หลังจากเกิดเหตุฆาตกรรมหญิงสาวในห้องน้ำสาธารณะใกล้กับสถานีรถไฟใต้ดินเมืองกังนัม ในปี ค.ศ.2016 ซึ่งฆาตรกรมีเจตนาเลือกเหยื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ และตั้งกล้องแอบถ่ายผู้หญิงในห้องน้ำสาธารณะหลายแห่งทั่วโซล รวมถึงมีการแอบถ่ายด้วยเลนส์ซูมคุณภาพดีจากตึกใกล้เคียงมายังที่พักส่วนตัว ทำให้กิจวัตรประจำวันของพวกเธอกลายเป็นหนังโป๊เพื่อสำเร็จความใคร่[1] ในเดือนตุลาคมปี ค.ศ.2018 หลังจากนั้นจึงได้มีการเดินขบวนของกลุ่มผู้หญิงเกาหลีใต้ 10,000 นางในกรุงโซล เพื่อเคลื่อนไหวในประเด็นดังกล่าว
อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของพวกเธอนำไปสู่กระแสต่อต้านโดยผู้ชายจำนวนมากในเกาหลีใต้
มีการรวมกลุ่ม Dang Dang We ที่เป็นกลุ่มผู้ชายจำนวนนึงที่ลุกขึ้นมากล่าวว่า เฟมินิสม์คือความเกลียดชัง คือการเลือกปฏิบัติทางเพศ ไม่ใช่เรื่องความเท่าเทียมทางเพศอีกต่อไป ซึ่งแกนนำของพวกผู้ชายคือชายที่ถูกศาลตัดสินให้จำคุก 6 เดือนโทษฐานลวนลามจับสะโพกของผู้หญิง โดยมีหลักฐานเดียวคือคำให้การของเหยื่อ ซึ่งได้สร้างความโกรธแค้นให้เขาอย่างมาก เขารวบรวมผู้ที่กระทำความผิดในกรณีนี้สมัครพรรคพวกเป็นกลุ่มที่ต้องการจะกำจัดแนวคิดและการเคลื่อนไหวต่างๆ ในนามเฟมินิสม์ที่เป็นต้นตอที่เกิดขึ้น
ส่วนหนึ่งอันเนื่องมาจากเมื่อ มูนแจอิน (Moon Jae-In) ประธานาธิบดีได้รับการเลือกตั้งตั้งแต่ ค.ศ.2017 ที่ได้รับฉายาว่า ‘ประธานาธิบดีสตรีนิยม’ มีมาตรการเข้มงวดกับการปราบปรามการล่วงละเมิดทางเพศต่อผู้หญิง จนคดีล่วงละเมิดสตรีเป็นคดีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและสร้างความไม่สบายใจให้กับผู้ชาย
และจากโพสสำรวจทัศนคติผู้ชายที่มีต่อเฟมินิสต์ พบว่า ผู้ชายมากกว่า 1,000 คน 76% อยู่ในช่วงวัย20 66% อยู่ในวัย 30 ต่อต้าน ‘สตรีนิยม’ และเกือบ 60% มีความเห็นว่าต้นเหตุสำคัญของปัญหาสังคมเกิดจากความสำคัญกับประเด็นเพศสภาพ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่เห็นด้วยกับ แคมเปญ #Metoo [2]
ผู้ชายกลุ่มนี้แสดงความเห็นว่า พอผู้หญิงออกมานุ่งน้อยห่มน้อย ผู้ชายที่เห็นว่าเป็นเรื่องบันเทิงก็หาว่าเป็นความรุนแรง ทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ แต่พอผู้ชายถูกจับนุ่งน้อยห่มน้อยบ้างผู้หญิงกับมองว่าเป็นเรื่องสนุกสนานได้ รวมทั้งการบังคับผู้ชายเกณฑ์ทหาร มีเป็นการเลือกปฏิบัติ เพราะนับตั้งแต่สงครามเกาหลีเป็นต้นมา ที่การเกณฑ์ทหารกลายเป็นหน้าที่ชายเกาหลีใต้อายุ 18 – 35 ปีที่จะต้องไป ‘รับใช้ชาติ’ 12 – 24 เดือน ซึ่งคนรุ่นใหม่เริ่มไม่ซื้อค่านิยมแบบนี้แล้ว เพราะวัยที่จะต้องเกณฑ์ทหารเป็นวัยที่พวกเขาจะได้ทำตามฝันมีศักยภาพเต็มที่ที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต การเกณฑ์ทหารไม่ได้เกิดประโยชน์อะไรสำหรับพวกเขา และไม่ได้รับสวัสดิการที่คุ้มค่าในกรณีบาดเจ็บ
โอยยยย… หนุ่มๆ ทำไมช่างเข้าใจผิดอะไรไปหมดผิดฝาผิดตัวไปหมดเลย ทั้งเรื่องเฮียโดนจับทั้งที่หลักฐานไม่เพียงพอ ทั้งเรื่องการเกณฑ์ทหาร มันไม่ได้มาจากผู้หญิงเลยนะ แต่มันมาจากอำนาจรัฐที่มีทัศนคติปิตาธิปไตย ถ้าจะเคลื่อนไหว เฮียต้องก็ไปแก้ที่โครงสร้างนู่น ไม่ใช่มาด่าไล่บี้เฟมินิสต์ แล้วเรื่องนุ่งน้อยห่มน้อย เดี๋ยวนี้เค้ามาพิจารณากันที่ความสมัครใจ อำนาจในการตัดสินใจของผู้นุ่งผู้ห่มกันแล้ว ประเด็นไม่ได้อยู่ที่เป็นอาหารตาใคร ประเด็นมันอยู่ที่ผู้นุ่งว่าเป็นเสรีภาพของเขาหรือถูกบังคับ
แล้วทุกคนต่างก็ตกเป็นเหยื่อของปิตาธิปไตยด้วยกันทั้งนั้น
เพียงแต่เหยื่อในรูปแบบที่ต่างกัน
เกณฑ์ทหารก็เช่นกันที่เป็นความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติทางเพศที่มองว่าเพศชายเป็นเพศที่สัมพันธ์กับสถาบันของชาติ ขณะที่ผู้หญิงถูกมองว่าอ่อนแอไร้สติปัญญาเหตุผล ต้องกีดกันออกจากสถาบันสำคัญของชาติ
พอๆ กับกลุ่มหญิงสาวในโซลบางกลุ่ม ที่พวกนางเริ่มรวมกลุ่มจัดแคมเปญ ‘four nos’ อันได้แก่ ไม่เดท ไม่มี sex ไม่แต่งงาน ไม่มีลูก (โอ้ย…ยากจัง จะไม่เดท ไม่แต่งงาน ไม่มีลูกได้ เหลือมี sex ไว้บ้างก็ได้) เพราะเชื่อว่าในโครงสร้างชายเป็นใหญ่ ต่อให้ผู้หญิงจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การศึกษาดี อาชีพดี เงินเดือนสูง แต่เมื่อเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ พวกเธอก็ต้องเป็นเมียที่สยบยอม ยิ่งมีลูก หน้าที่การงาน ผลการศึกษา รายได้ก็ไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับพวกเธออีกต่อไป เพราะเธอมีหน้าที่สำคัญกว่าคือการเลี้ยงลูก ซึ่งนั่นเท่ากับว่าการมีผัวนำไปสู่อุปสรรคในการพัฒนาคุณค่าของผู้หญิง ต้องตัดไฟแต่ต้นลมด้วยการไม่เริ่มเดท ไม่อึ๊บกันเลยดีกว่า[3]
ซึ่งเจ๊นี้ก็เกินไป radical feminist เค้าเกิดและตายตั้งแต่1960’s – 1970’s แล้ว ก่อนเจ๊เกิดด้วยซ้ำ ถ้าออกมาเรียกร้องสิทธิสตรีแบบนี้ นอนอยู่บ้านอ่านหนังสือ ผู้ชายเลวกว่าหมา ฟังเพลงปาน ธนพร แล้วบอกว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ก็ได้เหมือนกัน
แต่อันที่จริง หากมองย้อนกลับไปยังสถานภาพสตรีและกลุ่มสตรีนิยมในเกาหลีในประวัติศาสตร์ บางที เมื่อแรกมีสตรีนิยมเกาหลีอาจต่อสู้ประเด็นใหญ่โตและเจอแรงเสียดทานที่รุนแรงกว่า สร้างคุณูปการต่อประเทศใหญ่หลวงกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่กลุ่มพวกผู้ชาย Dang Dang We มองข้ามหรือแกล้งหลงลืมไป
นักวิชาการหลายคนลงความเห็นว่า สตรีนิยมเกาหลีเริ่มขึ้นเมื่อเกาหลีเปิดประเทศการค้า หลังจากปฏิรูปเมจิในญี่ปุ่นปี ค.ศ.1868 ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติทันสมัยแบบตะวันตกทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเกาหลีก็ตกเป็นเป้าที่ญี่ปุ่นหมายตา เพราะเป็นตลาดการค้าให้กับญี่ปุ่นได้และเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ หลังจากใช้กองกำลังทางทหารให้เกาหลีเปิดประเทศการค้า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1875 ก็ทำให้เกาหลีรับอิทธิพลสมัยใหม่แบบตะวันตกมากขึ้นจากการค้ากับต่างชาติต่างๆ ไปพร้อมกับถูกญี่ปุ่นแทรกแซงการปกครองเรื่อยมาในฐานะประเทศกึ่งเมืองขึ้น ก่อนจะตกเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จเมื่อปี ค.ศ.1910 สิ้นสุดราชวงศ์โชซอน 518 ปี[4]
มรดกอย่างหนึ่งจากการรับอิทธิพลสมัยใหม่หลังจากเปิดประเทศที่มักไม่ถูกพูดถึงก็คือ ‘New Woman’ เนื่องมาจากผู้หญิงเกาหลีเริ่มได้รับการศึกษาจากโรงเรียนที่เป็นระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ได้จากการน้อมรับโลกตะวันตก รวมทั้งชนชั้นกระฎุมพีที่ขยายตัวมากขึ้น พวกเธอได้เรียนหนังสือจากโรงเรียนจนอ่านออกเขียนได้หลายภาษา มีอาชีพนอกบ้านและอำนาจในการจับจ่าย เท่ากับว่าการศึกษาช่วยให้ผู้หญิงปลดแอกทางเพศ พวกเธอเหล่านี้ก็มักจะกลายเป็นครูอาจารย์ผู้สอนหนังสือ เป็นนักการศึกษาอีกทีบนพื้นที่สาธารณะ และถ่ายทอดความรู้ให้กับน้องสาวของเธอที่บ้าน
เมื่อพวกเธอตื่นตัวกับรับวัฒนธรรมจากโลกภายนอกมากขึ้นทั้งจากหนังสือแปลของฝั่งยุโรป นิตยสารและภาพยนตร์ต่างชาติ พวกเธอจึงแสดงออกผ่านการปรากฏตัวบนที่สาธารณะให้แตกต่างจากหญิงยุคก่อนอย่างโชซอน นิยามตนเองเป็น Modern Girl ที่เป็นปรากฏการณ์ของหญิงสาวสมัยใหม่แพร่หลายในวัฒนธรรมบริโภค ทุนนิยม
หญิงสมัยใหม่เกิดขึ้นโดยทั่วไปใน โซล เซี่ยงไฮ้ เดลฮีปักกิ่ง
บอมเบย์ โตเกียว เบอร์ลิน โจฮันเนสเบิร์ก นิวยอร์ก
พวกนางปรากฏตัวด้วยผมทรงบ๊อบ ทาปากด้วยลิปสติกแดง แป้งพอกหน้า เล็บเงามัน สวมหมวกสตรี เย้ายวนและสะดุดตา มีจริตจะก้านเปิดเผย ยิ้มง่าย ยิ้มเห็นฟันและกล้าส่งยิ้มให้ชายหนุ่ม ศรัทธาในเสรีภาพแห่งความรัก มองหาคู่ชีวิตที่เป็นรักโรแมนติก พวกเธอปรากฏในโปสเตอร์ นิตยสารภาพ ภาพยนตร์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 กลายเป็นแม่พิมพ์ของผู้หญิงและหญิงสาวที่ปรากฏตัวนอกบ้าน[5]
จากเดิมที่ผู้หญิงในยุคโชซอนถูกขัดเกลาสั่งสอนแต่ในบ้าน ตามวาทกรรมของขงจื๊อใหม่ (Neo-Confucianism) ที่ผู้ปกครองมีสิทธิอำนาจเหนือผู้อยู่ใต้การปกครอง สิทธิอำนาจบิดาเหนือบุตร และสิทธิอำนาจสามีเหนือภรรยา ผู้หญิงสอนให้นับวันประจำเดือนเพื่อคำนวณความเป็นไปได้ของการให้กำเนิดลูกชาย ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับลูกชายคนโตในฐานะผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล ผู้ชายทำงานนอกบ้านเป็นหัวหน้าครอบครัว ผู้หญิงคอยรับใช้สามีและลูกชาย และต้องเชื่อฟังสามีเมื่อแต่งงาน และถ้ายังไม่ได้แต่งงานก็ต้องเชื่อบิดา ชายชนชั้นสูงแต่งงานแบบผัวเดียวเมียเดียว
New Woman ของเกาหลีมีทั้งที่ได้รับการศึกษาแล้วไปประกอบอาชีพนอกบ้าน เป็นแพทย์ อาจารย์ ทำธุรกิจในที่สาธารณะ ขณะเดียวกันก็เป็น Modern Girl แสนจะหรูหรา ฉูดฉาด จัดจ้าน ที่อย่างหลังมักถูกนิยามว่าฟุ้งเฟ้อเย่อหยิ่ง ไม่เป็นกุลสตรี ตกเป็นทาสแฟชั่น พวกนางถูกจัดวางเป็นขั้วตรงข้ามกับการเป็นแม่และเมียที่ดีแบบขงจื๊อ ที่สุดท้ายแล้วจะต้องจบด้วยการฆ่าตัวตาย วิกลจริตบ้าบอ หรือน่าสังเวชทุกข์ทรมานในวรรณกรรม และชีวิตของนักแสดง นักร้อง นักเขียน ศิลปิน แต่โดยรวมแล้วพวกเธอถือได้ว่ากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีและเป็นหน่ออ่อนของเฟมินิสต์ในประเทศ
หากมองว่าเป็นผลผลิตของอิทธิพลสมัยใหม่จากตะวันตก แนวคิดชาตินิยมและสตรีนิยมในเกาหลีก็ไม่ได้ต่างกันนัก เพราะต่างก็เกิดขึ้นในช่วงสมัยเดียวกันจากแหล่งเดียวกัน เกาหลีไม่ได้มีประสบการณ์ถูกปกครองโดยจักรวรรดินิยมตะวันตกโดยตรง จึงไม่หวาดกลัวอำนาจตะวันตกมากนักและใช้ความรู้จากตะวันตกสร้างชาตินิยมในการต่อสู้จักรวรรดิญี่ปุ่น ขณะเดียวกันสตรีนิยมก็ต่อสู่กับโครงสร้างของชาติตนเองไปด้วยที่เป็นขงจื๊อปิตาธิปไตย โดยใช้สำนึกโลกสมัยใหม่จากต่างประเทศ อิทธิพลตะวันตกเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์ระบบสังคมดั้งเดิม
พวกผู้ชายชาตินิยม มองว่าการเรียกร้องสิทธิสตรีของ
พวกผู้หญิงสมัยใหม่หัวก้าวหน้าเป็นความต้องการระดับปัจจัก
และอยากให้วางเฟมินิสต์เอาไว้ก่อนแล้วเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อชาติเกาหลีกับจักรวรรดิญี่ปุ่น เพราะชาตินิยมคือการสละละทิ้งปัจเจกนิยมและอัตลักษณ์เฉพาะตนเพื่อมวลมหาประชาชาติ หญิงสมัยใหม่ จึงต้องเผชิญอุปสรรคในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพวกเธอ จากชายชาตินิยมที่จับจ้องเธอและรู้สึกว่าหญิงเหล่านี้เป็นภัยความมั่นคงในการเคลื่อนไหวปลดแอกจากเจ้าอาณานิคม
Yim Youngsin (Louise Yim) นักเคลื่อนไหวสิทธิสตรีชาวเกาหลีในยุคโมเดิร์น น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีและสัญลักษณ์ของหญิงสมัยใหม่ใต้อาณานิคม ที่ยกระดับตัวเองผ่านการศึกษา เป็นชาตินิยมออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องเอกราชเพื่อปลดเอกจากจักรวรรดิญี่ปุ่นและเป็นสตรีนิยมที่เคลื่อนไหวต่อสู้กับระบบชายเป็นใหญ่แบบขงจื๊อ
แม้ว่าว่าเธอจะเป็นที่รักที่ชัง หลังจากมาเล่นการเมืองเมื่อเกาหลีเป็นเอกราชจากญี่ปุ่น
อย่างไรก็ตาม นักสตรีนิยมก็ได้เข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวชาตินิยม เดินขบวนอย่างสันติครั้งแรกในวันที่ 1 มีนาคม ปี ค.ศ.1919 ซึ่งถูกรัฐบาลญี่ปุ่นปราบปรามด้วยกองกำลัง มีผู้ร่วมชุมนุม 46,948 คนโดนจับ มี 15,961 คนบาดเจ็บ และตายถึง 7,509 คน ตามบันทึกทางการญี่ปุ่น (อันที่จริงมีผู้ประสบภัยมากกว่าที่ญี่ปุ่นบันทึก) Yim Youngsin ถูกจับทรมานและขังไว้ในบ้านและถูกยกเลิกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครู ถูกตัดขาดจากเพื่อนร่วมขบวนการ ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ญี่ปุ่นและพ่อแม่ของเธอเอง ซึ่งพ่อแม่ของก็พยายามบังคับจับเธอแต่งงาน เธอถูกส่งไปเรียนญี่ปุ่นด้วยเชื่อว่าจะได้รับอิทธิพลญี่ปุ่นจนกลืนกลาย แต่นั่นก็ไม่สำเร็จ เธอเดินทางไปเรียนต่อจบปริญญาโทจากอเมริกา
หลังการสลายการชุมนุมอันรุนแรง ทั่วโลกประณามญี่ปุ่นจนต้องผ่อนปรนการควบคุมเกาหลี ซึ่งนำไปสู่การยกเลิกระบบเซนเซอร์ที่ทำให้นิตยสารหนังสือพิมพ์เกาหลีเริ่มนำความรู้ข้อมูลข่าวสารเหตุบ้านการเมืองตะวันตกแปลเป็นเกาหลีเผยแพร่อย่างกว้างขวาง และมีหนังสือพิมพ์หัวใหม่เกิดขึ้น รวมทั้งนิตยสารสำหรับผู้หญิง แนวคิดแบบเฟมินิสม์เริ่มแพร่ขยายในหมู่หญิงเกาหลีมากขึ้น พวกผู้ชายที่เห็นบทบาทของหญิงสมัยใหม่ที่เข้าร่วมเดินขบวนครั้ง ค.ศ.1919 ก็พอยอมอดทนผู้หญิงกลุ่มนี้ขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังหวงแหนโครงสร้างจารีตเดิมที่อำนวยให้ชายเป็นใหญ่อยู่
อย่างไรก็ตามหลังกรณีมุกเดน (Mukden Incident) หรือกรณีแมนจูเรีย (Manchurian Incident) ในปี ค.ศ.1931 จักรวรรดิญี่ปุ่นก็หันมากดขี่เข้มงวดกับเกาหลีอีกครั้ง ทำให้กลุ่มนักปฏิรูปและชาตินิยมเกาหลีจากที่เคยสนับสนุนสตรีนิยมบ้างในช่วง 1920’s ก็หันมาอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเพื่อรักษาอัตลักษณ์ชาติและนักชาตินิยมชายก็ต้องการชดเชยอำนาจที่ตนเองสูญเสียไปสร้างอำนาจบนสถานะภาพของผู้หญิงแทน
ขณะที่ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นก็พยายามให้ผู้หญิงเกาหลีศรัทธาต่อญี่ปุ่น เป็นแม่และเมียที่ดีและสั่งสอนลูกให้จงรักภักดีรัฐบาลญี่ปุ่น ในปี ค.ศ.1932 Yim Youngsin กลับเกาหลีเพื่อหวังจะให้การศึกษากับผู้หญิงเพื่อปลดแอกออกจากจักรวรรดินิยมและประเพณีนิยมที่กดทับผู้หญิง ตั้งศูนย์การเรียนรู้และสถาบันสำหรับเคลื่อนไหวสิทธิสตรี ในปี ค.ศ.1935 องค์กรของเธอเชื่อมโยงกับกลุ่มสตรีนิยมญี่ปุ่นที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลญี่ปุ่น เธอเพียรย้ำให้การศึกษาของผู้หญิงเพื่อปลดแอกเกาหลีออกจากญี่ปุ่น ได้รับการศึกษาเพื่อเป็นเมียและแม่ที่ดีที่จะให้กำเนิดลูกที่เป็นนักสู้ เป็นวีรชนเพื่อปลดแอกประเทศ ไม่ได้เพื่อปลดแอกผู้หญิงออกจากอำนาจผู้ชายอย่างเดียว กระทั่งเกาหลีเป็นเอกราชจากญี่ปุ่นใน ค.ศ.1945 Yim Youngsin ตั้งพรรคการเมือง Joseon Yeoja Gukmindang พรรคชาตินิยมประชาธิปไตยแห่งสตรี และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรม ผู้หญิงเริ่มมีสิทธิทางการเมืองให้เลือกตั้งได้ในปี ค.ศ.1948 และในปี ค.ศ.1949 Yim Youngsin ได้ชนะการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรในเขตบ้านเกิดของเธอ[6]
ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นบางกลุ่ม ก็ยังคงดำรงกิจการเพื่อสตรี และได้สร้างมรดกไว้มากมาย เช่น Minjung Undong ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงในภาคแรงงานในช่วง ค.ศ.1961–1992 ไปจนถึงการสร้างมหาลัย Ewha University ใน ค.ศ.1985 ที่เป็นมหาลัยเอกชนสำหรับผู้หญิง แต่ในปัจจุบันเปิดรับนักศึกษาชายเข้าเรียนแล้ว
นี่แหละคือมรดกและการต่อสู้ของเฟมินิสต์รุ่นแรกของเกาหลี
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] https://edition.cnn.com/2018/09/06/asia/south-korea-spy-cams-toilet-intl/index.html
[2] https://edition.cnn.com/2019/09/21/asia/korea-angry-young-men-intl-hnk/index.html
[3] https://www.japantimes.co.jp/news/2019/12/06/asia-pacific/social-issues-asia-pacific/south-koreas-growing-feminist-movement/#.XiXQrcj7TIV
[4]พิพาดา ยังเจริญ. ประวัติศาสตร์เกาหลีร่วมสมัย. ใน นภดล ชาติประเสริฐ (บรรณาธิการ) เกาหลีปัจจุบัน. ปทุมธานี : ศูนย์เกาหลีศึกษา.
[5] Alys Eve Weinbaum, Lynn M. Thomas, Priti Ramamurthy,Uta G. Poiger, Madeleine Yue Dong, and Tani E. Barlow, editors. The Modern Girl : Around the World Research Group. Duke University Press, durham and London. 2008} pp. 1-8.
[6] Haeseong Park. The Korean New Women: Yim Youngsin in Feminist and Nationalist Contexts. Journal of the Southwest Conference on Asian Studies 2015 – Vol. 8. Pp. 53-64.