ถ้าคุณรู้สึกว่าช่วงนี้กำลังถูกจับตามองทุกฝีก้าว ราววิญญาณแห่งยุคดิจิตอลตามติดคุณไปทุกที่ก็ไม่แปลกนัก
เมื่อพฤติกรรมของคนในศตวรรษที่ 21 ถูกเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด (แต่ไม่สนิทสนม) จากรัฐบาลลายพราง พวกเขาพยายามเข็น ‘พร้อมเพย์’ ให้คุณใช้จ่ายอย่างสมาร์ทขึ้น แต่ต้องผูกเลขบัญชีกับรหัสบัตรประชาชน หรือการผลักดันให้เกิด Single Gateway ให้ทัดเทียมกับรัฐบาลจีน เกาหลีเหนือ และประเทศแถบตะวันออกกลาง
หรือผุดไอเดียน่าสนุกของ กสทช. เล็งแจก ‘ซิมการ์ด’ ติดตามตัวท่องเที่ยวต่างชาติ อ้างแก้ปัญหาอยู่เกินวีซ่า (แต่ไม่กระทบสิทธิมนุษยชน โอ้ ทำได้ยังไง) และถึงขนาดขอจำกัดเวลาการเล่น Pokémon Go เพราะเป็นห่วงเยาวชนไทยจะไปไล่จับมอนสเตอร์เสมือนจริงในยามวิกาล
เหล่านี้เป็นแค่ตัวอย่างเบาะๆ ที่คุณต้องเตรียมตัวเตรียมใจมากกว่านี้เยอะ
หากฉีดวัคซีนแล้วเกิดภูมิต้านทานได้ อาจจะต้องเอาวัคซีนทั้งหมดมาใส่เข็มขนาดเท่ากระบอกข้าวหลาม ไล่ฉีดคุณตั้งแต่หัวจรดเท้าเลยทีเดียว
ทำไมการพยายามล่วงล้ำสิทธิขั้นพื้นฐานที่คุณควรมี กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ และการอ้าง ‘ความมั่นคง’ เริ่มฟังไม่ขึ้น การปกครองแบบรักวัวให้ผูกรักลูกให้ตีในสังคมศตวรรษที่ 21 ทำให้คุณเป็นพลเมืองเชื่องๆ จะนำมาซึ่งสังคมอันผาสุขจริงหรือ?
ถึงเวลาที่คุณจะต้องส่วนตัว (Privacy)
มีเรื่องตลกของชุมชนบ้านดินเหนียว Taos Pueblo ใน New Mexico ซึ่งเป็นชุมชนอายุเก่าแก่กว่า 1,000 ปี เมื่อมีคนไปถามพวกเขาว่า ระหว่างนักมานุษยวิทยากับมิชชันนารีเผยแพร่ศาสนา กลัวใครมากกว่ากัน?
“ก็ต้องกลัว นักมานุษยวิทยาสิท่าน ก็พวกเขาเอาเรื่องราวของเราไปตีพิมพ์เป็นหนังสือขายไง”
ไม่น่าแปลกที่คุณจะรู้สึกว่าข้อมูลของคุณเองก็มี ‘ราคา’ ที่ใครๆ ก็อยากขอชะโงกดูหน่อยว่ากำลังทำอะไรอยู่บ้าง และควรจัดการกับคุณอย่างไรดีต่อไป แต่ไม่ว่าพวกเราจะหยิบยกเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) มาถกเถียงกับผู้ใช้อำนาจรัฐอย่างไร มันจะถูกตบกับเข้าอีหรอบเดิม เมื่อความเป็นส่วนตัวจะถูกแลก (Trade off) กับข้ออ้างทางความมั่นคงของสังคม
“ฉันจับตาดูเธอ เพราะฉันเป็นห่วงความปลอดภัยของเธอ และของพวกเรา”
กลายเป็นว่าภายใต้ความมั่นคงของสังคมแบบองค์รวม ทำให้รัฐมีความชอบธรรมที่เสกตัวเองเป็นเงาในการตามติดคุณ หรือมุดเข้าไปในมือถือและบัญชีแบบที่คุณเองไม่คิดจะรับเชิญ
พวกเขาขอความร่วมมือเข้าถึงชุดข้อมูลและขอเป็นส่วนหนึ่งเสมือนจุดดำๆ บนจอม่านตา ดังนั้นมันจึงจำเป็นที่คุณจะต้องยอมกลืนยาขมเพื่อรักษาอาการบ้าง แชร์มาก คุณยิ่งปลอดภัยมาก
แต่สิ่งที่พวกเขามองข้ามไปนั้น แท้จริงแล้วมนุษย์อยู่ภายใต้สังคมมีความหลากหลายและปัจจัยของความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีจริยธรรมที่จะเปิดเผยอยู่ในระดับเดียว การปิดกั้นตัวเลือกทั้งหมดและถือว่าการตัดสินใจของรัฐเป็นที่สิ้นสุดแล้ว มักฝืนธรรมชาติอย่างพิกล ตราบใดที่นักนิเวศวิทยา (Ecologist) ไม่เคยฟันธงว่าสิ่งมีชีวิตนั้นมีวิวัฒนาการขั้นสูงสุดแล้ว ความหลากหลายทางสังคมก็ยังแตกหน่อได้อีก หากไม่ไปตอนกิ่งมันเสียก่อน
ยุคแห่ง Big Data ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องยอมแชร์
ความก้าวหน้าของระบบสารสนเทศประดุจเหมือนกบที่กิน M150 ผสมเวย์โปรตีน มันกระโดดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกข้อมูลที่พวกเราสร้าง ก่อให้เกิดชุดข้อมูลขนาดมหึมา ในขณะเดียวกันโครงสร้างนี้กลับเปราะบางและอยู่ภายใต้การสอดส่องที่มีแนวโน้มลุกล้ำอาณาเขตของสิทธิมนุษยชนที่พวกเราพึงมีมากขึ้นทุกที Big Data ของคนในสังคมไม่ต่างจากลูกแก้วสารพัดนึกที่จะกำหนดทิศทางชีวิตผู้คนอย่างไรก็ได้ หากใครถือครองมัน
หากคุณให้รัฐจัดการทุกข้อมูลและพฤติกรรมทุกอย่างที่คุณสร้างมา รัฐจะมีอำนาจในการคาดการณ์พฤติกรรมและความคิดของคุณ แม้วันนี้คุณอาจจะมองว่ามันเป็นนิยายวิทยาศาสตร์อ่านสนุก แต่อยากให้ลองจินตนาการอีกในอีก 10ปีข้างหน้า ขณะที่อุปกรณ์ไอทีสวมใส่ (Wearable Device) จะเป็นของพื้นฐานในชีวิตของคุณ การปล่อยให้สังคมละเลยสิทธิส่วนบุคคล และ Privacy ของเราจนเคยชินวันละน้อยๆ ไม่นานรัฐจะมีสิทธิในการถือครองร่างกายและความคิดคุณอย่างอิสระ โดยเราไม่ทันได้ตั้งคำถามใดๆ กลับด้วยซ้ำ
และการไม่เคยตั้งคำถาม ล้วนทำให้เราไม่รู้จักตัวเอง
ความเป็นส่วนตัวคือสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนมีความสำคัญ หากรัฐจะไว้เนื้อเชื่อใจคนในสังคม พวกเขาจึงต้องกำหนดขอบเขตของความเป็นอธิปไตยอย่างชัดเจนโดยไม่สอดไส้และอ้างความชอบธรรม โดยการแลกเปลี่ยนแบบ Trade off ที่เหมือนสินค้า และเทคโนโลยีเองก็จำเป็นต้องพัฒนาความสามารถในการรักษาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้มากขึ้น
ความเป็นส่วนตัวยังไม่ตาย แต่มันขึ้นอยู่กับตัวเลือกที่เราตัดสินใจวันนี้ และจะกำหนดพื้นที่ความเป็นส่วนตัวของเราอีกไม่น้อยกว่า 10 ปีข้างหน้า การแลกเปลี่ยนความมั่นคงด้วยความเป็นส่วนตัวไม่ใช่เรื่องโอเค (และสังคมอื่นเขาก็ไม่ทำกัน) หากสังคมตัดสินใจด้วยกรอบความคิดนี้ ยิ่งทำให้เราละเลยสิทธิส่วนบุคคลของตัวเองและของคนอื่น เพราะคาดหวังว่ารัฐจะมอบความปลอดภัยและความมั่นคงทางเศรษฐกิจกลับคืนมา ซึ่งล้วนเป็นการกล่าวอ้างที่เกินความจริง
การออกกฎเกณฑ์ทางสังคมเพียงชุดเดียวกับสังคมที่มีผู้คนหลากหลาย กลับกลายเป็นการยุติวิวัฒนาการทางสังคมอย่าสิ้นเชิง รัฐควรกระตุ้นให้ผู้คนรักษาสิทธิมนุษยชนและเลือกระดับความส่วนตัวได้ ไม่ใช่กดดันด้วยอำนาจให้ทุกคนยอมเปิดเผยไพ่ที่อยู่ในมือ
คุณลองนึกถึงการเล่นไพ่กับเพื่อน ที่มันคอยถามว่าคุณมีแต้มอยู่เท่าไหร่ในมือทุกครั้งสิ
คุณไม่มีทางชนะเกมนั้นหรอก
อ้างอิงข้อมูลจาก
Nature of Technology : What it is and how it evolves. W. Brain Arthur. Free Press, 2009
Who Owns the Future? Jaron Lanier, 2013
How should we think about Privacy, Jaron Lanier ,Scientific American 2013