ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสใช้งาน Netflix ของตัวเอง หลังจากยุ่งจนต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกภาพไปฟรีๆ หลายเดือนทีเดียว จ่ายโดยไม่มีจังหวะได้เปิดดูหนังหรือซีรีส์อะไรเลยนั่นล่ะครับ จนกระทั่งได้ลองมาเปิดดูซีรีส์ชื่อ Altered Carbon ดู แม้จะเพิ่งได้ดูไปไม่กี่ตอน (ขณะที่เขียนส่งนี้) แต่ก็ชอบมากๆ และมีประเด็นมากมายหลากหลายทับซ้อนอยู่จนคิดอยากนำมาเล่าถึง
ผนวกกับไม่กี่วันก่อนได้ยินเรื่องราวหนึ่งซึ่งโยงกับประเด็นหนึ่งใน Altered Carbon คือ การฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทหนึ่งของนักวิชาการคนหนึ่งที่เคยขายภาพลักษณ์กับความก้าวหน้า ที่พอได้เห็นการกระทำของเขาแล้ว ก็ได้แต่ก่นด่าตัวเองที่เคยไปหลงเชื่อในเปลือกของเขา และนั่นทำให้วันนี้อยากยกเรื่องนี้มาพูดคุย
กฎหมายหมิ่นประมาท หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Defamation ซึ่งในโลกตะวันตกบางทีก็แบ่งแบบกว้างๆ ลงไปอีกเป็น Slander คือเน้นไปทางการหมิ่นประมาทจากคำพูด (Verbal Defamation) และ Libel ที่เป็นการหมิ่นประมาทจากการเขียน หรือเป็นภาพ หรือในสื่อแบบอื่นๆ นั่นเอง (Non-verbal Defamation) กฎหมายตัวนี้คิดว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อหรือพอจะรู้จักกันดีครับ มันก็คือกฎหมายว่าด้วยการสร้างความเสียหายกับชื่อเสียงของบุคคล องค์กร หรือสถาบันหนึ่งๆ นั่นแหละ ซึ่งมีความแตกต่างในเชิงรายละเอียดบ้างตามแต่ละประเทศไป
การหมิ่นประมาทเป็นเป็นความผิดมานับแต่อารยธรรมโลกในยุคโบราณแล้วครับ โดยจะนับว่าเป็นการหมิ่นประมาทก็ต่อเมื่อเป็นการพูด ปราศัย หรือตะโกนกล่าวหาว่าร้ายบุคคลหนึ่งๆ ต่อสาธารณะที่ต่อมานอกจากการพูดแล้ว ก็มีการอภิปรายว่าภาพวาดต่างๆ ก็ควรถูกนับว่าเป็นการหมิ่นประมาทต่อสาธารณะด้วย แต่ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือหรือวิธีการในการสื่อสารยังไม่มากนัก การหมิ่นประมาทก็วนๆ อยู่ที่การพูด การเขียน การวาด ต่อหน้าพื้นที่ชุมชนหรือสาธารณะโดยตรงในทางกายภาพ อย่างในตลาด หรือในจตุรัสต่างๆ ไปเสีย
พูดอีกแบบก็คือ โดยต้นรากของแนวคิดแล้ว กฎหมายหมิ่นประมาทไม่ได้ครอบคลุม ‘ทุกการกระทำอันเป็นการว่าร้าย’ แต่รวมเอาเฉพาะการว่าร้ายอันเป็นสาธารณะ เพราะมันจะนำมาซึ่งการทำให้สูญเสียชื่อเสียงได้ และกฎหมายหมิ่นประมาท ก็พัฒนาต่อมาบนฐานคิดแบบนี้ครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนทางสังคมมีมากยิ่งขึ้น การตีความพื้นที่แห่งการหมิ่นประมาทก็ไม่ได้ง่ายดายแบบเดิมอีก อย่างกรณีของโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คอย่างเฟซบุ๊กนี่เลยก็ได้ครับ การเขียนถึงใครก็ตามในทางลบ แต่ตั้งค่าสเตตัสว่าให้เห็นได้เฉพาะเพื่อน นับว่าเป็นการกล่าวหาในพื้นที่สาธารณะหรือไม่? ในเบื้องต้น หลายคนอาจจะคิดว่าไม่ แต่หากมีเพื่อนในลิสต์สัก 4–5 พันคนเล่า ซึ่งอาจจะมากกว่าคนมาฟังคำปรายศัยกล่าวหาต่างๆ กลางโรมันฟอรั่ม เมื่อ 2,000 ปีก่อนเสียอีก แบบนี้จะนับได้ไหมว่าเป็นสาธารณะ?
แต่หากว่านับ เช่นนั้นแปลว่าการเป็นสาธารณะมันไม่ได้อิงตาม ‘เงื่อนไขของการตั้งค่า’ แต่อยู่ที่ ‘จำนวนของผู้มีสิทธิเข้าถึงข้อมูล’ หรือ แบบนี้แล้ว ต้องคนมากเท่าไหร่เล่าจึงนับว่าเป็นจำนวนอันเป็นสาธารณะแล้ว? และหากนับตามจำนวนคน จะอิงตาม ‘คนที่มีสิทธิเข้าถึงตัวข้อมูลได้’ หรืออิงตาม ‘จำนวนคนที่เข้าถึงข้อมูลนั้นแล้ว’ เช่น ตั้งว่าเฉพาะเพื่อนดูได้ มีเพื่อน 4,500 คน แต่เพิ่งมีคนอ่านแค่ 2,500 คน แบบนี้จะนับจากอะไร? ฯลฯ
ความซับซ้อนของการตีความพื้นที่ของคำว่าสาธารณะ โดยเฉพาะกับกรณีการหมิ่นประมาทนี้ จึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก ไม่เพียงแค่นั้น นอกจากกฎหมายหมิ่นประมาทจะไม่รับรองการอ้างถึงในแง่ลบที่ไม่เป็นสาธารณะแล้ว (ในทางหลักการ) การอ้างถึงในแง่ลบ แต่เป็นความจริงและมีผลกระทบต่อบุคคลอื่น ก็เป็นเรื่องที่อยู่นอกขอบข่ายของการหมิ่นประมาทได้เช่นกัน
ซึ่งประเด็นนี้เอง ก็มีปัญหาอีกมากมายล้านแปดพอๆ กับการหาพื้นที่ ‘ความเป็นสาธารณะ’ เลยครับ นอกจากคำถามเริ่มต้นว่า ความจริงไม่จริงพิสูจน์ได้อย่างไร หรือว่าง่ายๆ ความจริงของใครแล้ว โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นการพูดถึงองค์กรต่างๆ ของรัฐหรือบุคคลที่มีอำนาจในเชิงสาธารณะสูง ความจริงคือเนื้อความที่ตรงตามคำสอนสั่งในตำราหรือคำเล่าอ้างให้เชื่อกันมาหรือเปล่า? นอกจากนี้ ความจริงในแง่ลบ ที่เป็นเรื่องส่วนตัวล้วนๆ และไม่ได้หนักหัวใคร แต่อาจขัดค่านิยมหลักของสังคม จนทำให้บุคคลนั้นๆ สูญเสียชื่อเสียงได้ ความจริงอันเป็นลบนั้นก็ไม่ควรได้รับการปกป้องจากกฎหมายหมิ่นประมาทให้เป็นเรื่องที่พูดได้ในทางสาธารณะหรือไม่
เช่น สมมตินายกรัฐมนตรีของประเทศ เป็นชายฉกรรจ์ วัยกลางคน ท่าทีขึงขัง แต่ในพื้นที่ส่วนตัวมีรสนิยมชอบแต่งตัวข้ามเพศและหลงรักในความงามของตนเอง ซึ่งอาจจะขัดกับค่านิยมหลักของสังคมนั้นแต่มันก็ไม่ได้หนักหัวใคร เช่นนี้ ความจริงอันเป็นลบนี้ก็ไม่ควรได้รับการคุ้มครองใช่ไหม? แต่ถ้าไม่ใช่ความจริงทุกอย่างจะได้รับการคุ้มครอง แล้วความจริงใดบ้างล่ะที่ควรได้รับการคุ้มครอง (ในกรณีที่มีหลักฐานมากพอจะสรุปความจริง/ไม่จริงได้)?
เมื่อขอบข่ายของการหมิ่นประมาทในโลกสมัยใหม่ดูจะพร่าเลือนไปมาก จากจุดตั้งต้นรากฐาน และยังดูจะมีจุดที่เอื้อให้เกิดการตีความได้แบบสุดโต่งมากๆ ได้นั้น การฝากความหวังในการกำหนดคำเป็นไปของการหมิ่นประมาทในโลกสมัยที่แสนซับซ้อนนี้ ให้อยู่ในมือของ ‘ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และคุณค่าความเชื่อเฉพาะถิ่น’ เป็นหลักนั้น ดูท่าจะทำให้เกิดความฉิบหายได้โดยง่าย เช่น ถ้าอยู่ในประเทศที่มีวัฒนธรรมและความเชื่อที่ผูกติดกับศาสนาแรงมากๆ คลั่งศรัทธาในพระเจ้ามากๆ เนื้อหา หรือความจริงที่รอการพิสูจน์ใดๆ ที่มีแนวโน้มจะขัดหรือเป็นลบต่อค่านิยมหลักของสังคมนั้นๆ ก็อาจจะนำมาซึ่งสถานะที่อันตรายมากๆ ต่อการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การหาค่ากลาง หรือมาตรฐานร่วมแต่พอคร่าวๆ จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็น
เมื่อมันซับซ้อนขึ้นมามากๆ อย่างที่ว่าไว้ กฎหมายหมิ่นประมาทจึงมีสถานะหลักคือ การเป็นกฎหมายเพื่อมีไว้พิสูจน์ตัวเองจากคำกล่าวหาต่างๆ หรือพูดอีกแบบก็คือ ด้วยสถานะอันซับซ้อนของโลกสมัยใหม่นั้น กฎหมายหมิ่นประมาทเป็นกฎหมายที่เน้นการล้างมลทินและเรียกคืนชื่อเสียงที่สูญหายไปให้กับผู้เสียหาย มากกว่าการเป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นการลงโทษและควบคุม ดังจะเห็นได้จากมาตรฐานที่นับเป็นค่ากลางทางสากลตามมาตรา 17 ของ United Nations International Covenant on Civil and Political Rightsที่ว่า
(1) ไม่มีบุคคลใดที่พึงถูกใช้อำนาจบาตรใหญ่ หรือการแทรกแซงนอกกฎหมายกับเรื่องส่วนตัว, ครอบครัว, ที่บ้าน หรือคนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการไม่พึงโดนทำร้ายเกียรติยศและชื่อเสียง
(2) ทุกคนมีสิทธิตามกฎหมายในการปกป้องตนเองจากการกระทำดังกล่าว
เราจะเห็นได้ว่าในส่วนข้อแรกนั้น ดูจะยังคงรากฐานแนวคิดแต่เริ่มต้นของกฎหมายหมิ่นประมาทเอาไว้อยู่ อย่างไรก็ตาม ในข้อต่อมานั้นเราจะเห็นได้ถึงแนวโน้มในการปรับบทบาทเชิงกฎหมายเป็นการปกป้อง หรือป้องกันตัวเองจากการโดนโจมตี มากกว่าการมุ่งลงโทษหรือแก้แค้นอีกฝ่าย
การมีนัยสำคัญในการไม่เป็นกฎหมายที่ไม่มุ่งเน้นไปที่การแก้แค้นนั้น ทำให้สถานะของโทษในทางอาญาของกฎหมายประเภทนี้เริ่มเสื่อมคลายลงเรื่อยๆ เพราะกลไกสัญหนึ่งของกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายอาญาคือ การที่รัฐทำหน้าที่ในการเป็นผู้แก้แค้นแทนตัวบุคคล เพราะระบบกฎหมายสมัยใหม่ ไม่ได้อนุญาตให้ใครมาฆ่า มาทำร้ายร่างกายอะไรใครอื่นได้โดยชอบธรรมอีกแล้ว จะมา “แค้นนี้ต้องชำระ, เลือดต้องล้างด้วยเลือด, ฯลฯ” อีกต่อไปไม่ได้ แต่รัฐใช้อำนาจผ่านกฎหมายในการเป็นผู้ประกันในการลงมือจัดการล้างแค้นแทนตัวบุคคลให้ ซึ่งก็เป็นกลไกสำคัญในการที่ทำให้คนที่แข็งแกร่งกว่ามากๆ ไม่กล้าจะรังแกคนที่อ่อนแอกว่าแบบหนักๆ อย่างในช่วงก่อนสมัยใหม่ด้วย เพราะต่อให้เป็นคนที่แข็งแรงแค่ไหน ตัวคนเดียวก็เอาชนะรัฐไม่ได้นั่นเอง (วิธีการมองรัฐแบบนี้ ที่ทำหน้าที่ในฐานะผู้ซึ่งแข็งแกร่งที่สุดอย่างดูจะไม่มีทางท้าทายอำนาจได้ ที่จะมายุติความวุ่นวายต่างๆ ในสังคมนั้น เราเรียกกันว่า วิธีคิดแบบ Hobbesian State ครับ)
แต่นั่นแหละครับ เมื่อบทบาทในการแก้แค้นถูกถอดออกไป สถานะของการมีโทษหรือความผิดทางอาญาในกฎหมายหมิ่นประมาทก็ค่อยๆ หายไปด้วย[1]จนตอนนี้ทิศทางหลักของโลกที่กลายเป็นกระแสของความก้าวหน้าทางกฎหมายอีกอย่างหนึ่งก็คือ การ Decriminalization of Defamation Law หรือการทำลายสถานะโทษทางอาญาของกฎหมายหมิ่นประมาท[2]เพราะกฎหมายนี้ควรมีไว้เพื่อพิสูจน์ ปกป้อง และ/หรือทวงคืนความบริสุทธิ์ รวมถึงชื่อเสียงให้แก่บุคคลผู้เสียหายไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งไปทำลายชีวิตของฝั่งตรงกันข้าม พูดอีกอย่างก็คือ “ไม่ควรมีใครต้องไปติดคุกติดตาราง โดนลงโทษและทรมาณทางกาย เพียงเพราะคำพูด หรือความคิดล้วนๆ”
นอกจากนี้ อย่างในกรณีของไทยที่ยังคงอยู่ในฟากที่ล้าหลังอยู่ในประเด็นเรื่องกฎหมายหมิ่นประมาทนี้ เพราะยังคงมีโทษทางอาญาอย่างการจำคุกบุคคลธรรมดานั้น ก็ได้กลายเป็นมาตรฐานอันเป็นชะนักต่อเนื่องไปด้วย สำหรับข้อเสนอทางกฎหมายจากฝั่งก้าวหน้าต่างๆ ของไทย อย่างในข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงแก้ไขมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ’ นั้น ก็ไปสุดอยู่ที่การลดโทษคุมขังให้น้อยปีลง คือ ข้อเสนอที่ว่าไม่ควรมีการกำหนดโทษขั้นต่ำ มีแต่กำหนดโทษขั้นสูงว่าจำคุกไม่เกิน 2 ปี[3]เพราะยังติดเงื่อนไขว่า ในกฎหมายหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาของไทยเองก็ยังมีโทษจำคุกอยู่ เป็นต้น
ในแง่นี้ความล้าหลังของกฎหมายหมิ่นประมาทนี้เอง ที่กลายเป็นหนึ่งในภาพสำคัญของ ‘ฟากฝั่งที่ตรงข้ามกับความก้าวหน้า’ ของฝ่ายประชาธิปไตยทั่วโลก ฉะนั้นผมถึงรู้สึกค่อนข้างแขยงใจ เมื่อได้ทราบข่าวว่านักวิชาการในเปลือกความก้าวหน้า กับจะหาเรื่องฟ้องอาญาผู้อื่นภายใต้เงื่อนไขและเหตุผลแบบที่ว่ามา
อย่างไรก็ตาม เนื้อหาของ Altered Carbon ดูจะไปไกลกว่าจุดนี้ พวกเขาดูจะตั้งคำถามต่อเรื่องนี้ในมุมมองของกระแสคิดที่เรียกว่า Post-Structuralism (หลังโครงสร้างนิยม) และ Post-Humanism (หลังมนุษยนิยม) ด้วย ว่าในตอนนี้เราให้ความสำคัญกับตัวร่างกายมากกว่าตัวจิต (กฎหมายก็เช่นกัน) แต่หากมันถึงเวลาที่ร่างกายกลายเป็นเพียงเปลือกของจิตที่แท้ทรูเล่า การโจมตีต่อตัวจิตและองค์ความคิดนั้น มันจะกลายเป็นอะไรที่สำคัญและเป็นผลเชิงกายภาพเสียยิ่งกว่าการกระทำบนสิ่งที่มีกายาจริงๆ อย่างตัวร่างกายหรือเปล่า? การมองโดยใช้ Body-centric และให้ค่ากับการทำร้ายร่างกาย เหนือกว่าจิตใจมันจะยังเวิร์คอยู่จริงๆ ไหม?
วิธีคิดกระแสนี้เป็นกระแสที่มาหลังกระแสคิดแบบเสรีนิยมและเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ที่ตั้งคำถามถึงความสำคัญของร่างกาย ว่าร่างกายยังคงสำคัญอยู่ไหม (Does body matter?) กระทั่งรัฐยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า? ซึ่งโดยส่วนตัวผมเองก็สนใจ ยอมรับว่ามันคือความก้าวหน้าอีกแบบหนึ่งแน่นอนที่จะตั้งคำถามย้อนทวนวิธีคิดกระแสหลัก หรือคิดถึงความเป็นไปได้ในอนาคต โดยเฉพาะวันที่วิทยาการก้าวหน้าไปในอัตราเร่งที่น่ากลัวแบบตอนนี้ อย่างไรก็ดีในประเทศอย่างไทยที่แค่เสรีภาพพื้นฐานยังไม่ค่อยจะมีนั้น การอภิปรายประเด็นเหล่านั้นคงจะเป็นเพียงการถกเถียงบนหอคอยงาช้างที่แสนจะเลือนลางและล่องลอย
ไม่เพียงเท่านี้ข้ออ้างเรื่องวิธีคิดและความก้าวหน้าแบบที่ว่าใน Altered Carbon คงจะนำมาใช้แก้ตัวให้กับนักอยากจะลิเบอรัลที่ผมเปรยไว้ไม่ได้ด้วย เพราะรายนี้ดูที่จงใจไปยื่นฟ้องอาญาฐานหมิ่นประมาทนี้ จงใจไปยื่นฟ้องในพื้นที่ที่ห่างไกล แบบที่เราเคยได้ยินถึง ‘ยะลาโมเดล’ กันนั่นแหละครับ ที่ทำให้อีกฝ่ายต้องลำบากมากขึ้นอีกมากในการพิจารณาความ
วิธีคิดแบบนี้เอง เห็นได้ชัดเจนว่าเป็นการดึงกลับเอากฎหมายหมิ่นประมาทกลับไปสู่กลไกของการแก้แค้น ไม่ใช่มีไว้เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองอะไรเลย…ล้าหลังจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1]โปรดดู unofc.wordpress.com
[2]โปรดดู www.theguardian.com
[3]โปรดดู www.voicetv.co.th