“#เยาวชนปลดแอก” น่าจะเป็นแฮชแท็กที่เชื่อว่าแทบทุกคนที่อยู่บนโลกโซเชียลมีเดียต้องคุ้นเคยกันดีในเวลานี้ เหตุการณ์ประท้วงโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก – Free YOUTH และกลุ่มสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.) พร้อมด้วยประชาชนส่วนหนึ่ง มาร่วมชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 เรื่อง ประกอบด้วย ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ กลายเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งประเทศกำลังจับตามองว่าต่อจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
ซึ่งชนวนของการประท้วงครั้งนี้มีชื่อเรียกสั้นๆว่า ‘VIP’ อาคันตุกะของประเทศที่ดูเหมือนอยู่เหนือกฎหมายของบ้านเมืองกลายเป็นประเด็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนจนสร้างความไม่พอใจอย่างมากต่อประชาชนชาวไทย และอาจจะนำมาซึ่งการระบาดระลอกสอง
มีคนรู้จักของผมคนหนึ่งที่อยากไปร่วมชุมนุมกับเขาด้วย แต่ถูกทางบ้านห้ามไว้เพราะเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย กลัวว่าจะเป็นอันตรายถ้าเกิดว่ามีการตามจับตัวเอาเรื่องกันทางกฎหมาย (อะไรก็ตามแต่) เขาเลยไม่ได้ไป มาบ่นพึมพำกับผมภายหลังว่า “คนเยอะขนาดนี้ เขาไม่รู้หรอกว่าใครเป็นใคร กลัวอะไรไม่รู้”
แต่ในใจผมกลับคิดถึงเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงในประเทศอเมริกาที่ประชาชนออกมาแสดงความไม่พอใจกับการที่ตำรวจผิวขาวใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย George Floyd ชายผิวดำจนถึงแก่ชีวิต กลุ่มผู้ประท้วงก็ออกมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากในหัวเมืองใหญ่ๆอย่าง Minneapolis, New York, Los Angeles และ Atlanta โดยที่พวกเขาไม่รู้เลยว่าบริษัทเทคโนโลยีแห่งหนึ่งกำลังใช้ข้อมูลโลเคชั่นของพวกเขาเพื่อคาดเดาผิวสี อายุ เพศ และที่พักอาศัยของผู้ที่มาชุมนุมในครั้งนั้นด้วย เพราะสองอาทิตย์ต่อมาบริษัทชื่อ Mobilewalla มีรายงาน George Floyd Protester Demographics: Insights Across 4 Major US Cities. เปิดเผยออกสู่สาธารณะ โดยข้อมูลในรายงานนี้เป็นสิ่งที่น่าตกใจ แม้ว่าจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ามันตรงขนาดไหน แต่ด้วยความที่ข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งออกไปจากอุปกรณ์มือถือของเราเองยิ่งทำให้ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ใช้งานส่วนใหญไม่รู้ด้วยซ้ำว่าได้ให้ข้อมูลเหล่านั้นไปและกฎหมายก็ไม่ได้มีข้อบังคับที่ชัดเจนว่าบริษัทสามารถทำอะไรกับข้อมูลตรงนี้ได้บ้าง (ก็เป็นไปได้ว่าอาจจะเอาไปขายต่อให้รัฐบาล)
แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ครั้งแรกที่บริษัทเทคโนโลยีมีการเก็บข้อมูลของผู้ใช้งานโดยที่เราไม่รู้ตัว ในช่วงการแพร่ระบาดเบื้องต้นของไวรัส COVID-19 มีภาพกราฟิกจากบริษัท Techtonix อันหนึ่ง ที่กลายเป็นไวรัลทันทีหลังจากปล่อยออกไป โดยมันเป็นกราฟิกที่แสดงให้เห็นถึงกลุ่มคนที่ไปชุมนุมกับที่หาดของรัฐฟลอริดาแล้วทยอยกลับบ้านในช่วงต่อมา แสดงให้เห็นถึงการติดตามข้อมูลโลเคชั่นเป็นจุดๆ แพร่กระจายไปทั่วประเทศ แน่นอนเรื่องความปลอดภัยก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่น่ากังวลมากกว่านั้นก็คือว่าแล้วเจ้าข้อมูลโลเคชั่นที่ติดตามตัวคนเหล่านั้นมาจากไหน? ส่งไปให้ใครบ้าง? เป็นมานานเท่าไหร่แล้ว? ซึ่งเจ้า COVID-19 นี้เป็นเหมือนหน้าต่างที่ทำให้เราเห็นว่าบริษัทเหล่านี้ที่อยู่เบื้องหลังกำลังทำอะไรอยู่และมันน่ากลัวขนาดไหน
สิ่งหนึ่งที่เรารู้ก็คือว่าสมาร์ตโฟนเป็นเหมือนแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมสำหรับบริษัทโฆษณาและบริษัทที่ซื้อขายข้อมูล (Data Broker) เพราะพวกเขาสามารถใช้ข้อมูลที่เก็บมาเพื่อยิงโฆษณากลับมาหาเราได้ตามต้องการ ซึ่งการเก็บข้อมูลส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากส่ิงที่เรียกว่า SDKs (Software Development Kits) ที่บริษัทต่างๆ มอบให้นักพัฒนาแอพพลิเคชั่นไปใช้แบบฟรีๆ เพื่อแลกกับข้อมูลที่พวกเขาเก็บมาได้ระหว่างการใช้งาน (หรือแบ่งรายได้บางส่วนจากค่าโฆษณาให้) ยกตัวอย่างเช่นถ้าเปิดโลเคชั่นสำหรับแอพพลิเคชั่นสภาพอากาศ ข้อมูลโลเคชั่นเหล่านั้นก็อาจจะไม่ได้ไปจบที่บริษัทคนสร้างแอพพลิเคชั่นก็ได้ ซึ่งก็เป็นวิธีที่บริษัท X-Mode ได้ข้อมูลมาแล้วทำกราฟิกให้กับ Techtonix
ยังมีบริษัทอย่าง Unacast ที่ใช้ SDK ของตัวเองเพื่อให้คะแนนว่าแต่ละพื้นที่ประชากรเว้นระยะห่างกันจริงไหมและใช้เวลาอยู่ในบ้านรึเปล่า หรือ Cuebiq ที่เก็บข้อมูลผ่าน SDK แล้วแชร์มันกับ New York Times ในการเขียนบทความหลายชิ้นถึงความเปลี่ยนแปลงของการเว้นระยะห่างทางสังคมเมื่อมีการออกกฎหมายให้อยู่ภายในบ้านและหลังจากผ่อนคลาย เช่น บทความAs Coronavirus Restrictions Lift, Millions in U.S. Are Leaving Home Again
หลายคนอาจจะบอกว่า “ก็มันเป็นเรื่องความปลอดภัย ให้เก็บไปเถอะเพื่อให้มีการเว้นระยะทางที่ช่วยลดความเสี่ยง” แต่ว่ารายงานจาก Wall Street Journal บอกว่าข้อมูลโลเคชั่นเหล่านี้ถูกขายให้กับนักการตลาด บริษัทซื้อขายข้อมูล และรวมไปถึงผู้ดูแลกฏหมายด้วย
แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปว่า SDKs เป็นตัวติดตามผู้ใช้งานไปซะหมด ที่จริงๆ แล้วเจ้า SDK เป็นเหมือนกล่องเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ทำงานบางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น Apple หรือ Android ก็มี SDKs ของระบบปฏิบัติการเพื่อให้โปรแกรมเมอร์เขียนแอพพลิเคชั่นสำหรับระบบได้อย่างถูกต้อง หรือบางบริษัทก็จะสร้าง SDKs ขึ้นมาเพื่อให้โปรแกรมเมอร์ใส่ฟีเจอร์บางอย่างเข้าไปในแอพพลิเคชั่นของพวกเขาโดยไม่ต้องเขียนใหม่ทั้งหมด ถ้าผมทำแอพพลิเคชั่นอันหนึ่งที่ต้องใช้ฟีเจอร์ “Loging with Facebook” ผมก็อาจจะไปหา SDK มาใช้เพื่อประหยัดทั้งเวลาทั้งทรัพยากร โดย SDKs ก็จะมีสิ่งที่เรียกว่า API (application programming interface) เพื่อตัวแอพพลิเคชั่นที่สร้างขึ้นมาสื่อสารกับ Facebook ได้ โดยเจ้า APIs เหล่านี้ที่ถูกนำมาใช้ก็ทำให้การไหลผ่านของข้อมูลมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น บางครั้งมีการส่งข้อมูลกับยังบริษัทที่สร้าง SDKs โดยที่ทางผู้สร้างแอพพลิเคชั่นไม่รู้ด้วยซ้ำ (อย่างตอนที่ Zoom มีส่งข้อมูลไปให้ Facebook ผ่าน SDKs ที่ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น )
โดยข้อมูลเหล่านี้ที่ถูกส่งกลับคืนไป ก็จะถูกนำไปสร้างเป็นโปรไฟล์ของผู้ใช้งานในแอพพลิเคชั่น โดยบริษัทโฆษณาก็นำไปใช้เพื่อยิงโฆษณากลับมาหาได้ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าข้อมูลอะไรที่ออกไปจากโทรศัพท์ของเราบ้าง (แต่ที่โลเคชั่นได้รับความสนใจเพราะมันเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวโดยตรง) เพราะโปรแกรมเมอร์หลายคนที่พยายามสร้างแอพพลิเคชั่นด้วยเวลาจำกัดก็ไม่ได้สนใจว่า SDKs ที่พวกเขาเอามาใช้ปลอดภัยขนาดไหน ขอแค่มันทำงานได้ ส่วนใหญ่ไม่ได้ตรวจสอบด้วยซ้ำ
SDKs ทำหน้าที่เหมือนกับ Cookies ของเว็บเบราเซอร์ เพียงแต่ว่ามีความสามารถเยอะกว่ามาก บางแอพพลิเคชั่นก็ใช้ SDKs สำหรับโฆษณาโดยตรง อย่าง Facebook เองก็มี Facebook’s ad SDK ที่จะแสดงโฆษณาที่ทาง Facebook รู้เกี่ยวกับเราในทุกแอพที่ใช้ SDK อันนี้อยู่บนเครื่องของเรา
สำหรับตอนนี้ไม่ว่าเราจะทำอะไรหรือใช้แอพพลิเคชั่นไหนบนสมาร์ตโฟน สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังเลยคือเรื่องของข้อมูลที่เล็ดลอดออกไปเพราะมันเป็นสิ่งที่มีคุณค่า แน่นอนว่าการเก็บข้อมูลโลเคชั่นเพื่อลดการกระจายของไวรัสเป็นเรื่องจำเป็นและอาจจะเป็นการเสียสละเพื่อส่วนรวม แต่ถ้าการไปชุมนุมประท้วงแล้วเกิดโดนเก็บข้อมูลขึ้นมาก็คงไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ ในเมื่อมันยังไม่มีกฎหมายที่บังคับที่ชัดเจน วิธีการเดียวที่เราทำได้คือรู้ว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นและพยายามป้องกัน เปิดการแชร์โลเคชั่นในแอพพลิเคชั่นที่เราเชื่อถือ เปิดเมื่อจำเป็น ปิดเมื่อไม่ได้ใช้ และหวังว่าบริษัทที่เราเปิดใช้งานจะเห็นความสำคัญของเราในฐานะผู้ใช้งานมากกว่าแค่จุดเล็กจุดหนึ่งบนแผนที่ที่ทำเงินให้เขาเพียงเท่านั้น
อ้างอิง