คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของเกม Spec Ops: The Line
วอล์กเกอร์ตื่นมาอีกทีในซากปรักหักพัง แขนเจ็บ มึนหัว ไม่แน่ใจว่าอยู่ที่ไหน
ทันใดนั้นเสียงของพันเอกคอนราดก็กังวานเข้ามาในหัว
“ร้อยเอกวอล์กเกอร์ คุณได้ยินผมไหม?”
วอล์กเกอร์มองเห็นแต่แทงค์น้ำที่เต็มไปด้วยทราย ผู้อพยพพยายามกรองน้ำ สภาพเมืองหลังกระสุนนัดสุดท้ายย่อยยับไม่มีชิ้นดี เขาเห็นซากเฮลิคอปเตอร์ ศพทหารนอนอยู่เกลื่อนกลาด
“ร้อยเอก นี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการเลยนะ คุณต้องเชื่อผม”
“พิสูจน์สิครับ สั่งให้คนของท่านหยุดยิง”
“โยนอาวุธของคุณซะ แล้วผมสัญญาว่าจะไม่มีใครทำร้ายคุณกับทหารของคุณ”
“ท่านก็รู้ว่าผมทำอย่างนั้นไม่ได้”
“ถ้าอย่างนั้น ฉันก็สั่งให้หยุดยิงไม่ได้”
ขณะเดินสำรวจซากปรักหักพัง วอล์กเกอร์ได้ยินเสียงร้องเรียกชื่อของเขา หันไปเจอริกส์ถูกตรึงอยู่ใต้ซากเฮลิคอปเตอร์
ริกส์แข็งใจฝืนยิ้ม เฮ้ย กูพลาดไปแล้วว่ะ
ทนหน่อยนะ วอล์กเกอร์ตอบ
เขาพยายามยกซากออกจากขาของริกส์ ริกส์ร้องโหยหวน อย่า อย่า!
“นั่นสายลับริกส์ใช่ไหม’ เสียงในหัวดังขึ้นอีกครั้ง
วอล์กเกอร์ลังเลเล็กน้อยก่อนตอบว่า ใช่
“บอกเขาหน่อยว่าแผนปฏิบัติการนี้ดี ความตายของเขาเป็นสิ่งประเสริฐ ขอพระเจ้าคุ้มครอง”
ความเงียบเข้าปกคลุม ริกส์มองดูกองไฟ มันกำลังลุกลามเข้ามา
“วอล์กเกอร์ …ไอ้ไฟนั่นน่ะมันจะมาถึงกูก่อนตาย”
เขาหยิบปืนของตัวเองส่งให้
ข่าวสะเทือนใจคนไทยทั้งประเทศในเดือนพฤศจิกายน 2560 หนีไม่พ้นการตายปริศนาของ ‘น้องเมย’ นตท. ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารปีที่ 1 ในวัยเพียง 18 ปี เมื่อครอบครัวของผู้ตายออกมาเปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า จากการนำร่างบุตรชายไปให้แพทย์ชันสูตรใหม่ พบข้อสงสัยหลายข้อเกี่ยวกับสาเหตุการตายที่แท้จริง ตั้งแต่อวัยวะภายในของผู้ตายหลายชิ้นหายไป ญาติได้รับแจ้งแต่เพียงว่าผู้ตายเกิด ‘ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน’ ทั้งที่เป็นคนร่างกายแข็งแรง (ล่าสุดหลังจากที่ได้รับอวัยวะกลับมาพบว่า มีเลือดคั่งที่ตับ ม้าม นอกเหนือจากซี่โครงหัก 4 ซี่ ซึ่งแพทย์ยืนยันว่าไม่เกี่ยวกับซีพีอาร์หรือการช่วยชีวิตฉุกเฉินนานถึงสี่ชั่วโมง)
สาเหตุที่แท้จริงเบื้องหลังการตายของ ‘น้องเมย’ ยังคงรอการเปิดโปง ณ วันที่เขียนอยู่นี้ แต่สมุดบันทึกประจำวันของผู้ตายก็ระบุชัดว่าเขาถูกรุ่นพี่ทำร้ายร่างกาย
เรียกเป็นภาษาปากในวงการทหารว่า ‘ซ่อม’ หรือ ‘ลงนรก’
เรียกเป็นภาษาหรูหราทางการว่า ‘ธำรงวินัย’
เรียกแบบบ้านๆ ที่คนทั่วไปเข้าใจ ก็คือถูก ‘ซ้อม’ นั่นเอง
อันที่จริง คำสั่งธำรงวินัยตามระเบียบของโรงเรียนเตรียมทหารนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังวัฒนธรรมแบบทหาร เน้นเรื่องการมีวินัย ทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกายหรือเปิดโอกาสให้ใคร ‘เอาคืน’ หรือ ‘รับน้อง’ ด้วยการใช้ความรุนแรง ดังนั้นระเบียบการธำรงวินัยจึงห้ามแตะเนื้อต้องตัว แต่เป็นลักษณะออกคำสั่งให้ออกกำลังกายในท่าต่างๆ เช่น วิดพื้น วิ่ง เป็นต้น (ซึ่งท่าไหนจะพิสดารหรือวิตถารจนสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือชีวิต ก็เป็นเรื่องที่ควรถกกันได้ แต่ยังไม่เคยเป็นวิวาทะสาธารณะ)
ประเด็นที่น่าตกใจที่สุดในความเห็นของผู้เขียน ไม่ใช่ข่าวการตาย เพราะถึงแม้จะน่าหดหู่ เราก็ได้ยินเรื่องสลดใจทำนองนี้อยู่เนืองๆ เช่น นับเฉพาะปี พ.ศ. 2559-2560 เพียงสองปี ก็มีทหารเกณฑ์ตายในค่ายอย่างน้อยถึง 5 คน เท่าที่เป็นข่าว ไม่นับกรณีที่ไม่เป็นข่าวอีกไม่ทราบจำนวน
ประเด็นที่น่าตกใจที่สุด คือ ปฏิกิริยาของบรรดานายพลและทหารระดับสูงหลายคน ที่ออกมาพูดทำนองว่า การโดน ‘ซ่อม’ แบบ ‘ซ้อม’ คือผิดระเบียบโรงเรียนเองนั้นเป็น ‘เรื่องธรรมดา’ นายพลระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมถึงขั้นตอบคำถามสื่อแกมโม้ว่า ตัวเองก็เคยโดนซ่อมจนสลบไปเหมือนกัน “แต่ผมไม่ตายไง”
กระทั่งบิดาของนักเรียนเตรียมทหารอีกคนซึ่งเสียชีวิตในโรงเรียนเตรียมทหารเช่นกัน ในปี 2550 เนื่องจากถูกรุ่นพี่ 6 คน สั่ง ‘ซ่อม’ ต่อมาฟ้องร้องโรงเรียนกับรุ่นพี่กลุ่มนั้นทั้งหมด ต่อสู้ในชั้นศาลเกือบ 4 ปี สุดท้ายตัดสินใจขอแถลงปิดคดีต่อหน้าศาลเพราะสงสารภรรยา ไม่อยากให้ต้องไปนั่งฟังว่ามีใครทำอะไรกับลูกจนเสียชีวิต สุดท้ายยังให้สัมภาษณ์สื่อว่า “ระบบนั้นดี แต่อยู่ที่ตัวบุคคล จะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นมาอีก”
ยังไม่นับการแสดงออกของศิษย์เก่าโรงเรียนเตรียมทหารบางคน ที่ไม่เพียงไม่แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้ตาย ไม่เรียกร้องให้โรงเรียนหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แต่ยังโพสต์รูปท่า ‘ธำรงวินัย’ ต่างๆ พร้อมข้อความเย้ยหยันทำนองว่า ถ้าไม่แข็งแรงก็ไม่ต้องมาเป็นทหาร นัยที่ซ่อนไม่ค่อยมิดระหว่างบรรทัดก็คือ ใครโดน ‘ซ่อม’ จนตายแปลว่าร่างกายไม่แข็งแรงพอ ช่วยไม่ได้ ใครทนไม่ได้ก็ลาออกไปซะ
โชคดีที่ศิษย์เก่าคนอื่นอีกบางคนมีสำนึกผิดชอบชั่วดีมากพอที่จะออกมาโพสเตือนสติรุ่นน้อง แต่ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าจะช่วยดึงสติได้มากน้อยเพียงใด ดูจากปฏิกิริยาตามโซเชียลมีเดียต่างๆ
แน่นอน ใครที่คิดว่าการโดน ‘ซ่อม’ เป็น ‘เรื่องธรรมดา’ ย่อมไม่คิดว่าใครควรต้องแสดงความ ‘รับผิดชอบ’ เมื่อเกิดเหตุเศร้าสลดขึ้น
ด้วยความเคารพต่อญาติผู้ตายทุกท่าน ผู้เขียนเห็นว่าทัศนคติที่แพร่หลายในแวดวงทหารว่า การ ‘ซ่อม’ (แบบผิดระเบียบ) เป็น ‘เรื่องธรรมดา’ นั่นแหละ คือเครื่องบ่งชี้สำคัญว่า ธรรมเนียมการ ‘ซ่อม’ ซึ่งส่งผลให้เกิดเหตุเศร้าสลดในโรงเรียนหรือค่ายทหารแทบทุกปีตลอดมานั้น ไม่ใช่ปัญหาของ ‘ตัวบุคคล’ (ไม่กี่คน) แต่เป็นปัญหาของ ‘ระบบ’
และก็ไม่ใช่ระบบของโรงเรียนเตรียมทหารอย่างที่อยู่ในกฎระเบียบ เพราะระเบียบก็ระบุว่าการธำรงวินัยห้ามแตะเนื้อต้องตัวกัน แต่หมายถึง ‘ระบบคิด’ แบบอำนาจนิยมที่มองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดา ยกระดับและสถาปนาความรุนแรงให้กลายเป็น ‘ความรุนแรงเชิงสถาบัน’
ความรุนแรงเชิงสถาบันนี้ดำรงอยู่มาเนิ่นนาน และจะดำรงอยู่ตลอดไป ตราบใดที่มันยังปักหลักบนฐานความคิดหลายชุดที่มีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน สร้างพันธนาการทางความคิดอย่างแน่นหนา ตั้งแต่ชุดความเชื่อ “ท.ทหาร(ต้อง)อดทนเข้มแข็ง” “ทหารที่ดีต้องมีวินัย วินัยคือการเชื่อฟังคำสั่งโดยไม่มีข้อแม้” “ทหารคือผู้เสียสละ” “ทหารคือรั้วของชาติ ต้องมีอำนาจดูแลกันเอง” ไปจนถึงวัฒนธรรมรุ่นพี่-รุ่นน้องซึ่งเข้มข้นอย่างยิ่ง – เข้มข้นถึงขั้นแทบไม่เคยมีรุ่นน้องคนใดปริปากบ่นหรือไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชา เวลาที่ถูก ‘ซ่อม’ (ผิดระเบียบ)
ในเมื่อความรุนแรงเชิงสถาบันฝังรากอย่างแน่นหนา และเป็นความรุนแรงประเภทที่ผู้กระทำความรุนแรงไม่ต้องรับผิดชอบตามบรรทัดฐานของสังคมภายนอก คำถามคือเราจะเปลี่ยน ‘ระบบคิด’ ที่รองรับสนับสนุนความรุนแรงชนิดนี้ได้อย่างไร?
การตั้งคำถามหนักๆ ต่อการใช้ความรุนแรง ผลลัพธ์ของการใช้ความรุนแรง ทั้งต่อตัวผู้กระทำเองและต่อสังคม รวมถึงชุดความคิดและค่านิยมที่เกี่ยวข้อง น่าจะเป็นก้าวแรกที่จำเป็น เกมยิง Spec Ops: The Line ตั้งคำถามให้ดูเป็นตัวอย่าง
ถ้าเนื้อหาเปิดคอลัมน์ด้านบนฟังเหมือนภาพยนตร์สงครามที่ทำให้เราขบคิดมากกว่าสะใจ เกมเกมนี้ก็เป็นมากกว่าภาพยนตร์ เพราะให้เราเลือกเองได้ว่า จะใช้ปืนของริกส์ปลิดชีวิตของเขาตามคำขอ หรือทำไม่ลงเพราะไม่อยากฆ่าใคร
เราจะพบกับการตัดสินใจทางศีลธรรมที่ยากเย็นเหลือหลายทำนองนี้อีกมากมายใน Spec Ops: The Line เกมแอ็กชั่น TPS (Tirst-Person Shooter หมายถึงเกมยิงจากมุมมองบุคคลที่สาม คือมองข้ามไหล่ของทหาร) เกมแรกที่ทำให้คนเล่นรู้สึกแย่กับตัวเอง ตั้งคำถามกับสงคราม นโยบายแทรกแซงต่างประเทศของสหรัฐ
รวมถึงตั้งคำถามกับความหมายของ ‘วีรบุรุษ’ ‘ความรักชาติ’ ‘คนดี’ และ ‘ความดี’ อย่างเข้มข้นทุกฉาก
เกมนี้ให้เราสวมบทบาทร้อยเอก มาร์ติน วอล์กเกอร์ ผู้นำทีมหน่วยรบพิเศษ เดลต้า ฟอร์ซ ของกองทัพอเมริกัน เขากับลูกทีมสองคนถูกส่งไปยังดูไบหลังเกิดเหตุพายุทรายครั้งใหญ่ซึ่งพัดทำลายเมืองจนราพณาสูร คำสั่งที่เราได้รับมอบหมายคือ ควานหาผู้รอดชีวิตจากกองพันที่ 33 นำโดยพันเอกคอนราด ซึ่งขาดการติดต่อไปหกเดือนหลังจากที่นำทหารเข้าไปช่วยอพยพประชาชนชาวดูไบ
คอนราดทิ้งไว้แต่เพียงข้อความปริศนาทางวิทยุว่า “ปฏิบัติการอพยพ …ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”
วิธีเล่น Spec Ops: The Line ไม่ต่างจากเกมแนวนี้เกมอื่น โดยเฉพาะซีรีส์ดังอย่าง Call of Duty แต่ละฉากเราต้องพยายามเอาตัวรอดด้วยการยิง ‘ศัตรู’ ให้ได้มากที่สุดระหว่างที่หลบกระสุน ระเบิด พายุทราย ฯลฯ ขณะวิ่งหาทางออกจากฉาก เราสามารถสั่งลูกทีมเดลต้า ฟอร์ซ ของเราสองคน ให้ยิงศัตรูหรือยิงคุ้มกันได้ แต่ใครที่คุ้นเคยกับเกมยิงจะไม่พบกลไกอะไรใหม่ในเกมนี้เลย มิหนำซ้ำคำสั่งบางอย่างยังติดขัดไม่คล่องนิ้ว เช่น บางครั้งเวลาตั้งเป้าเพื่อออกคำสั่งยิ่ง ตัวศัตรูที่เราเล็งเป้าไว้จะไม่สว่างวาบเป็นสีแดง ทำให้ออกคำสั่งไม่ได้ ฯลฯ
แต่ความติดขัดทั้งหลายใน Spec Ops: The Line จะไม่ใช่เรื่องที่คนเล่นหมกมุ่น เพราะไม่นานบรรยากาศจะเปลี่ยนแปลง ทีมเดลต้าของเราจะเริ่มดูไม่เหมือนวีรบุรุษ ทำสิ่งเลวร้ายหลายครั้งหลายครา ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ แม้ในกรณีที่ไม่ตั้งใจ ผลกระทบก็ชัดเจน รุนแรง สะเทือนใจและสั่นคลอนมโนธรรม
ไม่นานลูกทีมของเราจะเลิกเล่าเรื่องโจ๊กและเล่นหัว ตั้งคำถามกับคำสั่งของเรามากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายถึงขั้นขยะแขยงกับการกระทำของหัวหน้าทีม
ตัวเราเองในฐานะคนเล่นก็จะตั้งคำถามเช่นกัน พยายามทุกวิถีทางที่จะหยุดยั้งไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลง แต่เราไม่รู้เลยว่าการตัดสินใจแบบไหนจะ “ดีที่สุด” ในสถานการณ์ที่เราต้องตัดสินใจในเสี้ยววินาที ไม่เคยมีข้อมูลเพียงพอ และหลายครั้งก็ดูเหมือนว่าเราไม่มีทางเลือก ยังไม่นับว่าเราไม่มั่นใจด้วยซ้ำว่าใครคือ “ศัตรู” ตัวจริงกันแน่ ระหว่างกองกำลังติดอาวุธชาวอาหรับ (พวกนี้คือผู้ก่อการร้าย? ทหารพรานคุ้มกันผู้อพยพ?) ทีมสายลับซีไอเอ มาเฟียท้องถิ่น หรือกองพันที่ 33 ของพันเอกคอนราด
หรือว่าศัตรูที่แท้จริงคือตัวเราเอง?
เมื่อลูกทีมคนหนึ่งยืนยันว่าเราต้องช่วยสายลับซีไอเอจากการถูกประหารชีวิต ลูกทีมอีกคนวิงวอนขอให้เราขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา แทรกแซงเพื่อช่วยชีวิตพลเรือนผู้บริสุทธิ์ (‘บริสุทธิ์’ ในสายตาของใคร?) สิ่งที่เราทำได้ก็ดูจะไม่มีทางเลือกใดเลยที่ขาวสะอาดไร้มลทิน และเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับประชาชนผู้โกรธแค้นนับร้อย การตัดสินใจของเราก็ดูจะให้ผลลัพธ์เพียงสองอย่างเท่านั้น คือเลวร้ายมากกว่านิดหน่อย กับเลวร้ายน้อยกว่าเล็กน้อย
ยิ่งเล่นเราจะยิ่งเข้าใจว่า ฉากจบของเกมนี้แม้จะมีหลายแบบ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราใจเกม แต่ไม่มีทางเลยที่เราจะเจอฉากจบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง
เราจะกลับบ้านง่ายๆ ตอนจบก็ได้ กลับได้โดยไม่แสดงความรับผิดชอบอะไรเลย ไม่ตัดสินใจอะไรเอง พยายามลบความจำทั้งหมดเกี่ยวกับความรุนแรงที่ตัวเองเป็นผู้ก่อ ทหารที่มารับตัวเราในฉากจบนี้แสดงความชื่นชมอย่างออกนอกหน้า ถามด้วยความทึ่งว่าวอล์กเกอร์รอดชีวิตมาได้ยังไง
“ใครว่าผมรอดล่ะ” วอล์กเกอร์ตอบ ปิดตาลงเพื่อไม่ให้ใครเห็นน้ำตา – น้ำตาของคนขี้ขลาดตาขาว
หรือเราจะฆ่าตัวตายเพื่อชำระบาปที่ก่อมาตลอดทั้งเกม ก่อนตายจะแว่วเสียงของคอนราดเข้ามาในหัวว่า
“สันติเท่านั้นคือสิ่งเดียวที่ผมต้องการ ร้อยเอก”
หรือเราจะเลือกเดินทางสายมืดแบบเดียวกับคอนราด สาดกระสุนใส่ทหาร (ซึ่งเคยเป็น ‘พวกเดียวกัน’) อย่างไม่หยุดยั้ง ก่อความรุนแรงโดยไม่รับผิดชอบอะไรเลยก็ได้ ถ้าเลือกเดินทางนี้ วอล์กเกอร์ก็จะโอบอุ้มดูไบว่าบ้านใหม่ ของเขา และเขาก็ได้เป็น ‘อิสระ’ อย่างแท้จริงจากกองทัพและความคาดหวังใดๆ ของสังคม – เป็นอิสระเพียงเพราะปฏิเสธความโหดร้ายและความเป็นอสุรกายของตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงของวอล์กเกอร์ ตัวเอกที่ไม่ใช่ ‘พระเอก’ ในเกมนี้ สื่อผ่านรายละเอียดทุกอย่างในเกม ตั้งแต่รูปร่างหน้าตา จากชายหนุ่มหน้าตาเกลี้ยงเกลาในชุดทหารใหม่เอี่ยม เป็นคนดูกระหายเลือดสายตาแดงก่ำ เวลาฆ่าคนในฉากแรกๆ วอล์กเกอร์จะขานว่า ‘เป้าหมาย’ ถูก ‘เล็ง’ และ ‘กำจัด’ ตามแบบฉบับทหารอาชีพที่ดี แต่พอถึงฉากจบ วอล์กเกอร์จะเข่นเขี้ยวเคี้ยวฟัน คำราม “ไปตายซะไอ้เหี้ย” เวลาสาดกระสุนใส่เป้าหมาย
แม้แต่เมนูเปิดเกมก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลง จากธงชาติอเมริกันสวยงามสะบัดล้อลม กลับกลายเป็นธงมอซอแหว่งวิ่นลู่ลงพื้น ข้อความที่ขึ้นหน้าจอเวลารอโหลดฉากใหม่ (loading screen) ก็เปลี่ยนเป็นเสียดเย้ย อย่าง “คุณรู้สึกเป็นฮีโร่หรือยัง?” “คุณจำเหตุผลที่มาที่นี่ได้หรือเปล่า?” “คุณยังเป็นคนดี”
ในหลายแง่มุม Spec Ops: The Line อาจเรียกได้ว่าเป็นเวอร์ชั่นเกมของหนังสือคลาสสิก Heart of Darkness หรือภาพยนตร์คลาสสิก Apocalypse Now ซึ่งสร้างจากหนังสือเล่มเดียวกัน นอกจากจะเป็นเกมยิงเกมแรกนำกลไก ‘โง่’ ของเกมยิงทั่วไป (หมายถึงไม่ต้องคิด เหนี่ยวไกอย่างเดียว) มาสื่อสารประเด็น ‘ฉลาด’ อย่างแหลมคมแล้ว เกมนี้ยังตั้งคำถามต่อเกมยิงทั้งวงการ และตั้งคำถามต่อเราในฐานะคนเล่นว่า เราชอบเล่นเกมแนวนี้เพราะอะไรกันแน่?
Spec Ops: The Line เปลี่ยนความรู้สึกเวลาเล่นเกมยิง และนับเป็นหลักไมล์ที่สำคัญยิ่งของวงการเกม – วงการที่กำลังเติบโตจากการถูกปรามาสว่า เป็นแค่ความบันเทิงราคาถูก – เข้าสู่แดนศักดิ์สิทธิ์แห่ง “ศิลปะ”