บนเกาะรัตนโกสินทร์เต็มไปด้วยความหลากหลาย มีทั้งวัดวาอาราม พิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ สถานที่ราชการ ร้านขายเครื่องรางของขลังทั้งพุทธผีพราหมณ์ และร้านเหล้าผับบาร์ มีทั้งปราสาทราชวังและคนไร้บ้านอยู่ไม่ห่างออกไป นักท่องเที่ยวชาติต่างๆ คนท้องถิ่นพื้นเมืองเดินกันขวักไขว่ ปะปนไปกับโสเภณีแม่ชีพระสงฆ์ มีนักศึกษามหาวิทยาลัย คนบ้า และคนเมาเดินสวนกันไปมา ขอทานเนื้อตัวมอมแมม นั่งๆ นอนๆ ตามทางเท้าหน้าโชว์รูมรถหรูเป็นภาพปรกติที่ชินตา สามารถพบเห็นคนไร้บ้านเดินตีนเปล่าระหว่างการปิดถนนให้ขบวนรถผ่านไปโดยไม่ต้องเจอรถติด คนรอรถเมล์อย่างไร้ความหวังไม่รู้ว่ารถเมล์สายเก่าๆ สภาพบุโรทั่ง จะมาเมื่อไหร มีสวนสาธารณะที่แสนจะแห้งแล้งจากการไล่ที่ชุมชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและอนุสรณ์สถานรำลึกการสังหารหมู่ผู้เรียกร้องประชาธิปไตย และในเกาะเดียวกันนั้นก็มีศูนย์อำนาจที่มาของเผด็จการ
มันจึงกลายเป็นระบบนิเวศที่มีพหุลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรม แต่นั่นก็ไม่ใช่เสน่ห์ความงามอะไรหรอก เพียงแต่เผยให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางช่วงชั้นฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ที่มีช่องว่างกว้างมากระหว่างฟ้ากับเหว
ไม่ต้องไปไกลอธิบายเกาะรัตนโกสินทร์ แค่สนามหญ้าอันกว้างใหญ่ไพศาลที่โอบล้อมด้วยต้นมะขามของ ‘สนามหลวง’ แค่พื้นที่เดียวก็ทำให้เห็นถึงความหลากหลายผู้คนบนพื้นที่ใช้สอยเดียวกันในแต่ละช่วงวันเวลา ที่กลายเป็นพื้นที่ที่มีสาธารณประโยชน์กับประชาชนทุกกลุ่ม ก่อนจะถูกล้อมรั้วเหล็กทำให้กลายเป็นพื้นที่ไร้สาธารณประโยชน์ ที่ประชาชนเข้าไม่ถึง แม้แต่จะเดิมอ้อมจากไปขึ้นรถเมล์ก็ยังต้องค่อยๆ อ้อมขอบฟุตพาธ ไม่ก็ริมถนนเสี่ยงรถชนตายห่ากันเอาเอง เพราะรั้วที่กั้น กั้นจนแทบไม่มีที่ให้เดิน ป้ายรถเมล์รอบสนามหลวงก็ไม่มีที่ให้นั่งให้บังแดดบังฝน
ครั้งบ้านเมืองยังดี สนามหลวงถูกใช้เป็นที่สาธารณะขนาดใหญ่ เป็นลานกิจกรรมลานเอนกประสงค์ ประชาชนสามารถใช้เป็นที่นัดพบพักผ่อนหย่อนใจกลางเมืองหลวง นัดเดท นัดกินข้าว ปูเสื่อนอนเอกเขนกรับลมโกรก บ้างเล่นว่าว สนามหลวงจึงสามารถใช้เป็นที่ทำมาหากิน ค้าขายเพื่อปากท้องกระจายรายได้ ขายอาหารกับข้าว ก๋วยเตี๋ยว เมี่ยงคำ ส้มตำ ใช้เป็นตลาดนัดขายของเก่า เสื้อผ้า เป็นตลาดวิชาแหล่งขายหนังสือขนาดใหญ่ ที่บรรดานักเรียนนักศึกษานักวิชาการมักมาหาซื้อหนังสืออ่าน มีตั้งแต่ตำราเรียน นวนิยาย หนังสืองานศพ ยันปลุกใจเสือป่า และในยามกลางค่ำกลางคืน สนามหลวงยังถูกใช้เป็นที่ซุกหัวนอนยามยาก และที่หลับที่นอนของคนไร้บ้าน
มากไปกว่านั้นสนามหลวง
ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเกย์กะเทย
เนื่องจากในยุค Americanization ของสงครามเย็น วัฒนธรรมของเกย์ กะเทย เริ่มปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 1950’s แม้ว่าในยุคสมัยนั้นจะยังไม่ได้รับการยอมรับ ถูกรังเกียจ พื้นที่ที่จะสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ก็ไม่มี ยิ่งในบ้านในครอบครัวยิ่งเป็นไปไม่ได้เข้าไปใหญ่ และสมัยนั้นก็ยังไม่มีเกย์บาร์ที่จะทำให้พวกเขาและเธอได้หายใจหายคอ เป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจ
โชคดีที่มีสนามหลวงและม้านั่งริมถนนราชดำเนินที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงได้ง่ายและมาจากภาษีของพวกเขาและเธอด้วยเช่นกัน บรรดาเกย์กะเทยจึงใช้สนามหลวงช่วงเวลาย่ำค่ำเป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์นัดพบเพื่อนฝูง เข้าสังคมกับเพศสภาพเพศวิถีเดียวกัน กลายเป็นพื้นที่ใช้สอยร่วมกันทุกกลุ่มอัตลักษณ์ ที่เกย์กะเทยมาชุมนุมกันโดยมิได้นัดหมาย และแน่นอนพวกเขาและเธอต่างมาตอบสนองเพศสภาพเพศวิถีกัน
ใต้แสงไฟงามตาจากเสาไฟ มีมานั่งเรียงรายสลับกับต้นไม้บนทางเท้าขนาดใหญ่ มีดนตรีเห่กล่อมจากลำโพงตลอดเส้นทางตั้งแต่ 1 ทุ่ม – 5 ทุ่มของถนนราชดำเนิน บรรยากาศแสนหว่องและโรแมนติกนี้ ชวนให้เกย์กะเทยออกมาทำการ cruising กัน ซึ่งไม่ใช่แค่สนามหลวง หากแต่กินพื้นที่ทอดยาวไปตลอดถนนราชดำเนินไปจนถึงริมคลองตีนสะพานมัฆวานรังสรรค์ สิริรวมเป็นระยะทาง 2.5 กิโลเมตร
บรรดาเกย์กะเทยมากหน้าหลายตายืนนั่งเดินกรีดกรายปะปนกันไปตามถนนราชดำเนิน ทั้งหลังพระแม่ธรณีบีบมวยผม ภัตตาคารศรแดง โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย (ก่อนจะถูกรื้อทิ้งในปี พ.ศ.2532) ริมคลองแถวสะพานมัฆวานรังสรรค์ บางคู่จีบกัน บางคนแสวงหารักแท้ บางคนก็แค่เพื่อสำเร็จความใคร่ บางคนซื้อขายบริการทางเพศ ใครมีรถก็ขับรถวนไปมาแทน มีโรงแรมเล็กๆ มากมายคอยบริการกลุ่มอัตลักษณ์ทางเพศนี้ แถวคลองหลอด แพร่งสรรพศาสตร์ ศาลเจ้า โรงหนังพาราไดซ์ เกย์บางคนก็ส่งนามบัตรให้กันแล้วค่อยโทรนัดไปยังโทรศัพท์บ้าน แล้วชวนกันไปทานข้าวไปเดททีหลัง ผู้ชายบางคนอยากแสวงหาประสบการณ์ก็มักมาหากะเทย บ้างแค่อยากปลดปล่อย บ้างก็ติดใจจนต้องกลับมาใหม่อีกครั้ง[1]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคืนวันศุกร์เสาร์ที่เกย์ กะเทยจะรวมตัวกันมากเป็นพิเศษ ในเวลา Prime time ตั้งแต่ 1 ทุ่มจนเกือบ 4 ทุ่ม เมื่อเพลงตามราชดำเนินหยุด 5 ทุ่มก็แยกย้ายกลับบ้าน แต่ก็มีบางนางติดลมบนมารวมพลต่อที่สนามหลวง
นักเขียนจำนวนมากจึงใช้สนามหลวงยามราตรีเป็นฉากของนิยายเรื่องสั้นหลายเรื่องในนิตยสารเกย์ เช่นผลงานของ ‘อาทิตย์ สุรทิน’ นักเขียนนิยายเรื่องสั้นแนวชายรักชายชื่อดังแห่งยุค 1980’s หลายเรื่องความรักความใคร่เกิดจากที่นั่น บางเรื่องสนามหลวงช่วยเยียวยาความเหว่ว้าและช้ำรัก อาทิตย์ สุรทินยังใช้นามปากกา ‘ชัย มนตรี’ เขียนสารคดีบรรยายถึงสนามหลวงในฐานะพื้นที่แสวงหาประสบการณ์ทางเพศของชายรักชายด้วยว่า มักได้ยินเสียงบทสนทนาเลียบๆเคียงๆระหว่างชายหนุ่มในความมืดว่า “รอใครหรือครับ” “รอเพื่อน…แต่สงสัยจะไม่มาเสียแล้ว” “ไม่ได้รอใคร มาเที่ยวครับ” “ไปหาที่คุยกันไหมครับ”[2]
ปาน บุนนาค คุณแม่ผู้คร่ำหวอดในวงการกะเทยยุคนั้นกล่าวว่า การ cruising บริเวณสนามหลวงและถนนราชดำเนินก็มีการแบ่งจัดระเบียบ zoning กันเอง สนามหลวงเป็นพื้นที่ของเกย์กะเทยผู้ใหญ่มีอายุ เพราะไฟไม่สว่างและผู้ที่ชอบฝรั่ง เพราะฝรั่งที่นอนโรงแรมรอยัลรัตนโกสินทร์ชอบออกมาหาคนไปนอนด้วย ขณะที่แถวสะพานมัฆวานรังสรรค์ไฟสว่างกว่า เกย์กะเทยก็จะอายุน้อยลงมา ส่วนที่ยืนแถวสนามหลวงบริเวณหน้าศาลฎีกา ก็ถูกจัดประเภทให้เกรดต่ำ เป็นพวกกะเทยใส่ผ้าถุง เสื้อลาย แต่งหน้าจัด[3]
อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายกวาดล้างกะเทยของรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กะเทยสนามหลวงและมัฆวานรังสรรค์ก็มักถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยัดข้อหาค้าประเวณี ไม่ว่าพวกเธอจะค้าขายหรือไม่ก็ตาม เพียงแต่งหญิงไปดูหนังเดินออกมาจากศาลาเฉลิมไทยก็อาจโดนจับได้ หรือต่อให้ไม่ได้แต่งหญิง แค่แต่งหน้าเขียนคิ้วทาปากก็มีสิทธิ์โดนจับเฉย สน. ชนะสงครามจึงมีเกย์กะเทยเข้าออกเป็นประจำ
สนามหลวงในฐานะพื้นที่สาธารณะสำหรับประชาชนจึงมีชีวิตชีวาในหลายมิติ เป็นสมบัติร่วมกันของทุกกลุ่มอัตลักษณ์ ตั้งแต่หนุ่มสาววัยรุ่นออกเดท ครอบครัวมาปิคนิคสอนลูกเล่นว่าวตอนกลางวัน และก็เป็นพื้นที่กะเทยเกย์ประกาศเพศสภาพและการตอบสนองเพศวิถีตนเองในเวลากลางคืน พอเมื่อเริ่มมีเกย์บาร์ วัฒนธรรม cruising บริเวณสนามหลวงและสะพานมัฆวานก็เริ่มซบเซาไม่เป็นที่นิยมลงเรื่อยๆ
สนามหลวงจึงเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถแยกออกจาก
ประวัติศาสตร์สังคมความหลากหลายทางเพศได้
แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใดก็ตามจะหันไปใช้ Application ต่างๆ หาคู่ รับงาน หรือขายบริการทางเพศตามสนามหลวงอย่างแต่ก่อนแล้ว ไม่ต้องเดินกันขาขวิดจากสะพานมัฆวานรังสรรค์ไปสนามหลวง ไม่ต้องยืนให้เมื่อยส้นโดนยุงกัดริมคลองหลอด เราก็สามารถนอนกระดิกเท้าอยู่บ้าน ใช้นิ้วเขี่ยจอมือถือปาดซ้ายที ขวาที ก็ได้ผู้แล้ว
แต่สนามหลวงที่ได้รับการรักษาทำนุบำรุงด้วยภาษีประชาชน ก็ควรจะต้องมีประโยชน์ให้กับประชาชน ไม่ใช่กลายทรัพย์สินส่วนบุคคลแล้วล้อมรั้วกั้นไม่ให้ประชาชนใช้สอย ไม่เพียงไม่ก่อให้เกิดสาธารณประโยชน์คุ้มค่ากับภาษีที่จ่าย ยังสร้างความเดือดร้อนไม่ปลอดภัยในการดำรงชีวิต ที่แม้แต่จะเดินขึ้นรถเมล์ยังต้องค่อยๆ เลาะขอบทางเดินรอบสนามหลวงที่จะถูกรถเฉี่ยวเมื่อไหรก็ไม่รู้ กลายเป็นว่าในยุคที่ความคิดความยอมรับยังไม่พัฒนา LGBTQ ยังไม่ได้รับการยอมรับ สนามหลวงยังมีคุณประโยชน์มากกว่าในยุคปัจจุบัน กลายเป็นความเจริญที่สวนทางกับประชาชน
ข้อมูลอ้างอิงจาก
[1] ตำนานดอกไม้เรืองแสงของปาน บุนนาค. นีออน. ฉบับที่ 18 ปี 2529, หน้า 76.
[2] ชัย มนตรี. สนามหลวง. นีออน ฉบับที่ 19 ปี 2529, หน้า 86-88.
[3] ตำนานดอกไม้เรืองแสงของปาน บุนนาค. นีออน. ฉบับที่ 18 ปี 2529, หน้า 85.