อยู่ในสังคมที่น้ำเน่ายิ่งกว่าละครมาพักใหญ่ๆ ก็เริ่มสังเกตได้ว่าความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อสังคมนั้นตายซากลงทุกวัน ข่าวเรื่องไหนก็ไม่ทำให้ตื่นเต้น เรื่องซุบซิบยิ่งฟังก็ยิ่งด้านชา ราวกับว่าสมองของเราได้ดับความรู้สึกอ่อนไหวที่มีหรือเคยมีต่อความอำมหิต ความฉ้อฉล และความโหดร้ายทั้งหลายของประเทศชาติ ให้เรารู้สึกว่าอย่าไปหวังอะไรกับใครเลย เอาตัวเราให้รอดเป็นพอ
เพื่อกระตุ้นความรู้สึกภายในให้ตื่นจากอาการตายซาก ฉันจึงหันเข้าหาสิ่งที่มีชีวิตชีวาอย่างแฟนฟิกชั่นเกาหลี ลองอ่านอะไรที่ไม่เคยอ่าน อาจทำให้พบพบสาระใหม่ๆ ขึ้นมาก็ได้
#ขย่มวังหลัง เคียงบัลลังก์ฝ่าบาท เขียนโดย ‘มูมู่’ เป็นนิยายแชทชิงรักหักสวาทในพระราชวังร้อยเอ็ด เผยแพร่ผ่านแอพพลิเคชันจอยลดา (Joylada) เมื่อปีที่แล้ว ความยาวราวห้าสิบตอน มียอดการอ่านทั้งสิ้น 1.6 พันล้านจอย (แต่ละ ‘จอย’ มาจากการกดหน้าจอเพื่ออ่านบรรทัดถัดไป หรือข้อความแชทถัดไป)
ฉันคิดเลขแล้วพบว่ามีผู้อ่านนิยายหรือ ‘ฟิก’ เรื่องนี้ถึง 60,000 กว่าคน (ติ๊ต่างว่าแต่ละคนอ่านครั้งเดียว) ตัวเลขนี้ได้จากการตั้งหารระหว่างจำนวนบรรทัดตอนอวสาน (1255 บรรทัด นั่งนับเอาแบบถึก) กับจำนวนจอยทั้งหมดของตอนอวสาน (81 ล้านจอย)
อ่านจนจบแล้วฉันก็พบว่า ‘ฟิก’ นั้นมีอะไรมากเกินกว่าทจะถูกมองว่าด้อยค่ากว่า ‘วรรณกรรม’ สิ่งที่ดูเผินๆ แล้วมีไว้สำหรับคนที่อยาก ‘หนีความจริง’ ไปสู่โลกแฟนซี แต่อาจสอนเราได้ว่าจะใช้ชีวิตในโลกความจริงท่ามกลางความโหดร้ายหลายเมียและเล่ห์เหลี่ยมลับลวงพรางได้อย่างไร
ความไร้สาระของประวัติศาสตร์แฟนซี
ละครยอดฮิตแห่งปีเรื่อง ‘บุพเพสันนิวาส’ ส่งแรงกระเพื่อมให้ชาวไทยหยิบเอาวัฒนธรรมชาววังสยามสมัยปลายศตวรรษที่ 17 มาทำตามเป็นกระแสกันใหญ่ ทั้งเครื่องแต่งกาย วลีภาษา และอาหารการกิน แต่น่าสนใจว่า เรตติ้งละครเรื่องนี้ต่ำสุดในภาคอีสาน หากเทียบกับกรุงเทพฯ แล้วมีความนิยมประมาณเพียงครึ่งหนึ่ง (เฉลี่ย 9.418 ต่อ 17.535) ซึ่งข้อเท็จจริงนี้ กำพล จำปาพันธ์ นักประวัติศาสตร์ อธิบายว่าคนอีสานจำนวนมากไม่อินกับละครเรื่องนี้เพราะเรื่องราวในละครนั้นไม่มีภาพเสนอเรื่องราวและมุมมองของบรรพชนคนอีสาน กำพลบอกว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาที่สืบมาตั้งแต่การเขียนประวัติศาสตร์โดยศูนย์กลางอำนาจแล้ว นั่นคือการลบบทบาทที่สำคัญของคนชาติพันธุ์ลาวและเขมรในอาณาจักรสยามสมัยอยุธยาลงไป กำพลจึงเรียกประวัติศาสตร์ในละครนี้ว่า ‘ประวัติศาสตร์แฟนซี’
“ประวัติศาสตร์แฟนซี” ที่มีอยู่จริงก็เพียงในจินตนาการ ไม่ใช่การหมุนย้อนกลับของประวัติศาสตร์ เป็นเพียงการโหยหาอดีตของยุครัฐล้มเหลวในการนำพาไปสู่อนาคต ประวัติศาสตร์แฟนซีไม่มีทางพาคนย้อนกลับไปหาความรุ่งเรืองอย่างในอดีต ไม่อาจนำเอาอดีตกลับมาได้จริง มันเป็นแต่เพียงการประดิษฐ์ใหม่โดยอ้างความเป็นของเก่าแท้ดั้งเดิม ฟินเว่อร์กันไป แล้วก็ไม่ได้อะไรเกิดขึ้น ไม่ต้องกังวลใจว่าจะได้เลือกตั้งเมื่อไหร่ อยู่ๆ สนุกสนาน แต่งชุดไทยกันไป
ถูกตัดสินว่าเป็นคนที่ไม่แยแสความเป็นไปของประเทศชาติยังไม่พอ ผู้ชมที่คลั่งไคล้ ‘บุพเพสันนิวาส’ ยังเจอกับคำถามว่า “ชอบละครหรืออะไรกันแน่”
แล้วคนข้างนอกจะตัดสินกันขนาดไหน ถ้าเป็นคนอ่านที่ ‘ฟินเว่อร์” กับนิยายน้ำเน่าที่ไม่ได้แม้แต่อิงประวัติศาสตร์นิพนธ์ฉบับไหน แต่เป็นประวัติศาสตร์ตามใจคนเขียน แถมตัวละครก็ยืมมาจากการแข่งขันดารานักร้องเกาหลีด้วย? นั่นแหละ ขย่มวังหลัง เคียงบัลลังก์ฝ่าบาท นิยายพาฝันของบอยกรุ๊ปเกาหลี จากรายการ PRODUCE 101 Season 2
ด้วยเนื้อหานิยายที่เป็นเอกลักษณ์ นอกจากฉากสถานที่ร้อยเอ็ดที่แหวกแล้ว วังยังเป็นสไตล์ละครจีน มีฮ่องเต้เป็นผู้มีอำนาจสูงสุด มีตำแหน่งมเหสีคือฮองเฮา ซึ่งภรรยาระดับเฟยทั้งสี่ (ศักดิ์ลดหลั่นลงไปตั้งแต่กุ้ยเฟย ซูเฟย เต๋อเฟย และเสียนเฟย) ของฝ่าบาทพยายามช่วงชิงความรักของฝ่าบาทเป็นของตนให้ได้
องค์ประกอบหลายๆ อย่างหยิบยืมมาจากวัฒนธรรมป๊อปลาวอีสาน อาหารการกินอย่างหมกฮวก ตำซั่ว ไก่ย่าง ดาราศิลปินอย่างจินตหรา พูนลาภ หม่ำ จ๊กมก เทศกาลอย่างงานไหม จ.ขอนแก่น แลนด์มาร์กอย่างบึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด (ที่กลายเป็นน้ำแข็งในฤดูหนาว!) และเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ (ที่มีภูเขาไฟที่ยังไม่ดับ!)
ไร้สาระขนาดนี้ ไม่ได้อิงประวัติศาสตร์อะไรของลาว เขมร เวียดนาม ผู้ไท ฯลฯ เลย มันจะมีคุณค่าสำหรับคนอีสานตรงไหนกัน?
ภาษาไหนๆ ก็ไร้สาระโดยเท่าเทียม
หากจะมีประวัติศาสตร์ไหนที่ ขย่มวังหลัง เคียงบัลลังก์ฝ่าบาท อิงอยู่ ก็คงเป็นประวัติศาสตร์การบริโภคสื่อโทรทัศน์ของคนรุ่นใหม่
การที่นิยายนี้หยิบยืมอะไรต่างๆ มาจากละครโทรทัศน์ ทำให้ ‘วัตถุดิบ’ ทุกสิ่งทุกอย่างถูกดึงมาเป็นเรื่องไร้สาระคะนองปากเท่าเทียมกันหมด ภาษาชาวบ้านอีสานมีสถานะเท่าเทียมกันกับภาษาชาววังร้อยเอ็ด ไม่ได้หยาบหรือละเอียดไปกว่ากัน ความอีนุงตุงนังของชีวิตรัก ‘ฝ่าบาทmanyเมีย’ ก็เป็นเรื่องไร้แก่นสารพอๆ กับการที่ซูสีไทเฮาติดเกมแคนดี้ครัชและคอยรังควานคนรอบตัวให้ส่งหัวใจเพื่อจะได้เล่นต่อ
ละครย้อนยุคอีสาน นาคี เป็นวัตถุดิบให้ตัวละคร “คำแก้ว” ใน ขย่มวังหลัง ยืมมาทั้งชื่อและคำพูดคำจา การใช้ภาษาลาวเป็นไปอย่างธรรมชาติในบทสนทนาระหว่าง ‘คำแก้ว’ กับ ‘อ้ายยงกุก’ ซึ่งอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน ส่วนชาววังยุคราชวงศ์ร้อยเอ็ดเองก็เว้าลาวประปราย อย่างตอนที่เจ้าชายสององค์ต่อเพลงแข่งกันเพื่อชิงนาง ‘แดฮวี’ (Lee Dae-hwi) แล้วเจ้าชายองค์หนึ่งโดนโจทย์ยาก “ผ ผึ้ง” แล้วสวนกลับอย่างฉลาดด้วยเพลง “ผัวเก่า” ของศร สินชัย: “ผัวเก่าคนนี้นั้น ทุกวันยังคิดฮอดเจ้า ยังคือเก่า บ่ทันมีไผ” ส่ง “ผ ผึ้ง” กลับให้คู่ต่อสู้จนไปไม่เป็น
แม้แต่ราชาศัพท์ก็กลายเป็นคำสแลง ด้วยอิทธิพลของการรับชมทีวีซีรีส์จีนและซีรีส์เกาหลีที่เล่นเรื่องราวชาววัง อย่างการใช้คำว่า ‘เหวย’ แทนคำว่า ‘เสวย’ อย่างเช่น “องค์หญิงเหวยนมรึยัง” หรืออย่างการเล่นตลกกับราชาศัพท์อย่างในห้องแชท ‘เจ้าชาย F4 สุดหล่อในปฐพี’ ที่พยายามปลอบโยนฝ่าบาทมินฮยอน (Hwang Min-hyun) ว่า
องค์ชายสี่ พี่อง: กูไม่รู้หรอกนะว่ามึงคิดอะไรอยู่
องค์ชายดงโฮ: มันขึ้นกูมึงเลยว่ะ
องค์ชายหมอ จงฮยอน: อ่ะแฮ่ม
องค์ชายหมอ จงฮยอน: อง
องค์ชายหมอ จงฮยอน: ตอนนี้อยู่ในโหมดเป็นการเป็นงาน
องค์ชายสี่ พี่อง: อ่า
องค์ชายสี่ พี่อง: โทษๆ
องค์ชายสี่ พี่อง: ฝ่าบาท
องค์ชายสี่ พี่อง: ข้ารู้ว่าท่านท้อแท้และยังอยู่ในอาการเสียพระทัย
องค์ชายสี่ พี่อง: ถ้าท่านเหนื่อย ก็พักเถิด…
พอ ร่ายราชาศัพท์ไปได้พักหนึ่ง เจ้าชายอีกคนก็โพล่งขึ้นมาในห้องแชตว่าจะพูดลิเกแบบนี้ไปทำไม ในเมื่อก็คุยกันส่วนตัวอยู่แค่นี้
การใช้ภาษาที่ไม่ซีเรียสในการอ่าน-เขียนนิยายแชท ส่งผลให้ทัศนคติการใช้ภาษาของคนรุ่นใหม่ลดความเป็นช่วงชั้นลง ยอมรับการใช้ภาษาถิ่นมากขึ้นในสถานการณ์ที่หลากหลาย
คำว่า ‘เด้อ’ กลายเป็นคำลงท้ายธรรมดา คำแสดงความรำคาญว่า ‘จั๊กอิหยังกะด้อกะเดี้ย’ ก็สามารถกล่าวออกมาได้จากปากวัยรุ่นอีสานในเมืองโดยไม่ต้องรู้สึกเขินอายว่ามันไม่ใช่ภาษากลาง เพราะการใช้ภาษาไทยมาตรฐานให้ถูกต้องก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่มีสาระอะไรมากมาย ไม่ใช่เรื่องชี้เป็นชี้ตายคุณค่าของคนและผลงานวรรณกรรมได้อีกต่อไป นึกอยากใช้ภาษายังไงก็ใช้ไป เหมือนคนแชทคุยกันอะ (ในขณะที่นักเขียน ‘วรรณกรรมสร้างสรรค์’ จากชายขอบทางภาษาในประเทศนี้จำนวนไม่น้อยยังหาจุด ‘สมดุล’ ระหว่างภาษากรุงเทพฯ กับภาษาของตัวเองไม่ได้!)
แม้ว่าการใช้ภาษาถิ่นจะเป็นกระแสที่ติดมาจากการดูละครโทรทัศน์ แต่ผลที่ตามมากลับกลายเป็นการยอมรับความหลากหลายทางภาษาจริงๆ ดูตัวอย่างคอมเมนต์ท้ายบทของผู้อ่านท่านหนึ่งตอนใกล้จบ เช่น “เยส!! ดีใจเว่อ!! แฮปปี้เอนบ่นิ” และคอมเมนต์ของอีกท่านหนึ่งตอนเรื่องกำลังพลิกผัน “หนีโลดเอื่อยซอนโฮ (Yu Seon-ho นางเอกของเรื่อง) ข้อยกะอยากฮุ้คือกั๋นบักอ้าฝ่าสิเฮ็ดจั๋งใด้ คือสิไปนำเขากลับล่ะกะบอกปี้ฮักน้องเน้อ ตี้ปี้ยะไปตึ๋งหม๊ดกะเพราะว่าพี่บ่อยากฮื้อน้องได้ฮับความเดือดฮ้อนจั๋งซิแหล่ว แม่นบ่อ้ายบักฝ่า ตอบข้อย!!! #ฮู้บ่มันอินกับรากนคราบ่หายเนี่ยฮู้ก่อ”
แทนที่จะตีความว่าคนคนนี้ตามกระแสละครจนไม่มีอารมณ์มาแยแสโลกความจริง น่าจะตีความไปได้อีกแบบว่า ภาษาเหนือที่ผู้อ่านติดมาจากละคร รากนครา แฝงการยอมรับว่าภาษาถิ่น (ที่อาจไม่ใช่ถิ่นตัวเองด้วยซ้ำ) มีศักยภาพที่จะแสดงความคิดและความรู้สึกได้ลึกซึ้งและเข้มข้นอย่างไม่น้อยหน้าภาษากลาง
อารมณ์บ่จอยของผู้อ่านจอยลดา
ถึงแม้สโลแกนของจอยลดาจะเป็น “Joy เมื่อไหร่ก็ Joy” เมื่อไปอ่านดูรีวิวและเสียงตอบรับของผู้อ่านต่อเรื่องแต่ละตอนของ ขย่มวังหลัง แล้วจะเห็นว่าอาการ ‘อิน’ ในนิยายกินความกว้างไกลกว่าเพียงเพลิดเพลินเบิกบานสำราญใจนัก
‘หน่วง’ ‘ไบโพล่าร์’ ‘เครียด’ ‘หัวร้อน’ ‘เหนื่อย’ ‘สงสาร’ ‘เกลียด’ ‘แค้น’ ‘เชียร์ผิดคน’ ‘น้ำตาไหล’ ‘ร้องไห้หนักมาก — ไม่มีความรู้สึกใดในนี้ที่จะนับได้ว่า ‘จอย’ เลย
ทว่า “อารมณ์บ่จอย” เหล่านี้กลับสร้างประสบการณ์การอ่านที่น่าจดจำ เป็นปฏิกิริยาที่แสดงออกมามากกว่าอารมณ์เชิงบวกเสียอีกสำหรับเรื่องที่เข้มข้นอย่าง ขย่มวังหลัง
การที่ผู้แต่งหรือ ‘ไรท์’ สามารถทำให้อารมณ์ผู้อ่านเหวี่ยงไหวไปตามเรื่องที่เดี๋ยวฮาเดี๋ยวโศกเสร็จแล้วเครียดแล้วกลับมาหื่นจนปรับอารมณ์แทบไม่ทัน นับเป็นพรสวรรค์ที่ผู้อ่านต้องสรรเสริญ ซึ่ง ‘อารมณ์บ่จอย’ เหล่านี้สามารถต่อยอดไปเป็นการเรียนรู้ทางอารมณ์และศีลธรรมได้ด้วย ข้างล่างนี้เป็นความเห็นของผู้อ่านท่านหนึ่งที่ระบายความรู้สึกหนักหน่วงต่อปัญหาการมีหลายเมียออกมายาวเหยียด
“คือเอาจริงๆ ความรู้สึกมันแบบมั่วไปหมดโดยเฉพาะแดน (‘แม่นางแดนนี่’ เมียหลวงของ ‘องค์ชายสี่ พี่อง’) มันตัดสินไม่ได้ว่าใครผิดใครถูกอ่านไปด้วยก็เครียดในใจมากๆ ต้องไปหาหมอจิตไหมวะเนี่ย คือคนมีเมียน้อยนะยังไงมันก็ดูเลวมันมีไปแล้ว คนเป็นเมียหลวงอาจไม่ได้ผิดอะไรแค่ไม่ใส่ใจเขาจนเขาไปมีเมียน้อยแต่ในเมื่อมีแล้ว ถ้าเกลียดเขาก็ตัดใจหรือถ้ายังรักอยากอยู่ด้วยขาดไม่ได้ก็ต้องพยายามทำใจ แดนเรียกร้องเกินไปอะจริงๆ เรื่องเยอะจนน่ารำคาญ ซอบ (‘อัน ฮยองซอบ’ เมียน้อยของ ‘อง’) ก็ไม่ได้เลวเลย องเองก็รักแดนดูแลแดนดีทิ้งๆ ขว้างๆ ซอบด้วยซ้ำ แดนตัดพ้อจะขอหย่าพอองเหนื่อยมากจริงๆ จะหย่าแดนก็ตัดพ้ออีกว่าเป็นความต้องการลึกๆ ใช่ไหม โห้ยอิเหี้ยกุเหนื่อยๆๆๆๆๆๆ พี่เป้ช่วยกุด้วย คือแบบเนี่ยพ่อกูก็มีเมียน้อยค่อนข้างเข้าใจความรู้สึกแดนแต่แบบถ้าเมียน้อยมันไม่เหี้ยผัวมันไม่เหี้ยก็ดีแล้วไหม อิเวนกูเจ็บหัวกูเคียดจริงนะเนี่ยบ้าไปแล้วไม่ใช่แค่จะบ้าช่วยกูด้วย มันแบบเข้าใจมั้ยมึง กูว่ากูอินจัดกับฟิคเรื่องนี้”
สังเกตได้ว่าผู้อ่านท่านนี้ ไม่ได้ ‘หนีจากโลกความจริง’ ไปอยู่ในนิยาย แต่ปัญหามีเมียหลายคนเป็นเรื่องของโลกความจริงด้วย อารมณ์ที่หนักหน่วงในนิยายทำให้เกิดการสะท้อนย้อนคิดถึงชีวิตตัวเอง แสดงว่าการอ่าน ‘นิยายน้ำเน่า’ เรื่องนี้เปิดพื้นที่เรียนรู้ทางอารมณ์และศีลธรรมด้วย
เรียนรู้อารมณ์ สู้สังคมน้ำเน่า
ในเมื่อ ‘ความสุขสำราญ’ อาจไม่ใช่เป้าหมายสูงสุดอย่างเดียวของการอ่านนิยายอย่าง ขย่มวังหลัง ความซับซ้อนทางอารมณ์ที่เราได้จากการอ่านน่าจะสอนอะไรเราได้หลายอย่าง
แน่นอนว่า การอ่านแล้วน้ำตาไหล หน่วง สงสาร เข้าใจความรู้สึกตัวละคร ทำให้ผู้อ่านเรียนรู้เรื่องการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สร้างอุปนิสัยไม่นิ่งดูดายต่อคนทุกข์ในโลกความจริง ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพระชายาที่ถูกประหารชีวิตสมัยพระเจ้าตากสิน ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องของตนต่อสาธารณะ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อนของเราเองที่กำลังถูกสามีสวมเขา
แต่ว่าความรู้สึกเกลียด แค้น และสะใจต่อชะตากรรมของ ‘ตัวร้าย’ ล่ะ? ผู้อ่านสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง เพื่อตัดวงจรน้ำเน่า ‘ตาต่อตา ฟันต่อฟัน’ ออกไปจากใจและจากสังคม?
ข้อดีอย่างหนึ่งของ ขย่มวังหลัง เคียงบัลลังก์ฝ่าบาท คือ ‘แฮปปี้เอ็นดิ้ง’ ในเรื่องมีหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นจะต้องลงเอยพระ-นางแต่งงานมีลูกเสมอไป ‘แฮปปี้เอ็นดิ้ง’ ที่โดดออกมามีอยู่สองเส้นเรื่อง
หนึ่ง- จาก ‘ศัตรูหมายเลขหนึ่ง’ ที่ใส่ความและแบล็กเมล์กันเอง ชายาฝ่าบาทสองคนตัดสินใจหนีความโหดร้ายของวังร้อยเอ็ดที่อาจสั่งประหารใครเมื่อไหร่ก็ได้ด้วยความผิดเพียงน้อยนิด ทั้งสองไปเปิดร้านอาหารด้วยกันที่พัทยา สุดท้ายเมื่อฝ่าบาทปลอมตัวไปถามข่าวคราว ก็พบว่าอดีตเมียทั้งสองอยู่ด้วยกันอย่างสุขสบายดีโดยไม่ต้องการกลับไปวุ่นวายใจอย่างเดิมอีก เรื่องของสองคนนี้จึงจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้งโดยไม่มีผู้ชาย
สอง- จาก ‘ตัวร้าย’ ที่ผู้อ่านอาจรู้สึกสะใจที่ได้เห็นนางตายเพราะกรรมชั่วของตัวเอง เรื่องของนางจบลงที่การอโหสิกรรมของดวงวิญญาณ เมื่อผู้อ่านเห็นเช่นนี้ก็อาจคลี่คลายความสะใจที่เคยมี ไปเป็นความเข้าใจและการให้อภัยได้เช่นกัน
และสุดท้าย เรื่องบางเรื่อง ผู้อ่านก็ไม่จำเป็นต้องยอมตามหรือเห็นใจ ความหงุดหงิด ความรำคาญ แม้กระทั่งความเดือดดาลที่ได้จากการอ่านสิ่งที่ขัดกับมโนธรรมของผู้อ่าน ก็อาจช่วยลับคมจิตสำนึกต่อความอยุติธรรมในสังคมได้เป็นอย่างดี
อย่างตอนฉันอ่านแชทระหว่างฝ่าบาทและแม่ทัพควานลิน (พี่สาวนางเอกซอนโฮ) ที่คิดว่าจะปั่นหัวผู้หญิงยังไงก็ได้ ขอให้มันเป็นไป ‘ตามเกม’ ของฝ่าบาทและแม่ทัพที่ ‘แลกน้องสาว’ กัน มันทำให้ฉันเดือดดาลจริงๆ
ฝ่าบาท: ควานลิน
ฝ่าบาท: คุยกันแบบลูกผู้ชาย
แม่ทัพควานลิน: พะยะค่ะ
ฝ่าบาท: แจฮวานกับแดนนี่มาบอกข้าว่าเจ้าลวนลามองค์หญิง
แม่ทัพควานลิน: เป็นความจริงพะยะค่ะ
ฝ่าบาท: …
ฝ่าบาท: 555
แม่ทัพควานลิน: ข้าก็แค่เดินเกมตามเดิมพันของเราไง ฝ่าบาท
แม่ทัพควานลิน: ที่จริงแอบหอมมาหลายวันแล้ว
แม่ทัพควานลิน: แต่วันนี้องค์หญิงตื่นพอดี
ฝ่าบาท: เลยถูกจับได้สินะ 555
แม่ทัพควานลิน: ท่านควรลงโทษข้า
แม่ทัพควานลิน: องค์หญิงจะได้ไม่สงสัย
ฝ่าบาท: ไหนลองเสนอ
การที่ต้องมาเป็นสักขีพยานความระยำตำบอนของ ‘ลูกผู้ชาย’ ที่ไม่เคารพสิทธิเหนือเรือนร่างของผู้หญิงอย่างนี้ ฉันรู้สึกเหมือนถูกเขย่าแรงๆ ให้ไม่ลืมว่า นี่ไง ทัศนคติแบบนี้แหละที่ระบาดอยู่ทุกหนแห่ง อะไรที่ตุ๊ดอย่างเธอจะไม่ได้ยินเรื่องที่ผู้ชายเขาคุยกันในที่ลับ ในวงเหล้า ในล็อกเกอร์รูม เธอก็จะได้ยินมันแล้วในนิยายแชทเรื่องนี้ไง
อย่างที่ ซารา อาเหม็ด นักปรัชญา นักทฤษฎีสตรีนิยมและทฤษฎีผัสสารมณ์ (affect theory) ได้กล่าวไว้ในบทสรุปของหนังสือ The Promise of Happiness ว่า
“เราสามารถเล็งเห็นได้ว่า ‘เฟมินิสต์พิฆาตจอย (feminist killjoy)’ ‘เควียร์ไร้สุข และ ‘คนย้ายถิ่นอมทุกข์’ ก็ดูจะเป็นเครือญาติแบบเควียร์ๆ กับการเป็น ‘คนร่าเริงโลกสวย (happy-go-lucky)’ ได้เหมือนกัน ความไร้สุขและความเดือดดาลต่อความอยุติธรรม ดีไม่ดีอาจอยู่ต่อเนื่องเป็นเส้นเดียวกันกับความรู้สึกดีๆ ที่ถูกอ่านถูกมองว่าไร้ความคิดรอบคอบและไร้แก่นสาร (careless and silly) เสียด้วยซ้ำ
การต่อสู้ผลักไสความสุขที่สังคมไซโคว่าเราต้องมี (happiness as a necessity) ย่อมเป็นการต่อสู้เพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่ความสุขที่อาจผุดขึ้นมาเมื่อใดก็ได้ด้วย (happiness as a possibility) ทุกวันนี้ข้าพเจ้านึกถึงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่าเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นไปได้ (hap movements) แทนที่จะเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อความสุข (happiness movements) ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คนไร้สุขกำลังกลายมาเป็นคนเปี่ยมสุข คนละโยชน์กันเลย รูปแบบจิตสำนึกทางการเมืองที่ไปไกลถึงขึ้นปฏิวัติสังคมได้นั้น ต้องปรับสำนึกรู้ของเราให้กว้างไกลและเข้มข้นขึ้น (heightening our awareness) ให้สามารถรับรู้ได้ว่ามันมีเรื่องให้เราไร้สุขมากมายก่ายกองขนาดไหน”
การอ่านนิยายแชทอย่าง ขย่มวังหลัง เคียงบัลลังก์ฝ่าบาท จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยสาระในความไร้สาระ อารมณ์ ‘จอย’ จะไม่มีความหมายอะไรถ้าไม่มี ‘อารมณ์บ่จอย’ ควบคู่ไปตลอด ขอขอบคุณ ‘มูมู่’ ผู้แต่งแชทฟิกเรื่องนี้ ที่ช่วยให้ฉันได้เผชิญกับปัญหาการมีเมียหลายคนและการหักเหลี่ยมลับลวงพรางในรั้ววังอย่างเข้มข้นในอารมณ์ อย่างที่ฉันไม่เคยได้มาก่อนจากการอ่านวรรณกรรมอื่นใด
ขอขอบคุณภาพตัวละครจากมูมู่