ไม่รู้ว่ามีใครจำได้ไหมครับ ว่าต้นปี 2010 กระทรวงไอซีทีในรัฐบาล ‘ขิงแก่’ เคยเสนออะไรไว้อย่างหนึ่ง
สิ่งนั้นเรียกกันว่า ‘สนิฟเฟอร์’ (Sniffer)
สนิฟเฟอร์คืออะไร พูดให้ง่ายที่สุด มันก็คือ ‘เครื่องมือ’ (ที่อาจเป็นซอฟท์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ก็ได้) ที่เอามาใช้ ‘ดักจับข้อมูล’ บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ก็เลยเรียกกันว่าซอฟท์แวร์ ‘นักดม’ หรือสนิฟเฟอร์นี่แหละครับ
เวลาพูดถึงคำว่าสนิฟเฟอร์หรือ ‘นักดม’ นั้น ผมมักนึกถึง ‘หมา’ อยู่ร่ำไป เพราะเพราะเจ้าหมาที่คอยมาด้อมๆ มองๆ กระเป๋าของผู้โดยสารเพื่อตรวจหาสารเสพติดตามสนามบินนั้น ฝรั่งเขาเรียกว่า Sniff Dog เพราะฉะนั้น พูดง่ายๆ โปรแกรม Sniffer ที่จะมีการติดตั้ง ก็คือโปรแกรมหมาดมกลิ่นนั่นแหละครับ
ทีนี้ไอ้เจ้าสนิฟเฟอร์นี่ พูดให้ฟังง่ายที่สุดก็คือ มันจะทำหน้าที่เหมือนการ ‘ดักฟัง’ โทรศัพท์นี่แหละครับ เพียงแต่ไม่ได้ดักฟังเป็นครั้งๆ ไป เหมือนเวลาเราดูหนังจารกรรมสมัยก่อนหรือเวลาแอบฟังโทรศัพท์จากสายพ่วง ซึ่งจะดักฟังได้ทีละครั้งๆ แต่พอใช้ระบบสนิฟเฟอร์ ก็เหมือนจ้าง ‘หมา’ ที่ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเอาไว้ ‘ดัก’ กันทั้งกระบวนการนี่แหละครับ โดยในตอนนั้น คณะทำงานกำกับดูแลและเฝ้าระวังการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกระทรวงไอซีที มีมติเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเพิ่มหลักเกณฑ์ในการออกใบอนุญาต เพื่อให้ผู้ประกอบการต้องติดตั้งเจ้า Sniffer หรือโปรแกรมหมาดมกลิ่นนี้ไว้ที่เกตเวย์ด้วย
พูดง่ายๆ ก็คือ จะให้บริการอะไรพวกนี้ได้ ต้อง ‘ดมกลิ่น’ ให้รัฐด้วย เผื่อว่าถ้าพบใครเอาข้อมูลมิดีมิร้ายไปใช้กระทำการอะไรต่อมิอะไร ก็ต้องรีบแจ้งรัฐ
มันจึงมันเหมือนการ ‘ดักฟัง’ โทรศัพท์ทั้งระบบ
คำถามก็คือ จะทำไปทำไม?
คำตอบในตอนนั้นก็คือ อ๋อ…ลูกๆ ขา ลูกๆ ไม่ต้องตระหนกไปนะคะ เพราะขุ่นพ่อขุ่นแม่ (รู้ดี) จะเอาไว้ช่วยป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือการละเมิดลิขสิทธิ์น่ะค่ะ คือของเดิมน่ะนะค่ะขุ่นลูก มันจะเอาผิดได้ก็ต่อเมื่อเกิดมีคดีความขึ้นมาแล้วเท่านั้น ถ้าเปรียบกับสุขภาพร่างกายก็คือปล่อยให้ป่วยแล้วค่อยรักษานะคะลูกขา แต่ถ้าเป็นสนิฟเฟอร์นี่ ก็เหมือนเราไปตรวจดักมะเร็งตลอด 24 ชั่วโมงแหละค่ะคุณลูก มันคือการ ‘ป้องกัน’ ไม่ให้เกิดอาการป่วย (ของผู้คนที่มันเลวๆ ชั่วๆ ทั้งหลาย) ถือว่าเป็นสิ่งที่ ‘งอก’ เป็นพิเศษออกมาจาก พ.ร.บ. การกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 (หรือ พรบ.คอมพ์ 2550) จึงเป็นการป้องกันที่ต้นเหตุนะคะ ไม่ดีหรอกเหรอคะ
เออ-ไม่ดี!
คนที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นลูกเป็นหลานเป็นผู้ต่ำต้อยด้อยค่ากว่าบอกอย่างนั้น ก็เลยเกิดการต่อต้านสนิฟเฟอร์กันอย่างสุดลิ่มทิ่มประตูหลายวิธี (ทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย) เพราะสนิฟเฟอร์จะทำให้ ‘ความเป็นส่วนตัว’ (หรือ Privacy) มีค่าเท่ากับศูนย์ แถมยังมีผลร้ายทั้งในเรื่องความหละหลวมของข้อมูล อาจเกิดการล้วงลับตับแตกจากรัฐ หรือเกิดความผิดพลาดในแบบกลั่นแกล้งกัน (โดยเฉพาะในเรื่องที่คุณก็รู้ๆ กันอยู่) และอื่นๆ ได้อีกมาก ผลสุดท้าย หมาแก่นักดมกลิ่นก็ต้องช้อยเก็บฉากลาโรงไป
แต่ช้าก่อน!
มันไม่หยุดแค่สนิฟเฟอร์หรอกนะครับ เพราะขุ่นพ่อขุ่นแม่รู้ดีนั้น แม้จะยอมพ่ายเรื่อง ‘ดักจับ’ ข้อมูลทั้งระบบแล้ว แต่สำนึกแสนงามของความเป็นขุ่นพ่อขุ่นแม่รู้ดีไม่เคยคลายจางไปจากหัวใจ เพราะฉะนั้น หลังจากปล่อยให้คนต้องผจญกับการทำมาหากินดิ้นรนกับชีวิตไปได้อีกสักราว 5 ปี (ซึ่งน่าจะพอดีกันกับที่ไปซุ่มคิดมาว่า-เออ…กูดักจับข้อมูลมึงไม่ได้ กูหาวิธีใหม่ดีกว่า) ก็เลยออกมาเป็นสิ่งที่คุ้นหูคุ้นตาเราดีในที่สุด
สิ่งนั้นเรียกว่า-ซิงเกิลเกตเวย์!
คือถ้าเปรียบง่ายๆ หมาแก่นักดมกลิ่นก็เหมือนหมาเฝ้าบ้านนี่แหละครับ แต่ทีนี้บ้านมันมีหลายประตู ขุ่นแม่รู้ดีก็เลยสั่งคนดูแลประตูทั้งหลายว่า ใครจะเข้าจะออก ต้องเอาหมาไปติดตั้งคอยดมเอาไว้ทุกประตูนะ เพื่อป้องกันเหตุร้าย แต่พอคนในบ้านไม่เอา ร้องยี้กันเสียงสนั่น ขุ่นแม่หายเข้าห้องไปห้าปี กลับออกมาใหม่ก็เลยบอกว่า ก็ได้นะคะขุ่นลูก ถ้าไม่เอาหมา เพื่อความปลอดภัยของขุ่นลูก ขุ่นแม่ขอก่ออิฐถือปูนปิดประตูทุกบานก็แล้วกัน เอาให้มันเหลือแค่บานเดียว
หา…บานเดียว!
มันเหมือนคนเราเคยกินขี้ปี้นอนด้วยทวารหลากหลาย แต่ต่อมาขอให้ปิดทุกทวาร เหลือมันแค่อันเดียว จะเข้าจะออกจะกินจะขี้ก็ให้ทำทางทวารเดียวนี่แหละ มันจะเป็นไปได้อย่างไรกัน
ตอนนั้น ขุ่นแม่รู้ดีบอกว่า ก็แหม! จะได้ช่วยรักษาความปลอดภัยให้ลูกๆ ไงคะ เพราะพอทำแบบนี้ ขุ่นแม่ก็จะได้ ‘ดักจับข้อมูล’ ได้ง่ายขึ้น แต่ก็อีกนั่นแหละ ปัญหาแบบเดียวกับสนิฟเฟอร์เลยครับ เพราะมันคือการ ‘คุมอินเทอร์เน็ตเบ็ดเสร็จ’ ซึ่งในด้านกลับก็ไปจำกัดการเข้าใช้งานกับเครือข่ายต่างประเทศ บริษัทข้ามชาติและธุรกิจธุรกรรมก็ต้องมาผ่านทวารเดียว แถมบริษัทพวกนี้ก็ไม่รู้จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่ถูกดูดข้อมูลไปทำอะไรต่อมิอะไร เสียงค้านเลยมาขรม รวมถึงวิธีต่อต้านที่ก็มีทั้งวิธีที่ถูกและผิดกฎหมาย
สุดท้าย ชะตากรรมของซิงเกิลเกตเวย์ก็เลยลงเอยเหมือนกันสนิฟเฟอร์ คือต้องลาโรงไปเงียบๆ คล้ายว่า ‘สำนึก’ ของขุ่นแม่รู้ดีในเรื่องนี้จะยอมแพ้หย่อนคล้อยไปตามกาลเวลาเสียแล้ว
แต่ไม่!
คืออย่างนี้นะครับ ต้องบอกกันก่อนว่า ตอนเกิดทั้งสนิฟเฟอร์และทั้งซิงเกิลเกตเวย์ขึ้นมานี่ มันไม่ได้ ‘ผนึก’ รวมอยู่ใน พรบ.คอมพ์ มาตั้งแต่ต้นนะครับ เปรียบไปก็เหมือนเป็นแค่ส่วนงอกขยาย เป็น ‘ติ่ง’ เล็กๆ ไม่ได้เขียนอยู่ในกฎหมายที่เป็นร่มใหญ่
สนิฟเฟอร์นั้นเป็นแค่ ‘มติ’ ของ ‘คณะทำงาน’ ในระดับกระทรวง + กรม + เอกชนบางราย เท่านั้นนะครับ (เช่น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงไอซีที) อำนาจจึงไม่ได้เยอะแยะอะไรนัก
ถัดมาพอเป็นซิงเกิลเกตเวย์นี่ ข่าวเขาบอกว่าเริ่มต้นจากการสั่งการของนายกรัฐมนตรีก่อน แล้วถัดมาเลยกลายเป็น ‘มติคณะรัฐมนตรี’ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามัน ‘ขยับ’ สูงขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง อำนาจที่พ่วงมาก็มากขึ้นตามไปด้วย
แต่มาปีที่แล้ว เกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘ร่าง พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์’ ซึ่งพูดง่ายๆ ก็คือเกิดการ ‘ร่าง’ พรบ. คอมพ์ ฉบับใหม่ ขึ้นมา พูดง่ายๆ ก็คือ ในแง่กฎหมาย คราวนี้มันไม่ได้เป็นแค่ ‘ส่วนงอกขยาย’ หรือเป็น ‘ติ่ง’ ที่ไปงอกตรงโน้นตรงนี้อีกแล้วนะครับ แต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อ ‘ผนึก’ แนวคิดในการ ‘ควบคุม’ ข้อมูลข่าวสาร ลงไปใน พรบ.คอมพ์ โดยตรงเลย
ตอนเสนอร่างนี้ขึ้นมาในปีที่แล้ว เกิดเสียงค้านให้ชะลอการพิจารณา และรัฐบาลก็รับปากว่าจะเอาไปแก้ไขเพื่อไม่ให้ละเมิดเสรีภาพบลาบลาบลากันไปนะครับ ทีนี้เมื่อแก้ไขกันแล้ว ก็เอามาพิจารณากันในสภานิติบัญญัติ (หรือ สนช.) โดยผ่านวาระที่หนึ่งไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา จากนั้นก็มาถึงวาระที่สองและสามในเดือนนี้ (ซึ่งตอนเขียนนี่ผมยังไม่รู้นะครับว่าผ่านหรือไม่ผ่าน)
ปัญหาของ พรบ.คอมพ์ ที่มีคนลุกขึ้นมาคัดค้านกันเป็นการใหญ่นั้นมีหลายอย่าง ซึ่งก็คงมีคนพูดกันมาเยอะแยะตาแป๊ะไก๋แล้ว ถ้าสนใจก็ไปหาดูได้ที่ www.change.org นะครับ แต่ที่ผมอยากจะชวนคุยก็คือ ถ้าลองนำข้อกังวลเหล่านี้ย้อนกลับไปเปรียบเทียบกับทั้งสนิฟเฟอร์และซิงเกิลเกตเวย์ เราจะเห็นได้เลยนะครับ ว่า พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่นี้ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับไอ้เจ้าสนิฟเฟอร์หมาแก่หรือซิงเกิลเกตเวย์อะไรนั่นเลยแม้แต่สักกระผีกเดียว ผู้มีอำนาจในรัฐบาลนี้พูดถูกทุกอย่างเลยครับ ไม่บิดเบือนแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ของเก่าๆ พวกนั้นน่ะ จะไปมีได้ยังไง
ก็แหม-เรามี ‘ของใหม่’ แล้วนี่นา!
เป็นของใหม่ที่ ‘ผนึกแน่น’ อยู่ในข้อกฎหมายชนิดที่คนทั่วไปแหกลูกตาออกมาล้างในน้ำเกลือแล้วอ่านอีกสามสิบสองรอบก็ยังไม่ค่อยจะรู้เรื่อง
รู้ก็แต่ว่า-ถ้าไม่ได้ทำอะไรผิด, ก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไรนะคะขุ่นลูก!
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ใน พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่นี้ มันจะทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้ทั้งสนิฟเฟอร์ทั้งซิงเกิลเกตเวย์กันอีกต่อไปแล้ว ใครหน้าไหนก็อย่าได้หยิบคำว่าซิงเกิลเกตเวย์ขึ้นมาพูดให้คนอกสั่นขวัญตระหนกกันเชียว เพราะมันไม่มี และเอาเข้าจริง ฟังๆ ดูแล้ว เจตนาของภาครัฐในการออก พรบ.คอมพ์นี้ ดูน่าเชื่อถือ น่าปฏิบัติตาม และมีแต่คุณประโยชน์จะตายไป เหมือนถ้าเราเป็นเด็กดี ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวไม้เรียว และไม่ต้องกลัวด้วยว่าจะมีโจรผู้ร้ายที่ไหนเข้ามาทำร้ายเราถึงในบ้าน เพราะมีขุ่นพ่อขุ่นแม่รู้ดีคอยดูแลอยู่โดยการตรากฎหมายเหล่านี้ขึ้นมาปกป้องคุ้มครองดูแลเราอยู่แล้ว
แต่คำถามที่ลึกกว่าข้อกฎหมายเหล่านั้นก็คือ เอาละ-ไม่มีสนิฟเฟอร์ ไม่มีซิงเกิลเกตเวย์นั้นแน่ละ แต่มันมี ‘สำนึก’ แบบดียวกันซ่อนอยู่หรือเปล่า
สำนึกที่จะ ‘ควบคุม’ อย่าง ‘เบ็ดเสร็จเด็ดขาด’ นั่นน่ะ!
คนที่พูดว่า-ถ้าเราไม่ได้ทำอะไรผิด ก็ไม่เห็นต้องปิดบังกลัวเกรงอะไร-นั้น, ต้องบอกว่าพูดมาตั้งแต่ยอมให้หมาแก่มาดมกลิ่นตัวเอง ตั้งแต่ยอมให้ปิดทวารทั้งเจ็ดเหลือแค่ทวารเดียว และพูดมาจนถึง พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่นี้ด้วยประโยคเดิมๆ ไม่เคยเปลี่ยนนะครับ
แต่คำถามง่ายๆ ที่น่าถามก็คือ ผิดกับถูกที่ว่า มันคือผิดกับถูกของใครล่ะครับ
ไม้บรรทัดที่ใช้วัดความผิดถูกนั้น ไม่ได้มีอยู่ไม้เดียวอีกต่อไปแล้ว นักคิดสมัยใหม่ในโลกที่ซับซ้อนขึ้นนี้ก้าวไกลไปถึงขั้นเข้าใจกันแล้วด้วยซ้ำว่า ‘ความจริง’ หรือสัจธรรมนั้นไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว (ไม่งั้นคำว่า Post-Truth จะเป็นคำแห่งปีในสากลโลกไปได้ยังไงกันล่ะครับ) และแต่ละ ‘ระบบความจริง’ ก็คือระบบการ ‘กีดกัน’ ความจริงอื่นๆออกไปเสียจากมัน
ผมไม่คิดว่าใครควรมี ‘สิทธิ’ ในการเข้าถึงข้อมูลของคนอื่นอย่างเต็มร้อย เพราะมีโอกาสมากเหลือเกินที่ใครคนนั้นอาจเผลอใช้ไม้บรรทัดในระบบความจริงของตัวเอง ไป ‘กีดกัน’ คนอื่นที่มีระบบความจริงอื่น มีพระเจ้าองค์อื่นให้หลุดหล่นหายไป พร้อมทั้งบังคับให้คนคนนั้นต้องหันมายึดถือในระบบความจริงของตัวเอง เพราะคิดว่านั่นดีเหลือเกิน วิเศษอย่างที่สุด คนอื่นจึงควรจะเห็นด้วยกับฉัน เพราะฉันเป็นคนดี และวิธีการง่ายที่สุดในการทำอย่างนั้น ก็คือการบังคับควบคุมให้คนอื่นเป็น ‘คนดีเหมือนตู’ ด้วยการ ‘เข้าถึง’ คนอื่นให้ลึกที่สุดถึงระดับจิตใต้สำนึกร่วม!
นอกจากนี้ วิถีของโลกใหม่ (โดยเฉพาะโลกออนไลน์) ยังเป็นเหมือนสึนามิลูกโตที่ถาโถมเข้าซัดเข้าหาหอคอยเก่าๆแห่งอำนาจเก่าที่ไม่เคยสำนึกเลยว่า ฐานรากของตนกำลังกร่อนเซาะ ต่อให้เจ้าของหอคอยพยายามปีนลงมาเอาปูนเทฐานเท่าไหร่ก็ไม่อาจทานพลังมหาศาลของเหตุปัจจัยใหม่ๆ ได้
ที่น่าเศร้าก็คือ อำนาจเก่ามักอ้างว่าตนสมาทานตัวเองกับวิถีพุทธ แต่ความเป็นพุทธที่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัย และพยายามยื้อยุดไม่ให้อนิจลักษณะเป็นอนิจลักษณะ ไม่แน่ใจนักว่าอาจนับเป็นพุทธได้มากน้อยเพียงใด
สนิฟเฟอร์ ซิงเกิลเกตเวย์ และเนื้อหาบางส่วนของ พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่ แสดงให้เห็นความพยายามควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จของอำนาจเก่าที่ ‘ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย’
การที่มันสามารถดำเนินต่อเนื่องไม่ขาดสายได้นี้ แสดงให้เห็นว่า อำนาจเก่า ‘หวั่นไหว’ ต่อการเปลี่ยนแปลงของเหตุปัจจัยอย่างยิ่ง จึงพยายามยื่นมือเข้ามาควบคุมให้เบ็ดเสร็จที่สุดเท่าที่แรงกายแรงใจยังมี เพื่อยับยั้งไม่ให้โลกเปลี่ยนแปลงออกนอก ‘ไม้บรรทัด’ ของตัวเองมากเกินไปนัก แต่นั่นคือความพยายามควบคุมสึนามิไม่ให้สาดซัดเข้ามากระทบหอคอยเล็กจิ๋วที่ตัวเองคิดว่ายิ่งใหญ่สลักสำคัญ จึงน่าสงสารเห็นใจอย่างที่สุดนะครับ เพราะมันคือความพยายามที่จะควบคุมอนิจลักษณะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในความเป็นพุทธ