ในชีวิตเราผ่านหนังผ่านละครกันมามากมาย แนวเรื่องแบบ ‘สลับร่าง’ ดูจะเป็นแนวเรื่องที่พอเจอแล้วก็ อ้าวสลับร่างอีกแล้ว ล่าสุดณเดชน์กับญาญ่าก็สลับร่างกัน ก่อนหน้านี้ไม่นานเราก็มี Your Name ที่พระเอกนางเอกสลับร่างกันชั่วคราว ยิ่งถ้าลองมองไปที่ละครไทยที่ผ่านๆ มา มีจำนวนไม่น้อยที่เล่นกับการสลับร่าง การที่จิตใจของคนหนึ่งไปอยู่ในร่างกาย ไปใช้ชีวิตของอีกคน
ก่อนจะรู้สึกว่าสลับร่างอีกแล้วไม่เบื่อหรือ ลองคิดดูว่าไอ้ความคิดแบบที่ว่า ‘ถ้าฉันเป็นเธอ’ ไอ้จินตนาการว่าถ้าเราได้เป็นคนนั้นคนนี้นะ เราจะทำแบบนั้นแบบนี้ ถ้าเราเกิดมาสวยและรวยมากๆ จะเป็นยังไงนะ ถ้าชีวิตของเราสลับกันมันจะยากง่ายแค่ไหน ถ้าเรากลายเป็นอีกเพศเป็นยังไงนะ ความคิดที่จะลอง ‘ละทิ้ง’ ตัวตนของตัวเอง นึกสนุกๆ ไปใช้ชีวิตเป็นคนอื่นก็ดูจะเป็นความคิดขำๆ ที่เราคิดกันขึ้นมา
ตรงนี้เองละมั้งที่ทำให้ละครแนวสลับร่างยังได้รับความนิยมอยู่ เพราะไอ้ความคิดที่เรามักคิดเสมอว่าถ้าวันนึงเรากลายเป็นคนอื่นจะเป็นยังไง ความคิดแบบที่มาลองใช้ชีวิตแลกกันซักวัน โลกของหนังละครเป็นพื้นที่ที่ทำให้ความขี้สงสัยตรงนี้เป็นจริงได้
ปรัชญาแบบ Duality จิตและกายที่แยกออกจากกัน
ทุกวันนี้เราคงรู้สึกว่า เฮ้ย! การสลับร่างในทางวิทยาศาสตร์มันเป็นไปไม่ได้ปะ ถ้าจะสลับร่างได้อาจจะต้องใช้การผ่านตัดย้ายสมอง แต่ในทางปรัชญาและความคิด แนวคิดสำคัญที่เรามีทั้งในโลกตะวันตกและโลกตะวันออกคือแนวคิดที่แยกระหว่าง ‘กาย’ และ ‘จิต’ เรียกว่า Duality
อธิบายอย่างง่ายที่สุดก็คือคล้ายๆ แนวคิดเรื่อง ‘วิญญาณ’ แนวคิดที่เราแยกตัวตนของเราออกเป็นสองตามคำว่า duality ซึ่งนักคิดโบราณก็แยกว่า เออเนี่ย เรามีสองส่วนแยกออกจากกัน คือส่วนที่เป็นร่างกาย (body) และส่วนที่เป็นจิตหรือใจ (mind)
การอธิบายแนวคิดเรื่องจิตใจที่แยกออกจากร่างกายไม่ได้เป็นแค่เรื่องทางศาสนาหรือเรื่องเหนือธรรมชาติเท่านั้น นักคิด เช่น เรอเน เดการ์ต (René Descartes) ในคำพูดของเขาว่า ‘ฉันคิดฉันจึงมีอยู่’ เองก็เป็นการพูดถึงประเด็นว่า เออมนุษย์เราเนี่ยต้องคิด เราถึงจะดำรงอยู่ แปลว่าจิตใจต้องทำงาน มีแต่ร่างกายไม่ได้ ซึ่งฐานคิดแบบนี้ก็นำไปสู่การอธิบายมนุษย์ในมิติที่พ้นไปจากเชิงกายภาพ ไปสู่การศึกษาเรื่องจิตใจ เรื่องจิตสำนึกเพื่อทำความเข้าใจมนุษย์ในมิติที่ซับซ้อน
จากแนวคิดเชิงปรัชญาและวิทยาศาสตร์นี่เอง เป็นฐานให้กับโลกในจินตนาการว่า นี่ไงเรามีวิญญาณ มีจิตที่แยกออกจากร่างกายที่เป็นภาพ การถ่ายโอนจิตจึงดูเป็นสิ่งที่อยู่ในจินตนาการของเราอยู่เสมอ
สลับร่างกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19
ประเด็นของเรื่องแนวสลับร่างอยู่ที่การลอง ‘สลับตัวตน’ ของกันและกัน ลองไปใช้ชีวิตในวิถีของอีกคนหนึ่ง ในร่างกายของอีกคน การสลับร่างสลับบทบาทมีรูปแบบการสลับร่างไปต่างๆ นัยของการสลับร่างจึงมีประเด็นของช่องว่าง (gap) เช่นพระเอกนางเอกสลับร่างกันก็มักจะมีประเด็นเรื่องเพศ ปัญหาของแต่ละเพศที่ต้องเผชิญทั้งในเชิงกายภาพและการรับมือสังคมรอบข้าง เรื่องแนวสลับร่างเรื่องแรกคือ Vice Versa: A Lesson to Fathers ตีพิมพ์ในปี 1882 ประเด็นการสลับร่างกันครั้งแรกในโลกวรรณกรรมเป็นการสลับร่างโดยเล่นกับประเด็นเรื่อง ‘ช่องว่างระหว่างวัย’ (generation gap) ถือว่าอมตะดี
Vice Versa ก็ตามชื่อเรื่องจากภาษาละตินที่แปลว่า ‘จากอีกด้านหนึ่ง’ ในเรื่องพูดถึงพ่อลูกที่ได้สลับร่างกันเพราะอำนาจหินเวทย์มนตร์จากอินเดีย แนวเรื่องก็ประมาณหนังฟีลกู้ด ชวนหัวเล็กน้อยที่พ่อไปใช้ชีวิตเป็นลูกชาย และลูกชายกลายเป็นพ่อ สุดท้ายตอนจบทั้งสองก็กลับคืนร่างและเข้าใจกันและกันมากขึ้น จบแบบยิ้มๆ น่ารักๆ ซึ่งโครงเรื่องแบบนี้จากปลายศตวรรษที่ 19 ก็ยังคงมีหนังหลายเรื่องที่พูดถึงความขัดแย้งไม่เข้าใจในครอบครัว จนด้วยพลังเหนือธรรมชาติทำให้ได้ลองเป็นอีกคนก่อนจะจบลงอย่างสุขสันต์
คงจะเหมือนที่เดการ์ตพูด มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คิด เราคิดนู่นคิดนี่เสมอ เรื่องแนวสลับร่างก็ดูจะเป็นความคิดที่เราคิดล่องลอยไปว่า ถ้าเป็นคนอื่นบ้างชีวิตเราจะเป็นยังไงนะ บางทีเราก็อยากจะให้คนอื่นเข้าใจเราและเราก็ควรจะเข้าใจคนอื่นด้วย ในทางสังคมละครไทยที่ดูจะเหนือจริงและเป็นเรื่องบันเทิง
ในการสลับร่างแต่ละครั้งก็อาจทำให้เราเห็นความซับซ้อนและสิ่งที่คนในแต่ละบทบาทต้องเผชิญ เราได้ลองนึกไปว่าไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง เป็นคนรวยหรือคนจน เป็นคนดีหรือคนร้าย เราต่างก็เป็นมนุษย์ที่กำลังดิ้นรนต่อสู้อยู่ เราทุกคนต่างมีปัญหาที่ต้องเผชิญ