การเป็นเพื่อนกันนั้นมีทั้งสุขและทุกข์ แต่บางครั้ง การเล่าเรื่องราวปัญหาชีวิตล้านแปดของเรา มันก็สามารถไปหนักใจเพื่อนได้ จะมีวิธีไหนไหมนะ ที่ทำให้เราสบายใจกันทั้งคู่
Trauma dumping เป็นคำที่ใช้อธิบายการเล่าประสบการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจโดย ‘ไม่ได้รับอนุญาต’ จากอีกฝ่ายที่ต้องมารับข้อมูลนี้
การเปิดใจคุยกันถึงเรื่องราวในชีวิตนั้นเป็นเรื่องดีก็จริง โดยเฉพาะปมปัญหาในใจบางอย่างนั้นที่ต้องรวบรวมความกล้าอยู่นานเพื่อจะเล่าออกมา แต่มันก็อาจกลายเป็นการทิ้งบาดแผลไว้ให้เพื่อนเจ็บต่ออีกทอดหนึ่งได้ หากมันทำร้ายเพื่อนที่ต้องมารับรู้เรื่องราวนั้นโดยไม่ทันได้ตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นให้นึกถึงเรื่องราวไม่ดีในอดีตที่พวกเขาเคยประสบพบเจอ หรือความหนักใจที่ตามมาจากการที่เพื่อนนำเรื่องที่รับรู้กลับมาคิด
แต่มาถึงจุดนี้ อย่าเพิ่งตกใจว่า การเล่าเรื่องหนักใจจะเท่ากับการ trauma dumping เพราะก็มีการถกเถียงเกิดขึ้นอยู่เหมือนกันว่าคำนี้กำลังทำให้ผู้คนไม่กล้าที่จะเปิดใจเล่าปมปัญหาในใจให้ใครฟังแล้วเก็บเอาไว้คนเดียวหรือเปล่า
นี่เรากำลังส่งต่อความช้ำใส่คนอื่นอยู่หรือเปล่านะ?
การเล่าปมปัญหาในใจนั้นจะเป็นทิ้งความช้ำใจให้เพื่อนแบกหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความยินยอม การรับรู้ เจตนา และความถี่ในการเล่ามากกว่า เรามาลองเช็คตัวเองกันว่า สิ่งที่เรากำลังทำนั้นคือเราเป็นแค่คนขี้บ่นคนหนึ่ง หรือเรากำลังทำร้ายเพื่อนอยู่กันแน่
-
- ระบายออกมาโดยไม่ได้มีการบอกกันก่อน หรือไม่ได้อ่านบรรยากาศว่าเพื่อนพร้อมจะฟังหรือไม่
- ใช้เวลานานมากในการระบาย อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นแบบละเอียดยิบ
- ระบายอย่างต่อเนื่องโดยไม่ฟังความคิดเห็นหรือมุมมองของเพื่อนเลย
- เป็นฝ่ายระบายอยู่ฝ่ายเดียว โดยไม่เคยถามเรื่องของเพื่อนบ้าง
- ระบายแต่เรื่องเดิมซ้ำไปมา
- ระบายบ่อยจนบทสนทนาระหว่างเพื่อนแทบไม่มีเรื่องอื่นเลย
ถ้าสังเกตตัวเองแล้วพบว่าใช่ อาจต้องลองปรับการแชร์ความช้ำของเราดูใหม่ โดยไม่ทำให้เพื่อนต้องน่วมไปด้วย แต่ก่อนอื่นเราก็อยากให้เข้าใจว่าเพื่อนไม่ได้ปฏิเสธที่จะรับฟัง แต่บางครั้งเราก็อาจกำลังระบายใส่เพื่อนมากเกินไปโดยไม่รู้ตัว พลังบวกที่เพื่อนจะมอบให้เรานั้นก็มีจำกัด ดังนั้นอาจจะพยายามปรับโดยใช้วิธีเหล่านี้ช่วย
-
- ถามเพื่อนว่าเพื่อนพร้อมหรือไม่ที่จะรับฟัง เพราะบางครั้งเพื่อนก็อาจมีปัญหาหนักใจของตัวเองอยู่เหมือนกัน
- กำหนดเวลาที่จะระบายให้เพื่อนฟัง อาจจะขอสัก 10 นาทีในการระบาย และเล่าให้รวบรัด ไม่ต้องลงรายละเอียดมากเกินไป
- เมื่อเพื่อนแสดงความคิดเห็น รับฟังอย่างตั้งใจ อย่าเพิ่งโฟกัสกับการเล่าต่อจนจบโดยไม่รับฟังเพื่อน
- ลองถามเพื่อนบ้างว่ามีเรื่องอะไรหนักใจที่อยากระบายไหม
- ถ้ารู้สึกว่าตัวเองกำลังจะระบายเรื่องเดิมซ้ำ อาจจะต้องหยุดก่อน รอให้มีความคืบหน้าก่อนสักนิดแล้วค่อยเล่าต่อก็ได้
- คุยกันในเรื่องอื่นที่สนุกสนานบ้าง อย่าให้ความสัมพันธ์ระหว่างเรามีแต่เรื่องช้ำใจ
และนอกจากนี้ยังมีวิธีการฝึกตัวเองที่ได้รับคำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าเราจะกำลังกระทำการทิ้งบาดแผลให้เพื่อนโดยไม่รู้ตัว หรือเป็นแค่คนขี้บ่นคนหนึ่ง ก็สามารถนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้กับชีวิตประจำวันเพื่อทำให้ความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบตัวเป็นความสัมพันธ์ที่เฮลตี้
ทำความเข้าใจว่าบาดแผลมือสองนั้นก็สร้างความเจ็บปวดได้
Judith Orloff จิตแพทย์และนักเขียนเกี่ยวกับจิตวิทยากล่าวว่า เมื่อใครก็ตามต้องมารับฟังบาดแผลใจของผู้อื่นจะรู้สึกวิตกกังวล เครียด หรือแม้แต่ซึมเศร้าไปเลยหลังจากได้รับฟัง และเธอยังกล่าวว่า ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้สึกดีเมื่อทิ้งเรื่องหนักใจไว้กับคนอื่น แต่คนรับฟังจะเป็นคนที่รู้สึกแย่แทน คนรับฟังจะรู้สึกเหนื่อยล้าจากข้อมูลจำนวนมากที่ต้องมารับฟังโดยไม่ทันได้ตั้งตัว
Divine Love Salvador กล่าวว่า บางคนก็รู้สึกเครียดเมื่อต้องรับฟังเรื่องปัญหาของคนอื่นแบบละเอียด เพราะเรื่องราวเหล่านั้นอาจกระตุ้นให้พวกเขานึกถึงปัญหาของตัวเอง บางคนก็รู้สึกเครียดเพราะการได้รับข้อมูลจำนวนมากและไม่รู้ว่าจะทำอะไรกับมันดี บางคนก็ไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ก็อาจทำให้พวกเขารู้สึกเครียดขึ้นมาได้
ลองทำความเข้าใจตัวเอง คุยกับตัวเองให้มากขึ้น
Divine Love Salvador ยังแนะนำว่า เมื่อเข้าใจถึงความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นกับเพื่อนได้แล้ว ลองฝึกสติ เมื่อเรารู้เท่าทันตัวเอง เราจะเข้าใจว่าเราต้องการอะไร อาจเริ่มจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘เราต้องการอะไรกันแน่ ในเวลาที่เราแชร์ความรู้สึกให้เพื่อนรับรู้’ เราต้องการให้เพื่อนรับฟัง หรือเราต้องการความเห็นอกเห็นใจจากเพื่อน หรือเราต้องการความคิดเห็นว่าเพื่อนจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ หรือที่จริงเราไม่ได้ต้องการอะไรเลยนอกจากระบายความรู้สึก เมื่อรู้ว่าต้องการอะไร ลองบอกกับเพื่อนตามตรงว่ามีเรื่องที่อยากจะเล่า เราต้องการให้เพื่อนตอบสนองกับเรื่องนี้อย่างไร
เขียนระบายสิ่งที่อยู่ในใจออกมา
Gina Moffa นักจิตบำบัด แนะนำว่าอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้เพื่อนไม่ต้องรับมือกับความเจ็บปวดของเรา และยังช่วยให้เรารู้เท่าทันตัวเองได้ด้วยนั้นคือการเขียนบันทึก หรือการเขียนจดหมาย เพราะมันช่วยทำให้สมองประมวลผลเรื่องราวที่เรากำลังจะเขียนให้ตัวเองอ่านได้ในรูปแบบใหม่
ขั้นตอนการเขียนนั้นไม่ซับซ้อนเลย หยิบกระดาษและปากกาขึ้นมา เรารู้สึกอะไรอยู่ในตอนนั้น ก็เขียนไปแบบนั้นเลย เขียนแบบต่อเนื่องแบบไม่หยุด ถ้าเขียนผิดก็ไม่ต้องลบ เขียนแบบไม่ต้องคิด ไม่ต้องปั้นแต่งคำ ไม่ว่ามันจะดูแปลกแค่ไหน เพราะนี่เป็นบันทึกหรือจดหมายที่เราจะอ่านเองคนเดียวเท่านั้น เมื่อเขียนเสร็จแล้วก็อ่านออกเสียงให้ตัวเองฟัง จะพบว่าสบายใจขึ้นมาอย่างน่าประหลาด และเราจะรู้เท่าทันตัวเองมากขึ้นด้วย
พบผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออก
การฝึกตัวเองหรือการเปิดใจคุยกับเพื่อนนั้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เพื่อนสามารถเป็นคนที่ซัพพอร์ตเราได้ แต่เพื่อนไม่สามารถช่วยเราแบกบาดแผลของเราไว้ได้ทั้งหมด เราสามารถเล่าให้เขาฟังได้ในบางเรื่อง แต่บางเรื่องก็อาจเหมาะกับการเล่าให้ผู้เชี่ยวชาญฟังมากกว่า นอกจากจะไม่มีการฝากความเจ็บช้ำไว้กับใครแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังรู้ดีที่สุดด้วยว่าทางออกที่ดีสำหรับเราคือแบบไหน
ไม่ใช่ว่าเพื่อนไม่ได้อยากรับฟัง แต่เพื่อนอาจยังไม่แข็งแรงพอจะช่วยเราแบกเรื่องหนักใจเอาไว้ เพราะเมื่อคนหนึ่งล้ม ก็ต้องมีคนหนึ่งที่แข็งแรงและพร้อมจะเป็นกำแพงให้อีกคนพิงได้ในวันที่เจ็บช้ำ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan