เคยได้สัมผัสอะไรสักอย่างแล้วไม่เหมือนกับที่หวังไว้หรือเปล่า?
อาจจะการซื้อสินค้าแล้วมันไม่ได้เปลี่ยนชีวิตแบบที่เขาโฆษณาไว้ หรือไปกินอาหารตามรีวิวแล้วมันไม่ถูกปากเราแม้แต่น้อย เรารียกความรู้สึกนี้ว่า buyer’s remorse ซึ่งโดยมากเกิดจากการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เราได้มานั้นคุ้มค่ากับสิ่งที่เราสูญเสียไปแล้วหรือเปล่า ซื้อมาแพงขนาดนี้ความสุขเราเพิ่มขนาดไหน? ไปต่อคิวแต่เช้าแต่พอได้มาแล้วก็รู้สึกเหนื่อยฟรี
บ่อยครั้ง buyer’s remorse ชั่วครู่คราวเดียวมันก็จะผ่านไป แต่ในบางกรณีสิ่งที่เราพยายามเพื่อจะได้มาคือความสัมพันธ์หรือความรัก และสิ่งที่เราแลกไปคือใจและกายของเราเอง ซึ่งบางครั้งมันไม่เป็นเหมือนฝันสักเท่าไรนัก และบางครั้งมันแย่กว่านั้นหากความสัมพันธ์ที่ว่ามันเจ็บทั้งกายและใจ ทิ้งรอยแผลทั้งภายในและภายนอก และที่น่าย้อนแย้งที่สุดคือแม้มันจะแย่ ในท้ายที่สุดแล้วหัวใจคือสิ่งที่เราแลกไปแล้ว และเราไม่มั่นใจว่าเราอยากได้มันคืนหรือเปล่า
ราวกับว่าเมื่อลงแรงไปเกินครึ่งทางแล้ว การถอยจะทำให้เราเสียสิ่งที่เรารักที่สุดไปหรือเปล่า? แต่เราจะทำยังไงได้หากการเดินไปข้างหน้านั้นก็เต็มไปด้วยความเจ็บปวดที่เกินต้านทาน? ทำไมเราถึงไม่อยากถอนใจจากสัมพันธ์ที่ทำร้ายเราหรือคนรอบข้าง? และทำยังไงเพื่อจะเริ่มการรักษาตัวให้พร้อมเพื่อเดินจากไป?
ความรุนแรงระหว่างคู่รักเกิดขึ้นบ่อยกว่าที่คิด
เมื่อพูดออกมาว่าความรักและคนรัก ความรุนแรงคงเป็นสิ่งท้ายๆ ที่เราควรนึกถึง ถ้ารักจะทำร้ายได้ยังไง? แต่ในความเป็นจริงแล้วความรุนแรงในครัวเรือนนั้นเกิดขึ้นระหว่างคนรักบ่อยกว่าที่เราคิด
จากสถิติโดยสำนักพัฒนาสังคมกรุงเทพมหานคร หัวข้อสรุปข้อมูลด้านการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ปี 2564 พบว่าจากเหตุการณ์ความรุนแรงในครัวเรือน 1,083 เหตุการณ์ คู่ความสัมพันธ์ที่เกิดเหตุความรุนแรงบ่อยที่สุดคือสามีทำร้ายภรรยา อยู่ที่ 395 ครั้ง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุบ่อยที่สุดคือการบันดาลโทสะ สถิติหน้าตาไม่แตกต่างกันเมื่อเรามองไปยังระดับประเทศ จากชุดข้อมูลสถิติความรุนแรงในครอบครัว ประจำปี 2564 โดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวพบว่า 41% ของเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว 2,177 รายมาจากคู่สามีภรรยา
เมื่อมองไปยังต่างประเทศ ภาพรวมของเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศและความรุนแรงในครอบครัวไม่แตกต่างกันมากนัก จากการศึกษาโดยองค์กร National Coalition Against Domestic Violence (NCADV) ที่เก็บรวมรวมสถิติความรุนแรงในครอบครัวจากทั่วสหรัฐอเมริกา พบว่า 1 ใน 4 ของผู้หญิงและ 1 ใน 9 ของผู้ชายประสบกับความรุนแรงทางเพศ ทางกาย และการโดนแอบติดตาม (stalking) จากคู่รักใกล้ชิดของพวกเขา เมื่อลงลึกไปในรายละเอียด พบว่า 1 ใน 5 ของผู้หญิงในสหรัฐฯ เคยเป็นเหยื่อการข่มขืน ในนั้นมี 46.7% เป็นการข่มขืนจากคนรู้จัก และเกือบครึ่งของคนรู้จักนั้นคือคู่รักของตัวเอง
ทั้งหมดทั้งมวล ยังต้องคำนึงว่ายังมีอีกหลากหลายความสัมพันธ์ที่ไม่ได้ถูกนับ เพราะสำหรับบางเหตุการณ์ในไทยอาจเป็นคู่รักไม่ได้แต่งงาน ยังมีหลายๆ กรณีที่ไม่ได้รับการรายงาน และนี่เป็นสถิติเพียงจาก 2 ประเทศในโลกเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อเราคิดว่าน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในสถิติ ความเป็นไปได้คือในความเป็นจริงแล้วมันเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าที่เราเห็นในสถิติเหล่านี้ด้วยซ้ำ
เหตุที่เรามองข้ามสัญญาณเตือน
แม้ว่าโซเชียลมีเดียจะมีการแบ่งปันและตักเตือนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่อาจเป็นสัญญาณของความสัมพันธ์เป็นพิษหลากหลายรูปแบบและแง่มุมอยู่บ่อยๆ ครั้งแล้วครั้งเล่าเราก็ยังเดินสะดุดไปอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้น ทำไมเรามองข้ามสัญญาณเตือน? เพราะเรามองไม่เห็นหรือเปล่า? อาจจะซับซ้อนกว่านั้น
เวลาเราในฐานะมนุษย์มองและตีความคนคนหนึ่ง เราไม่ได้มองพวกเขาผ่านข้อเท็จจริงเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะในประเด็นอะไร เราต้องตีความข้อมูลที่เราได้รับเสมอ และการตีความของเรานั้นอาจมีผลลัพธ์แตกต่างไปจากปัจจัยหลากหลาย อาจจะประสบการณ์ การเลี้ยงดู สื่อที่เรารับ ความสัมพันธ์ในอดีต และอีกมากมาย ถ้าจะให้เรียกง่ายๆ คือเราไม่ได้เพียงตีความบุคคลเพียงจากตัวตนของเขา แต่เราตีความเขาจาก ‘ภาพลักษณ์’ ที่เรามองเขาด้วยนั่นเอง
ในกรณีของความสัมพันธ์ ภาพลักษณ์ยิ่งมีความสำคัญและมีน้ำหนักมาก เพราะนี่ไม่ใช่เพียงภาพลักษณ์ไหนๆ แต่เป็นภาพลักษณ์ของคนที่เราปักใจเชื่อว่าเขาดีพอที่เราจะใช้ชีวิตด้วยหรือดีมากไปกว่านั้นด้วยซ้ำ โดยภาพลักษณ์นี้เริ่มขึ้นได้มากที่สุดในการพบกันครั้งแรก ที่เขาว่ากันว่าความประทับใจแรกนั้นสำคัญที่สุดก็มีเหตุผล
ลองนึกย้อนกลับไปตอนเราเริ่มเรียนที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือเริ่มงานวันแรก เราดึงส่วนที่ดีที่สุดของตัวเองขึ้นมาให้ทุกคนเห็นก่อน เช่นเดียวกันกับที่คนคนหนึ่งทำในการเดทครั้งแรก และแม้บ่อยครั้งเราบอกว่าถ้าจะดูหนังสือให้ดูที่เนื้อในไม่ใช่ปก เรามีตัวเลือกอะไรในการดูคน? เหตุผลที่เรามักดูคนจากความประทับใจแรกนั้นมาจากหนึ่งในความเอนเอียงของเราที่เรียกว่า Primacy Effect นั่นคือการมองว่าข้อมูลชิ้นแรกที่เราได้รับนั้นน่าจดจำที่สุด
ซึ่งบ่อยครั้งมันขยายไปสู่ Anchoring bias หรือการยึดมั่นกับข้อมูลนั้นๆ มากจนไม่มองข้อมูลใหม่อื่นๆ ที่อาจทำให้ข้อมูลชุดเก่าไม่เป็นจริงอีกต่อไป นั่นแปลว่าหลายๆ ครั้งในความสัมพันธ์เราอาจมองข้ามเรื่องร้ายๆ ของคนคนหนึ่งเพราะเรายังมองเขาเป็นตัวเขาครั้งแรกที่เขาเจอเรา ไม่ใช่จากการกระทำหลังจากนั้น แต่ถึงจะอย่างนั้น บางครั้งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ที่สุดก็อาจมีน้ำหนักมากพอให้เราตั้งคำถามกับใครสักคนได้เช่นกัน แค่อาจไม่เท่าความทรงจำแรก
แต่ว่ามันแปลว่าเรามองไม่เห็นสัญญาณเตือนนั้นเพียงเพราะเขามีความทรงจำดีๆ กับเราอย่างนั้นรึเปล่า? ก็ไม่เสมอไป
ลอว์เรนซ์ โจเซฟ (Lawrence Josephs) นักจิตบำบัดและอาจารย์คณะจิตวิทยามหาวิทยาลัยเอเดลฟีเขียนในบทความเกี่ยวกับกรณีการมองข้าม สัญญาณเตือน ว่าการวิจัยชี้ชัดว่าเราเห็นและเราเข้าใจในสัญญาณเตือนคนส่วนมากไม่อยากคบกับคนที่มีลักษณะจะทำร้ายกายหรือใจเรา แต่มนุษย์มีช่องโหว่
“ไม่ว่าพวกเขาจะพยายามชูความดีของเขาหรือซ่อนความสามารถในการที่เขาจะหักอกเรามากแค่ไหน เราก็มองเห็นสัญญาณเหล่านั้น…ปัญหาคือเราทุกคนมีความเชื่อที่บิดเบือนการตีความสัญญาณเตือน เพราะมันขัดกับภาพลวงตาที่เราสร้างขึ้นเกี่ยวกับคนรักเรา ความเชื่อนั้นคือเราเชื่อว่าคนคนหนึ่งถูกซ่อมแซมได้” ลอว์เรนซ์กล่าว
‘ถ้าเขาเจ้าชู้ อาจจะแปลว่าเขายังไม่เห็นสิ่งที่เราทำให้เขา’ ‘ถ้าเขารุนแรงมันเป็นเพราะเราไปทำให้เขาไม่พอใจ’ ‘ถ้าเขาเห็นแก่ตัว เราต้องทำให้ตัวเองดีพอให้เขาเห็นเราบ้าง’
‘เราจะใช้ความรักซ่อมแซมให้เขากลายเป็นคนที่เราเคยรักให้ได้’
บ่อยครั้งจากทุกเหตุผลที่เราพูดถึงไป เราอาจจะคิดว่าตัวเองมีหน้าที่ช่วยซ่อมแซมเขา หรือบางครั้งเขาเองก็รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำผิด ก็คิดว่าเขามีหน้าที่แก้ไขตัวเองเพื่อให้เรากลับไปมีความสุข แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่มีใครมีหน้าที่ต้องซ่อมแซมใคร เพราะหลายๆ ครั้งความรุนแรงในครัวเรือนไม่ได้เริ่มและจบที่การกระทำ แต่มันทิ้งร่องรอยของภาวะซึมเศร้าหรือแม้แต่ PTSD ที่มีโอกาสการทริกเกอร์สูงหากผู้กระทำและผู้ถูกกระทำอยู่ด้วยกันต่อ
บางครั้งตัวเลือกที่ดีกว่าคือการรับผิดชอบในส่วนที่รับผิดชอบได้แล้วเดินจากไปอาจเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า
เขาในความทรงจำและเขาในชีวิตจริง
เรื่องความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถพูดได้ว่าทำแบบไหนแล้วจะได้ผลทันตา ถ้ามันง่ายแบบนั้นโลกนี้คงไม่มีใครเจ็บปวดกับการตกอยู่ในความสัมพันธ์เป็นพิษกันอีกต่อไป แต่บ่อยครั้งการจะนำตัวเองออกจากความสัมพันธ์ที่รวดร้าวและทำลายเช่นนั้นอาศัยการเกิดก้าวแรก การลืมตาให้เห็นครั้งแรกว่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทนอยู่ไม่ใช่ความสัมพันธ์ที่จะนำไปสู่ความสุขได้ หรือแค่เป็นการสะกิดเตือนให้มองหนทางอื่นๆ ดูเสียหน่อยก็ยังดี
ฉะนั้นนี่คือความพยายามที่จะให้เกิดก้าวแรกนั้น ลองเดินถอยหลังออกจากความรู้สึกนึกคิดของตัวเองหนึ่งก้าว ภาพลักษณ์ที่เราให้คนคนหนึ่งเอาไว้กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตรงกันมากขนาดไหน? สิ่งที่เขาทำกับเราผิดซ้ำมากขนาดไหน? เขาดูเหมือนจะเรียนรู้แล้วกลับไปเป็นคนเดิมหรือเปล่า? เขาในปัจจุบันคือคนคนเดียวกันกับเขาคนที่เรารักหรือไม่?
ถ้าหากถามคำถามเหล่านี้แล้วคำตอบของมันเป็นไปในแง่ที่ไม่ถูกใจเรา ลองหาสายตาของคนนอกที่เราเชื่อใจเพื่อเสริมแรงสนับสนุนเราให้หลุดพ้นจากภาวะนี้ให้ได้ และถ้ามันไม่อาจเกิดขึ้นอย่างทันด่วนนั้นเป็นเรื่องธรรมดาอย่างมาก เพราะความผูกพันไม่ใช่สิ่งที่ตัดกันได้ง่ายๆ แต่การเดินออกมาจากสถานการณ์ที่อันตรายนั้นก็เป็นก้าวแรกก่อนเราจะเริ่มรักษาตัวได้
และหากใครขอให้เราอยู่แม้ว่ามันจะเจ็บปวด นั่นอาจเป็นสัญญาณมากพอในการเดินออกมาแล้วก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก