นอกจากการไปใช้เวลากับคนที่มีค่าต่อเราและสังสรรค์สิ้นปี ธรรมเนียมประจำสิ้นปีอีกอย่างกำลังกลับมา นั่นคือ ‘รีวิวท้ายปี’
มองไปทางซ้ายก็เห็นรีวิวการเติบโตของตัวเองในการงาน มองไปทางขวาก็เห็นคนมูฟออนในเรื่องส่วนตัว สลัดทิ้งซึ่งภาระทางใจเพื่อเดินไปในปีใหม่แบบตัวเบาๆ
แต่ตัดภาพมาที่ตัวเองล่ะ? เผลอเอาตัวเองไปเทียบกับเขาอีกแล้วแล้วก็เศร้าอีกแล้ว คนนั้นเพื่อนรุ่นเดียวกันแต่ดูเขาก้าวไปไกลโพ้นจากเราไปมากๆ แล้ว อีกคนก็เหมือนว่าลอยตัวเหนือปัญหาที่เขาพบเจอมาตลอดหลายปีได้ เรายังเหมือนย่ำอยู่กับที่ อะไรที่หวังไว้ตอนต้นปีก็ไปไม่ถึง และแม้จะไม่ได้ลำบากอะไร แต่เราห่วยหรือเปล่าเลยไม่โตแบบชาวบ้านเขาในปีนี้? แล้วตัวก็ตัวเรา ทำไมมันรู้สึกผิดจังที่เราอยู่ตรงนี้?
แล้วปีของเรามันมีอยู่จริงไหม? เมื่อไรกันเราจะเจอ? แล้วถ้ามันไม่เจอสักทีมันเป็นอะไรรึเปล่า?
ความสำเร็จเป็นเพียงด้านเดียว
สิ่งที่น่าคิดเมื่อเรามองไปรอบตัวเจอแต่การเติบโตบวกๆ ไม่ใช่แค่การถามว่าทำไมประสบการณ์ชีวิตของเราไม่เป็นแบบนั้นบ้าง แต่อาจเป็นทางกลับกัน นั่นคือคำถามว่าทำไมมันไม่เห็นเรื่องลบๆ เท่าไรเลย? เพราะว่าเรื่องราวที่เราเห็นมักไม่ใช่เรื่องทั้งหมด และมันมีหลายเหตุผลที่ทำให้การเขียนสรุปปลายปีเป็นไปอย่างนั้น
เหตุผลแรกคือเหตุผลที่พื้นฐานที่สุด นั่นคือความรู้สึกสำเร็จนั้นเสพติด และนั่นไม่ใช่การเปรียบเปรย แต่มันเสพติดจริงๆ ผ่านการหลั่งสารในสมอง โดยสารนั้นๆ คือโดปามีน ฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่มีชื่อเล่นว่า สารแห่งความสุข ซึ่งมันจะหลั่งออกมาเมื่อเราทำอะไรสักอย่างแล้วรู้สึกมีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาเพื่อเป็นสัญญาณให้เรารู้ว่า ต้องทำอีกนะ และนั่นคือความเสพติดนั่นเอง
โดยนอกจากการพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้ในตัวของมันเองที่ทำให้เราหลั่งโดปามีนแล้ว อีกสิ่งที่เป็นการหลั่งสารความสุขอีกหนึ่งระลอกคือเมื่อเราได้รับคำชื่นชมด้วย และในมุมมองของเรากว่าเราจะไปถึงตรงนั้นได้ เราก็ควรได้รับความสุขอย่างเต็มที่หรือเปล่า? ก็เลยไม่น่าแปลกใจหรอกที่เราจะเล่าแต่เรื่องราวของความสำเร็จ
อีกสาเหตุอาจจะมาจากธรรมชาติของความทรงจำมนุษย์ ไม่ใช่เราทุกคนจะเป็นกล้องถ่ายรูปหรือมีระบบเก็บความจำเหมือนคอมพิวเตอร์ที่จะสามารถหยิบภาพในอดีตออกมาได้เป็นภาพที่ตรงตามความเป็นจริง 100% แบบที่มันเกิดขึ้น แต่วิธีการทำงานของความทรงจำมนุษย์คล้ายกับการที่เราจดอะไรสักอย่างลงบนสมุดโน้ต เก็บมันไว้สักที่ แล้วอีกเดือนหนึ่งเรากลับมาดูสมุดเล่มนั้นพร้อมกับลองนึกว่าอะไรที่ทำให้เราจดมันอย่างนั้น
แปลว่าเมื่อมีเหตุการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งแรกที่เราทำคือการเข้ารหัส (Encode) นั่นคือเราตีความสิ่งที่เกิดตรงหน้าเป็นรูปแบบที่สมองของเราจะเก็บได้ ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของมัน จากนั้นเราจัดเก็บ (Storage) โดยเราเลือกจัดเก็บมันเป็นความทรงจำระยะสั้น หรือระยะยาว และเมื่อเราจะใช้ เรานำออก (Retrieval) ผ่านวิธีการที่ต่างกันไป หากเป็นความทรงจำระยะสั้นเราจะหยิบมันออกมาตามความจำเป็นของมัน แต่ระยะยาวเราจะหยิบมันออกมาผ่านความสัมพันธ์กับความทรงจำอื่นๆ ที่รายล้อมมัน
เราคุยกันมายืดยาวเกี่ยวกับความทรงจำเพื่อบอกว่า เราเป็นผู้กำหนดหน้าตาของความทรงจำในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนขั้นตอนสุดท้ายในการจำและนำมาใช้ เช่นนั้นแล้วความทรงจำนั้นเปลี่ยนหน้าตาและความหมายเสมอ ดีมากกว่า หรือเจ็บปวดมากกว่า เราบิดมันผ่านการตีความของเรา และการตีความของเราขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ระยะห่างของเราจากความทรงจำ สภาพจิตใจของเรา และช่วงเวลาที่เราตีความมัน
และในช่วงปลายปีแบบนี้เราก็อยากจะตีความให้เรื่องราวที่ผ่านพ้นมาได้เป็นเรื่องบวกมากกว่าลบจริงไหม?
อย่างน้อยมันก็สร้างความหมายให้ความเจ็บปวดที่พาเรามาตรงนี้ได้บ้าง
ความล้มเหลว (และความสำเร็จ) ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเราคนเดียว
เรามักโดนทำให้เชื่อว่าที่เราไปไม่ถึงฝั่งฝัน หลักๆ แล้วเป็นเพราะเราพยายามไม่มากพอ ทำงานไม่หนักพอ ไม่โฟกัสไปยังเป้าหมายของเรามากพอ แต่ถ้าหากโลกของเราทำงานอย่างนั้นจริง ไม่ใช่ว่าคนที่ทำงานหนักสุดๆ อย่างพนักงานก่อสร้าง กรรมกร คนงานโรงงาน ฯลฯ คงจะเป็นคนรวยที่สุดในไทยไปแล้วว่าไหม?
ในความเป็นจริงแล้ว ทางเดินไปยังสิ่งที่เราเรียกว่า ‘ความสำเร็จ’ นั้นมีตัวเสริมหรือมารผจญมากกว่าเพียงตัวเราเอง และไม่ใช่ทุกปัญหาที่เราจะแก้ไขได้เองในฐานะคนคนเดียวว่าไหม?
สมมติว่าเราต้องการเปิดร้านกาแฟ เราเลือกทำเลอย่างดี เมล็ดที่ใช้ก็คัดมาแล้วว่าเหมาะกับวิธีการทำกาแฟทุกแบบที่จะมีให้บริการ และเราฝึกกดช็อต ทำกาแฟดริป เรียนเทคนิคทำลาเต้อาร์ตไปแล้ว 200 แก้ว พร้อมทั้งแต่งร้านให้น่านั่ง เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ไม่ลืมที่จะใส่ความยูนิคของตัวเองลงไปด้วย ขนมที่วางในตู้ก็คิดสูตรขึ้นมาเอง อบเองทุกเช้า ฯลฯ แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้คนมาซื้อกาแฟในราคาที่สมเหตุสมผลกับแรงที่เราลงไป เราจะทำอะไรได้บ้าง?
ไม่เหมือนกับที่ลุงผู้อยู่ในอำนาจท่านหนึ่งชอบบอกว่า ถ้าปลูกพืชอย่างหนึ่งไม่ได้ราคา ก็ไปปลูกอีกอย่างแทน การโทษว่าเราในฐานะคนทำงานผิดเองที่ไม่ปรับตัวไปขายข้าวมันไก่แทนกาแฟนั้นไม่ใช่ทางออกที่ใช้การได้ มันไม่ใช่ทางออกด้วยซ้ำแต่เป็นการโยนภาระในการเอาชีวิตรอดไว้ในมือของเรา แต่นั่นนอกเรื่อง ประเด็นคือหลายสิ่งที่เรามองว่าเป็นความล้มเหลว อาจไม่ได้มาจากความไม่พยายามของเรา แต่มาจากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจ โรคระบาด สถานะทางสังคม สงคราม ฯลฯ เรื่องที่ดูไกลตัวเหล่านั้นส่งระลอกคลื่นของผลกระทบถึงพวกเราอยู่เสมอ
จังหวะชีวิตไม่สนใจปฏิทิน
คงได้ยินกันจนเบื่อ แต่เราขอสัญญาว่าจะพูดมันในมุมที่ไม่น่าเบื่อ แต่เวลาเป็นเรื่องสมมติ ปีใหม่เองก็เช่นกัน แต่ทั้งนี้เราไม่ได้ยกมันขึ้นมาเพื่อไล่ให้ทุกคนกลับบ้านไปนอนหรือหยุดการนั่งนับถอยหลังตอนรับปีใหม่ แล้วก้มหน้าก้มตาใช้ชีวิตตัวเองไป แต่ยกขึ้นมาเพื่อบอกว่าในขณะที่มันเป็นสัญลักษณ์แห่งการสิ้นสุด การเริ่มต้นใหม่ หรือการเติบโตไปข้างหน้า เราไม่จำเป็นต้องให้มันหมายความอย่างนั้นในทุกส่วนของชีวิตก็ได้ เพราะให้พูดตามตรงมันแทบกำหนดไม่ได้
จากเรื่องทั้งหมดที่เราคุยกันไปข้างต้น วาดภาพความคาดหวังของเราและมนุษย์จำนวนมากเกี่ยวกับห้วงเวลาปีใหม่ มันแทบจะทำหน้าที่เหมือนกับเสียงปืนที่ยิงขึ้นเพื่อบอกกับเราและคนอื่นๆ ว่าให้เริ่มการวิ่งแข่งไปสู่เส้นชัยของตัวเองได้แล้ว แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า เราทุกคนไม่ได้มีความพร้อมเท่ากันเมื่อปืนกระบอกนั้นลั่นน่ะสิ เราอาจจะยังนอนพักเหนื่อยจากการวิ่งรอบที่แล้ว ออกวิ่งไม่ได้เพราะเราต้องมีคนที่ต้องดูแล เราอายุมากเกินกว่าจะวิ่งแบบเดิม หรือบางทีเรายังไม่ถึงเส้นชัยของปีที่แล้วเลยด้วยซ้ำ
เหตุเดียวกันกับที่ปณิธานปีใหม่ของเราบ่อยครั้งไม่ประสบความสำเร็จ การให้ปีใหม่เป็นสัญญาณที่บังคับที่ยืนของเราในชีวิตตัวเองอาจจะมากเกินไปหน่อย เพราะจังหวะชีวิตของเราไม่ขึ้นตรงต่อเส้นตารางของปฏิทิน ต่อตัวเลขในเดือนมกราคม หรือต่อพลุบนฟากฟ้า แต่มันมาจากความบังเอิญของโลก จากการกระทำของเราเองแม้เล็กที่สุดและเนิ่นนานจนเราจำไม่ได้ จากสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดา หรือทั้งหมดนั้นรวมกัน
ฉะนั้นปีใหม่นี้ เมื่อเราได้ยินสัญญาณให้เริ่มวิ่ง ลองมองมันเป็นอย่างอื่น นั่งดูคนอื่นวิ่ง เฉลิมฉลองความสำเร็จของเขา ในขณะที่เราเดินอย่างเชื่องช้าไปสู่เป้าของเรา
อ้างอิงข้อมูลจาก