ผมเป็นคนหนึ่งที่หวาดกลัวและพยายามหลบเลี่ยงการโดนสปอยล์เนื้อหาของสื่อต่างๆ ที่เตรียมตัวว่าจะเสพเหมือนกับหลายๆ ท่านนี่แหละครับ และยิ่งในระยะปีกว่าเกือบสองปีมานี้ผมมาเรียนที่ญี่ปุ่น ภาพยนตร์ก็เข้าโรงช้ามากแล้ว การพยายามหลบหลีกสปอยล์จึงดูจะกลายเป็นภารกิจระดับ Mission Impossible กันไปเลย
โดยเฉพาะในโลกโซเลียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊กที่ผมเองเสพติดอยู่นั้น คลื่นแห่งการสปอยล์ดูจะพัดถาโถมอยู่ตลอดเวลาไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและไม่สาแก่ใจสักที
ความอำมหิตและหนักหน่วงของการสปอยล์เนื้อหามักจะมาเคียงคู่กับความดังของสื่อนั้นๆ อย่างช่วงซีรีส์ Game of Thrones กำลังฉาย ก็จะเกิดกระแสที่ว่า ไปจนการสปอยล์ฉากจบของเกมดังๆ บ้าง นิยายขายดีบ้าง และสื่อที่หนักหน่วงที่สุดก็ดูจะหนีไม่พ้นภาพยนตร์นี่แหละ โดยเฉพาะเมื่อเร็วๆ นี้หนังฟอร์มยักษ์ที่หลายคนตั้งตารอมานานอย่าง Avengers: End Game เข้าฉาย กระแสการสปอยล์อย่างดุเดือดบ้าคลั่งก็เวียนมาอีกรอบ
เมื่อกระแสของการสปอยล์และก่นด่าการสปอยล์ (อย่างผม) ถึงวาระต้องเวียนมาอีกครั้งหนึ่ง ก็ทำให้ผลพาลไปคิดถึงคำว่า Spoilerism หรือลัทธิช่างสปอยล์เนื้อหา ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นคำทางการในเชิงวิชาการอะไร แต่เริ่มเป็นที่ใช้งานและรับรู้กันบ้าง ใน Urban Dictionary เองก็มีการพูดถึงคำนี้ไว้อย่างน่าสนใจและกึ่งกวนตีนว่า
“สำนักคิดที่ว่าด้วยวัฒนธรรมต่างๆ ที่แวดล้อมการเปิดเผยเนื้อหาในสื่อต่างๆ โดยที่วัฒนธรรมโดยมากยอมรับในความจำเป็นต้องมีการเตือนผู้ที่จะพบเห็นเนื้อหาที่ตนจะพูด ว่า (อาจ) มีการเปิดเผยเนื้อหา…กำกับไว้ด้วย”[1]
ลักษณะของความอ่อนไหวที่มีต่อการเปิดเผยเนื้อหานั้นดูจะมีลักษณะที่ใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่องความถูกต้องทางการเมือง หรือ Political Correctness (PC) ไม่น้อย เพราะเดี๋ยวนี้การจะพูดอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อความไม่ถูกต้องทางการเมือง (ต่อให้จริงแสนจริงปานใดก็ตาม) ก็ต้องขึ้นต้น ออกตัวให้ชัดเสียก่อนว่า #ไม่พีซี สภาวะดังกล่าวนี้เองทำให้ผมพาลสงสัยว่า เออ ไอ้ความอ่อนไหวต่อการเปิดเผยเนื้อหาต่างๆ เหล่านี้มันเริ่มขึ้นยังไงกันแน่?
คำตอบต่อคำถามดังกล่าว โดยเฉพาะกับสื่อภาพยนตร์หรือละครโทรทัศน์นั้นยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน โดยมากข้อเสนอที่พอจะพบเห็นได้มักจะอ้างอิงถึงหน้าเรื่อง Sixth Sense ที่มีตอนจบหักมุม (ขนาดนี้นับว่าสปอยล์ปะวะ?) และเมื่อมีคนเอามาโพล่งบอกก่อนที่จะทันได้ดูฉากนั้นด้วยตัวเอง ความหักมุมก็ดูจะกลายเป็นความเหวอแดกและอยากเตะปากคนพูดขึ้นมาแทน อย่างไรก็ตามบางคนเสนอไปไกลกว่านั้น คือ ล่อไปไกลถึงภาพยนตร์เรื่อง Star Wars กับฉากเด็ด “กูคือพ่อมึง” กันเลยทีเดียว ว่าวัฒนธรรมการสปอยล์และความอ่อนไหวต่อการสปอยล์เริ่มตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว แค่สมัยก่อนยังไม่มีโซเชียลเน็ตเวิร์ก จึงไม่หนักเท่ายุคนี้ ทั้งยังไม่เกิดขึ้นถี่ๆ ขนาดนี้ด้วย
แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่ผมก็ไม่คิดว่าการจะเคลมแค่หนังเรื่อง Star Wars หรือ Sixth Sense แล้วบอกว่าเป็นหมุดหมายเริ่มต้นของกระแส Spoilerism เพราะดูจะหุนหันพลันแล่นไปสักหน่อย เท่าที่ผมจำความได้ หลังจากหนังเรื่อง Sixth Sense โดนสปอยล์มา นิตยสารต่างๆ ที่มีสรุปเนื้อเรื่องย่อของหนังละคร (รวมถึงหนังสือพิมพ์) รวมไปถึงหนังสือเฉลยเกมต่างๆ ก็ยังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก (อย่างผมเองก็เป็นเหยื่อของหนังสือคู่มือกึ่งเฉลยเกม Ragnarok Online กับคนอื่นเขาไปถึง 7 เล่มได้) ฉะนั้นกระแส Spoilerism สำหรับผมแล้ว คงจะปฏิเสธลำบากในฐานะผลพวงของการมาถึงของโซเชียลเน็ตเวิร์ก
พลังขับดันสำคัญของโซเชียลเน็ตเวิร์กคือการให้นิยามและขอบเขตกับคู่ของคำขึ้นใหม่ ทั้ง ‘Recent – Old’ และ ‘Private – Public’ ผมขอไม่พูดถึงประเด็นความเป็นส่วนตัวกับความเป็นสาธารณะมากนัก เพราะพูดกันมาบ่อยแล้ว (ผมเองก็มีบทความที่เขียนเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทไปแล้ว, อ่านได้ ที่นี่) สั้นๆ ก็คือ มันทำให้พรมแดนระหว่างพื้นที่สาธารณะกับส่วนบุคคลจางลง การเซ็ตค่าว่า ‘เห็นได้เฉพาะเพื่อน’ แต่มีเพื่อนสัก 5,000 คน ในลิสต์ ก็ดูจะไม่ใช่ ‘พื้นที่ส่วนบุคคล’ ในความหมายเดิมแล้ว และพร้อมๆ กันนั้น มันก็ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะในความเข้าใจทั่วไปด้วยนั่นเอง
อย่างไรก็ดีมิติหลักที่ Urban Dictionary ดูจะเน้นเป็นพิเศษนั้นอยู่ที่ ‘มิติของเวลา’ คือ ความจำเป็นในการเตือนว่า ‘มีการเปิดเผยเนื้อหานะ’ นั้นจะต้องมีอยู่ตราบเท่าที่สื่อที่กำลังพูดถึงนั้นมันยัง ‘ไม่เก่า’ ยังอยู่ในกระแสหรือทันสมัย (Recent) อยู่ ปัญหาคือเกณฑ์อะไรเล่าที่จะมาตัดแบ่งความทันสมัยกับความเก่าแล้ว พูดได้โดยไม่ต้องระวังตัวแจแล้ว?
ใน Urban Dictionary เสนอว่าช่วงเวลาที่น่าจะเป็นหมุดหมายในการแบ่งดูจะอยู่ที่การวางขายเป็น DVD หรือ Blu-Ray ออกมาให้สามารถซื้อขายกันได้ทั่วไปแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นการแบ่งที่ได้รับการยอมรับ แต่ก็มีปัญหาในตัวเองไม่น้อย ตั้งแต่ความเป็นจริงที่ว่าในบางกรณีหนังจนเป็น Blu-Ray ออกมาแล้ว ที่ญี่ปุ่นยังไม่ทันเข้าโรงเลยก็มี แบบนี้เราจะนับเกณฑ์แบบใด?
ปัญหาอีกอย่างที่เป็นผลพวงของโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ผมเกริ่นไว้ นั่นก็คือ มันมีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างและเชื่อมโยงความร่วมสมัยขึ้นมาในทันที เพราะเมื่อเกิดการโพสต์ในโลกโซเชียลและเป็นกระแสขึ้นมา ก็เห็นต่อกันได้แทบจะในทันที ไม่ได้ต้องมารอหนังสือพิมพ์ หรือหนังสือรีวิวภาพยนตร์ที่กว่าจะออกก็อีกสัปดาห์ข้างหน้าอย่างเดิม ในแง่นี้โซเชียลเน็ตเวิร์กจึงทั้งเพิ่มจำนวนเหยื่อ ลดทอนเวลา/โอกาสในการจะไปดูก่อนมีการเปิดเผยเนื้อหา ขยายขอบเขตของห้วงเวลาของความอยู่ในกระแสให้กว้างขึ้น (เพราะมันแทบจะเกิดขึ้นนับแต่ minute zero ที่หนังจบลง) ไม่เพียงเท่านั้นความเร็วที่เกิดขึ้นนี้เอง ยังไปบีบให้ต้องมีการออกแผ่นเร็วขึ้น ซึ่งนั่นก็แปลว่าช่องว่างระหว่างความอยู่ในกระแส กับความเก่าแล้ว เล่าได้แล้วถูกบีบให้หดเล็กลงด้วย…
ไม่ต้องนับไปถึงข้อเท็จจริงที่โหดร้ายที่สุดว่า บ่อยๆ ครั้งมันวิ่งเข้าลูกตาเรา แม้เราจะไม่ต้องการ กระทั่งขัดขืนแล้วก็ตาม ซึ่งต่างจากโลกก่อนโซเชียลเน็ตเวิร์กจะกำเนิดขึ้น… ความไร้ทางเลือกมันโหดร้ายและรุนแรงนะคุณ
สองประเด็นที่ว่านี้คือเรื่องที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ เวลาพูดถึงเรื่องโลกของการสปอยล์ แต่พร้อมๆ กันไป ในหมู่ผู้ซึ่งอ่อนไหวต่อการโดนสปอยล์เนื้อหาอย่างผมและหลายๆ ท่านก็ดูจะต้องตั้งคำถามกับตัวเองเช่นเดียวกันว่า พวกเรากลัวการโดนสปอยล์ขนาดนั้นจริงๆ หรือ การรับรู้ถึงเนื้อหาของสื่อที่จะเสพมันสำคัญขนาดนั้นเลย? หรือการสปอยล์ระดับไหนบ้างที่เรารับได้ และต้องไปถึงขนาดไหนที่จะเริ่มโวยวายกัน เรามีการคิดถึงมันบ้างไหม หรือเราโวยวายกับมันอย่างเท่าเทียมกันหมด เสมือนว่าทุกการสปอยล์มีระดับความรุนแรงพอๆ กัน?
ที่ผมถามแบบนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพื่อจะจิกจะแซะใคร เพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นการพยายาม self-criticism แบบคิดดังๆ ก็ว่าได้ ที่ผมถามว่าการโดนสปอยล์มันสำคัญขนาดนั้นจริงๆ หรือนั้นก็เพราะว่า ถ้าเราให้ความสำคัญขนาดนั้นกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งในสื่อที่เรากำลังจะเสพ มันเท่ากับเรากำลังลดทอนให้สื่อนั้นๆ แทบจะเหลือเป็นเพียงจุดหนึ่งของเวลาหรือเปล่า? คือ ในบางครั้งเราดูจะอ่อนไหวกับความเนื้อหาของผลลัพธ์ของเหตุการณ์สำคัญในเรื่อง มากขนาดที่กลบความสนใจที่มีต่อเส้นทางของเนื้อหาอื่นๆ ที่นำมาสู่ผลลัพธ์นั้นๆ ไปเลยด้วยไหม?
แน่นอนการเขียนแบบนี้ ไม่ได้แปลว่า อีฝั่งพวกช่างสปอยล์จะพึงสปอยล์ โชว์พาวฯ คนละเรื่องเลย ผมแค่พยายามหาทางอธิบายกับตัวเองให้ไม่มีน้ำโหมากนักเวลาเจอสปอยล์ และหาทางที่จะเกลี่ยความช้ำใจให้มองเห็นแง่มุมดีๆ ที่อาจจะเผลอลืมไปได้บ้าง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าใครควรจะมาสปอยล์เนื้อหาให้รู้ ถ้าผมไม่ได้ขอเอง
จุดหนึ่งที่ผมคิดว่าฝ่ายกลัวสปอยล์และเกลียดพวกสปอยล์ อาจต้องหันกลับมาถามตัวเองก็คือคำถามที่สองที่ว่าไปนั่นแหละครับ ขนาดไหนนับว่าเป็นการสปอยล์แล้ว และเราจัดแบ่งความเข้มข้นในความต่างระดับของการสปอยล์อย่างไร?
การมาโพสต์เนื้อหาส่วนสำคัญแบบตรงไปตรงมา เป็นส่วนที่เข้าใจไม่ยากว่า โอเค โดยทั่วไปนับว่าสปอยล์เนื้อหา (แม้อาจจะต้องถกเถียงกันต่อบ้างเรื่องเวลา ว่าทิ้งช่วงห่างขนาดไหนจึงจะนับได้ว่าพูดได้โดยไม่เป็นการสปอยล์แล้วก็ตาม) แต่หากเราจริงจังกับการโดนสปอยล์จริงๆ อย่างที่ตัวเรามักอ้าง และมักจะใช้เป็นเหตุผลในการหงุดหงิดความดันขึ้นเมื่อเจอสปอยล์เข้าตา แต่เราๆ ท่านๆ ทำอย่างไรเมื่อเราเห็นตัวเลขที่แสดงระยะเวลาของภาพยนตร์แต่ละเรื่อง? หรือเห็นโปรแกรมการสร้างหนังล่วงหน้า ว่าจะมีภาคต่อนั่นนี่ ฯลฯ
สิ่งเหล่านี้ไม่นับเป็นการสปอยล์ในเชิงเนื้อเรื่องหรือ? การที่ดู Ironman ภาคนึงอยู่ โดยรู้ว่าอีกปีจะมี Avengers ตามมา (แน่นอนมี Ironman ในนั้นด้วย) มันไม่เท่ากับเป็นการสปอยล์เนื้อหาภาพยนตร์ในเชิงโครงสร้างเนื้อเรื่องทั้งหมดกับเราหรือ?
หรือแม้แต่สิ่งที่ดูไร้พิษสงอย่างการแจ้งระยะเวลาของหนังแต่ละเรื่อง หรือการรู้จำนวนหน้าของนิยายแต่ละเล่ม ในระดับหนึ่งมันย่อมทำให้เรารู้ล่วงหน้าถึง ‘เนื้อหาในอนาคตที่เหลืออยู่’ ของสื่อนั้นๆ ที่กำลังเสพอยู่ไม่ใช่หรือ และส่วนเหลือของอนาคตที่รอการเสพนี้เอง ก็มีผลอย่างมากมหาศาลที่จะส่งผลต่อการรับรู้ของเราไม่ใช่หรือ?
อย่างการดูหนังซูเปอร์ฮีโร่ที่เรารู้ว่ายาวเกือบ 3 ชั่วโมง และเรารู้ดีว่าเวลาเพิ่งผ่านไป 1 ชั่วโมง ต่อให้ฉากในหนังจะแสดงให้เห็นว่าตัวร้ายกำลังเพลี่ยงพล้ำ แต่เราก็จะรู้อยู่แก่ใจในทันทีว่า “หึหึหึ มันไม่จบแค่นี้หรอก เดี๋ยวมันต้องมีอะไรต่อ มันไม่ตายแน่นอน” ฯลฯ เป็นต้น ไม่ใช่หรือ?
ถ้าเช่นนั้น สิ่งเหล่านี้ย่อมนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสปอยล์ได้ด้วยไหม? หากไม่ใช่ อะไรบ้างเล่าที่เราจะนับเป็นการสปอยล์ และอ่อนไหวต่อมัน? หรือหากใช่ เช่นนั้น เราจะเริ่มอ่อนไหวจากการสปอยล์ตั้งแต่ระดับไหนดี? หรือเฉพาะการสปอยล์ที่นอกเหนือความคาดหมายของเราเท่านั้น ที่เราจะซีเรียสด้วย? เช่นนั้น หนังซูเปอร์ฮีโร่แทบทุกเรื่อง ที่แทบทุกคนเดาโครงเรื่องหลักของหนังได้แต่ต้นอยู่แล้ว การพูดเนื้อหาแทบทุกอย่างก็ต้องไม่นับเป็นการสปอยล์ไปด้วยไหม? หรือคนที่สปอยล์เนื้อหา มีภาระต้องมารับรู้หรือไม่ว่า เนื้อเรื่องส่วนไหนที่พวกเราจะ “เหนือความคาดหมาย หรือไม่เหนือความคาดหมาย” บ้าง?
ย้ำอีกที ที่เขียนมาไม่ได้จะบอกว่า พวกช่างสปอยล์นั้นควรสปอยล์ต่อไปเถิด… NOT AT ALL นี่ก็ยังยืนยันตามเดิมว่าพวกสปอยล์นั้นควรเลิกไปได้แล้ว แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่ฝ่าย Anti-spoiler จะไม่หันมาพิจารณาความอ่อนไหวของตนเองบ้าง ว่าเกินขอบเขตหรือไม่? วางอยู่บนฐานของอะไร? เรารู้ตัวกับสิ่งที่เรากำลังเป็นอยู่จริงๆ ไหม? ในขณะที่เรามองว่าพวกช่างสปอยล์สร้างความน่ารำคาญให้กับสังคม ความอ่อนไหวเกินเลยของพวกเราก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกันไหม? ก็เท่านั้นเอง
ผมไม่มีคำตอบให้หรอก ผมเขียนขึ้นมาเพราะตัวผมเองก็อยากจะถามตัวเองดังๆ (และอยากให้ท่านๆ ลองถามตัวเองดูด้วยก็แค่นั้น) ด้วยผมเชื่อเสมอว่า คำถามสำคัญกว่าคำตอบ และการที่เราอยู่บนข้างที่ถูกต้องกว่าในตราชั่งมาตรฐานความถูกต้องเชิงวัฒนธรรม มันไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะไม่มี self-criticism ต่อตัวเราเอง ก็เท่านั้นแหละ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] โปรดดู www.urbandictionary.com