แม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจในรอบ 4 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ว่าโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิมเริ่มมาถึงขีดจำกัดแล้ว ศัพท์แสงที่ใช้สะท้อนปัญหาใหญ่ของเศรษฐกิจไทยเริ่มปรากฏให้เห็นจนคุ้นตามากขึ้น เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง การขาดแคลนเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การไม่สามารถยกระดับการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ฯลฯ
ว่ากันว่าถ้าประเทศไทยเราไม่ปรับตัวเพื่อเอาชนะปัญหาเหล่านี้ ในอนาคตเราจะถึงทางตัน ต้องติดกับดักประเทศรายได้ปานกลางไม่ได้ไปผุดไปเกิด (เป็นประเทศรายสูง) กับเขาเสียที
แต่คุณผู้อ่านไม่ต้องกังวลไปหรอกนะครับ เพราะรัฐบาลมีคำตอบให้กับปัญหานี้ให้กับพวกเราอยู่แล้ว
แท่น แทน แท๊น นโยบายไทยแลนด์ 4.0 นั่นไงล่ะครับ… เก๋ใช่ไหมล่ะ
ตามประสาคนที่ไม่ค่อยติดตามข่าวสารบ้านเมืองทุกวันศุกร์ ผมต้องออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ว่าไอ้ไทยแลนด์ 4.0 นี่เขาทำอะไรกัน เพราะแต่ละอย่างที่ทำนี่ออกแนว 0.4 มากกว่า…มีที่ไหนล่ะ อยากผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ดันจะไปสั่งปิดเฟซบุ๊กเสียงั้น หรือรัฐบาลอาจวิสัยทัศน์กว้างไกลอยากกระตุ้นให้คนไทยสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองหว่า
เอาล่ะ แซวมาเยอะแล้ว ขอซีเรียสขึ้นหน่อยเพื่อให้คุ้มค่าต้นฉบับที่บ.ก. เขาจ้างมาเขียนหน่อยดีกว่า ในฐานะที่เคยอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์มาบ้าง ผมคิดว่านโยบายไทยแลนด์ 4.0 ไม่ค่อยมีอะไรใหม่ในเชิงวิธีคิดเกี่ยวกับนโยบายสักเท่าไหร่ โดยหลักแล้ววิธีคิดยังคงเป็นแบบเดิมๆ กล่าวคือ เป็นการเลือกอุตสาหกรรมที่คิดว่า ‘ใช่’ (ซึ่งพ่วงมากับ ‘กลุ่มทุนที่ใช่’ ด้วย) แล้วหาทางส่งเสริมอุตสาหกรรมนั้นด้วยมาตรการพิเศษต่างๆ หากจะมีอะไรที่ใหม่หน่อยคงเป็นการเน้นไปที่เทคโนโลยีดิจิทัล
แต่คุณผู้อ่านคิดเหมือนผมไหมครับว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบนี้โคตรจะไม่เซ็กซี่และดูช่างห่างไกลคนธรรมดาอย่างพวกเราเหลือเกิน!!
พูดแบบนี้หลายคนอาจสงสัยว่า แล้วนโยบายเศรษฐกิจแบบที่เซ็กซี่มีด้วยเหรอ แหม! เขียนมาขนาดนี้คงต้องบอกว่ามีสิครับ ในที่นี้ผมอยากจะลองยกตัวอย่างนโยบายการสร้างเศรษฐกิจใหม่โดยมองจากฐานของเมืองมาเล่าและแลกเปลี่ยนกับคุณผู้อ่านดู
พื้นฐานสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่บนพื้นฐานของเมือง คือ การใช้ ‘เมือง’ เป็นหน่วยในการวิเคราะห์นโยบายแทน ‘ประเทศ’ ซึ่งจะช่วยให้เราเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในทางนโยบายได้มากขึ้น ผมควรบอกด้วยว่าวิธีคิดแบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแบบลอยๆ นะครับ แต่เกิดขึ้นพร้อมกับความเชื่อที่ว่า เทรนด์ urbanizations จะเป็นพลังหลักในการสร้างการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจและสังคมในหลากมิติหลายประการ ได้แก่
ประการแรก การขยายตัวของเมืองจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิต (productivity) เพราะโดยธรรมชาติการขยายตัวของเมืองมักเกิดจากการย้ายแรงงานจากภาคเกษตรซึ่งมีผลิตภาพการผลิตต่ำมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่มีผลิตภาพการผลิตสูงกว่าอยู่แล้ว นอกจากนี้เครือข่ายและความหนาแน่นของเมืองทำให้เกิดการประหยัดจากขนาด (economies of scale) ของการใช้ทรัพยากรมากกว่าชนบทซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรน้อยกว่าด้วย งานวิจัยบอกไว้ว่า เมืองที่ประชากร 200,000 แสนคนจะมีผลิตภาพการผลิตมากกว่าเมืองที่มีประชากร 100,000 คนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2 – 8 เลยทีเดียวเลยล่ะครับ
ประการที่สอง การขยายตัวของความเป็นเมืองเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความเท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจ (equality) เพราะเศรษฐกิจและการลงทุนที่กระจุกตัวภายในพื้นที่เมืองได้สร้างงานใหม่ๆ และให้ค่าตอบแทนที่สูงกว่าเศรษฐกิจในชนบทอย่างเทียบไม่ได้ ไม่ใช่แค่เรื่องค่าจ้างเท่านั้นนะครับ วิถีชีวิตเมืองยังสนับสนุนให้คนเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐานได้ครอบคลุมมากขึ้นด้วย เช่น โรงเรียนและโรงพยาบาล เป็นต้น
แต่ต้องบอกไว้ก่อนนะครับว่าเมืองให้เพียงแต่ ‘โอกาส’ เท่านั้น แต่ไม่ได้รับประกันความสำเร็จว่าความเหลื่อมล้ำจะลดลง
ในทางตรงกันข้าม ถ้าบริหารกันห่วยแตกและมองไม่เห็นความซับซ้อนของปัญหา เมืองจะกลายเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำเสียเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท และความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานเมืองในภาคการผลิตที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ
ประการที่สาม เมืองทำให้เศรษฐกิจมีความยืดหยุ่น (resilience) สามารถรองรับแรงเสียดทานทางเศรษฐกิจดีขึ้นในอย่างน้อย 3 ด้าน ด้านที่หนึ่งการขยายตัวของความเป็นเมืองช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพราะเมืองช่วยปลดปล่อยแรงงานผู้หญิงซึ่งแต่เดิมมีบทบาทน้อยในภาคเกษตรให้เข้ามามีบทบาทในตลาดแรงงานมากขึ้น และในภาวะที่เศรษฐกิจไร้พรมแดน เมืองไม่ได้ดึงดูดแค่คนจากชนบทในประเทศตัวเองเท่านั้น แต่ยังดึงดูดแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในชนบทของประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ด้านที่สอง ประชากรเมืองที่มากขึ้นทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย อย่าลืมนะครับว่า การบริโภคส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นภายในเมืองและภายใต้วิถีชีวิตแบบเมืองเป็นหลัก งานวิจัยบางชิ้นถึงกับบอกว่า การเติบโตของเมืองนี่แหละเป็นโอกาสที่ดีในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศที่พึ่งพิงการส่งออกเป็นหลัก (ประเทศไทยพึ่งพิงการส่งออกประมาณ 70% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เวลาเวลาเศรษฐกิจไม่ดีรัฐบาลจึงมักอ้างสถานการณ์เศรษฐกิจโลก แต่พอเศรษฐกิจ ‘เหมือนจะดี’ กลับดันตลอดว่าเป็นผลงานตัวเอง….ฮา)
ด้านที่สาม เมืองจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมมีสาเหตุหลักมาจากเมือง การวางแผนเพื่อรองรับปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะเกิดขึ้นในระดับเมืองเช่นกัน
ประการที่สี่ เมืองเป็นศูนย์รวมของผู้ประกอบการและนวัตกรรมใหม่ เพราะในด้านหนึ่ง เมืองเป็นตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ที่สุดและมีความหลากหลายมากที่สุด อีกทั้งข้อจำกัดและความซับซ้อนของวิถีชีวิตในเมืองยังสร้างโจทย์และความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไม่รู้จบ ในอีกด้านหนึ่ง เมืองเป็นศูนย์รวมของความรู้ เทคโนโลยี และคนที่มีความสามารถสูง องค์ประกอบเหล่านี้ทำให้ที่ผ่านมาเมืองเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและผู้ประกอบการมาโดยตลอด
ประการที่ห้า เมืองคือหน่วยที่สำคัญในการเชื่อมต่อ (connectivity) แต่เดิมนั้นเรามักคุ้นชินกันว่า เศรษฐกิจโลกคือการเชื่อมต่อทางการค้าการลงทุนและเทคโนโลยีระหว่างประเทศกับประเทศ แต่จริงๆ ถ้าลองคิดดูให้ดี เศรษฐกิจโลกคือการเชื่อมต่อระหว่างเมืองกับเมืองเป็นหลัก เพราะการเชื่อมต่อที่มีความสำคัญทั้งในเชิงคุณภาพและในเชิงปริมาณมักจะเกิดขึ้นในเมืองบางเมืองเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ที่อาศัยการขนส่งทางเรือมักกระจุกอยู่ที่เมืองท่า หรือในแต่ละประเทศจะมีเมืองเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่เป็นศูนย์กลางทางการเงินของประเทศและทำการเชื่อมต่อกับตลาดเงินอื่นจากทั่วโลก
อ่านมาถึงตรงนี้บางคนอาจจะบอกว่า ผมโฆษณาเกินจริงไปเยอะเลย เพราะที่ผมเล่ามามันไม่เห็นเซ็กซี่ตรงไหน บางทีของอย่างนี้มันก็ ‘ไม่ตรงปก’ บ้างเป็นธรรมดา แต่อย่างน้อยก็อยากชวนให้คุณผู้อ่านได้ ขบคิดและจินตนาการไปด้วยกันนิดนึงก็ยังดี….
…ดีกว่าปกเดิมๆ ที่เล่นซ้ำทุกวันศุกร์แหละน่า