ใน Limitless ภาพยนตร์ปี 2011 เอ็ดดี้ มอร์ร่า ตัวเอกของเรื่องเป็นนักเขียนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาคิดว่าเขาคงไม่มีอนาคต จนกระทั่งเพื่อนคนหนึ่งบอกเขาว่า มี ‘ยาวิเศษ’ ชนิดหนึ่งที่จะช่วยปลดล็อกความสามารถที่หลับใหลอยู่ภายในสมองของเขา ให้ตื่นขึ้นในแบบที่เขาไม่เคยสัมผัสมาก่อน ยานี้ยังอยู่ในระยะทดลองและอาจเป็นอันตรายในระยะยาว แต่ผลลัพธ์ที่แลกมาได้ก็ ‘น่าจะคุ้ม’ – เอ็ดดี้ลังเล แต่สุดท้ายก็ยอมจำนน ลองบริโภคยาชนิดนี้เข้าไป
ผลลัพธ์คือเขารู้สึกเฉลียวฉลาดขึ้น ทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างง่ายดายและยาวนานขึ้น เขามองเห็นความสัมพันธ์ซับซ้อนของสิ่งรอบตัวที่เอ็ดดี้คนเดิมไม่เคยเห็น เขาอ่านตัวแปรที่เคยซุกซ่อนไว้ออกมาได้อย่างง่ายดายคล้ายกับว่ามันเขียนอยู่ตรงหน้า – นี่คือยาวิเศษ!
คำถามคือ – ถ้าคุณได้รับข้อเสนอเหมือนกับเอ็ดดี้ มียาแบบเดียวกันที่จะช่วยปลดพันธนาการ และทำให้คุณ ‘ไปถึงจุดที่คุณใช้ความสามารถสมองได้อย่างเต็มที่’ คุณจะยอมรับข้อเสนอนี้ไหม?
นี่ไม่ใช่คำถามเพ้อเจ้ออีกต่อไป – สารคดี Netflix ปี 2018 อย่าง Take Your Pills สำรวจการใช้ยาตระกูล Adderall ซึ่งมีส่วนผสมของแอมเฟตามีน ที่เดิมทีใช้เพื่อรักษาภาวะสมาธิสั้น (ADD) และง่วงนอนรุนแรงในหมู่นักศึกษาและคนทำงาน ที่บางคนก็อาจไม่ได้มีภาวะสมาธิสั้น – พวกเขากิน Adderall เพื่อเพิ่มความสามารถในการคิดและทำให้ตนมีสมาธิมากขึ้น นั่นคือใช้ Adderall ในฐานะ “สารกระตุ้น” จนมันมีชื่อเล่นว่า ‘Smart Pills’ หรือยาฉลาด ในหมู่พ่อแม่ที่ให้ลูกๆ ของตนกินยาพวกนี้ก็เรียกมันด้วยชื่อเล่นว่า ‘Good Grade Pills’ หรือยาผลการเรียนดี ทั้งที่จริงแล้วยานี้ไม่ได้เพิ่มความสามารถทางการคิดของคนที่ไม่ได้มีภาวะสมาธิสั้น [1] และอาจมีผลข้างเคียงร้ายแรงด้วย เช่น เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีผลศึกษาว่ายาดังกล่าวไม่ได้ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น [2]
ในช่วงปีค.ศ. 2002-2010 พบว่ามีการใช้ Adderall ในเด็กเพิ่มขึ้น 45% และมียอดขายยาเพ่ิมขึ้นมากกว่า 3,000% ในสารคดี Take Your Pills นักศึกษาหลายคนยอมรับว่าใช้ Adderall เพื่อให้สามารถ ‘ยัดหนังสือเข้าไปในหัว’ ให้ทันก่อนสอบ พวกเขาบอกว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นเครียดและมีความกดดันสูงมาก หากไม่พึ่งพายาเสียแล้ว พวกเขาก็คงไม่อาจตอบสนองความท้าทายที่การศึกษามอบให้ได้ พวกเขาซื้อ Adderall กันอย่างลับๆ ถึงแม้รู้ว่าผิดกฏหมาย
ไม่เพียงนักศึกษาเท่านั้น ในสารคดี Take Your Pills ยังเล่าเรื่องของโปรแกรมเมอร์ที่กิน Adderall เพื่อให้ทำงานเขียนโปรแกรมติดกันได้เป็นระยะเวลานานในหลักสิบชั่วโมงโดยไม่ต้องพัก หรือพนักงานในบริษัทวอลล์สตรีทที่ต้องกินยาจำพวกนี้เพื่อให้ตอบสนองต่อความเร่งเร้าและความท้าทายของตลาดได้
พวกเขาบางคนยอมรับว่า ในฐานะหน่วยเศรษฐกิจ, ยาฉลาดทำให้เขามีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสทำรายได้ที่สูงขึ้นตามไปด้วย “และหากทุกคนรอบตัวคุณกินยาแบบนี้ แล้วคุณไม่กิน คุณก็เสียเปรียบ”
ในฐานะผู้ชม, Take Your Pills ไม่ได้เป็นสารคดีที่ทำให้เราตระหนักถึงพิษภัยของ Adderall นัก หนังใช้เวลาส่วนมากไปกับการอธิบาย “ความจำเป็น” ของผู้ใช้ยา Adderall ผิดจุดประสงค์ พวกเขากดดัน, พวกเขาอยากมีประสิทธิภาพ, อยากทำงานและอยากเรียนให้เต็มที่ พวกเขารู้สึกว่าระบบการศึกษาและระบบเศรษฐกิจพยายามบีบเค้นศักยภาพของพวกเขาออกมามากเกินไป มากเกินกว่าที่พวกเขาในสภาวะปกติจะให้ได้ พวกเขาจึงต้องพึ่งพายา (อันที่จริง หนังค่อนข้างแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ Adderall มากเกินไป จนผมรู้สึกว่าจะกลายเป็นหนังโฆษณายาจำพวกนี้ในจังหวะหนึ่งอยู่แล้วด้วยซ้ำ)
Brigid Delaney จาก The Guardian ทดลองใช้ยาฉลาดกับตัวเองเพื่อดูว่ายาได้ผลจริงไหมและมีผลข้างเคียงตามมาอย่างไรบ้าง [3] เธอได้ยานี้มาตอนที่ปรึกษากับแพทย์ส่วนตัวว่ามียาอะไรที่จะช่วยให้เธอไม่หิวในช่วงอดอาหาร (เพื่อเขียนบทความลงแมกกาซีนเรื่องการอดอาหาร – Fasting) ไหม แพทย์แนะนำ Ritalin ให้กับเธอ (ซึ่งเป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาภาวะสมาธิสั้นคล้ายกับ Adderall) เธอพบว่านอกจากมันจะทำให้ไม่หิวแล้ว มันยังทำให้เธอ ‘มีสมาธิสูงมาก มีพลังงานล้นเหลือ และกระตือรือร้นที่จะทำความสะอาดบ้าน’ อีกด้วย
เธอบันทึกว่า ยานี้ทำให้เธอ ‘ทำงานเสร็จทั้งหมดในระยะเวลาอันสั้น’ จริง แต่มันก็ตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายอย่าง ‘การไม่ได้นอนเลย’ (แต่ยาจะไม่ทำให้คุณรู้สึกง่วงในขณะที่ยามีผลอยู่) และ ‘การระลึกว่าพลังงานที่ได้มานั้นไม่ได้เป็นพลังงานจริงๆ’ (เธอไปยิมและคิดว่าตัวเองมีพลังงานล้นเหลือมาก แต่จริงๆ แล้วกลับยกน้ำหนักได้น้อยกว่าเดิมจนเทรนเนอร์ทักว่าทำไมดูเหนื่อย)
ที่น่าสนใจที่สุดคือเธอบอกว่า ‘อะไรที่ขึ้นสูง ก็ต้องลงต่ำทั้งนั้น’ พลังงานสมองที่เธอได้มาในช่วงที่ยาออกฤทธิ์นั้นสูญสลายไปในเวลาไม่นานนัก กว่าที่เธอจะกลับมา ‘ปกติ’ ได้ก็ต้องใช้เวลาสองวัน เธอบรรยายถึงความรู้สึกในช่วงนี้ว่า “พลังเวทมนต์ได้จากฉันไปแล้ว แต่จริงๆ แล้ว มันเป็นเวทมนต์ หรือมันเป็นแค่การกู้พลังงานในอนาคตมาใช้ก่อน [การกินยาพวกนี้] มันอาจช่วยให้คุณผ่านพ้นวันนี้ไปได้นะ แต่ในวันรุ่งขึ้น คุณก็ต้องจ่ายหนี้ทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย สุดท้ายแล้ว การนอนแค่สี่ชั่วโมงในสองวัน ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ” เธอลงท้ายบทความด้วยการ “สาบานว่าจะไม่กินยาพวกนี้อีกแล้ว”
นอกจาก Adderall และ Ritalin แล้ว ปัจจุบันยังมีความนิยมในการใช้ยาอื่นๆ เพื่อ ‘เพิ่มประสิทธิภาพสมอง’ หรือ ‘เพิ่มประสิทธิภาพร่างกาย’ ด้วย เช่น จากการสำรวจพบว่าในหมู่นักดนตรี มีการใช้ยาที่เรียกว่า Beta Blockers เพื่อให้ไม่ตื่นเต้นก่อนขึ้นแสดง หรือก่อนออดิชั่น [4]
ปัญหาของยาประเภท Cognitive Enhancement ที่เป็นที่ถกเถียงกันมาก นอกจากผลข้างเคียงของมัน คือปัญหาของเหตุผลที่คนรู้สึกว่าจำเป็นต้องใช้ยาประเภทนี้ตั้งแต่แรก งาน – ตั้งแต่การทำงานกะละ 20 ชั่วโมง ไปจนถึงการต้องคงสมาธิเพื่อผ่าตัดคนไข้นานๆ – เรียกร้องจากพวกเขามากเกินไป พวกเขากลัวว่าถ้าตนทำไม่ได้, ขณะที่คนอื่นทำได้, แล้วตนจะถูก ‘เขี่ยทิ้ง’
เมื่อการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเข้มข้นจนมีผู้ชนะได้ไม่กี่ราย พวกเขาก็ยอมกู้ชีวิตในอนาคตมาเพื่อความก้าวหน้าในวันนี้
อีกปัญหาคือ ยาประเภทนี้มีส่วนตอกย้ำซ้ำเติมทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นไปอีก คนมีเงินเท่านั้นที่สามารถใช้ยาเพื่อบูสท์สมรรถนะของตนเองอย่างสม่ำเสมอได้ ยังไม่ต้องพูดถึงการผ่าตัดเพื่อเสริมความสามารถของร่างกาย สมอง และจิตใจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือพูดถึงการออกแบบทารกให้มีคุณสมบัติตรงตามท่ีพ่อแม่ต้องการ ที่จะยิ่งถ่างช่องว่างให้คนมั่งมี มีคุณสมบัติที่ดีพร้อม ฉลาดเฉลียว หน้าตาสวยงามขึ้น ในขณะที่คนยากจนก็ต้องพึ่งพาล็อตเตอรี่พันธุกรรมบวกกับความพยายามของตนเท่านั้น โลกจะแบ่งเป็นชนชั้นของคนที่มีทุกอย่าง กับชนชั้นของคนที่ไม่มีอะไรเลย
ถึงแม้ตัดปัญหาเรื่องผลข้างเคียงร้ายแรงออก, ‘ยาฉลาด’ ก็ยังเป็นปัญหาในตัวเองมันเองอยู่เช่นนี้
หากชีวิตคือการแข่งขัน – แม้ต้องจ่ายมาด้วยราคาที่แพง แต่การได้แต้มต่อแม้เพียงนิดหน่อยก็อาจคุ้มค่า ผมเชื่อว่า หากมี ‘ยาฉลาด’ ชนิดที่ไร้ผลข้างเคียงออกสู่ท้องตลาด คนจำนวนมาก (ยอมรับว่า – รวมถึงผมด้วย) ก็อาจต้องการมัน – ถึงแม้รู้ทั้งรู้ ว่าเรากำลังยอมเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ไร้หัวใจและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดก็ตาม
คุณล่ะ? จะเลือกแบบไหน
อ้างอิง / ที่มา
[1] https://www.honestdocs.co/adderall