“ซื้อของแคนาดาแทนเถอะ” (“Buy Canadian Instead.”)
ร้านค้าในแคนาดาพากันติดป้ายที่มีข้อความข้างต้นตั้งแต่ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายร้านทยอยเก็บเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้ามาจากรัฐในสหรัฐฯ ที่โหวตให้กับ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ชัดเจนว่านี่เป็นการประท้วงประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ไปในตัว
เมื่อวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์นั่งลงที่ห้องทำงานรูปไข่ (Oval Office) และลงนามในเอกสารคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) เดินหน้ามาตรการตั้งกำแพงภาษี (tariff) หรือการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก 3 ประเทศที่เป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นั่นคือ แคนาดา จีน และเม็กซิโก
สิ่งที่ตามมาคือตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปั่นป่วนพอสมควรในเช้าวันจันทร์ ก่อนที่สถานการณ์จะค่อยๆ ดีขึ้น หลังจากที่ทรัมป์คุยกันกับ 2 ประเทศเป้าหมายรู้เรื่อง นั่นคือ คลอเดีย เชนบาม (Claudia Sheinbaum) ประธานาธิบดีเม็กซิโก และ จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกฯ แคนาดา และตกลงที่จะระงับมาตรการกำแพงภาษีกับทั้ง 2 ประเทศออกไปก่อน 30 วัน
เรื่องราวความปั่นป่วนในระบบเศรษฐกิจโลกดูจะยังไม่จบลงง่ายๆ (ดังที่ทรัมป์เองก็มักได้รับฉายาอยู่บ่อยๆ ว่าเป็น agent of chaos หรือง่ายๆ ก็คือ – ตัวป่วน) The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจว่า กำแพงภาษีที่พูดกันทั้งหมดนี้ คืออะไร? และส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจโลก?
กำแพงภาษี (Tariff) คืออะไร?
การตั้งกำแพงภาษีคือการเก็บภาษีศุลกากร กับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ โดยเก็บจากบริษัทผู้นำเข้าในประเทศปลายทาง (ไม่ใช่บริษัทผู้ผลิตสินค้า)
แต่เดิมโดยทั่วไป มักจะอธิบายกันว่า การตั้งกำแพงภาษีมีเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอุดหนุนสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ แต่ในเศรษฐกิจโลกปัจจุบัน มักไม่เป็นที่นิยม เพราะไม่เอื้อต่อการค้าเสรี และทำให้สินค้าในประเทศมีราคาแพงสำหรับผู้บริโภค
ในครั้งนี้ รัฐบาลทรัมป์เองมองว่า การตั้งกำแพงภาษีเป็นเครื่องมือที่ “ทรงพลัง และได้รับการพิสูจน์แล้ว” ว่าสามารถรักษาความมั่นคงของสหรัฐฯ ได้ โดยใช้ประโยชน์จากการที่ตลาดสหรัฐฯ อยู่ในจุดที่ได้เปรียบ คือ เป็นตลาดที่หมายปองของนานาชาติ
และมองว่า ได้มากกว่าเสีย เพราะการค้ากับต่างประเทศคิดเป็นแค่ 24% ของจีดีพี (GDP) สหรัฐฯ (ขณะที่การค้ากับต่างประเทศคิดเป็น 67% ของจีดีพีแคนาดา 73% ของจีดีพีเม็กซิโก และ 37% ของจีดีพีจีน)
ประเทศไหนโดนบ้าง?
จากเอกสารชี้แจงของทำเนียบขาว ประธานาธิบดีทรัมป์ไฟเขียวให้ตั้งกำแพงภาษี โดยขึ้นภาษีนำเข้า 25% จากที่มีอยู่เดิม กับแคนาดาและเม็กซิโก และ 10% กับจีน ส่วนทรัพยากรทางพลังงานจากแคนาดา ให้มีอัตราภาษีที่ต่ำกว่า อยู่ที่ 10%
การลงนามคำสั่งเหล่านี้ของทรัมป์ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปั่นป่วนอยู่พอสมควรในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ผู้นำแคนาดากับเม็กซิโกก็สามารถเจรจาด่วนทางโทรศัพท์กับทรัมป์ได้ ทำให้ทรัมป์ตกลงที่จะระงับมาตรการกำแพงภาษีกับทั้ง 2 ประเทศออกไปก่อน 30 วัน
ส่วนกำแพงภาษีกับจีน ไม่ทันได้มีการเจรจา และมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ทำให้กระทรวงพาณิชย์จีนออกมาประกาศตอบโต้ ขึ้นภาษีนำเข้ากับสหรัฐฯ 15% สำหรับถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และ 10% สำหรับน้ำมันดิบ เครื่องจักรกลเกษตร และรถยนต์ขนาดใหญ่ โดยให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2025
เป้าหมายของทรัมป์คืออะไร?
ในมุมมองของรัฐบาลสหรัฐฯ ประเทศเหล่านี้เป็นสาเหตุของวิกฤตที่สหรัฐฯ เผชิญในขณะนี้ 2 ประการ นั่นคือ การลักลอบนำเข้าเฟนทานิล ยาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหา รวมถึงปัญหาการอพยพผิดกฎหมาย
“ในแต่ละปี ชาวอเมริกันเสียชีวิตจากการเสพยาเฟนทานิลเกินขนาด เป็นจำนวนมากกว่าชาวอเมริกันที่เสียชีวิตตลอดช่วงสงครามเวียดนาม” ทำเนียบขาวระบุ
ในการเจรจากัน ทั้งเม็กซิโกและแคนาดาต่างก็สัญญาว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเม็กซิโกได้ส่งกำลังทหารจำนวน 10,000 นาย เข้าประจำการตามชายแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก เพื่อจัดการกับปัญหา ส่วนแคนาดาตกลงที่จะตั้งงบ 680.9 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อจัดการกับปัญหาชายแดน และจะแต่งตั้งตำแหน่งในรัฐบาลขึ้นมาใหม่ ที่จะมาดูแลแก้ไขปัญหาเฟนทานิลโดยตรง
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก จากกำแพงภาษีของทรัมป์
สภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Council on Foreign Relations หรือ CFR) องค์กรวิจัยอิสระด้านนโยบายต่างประเทศในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อ้างอิงงานวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ ชี้ว่า ผู้บริโภคในสหรัฐฯ จะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการที่บริษัทนำเข้าผลักภาระให้ผู้บริโภค และขึ้นราคาสินค้าจากจีน
สำหรับเศรษฐกิจไทย วิจัยกรุงศรีประเมินว่า ไทยอาจได้ผลประโยชน์เชิงบวกเล็กน้อย จากการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ 25% กับสินค้านำเข้าจากเม็กซิโกและแคนาดา และ 10% กับสินค้านำเข้าจากจีน โดยอาจทำให้การส่งออกของไทยเพิ่มขึ้น 1.65% จากกรณีฐาน และจีดีพีเพิ่มขึ้น 0.05% จากกรณีฐาน
อย่างไรก็ดี สงครามการค้าที่อาจจะกำลังเกิดขึ้นในช่วงประธานาธิบดีทรัมป์ ก็อาจสร้างความปั่นป่วน ความไม่แน่นอน และทำให้เผชิญความเสี่ยงมากขึ้น โดยสหรัฐฯ อาจเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากไทยโดยตรงเพิ่มขึ้น เป็นต้น ขณะที่สินค้าจากจีนอาจทะลักเข้าไทยมากขึ้นกว่าเดิม จากการที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ได้น้อยลง
สิ่งที่ไทยต้องทำ ก็อาจจะเป็นการดำเนินนโยบายการค้า และการต่างประเทศเชิงรุกให้มากขึ้น เร่งหาตลาดใหม่ๆ และสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ในช่วง 4 ปีนับจากนี้
อ้างอิงจาก