นับเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมาก หลังศิลปิน (?) ท่านหนึ่ง ใช้ AI สตรีมเพลงตัวเองบนแพลตฟอร์มต่างๆ หลายพันล้านครั้ง เป็นเวลาหลายปี จนทำเงินได้ถึง 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 338 ล้านบาท ล่าสุดเขาถูกจับกุมแล้ว และอาจถูกตัดสินโทษจำคุกหลายสิบปี
ชายคนนี้คือ ไมเคิล สมิธ (Michael Smith) วัย 52 ปี จากนอร์ทแคโรไลนา (North Carolina) สหรัฐฯ โดยเขาใช้ AI สร้างวงดนตรีปลอม พร้อมกับสร้างเพลงปลอมหลายแสนเพลง จากนั้นสร้างบัญชีบอทอัตโนมัติหลายพันบัญชี มาสตรีมเพลงเหล่านั้น
ศิลปินที่เขาใช้ AI สร้าง มีชื่อต่างๆ เช่น ‘Callous Post’ ‘Calorie Screams’ และ ‘Calvinistic Dust’ และเพลงก็มีหลายชื่อ เช่น ‘Zygotic Washstands’ ‘Zymotechnical’ และ ‘Zygophyllum’ โดยเพลงเหล่านี้ ถูกปล่อยบนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง Amazon Music Apple Music และ Spotify เป็นต้น
เขาหารายได้จากไหน?
ปกติแล้ว นโยบายลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของสหรัฐฯ จะกำหนดให้ นักแต่งเพลง นักดนตรี และผู้ถือลิขสิทธิ์รายอื่น ได้รับ ‘เงินค่าลิขสิทธิ์’ จำนวนเล็กน้อย เมื่อมีคนเล่นเพลงของพวกเขา ซึ่งในกรณีนี้ สมิธวางแผนว่า เงินค่าลิขสิทธิ์จำนวนเล็กน้อยเหล่านี้เอง ที่จะกลายเป็นเงินก้อนโต หากเขาสามารถสตรีมเพลงได้มากพอ
แล้วเขาหลีกเลี่ยงการตรวจจับมาหลายปีได้อย่างไร?
แน่นอนว่าแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ก็มีนโยบายต่อต้านการฉ้อโกงอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเน้นตรวจจับการสตรีมเพลงเดียวกันซ้ำๆ และมีจำนวนครั้งมากเกินไป สมิธจึงหาทางหลีกเลี่ยง ด้วยการสร้าง ‘เพลงจำนวนมาก’ อย่างเร็วที่สุด เพื่อลดความน่าสงสัย โดยกระจายการสตรีมไปที่หลายวงดนตรีปลอม แทนที่จะกระจุกอยู่แค่วงเดียว
อีกทั้งเมื่อ ปี 2018 สมิธได้ร่วมมือกับซีอีโอของบริษัทเพลง AI แห่งหนึ่ง ที่ตกลงจัดหาเพลงให้เขาหลายพันเพลงต่อเดือน เพื่อช่วยเขาสร้างเพลงปลอมจำนวนมาก ภายในเวลาอันสั้น
มีการเปิดเผยรายได้ของเขา โดยในหนึ่งวันอาจมีการสตรีม โดยบัญชีบอทได้ประมาณ 661,440 ครั้งต่อวัน ซึ่งหมายความว่า เขาทำเงินจากค่าลิขสิทธิ์รายวันได้ราว 3,307.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 1 แสนบาท) ค่าลิขสิทธิ์รายเดือนอยู่ที่ 99,216 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 3.4 ล้านบาท) และค่าลิขสิทธิ์รายปีอยู่ที่ 1,207,128 ดอลลาร์สหรัฐฯ (หรือราว 40.9 ล้านบาท)
ล่าสุดสมิธถูกจับกุม และตั้งข้อหาจำนวน 3 กระทง เกี่ยวกับการฉ้อโกงผ่านการสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ และการฟอกเงิน โดยหากศาลฯ ตัดสินให้เขามีความผิด เขาอาจถูกจำคุกหลายสิบปี
“สมิธขโมยเงินค่าลิขสิทธิ์หลายล้านดอลลาร์ จากแผนการฉ้อโกงที่น่ารังเกียจ ซึ่งเงินควรจะจ่ายให้กับนักดนตรี นักแต่งเพลง และเจ้าของลิขสิทธิ์อื่นๆ ที่มีเพลงถูกสตรีมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย” ดาเมียน วิลเลียมส์ (Damian Williams) อัยการสหรัฐฯ กล่าว
นอกจากนี้ เหตุการณ์นี้ยังได้จุดประเด็นเรื่องเพลงที่สร้างด้วย AI ซึ่งในแง่หนึ่งการเติบโตอย่างรวดเร็วของ AI อาจทำให้ศิลปินสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้หลากหลายขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับ ‘ส่วนแบ่งกำไรที่ยุติธรรม’ ของผลงานที่สร้างด้วย AI เนื่องจากเงื่อนไขหลายๆ อย่างของเพลงประเภทนี้อาจยังไม่ชัดเจน ยิ่งมีกรณีแบบนี้ ที่คนใช้ AI เพื่อฉ้อโกงค่าลิขสิทธิ์ ทำให้ในอนาคตการสร้างสรรค์ผลงานด้วย AI อาจต้องเผชิญความท้าทายมากกว่าเดิม
อ้างอิงจาก