เรามักคิดว่า คริสต์มาสเป็นเทศกาลแห่งความชื่นชมยินดี ใครที่ทะเลาะบาดหมางใจกันอยู่ ก็จะได้ถือโอกาสนี้กลับมาคืนดีกันใช่ไหมครับ
ในปี 1914 ก็มีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน
ในช่วงคริสต์มาสปีนั้น เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เป็นปีแรกที่เกิดสงครามขึ้นมา ซึ่งต้องบอกว่าเป็น ‘มหาสงคราม’ (Great War) เลยนะครับ ว่ากันว่า ชีวิตที่สังเวยไปในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งน่าจะมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ถ้านับผลพวงทั้งหมด (รวมทั้งที่ตามมาภายหลังด้วย) พบว่ามีทหารตายไปกว่าเก้าล้านคน พลเรือนตายไปกว่าเจ็ดล้านคน
มันจึงเป็นสงครามสำคัญ!
แต่แล้วในวันคริสต์มาสปี 1914 บนแนวรบตะวันตก ทหารเยอรมันและอังกฤษก็ได้หยุดยิง ไม่ใช่เพราะมีคำสั่งจาก ‘ผู้ใหญ่’ ที่ไหน แต่เด็กหนุ่มที่เป็นทหารเหล่านั้นรู้สึกว่า เมื่อถึงวันคริสต์มาส-วันแห่งความชื่นชมยินดี พวกเขาไม่ควรฆ่ากัน ไม่มีใครควรให้ ‘ความรักชาติ’ อยู่เหนือความรักเพื่อนมนุษย์
พวกเขาไม่ได้เพียงหยุดยิง แต่ยังข้ามแนวรบไปอวยพรคริสต์มาส พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนอาหารและของที่ระลึกระหว่างกัน รวมทั้งเล่นฟุตบอลด้วยกัน แม้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกจุด แต่ก็เกิดขึ้นมากมายหลายแห่ง กระทั่งประวัติศาสตร์ต้องบันทึกเอาไว้
แต่สงครามไม่ได้หยุดลงแค่นั้น เพราะผ่านคริสต์มาสไป
พวกเขาก็ ‘ต้อง’ กลับมา ‘ฆ่า’ กันอีก จนเมื่อคริสต์มาสเวียนมาถึงอีกรอบในปี 1915 หลายคนที่ยังมีชีวิตอยู่ (หรือคนใหม่ๆ ที่ได้รู้เรื่องนี้) อยากทำแบบเดิมอีก แต่ก็พบว่ามี ‘คำสั่ง’ จาก ‘ผู้ใหญ่’ ของทั้งสองฝั่งสั่งห้าม การหยุดยิงจึงเกิดขึ้นน้อยลงมาก ปีถัดมา สงครามเข้มข้นขึ้น และดังนั้น ในคริสต์มาส 1916 การหยุดยิงช่วงคริสต์มาส (Christmas Truce) ก็เหลือแต่เพียงความทรงจำ
สงครามสร้างความขมขื่นและเจ็บปวดให้ผู้คนมากเสียจนพวกเขาไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายต่อไป ‘ความรักชาติ’ ได้สถาปนาตัวเองอยู่เหนือความรักเพื่อนมนุษย์และคริสต์มาสไปแล้ว
ดังนั้น คริสต์มาสปี 1914 จึงผ่านไป และไม่เคยหวนกลับมาอีก
อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่เราได้เห็นความขัดแย้งและการทำงานของ ‘อำนาจ’ ในวันคริสต์มาส เอาเข้าจริง ความขัดแย้งเรื่องคริสต์มาสเกิดขึ้นมานานแล้ว
หลายคนอาจเคยเห็นเค้กคริสต์มาสที่นิยมทำเป็นขอนไม้ เค้กแบบนั้นฝรั่งเรียกว่า Yule log cake นิยมทำกันในช่วงคริสต์มาส
คำถามก็คือ-ทำไมต้องทำ Yule log cake ในช่วงคริสต์มาสด้วย และคำว่า Yule คืออะไร?
ย้อนกลับไปในยุคโบราณนานนม ก่อนหน้าที่ศาสนาคริสต์จะแพร่เข้ามาในยุโรป ในแถบสแกนดิเนเวีย เยอรมนี และยุโรปตอนเหนือ (ในหมู่คนเชื้อสาย Germanic) มีการฉลองเทศกาลอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Yule โดยเทศกาลนี้จะอยู่ในช่วงปลายเดือนธันวาคมพอดี เชื่อกันว่า เทศกาลนี้เชื่อมโยงกับเทพเจ้าโอดิน (Odin) ซึ่งเป็นเทพที่เกี่ยวกับความตาย การรักษา ความรู้ การต่อสู้ การล่าสัตว์ คือพูดได้ว่าเป็นเทพที่อยู่ใน ‘วิถีชีวิต’ ของคนในแถบนั้น
นอกจากนี้ วันที่ 25 ธันวาคม ตามปฏิทินโรมัน ยังถือเป็นวันเห-มายัน (winter solstice) ด้วย คือเป็นวันที่กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี (แต่จริงๆ ถ้าคำนวณตามหลักดาราศาสตร์ ส่วนใหญ่จะอยู่ราวๆ วันที่ 22 ธันวาคม) เพราะฉะนั้น นอกจากจะฉลองเทศกาล Yule แล้วช่วงนี้ของปียังฉลองวันเห-มายันไปด้วย
แต่ทีนี้พอศาสนาคริสต์แพร่หลายเข้ามาในยุโรป คนชนเผ่า Germanic ที่นับถือเทพโน่นนั่นนี่ของตัวเอง (เช่นเทพโอดิน) ก็เลยถูก ‘อำนาจ’ ของคริสต์ศาสนามองว่าเป็นพวก ‘นอกรีต’ โดยมีศัพท์เฉพาะเอาไว้เรียกคนเหล่านี้ว่า pagan
เรามักจะคิดว่า คริสตศาสนามีอิทธิพลเหนือพวกนอกรีตใช่ไหมครับ แต่ไอ้ที่สนุกมันอยู่ตรงนี้แหละครับ ตรงที่เอาเข้าจริง การเฉลิมฉลองของชาว pagan (คือนอกรีต) ทั้งหลายแหล่นี่ต่างหาก ที่กลับไปมี ‘อิทธิพล’ ต่อการฉลองวันคริสต์มาส เพราะพอเริ่มลงตัวกันแล้วว่า วันคริสต์มาสคือ 25 ธันวาคม ก็ดันไปสอดคล้องพอดีกับงานฉลองเห-มายันและ Yule ของพวก pagan ก็เลยเกิดการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมขึ้น ทำให้สองงานอยู่ร่วมกันได้โดยสมประโยชน์ ไม่ต้องรบพุ่งบังคับกันว่าพวกแกต้องเชื่อเหมือนฉันทุกประการ แม้แต่เซอร์ไอแซค นิวตัน ก็ยังเคยบอกว่า คริสตจักรเลือกวันที่ 25 ธันวาคมเป็นวันคริสต์มาส ก็เพื่อให้สอดคล้องกับการฉลองของพวก pagan นี่แหละ
คนที่ศึกษาเรื่องตำนานพื้นบ้านยุโรปหลายคนเชื่อด้วยซ้ำไปนะครับ ว่าการฉลองคริสต์มาสที่เราเห็นๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นการประดับต้นคริสต์มาส ทำช่อมิสเซิลโท ทำเค้ก Yule Log หรือประดับบ้านด้วยรูปปั้นตัวโนม (เรียกว่า Christmas gnom) ต่างๆ เหล่านี้ ล้วนแต่มาจากธรรมเนียมปฏิบัติของพวก ‘นอกรีต’ ทั้งนั้น
ทีนี้ก็เป็นเรื่องสิครับ!
ในราวๆศตวรรษที่ 17 เกิดกระแสที่เรียกว่า Puritan ข้ึนมา กลุ่มนี้มีเป้าหมายคุ้นๆ หูคนไทยสมัยนี้ดีนะครับ คืออยากจะ ‘ปฏิรูป’ ศาสนจักรอังกฤษให้สะอาดบริสุทธิ์ จะได้แยกขาดออกมาจากศาสนจักรคาทอลิกยุคนั้นที่เต็มไปด้วยความมัวหมองต่างๆ
และเรื่องหนึ่งก็คือการ ‘ชำระคริสต์มาส’ ให้สะอาดหมดจดนี่แหละครับ!
ชาว Puritan อยากกำจัดอิทธิพลของชาว Pagan (P ทั้งคู่เลย!) ให้หมดสิ้นไปจากคริสต์มาส โดยอยากทำให้วันคริสต์มาสเป็นวันที่คนมาอดอาหารพลีกรรมกัน แทนที่จะไปเฉลิมฉลองร้องเพลง และที่สุดก็ถึงขั้น ‘ประณามคริสต์มาส’ และมีข้อเสนอให้ ‘ยกเลิก’ คริสต์มาสกันไปเสียเลย เพราะมันเป็นเทศกาลที่ ‘แปดเปื้อน’ เหลือแสน
ในอังกฤษยุคนั้น การฉลองคริสต์มาสทำกันโดยกินดื่ม เล่นไพ่ เต้นรำ แต่เมื่อศาสนจักรสั่งห้าม สิ่งเหล่านี้ก็หมดไป ต้องรอจนพระเจ้าชาร์ลส์ที่สองกลับมาครองราชย์ (หลังยุคของโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ที่อังกฤษเป็นสาธารณรัฐอยู่ช่วงหนึ่ง) ทรงฟื้นฟูบ้านเมืองตามระบอบกษัตริย์ ก่อให้เกิดยุค Restoration ขึ้น การฉลองคริสต์มาสจึงได้กลับมาพร้อมกันไปด้วย แต่กระนั้นในหลายท่ี (เช่นในสก็อตแลนด์) ขนาดมี ‘พระบัญชา’ จากกษัตริย์ให้ฉลองคริสต์มาสแล้ว ตามโบสถ์ก็ยังไม่ค่อยมีใครไปฉลองกัน
อิทธิพลของ Puritan ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในอังกฤษนะครับ แต่ในอาณานิคมของคนอังกฤษที่อเมริกา (หรือพวกพิลกริม) ก็เอาด้วย ถึงขนาดที่ทำให้คริสต์มาสเป็น ‘ของผิดกฎหมาย’ กันเลยทีเดียว กว่าจะยกเลิกการแบนคริสต์มาสก็ใช้เวลาหลายสิบปีอยู่
แต่กระนั้น การต่อสู้ต่อรองทางอำนาจในเรื่องของคริสต์มาสก็ไม่เคยจบลง มีประเด็นใหม่ๆ มาเป็น ‘สนามประลอง’ อยู่เสมอ อย่างตอนต้นศตวรรษที่ 20 เกิดการต่อสู้ระหว่างคำว่า Christmas กับ Xmas ซึ่งหลายคนมองว่า คำว่า Xmas เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ในทางการค้า เป็นภาพตัวแทนของการบริโภคอย่างไม่บันยะบันยัง แต่ไม่ได้มีความหมายในทางศาสนาที่แท้จริง
คนแรกที่ออกมาเสียดสี Xmas น่าจะเป็นนักเขียนดังอย่าง C.S. Lewis (ผู้เขียนเรื่องนาร์เนีย) และต่อมา Church League of America ก็ออกมาโจมตีซ้ำอีกโดยบอกว่า X คือตัวแปรที่เราไม่รู้ว่าเป็นอะไร (unknown factor) เพราะฉะนั้นการเอา X มาใช้แทน Christmas จึงเท่ากับลบหลู่ดูหมิ่นคริสต์มาสไปในตัว (แม้จะมีคนบอกว่า X คือเครื่องหมายกางเขนก็ตามที)
สำหรับผม สนามประลองที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในกลางศตวรรษที่แล้ว คือสนามประลองของความคิดเรื่องซานตาคลอส โดยสาธุคุณขวาจัดคนหนึ่ง ชื่อ Geral Smith (ผู้ไม่เอา X ใน Xmas ด้วยเหมือนกัน) ออกมาบอกว่า ‘ซานตาคลอส’ นั้นเป็นแค่ ‘สิ่งประดิษฐ์’ ที่ชาวยิวคิดค้นขึ้นมาเพื่อจะใช้เป็น ‘เครื่องมือ’ ในการขายของเท่านั้น ไม่ได้มีความสลักสำคัญอะไรเลยสักนิด แต่ที่ทำให้เขาโกรธยิ่งนักก็คือ ซานตาคลอสนั้นมาบดบังชื่อของพระเยซู ซึ่งควรจะเป็นศูนย์กลางสำคัญของคริสต์มาส แต่เด็กๆ กลับพูดถึงแต่ซานตาคลอสๆ เพราะอยากได้ของขวัญ เขาจึงเสนอว่าควรกำจัดซานตาคลอสทิ้งไปเสีย
ช่างคิดเนาะ!
พอมาถึงยุคปัจจุบัน สนามประลองชื่อคริสต์มาสยิ่งสนุกยุ่งขิงกันเข้าไปใหญ่ ถึงขั้นเกิดสิ่งที่เรียกว่า The War on Christmas หรือ ‘สงครามว่าด้วยคริสต์มาส’ กันเลยทีเดียว
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ นะครับ แต่ไปไกลถึง
ระดับรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาโน่น
เรื่องของเรื่องก็คือ ในช่วงต้นศตวรรษที่ผ่านมา กระแสเรื่อง Political Correctness หรือทำอะไรก็ต้องให้ ‘ถูกต้อง’ ทางการเมืองไปเสียหมดนั้น กำลังมาแรงจัด เลยมีคนเสนอว่า วันหยุดคริสต์มาส ซึ่งถือว่าเป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการของสหรัฐอเมริกา (คือเป็น federal holiday) นั้น, เอาเข้าจริงแล้วผิดรัฐธรรมนูญนะครับ เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาห้ามการมี ‘ศาสนาประจำชาติ’ แต่การหยุดวันคริสต์มาส เป็นการกระทำที่คล้ายๆ กับจะยกให้ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาประจำชาติไปแล้ว
หลายคนเสนอว่า คำว่า Christmas ที่ใช้กับช่วงเทศกาลนี้ เป็นคำที่ ‘ศาสนาเกินไป’ เพราะฉะนั้นจึงควรเซนเซอร์ ยกเลิก หรือหลีกเลี่ยงเสีย โดยควรหันมาใช้คำว่า Holiday แทน เพื่อให้เกิด Political Correctness ซึ่งก็ถูกโต้กลับจากหลายฝ่ายว่าเป็นเรื่องไร้สาระที่มาคิดเรื่องนี้ แต่อีกฝ่ายก็แย้งกลับมาว่า การใช้เงินของรัฐไปในการประดับตกแต่งในช่วงคริสต์มาส (โดยของที่ประดับตกแต่งเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศาสนา) นั้น, ถือว่าละเมิดรัฐธรรมนูญ เพราะไม่เห็นความสำคัญของคนในศาสนาอื่น คนนับล้านๆ ต้องมาร่วมฉลองเทศกาลที่เกี่ยวข้องกับศาสนาเพียงศาสนาเดียว จึงเกิดการถกเถียงกันว่า การตกแต่งด้วยของที่เกี่ยวข้องกับศาสนา (Religious Displays) ควรมีอยู่ในโรงเรียนของรัฐ ศาล หรืออาคารของรัฐหรือเปล่า (เช่นการจัดถ้ำพระกุมารในโรงเรียน) เรื่องพวกนี้ยังคงถกเถียงกันมาตลอดจนถึงปัจจุบัน โดยกระแสเหวี่ยงกลับไปกลับมาอยู่ตลอด
ตัวอย่างหนึ่งของการถกเถียงนี้ก็คือต้นคริสต์มาส คือเถียงกันว่าควรเรียกมันว่า Christmas Tree หรือจะเรียกว่า Holiday Tree ดี การถกเถียงนี้ตลกดีนะครับ เพราะมันชวนให้นึกถึงนาซีเยอรมัน ที่เปลี่ยนการเรียกต้นคริสต์มาสไปเป็น Tennenbaum ที่หมายถึง Fir Tree หรือต้นสนเฉยๆ แต่เป้าหมายของนาซีเยอรมันก็คือการ ‘กำจัด’ สิ่งที่เป็นมรดกของพวกนอกรีตหรือ pagan ทั้งหลายออกให้หมด เพื่อให้เหลือแต่คริสต์มาสแท้ๆ ที่เหมาะกับสายเลือดอารยันเท่านั้น จึงเป็นเป้าหมายที่ทั้งเหมือนและต่างจากเป้าหมายของพวก Puritan
ประเทศที่น่าจะมีปัญหาเรื่องนี้มากที่สุดน่าจะเป็นตุรกี เพราะตุรกีได้รับอิทธิพลจากยุโรปไม่น้อย จึงมีการเฉลิมฉลองคริสต์มาสในแบบที่ไม่เอาเรื่องศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย (เรียกว่าเป็น Secular Version of Christmas) โดยศูนย์กลางสำคัญของคริสต์มาสตุรกีคือซานตาคลอส เพราะเชื่อกันว่า ซานตาคลอสหรือนักบุญนิโคลาสนั้นมีกำเนิดในตุรกี แต่ต่อให้ซานตาคลอสมีกำเนิดในตุรกี แต่ในระยะหลังก็มีการรณรงค์ต่อต้านซานตาคลอสเกิดขึ้นทุกปี เข้าใจว่าปีนี้ก็น่าจะมีอีก
ดังนั้น คริสต์มาสที่เราชอบมองแบบ ‘ใสๆ’ ว่าเป็นเทศกาลแห่งความสุขเหลือเกิน งดงามเหลือเกิน ชื่นชมยินดีเหลือเกิน แท้จริงจึงมีการต่อสู้ทางอำนาจของอุดมการณ์ต่างๆ ซ่อนอยู่ในประวัติศาสตร์อย่างซับซ้อนตลอดมา ตั้งแต่อำนาจทางทหาร การปกครอง ความรักชาติ ไปจนถึงการถกเถียงเรื่องกำเนิดของคริสต์มาสและการ ‘ชำระ’ คริสต์มาสให้ขาวสะอาด การต่อสู้ระหว่างซานตาคลอสกับพระเยซู ระหว่างบริโภคนิยมกับศาสนา ระหว่างอนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม และการต่อสู้ของความพยายามที่จะ Politically Correct กันแบบสุดลิ่มทิ่มประตู
คริสต์มาสที่แลดูเริงรื่นแสนสุขสนุกสนาน จึงมีเรื่อง ‘ไม่สนุก’ ที่สะท้อนให้เห็น ‘ความเป็นมนุษย์’ ที่ซับซ้อนและขัดแย้งกันอยู่เสมอ, ซ่อนเร้นอยู่อย่างนี้เอง
(เอาเถอะ! ถึงอย่างไรก็…) Merry Christmas นะครับ