ทำไมท่านมองเห็นผงในตาพี่น้องของท่าน แต่กลับมองไม่เห็นไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน? …คนหน้าซื่อใจคด จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้
-พระวรสารนักบุญมัทธิว 7 : 3-5
การโต้เถียงของใครก็ไม่ ‘สนุก’ เท่าการโต้เถียงของคนที่เรียกตัวเองว่า ‘นักวิชาการ’
เพราะนักวิชาการมักเต็มไปด้วยหลักการ และ ‘ถูกฝึก’ ให้ต้องโต้เถียงโดยยกเหตุผลต่างๆ มาคัดง้างกัน บ่อยครั้งเวลาฟังนักวิชาการโต้เถียงกัน จึงเป็นเหมือนแสงสว่างที่จุดประกายความคิดให้ผู้ฟัง (โดยเฉพาะตัวผมเองนี่แหละ) อยู่เสมอ
นักวิชาการไทยสมัยก่อนโน้น (อย่างน้อยๆ ก็ราวๆ ยุคเก้าศูนย์จนถึงต้นยุคสองพันน่ะนะครับ) เวลาโต้เถียงกันจะเอาเป็นเอาตายอย่างมาก ไม่ได้เถียงกันแค่คำพูดและหลักการ แต่ทุ่มตัวเถียงหมดใจ เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก แต่เป็นอารมณ์ความรู้สึกที่ ‘ฝัง’ อยู่กับหลักการและหลักคิดของตัวเอง มีการยกทฤษฎีต่างๆ ขึ้นมาพูด อ้างถึงนักวิชาการตะวันตกคนนั้นคนนี้ เช่นสายโพสต์โมเดิร์นนิสต์อาจยกปรัชญาของตัวเองมาโต้สายมาร์กซิสต์, สายเฟมินิสต์อาจยกนักคิดของตัวเองขึ้นมาต่อกรกับสายสังคมนิยม โดยไม่ได้ทำแค่คัดง้างอย่างเดียว แต่เปรียบเทียบในมิติต่างๆ มองดูทั้งความคล้ายความเหมือน และความแตกต่างในหลากหลายมิติ
เวลาฟังนักวิชาการเหล่านี้ ‘สนทนา’ กัน (แม้จะด้วยเสียงอันดังจนนึกว่าพวกเขาทะเลาะกัน) จึงได้ความแตกฉานทางปัญญาเป็นของแถมเสมอ และแต่ละคนก็มี ‘วิธีพูด’ ในแบบของตัวเองที่ไม่เหมือนกันด้วย ส่วนใหญ่แล้วรุ่มรวยทั้งปัญญาและศิลปะในการพูด จนรู้สึกเหมือนได้ดูจอมยุทธ์ประมือกันบนยอดเขา
การถกเถียงเหล่านี้ แม้ฟังดูรุนแรงสำหรับคนทั่วไป แต่มักไม่ใช่เรื่องที่มีความรู้สึกเป็นส่วนตัวมาปะปนเกี่ยวข้อง (ที่จริงอาจมีบ้างก็ได้ – แต่คนทั่วไปไม่รู้) ส่วนใหญ่จบแล้วก็จบกัน ถ้าจะเถียงกันต่อ ก็เถียงด้วยการเขียนบทความออกมาโต้กันตามหลัง ซึ่งก็ยิ่งได้ประโยชน์ต่อคนดูคนฟังคนอ่านต่อไปอีก เวลารวมเล่มงานของตัวเอง นักวิชาการบางคนถึงกับนำเอาบทโต้ของอีกฝ่ายมารวมไว้ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อการถกเถียงต่างๆ
แต่ในระยะหลัง ผมเริ่มรู้สึกว่า สิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า ‘นักวิชาการ’ (หรืออย่างน้อยๆ ก็คนที่ ‘คิด’ ว่าตัวเองเป็น ‘นักคิด’) มักจะทุ่มเถียงกันผ่านโซเชียลมีเดีย – โดยไม่สนใจสิ่งที่เรียกว่าปัญญาเท่าไหร่
บ่อยครั้ง ที่การถกเถียงของ So-Called นักวิชาการเหล่านี้ ทำให้คนอ่านอย่างผมรู้สึกว่า – เรื่องเดียวที่คนเหล่านี้ต้องการ, ก็คือการเอาชนะทางวาทะ จนบางครั้งอ่านดูแล้วไม่แน่ใจว่าคนเหล่านี้เป็นนักวิชาการที่ได้รับการ ‘ฝึก’ ในเรื่องการโต้เถียงมาแบบไหน เนื่องจากหลายครั้งไม่ได้เป็นแม้กระทั่งการถกเถียง ทว่าลดรูปเหลืออยู่เพียงการ ‘ด่า’ และบางคราวก็ถึงขั้น ‘หมดรูปทางปัญญา’ ไปเลยก็มี
ผมคิดว่า โซเชียลมีเดียมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิด ‘อาการ’ เหล่านี้ขึ้นมา เพราะโซเชียลมีเดียทำให้เกิดบทสนทนาอีกแบบหนึ่งขึ้นมา
ในการเสวนาทางวิชาการ บทสนทนาของนักวิชาการมักจะเป็นการปล่อยให้แต่ละฝ่ายได้ ‘บรรยาย’ เรื่องที่อยากจะบอกเล่าออกมาจนหมด ทั้งหลักการ ตัวอย่าง ข้อมูล ฯลฯ แล้วจากนั้นจึงถึงคราวที่อีกฝ่ายได้ทำสิ่งนั้นด้วย แต่ละคนจึงพูดกันโดยใช้เวลาค่อนข้างนาน ทำให้มีเวลาที่จะ ‘ฟัง’ และ ‘ทำความเข้าใจ’ ว่าอีกฝ่ายมีฐานคิดอยู่ตรงไหน มีตรรกะในการคิดอย่างไร ถ้าเห็นแย้งแล้วจะโต้ ก็จะได้โต้ได้ถูกจุด
แต่วิธีเถียงในโซเชียลมีเดียทุกวันนี้มักมีอยู่วิธีการเดียว เป็นวิธีเถียงที่น่าตื่นตาตื่นใจด้วยลีลาดุเดือด ร้อนแรง แม้อ่านตัวอักษร ยังเห็นภาพเส้นเลือดปูดโปนเคียดขึ้ง ปิ้มว่าเส้นเลือดในสมองจะแตก ส่วนใหญ่ใช้วิธีเถียงเหมือนการผลักอก ชี้หน้าชี้นิ้ว ถกผ้าถุง ‘ด่า’ กัน
ที่จริงแล้ว การเถียงด้วยท่าทีทำนองนี้ไม่มีอะไรผิดนะครับ เพราะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะมีอารมณ์และแสดงอารมณ์ออกมาตามหลัก Free Speech อันเป็นประชาธิปไตย แต่มนุษย์อีกจำพวกหนึ่ง (อย่างผมนี่เอง) ก็อดผิดหวังไม่ได้ ที่เห็น So-Called นักวิชาการ หรือกระทั่งนักคิดรุ่นใหม่ๆ ถกเถียงทางโซเชียลมีเดียได้ด้วยวิธี ‘ด่า’ เพียงอย่างเดียว โดยไม่มีฐานคิดอื่นให้เก็บเกี่ยวไปใช้ประโยชน์ทางปัญญาอะไรต่อได้เลย (ซึ่งก็เป็นความเห็นแก่ตัวโลภมาก เสียเวลาอ่านแล้วก็อยากได้อะไรติดไม้ติดมือกลับไปบ้างนั่นแหละครับ)
ในเรื่องนี้ น่าจะมีคนวิเคราะห์ไปมากแล้ว ว่าโซเชียลมีเดียส่งผลอย่างไรต่อวิธีแสดงออกทางความคิดของมนุษย์ ทำให้เราเกิดท่าทีและสำนึกคล้ายเป็นตัวละครที่กำลัง ‘แสดง’ อยู่บนเวที จึงต้อง ‘เล่นใหญ่’ ให้คนเห็นมากที่สุด แสดงฤทธิ์แผลงเดชออกมา (ไม่ว่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ฤทธิ์’ หรือ ‘เดช’ อยู่มากน้อยเพียงใดก็ตาม) เพื่อให้คนอื่นขามเกรงเอาไว้ก่อน
แต่เรื่องที่ผมอยากชวนคุยก็คือ ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีวิธีถกเถียงทำนองนี้ แทบทั้งหมดมักจะมองเห็น ‘พิษ’ (รวมถึงข้อผิดพลาดต่างๆ) ในตัวฝ่ายตรงข้าม แต่ไม่เคยเลยที่จะเห็น ‘พิษ’ (และข้อผิดพลาดต่างๆ) ในฝั่งตัวเอง คำถามก็คือ – ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
นิค เอพลีย์ (Nick Epley) และเดวิด ดันนิ่ง (David Dunning) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล พยายามค้นหาว่าเราเป็นแบบนี้ได้อย่างไร (ลองอ่านบทความของเขา ชื่อ Feeling “Holier Than Thou”: Are Self-Serving Assessments Produced by Errors in Self- or Social Prediction? โดยศึกษาหลายๆ วิธี เช่น Daffodil Days, A Saint’s Dilemma และอื่นๆ เพื่อดูว่าตัวเราจะทำนายว่า ตัวเองเลอค่าทางศีลธรรม (มี Moral Sentiment) เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับคนอื่นๆ
เช่น เขาขอให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลทำนายว่า พวกตนจะซื้อดอกไม้ในงานการกุศลที่กำลังจะมาถึงกี่ดอก แล้วคนอื่นๆ ทั่วไปจะซื้อกี่ดอก จากนั้นก็ไปดูพฤติกรรมจริง พบว่าส่วนใหญ่แล้ว จะประเมินว่าตัวเองจะซื้อดอกไม้เยอะ คนอื่นซื้อน้อยกว่า แล้วเมื่อไปดูของจริง ผลที่ได้ก็คือ คนเราจะประเมินค่าคุณธรรมของตัวเองสูงเกินจริงมาก แต่คาดเดาคนอื่นได้ใกล้เคียงความเป็นจริง
อีกการทดลองหนึ่งคือ ให้เงินผู้เข้าร่วมทดลองคนละ 5 เหรียญ แล้วให้นำไปบริจาคเท่าไหร่ก็ได้ ที่เหลือเก็บเอาไว้ พบว่าโดยเฉลี่ย ผู้เข้าทดลองคิดว่าตัวเองจะบริจาค 2.44 เหรียญ ส่วนคนอื่นๆ จะบริจาคแค่ 1.83 เหรียญ แต่พอมีการบริจาคจริง พบว่าทุกคนการบริจาคเฉลี่ยอยู่ที่ 1.53 เหรียญ นั่นยืนยันข้อสรุปเดิมที่ว่า เราประเมินตัวเองสูงส่งมาก แต่ประเมินคนอื่นค่อนข้างใกล้เคียงกับความเป็นจริง
ยิ่งถ้าเป็นเรื่องคลุมเครือไม่แน่นอน ผลลัพธ์ยิ่งแรงเข้าไปใหญ่ เช่นถ้าไม่ใช่เงิน แต่เป็นการถามว่าเรากับคนอื่น ใครเป็นคนที่มีความเป็นผู้นำมากกว่ากัน พบว่าเราจะเลือกหลักเกณฑ์วัดความเป็นผู้นำที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ถ้าเป็นคนมั่นใจ ก็จะบอกว่า ผู้นำที่ดีต้องมั่นใจสิ หรือถ้าเป็นคนเถียงเก่ง ก็ต้องบอกว่าผู้นำต้องมีวาทศิลป์ในการถกเถียงสิ
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราจะตั้ง ‘คำตอบ’ หรือผลลัพธ์ขึ้นมาก่อน แล้วจึงค่อยหา ‘หลักฐาน’ มาสนับสนุนคำตอบนั้นๆ
มีการศึกษานักเรียนไฮสคูลชาวอเมริกัน 1 ล้านคน พบว่า 70 เปอร์เซ็นต์คิดว่าตัวเองมีความเป็นผู้นำเหนือค่าเฉลี่ย และมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าตัวเองอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เพราะทุกคนสามารถหาทักษะอะไรสักอย่างที่อาจตีความว่าเกี่ยวพันกับความเป็นผู้นำได้ แล้วก็ใช้หลักฐานนั้นๆ มาบอกว่าผู้นำต้องมีทักษะแบบนั้น
สิ่งนี้ก็คือ ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ ซึ่งรู้ไหมครับ ว่าคนที่มี ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ หรือมี ‘ภาพลวงตา’ ว่าตัวเองเจ๋งเก่งเก๋กู้ดกว่าคนอื่นๆ นั้น นักจิตวิทยาบอกว่ามักจะเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี แถมยังมีความสุขมากกว่าคนที่ไม่ได้มี ‘ภาพลวง’ ทำนองนี้ด้วย นั่นก็เลยทำให้คนจำนวนมากที่มีอคติชื่นชมตัวเอง ยังคงอยู่กับอคตินี้ไปได้เรื่อยๆ
เอมิลี โพรนิน (Emily Pronin) จากพรินซ์ตัน และลี รอส (Lee Ross) จากสแตนฟอร์ด บอกว่าปรากฏการณ์แบบนี้เรียกว่า “สัจนิยมไร้เดียงสา” (Naive Realism) นั่นคือคนเราแต่ละคน จะคิดว่าเราเห็นโลกแบบ ‘ตรงไปตรงมา’ หรือเป็นโลก ‘อย่างที่มันเป็นจริง’
ยิ่งเป็นนักวิชาการหรือเป็นคนที่ได้รับการยอมรับว่าเก่ง ก็จะยิ่งเชื่อเข้าไปอีกว่า โลกเป็นอย่างที่พวกเขาคิดจริงๆ ดังนั้น คนอื่นๆ จึงควรเห็นพ้องกับเขา เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นพ้อง ก็แปลว่าคนพวกนั้นยังไม่ได้พบกับข้อเท็จจริงที่ว่า หรือหนักไปกว่านั้นก็คือ คนพวกนั้นโง่เง่าเต่าตุ่น ไร้สติปัญญา หรือไม่ก็ถูกผลประโยชน์หรือความคิดความเชื่อโง่ๆ อื่นๆ บังตาอยู่
โซเชียลมีเดียมีผลอย่างมากที่ทำให้ ‘สัจนิยมไร้เดียงสา’ แพร่หลายกระจายตัวจากปัจเจกไปเป็นกลุ่มก้อน เพราะคนที่มีความคิดแบบนี้ จะหาคนที่มีความคิดแบบเดียวกันกับตัวเอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือหา ‘กองเชียร์’) ได้ง่ายขึ้นจากโลกโซเชียลฯ ‘อคติชื่นชมตัวเอง’ จึงยกระดับกลายเป็น ‘อคติชื่นชมฝูงของตัวเอง’ ได้ ซึ่งในที่สุด ก็ก่อให้เกิดโลกแบบดีชั่วดำขาวขึ้นมา โดยมักคิดเห็นตัวเราหรือฝูงของเรานั้นถูกต้องที่สุด
ที่จริง ความคิดแบบนี้ปกติมาก จอร์จ บุช (ผู้ลูก) หรือโดนัลด์ ทรัมป์ ก็คิดอะไรทำนองนี้ แต่การได้เห็นว่า คนที่เรียกตัวเองว่าเป็นนักวิชาการหรือนักคิดก็ยัง ‘คิด’ แบบนี้ นับเป็นเรื่องประหลาดดี
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ ก็คือการที่หลายคนพยายามทำให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ (Self-Victimization) ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดของ รอย โบไมสเตอร์ (Roy Baumeister) ผู้เขียนหนังสือ Evil: Inside Human Cruelty and Aggression
โบไมสเตอร์บอกว่า คนที่เห็นว่าตัวเองถูกต้องเลอเลิศร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น มักรู้สึกว่าตัวเองถูกทำร้ายก่อน การถูกทำให้ร้ายทำให้เขาต้องลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ตัวเองเห็นว่าชอบธรรม คือการตอบโต้ในฐานะ ‘เหยื่อ’ เพราะการตกเป็นเหยื่อน้ันดูชอบธรรมและน่าสงสารเห็นใจมากกว่า โบไมสเตอร์บอกว่า มายาคติหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ ‘มายาคติว่าด้วยปีศาจร้ายบริสุทธิ์’ (The Myth of Pure Evil) เช่นการเห็นว่าผู้ทำสิ่งเลวร้ายต่อตัวเองนั้นมีแรงขับเคลื่อนที่ร้ายกาจล้วนๆ ดำมืดไม่มีดีปะปนเลย ส่วนฝ่ายที่ตกเป็นเหยื่อ (เช่นตัวเอง) ก็มักจะตกเป็นเหยื่ออย่างบริสุทธิ์ล้วนๆ ไม่ได้มีส่วนอะไรในอาชญากรรมที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย ซึ่งก็คืออคติเข้าข้างตัวเองขั้นสูงสุด และเป็นสัจนิยมไร้เดียงสาขั้นสูงสุดด้วย
โบไมสเตอร์ยังบอกด้วยว่า ความรุนแรงและโหดร้ายมีสาเหตุหลักหลายอย่าง ซึ่งรวมไปถึงการมี ‘ความนับถือตัวเอง’ (Self Esteem) และมี ‘อุดมคติทางศีลธรรม’ ระดับสูง เขาบอกว่า ถ้าเรานับถือตัวเองมากๆ จนหลงตัวเองหรือมองไม่เห็นโลกที่เป็นจริง เราก็อาจรู้สึกว่าสิ่งแวดล้ออย่างรุนแรง
สุภาษิตไนจีเรียบทหนึ่งบอกว่า แพะตัวผู้ย่อมไม่รู้ว่าตัวมันเหม็นฉึ่ง พระเยซูพูดถึงผงในตาคนอื่นและไม้ทั้งท่อนในตาตัวเอง และพระพุทธเจ้าก็ตรัสถึงการเพ่งโทษผู้อื่น ซึ่งนั่นอาจเป็นคำอธิบายก็ได้ ว่าทำไมเราถึงมองเห็นแต่ข้อบกพร่องและพิษร้ายในตัวผู้อื่น แต่ไม่อาจมีความสามารถที่จะ ‘เห็น’ สิ่งเหล่านี้ในตัวของเราเองเลย