น่าสนใจดีที่ปฏิกิริยาต่อซีรีส์ ‘Mindhunter’ ไม่ค่อยมีแบบกลางๆ หรือเฉยๆ สักเท่าไร คนดูเหมือนจะแบ่งเป็นสองฟากอย่างชัดเจนคือ ‘ชอบ’ หรือ ‘ชัง’ สาเหตุคงเพราะนี่ไม่ใช่ซีรีส์ว่าด้วยฆาตกรต่อเนื่องที่มีฉากสยองชวนเบือนหน้า ซาวด์เอฟเฟกต์ตุ้งแช่ตกใจ หรืออารมณ์ที่ลุ้นระทึกจนต้องจิกมือ หากแต่ 70% ของเรื่องเต็มไปด้วยการนั่งคุย คุย คุย และคุยกันระหว่างเหล่านับสืบและฆาตกรต่อเนื่อง
การคุยกันทั้งเรื่องนี่แหละที่ทำให้หลายคนยอมแพ้เลิกดูไปเสียก่อน (ยอมรับว่าช่วงแรกเองผู้เขียนก็รู้สึกเหนื่อยกับการดูอยู่เหมือนกัน) แต่หาก ‘จูน’ ตัวเองติดกับจังหวะ (pacing) ของเรื่องแล้วก็แทบจะหยุดดูไม่ได้ทีเดียว โดยซีซั่น 2 ของ Mindhunter เพิ่งออนแอร์ไปเมื่อกลางสิงหาคมที่ผ่านมา และได้รับคำชมอย่างล้นหลาม หลายคนถึงกับบอกว่ายอดเยี่ยมยิ่งกว่าซีซั่นแรกด้วยซ้ำ ซึ่งผู้เขียนคิดว่ามีที่มาจากสองส่วนด้วยกัน นั่นคือ ‘การนำเสนอ‘ (style) และ ‘เนื้อหา’ (content)
ถ้าว่ากันด้วยเรื่องสไตล์แล้ว ซีซั่นสองยังคง
ใช้วิธีการแบบเดียวกับซีซั่นแรก หัวใจหลักคือ
ฉากสนทนาที่ยาวนานเป็นหลักสิบนาที
แต่ภายในสิบนาทีหากลองแยกองค์ประกอบต่างๆ จะพบว่ามีรายละเอียดและการทำงานอย่างหนัก เริ่มจากการตัดต่อที่ประกอบด้วยคัทมากมาย ถ่ายภาพกว้าง ถ่ายภาพแคบ ถ่ายเจาะใบหน้า ถ่ายเจาะส่วนต่างๆ ของร่างกาย รับหน้าตัวละคร ถ่ายด้านหลังตัวละคร ภาพมุมระดับสายตา ภาพมุมบน ฯลฯ ไวยากรณ์ทางการตัดต่อเหล่านี้ทำให้หนังลื่นไหล ไม่น่าเบื่อ แถมยังแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ด้วย
สิ่งที่ช่วยเสริมสร้างอารมณ์ยังมีดนตรีประกอบโดย เจสัน ฮิลล์ (Jason Hill) ที่เป็นเพลงแอมเบียนต์เย็นชาไม่โฉ่งฉ่าง ส่วนอีกสิ่งสำคัญก็คือบทสนทนาอันรุ่มรวย เนื่องจากไดอะล็อกของเหล่าตัวละครเป็นเส้นสายไม่กี่อย่างที่คนดูจะเกาะเกี่ยวเพื่อให้ผ่านพ้นฉากสนทนามาราธอนได้ เช่นนั้นแล้วบทพูดต้องน่าสนใจ มีเสน่ห์ น่าติดตาม
หนังไม่เลือกใช้วิธีการแทรกแฟลชแบ็กเข้ามา เมื่อฆาตกรเล่าถึงวัยเด็กหรือตอนที่ลงมือฆ่าเหยื่อ เราต้องใช้จินตนาการสร้างภาพขึ้นมาล้วนๆ (นั่นทำให้คนดูแต่ละคนมีฉาก ‘การฆ่า’ในแบบของตัวเอง) ว่ากันว่าผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ (David Fincher) ใส่ใจเรื่องบทพูดเอามากๆ ทั้งคำที่เลือกใช้หรือการออกเสียงหนักเบา และโดยเฉลี่ยแล้วในฉากหนึ่งเขาถ่ายซ้ำทั้งหมดราว 50 เทค!
อีกด้านหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่งใน Mindhunter ซีซั่น 2 คือเรื่องของคอนเทนต์ โดยเฉพาะพัฒนาการของตัวละคร
**ข้อความต่อจากนี้เปิดเผยเนื้อหาของซีรีส์**
ในซีซั่นแรกคนที่เด่นที่สุดน่าจะเป็น โฮลเดน เราได้เห็นมิติต่างๆ ของเขา ทั้งในที่ทำงานและเรื่องส่วนตัว (ความขัดแย้งกับแฟนสาวจนต้องเลิกรา) แต่ในซีซั่นสองผู้สร้างจงใจให้สามตัวละครหลัก โฮลเดน บิลล์ และเวนดี้ ทำงานแยกกัน จนแต่ละคนมีเส้นเรื่องตัวเอง แถมดูเหมือนว่าซีซั่นสองน้ำหนักของเรื่องจะอยู่ที่บิลล์มากกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ (ข้อสังเกต:โฮลเดนและบิลล์อยู่ตรงกลางของโปสเตอร์ซีซั่นหนึ่งและสองตามลำดับ นั่นหมายความว่าซีซั่นสามจะเป็นเรื่องของเวนดี้หรือเปล่า?)
ต้องสารภาพว่าในซีซั่นแรก ผู้เขียนไม่ค่อยถูกชะตากับบิลล์สักเท่าไร ด้วยความบู๊และมาโช แต่ในซีซั่นสองเราได้เห็นด้านที่เปราะบางของเขา เมื่อลูกชายของบิลล์เข้าไปพัวพันกับเหตุฆาตกรรมและเจ้าหนูคนนี้ก็ดูมีแววจะกลายเป็นฆาตกรในอนาคต (ยอมรับเถอะว่าหนึ่งในสิ่งที่เราลุ้นมากที่สุดในซีซันนี้คือลูกบิลล์จะเอามีดแทงแม่มั้ยหรือคุณแม่จะสติแตกจนเอาหมอนกดหน้าลูกหรือไม่) และมันยังทำให้บิลล์ต้องทบทวนความเชื่อของตัวเองเกี่ยวกับฆาตกรว่าคนเหล่านี้ ‘เกิด’ มาเป็นฆาตกร หรือ ‘กลายเป็น’ ฆาตกร
ฉากที่ดีมากๆ ของตัวละครบิลล์คือหลายครั้งที่เขากลับมาบ้าน ผู้สร้างจงใจใช้ไฟมืดสลัว ดนตรีประกอบหลอกหลอนคลอขึ้นมา บิลล์ดูลังเลที่จะเดินเข้าไปในบ้าน
นั่นเพราะเรื่องราวภายในบ้านของเขา
มันดูน่ากลัวยิ่งกว่าคดีฆาตกรรมที่เขากำลังสืบสวนเสียอีก
ส่วนตัวละครเวนดี้จะเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์แบบเลสเบี้ยนของเธอกับเคย์ (บาร์เทนเดอร์สาว) หลายคนอาจตกใจที่ฉากเลิกรากันระหว่างทั้งสองออกมารุนแรงและทำให้เวนดี้ดูเป็นตัวละครที่เลือดเย็นอย่างร้ายกาจ แต่หากพิจารณาแล้วเคย์เป็นคนคอยบอกให้เวนดี้รู้จัก ‘เป็นตัวของตัวเอง’ และแสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาตรงๆ ทว่าในฉากที่เคย์คุยกับสามีเก่า เธอกลับ ‘ไม่เป็นตัวเอง’ เอาเสียเลย
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เวนดี้โกรธมาก เพราะเป็นการทำลายรากฐานที่ความสัมพันธ์ของทั้งสองตั้งอยู่ เวนดี้จึงกลับมาสวมบทนักวิชาการและตอกกลับเคย์ด้วยหลักการและเหตุผลชนิด ตูม ตูม ตูม ตอกฝาโลง อีกทั้งฉากนี้ยังให้ข้อสรุปที่น่าเศร้ากับเราว่าคนเราบางทีก็ไม่เคยเปลี่ยน ชีวิตของเวนดี้อาจจะเหมาะกับการให้อาหารแมวเงียบๆ ตัวคนเดียวแบบในซีซั่นแรกก็เป็นได้
ทางฝั่งของโฮลเดนนั้นหลายคนอาจเสียดายว่าภาคนี้เขาดูไม่มีบทบาทเท่าไร แต่เราจะเห็นว่าหลังจากโฮลเดนเลิกรากับแฟน เขาจึงไม่มีพาร์ทชีวิตส่วนตัวอีกต่อไป ในซีซั่นสองเขาจึงเอาแต่ทำงานราวกับเป็นเครื่องจักร เพื่อทั้งกลบอาการแพนิคของตัวเองและเถลิงอีโก้ส่วนตัวของ จนภายหลังโฮลเดนได้เรียนรู้ว่าการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของเขาทำให้คนอื่นเจ็บปวด อีกทั้งช่วงท้ายของซีรีส์ยังแสดงให้ว่าเห็นสิ่งที่เขาลงทุนลงแรงไปทั้งหมดสุดท้ายแทบจะกลายเป็นความว่างเปล่าด้วยซ้ำ
อีกตัวละครที่ต้องพูดถึงคือ ชายหัวล้านที่ปรากฏตัวผ่านๆ ไปมาตลอดทั้งซีซั่น จนบางคนหงุดหงิดและสับสนว่าตาลุงนี่ใคร แต่หากเป็นแฟนคลับของบรรดาฆาตกรต่อเนื่องสักหน่อยก็จะรู้ว่านี่คือฆาตกรเลื่องชื่อนาม BTK ซึ่งในโลกความเป็นจริง BTK เริ่มก่อเหตุตั้งแต่ยุค 70s แต่กว่าจะถูกจับก็ปาเข้าไปปีค.ศ. 2005 จึงเดาได้ว่าเขาจะเป็นฆาตกรที่คอยหลอกหลอนพวกโฮลเดนไปเรื่อย และเดาแบบเล่นๆ ว่าเรื่องราวของ BTK อาจจะเป็นเนื้อหาหลักในซีซั่นห้า (ฟินเชอร์เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาอยากให้มีทั้งหมด 5 ซีซั่น) แต่จากช่วงห่างสองปีของแต่ละซีซั่น จึงคำนวณได้ว่าเราอาจจะได้เห็นบทสรุปของ BTK ตอนปีค.ศ. 2025 นู่น