เดี๋ยวนี้ไปส่อง Facebook Instagram ใครก็เหมือนกับดูหนังสือโป๊ คราคร่ำไปด้วยชายหนุ่มหล่อล่ำงานดี นุ่งน้อยห่มน้อย ชุดเว้าๆแหว่งๆ โชว์มัดกล้ามซิกซ์แพคเป็นลอนๆ
เหมือนกับที่ Mark Simpson นักเขียนสารคดี คอลัมนิสต์ผู้มีผลงานจำนวนมากมายในนิตยสารทรงอิทธิพลทั้ง The Times, The Guardian, GQ, Vogues, Arena Homme + ออกมานิยามผู้กลุ่มนี้ว่าเป็น Spornosexual (สปอร์โนเซ็กชวล) ตั้งแต่ ปี 2014
งงล่ะสิว่ามันคืออะไร งงเหมือนกัน งงในงง งงว่าพี่แกทำไมถึงขยันผลิตคำนั้นคำนี้มาใช้จัง ก่อนหน้านั้นก็ประดิษฐ์คำว่า Metrosexual ในค.ศ.1994 แต่ก็ไม่ปัง กระทั่งกลับมาใช้อีกครั้งใน 2002 แล้วก็งงว่าทำไมถึงต้องจัดประเภทมนุษย์ขนาดนั้น เหมือนว่าจะพยายามหากล่องไปใส่ชาวบ้านชาวช่อง
สำหรับ Spornosexual ที่นางสมาสสนธิคำ Sport + Porn + Metrosexual ใช้เรียกผู้ชายที่ชอบออกกำลัง เพาะกาย กินเวย์เล่มกล้าม พิถีพิถันและอวดสรีระเรือนร่างด้วยการไม่ใส่เสื้อผ้า สร้างแรงดึงดูดทางเพศให้เป็นที่สนอกสนใจ อุทิศร่างกายให้เป็นอาหารตาแก่พวกเรา ขณะที่ Metrosexual จะนุ่งห่มร่างกายด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพงแบรนด์เนม เสริมสร้างอัตลักษณ์ ทั้ง Spornosexual และ Metrosexual ต่างตกแต่งดูแลตัวเองอย่างดี เพียงแต่ sexual ใหม่นี้มีกายภาพขนาดใหญ่กว่า เพราะหุ่นสำหรับพวกเขาเป็นภาพสะท้อนอัตลักษณ์ ภาพลักษณ์ ซึ่งมักแสดงผ่านโซเชียลมีเดีย[1]
Facebook page ก็คัดสรรรูปมาให้ ประดังประเดเข้ามาเต็ม feed ไหนจะ TU Sexy Boy เอย Chula Sexy Boys เอย ห้องดับจิตเอย เข้าอินเทอร์เน็ตทีไรเหมือนอ่านหนังสือโป๊รายวัน จะขอยุติการสื่อสารสังคมผ่าน Facebook, Twitter เพื่อใช้ชีวิตปลายทางอย่างสงบ ไปกับการอ่าน เขียน และเดินทางท่องเที่ยวดีกว่า แต่เอ๊ะกลับมาใหม่ก็ได้…
ก็เหมือน Re-target ตัวเองจากผลลัพธ์ของ Retargeting Ads นั่นเอง
ขณะเดียวกัน บรรดารายการทีวีต่างๆ ก็มีหนุ่มๆ เหล่านี้เป็นจุดขาย ต้องมีฉากถอดเสื้อแก้ผ้าอาบน้ำ ว่ายน้ำ ไม่ก็กำลังสวมเสื้อแต่งตัว ตั้งแต่ละคร ยันรายการท่องเที่ยว ประกวดร้องเพลง (ก็ไม่เข้าใจว่า ประเทศไทยขาดแคลนนักร้องหรอ เห็นเร่งผลิตกันจัง) แม้แต่ร้านส้มตำยังจ้างไปเป็นพ่อครัว เป็นบริกร
ในโลกสากลเรือนร่างผู้ชายก็ถูกนำเสนอในฐานะโฆษณาสินค้ามากมายตั้งแต่ 1980s รูปร่างทางกายภาพของผู้ชายกลายเป็นพื้นที่แสดงออกของความเป็นชายในวัฒนธรรมการบริโภค[2] แต่จากการสำรวจสื่อในสหรัฐอเมริกาปี 2007 ทั้งโฆษณา รายการทีวีช่วงprime-time หนัง เนื้อเพลง เวปไซต์ วีดิโอเกมส์ ผู้หญิงในสื่อยังถูกนำเสนอในรูปแบบวัตถุทางเพศมากกว่าผู้ชาย ทั้งการแต่งการเปิดเผยเรือนร่าง ชวนให้รู้สึกถึงเรื่องเพศ[3]
การทำให้เป็นวัตถุทางเพศ (Sexual objectification) คือการทำให้คนคนนึงเป็นอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือสนองความต้องการทางเพศของอีกคนนึง โดยมีพื้นฐานมาจากความดึงดูดทางเพศของร่างกาย
เป็นแนวคิดทั่วๆ ไปที่ปรากฏอยู่ในทฤษฎีเฟมินิสต์ และเป็นสิ่งที่กลุ่มสตรีนิยมบางสำนักโจมตีและต่อต้านมายาวนาน ถึงการคำนึงคุณค่าของผู้หญิงไม่ใช่มนุษย์เหมือนกัน แต่เป็นเพียงวัตถุทางเพื่อสนองความใคร่ของผู้ชาย การนำเนื้อตัวร่างกายของเธอ อวัยวะหรือชิ้นส่วนบางร่างกายถูกจับแยกออกมาจากตัวตนของเธอแล้วนิยามให้เป็นเพียงสิ่งของกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ ซึ่งผลลัพธ์ก็คือพวกเธอก็ต้องพยายามดัดแปลงร่างกายของพวกเธอให้ได้รับการยอมรับทางสังคมชายเป็นใหญ่ ให้ผู้ชายจับจ้อง นำไปสู่การเสียสุขภาพ เช่นการบริโภคอาหารผิดปรกติไม่ถูกหลักอนามัย อดอาหาร ความหดหู่ขาดความเคารพเนื้อตัวร่างกายตนเอง แล้วจับจ้องตัดสินเนื้อตัวร่างกายกันเองระหว่างผู้หญิง
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสำนักเฟมินิสต์จะไม่โอเคกับการที่ผู้หญิงได้เป็นวัตถุทางเพศ บางนางกล่าวว่านั่นคือโอกาสในการสร้างอำนาจผ่านเรือนร่างและการแสดงออกท่าทาง อำนาจที่มาจากการสร้างแรงดึงดูดทางเพศ การแสดงออกถึงตัวตนที่เป็นประธานศูนย์กลางของบริบท เป็นผู้กระทำการเอง เป็น Sexual Subjectification บนสื่อมวลชนมากกว่าเป็น object [4]
พวกนางตั้งคำถามว่า ทำไมผู้หญิงจะเปิดเผยเรือนร่างไม่ได้ล่ะคะ ทำไมห้ามสวยห้าม sexy มีเสน่ห์ยั่วยวน ฉันจะเป็น wonder woman เป็นนางฟ้าชาร์ลีไม่ได้หรอ ที่สำคัญผู้หญิงตัดสินใจเลือกได้เองค่ะ และการที่ผู้หญิงตกเป็นวัตถุทางเพศฝ่ายเดียวก็เป็นมายาคตินะคะ เพราะเอาเข้าจริงผู้หญิงเองก็จับจ้องผู้ชายในฐานะ sexual object ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าเพศใด ใครๆ ก็คันเป็นค่ะ
ปรากฏการณ์ที่เรือนร่างของผู้ชายและความกำยำ หน้าอกผายหัวไหล่กว้างกลายเป็นวัตถุทางเพศ ให้กับกลุ่มผู้หญิงและกลุ่มผู้ชายรักเพศเดียวกัน ไม่ถูกบ่นถึงเท่ากับกรณีของเนื้อตัวร่างกายผู้หญิง เพราะจะอย่างไรเสีย ในสังคมปิตาธิปไตย ผู้ชายได้รับการอนุญาตให้เปลื้องผ้าได้มากกว่าอย่างไม่อนาจารอยู่แล้ว ผู้หญิงก็ถูกมองว่าเสียหายมากกว่า ร่างกายเปราะบางแปดเปื้อนปนราคี โดนตีตรามากกว่า แต่เมื่อผู้ชายเป็นวัตถุทางเพศบ้าง ต่อให้โชว์ตูดและไรมอยไปกี่ทีก็ไม่เป็นไร
เพราะมันไม่ได้ไปเขย่าทำลายโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ที่ยังสถิตสถาพรอยู่ เพราะเรือนร่างของหนุ่มๆตามสื่อต่างๆ ล้วนแล้วผลิตมาบริโภคเพื่อสนุกสนาน เสพเอาบันเทิง ตามกลไกตลาดเท่านั้น ไม่ใช่การแก้แค้นของพวกผู้หญิง ของเหล่า feminism ที่จะลุกขึ้นมาเป็นผู้คุมกฎในความสัมพันธ์เชิงอำนาจดูบ้าง จับผู้ชายมาเป็นวัตถุทางเพศเสีย หลังจากที่มนุษยชาติหญิงเป็นผู้ถูกกระทำโดยผู้ชายมาตลอด ต้องตกแต่งเนื้อตัวร่างกายมายาวนานเพื่อรับใช้อุดมการณ์ทางเพศในสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ รัดเท้าให้เหลือเพียง 3 นิ้ว สวม Corset ให้เอวกิ่ว เล็กเท่าคอ สวมส้นสูง ต้องแต่งหน้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน ถอนขนรักแร้และหนวด ลดความอ้วน เสริมนม เพื่อให้ดูดีอย่างที่ผู้ชายมองว่าสวย
เอาเข้าจริง คนจะดูเป้า ดูจ้อน ง่ามตูด ไรหมออ้อย ร้องแฮ่กๆๆ มันคือความหิว ไม่ได้ตระหนักรู้แดดรู้ฝนขนาดนั้น มันไม่ได้ตั้งใจท้าทายความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางเพศโครงสร้างปิตาธิปไตยอะไรหรอก
เพียงแต่ไม่แน่ว่า อีกครึ่งศตวรรษหน้า ด้วยความที่เริ่มต้นอย่างไม่ตั้งใจมันอาจถูกผนวกในฐานะส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การปลดแอกของผู้หญิง พื้นที่ในการแสดงออกถึงความหฤหรรษ์ รสนิยม ความต้องการทางเพศของพวกเธอ อย่างไม่รู้ตัว
อย่างไรก็ตาม มัดกล้ามซิกซ์แพคของนายแบบโฆษณาสินค้าและบริการก็เป็นภาพสะท้อนของสถานภาพของผู้หญิง
เพราะเมื่อผู้หญิงมีการศึกษา ประกอบอาชีพการงานที่ดี สร้างรายได้ด้วยตนเองมากพอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัวของพวกเธอ อำนาจทั้งในการตัดสินใจด้วยตัวของเธอเอง การบริโภค และการต่อรองทางเพศของกลุ่มผู้หญิงก็ย่อมต้องมีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน วัยครองเรือนไม่เพียงถูกถ่างออกไป การแต่งงานจึงยังกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็นเสมอไป
ขณะเดียวกันการตลาดและการบริโภคก็ขยายตัวเองให้กว้างขึ้นตอบรับอำนาจเหล่านี้ของผู้หญิง เพราะบริบทสังคมไทยช่วง พ.ศ. 2516 (1973) ที่เริ่มเคลื่อนไหวตื่นตัวและปลดปล่อยสิทธิเสรีภาพมากขึ้น ผู้หญิงแสดงออกถึงการเลือกคู่ได้ด้วยตนเอง พ่อแม่มีอิทธิพลน้อยลง และผู้หญิงมีความกล้าที่จะเปิดเผยความรู้สึก ความต้องการทางเพศอย่างตรงไปตรงมาบนสื่อสาธารณะ
เช่นเดียวกับนิตยสารสำหรับผู้หญิงที่ไม่ได้สักแต่พูดเรื่องเย็บปักถักร้อย หุงหาอาหาร จัดดอกไม้ แม่บ้านการเรือน ปฏิบัติตนในฐานะแม่และเมีย แต่จะพูดเรื่องชีวิตทำงาน ยุทธศาสตร์การประสบผลสำเร็จ แฟชั่น บริหาร แทรกเคล็ดลับเพศสัมพันธ์บ้าง และมักจะแทรกถ่ายแบบเซ็ทเสื้อผ้าผู้ชาย ที่ผู้ชายนุ่งผ้าบ้างไม่นุ่งผ้าบ้าง
และเนื่องจากหนุ่มสาวเริ่มมีโอกาสแสวงหาเรียนรู้ตัวตนในวัยโสด ทดลองรสนิยมทางเพศก่อนแต่งงานที่ถูกประวิงเวลาออกไป ประกอบกับโลกเสรีทางการตลาด ที่ไม่เพียงทำให้รัฐก็ค่อยๆ เลิกยุ่มย่ามทางศีลทางธรรมทางเพศลงมาบ้าง ยังนำไปสู่การถือกำเนิดนิตยสารเกย์ภาษาไทยโดยคนไทย เล่มแรกๆ ก็คือมิถุนาจูเนียร์ ปี 2527 (1984) ในยุค 80’s ที่เป็นยุคเฟื่องฟูของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์สำหรับเกย์ ดื่นดาษไปด้วยภาพชายหนุ่มโชว์หุ่นในฐานะวัตถุทางเพศ ยังทำให้บรรดาสถานบริการเสริมความงาม ศัลยกรรม กระชับหุ่นสัดส่วน ยิม ฟิตเนส แข่งกันผุดราวกับดอกเห็ด ในอีกไม่กี่ทศวรรษถัดมา
วัฒนธรรมของการมีมัดกล้ามของ spornosexual ในสำนึกต้นศตวรรษที่ 21 มันจึงสัมพันธ์กับวัฒนธรรมการบริโภคนิยมความชวนให้หลงใหลของความกำยำบึกบึน ไม่ใช่เพราะเรายังยังต้องการให้ผู้ชายกำยำแข็งแรงบึกบึนพร้อมไปล่าสัตว์ พุ่งหอกออกรบรักษาแว่นแคว้นอาณาจักร เหมือนสังคมก่อนสมัยใหม่ ไม่ใช่ว่าต้องการรูปหล่อกล้ามใหญ่ใครสักคนเพื่อปกป้องคุ้มภัย เพราะผู้หญิงเรียนรู้ที่จะพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองเป็น และมัดกล้ามก็ไม่ใช่มหาอุด ที่ฟัน แทง หรือยิงไม่เข้า
แต่มันเป็นเรื่องสุนทรียะและวัฒนธรรม เพราะสังคมสมัยใหม่ที่ทำให้ชะนีเก้งกวางมีอำนาจมากขึ้น ผู้ชายจึงต้องสร้างร่างกายให้เป็นทุน ไม่ใช่ปล่อยเนื้อปล่อยตัว จนเล็บดำ คอดำ ข้อศอกด้าน พุงป่อง ฟันเหลือง ผมมันผิวแห้งกร้าน ตัวเหม็นเปรี้ยวได้ เพราะคิดว่ายังไงผู้หญิงก็ต้องยอมอยู่ดี
เพราะไม่ว่าอย่างไร จะภายใต้สังคมประเภทไหน ชายเป็นใหญ่ หรือหญิงจะใหญ่กว่า ร่างกายไม่ว่าของเพศใดก็ตาม ก็เท่ากับต้นทุน เป็น ‘ทุนทางกายภาพ’ (physical capital)[5] เป็นทรัพยากรอย่างหนึ่ง ที่เราสามารถผลิตสร้าง บ่มเพาะ ปรุงแต่ง เพราะเกิดมาก็ไม่ได้มีกล้ามและซิกแพคเลย เมื่อบ่มเพาะปรุงแต่งแล้ว ก็สามารถใช้ประโยชน์แสวงหากำไรจากตัวเราเองได้ ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่ามัดกล้ามแน่นเนื้อก็เป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรมไปด้วย ไม่เพียงเสริมสร้างบุคลิกภาพ น่าดูชม สร้างความสัมพันธ์เครือข่าย บางคนยังกลายเป็น celebrity เป็น net idol ยังถูกชักพาเข้าวงการบันเทิง นายแบบ ดารา พรีเซนเตอร์ SME ครีมหน้าเด้ง
การปั๊มหุ่นจึงเท่ากับการสร้างต้นทุน เพิ่มมูลค่าทางสังคมและวัฒนธรรม เช่นเดียวกับวุฒิทางการศึกษา ความสามารถพิเศษ
ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจหากหนุ่มๆ กล้ามปูจะไม่นุ่งผ้าใน IG, Facebook พวกเขาไม่หนาวหรอก เพราะเนื้อหนังมังสาได้กลายเป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ชนิดนึงไปแล้ว
เนื่องจากมันถูกแปลงสัญญะให้กลายเป็นส่วนเกินมาในการดำรงชีวิตของชนชั้นกลาง ที่วันๆ อยู่แต่ออฟฟิศ นั่งแช่หน้าคอม การมีมัดกล้ามจึงไม่ได้เกิดจากการฝึกซ้อมออกรบล่าสัตว์ ฝึกทหาร ใช้แรงงาน หากแต่มีตังค์มากพอที่จะดูแลตนเอง จ่ายค่าเมมเบอร์ เทรนเนอร์ ค่าเวย์โปรตีน เข้ายิมและอุทิศเวลาเพื่อดูแลรักษาเนื้อตัวร่างกาย ใส่ใจการกิน และการออกกำลังอย่างมีวินัย
อย่างไรก็ตามมันก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมย่อยอยู่ดี หนุ่มๆ เหล่านั้นคือความน่าดึงดูดในอุดมคติ ที่เป็นเพียงชนกลุ่มจำนวนน้อยแต่มีพื้นที่เยอะบนสื่อ เพราะเมื่อเงยหน้าละสายตาออกจากจอมือถือ และถ้าไม่ใช่ในยิม เมื่อหันไปดูรอบข้างแล้ว มันจะผู้ชายแบบนั้นสักกี่คนเชียว
อ้างอิงขอมูลจาก
[1] Benjamin Høed Nørlev. (2016). The self-promotion of spornosexual men on Instagram. BA thesis, Aarhus University.
[2] Kehnel, Steven C. (2003). The Commodification of Masculinity Within Men’s Magazine Advertisements: With what and how do we make the man? Master of Arts (MA), Ohio University, Sociology (Arts and Sciences).
[3]Dawn M. Szymanski, Lauren B. Moffitt, and Erika R. Carr. (2011). Sexual Objectification of Women: Advances to Theory and Research.The Counseling Psychologist 39(1) 6 –38.
[4]Gill, Rosalind. (2003). From sexual objectification to sexual subjectification: the resexualisation of women’s bodies in the media. Feminist Media Studies, 3 (1). pp. 100-106.
[5] Shilling, Chris. (2004). Physical Capital and Situated Action: A New Direction for Corporeal Sociology. British Journal of Sociology of Education 25 (4). pp. 473-487.