มุมมองที่เรากำลังตีความพระเจ้าอยู่นั้น เป็นมุมมองจากใคร?
คำถามที่พาให้เราต้องกลับมาทบทวนกันอีกครั้งว่า ในทุกวันนี้ ‘โบสถ์’ มีตัวแทนของคนกลุ่มไหนอยู่มากที่สุด ตรงกันข้าม ตัวแทนของคนกลุ่มไหนที่ไร้ตัวตนในศาสนาสถานแห่งนั้น
หลายคนทราบกันดีว่า LGBTQ+ มักไม่ได้รับการต้อนรับในศาสนาคริสต์ ในระดับที่แตกต่างกันไป บ้างก็มองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ บ้างก็ยอมรับอย่างมีข้อจำกัด และบ้างก็มองเป็นความผิดบาป หรือร้ายแรงยิ่งกว่าคือมองเป็นความชั่วร้ายที่เข้ามาสิงสู่ผู้มีความหลากหลายทางเพศ
แต่ท่ามกลางความเห็นที่แตกต่างกันนั้น การตระหนักรู้และเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศก็เป็นสิ่งที่แพร่หลายมากขึ้นในศตวรรษนี้ และในวันที่กรุงเทพฯ จัดขบวนแห่ Bangkok Pride 2023 ป้ายข้อความหนึ่งก็สะดุดตาเรา เป็นข้อความสั้นๆ เรียบง่าย แต่ทรงพลังที่ระบุว่า “ขอโทษแทนคริสตจักรไทย”
ข้อความนี้ ถูกชูโดยกลุ่มที่แทนตัวเองว่า ลำธารสีรุ้ง นั่นทำให้เราติดต่อหา สิทธวีร์ ธีรกุลชน ตัวแทนจากชุมชนคริสเตียนที่ยืนยันในอัตลักษณ์ของ LGBTQ+ เพื่อพูดคุยถึงที่มาของการออกมาแสดงตัวตนสนับสนุนคนเพศหลากหลาย และหาคำตอบว่า ทำไมศาสนาถึงควรโอบรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
อยากให้เล่าถึงที่มาก่อนว่า ลำธารสีรุ้ง คืออะไร
‘ลำธารสีรุ้ง’ เป็นชื่อที่น้องคนหนึ่งที่เป็น LGBTQ+ ในกลุ่มเสนอขึ้นมา ตอนเริ่มทำผมไม่รู้จะตั้งชื่ออะไร ใครอยากช่วยตั้งชื่อก็เสนอกันขึ้นมา ซึ่งคำว่า ‘ลำธาร’ เป็นสัญลักษณ์ในคัมภีร์ไบเบิลที่พูดถึงค่อนข้างบ่อย หมายถึงว่าน้ำไหลไปที่ไหนมันก็ให้ชีวิต เป็นสถานที่สร้างชีวิต แล้ว ‘สีรุ้ง’ ก็หมายถึงความหลากหลาย
กลุ่มลำธารสีรุ้ง เคลื่อนไหวอะไรบ้าง
เราทำสองอย่าง อย่างแรกเราทำงานกับพี่น้องที่เป็น LGBTQ+ โดยรวบรวมชาวคริสต์ที่นิยามตัวเองว่าเป็น LGBTQ+ ในกลุ่ม OpenChat ของไลน์ ซึ่งหลายคนยังไม่กล้าเปิดเผยตัวตน เราพยายามสร้างเป็นชุมชน มีกลุ่มคอล Zoom ด้วยกันอาทิตย์ละหนึ่งครั้ง จัดรวมตัวกันบ้างตามจุดต่างๆ ในกรุงเทพฯ พยายามสร้างคอมมูนิตี้ของพี่น้อง LGBTQ+ ที่เป็นคริสเตียน เพราะอยากจะทำให้เห็นว่ามีคนเป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยนอยู่ในโบสถ์จริงๆ คนกลุ่มนี้ถูกกดทับตลอด เวลาไปที่โบสถ์ส่วนใหญ่ก็จะปกปิดตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าเป็น LGBTQ+ เราเลยอยากจะรวมตัวพวกเขา เพื่อให้คนเห็นว่าคนกลุ่มนี้มีตัวตนอยู่ในโบสถ์จริงๆ
อันที่สองคือเราทำงานกับสเตรท (straight) โดยตรง ก็คือเราพยายามให้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ พยายามสอนสิ่งที่เราเชื่อว่าคัมภีร์ไบเบิลไม่ได้โจมตีคนที่เป็นเกย์ ไม่ได้บอกว่าเกย์เป็นความบาปด้วยซ้ำ พยายามเผยแพร่เนื้อหาคำสอนแบบนี้ออกไปว่า มีวิธีการมองไบเบิลแบบใหม่นะ มันควรจะตีความแบบนี้มากกว่าแบบเก่าที่เข้าใจกันมา แล้วก็ทำเว็บไซต์ ทำคอนเทนต์ เปิดคลาสออนไลน์สอนเพื่อที่จะให้คนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น
ได้แชร์ประสบการณ์กันด้วยรึเปล่า
มีครับ และเราเชื่อว่าโบสถ์ไม่ได้ยินเรื่องราวของคนเหล่านี้เลยคนกลุ่มนี้ เพราะมองว่าไม่มีตัวตน ผมก็พยายามจะกระจายเสียงชีวิตของพี่น้องเหล่านี้ออกมา เวลาคนกลุ่มนี้เดินเข้ามาในโบสถ์ก็ปิดตัวเอง ไม่มีใครรู้ว่าเขาเป็น แต่จริงๆ แล้วเขาอึดอัดใจ ผิดหวัง เป็นทุกข์ และมีเรื่องราวที่เขาอยากจะเล่า แต่ไม่มีที่ไหนรับฟังเขา แล้วก็ไม่มีที่ไหนปลอดภัยพอ
เราเลยพยายามสร้างชุมชนเพื่อจะให้เขาแต่ละคนมาวนกันเล่าเรื่องชีวิตของตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อว่าทำไมเขาเป็นเกย์แล้วเขายังอยากมาเป็นคริสเตียนอยู่ คนส่วนใหญ่เลิกเชื่อพระเจ้า เลิกไปโบสถ์กันแล้ว ไปโบสถ์เสร็จก็โดนคนด่า ไปโบสถ์ทำไม แต่คนกลุ่มนี้ก็ยังอยากไปโบสถ์อยู่ ในขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยเช่นกัน
เราทำให้เขามีพื้นที่ที่จะได้แบ่งปันชีวิตของตัวเองออกมา ซึ่งแต่ละเรื่องราวนั้นดีมาก แล้วผมก็เข้าใจเลยว่าทำไมผู้นำโบสถ์ ผู้นำคริสตจักรถึงไม่เคยได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ เพราะเสียงของพวกเขาแผ่วเบามาก คุณต้องตั้งใจฟังจริงๆ
มีเรื่องที่พอแชร์ได้ไหม ที่เขาเล่าออกมา แล้วคุณอยากให้คนอื่นได้ยินสิ่งนี้เหมือนกัน
(นิ่งคิด) ผมได้ฟังเรื่องของรุ่นพี่คนหนึ่งที่เป็นเกย์ เขาบอกว่าทุกครั้งที่ไปที่โบสถ์ เขาต้องปกปิดตัวเอง เขาไม่เคยพาแฟนไปโบสถ์สักครั้งเดียวแม้ว่าจะคบกันมาหลายปีแล้วก็ตาม และไม่เคยคิดจะพาไป เพราะกลัวคนอื่นรู้ แล้วเวลาคนในโบสถ์พูดเรื่อง LGBTQ+ ว่าเป็นสิ่งผิดบาป เขาก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วย ทำเป็นเออออ ทั้งที่ตัวเขาไม่เห็นด้วย แล้วตัวเขาเองก็รู้สึกเหมือนถูกตอก ถูกด่าตลอดเวลา แต่เขาก็ไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้
กลายเป็นว่าเขาต้องไปโบสถ์แบบมีสองหน้ากาก หน้ากากทำตัวเป็นคนดี เห็นด้วยว่า LGBTQ+ เป็นบาป แต่ตัวตนเขาไม่เคยอยู่ตรงนั้นเลย มันเป็นตัวปลอม ต้องทำเป็นเออออ แต่สรุปก็คือคนที่โบสถ์ไม่เคยรู้จักเขาในแบบที่เขาเป็นเลยจริงๆ ไม่เคยรู้ว่าแฟนเขาเป็นใคร ไม่เคยรู้ว่าเขารู้สึกยังไง แล้วมันมีเรื่องราวแบบนี้อีกเป็นร้อยเป็นพันที่ผมรู้สึกว่าเราไม่ได้ยินเรื่องราวของพวกเขา เพราะว่ามันไม่ปลอดภัยพอให้พวกเขาเล่าเรื่องตัวเองออกมา
อีกเรื่องคือ มีน้องคนนึงสารภาพกับพ่อแม่ว่าตัวเองเป็นเกย์ แล้วเขาก็ถูกพ่อแม่บอกว่าให้ไปสารภาพ ‘ความชั่วร้าย’ ที่โบสถ์ แล้วคนที่โบสถ์ก็ปลดเขาออกจากทีมงานที่โบสถ์ ทำให้เขาสูญเสียโอกาสในโบสถ์ไป ต้องอับอาย อาจารย์ประจำโบสถ์ก็บอกว่านี่มันเป็นเรื่องที่ชั่วร้าย ถูกภาวนาขับไล่ผี
เขาเชื่อว่า เกย์คือวิญญาณร้าย เขาก็จะภาวนารุมกันขับไล่ให้วิญญาณร้ายนี้ออกไป แล้วก็ให้เข้ากระบวนการบำบัดที่เรียกว่า conversion therapy ซึ่งเชื่อกันว่า หากเป็นคริสเตียนที่แท้จริง ต้องเลิกเป็นเกย์ได้ หรือเชื่อว่าถ้าคุณเป็นคริสเตียนที่ดี ก็จะเลิกเป็นเกย์ไปเอง เพราะต้องผ่านกระบวนการบำบัด เราอยากชี้ให้เห็นว่ามีอีกหลายเคสที่หนักข้อและคนหลากหลายทางเพศต้องเผชิญ
ทำไมตัวคุณถึงออกมาขับเคลื่อนเรื่องนี้
ย้อนกลับไป 6-7 ปีก่อน ผมรู้จักรุ่นน้องคนหนึ่งที่เป็นคริสเตียน แล้วก็เป็นเกย์ด้วย ซึ่งหายากมากเพราะว่าคนที่เป็นเกย์ส่วนใหญ่ก็จะไม่ประกาศว่าตัวเองเป็นคริสเตียน หรือคนที่เป็นคริสเตียนส่วนใหญ่ก็จะไม่ประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ แต่น้องคนนี้ประกาศว่าตัวเองเป็นเกย์ด้วย มีแฟนด้วย แล้วก็ยังอยากเป็นคริสเตียนอยู่ ผมก็นั่งคุยกับเขา แล้วเราก็นั่งแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ก่อนต้องยอมรับว่า ผมก็เชื่อแบบที่คริสเตียนส่วนใหญ่เชื่อ ก็คือเกย์ไม่ถูกต้อง เกย์เป็นความผิดบาป มานั่งในโบสถ์ได้ จะเป็น LGBTQ+ ก็ได้ แต่ว่าคุณไม่มีสิทธิ์แต่งงานกัน
ผมก็นั่งคุยกับเขา เขาถามว่า “แบบนี้ผมไม่มีสิทธิ์ที่จะมีเซ็กซ์ตลอดชีวิตเลยเหรอครับ” ผมก็อึ้งแล้วก็พยักหน้า พอจบวันนั้นผมก็กลับนั่งคิดว่า ทำไมมันโหดร้ายสำหรับเขาจังเลย ทำไมคนคนหนึ่งถึงไม่มีสิทธิ์ที่จะมีเซ็กซ์ตลอดชีวิต ไม่มีสิทธิ์ที่จะมีความรักในแบบอีโรติกตลอดทั้งชีวิตเลย ทั้งที่ตัวผมก็มีความรักได้ปกติไม่ต้องรู้สึกผิดอะไร แต่ผมกลับเอาภาระอันหนักอึ้งนี้ให้เขาแบกว่าคุณไม่มีสิทธิ์ที่จะมีเซ็กซ์ เลยเริ่มศึกษาแล้วน้องเขาก็ให้หนังสือผมมา ผมก็พยายามศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการตีความคัมภีร์ไบเบิลกับเรื่องเพศที่หลากหลายมากขึ้น
มีช่วงหนึ่งผมไปอยู่แคนาดา แล้วก็ลองเดินเข้าไปในโบสถ์ที่สนับสนุนความหลากหลายทางเพศ ก็เห็นว่าโบสถ์ทำงานเหมือนปกติ ทุกอย่างเหมือนปกติมาก แค่มีคู่เกย์ คู่เลสเบี้ยนเดินเข้ามาในโบสถ์ แล้วก็นั่ง แล้วก็มีคนหลากหลาย โบสถ์มันก็ฟังก์ชั่นปกติ มีคนร้องเพลง มีคนเทศนา โบสถ์ก็ปกตินี่นา แล้วทำไมมันถึงได้เป็นเรื่องใหญ่นักที่โบสถ์ถึงไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ
ผมก็เลยเริ่มศึกษาหนังสือวิชาการที่เกี่ยวข้องกับการตีความคัมภีร์ไบเบิลกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ แล้วไปถึงจุดที่ว่า มันเป็นแค่ธรรมเนียม ไม่ใช่คำสอนที่อยู่ในไบเบิลหรือความตั้งใจของพระเจ้าจริงๆ ด้วยซ้ำ ที่จะทำให้เราต่อว่าเกย์ว่าพวกเขาเป็นความชั่วร้าย ก็เลยไปถึงจุดที่ผมเชื่อแล้วว่าไบเบิลไม่ได้ต่อต้านเกย์ พระเจ้ารัก LGBTQ+ และพวกเขามีสิทธิ์ที่จะแต่งงานกับเพศกำเนิดเดียวกันได้ แต่พอกลับมา ผมเลือกที่จะอยู่เงียบๆ เพราะรู้ว่าถ้าพูดต้องโดนล่าแม่มดแน่ จะมีคนมาไล่ด่า ผมจะเสียหน้าที่การงานในโบสถ์ เลยปิดปากเงียบ
เวลาผ่านไป น้องที่เป็นเกย์คนนั้นเขาฆ่าตัวตาย เป็นสัญญาณเคาะกะโหลกว่าผมควรจะต้องทำอะไรสักอย่าง มีอีกกี่คนกันที่ต้องการความหวัง ต้องการกำลัง เดินเข้ามาในโบสถ์แล้วอยากได้ความรักมากกว่าความเกลียดชัง
ยิ่งวันเวลาผ่านไป จะมีอีกกี่คนที่อยากจะฆ่าตัวตาย เพราะคนที่เป็น LGBTQ+ ใช้ชีวิตในสังคมก็ยากอยู่แล้ว เดินเข้ามาในโบสถ์ยังถูกด่าอีก โบสถ์ควรจะเป็นสถานที่แห่งความรักมากกว่าเป็นสถานที่แห่งความเกลียดชัง ผมไม่สามารถทนเห็นคนถัดไปที่จะฆ่าตัวตายได้อีก เลยอยากจะทำอะไรสักอย่าง แล้วก็เริ่มออกมาเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการยอมรับความหลากหลายทางเพศในโบสถ์มากขึ้น
จนกระทั่งปีที่แล้วมี ส.ส.ท่านหนึ่งที่เป็นชาวคริสต์โหวตสวนมติพรรคก้าวไกลที่จะให้รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม ซึ่งผมก็รู้จักเขา เขาก็พูดแหละว่าไม่อยากทำให้คริสตจักรข้างในแตกแยกกันเอง ผมก็เข้าใจส่วนหนึ่ง แต่ก็รู้สึกว่า ไม่ได้ ถ้าเขาไม่ยืนหยัดให้กับพี่น้อง LGBTQ+ แล้วใครจะยืนหยัดให้ เราจะให้โบสถ์มันเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ เหรอ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องต่อสู้ ต้องแตกแยกกันบ้างในการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย เลยคิดว่า ถ้าเขาไม่พูด งั้นผมพูดเอง
ผมประกาศว่าใครรู้จักกับชาวคริสต์ที่เป็น LGBTQ+ บ้าง ผมอยากจะทำกลุ่มกลุ่มหนึ่งขึ้นมา ยังไม่มีชื่อด้วยซ้ำ พอตั้งไลน์ OpenChat ขึ้นมา ช่วงแรกมีคนเข้าร่วม 10-20 คนก็ดีใจแล้วนะ แต่ตอนนี้มีเกือบ 300 คนแล้ว แถมยังมีคนเข้ามาเยอะขึ้นเรื่อยๆ มีคนบอกต่อ ปรากฏว่ามีพี่น้องที่เป็น LGBTQ+ อยู่ในโบสถ์ตั้งเยอะตั้งแยะ แค่เขาไม่เปิดเผยตัวเอง แล้วก็มีหลายคนที่พร้อมจะสนับสนุน แต่ว่าไม่กล้า ตอนนี้ก็เลยกลายเป็นมูฟเมนต์ที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
มีกระแสต่อต้านบ้างไหม
โดนเยอะเลย แต่เขาไม่ได้ต่อต้านโดยตรง ต้องบอกว่าไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นทางอ้อมมากกว่า เช่น มีคนอินบล็อกมาด่าผม คำด่านี่ก็สารพัดรูปแบบไม่ว่าจะเป็น “ตกนรก” “มารซาตานได้ตัวผมไปแล้ว” “ผมเชื่อผิดเพี้ยน” “สอนเท็จ” “บิดเบือนพระคัมภีร์” “ผมไม่ได้เป็นคริสเตียนอีกต่อไปแล้ว” “เอาขยะจากความคิดตะวันตกมายัดให้กับคนไทย” โดนสารพัด
แต่ก่อนผมจะมีคนเชิญผมไปสอน ไปเทศนาค่อนข้างเยอะ เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใครกล้าเชิญแล้ว ผมก็สูญเสียโอกาสที่จะได้เผยแพร่คำสอน มีคนวิจารณ์ต่างๆ นานา ส่วนใหญ่เป็นคำวิจารณ์ แล้วก็คำด่ามากกว่า แล้วก็สร้างข่าวปลอมมาว่าผมเป็นเกย์ไปแล้วบ้าง เยอะมาก
ตั้งตัวหรือตอบรับกับคำวิจารณ์เหล่านี้ยังไง
ส่วนใหญ่ถ้าเป็นคนที่ผมรู้จักและใกล้ตัวก็จะพยายามอธิบาย เล่าจุดยืนที่ผมเชื่อ แต่เอาเข้าจริงเรื่องพวกนี้คนที่มันเกลียด มันก็เกลียด คนที่ไม่ชอบก็ไม่ชอบ ผมไม่รู้ว่าจะไปปรับความคิดทุกคนให้เข้าใจผมถูกต้องได้ยังไง
หลังๆ ผมก็ช่างมันแล้ว ใครจะด่าอะไรก็ด่าไป ใครจะเข้าใจเราผิด ก็ตามนั้น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญมากกว่าคือผมเริ่มทำสิ่งนี้เพราะว่าผมอยากช่วยพี่น้องที่เป็น LGBTQ+ ผมไม่ได้ต้องการให้สเตรทหัวโบราณเหล่านั้นมาเข้าใจผมถูกต้อง นั่นไม่ใช่จุดประสงค์ของผมด้วยซ้ำ ผมโฟกัสไปที่พี่น้องที่เป็น LGBTQ+ ดีกว่าว่าเขารู้สึกปลอดภัยขึ้นไหม ได้รับความรักมากขึ้นหรือเปล่า
มีคนมาบอกคุณว่า ‘สนับสนุน LGBTQ+ = ตกนรก’ คิดเห็นยังไงกับคำนี้
มันเป็นความคิดที่ตลกดี แม้ในแง่หนึ่งก็เข้าใจว่าความคิดนี้มาได้ยังไง ถ้าเขามองว่า LGBTQ+ เป็นความชั่วร้าย แล้วผมพูดว่านั่นไม่ใช่ความชั่วร้าย ก็เท่ากับผมบิดเบือนพระคัมภีร์ ก็เท่ากับผมตกนรก คือตรรกะมันก็ไหลมาแบบนี้ ซึ่งก็เข้าใจได้
แต่ผมคิดว่ามันสะท้อนความใจแคบ และไม่ได้เห็นโลกกว้างมากพอว่า มันมีความคิดเห็นที่หลากหลาย ศาสนามีการปรับเปลี่ยน พระคัมภีร์ตีความกันได้หลายรูปแบบและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากประวัติศาสตร์ 2,000 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าถ้าเขาวางอีโก้ลงหน่อย แล้วเพิ่มความถ่อมใจ ถ่อมตนลงไปมากขึ้น เขาจะเห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น
เคยเห็นคำกล่าวว่า “ถ้าการเป็นสเตรทไม่ทำให้เราได้รับความรอด การเป็น LGBTQ+ ก็ไม่ได้ทำให้ตกจากความรอดเหมือนกัน” หมายความว่ายังไง
หมายถึงว่าถ้าในศาสนาคริสต์มีความเชื่อกันว่าคนเราเข้าสวรรค์ได้ไม่ใช่เพราะทำดี แต่เพราะเราเชื่อในศาสดา ก็คือพระเยซูคริสต์ พอเชื่อเสร็จ ความเชื่อเท่านั้นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้ได้เข้าสวรรค์ ไม่งั้นคนที่ทำดีมากกว่า มีเงินเยอะกว่า บริจาคเยอะกว่า มีโอกาสมากกว่าก็เท่ากับทำดีมากกว่า ก็อาจจะมีสิทธิ์เข้าสวรรค์ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับคนที่ไม่มีโอกาสทำดีเท่า
เมื่อความดีไม่ได้เป็นเงื่อนไขในการได้เข้าสวรรค์อยู่แล้ว เขาก็เลยพูดประโยคนี้ว่า “เราไม่ได้เป็นสเตรทแล้วได้เข้าสวรรค์เลย ดังนั้นการเป็น LGBTQ+ ก็ไม่เท่ากับการตกนรกเหมือนกัน” ซึ่งผมคิดว่าก็เป็นประโยคที่ถูกต้อง
เวลาพูดเรื่อง LGBTQ+ มักจะมีคนแย้งโดยเทียบกับปัญหาอื่น เช่น งั้นก็แต่งงานกับสัตว์หรือคนในครอบครัวได้สิ คิดว่าคำกล่าวนี้สะท้อนอะไร
ผมคิดว่า สถาบันครอบครัวที่ชายหญิงแต่งงานกันมีมาตลอดหลายพันปี แล้วมาในศตวรรษนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงให้คนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันแต่งงานกันได้ คนที่มีความอนุรักษ์นิยมเขาก็คงจะตกใจกัน แล้วเอาเข้าจริง มันก็น่าตกใจนะ ที่เรากำลังจะเปลี่ยนสถาบันครอบครัวไปในมิติใหม่ๆ ซึ่งนั่นทำให้ความกังวลของคนจำนวนหนึ่งออกมาในรูปแบบต่างๆ สะท้อนออกมาจากความอนุรักษ์นิยมที่อยากให้สถาบันครอบครัวยังคงเดิม
ในขบวน Bangkok Pride 2023 มีป้ายที่เขียนว่า “ขอโทษแทนคริสตจักรไทย” ทำไมถึงต้องขอโทษ
อันนี้เป็นหนึ่งในป้ายที่มีคนไม่พอใจเยอะมาก โดยเฉพาะผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการคริสเตียน ก็ค่อนข้างโกรธว่าแล้วเขาทำอะไรผิด ทำไมต้องมีการไปขอโทษ แต่ผมคิดว่าเราเข้าใจกันคนละมุมมอง เราตั้งใจจะสื่อสารกับคนที่เป็น LGBTQ+ เพราะเวลาคนพูดถึงศาสนาคริสต์กับ LGBTQ+ ทุกคนคิดเหมือนกันว่า พระเจ้าเกลียดเกย์ไม่ใช่เหรอ พระเจ้าไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เหรอ จะชวนเขาเข้าโบสถ์ทำไม ผมคิดว่าอันนี้เป็นภาพที่พี่น้อง LGBTQ+ มีต่อคริสเตียน ซึ่งผมเสียใจทุกครั้งที่ได้ยิน และรู้สึกว่ามันไม่ตรงกับตัวตนของพระเจ้าที่ชาวคริสต์เชื่อ
เป็นเรื่องที่เหมาะสมอย่างมากที่เราจะต้องขอโทษพี่น้อง LGBTQ+ ที่เขาถูกใส่ร้าย ถูกด่า ถูกเหยียดหยาม ถูกขับไล่ออกไป แล้วทำให้เขารู้สึกว่าศาสนานี้ไม่มีความรัก
เราส่งข้อความแห่งความเกลียดชังออกไปมากกว่าความรัก ผมเห็นแล้วว่ามีพี่น้อง LGBTQ+ หลายคนที่ต้องดิ้นรน อึดอัด และสูญเสียตัวตน แทนที่เขาจะมาโบสถ์แล้วมั่นใจในตัวตนมากขึ้นว่าเขาเป็นใคร กลับกลายเป็นว่า คนส่วนใหญ่สับสน ถูกศาสนาบังคับให้กลับไปเป็นสเตรท และสูญเสียตัวตน เผชิญภาวะซึมเศร้า เผชิญความเครียด สิ้นหวัง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่ชาวคริสต์ควรจะมี สิ่งที่ศาสนาคริสต์ควรจะมอบให้ คือความหวัง ความสุข กำลังใจ แต่สิ่งที่เขาเดินเข้ามาแล้วได้รับกลับตรงข้ามทั้งหมดเลย จึงเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่จะขอโทษ
ผมยังเหมือนเห็นเลือดบนมือตัวเองอยู่เลย เพราะคำสอนในอดีตที่ผมเคยสอนว่า การเป็นเกย์เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง แล้วมี LGBTQ+ กี่คนที่ได้รับผลกระทบจากคำสอนนี้ ตัวผมเองอยากจะใช้โอกาสนี้ขอโทษ LGBTQ+ จำนวนมาก ถ้าคำสอนของผมเคยทำร้ายใคร ผมขอโทษอย่างยิ่ง และผมอยากจะทำให้ถูกต้อง ณ เวลานี้ที่เราจะยืนหยัดในความถูกต้องว่า นี่ไม่ใช่แก่นหลักของคัมภีร์ไบเบิลด้วยซ้ำที่จะประณามผู้คน แต่มันเป็นข่าวดี มันเป็นข้อความหลักของคัมภีร์ไบเบิลที่ว่า ทุกคนได้รับความรัก และคนทุกคนเข้ามาในโบสถ์ควรจะพบตัวตนใหม่ ควรจะมีความหวังใหม่
จริงๆ ก็มีผู้นำโบสถ์ มีอาจารย์ที่โบสถ์หลายคนก็ติดต่อมาเหมือนกันว่า โบสถ์เราอยากจะต้อนรับ LGBTQ+ นะ ถ้าเกิดว่ารู้จักใครก็สามารถส่งเข้ามาที่โบสถ์เขาได้ ผมก็เห็นความตั้งใจของโบสถ์มากขึ้นที่จะพยายามปรับเปลี่ยนตัวเอง
ทำไมการให้ LGBTQ+ มีบทบาทในโบสถ์ถึงเป็นสิ่งสำคัญ
การทำให้เขามีตัวตนเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับพี่น้อง LGBTQ+ เอง พอเมื่อเขาได้ลงมือทำ เขาจะมีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น สามารถมอบสิ่งดีๆ ให้กับชุมชนและโบสถ์ได้ ในขณะเดียวกันคนอื่นๆ เขาก็จะได้รับรู้ว่าพี่น้อง LGBTQ+ ก็มีหัวใจที่อยากจะช่วยเหลือคนอื่น และมีตัวตนอยู่จริง ไม่ได้อยู่ในมายาคติที่เข้าใจไปว่าวันๆ มีเซ็กซ์ มั่วเซ็กซ์ คือคนกลุ่มนั้นก็ยังมีมายาคติแบบนั้นอยู่
เรื่องสำคัญคือ ผมคิดว่าพอโบสถ์มีแต่ผู้ชายที่เป็นคนนำ ถ้าไปดูสถิติ ส่วนใหญ่คนที่เป็นอาจารย์ในโบสถ์ก็คือเป็นผู้ชายสเตรท พอมีแต่คนกลุ่มนี้ ก็เกิดก้อนเป็นความคิดเดียว มองพระคัมภีร์ก็ตีความแบบเดียว ผู้ชายมองแบบนี้ ก็ตีความออกมาแบบนี้ และสอนออกมาแบบนี้
ถ้าเราใส่ความหลากหลายทางเพศเข้าไปในโบสถ์ได้มากขึ้น เราอาจจะได้มองเห็นพระเจ้าในมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เพราะเลนส์ที่ผู้หญิงมองพระเจ้า เลนส์ที่ผู้ชายมองพระเจ้า เลนส์ที่เกย์มองพระเจ้า มันเป็นคนละเลนส์ แล้วเราจะได้เข้าใจพระเจ้าในมุมมองที่หลากหลายขึ้น
เพราะอะไร ศาสนาถึงควรจะปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
คนในวงการคริสเตียนค่อนข้างตื่นตระหนกตกใจ แต่จริงๆ แล้วศาสนาปรับตัวตลอดเวลา คำสอนของคัมภีร์ไบเบิลเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ถ้าย้อนดูใน 2,000 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเลยว่าศาสนจักรเคยสอนแบบหนึ่ง แล้วพอช่วงเวลาเปลี่ยนไป ก็เปลี่ยนคำสอนเป็นอีกแบบหนึ่ง
ยกตัวอย่างเมื่อไม่เกิน 100 ปีก่อน ศาสนจักรจะสอนว่าผู้หญิงห้ามเทศนา ห้ามเป็นผู้นำโบสถ์ แล้วก็มีการต่อสู้ มีการแตกคณะนิกายกันไป จนตอนนี้หลายๆ โบสถ์ก็หันมายอมรับผู้หญิงมากขึ้น ผมคิดว่า LGBTQ+ ก็จะเป็นหนึ่งในเรื่องนั้น
ดังนั้น ศาสนจักรควรจะเรียนรู้ที่จะเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ มองตัวเองแล้วก็เปิดโอกาสให้คนวิพากษ์วิจารณ์ว่าการตีความแบบนี้สมเหตุสมผลหรือเปล่า แล้วค่อยๆ เปิดใจเรียนรู้ มองมุมมองที่หลากหลาย พร้อมปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะถ้ายึดอยู่กับคำสอนเดิม ป่านนี้เราก็ต้องมีระบบทาส ไม่ให้ผู้หญิงเทศ ห้ามใช้ถุงยางอนามัย มันมีคำสอนล้าหลังโบราณมากมายอย่างที่เราเชื่อว่าโลกแบน แล้วถ้าเรายึดอยู่กับคำสอนนั้นไม่เคยเปลี่ยน เราอาจจะเป็นไดโนเสาร์ล้าหลังมาก
ผมเห็นด้วยกับที่ท่านพุทธทาสภิกขุเคยพูดไว้ครั้งหนึ่งว่า ศาสนาเกิดมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ นี่คือเรื่องจริง ในยุคที่มนุษย์เป็นใหญ่ ศาสนาควรจะปรับตัวเรียนรู้ได้แล้วว่า คำสอนของศาสนาจะมาช่วยเหลือมนุษย์ได้ยังไง เราหมดยุคที่คัมภีร์ไบเบิลเป็นคำสอนอันศักดิ์สิทธิ์แล้วทุกคนจะต้องฟังไม่ว่าไบเบิลจะพูดอะไร แต่เราควรเรียนรู้ที่จะตีความไบเบิล และรู้ว่าพระคัมภีร์จะช่วยสังคมให้ดีขึ้น ขับเคลื่อนมนุษย์ให้มีความหวัง ให้มีความสุขมากขึ้นได้ยังไง ผมรู้สึกว่าถ้าเราเรียนรู้ว่าไบเบิลสามารถทำความเข้าใจปัญหาของสังคม และแก้ปัญหาได้ ไบเบิลก็จะยังคงเกี่ยวข้องกับสังคมจนถึงทุกวันนี้ แต่ถ้าเราไม่ทำให้พระคัมภีร์มาเกี่ยวข้องกับสังคม มันก็จะกลายเป็นหนังสือเก่าแก่ ล้าหลัง ไม่มีใครอ่านไป
นี่เป็นหลักการทั่วไปในการอ่านวรรณกรรมทุกประเภทด้วยซ้ำ จะหนังสือเก่าแก่ ศาสนาไหนก็ตาม มันสำคัญมากว่าเราอ่านหนังสือที่เขียนมาหลายพันปี แล้วจะเอามาใช้กับปัจจุบันยังไง อ่านตรงๆ ไม่ได้อยู่แล้ว ก็ต้องเรียนรู้ว่าเขาต้องการจะสื่ออะไร บริบทและหลักการคืออะไร แล้วค่อยเอามาปรับใช้กับปัจจุบัน
จากที่บอกไว้ก่อนหน้านี้ บางคนอาจพูดว่า “ถ้าการเป็น LGBTQ+ ในคริสเตียนเป็นเรื่องยาก งั้นก็เลิกนับถือศาสนาไปเลยไหม” คิดเห็นยังไง
คนทั่วไปฟังก็คงรู้สึกแบบนั้นแหละว่า เลิกไปโบสถ์ก็จบ ก็เป็น LGBTQ+ ปกติในสังคม ใช้ชีวิตกันปกติ แล้วจะไปโบสถ์ทำไม แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ทุกคนจะอยากเป็นแบบนั้น แค่เขาเผชิญกับเรื่องเพศในสังคมมันก็ยากสำหรับเขาอยู่แล้ว แล้วยังจะไปบอกให้เขาเปลี่ยนศาสนาอีกเหรอ
มี LGBTQ+ จำนวนมากที่ก็ยังอยากจะเชื่อพระเจ้า ยังอยากจะเป็นชาวคริสต์อยู่ และผมมองว่าศาสนาเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนมีที่ยึดเหนี่ยว มีความมั่นใจ มีกำลังใจ ดังนั้น ผมคิดว่าศาสนาจะช่วยเติมเติมให้กับพี่น้องที่มีความหลากหลายทางเพศที่สังคมอาจจะไม่พร้อมโอบรับ ศาสนาควรจะสนับสนุนการโอบรับให้มากขึ้น และช่วยให้เขามั่นใจ มีตัวตน มีกำลังใจในการใช้ชีวิตทุกๆ วัน ดังนั้นผมคิดว่าเรายังต้องการชุมชนของ LGBTQ+ ในศาสนาคริสต์อยู่
เป้าหมายที่อยากให้ศาสนาคริสต์ไปถึง คือจุดไหน
ผมสนับสนุนการแต่งงานของ LGBTQ+ อยู่แล้ว ถ้าเป็น LGBTQ+ แล้วอยากจะแต่งงานในโบสถ์ ผมก็สนับสนุนให้มีภาพนั้นเกิดขึ้น แล้วพอมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมมา ผมคิดว่าโบสถ์ก็อาจจะสามารถมีส่วนช่วยในการประกอบพิธี และช่วยสนับสนุนในประเด็นนี้ได้
แต่ถามว่าจะไปถึงไหน (นิ่งคิด) เอาเข้าจริงก็อยากรู้เหมือนกัน ถึงความเห็นผมจะดูก้าวหน้า (progressive) แต่ก็อยากรู้นะว่า แล้วควรจะปรับฟังก์ชั่นในสังคมอย่างไร เช่น โบสถ์จะต้องมีห้องน้ำแบบ gender-neutral ไหม แล้วถ้าเขาจะไปจัดค่ายต้องนอนแยกห้องชายหญิงยังไง ถ้ามีอาจารย์ที่เป็นเกย์จะจัดการกันยังไง ผมรู้สึกว่ายังมีคำถามกันเยอะว่าถ้าวันที่การแบ่งเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว เราจะฟังก์ชั่นสังคมกันยังไงดี โบสถ์จะหน้าตาเป็นแบบไหน แต่ว่า milestone แรกที่ผมอยากเห็น ก็คือการสนับสนุนการแต่งงานของคนเพศกำเนิดเดียวกันในโบสถ์ให้ได้ก่อน
คิดเห็นยังไงกับการที่ศาสนาเข้ามามีบทบาทกับกฎหมาย
ผมเชื่อในรัฐโลกวิสัย (secular state) คือรัฐที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศาสนา เป็นเรื่องดีมากที่เราจะแยกรัฐกับศาสนาออกจากกัน เพราะศาสนามักถูกใช้เป็นเครื่องมือกดขี่คนที่ไม่ได้นับถือตรงกับศาสนานั้นๆ เสียมากกว่า ถ้าเป็นกลไกเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม กฎหมาย ก็ควรใช้กลไกประชาธิปไตยปกติ ฟังเสียงคนส่วนใหญ่ว่าคิดเห็นยังไงกับเรื่องนี้ ส่วนศาสนา เราไปเผยแพร่คำสอนให้คนมีหลักปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ดีดีกว่า
ก่อนจบบทสัมภาษณ์ มีเรื่องไหนที่อยากทิ้งท้ายอีกไหม
ในฐานะที่เป็นชาวคริสต์คนหนึ่ง ผมเสียใจแล้วก็ขอโทษที่เราเคยส่งข้อความแห่งความเกลียดชังออกมาจากศาสนา เวลาเราพูดถึง ‘ศาสนาคริสต์’ จะโดดเด่นมากเรื่องความรัก พระเยซูก็เคยสอนว่าให้รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ผมคิดว่าจริงๆ แล้วคำสอนนี้เรียบง่ายมาก มันไม่เคยแบ่งเรื่องชนชั้น ผิวพรรณ วรรณะ ฐานะทางสังคม เพศสภาพ เวลาพระเยซูสอนว่าให้รักเพื่อนบ้าน ไม่เคยมีเรื่องพวกนี้เข้ามาเกี่ยว
แต่พอเรามีพิธีกรรม มีธรรมเนียมอะไรเข้ามายุ่งยากมากมายแล้ว กลายเป็นว่าการรักเพื่อนบ้านซับซ้อนไปหมดเลย จะรักใครคนหนึ่งเราต้องดูผิวสี ดูฐานะทางสังคม ดูเพศสภาพของเขา ซึ่งมันบิดเบือนคำสอนที่แท้จริงและหัวใจของศาสนาไป ผมเชื่อว่าจริงๆ แล้วการรักเพื่อนบ้านนั้นง่ายมาก คือการที่รักมนุษย์ในฐานะที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเอง
เราสามารถมองข้ามสีผิว ฐานะ วรรณะ เพศสภาพใดๆ ทั้งสิ้น และอยากเชิญชวนทุกคนให้กลับมาที่แก่นหลักของคำสอนของศาสนาที่เรียบง่ายที่สุดคือให้เรารักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง ผมคิดว่านั่นเป็นแก่นของศาสนาที่แท้จริง