากทางบริษัท Harmony Gold USA ผู้ซื้อสิทธิ์การ์ตูนสามเรื่องไป นั่นคือ มาครอส, เซาเทิร์นครอส (The Super Dimension Cavalry Southern Cross) และ มอสปีด้า (Genesis Climber MOSPEADA) เพื่อตัดต่อใหม่เป็นอีกเนื้อเรื่องหนึ่ง ปัญหาก็คือทาง Harmony Gold USA อ้างว่าพวกเขาได้ซื้อสิทธิ์ ‘ในการใช้งานและจัดจำหน่ายสินค้าทุกสรรพสิ่งในซีรีส์มาครอส’ จนทำให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้น ซึ่งในฝั่งศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินให้ทาง Tatsunoko ที่ขายสิทธิ์ไปในครั้งอดีตนั้นเป็นแค่ ‘สิทธิ์การฉายและจัดจำหน่ายนอกญี่ปุ่น’ ส่วนลิขสิทธิ์อื่นๆ ของมาครอสถือว่าเป็นของทาง Studio Nue ที่เป็นผู้สร้างซีรีส์นี้
และก็มีการฟ้องร้องซ้ำซ้อนอีก อย่างในช่วงปี 1998 บริษัท Big West ที่เป็นผู้ร่วมผลิตมาครอสอีกเจ้าหนึ่ง ได้ยื่นฟ้องทาง Tatsunoko ด้วยเหตุผลว่าดีไซน์เครื่องจักร 41 เครื่องเป็นสิทธิ์ของทาง Big West และพวกเขาก็ชนะในคดีส่วนนี้ จนมีผลกระทบทำให้ฝั่ง Harmony Gold USA ที่ยังสร้าง Robotech ภาคต่อไม่สามารถใช้งานหุ่นภาคเก่าๆ หลายตัว ใน Robotech ภาคหลังๆ จึงเลี่ยงการเล่าเรื่องที่อ้างอิงถึงกลุ่มเครื่องจักรกลกลุ่มนั้นไปแทน
ปัจจุบันนี้ คดีลิขสิทธิ์ของมาครอสในญี่ปุ่นถือว่าลงเอยกันด้วยดีจนสามารถออกภาคใหม่ๆ ให้ผู้ชมได้ติดตามกันอย่างต่อเนื่อง ทั้ง Macross Frontier กับ Macross Delta แต่ในฝั่งนอกเกาะญี่ปุ่นนั้นศาลของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตัดสินคดีล่าสุดไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2017 ว่าทาง Harmony Gold USA ถือลิขสิทธิ์ของ มาครอส, เซาเทิร์นครอส และมอสปีด้า ไปจนถึงวันที่ 14 มีนาคม 2021 แต่ในระหว่างนี้ Harmony Gold USA สามารถจัดทำสินค้าภายใต้ชื่อ Robotech ต่อไปได้ ซึ่งก็เคยมีข่าวว่าทาง Harmony Gold USA พยายามเข็นภาพยนตร์คนแสดง Robotech ออกมาก่อนที่สิทธิ์นี้จะหมดลง
ทั้งนี้ คาวาโมริ โชจิ ผู้สร้างและผู้กำกับของมาครอสภาคแรกยังสร้างผลงานที่น่าจดจำอีกหลายเรื่องอย่างเช่น The Vision of Escaflowne ที่เจ้าตัวเปรียบว่าเป็นเรื่องของหุ่นยนต์ยักษ์ ความรัก และพลังของทวยเทพ และ ABK0048 ที่ตีความให้เหล่าไอดอลชื่อดังจากญี่ปุ่น กลายเป็นไอดอลแห่งจักรวาลที่เดินทางไปทั่วจักรวาลเพื่อพบปะและช่วยเหลือดวงดาวที่แฟนเพลงตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก
Mashin Eiyuden Wataru
ออกทำการครั้งแรกในปี 1988
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ อิคุซาเบะ วาตารุ เด็กชายวัยเก้าขวบได้พบกับสร้อยคอสีแดงในศาลเจ้าแห่งหนึ่ง และในวันเดียวกัน เขาก็ปั้นหุ่นยนต์ดินเหนียวในคาบเรียนศิลปะ และสร้อยคอนั้นมาประดับ แล้วก็ใช้เวลาช่วงหลังเลิกเรียนไปตั้งชื่อหุ่นตัวที่เพิ่งปั้น ก่อนที่จะถูกมังกรตัวหนี่งพาไปยังแดนต่างมิติในฐานะผู้กล้าของดินแดนแห่งนั้น รวมทั้งได้หุ่นเทพเจ้ามังกร ริวจินมารุ มาเป็นหุ่นคู่ใจ และเขาก็ได้เดินทางเพื่อกอบกู้ดินแดนแห่งนี้
ถึงเรื่องนี้ตัวหุ่นยนต์จะไม่ได้มีขนาดใหญ่มากมาย และส่วนใหญ่ก็ออกจะเป็นการใช้พลังเวทมนตร์ในการต่อสู้มากกว่า แต่การ์ตูนเรื่องนี้น่าจะเป็นการ์ตูนหุ่นที่คนดูการ์ตูนในไทยหลายคนจำได้ดี เพราะเป็นการนำเอาการ์ตูนแนวผจญภัยในโลกต่างมิติกับการต่อสู้ด้วยหุ่นยนต์ได้อย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน ทั้งยังมีบรรยากาศชวนให้คิดถึงการเล่นเกม จึงไม่แปลกนักที่วาตารุจะถูกสร้างภาคต่ออีกถึงสองภาค และมีสินค้าอื่นๆ อย่างของเล่นและวิดีโอเกมตามมาอีกหลายชิ้น
ตัวคอนเซ็ปต์การเดินเรื่องด้วยหุ่นยนต์กับเวทมนตร์ และการเดินทางไปโลกต่างมิติก็ถูกนำไปใช้งานต่อใน แกรนซอร์ท หุ่นขมังเวทย์ (Mado King Granzort) อีกทอดหนึ่ง ซึ่งการ์ตูนเรื่องนี้ก็ได้มาฉายในประเทศไทยและได้รับความนิยมระดับหนึ่ง
Patlabor
ออกทำการครั้งแรกในปี 1988
หุ่นยนต์ยักษ์สายจริงจัง หรือเรียลโรบอต กลายเป็นของธรรมดามากขึ้น อย่างในปี 1983 ก็มีอนิเมชั่นเรื่อง Armored Trooper Votoms ที่เดินเรื่องอย่างจริงจังจนกลายเป็นหนังสงครามแนวตึงเครียดที่ได้รับความนิยมในกลุ่มแฟนเดนตายกลุ่มย่อมๆ กลุ่มหนึ่ง จนเหมือนจะเป็นการระบุว่า ‘ถ้ามาแนวเรียลโรบอตจะต้องเคร่งเครียด’ แต่ความคิดนี้ก็ถูกทำลายลงไปเมื่อ ทีมงาน Headgear ได้ผลิตผลงานที่ชื่อว่า แพทเลเบอร์ ออกมา
แพทเลเบอร์ เล่าถึงอนาคตอันใกล้ (ณ ตอนที่ออกอากาศ) ว่ามนุษย์ในยุคดังกล่าวเริ่มใช้งานหุ่นยนฅ์กลุ่ม เลเบอร์ (Labor) ในการทำงานก่อสร้างหรือทำงานสเกลขนาดใหญ่ แต่เมื่อมีอุปกรณ์ทรงพลังแบบนี้เกิดขึ้น ก็ย่อมมีภัยหรือเหตุอาชญากรรมบางอย่างเกิดตามมาด้วย นั่นจึงเป็นที่มาของการก่อตั้งหน่วย แพทเลเบอร์ ที่ย่อมาจาก แพโทรลเลเบอร์ (Patrol Labor) หน่วยตํารวจหุ่นยนต์ที่คอยรับมือกับคดีที่เกี่ยวข้องกับหุ่นต่างๆ นี้
แพทเลเบอร์เปิดตัวครั้งแรกในรูปแบบ Original Video Animation ที่ในยุคนั้นขายแยกลงวิดีโอ และเล่าเรื่องของหน่วยยานยนต์พิเศษ (หรือหน่วยแพทเลเบอร์) หน่วยที่ 2 ที่มีแต่สมาชิกซึ่งค่อนข้างจะไม่เต็มเต็ง เรื่องราวเลยออกมาเป็นโทนละครตำรวจปนตลก และได้ความนิยมจากแฟนๆ กลุ่มใหญ่ ก่อนถูกดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นแบบทีวีซีรีส์ที่เล่าเรื่องใหม่และภายหลังถูกระบุว่าเป็นเนื้อเรื่องที่อยู่คนละไทม์ไลน์หนึ่ง
จากนั้นก็มีภาคภาพยนตร์ที่นับว่าเป็นภาคต่อจากฉบับ OVA อีกทีหนึ่ง ออกมาถึงสองภาค และมีการปรับโทนเนื้อเรื่องให้มีความซีเรียสด้านการเมืองมากขึ้น จากนั้นก็มีการจัดทำภาคต่อเป็นภาพยนตร์คนแสดงที่ออกฉายช่วงปี 2014 ถึง 2015 ในชื่อ The Next Generation: Patlabor
บุคลากรที่น่าจดจำจากแพทเลเบอร์ก็คงจะไม่พ้นตัวผู้กำกับ โอชิอิ มาโมรุ ที่เป็นผู้กำกับของ OVA ชุดแรก และภาพยนตร์สองภาคแรกกับภาพยนตร์ The Next Generation: Patlabor ที่สามารถนำเอาความเข้มข้นของละครตำรวจมาผสมกับความตลกโปกฮาและเนื้อเรื่องแนวไซไฟแบบไม่ไกลตัวมากได้อย่างดี และเขายังเป็นผู้กำกับท่านเดียวกับภาพยนตร์อนิเมชั่น Ghost in the Shell อีกด้วย
Zettai Muteki Raijin-Oh
ออกทำการครั้งแรกในปี 1991
การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องนี้น่าจะเรียกร้องความสนใจจากเด็กยุค 90s ที่เดินไปเจอแผนกของเล่นในห้างได้อย่างดี ไรจินโอ หุ่นยนต์ที่เป็นการรวมร่างกันของหุ่นยนต์ยักษ์นก หุ่นยนต์สิงโต และหุ่นยนต์รูปร่างคน แถมคนในห้องเรียนทั้งห้องก็เป็นคนที่คอยสนับสนุนหุ่นไรจินโออีกต่างหาก
ไรจินโอ เป็นการ์ตูนเรื่องแรกของซีรีส์เอลดรัน (Eldran เอล-ดรัน) อันเป็นการร่วมมือกันระหว่าง Tomy บริษัทของเล่นในญี่ปุ่น กับ Sunrise ผู้สร้างการ์ตูนรายใหญ่ในญี่ปุ่น ที่วางเป้าหมายจะสร้างซีรีส์การ์ตูนที่เด็กนักเรียนหนึ่งห้องได้รับการอำนวยพรจากเทพเอลดรันให้ขับหุ่นที่ซ่อนตัวอยู่ในโรงเรียน ซึ่งเป็นกุศโลบายหมายจะให้เด็กนักเรียนญี่ปุ่นมีความตื่นตัวที่จะเดินทางไปโรงเรียน และมีการพูดถึงของเล่นในโรงเรียนเป็นการต่อไป
ด้านเนื้อเรื่องของไรจินโอ เริ่มต้นจากอาณาจักรจาร์คได้พยายามบุกยึดครองโลก เทพเอลดรันได้ส่งหุ่นยนต์ยักษ์ไรจินโอเพื่อขัดขวาง แต่พลาดพลั้งจนทำให้ไรจินโอตกลงไปในพื้่นที่ของเมืองฮิโนะโบริ เทพเอลดรันจึงส่งต่อพลังในการปกป้องโลกให้กับเด็กชั้นประถมปีที่ 5 ห้องหนึ่งได้ใช้พลังของไรจินโอปกป้องโลกต่อไป
หลังจาก ไรจินโอ แล้วก็ก็มีการ์ตูนหุ่นยนต์ในซีรีส์เอลดรันตามมาอีกสามเรื่องแต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ไรจินโอล่อลวงให้เราอยากได้ของเล่นอยู่เป็นเนืองๆ จนถึงทุกวันนี้
Neon Genesis Evangelion
ออกทำการครั้งแรกในปี 1996
ไม่แน่ใจนักว่าใครเคยพูดเอาไว้ว่า สำหรับอุตสาหกรรมการ์ตูนแล้วสามารถแบ่งแยกได้เป็นยุคๆ ตามแต่การมาถึงของการ์ตูนแต่ละเรื่อง อย่างเช่น ‘ยุคหลัง Your Name‘ ‘ยุคหลัง สาวน้อยเวทมนตร์มาโดกะ‘ ‘ยุคหลังกันดั้ม‘ และ เอวานเกเลียน (สะกดอ่านภาษาไทยตามที่สยามอินเตอร์คอมิกส์ถอดไว้) เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่เปลี่ยนแปลงวิธีการคิดและวิธีการนำเสนอของการ์ตูนยุคหลังจากนี้ไป
เอวานเกเลียน เล่าเรื่องของเด็กหนุ่มสาวที่ต้องขึ้นขับหุ่นยนต์ยักษ์กึ่งเครื่องจักรกึ่งชีวภาพ ‘เอวานเกเลียน’ เข้าต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตลึกลับไร้ที่มา ที่ถูกเรียกว่า ‘เทวทูต’ เป้าหมายของเหล่าเทวทูตนั้นในช่วงแรกคือการตามหาร่างของ ‘อดัม’ เทวทูตตัวแรกที่มนุษย์ซุกซ่อนเอาไว้เพื่อการชำระล้างโลกใบเก่าและสร้างโลกใหม่ ทว่าเมื่อเรื่องราวค่อยๆ คลี่คลาย ก็พบว่ามีเรื่องราวหลายอย่างที่ถูกซุกซ่อนไว้ นับตั้งแต่ความจริงของตัวหุ่นเอวานเเลียนเองที่มีอะไรมากกว่าการเป็นหุ่นยนต์กึ่งชีวภาพ เป้าหมายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ปกป้องโลกความจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนั้น และตัวนักบินที่เป็นเด็กหนุ่มสาวซึ่งสภาพจิตใจยังไม่นิ่งพอจะสามารถรับมือกับเรื่องราวความลับมากมายเหล่านี้อย่างไร
ถ้านับว่า มาชินก้า Z เป็นบิดาของหุ่นยนต์สายซูเปอร์ที่ทรงพลังอย่างไม่ต้องมีเหตุผลรองรับ ส่วน กันดั้ม เป็นบิดาของหุ่นยนต์สายเรียลโรบอตที่หาเหตุผลรองรับในการทำงานของเครื่องจักรกล เอวานเกเลียน ก็เป็นส่วนผสมที่อยู่ตรงกลางระหว่างซูเปอร์โรบอตกับเรียลโรบอต ทั้งในตัวหุุ่นยักษ์ที่เหมือนจะใช้อาวุธสมจริงแต่กลับมีสนามพลังพิเศษเหนือธรรมชาติ ด้านเนื้อเรื่องที่แม้ศัตรูจะเป็นเหล่าร้ายลึกลับไร้ที่มาแต่ในเรื่องก็พยายามทำให้เห็นว่าการเอาชนะศึกนั้นมาจากการวางแผนแบบมีตรรกะของมนุษย์ หรือแม้แต่ปมความขัดแย้งที่เหมือนจะโยนเป็นเรื่องกึ่งๆ ศาสนา แต่พอมาช่วงท้ายๆ ของเรื่องลับยิ่งแสดงให้เห็นว่าศัตรูที่สำคัญที่สุดอาจจะไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นภายในจิตใจของแต่ละตัวละครในเรื่อง ซึ่งในเรื่องนั้นได้แทรกปมปรัชญาต่างๆ มาตลอดเรื่องและนำมันมาขยี้ตอกย้ำในช่วงท้ายกับในฉบับภาพยนตร์ The End Of Evangelion อีกทีหนึ่ง
เอวานเกเลียน ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทั้งแง่การนำเสนอกับการเล่าเรื่อง ทำให้อนิเมชั่นหุ่นยนต์ยักษ์หลายเรื่องหลังจากปี 1996 เริ่มคิดถึงมุมมองด้านจิตใจกับปรัชญาของตัวละครในเรื่องมากยิ่งขึ้นกับตัวหุ่นนั้นก็มีความเป็นสิ่งมีชีวิตมากขึ้นอย่างที่เห็นได้ชัดใน RahXephon หรือ Psalms of Planets Eureka Seven และก็มีบางเรื่องที่ตั้งเป้าในการจัดทำว่าต้องการจะเป็นเรื่องราวที่ไปไกลกว่าตัวเอวานเกเลียน อย่าง Brain Powerd รวมถึงว่าดีไซน์เครื่องจักรในยุคหลังจากนี้ก็เริ่มยอมรับทรงผอมบาง หรือรูปร่างที่ยากจะเข้าใจ แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าจดจำ กลายเป็นเทรนด์ที่การ์ตูนหลายต่อหลายเรื่องทำตามกันจนถึงทุกวันนี้
ปัจจุบัน เอวานเกเลียน ก็ยังไม่อวสานเนื่องจากทางทีมงานสร้างได้จัดทำภาค Rebuild of Evangelion ที่เดิมทีเหมือนจะเป็นแค่การนำการ์ตูนอนิเมชั่นฉบับดั้งเดิมมาทำภาพใหม่ให้สวยขึ้น ก่อนจะมาเฉลยว่าเนื้อหาในภาค Rebuild แท้จริงเป็นภาคต่อที่อาจจะมีแนวคิดเรื่อง ‘ชาติภพ’ กับ ‘การเดินทางข้ามห้วงมิติ’ เข้ามาพ่วงในเนื้อเรื่องอีกทอดหนึ่ง และเชื่อว่าการ์ตูนเรื่องนี้น่าจะส่งผลต่อคนดูอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นไปอีกนาน
The King of Braves GaoGaiGar
ออกทำการครั้งแรกในปี 1997
พูดถึงไรจินโอกันแล้ว ก็ต้องขอพูดถึงซีรีส์การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์อีกชุดหนึ่งที่มีคอนเซ็ปต์คล้ายๆ กันจนหลายคนเข้าใจว่าเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือซีรีส์ ‘ผู้กล้า’ (Yusha Series) ที่มีจุดเด่นสองอย่างก็คือ ตัวหุ่นยนต์ยักษ์โดยส่วนใหญ่มีความรู้สึกนึกคิด รวมไปถึงตอบโต้กับคนรอบตัวได้ และมีการแปลงร่างจากร่างหุ่นยนต์ไปเป็นพาหนะที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน คล้ายๆ กับ Transformers ซึ่งก็ไม่แปลกมากนัก เพราะตัวซีรีส์ผู้กล้านี้เป็นการร่วมมือกันของทาง Takara บริษัทผู้ผลิตของเล่นที่ Mirco Man ก่อนกลายเป็นรากฐานของ Transformres ในภายหลัง และพวกเขาเอาโครงสร้างเรื่องส่วนหนึ่งมาจากอนิเมชั่น Transformers Zone แต่สุดท้ายแล้ว นอกจากดีไซน์ของหุ่นบางอย่างที่ใกล้ๆ กันแล้ว ก็ไม่มีอะไรสอดคล้องกันอีก
พล็อตเรื่องปกติโดยมาตรฐานของซีรีส์ผู้กล้าก็มักจะเป็นการที่มีสิ่งมีชีวิตหรือพลังลึกลับจากต่างดาวมาปรากฎตัวบนโลก และ/หรือ มีชาวโลกที่ถูกเลือกมาเป็นผู้ควบคุมหุ่นยนต์ยักษ์เพื่อต่อสู้กับภัยเหล่านั้น ราชันย์ผู้กล้า กาโอไกการ์ ยังคงใช้พล็อตพื้นฐานคล้ายๆ กัน คือมีสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวได้ตกลงมาบนโลกในบริเวณประเทศญี่ปุ่น ที่ภายหลังมีการตั้งชื่อกลุ่มสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ว่า ซอนดาเรี่ยน รัฐบาลของญี่ปุ่นจึงตั้งหน่วยงานลับขึ้นมาเพื่อรับมือภัยในอนาคต โดยมีเด็กชายจากต่างดาว มนุษย์ผู้ถูกดัดแปลงเป็นแอนดรอยด์ และหุ่นยนต์ยักษ์จากดวงดาวที่ถูกทำลายไปแล้วเป็นแนวหน้าหลักในการต่อสู้ โดยใช้หุ่นยนต์ยักษ์กับอุปกรณ์ที่ชาวโลกพัฒนาขึ้นมาเพื่อกำจัดภัยร้ายจากเหล่าซอนดาเรี่ยน
แม้ว่าจะคงพล็อตที่คุ้นเคยเอาไว้ แต่การ์ตูนชุดสุดท้ายของซีรีส์ผู้กล้าก็ปรับโทนในช่วงหลังให้ซีเรียสขึ้น ในแง่หนึ่งก็มองได้ว่า ณ จุดนี้การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์หาจุดลงตัวที่เด็กดูได้ผู้ใหญ่ก็ต้องนั่งดู จนเกิดอาการเสียดายที่เรื่องนี้เป็นเรื่องปิดฉากของซีรีส์
ถึงจะปิดฉากในฝั่งอนิเมชั่นไปแล้ว ซีรีส์ผู้กล้ารวมถึงซีรีส์เอลดรันก็ได้มีโอกาสมารวมตัวกันในเกม Shinseiki Yusha Taisen ในปี 2005 และสุดท้าย Takara กับ Tomy ก็รวมกิจการกันในปี 2006 แต่นับจากตอนนั้นก็ยังไม่มีอนิเมชั่นหุ่นยนต์ยักษ์จากซีรีส์ทั้งสองออกมา จริงๆ ถ้าจะทำเป็นหนังรวมพลมาตีกันแบบฝั่ง Marvel หรือ DC ก็น่าจะมีหลายคนรีบจ่ายเงินแล้ววิ่งไปดูกันอยู่นะ
Code Geass
ออกทำการครั้งแรกในปี 2006
ในโลกสมมติที่อาณาจักรบริทาเนียไม่ล่มสลายและสามารถรุกคืบยึดตีพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลก จนเหลือขั้วอำนาจเพียงสามขั้ว นั่นคือ จักรวรรดิบริทาเนียอันศักดิ์สิทธิ์ สหพันธ์จีน และสหพันธ์ยุโรป เรื่องราวเริ่มต้นจากการที่จักรวรรดิบริทาเนียได้เข้าโจมตีประเทศญี่ปุ่นด้วยอาวุธรุ่นใหม่อย่างอัศวินเกราะจักรกล หรือที่รู้จักกันในชื่อ ไนท์แมร์เฟรม และสามารถยึดครองประเทศได้สำเร็จจนริดรอนสิทธิทั้งปวงของญี่ปุ่น เปลี่ยนชื่อประเทศเป็น แอเรีย อีเลฟเว่น (Area 11) และเรียกประชาชนญี่ปุ่นว่า ‘อีเลฟเว่น’ สิ่งหนึ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ ในดินแดนที่ถูกยึดครองนี้มีเจ้าชายผู้ถูกเนรเทศอย่าง ลูลูช แลมเพอรูจ อาศัยอยู่และเขาได้พบกับสาวน้อยลึกลับ วีทู ที่มอบพลัง ‘กิอัส’ ให้กับเขา และการปฏิวัติพลิกโลกก็เริ่มต้นขึ้น
ถ้าอ่านเรื่องย่อหรือไปฟังความเห็นของแฟนๆ อาจจะได้ยินคำชื่นชมเนื้อเรื่องที่เป็นแนวการเมืองเชิงหักหลังชิงบัลลังก์ผสมด้วยการใช้พลังเหนือมนุษย์จนอาจจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีหุ่นยนต์ยักษ์ แต่แทบจะตรงกันข้ามเลยเพราะ ‘ไนท์แมร์เฟรม’ หุ่นยนต์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญในเรื่องนั้นโดดเด่นไม่แพ้ด้านการเมืองกับพลังพิเศษ แม้แต่ตัวละครเอกอย่างลูลูชกับวีทูก็ยังต้องขึ้นขับใช้งานในการศึก และในเรื่องนี้ก็ลงรายละเอียดหุ่นค่อนข้างจริงจัง อย่างการแบ่งรุ่นของไนท์แมร์เฟรมออกเป็นยุคๆ ซึ่งหุ่นในแต่ละรุ่นก็จะมีความได้เปรียบเสียเปรียบให้เห็นกันแบบชัดเจน หรืออย่างการที่ไนท์แมร์เฟรมของแต่ละประเทศในเรื่องก็จะถูกพัฒนาให้มีความแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แม้ว่าจะมีพื้่นฐานบางอย่างใกล้ๆ กัน อย่างระบบแลนด์สปินเนอร์ (ระบบล้อหมุน) ที่ทำให้หุ่นเคลื่อนที่ได้ดีกว่าพาหนะยุคก่อนหน้า ซึ่งมีรายละเอียดที่เข้าใจได้ไม่ยากเหมือนทำความเข้าใจความแตกต่างกันของรถยนต์แต่ละรุ่นในโลกความจริง ซึ่งการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ยุคก่อนหน้าอาจจะยังทำได้ไม่ละเอียด
โค้ดกีอัส นับเป็นการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ผสมการเมืองรุ่นหลังๆ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ส่วนหนึ่งก็ต้องยกผลประโยชน์ให้ทางทีมนักเขียนการ์ตูน CLAMP ที่มาออกแบบตัวละครให้กับเรื่องนี้จนทำให้ผู้ชมทั้งชายและหญิงเปิดใจยอมนั่งเสพเนื้อหาที่อาจจะยากไปบ้างสำหรับผู้ชมยุคก่อนหน้า
โค้ดกีอัส มีภาคเสริมออกมาหลายต่อหลายภาค ออกมาทั้งในนูปแบบอนิเมชั่นและหนังสือการ์ตูน โดยมี การปฏิวัติของลูลูชเป็นเนื้อหาแกนหลัก และกำลังจะมีภาคต่อออกมาฉายในอนาคตอันใกลนี้
Tengen Toppa Gurren Lagann
ออกทำการครั้งแรกในปี 2007
ด้วยความที่การ์ตูนเองก็พยายามสร้างเรื่องให้ผู้ชมเข้าใจได้โดยง่าย หุ่นยนต์ในการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ช่วงหลังๆ จึงมีขนาดเล็กลง ตามเทคโนโลยีของโลกจริงที่หลายต่อหลายอย่างเล็กลงจนพกพากันง่ายขึ้น แต่ กุเร็นลากันน์ ไม่ทำแบบนั้น
การผจญภัยในกุเร็นลากันน์เกิดขึ้นในอนาคตอันห่างไกลที่มนุษย์ต้องอาศัยอยู่ภายใต้พื้นโลก เพราะบนพื้นพิภพได้ถูกครอบครองด้วยสัตว์อสูรที่คอยขับหุ่นยนต์ยักษ์กันเมงเพื่อกำจัดมนุษย์ที่เล็ดรอดขึ้นมาบนพื้นดิน มนุษย์ในเรื่องจึงแทบไม่เชื่อว่าโลกนี้มีท้องฟ้าอยู่อีกแล้ว จนกระทั่ง คามินะ หัวโจกตัวแสบ กับ ชิมอน เด็กชายนักขุดขี้แหย ได้ค้นพบ ลากันน์ หุ่นยนต์ขนาดเล็กที่เดินเครื่องได้ด้วยใช้คอร์ดริล (สว่านขนาดเล็ก) ทำให้การเดินทางที่หมายจะแค่ค้นพบความจริงว่าโลกนั้นยังมีท้องฟ้าที่งดงามรออยู่ กลายเป็นการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติจากการปกครองของเหล่าสิ่งมีชีวิตต่างดาวที่ไม่มีใครเคยคาดถึง
‘เมื่อถึงเวลาหนึ่งแล้วความนิยมทางวัฒนธรรมจากสมัยเก่าจะหวนย้อนคืนมา’ เป็นคอนเซ็ปต์ของแฟชั่นแทบจะทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งในฝั่งการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ กุเร็นลากันน์เลือกที่จะกลับไปนำเสนอหุ่นแบบเรโทร โดยไม่มีตรรกะจริงจังอธิบายว่าทำไมหุ่นยนต์ถึงสามารถรวมร่างหรือขยายร่างได้ คำพูดของตัวละครกับท่าไม้ตายแต่ละท่าอยู่ๆ ก็มีชื่อขึ้นมาซะอย่างนั้น คำอธิบายถึงแรงจูงใจหลายอย่างของเรื่องจบลงที่คำว่า ‘แรงใจของตัวละคร’ ทำให้การผจญภัยของพวกเขาในช่วงครึ่งแรกหวือหวาและเกินคาดเดาอย่างที่หายไปนานในฝั่งการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ จนในช่วงกลางเรื่องก็เริ่มมีคำอธิบายสถานการณ์ในเรื่องหลายๆ อย่างขึ้นมา ก่อนจะกลับมาใส่ ‘ความไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล’ เข้าไปในช่วงท้ายที่ตัวกุเร็นลากันน์กลายร่างขนาดยักษ์กลายใหญ่ระดับปีแสง (เขียนไม่ผิดนะ ในช่วงท้ายเรื่องตัวหุ่นยืนต่อยกันโดยใช้ทางช้างเผือกเป็นเวที)
ความสุดโต่งนี้ถ้าเป็นการ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์เรื่องอื่น ก็คงมีปัญหาว่ามันจะเวอร์ไปไหน แต่เมื่อกุเร็นลากันน์เริ่มเรื่องด้วยความเหนือจริง และมีการพัฒนาของตัวละครที่น่าสนใจ ทำให้การ์ตูนหุ่นยนต์ยักษ์ที่อยุ่ผิดยุคผิดสมัยนี้โดดเด่นจนคนดูหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ก็ต้องอึ้งทึ่งตะลึงแล้วเชียร์สุดใจไปโดยไม่รู้ตัว
อ้างอิงข้อมูลจาก