ความเป็นพิษปรากฏอยู่ในทุกที่ แม้กระทั่งผู้คนที่คุณจำเป็นต้องใกล้ชิด ยังซ่อนต่อมพิษไว้เล่นงานเมื่อพลั้งเผลอ!
ผู้คนที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายทางอ้อมสร้างความน่าอึดอัดทุกครั้งที่ต้องปฏิสัมพันธ์ด้วย พวกเขาถูกนิยามว่า ‘Toxic people’ เมื่อชีวิตของพวกเราจะต้องพบปะ ทำธุรกิจ หรือข้องแวะคนเหล่านี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
คนที่เป็นพิษมักไม่มีตรรกะใดๆ มาหยุดยั้งได้ และมักไม่ตระหนักถึงผลของการกระทำที่เกิดขึ้นกับคนอื่น (หรืออาจรู้สึกพึงพอใจเมื่อสร้างความปั่นป่วนสำเร็จ) กรณีหนักหนาที่สุด พวกเขาอาจรู้สึกดีต่อตัวเองเมื่อกดคนอื่นให้จมลง
มันจึงจำเป็นซะหน่อยที่ต้องเรียนรู้การรับมือผู้คนที่เป็นพิษ ดุจการจัดการสารพิษที่ต้องเก็บให้ถูกทาง เพราะเอาจริงๆ คนเหล่านี้ก็ดูดกลืนพลังชีวิตคุณ สร้างความเครียดและทำลายสุขภาวะทางอ้อม
ในโลกเบี้ยวๆ ใบนี้ มีผู้คน
ที่สร้างแรงบันดาลใจ พอๆ กับผู้คนที่ฉุดให้คุณต่ำลง
‘โปรดหยิบจับพวกเขาด้วยความระมัดระวัง’
วัตถุต้องพิษ พบได้ทุกที่โดยเฉพาะ ‘ที่ทำงาน’
พฤติกรรมเป็นพิษจากเพื่อนร่วมงานเป็นกรณีที่พบเห็นง่ายที่สุดนับตั้งแต่บรรพบุรุษของมนุษย์ลงมาจากต้นไม้ (แต่จริงๆ แล้วมนุษย์เริ่มทำงานภายใต้ระบบเมื่อต้นศตวรรษที่ 20) เมื่อแต่ละคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีพื้นที่จำกัดและต้องมีการแชร์ทรัพยากรร่วมกัน ‘ความเห็นแก่ตัว (selfishness)’ จะเป็นตัวจุดประกายอันไวไฟที่ทำให้คนเป็นพิษเผยพฤติกรรมได้รวดเร็วขึ้น และพร้อมทำลายความสัมพันธ์ของผู้คนให้พินาศหากพวกเขาไม่ได้สิ่งที่ต้องการหรือสิทธิพิเศษเหนือผู้อื่น
มนุษย์ล้วนถูกตีกรอบที่มองไม่เห็นด้วยข้อจำกัด แต่คนที่เป็นพิษพยายามจะอยู่เหนือข้อจำกัดดังกล่าว โดยไม่ชวนคุณขึ้นไปด้วย แต่จะจัดพื้นที่ให้คุณอยู่ที่เดิม หรือกดลงให้ต่ำกว่า ยิ่งในปัจจุบันการทำงานในสำนักงานล้วนเป็นลักษณะ Team Based ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม มันจึงเป็นไปได้ที่จะมีคนนิสัยพิษๆ ปะปนในกลุ่มที่คุณทำงานด้วย
มนุษย์จำพวก Toxic People ล้วนมีการแสดงออกที่หลากหลาย แต่โดยส่วนใหญ่คือพยายามควบคุม (Manipulate) ทั้งทางตรงและทางอ้อม เรียกร้องความเห็นใจ หรือพยายามเปลี่ยนคุณให้เป็นพวกเดียวกัน
คบคนเป็นพิษนานๆ ไม่ดีต่อสมอง
จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Friedrich Schiller ในประเทศเยอรมนี พบว่ามนุษย์แต่ละคนสามารถรับสิ่งเร้า (Stimuli) ได้ต่างกัน และส่วนหนึ่งเมื่อรับสิ่งเร้าเข้ามากๆ จะก่อให้เกิดอารมณ์ในเชิงลบ สมองของคุณจะหลั่งฮอร์โมน Cortisol เพื่อทำให้ร่างกายคุณพร้อมเผชิญหน้ากับเรื่องร้ายๆ แต่การที่ต้องจมอยู่กับคนเป็นพิษมากไปเป็นเวลานาน จะก่อให้เกิดความเครียดเรื้อรังที่บั่นทอนศักยภาพการทำงานและทำลายสุขภาพคุณอยู่เงียบๆ
สมาธิที่จดจ่อกับหน้าที่การงานจะลดลง เพราะเวลาส่วนหนึ่งคุณจำเป็นต้องพะวงหน้าพะวงหลังเพื่อระวังคนเป็นพิษจะเปลี่ยนเป้าหมายมาเล่นงานคุณทีเผลอ จากงานวิจัยสุขภาวะคนทำงานจากการสำรวจของ TalentSmart พบว่า คนจำนวน 90% ยอมรับว่า อารมณ์มีอิทธิพลต่อการทำงาน ให้สัมฤทธิ์ผลหรือล้มเหลว
ความเครียดจากการต้องรับมือกับคนเป็นพิษบั่นทอนอาชีพและสร้างภาวะพิษที่แท้จริงต่อสมองคุณ
ประเภทจอมบงการ
เป็นประเภทคนพิษที่ดูออกง่ายที่สุด เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าต้องการอะไร และต้องได้สิ่งนั้นเร็วที่สุด มันเป็นเรื่องของเขาล้วนๆ โดยมีคุณเป็นเพียง ‘เบี้ย’ ในเกม จะเรียกร้องความเท่าเทียมกับคนเหล่านี้ เมินเสียเถอะ!
คนเป็นพิษที่มีนิสัยจอมบงการมักใช้มิตรภาพเป็นเครื่องมือ และมักปฏิบัติต่อคุณแบบ ‘เพื่อนกันๆ’ โดยสังเกตได้จากการพยายามสร้างมิตรภาพให้รวดเร็ว ชอบรวมหมู่ สร้างสัญลักษณ์ของกลุ่ม (Clan) ความเป็นเพื่อนมักทำให้คุณหนักปาก ไม่กล้าปฏิเสธ “เพื่อเพื่อนทำไม่ได้เหรอ? แค่นี้เอง”
คุณมักตกอยู่ในความรู้สึกเป็น ‘ผู้ให้’ ซะมากกว่า โดยได้รางวัลปลอบใจเป็นคำชมเล็กๆ น้อยๆ กับตำแหน่ง ‘เพื่อนรักแห่งปีของฉัน’
ประเภทจอมตัดสิน
คนเหล่านี้ล้วนมีค้อนแห่งการพิพากษาอยู่ในมือ ตั้งตัวเป็นศาลคอยตัดสินว่าอะไรใช่ไม่ใช่ อะไรเจ๋งหรือเสร่อสุดขีด
แทนที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ คนเป็นพิษจะมีความคิดอย่างน้ำเต็มแก้ว อะไรที่ไม่ใช่สำหรับเขาก็จะไม่ยอมรับหรืออ่อนข้อใดๆให้ พวกเขาจะลามมาตัดสินคุณด้วยคำแนะนำที่สร้างความรู้สึกหม่นๆ ฟังทะแม่งหู โดยจะ ‘เป็นคนตรงๆ’ จอมตัดสินจะแสดงออกถึงความปรารถนาอย่างชัดเจน กล้าแสดงความคิดเห็น มั่นใจในจริยธรรมของตัวเองเป็นที่สุด โดยไม่มองเห็นความหลากหลายทางสังคม
คุณจึงมีสถานะเพียงดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบๆ เขา รอคอยคำตัดสิน การทำงานร่วมกับคนประเภทนี้บั่นทอนความเชื่อมั่นต่อคุณเอง
ประเภทชอบเป็นเหยื่อ
การเรียกร้องความเห็นอกเห็นใจคือเครื่องมือที่ใช้สอยได้ง่ายที่สุด พวกเขาใช้ความสงสารของคุณเป็นสิ่งล่อใจโดยยอมเป็นเหยื่ออย่างแนบเนียน ยอมทุกอย่าง และอยากให้คุณเป็นผู้นำ (ตรงกันข้ามกับจอมบงการทั้งปวง)
คนเหล่านี้สังเกตได้ยากที่สุดเพราะคุณมักเผลอใจให้บ่อยๆ พวกชอบเป็นเหยื่อมักจะให้คุณเป็น ‘กันชน’ เวลาเผชิญหน้าความท้าทายและถอยมาข้างหลังเนียนๆ โดยไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือนัก ไม่สามารถจบงานได้ด้วยตัวคนเดียว หวังพึ่งพิงตัวช่วยอื่นๆ จนเป็นนิสัย
คนเป็นเหยื่อมักไม่ก้าวร้าว ไม่ต่อปากต่อคำ ยอมสิโรราบแต่โดยดี พวกเขามักเรียนรู้ช้าและมีประสิทธิภาพการทำงานที่ต่ำกว่าเมื่อถูกประเมิน โดยคุณจะไม่เห็นชื่อเขาเป็นชื่อแรกๆ ในโครงการใดๆ แท้แต่จริงพวกเขาดูดพลังของคุณทางอ้อมอย่างแยบคายที่สุด
ประเภทตัวอิจฉา
“ไม่มีใครจะได้ดีกว่าใคร ตราบเท่าที่ฉันอยู่ตรงนี้” ตัวอิจฉามักเป็นคนที่เปิดหูเปิดตามากที่สุด เป็นยอดนักสืบที่เสาะข้อมูลชั้นดี (โดยไม่สนว่าจริงหรือไม่) ตัวอิจฉามักสำรวจสถานะตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่าอะไรคือทรัพยากรที่มีและอะไรที่ยังขาด พวกเขาจะรับรู้การเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยไม่พึงพอใจกับอะไรสักอย่าง มันทำให้เขาเอาเรื่องความไม่เท่าเทียม ความต่าง และโชคชะตาฟ้าดินมาพร่ำบ่นให้คุณได้ยินอยู่เสมอ พวกตัวอิจฉามักเชื่อว่าต้องมีใครสักคนที่มีสิทธิพิเศษเหนือกว่า
ตัวอิจฉามักเป็นแหล่งข่าวลืออันดับแรกๆ และพยายามทำลายผู้คนที่อิจฉาทางอ้อมโดยสร้าง ‘วงรอบข่าวลือ’ ที่มีสีสัน
คนมีพิษประเภทนี้น่าหวาดหวั่นที่สุด เพราะคุณไม่แค่เหนื่อยใจอย่างเดียว ยังต้องเอาเชื่อเสียงไปเสี่ยงอีกด้วย ซึ่งมารู้อีกทีคนรอบข้างก็มองคุณด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป ทั้งๆ ที่ทุกอย่างไม่ใช่ความจริง
ประเภทเจ้าอารมณ์
มันเหมือนคุณต้องไปยืนอยู่บนปากปล่องภูเขาไฟที่ยังไม่ตายตลอดเวลาในทุกๆ ครั้งที่เผชิญหน้ากับเขา คนหลายคนมีทักษะการควบคุมอารมณ์เป็น 0 โดยมักตัดสินทุกอย่างด้วยอารมณ์ ไม่มีความมั่นคงทางจิตใจ ตอบสนองต่อสิ่งเร้าค่อนข้างง่าย หากไม่ฟาดงวงฟาดงาเลยก็มักอ่อนไหวเป็นพิเศษ และมักชิงพูดว่า ‘เราผิดเอง’ ก่อนเสมอ
คนเจ้าอารมณ์มักโบยตีตัวเองด้วยความเจ็บช้ำ หาทางออกด้วยการกดทับด้วยอีกอารมณ์ คุณมักทำงานด้วยลำบากเพราะพวกเขามักไม่รับผิดชอบกับอารมณ์ของตัวเอง (และพยายามถ่ายทอดออกมาสู่คุณ)
คนประเภทนี้อันตรายต่อบรรยากาศ มักทำให้งานสะดุด เพียงเพราะขัดอกขัดใจอะไรเล็กน้อย
สร้างภูมิคุ้มกันพิษเบื้องต้น
คุณไม่มีทางรู้ว่า ‘คนไหนเป็นพิษ’ จนกว่าคุณจะรู้จักมักจี่กับเขาเสียจริงๆ (หรือหมายความว่าคุณต้องยอมมีประสบการณ์เจ็บก่อนสักครั้งสองครั้ง) เกราะป้องกันที่ดีที่สุดคือการอยู่ร่วมกันโดยมีระยะห่าง และเรียนรู้พฤติกรรมโดยไม่ข้องแวะทางอารมณ์มากนัก จากคำแนะนำของ Kellogg School of Management
1. อย่าให้พิษถูกตัวมาก – ดั่งสารพิษในธรรมชาติที่คุณต้องรู้ระยะห่างในการเข้าใกล้ หากจำเป็นต้องทำงานด้วยกัน ยื่นคำร้องย้ายโต๊ะให้ห่างออกไปหากทำได้ (และที่ทำงานอนุญาต) หรือทำงานผ่านเครื่องมือสื่อสารแทนอย่าง ไลน์กลุ่ม แทนการเผชิญหน้ากับคนที่มีพิษเข้มข้นแบบส่วนตัว หากหัวหน้างานพิษใส่เสียเอง พยายามลดช่วงเวลาที่จะอยู่ร่วมกับเขา หากทำไม่ได้เลยจริงๆ ‘การเปลี่ยนงาน’ คือคำตอบ
2. หาเพื่อนที่มีประสบการณ์ร่วมกับคุณ – มันควรจะมีใครที่คุณเชื่อใจได้บ้าง พูดคุยหรือปรึกษากับพวกเขา ปัญหาของคนอื่นๆ อาจทำให้คุณเห็นทางเลือกของชีวิตเพิ่มมากขึ้น พากันออกไปจากสภาพแวดล้อมที่น่าเบื่อบ้าง หากิจกรรมที่ทำให้คุณผ่อนคลายจากบรรยากาศพิษๆ เพราะคุณก็ไม่ได้มีความสามารถเพียงอย่างเดียว
3. ไม่ต้องอธิบายมาก – แม้คุณจะมีเหตุผลร้อยแปดประการ แต่เมื่อเผชิญหน้ากับคนเป็นพิษมันก็มักไร้ความหมาย การพยายามเปลี่ยนให้เขาเข้าใจหรือมีจุดยืนร่วมกับคุณมักใช้พลังงานสูง หากมั่นใจแล้วว่านิ่งเสียดีกว่า ก็นั่งจิบชาอังกฤษมองความพินาศไปเงียบๆ สบายใจกว่า
4. แน่ใจนะ ว่าไม่พิษซะเอง – สิ่งที่แย่ที่สุดคือการเติบโตเป็นสิ่งที่คุณเคยเกลียด มันเจ็บปวดที่เมื่อย้อนกลับมาดูตัวเองแต่เห็นเป็นเพียงแหล่งแพร่กระจายพิษสู่เพื่อน ครอบครัว หรือสังคมที่คุณอาศัย ตรวจสอบตัวเองเสมอว่าไม่ได้ทำเรื่องแย่ๆ ไว้ให้ใคร โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ
มีคำพูดที่ว่า เราคือผลผลิตจากอิทธิพลของคน 5 คนที่อยู่รายล้อมเรา จงเลือกพวกเขาให้ดี
เมื่อคุณรู้จักคนใกล้ตัวและคาดการณ์พฤติกรรมเขาได้ มันทำให้คุณมองสิ่งที่จะเกิดอย่างมีเหตุมีผลและเข้าใจความต่างของผู้คนโดยไม่เสี่ยงจมบ่อพิษที่คนอื่นขุดไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Differential amygdala activation to negative and positive emotional pictures during an indirect task