คนมักจะพูดว่าวันเลือกตั้งคือวันที่เสียงของประชาชนทุกคนดังเท่ากันที่สุด ไม่ว่าจะยากดีมีจน เรียนสูงหรือไม่ มีชื่อเสียงหรือเป็นคนแสนธรรมดา ในคูหาเลือกตั้งทุกคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันหมด แต่ความจริงมันเป็นเหมือนที่คนเค้าพูดกันหรือเปล่า เสียงของทุกคนมีค่าเท่ากันจริงๆ ใช่ไหม?
ประโยคที่บอกว่า ‘วันเลือกตั้งคือวันที่เสียงของประชาชนทุกคนดังเท่ากันที่สุด’ นี้ถูกตั้งคำถามอย่างหนักในสหรัฐอเมริกา หนึ่งในประเทศที่ถือกันว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยในสังคมยุคปัจจุบัน ในช่วงที่การเลือกตั้งในอเมริกาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากำลังเข้มข้นแบบนี้ บทความนี้จึงอยากพาไปค่อยๆ แงะดูคณิตศาสตร์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ส่วนไหนของระบบการเลือกตั้งประมุขของประเทศมหาอำนาจแห่งนี้อาจจะทำให้เสียงของประชาชนแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากัน
ก่อนจะไปพูดถึงวิธีการเลือกตั้งของอเมริกา เรามาพูดถึงค่าของเสียงของแต่ละคนก่อน นึกภาพระบบการเลือกตั้งที่ง่ายที่สุด มีผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสองคน คนทั้งประเทศเข้าคูหาไปกาว่าเลือกคนไหน แล้วนับคะแนนว่าใครได้คะแนนเสียงมากกว่าก็ชนะไป ถ้าการเลือกตั้งเป็นแบบนี้ มันชัดเจนมากว่าเสียงของทุกคนนั้นมีค่าเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นผมที่กำลังเขียนบทความนี้อยู่ คุณที่กำลังอ่านบทความนี้ มหาเศรษฐี หรือดาราที่มีชื่อเสียง เสียงของเราทุกคนมีค่าหนึ่งคะแนนในการเลือกตั้งครั้งนี้
แต่ถ้าเราเปลี่ยนกฎใหม่ ให้โหวตของบางคนมีค่าหนึ่งคะแนน โหวตของบางคนมีค่าสองคะแนน คราวนี้เห็นชัดเจนว่าเสียงของแต่ละคนนั้นมีค่าไม่เท่ากัน ถ้าเราอยากเปลี่ยนผลการเลือกตั้ง เราต้องใช้คนกลุ่มหนึ่งคะแนนมากเป็นสองเท่าของชาวสองคะแนน หรือพูดอีกอย่างคือ คนที่เสียงมีค่าหนึ่งคะแนนนั้นส่งผลต่อผลการเลือกตั้งน้อยกว่าเสียงของคนที่มีค่าสองคะแนน
แล้วเกิดอะไรขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ที่นั่นเสียงแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากันหรอ คำตอบคือใช่ แปลกใจไหม ประโยคนี้ฟังดูไม่น่าเป็นไปได้สุดๆ ระบบการเลือกตั้งแบบไหนกันที่ทำให้เสียงของแต่ละคนมีค่าไม่เท่ากัน จะอธิบายให้ฟังอย่างนี้ฮะ คือด้วยความที่อเมริกาเนี่ยมันประกอบขึ้นมาจากหลายรัฐ ดังนั้นเวลาเขานับคะแนนเสียงเขาจะไม่ได้เอาคะแนนของทั้งประเทศมานับรวมกัน แต่เขาจะนับเป็นรัฐๆ เช่น ถ้าผมอาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย คะแนนของผมก็จะไม่ถูกนับปนกับคะแนนของรัฐอื่น
ซึ่งในแต่ละรัฐเนี่ย เขาก็จะมีกลุ่มคนที่เรียกว่าคณะผู้เลือกตั้ง (electoral college) ที่จะเป็นตัวแทนเอาผลการเลือกตั้งในรัฐแต่ละรัฐไปรวมกันในระดับประเทศอีกที สมมติว่ามีผู้สมัครแค่สองพรรค คือพรรครีพับลิกันกับพรรคเดโมแครต คะแนนเสียงของประชาชนทั้งแคลิฟอร์เนียก็จะถูกเอามารวมกันเพื่อดูว่าพรรคไหนชนะ แล้วคณะผู้เลือกตั้งจากแคลิฟอร์เนียก็จะหอบเอาผลการเลือกตั้งที่ได้ไปรวมกับคณะผู้เลือกตั้งจากรัฐอื่นๆ ที่ก็จะหอบเอาผลการเลือกตั้งของรัฐตัวเองมาเช่นกัน คณะผู้เลือกตั้งจากทุกรัฐก็จะยกมือตามผลการเลือกตั้งของรัฐตัวเอง และผู้สมัครที่ได้เสียงเกินครึ่งหนึ่งของคณะผู้เลือกตั้งก็จะได้เป็นประธานาธิบดี
ทีนี้ ด้วยความที่แต่ละรัฐนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ดังนั้นถ้าให้ทุกรัฐมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเท่ากันมันก็คงจะแปลกๆ เพราะจะกลายเป็นว่าคนในรัฐที่มีประชากรน้อยก็จะมีเสียงโหวตประธานาธิบดีเท่ากับรัฐที่มีประชากรเยอะ เลยมีการกำหนดให้แต่ละรัฐนั้นมีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับจำนวนประชากร รัฐไหนคนเยอะก็มีตัวแทนเยอะ รัฐไหนคนน้อยก็มีตัวแทนน้อย สิ่งนี้ฟังดูดีมาก จนกระทั่งเข้าไปสำรวจรายละเอียดส่วนลึกของมัน
ปัญหาแรกอยู่ตรงที่ อัตราส่วนของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งดันไม่ตรงกับอัตราส่วนของจำนวนประชากรในรัฐนั้นจริงๆ ยกตัวอย่างในปี 2020 สหรัฐอเมริกามีจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 331 ล้านคน และมีคณะผู้เลือกตั้งจำนวน 538 คน ซึ่งหมายความว่า ผู้แทน 1 คน ควรจะเป็นตัวแทนของประชาชนประมาณ 331,000,000/538 ≈ 615,000 คน เช่น รัฐโอไฮโอซึ่งมีประชากรประมาณ 11.8 ล้านคนในปี 2020 ก็ควรจะมีคณะผู้เลือกตั้งอยู่ 11,800,000/615,000 ซึ่งคือประมาณ 19 คน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ระบบดันจัดสรรผู้แทนให้กับโอไฮโอเพียง 17 คน ซึ่งน้อยกว่าที่ควรจะได้ตามสัดส่วนประชากรตั้ง 2 คน
ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าระบบคณะผู้เลือกตั้งมีข้อกำหนดไว้ว่า ไม่ว่ารัฐจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่เพียงใด แต่ละรัฐจะต้องมีผู้แทนอย่างน้อย 3 คนเสมอ ทำให้รัฐที่มีประชากรน้อยๆ ได้รับเสียงผู้แทนมากกว่าที่ควรจะได้ตามสัดส่วนประชากรจริง เช่น รัฐไวโอมิงซึ่งมีประชากรเพียงประมาณ 580,000 คน ควรจะได้รับผู้แทนเพียง 1 คนตามสัดส่วนประชากร แต่ระบบคณะผู้เลือกตั้งให้ไวโอมิงได้ผู้แทนถึง 3 คน ซึ่งมากกว่าที่ควรจะได้ถึง 2 คน ด้วยเหตุนี้ รัฐที่มีประชากรมาก เช่นโอไฮโอซึ่งควรได้ผู้แทนมากกว่า 17 คน จึงเสียเสียงผู้แทนของตนไปเพื่อจัดสรรให้กับรัฐเล็กอย่างไวโอมิงที่ได้รับเสียงผู้แทนเกินมา
สิ่งนี้จึงทำให้มองได้ว่า คณะผู้เลือกตั้งจากแต่ละรัฐนั้นเป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนไม่เท่ากัน อย่างในกรณีนี้ คณะผู้เลือกตั้งแต่ละคนของไวโอมิงนั้นเป็นตัวแทนของประชาชน 193,000 เสียง ในขณะที่คณะผู้เลือกตั้งของโอไฮโอแต่ละคนนั้นเป็นตัวแทนของประชาชนถึงราว 694,000 เสียง แต่ในการยกมือเพื่อเลือกประธานาธิบดีนั้น คณะผู้เลือกตั้งแต่ละคนนั้นมีคนละหนึ่งเสียงเท่ากัน นั่นแสดงว่าต้องใช้คนโอไฮโอถึงเกือบ 4 คนถึงจะมีเสียงในการเลือกประธานาธิบดีเท่ากับคนไวโอมิงหนึ่งคน
อย่างที่บอกไปแล้วว่าคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐที่มีจำนวนไม่เท่ากัน ต้องหอบเอาผลการเลือกตั้งในรัฐตัวเองไปรวมกัน ปัญหาก็คือ คณะผู้เลือกตั้งของรัฐส่วนใหญ่ดันใช้ระบบ ‘Winner-takes-all’ นั่นคือไม่ว่าในรัฐตัวเองนั้นคะแนนของสองพรรคจะทิ้งห่างหรือสูสีกันแค่ไหน คณะผู้เลือกตั้งทุกคนของรัฐนั้นจะยกมือให้กับพรรคที่ชนะหมดเลย นึกภาพว่าในรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งมีคณะผู้เลือกตั้ง 19 คน ถ้าพรรครีพับลิกันชนะไปแบบฉิวเฉียด 51% ต่อ 49% อะไรแบบนี้ แทนที่คณะผู้เลือกตั้งจะแบ่งกันยกมือให้ทั้งสองพรรคตามสัดส่วนของความสูสีที่เกิดขึ้นในรัฐ กลายเป็นว่าพรรครีพับลิกันก็จะได้ไปเลย 19 เสียงจากรัฐนั้น ส่วนพรรคเดโมแครตก็จะไม่ได้สักเสียง ทั้งที่คะแนนสูสีกันขนาดนั้น สิ่งนี้ชัดเจนว่าเสียงของคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐจะไม่ได้สะท้อนภาพจริงของเสียงในรัฐนั้นๆ เลย ซึ่งเจ้าระบบ Winner-takes-all นี่แหละที่ทำให้เกิดเรื่องประหลาดหลายๆ อย่างในการเลือกตั้งอเมริกา
แน่นอนว่าช่องโหว่ของระบบนี้เคยทำให้เกิดเหตุการณ์คนที่ได้เสียงจากประชาชนทั้งประเทศมากกว่ากลับแพ้การเลือกตั้ง ยกตัวอย่างเช่นในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2016 ที่ฮิลลารี คลินตัน (Hillary Clinton) จากพรรคเดโมแครต ได้คะแนนโหวตจากประชาชนทั้งประเทศมากกว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) จากพรรครีพับลิกันถึงประมาณ 2.87 ล้านเสียง แต่เธอกลับแพ้การเลือกตั้งในระบบคณะผู้เลือกตั้ง ด้วยคะแนน 227 ต่อ 304 เสียง
หรืออีกตัวอย่างที่สุดขั้วกว่านั้น คือในการเลือกตั้งในปี 2000 เมื่ออัล กอร์จากพรรคเดโมแครตได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าจอร์จ ดับเบิลยู. บุช (George W. Bush) จากพรรครีพับลิกัน แต่บุชกลับชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนคณะผู้เลือกตั้งที่มากกว่า คือ 271 ต่อ 266 เสียง เนื่องจากเขาชนะในรัฐสำคัญอย่างฟลอริดาที่มีคณะผู้เลือกตั้งจำนวนมาก ความพีคคือเขาชนะไปแค่ 537 เสียงด้วยซ้ำ นั่นคือหากครึ่งหนึ่งของ 537 คนนั้นดันเปลี่ยนใจไปเลือกกอร์ขึ้นมา ผลการเลือกตั้งก็จะเปลี่ยนไปอีกเรื่องเลย
สองเหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมดุลที่เกิดจากระบบ Winner-takes-all ที่หลายรัฐใช้ เมื่อพรรคที่ชนะในแต่ละรัฐ ไม่ว่าจะชนะด้วยคะแนนที่สูสีเพียงใด จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดของรัฐนั้น ทำให้ผลการเลือกตั้งไม่สอดคล้องกับคะแนนเสียงของประชาชนทั้งประเทศ
นี่จึงทำให้เรามักจะเห็นผู้ท้าชิงประธานาธิบดีไปโฟกัสการหาเสียงในรัฐใหญ่ๆ มากกว่ารัฐเล็กๆ เพราะการชนะรัฐเหล่านั้นแม้เพียงแค่คะแนนเดียวก็จะทำให้เขาหรือเธอได้เสียงจากคณะผู้เลือกตั้งอย่างเป็นกอบเป็นกำ มากกว่าการไปชนะในรัฐเล็กๆ อย่างถล่มทลาย หรือมองไปให้ไกลกว่านั้น หากผู้ท้าชิงมั่นใจว่ายังไงรัฐนี้ตัวเองก็ชนะแน่ๆ พวกเขาก็จะไม่มาหาเสียงในรัฐเหล่านั้นเลย เพราะมันไม่มีประโยชน์ที่จะมาพยายามเปลี่ยนใจคนที่เลือกอีกพรรคให้เลือกเพิ่มในรัฐที่ยังไงเราก็ชนะ
เช่น หากพรรคเดโมแครตมั่นใจว่ายังไงแคลิฟอร์เนียก็เป็นฐานที่มั่นของพรรคตนเองอยู่แล้วด้วยอัตราส่วน 70% ต่อ 30% พวกเขาก็ไม่มีความจำเป็นต้องมาพยายามเปลี่ยนใจคน 30% นี้ เพราะถึงเปลี่ยนใจได้พวกเขาก็จะได้คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้งเท่าเดิม ในลักษณะเดียวกัน พรรครีพับลิกันที่แน่ใจว่ายังไงก็แพ้ในรัฐนี้ก็จะไม่มาเสียเวลาหาเสียงในรัฐนี้เช่นกัน ผลคือ ทั้งสองพรรคก็จะมุ่งไปหาเสียงในรัฐที่มีคะแนนสูงสี ที่เรียกกันว่า swing state หรือรัฐสมรภูมิ ที่หมายถึงรัฐที่มีผู้สนับสนุนทั้งสองพรรคอยู่พอๆ กัน ซึ่งสะท้อนผ่านผลการเลือกตั้งในอดีตที่ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐสมรภูมิที่มีจำนวนคณะผู้เลือกตั้งเยอะ แคมเปญหาเสียงต่างๆ ก็จะมาประดังประเดกันอยู่ในรัฐพวกนี้
มีแนวคิดทางคณิตศาสตร์ที่เอาไว้ใช้อธิบายอำนาจในการตัดสินผลการเลือกตั้งที่เรียกว่า ‘Banzhaf Power Index’ ซึ่งคำนวณมาจากแนวคิดที่ว่า รัฐไหนสามารถเปลี่ยนผลการเลือกตั้งได้มาก รัฐนั้นก็จะมีอำนาจในการตัดสินผลการเลือกตั้ง โดยดัชนีนี้ดูว่าหากผลโหวตของรัฐใดเปลี่ยนไปแล้วทำให้ผลการเลือกตั้งเปลี่ยนไปได้มาก ก็แปลว่ารัฐนั้นจะมีอำนาจในการตัดสินผลการเลือกตั้งมาก
การศึกษาเรื่อง Banzhaf Power Index ช่วยให้เข้าใจว่าผลโหวตของรัฐใดมีความสำคัญต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดี เพราะดัชนีนี้บอกถึงความน่าจะเป็นที่รัฐนั้นๆ จะเป็นผู้ตัดสินผลการเลือกตั้งได้ ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์อำนาจเสียง เข้าใจกลยุทธ์การเลือกตั้งและการหาเสียง และที่สำคัญที่สุด มันช่วยตอกย้ำว่าเสียงของคนในแต่ละรัฐนั้นส่งผลต่อผลการเลือกตั้งไม่เท่ากัน
ด้วยเหตุผลที่เล่ามาทั้งสองนี้จึงทำให้มีชาวอเมริกันจำนวนมากอยากให้ยกเลิกระบบนี้ไปแล้วหันมาใช้คะแนน popular vote เพื่อชี้ขาดตำแหน่งประธานาธิบดีตรงๆ ไปเลย บทความเรื่อง Majority of Americans continue to favor moving away from Electoral College ทำแบบสำรวจคนอเมริกาในประเด็นนี้ในปี 2024 แล้วพบว่า 63% ของประชาชนอเมริกันต้องการให้ประธานาธิบดีที่ได้รับเลือกนั้นเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งตามเสียงประชาชน ซึ่งสะท้อนถึงความต้องการที่จะทำให้ระบบการเลือกตั้งสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้จริง ๆ
เอาให้ละเอียดขึ้น ระดับความเห็นด้วยกับความคิดนี้ของผู้สนับสนุนแต่ละพรรคนั้นต่างกัน ผลโพลล์บอกว่าผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มสูงที่จะต้องการให้ประธานาธิบดีชนะใน popular vote โดยตั้งแต่ปี 2000 มีผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครตมากกว่าสองในสามที่เรียกร้องให้ใช้ระบบนี้ ในขณะที่ผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันนั้นมีความเห็นที่หลากหลาย กลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีจำนวนมาก มีแนวโน้มจะไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนไปใช้ระบบ popular vote เนื่องจากเหตุการณ์ในปี 2016 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ชนะในระบบคณะผู้เลือกตั้งแต่แพ้ใน popular vote ในขณะที่ผู้สนับสนุนรีพับลิกันที่มีแนวคิดเสรีนิยมนั้นจะสนับสนุนการเปลี่ยนไปใช้ระบบ popular vote มากกว่า
สรุปก็คือ แม้ระบบการเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาจะถูกออกแบบมาโดยรักษาสมดุลระหว่างรัฐใหญ่และรัฐเล็ก แต่สิ่งนี้เองกลับก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในน้ำหนักของเสียงประชาชนในแต่ละรัฐ ความซับซ้อนของคณะผู้เลือกตั้งและระบบ Winner-takes-all ยิ่งทำให้ความสำคัญของเสียงแต่ละคนถูกบิดเบือนไป นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การเรียกร้องให้ปรับปรุงกติกาการเลือกตั้งสหรัฐจึงยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ในทุกยุคสมัย
อ้างอิงจาก