อีกไม่กี่วันคนไทยทั้งประเทศก็จะมีโอกาสได้รับชมอะไรที่เรียกว่า ‘ภาพยนตร์ซีรีส์’ อิงประวัติศาสตร์ เรื่องยิ่งใหญ่อย่าง ‘ศรีอโยธยา’ ที่ว่ากันว่าอลังการงานสร้างระดับที่จะเรียกว่าเป็น ‘ละคร’ หรือจะเรียกให้อินเตอร์ขึ้นอีกนิดว่า ‘ซีรีส์’ เฉยๆ ก็ไม่ได้
ก็ตามข่าวเขาอ้างว่า ศรีอโยธยาที่ว่านี้ ‘เป็นผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความประณีต งดงาม ในศิลปวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมแห่งราชอาณาจักรศรีอยุธยาตอนปลาย อันเป็นรากฐานแห่งขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งราชอาณาจักรรัตนโกสินทร์ตอนต้น’ กันเลยทีเดียวนี่ครับ
เรียกได้ว่าเว่อร์วังจนถึงขนาด ซีรีส์ทุนสร้างมหาศาลอย่าง ‘Game of Thrones’ (GoT) ยังต้องชิดซ้าย เพราะ GoT เขาก็ยังเรียกตัวเองอย่างเจียมเนื้อเจียมตัวแค่ว่าเป็น ‘ซีรีส์’ ธรรมดาๆ เท่านั้น ไม่กล้าเล่นใหญ่ถึงขนาดเป็น ‘ภาพยนตร์ซีรีส์’ ในความหมายอย่างที่ ‘ศรีอโยธยา’ อ้างตนเลยเหอะ
และก็แน่นอนว่า ณ ปัจจุบันขณะ งานสร้างที่อลังการดาวล้านดวงระดับนี้ ผู้กำกับจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้ นอกเสียจาก มล. พันธุ์เทวนพ เทวกุล หรือที่วงการบันเทิงไทยเรียกกันสั้นๆ ว่า ‘หม่อมน้อย’ (ทั้งที่ตามธรรมเนียมการนับฐานันดรศักดิ์แบบไทยๆ จะไม่เรียกคนที่มีฐานันดรต่ำกว่า ‘หม่อมเจ้า’ ว่า ‘หม่อม’ เพราะโดยธรรมเนียมแล้ว หม่อมราชวงศ์ หรือหม่อมหลวง ถือว่าเป็นสามัญชน และจะเรียกว่า ‘คุณชาย/คุณหญิง’ และ ‘คุณ’ ตามลำดับ จะมีข้อยกเว้นก็แต่สามัญชนเพศหญิงที่เสกสมรสกับเจ้านาย หรือเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ที่จะอนุโลมเรียกว่า หม่อม) ที่ผลงานกำกับภาพยนตร์สุดละเมียดมานักต่อนักแล้ว คนเดียวเท่านั้น
ความพิเศษใส่ไข่สองใบของภาพยนตร์ซีรีส์ชุด ‘ศรีอโยธยา’ ในกำมือของหม่อมน้อย (เอาน่า หม่อมก็หม่อม บางทีท่านก็อาจจะอยากให้เรียกว่า ‘หม่อม’ มากกว่า ‘คุณ’ ก็ได้) ก็คือ นอกจากที่ภาพยนตร์ซีรีส์ชุดนี้จะเป็นสร้างอิงประวัติศาสตร์ (แถมยังระบุอีกด้วยว่า เป็นประวัติศาสตร์ที่อ้างอิงจากพงศาวดาร และจดหมายเหตุหลายฉบับ สำหรับใช้ในการรังสรรค์งานชุดนี้ขึ้นมา) แล้ว ก็ยังมีการเล่าผ่านสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีตัวเอกอย่าง ดร. พิมาน ขัติยมงคล ที่นำแสดงโดยพระเอกสุดหล่ออย่าง อนันดา เอเวอริ่งแฮม เลยทีเดียว
ตามท้องเรื่องแล้ว อนันดา หรือ ดร. พิมาน เป็นนักเรียนนอกนะครับ เพราะ ดร. คนนี้จบปริญญาเอก สาขาวิชาโบราณคดี มาจาก London University (เอ่อ… ว่าแต่มหาวิทยาลัยนี้มันฝังหนอกอยู่ตรงส่วนไหนของลอนดอนน่ะ?) แล้วก็กลับมาเป็นอาจารย์พิเศษที่คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหลักสูตร International Program (ว่าแต่ที่คณะโบราณคดีมีหลักสูตรนี้ด้วยเหรอ?) แถมยังเปิดแกลเลอรีขายงานศิลปะ และโบราณวัตถุระดับนานาชาติอีกเสียด้วย
แต่ปัญหามันก็อยู่ตรงที่ ดร. พิมาน แกเป็นนักโบราณคดี แถมยังสอนอยู่ที่คณะโบราณคดี (ที่มีเปิดสอนอยู่ที่เดียวในประเทศ) แต่กลับ ‘ค้าโบราณวัตถุ’ นี่แหละครับ เพราะเอาเข้าจริงแล้วมีนักโบราณคดีดีๆ ที่ไหนเขาค้าโบราณวัตถุกันบ้าง?
ในฐานะของคนที่เรียนจบทางด้านโบราณคดีโดยตรง จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (ถึงจะไม่ได้จบจาก London University อย่าง ดร. พิมาน ก็เถอะ) และก็เคยเป็นอาจารย์ประจำที่นั่นอยู่พักใหญ่ๆ (อย่างน้อยก็น่าจะอยู่พักใหญ่กว่า ดร. พิมาน) ก็น่าจะทำให้ผมพอจะพูดแทนอะไรในใจของนักโบราณคดีทั้งประเทศนี้ได้ว่า การห้ามค้าโบราณวัตถุนั้น ถือเป็น ‘จรรยาบรรณ’ ลำดับต้นๆ ของนักโบราณคดีเลยทีเดียว
ลองจินตนาการดูง่ายๆ ก็ได้ว่า ถ้านักโบราณคดีเป็นผู้นำโบราณวัตถุมาขายเสียเองแล้ว ก็เท่ากับเป็นการการันตีความเก่าแก่ และเป็นของแท้ดั้งเดิมของตัววัตถุ (ถึงแม้ว่าจะตัววัตถุนั้นจะเพิ่งถูกพี่นักโบราณคดีคนนั้น ปลอมขึ้นเมื่อสองวันก่อนก็ตาม) มากกว่าคนที่ไม่ใช่นักโบราณคดีขนาดไหน?
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ตามกฎหมายแล้วโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดค้นขึ้นมาได้นั้น นับเป็นสมบัติของชาติ ไม่ใช่ของนักโบราณคดี หรือใครก็ตามที่ขุดพบ ดังนั้นถ้านักโบราณคดีสามารถค้าโบราณวัตถุได้แล้ว ของที่ขุดค้นขึ้นมาได้นั้นจะเป็นของใคร? ของนักโบราณคดี หรือของชาติ?
เอาเข้าจริงแล้ว ตัวละครเอกอย่าง ดร.พิมาน จึงชวนให้อภิมหาภาพยนตร์ซีรีส์ฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ศรีอโยธยา’ มีความย้อนแย้งในตัวเองในความสั่นสะเทือนระดับเฉียดๆ 10 ริกเตอร์
เพราะว่าในขณะที่เว็บไซต์อย่าง true4u.truelife.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของเจ้าของทุนที่สร้างภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องนี้ได้ระบุเอาไว้ว่า
“ภาพยนตร์โทรทัศน์เรื่องนี้ มิได้มุ่งหวังให้ผู้ชมได้มี ‘ความรู้’ ใน ‘ประวัติศาสตร์ชาติไทย’ และ ‘ความบันเทิงใจ’ เพียงอย่างเดียว แต่มี ‘จุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่’ เพื่อทำให้ ‘ผู้ชม’ ได้ตระหนักถึง ‘ความรัก’ และ ‘ความภักดีในแผ่นดิน’ อันเป็นบ้านเกิดแห่งตน และ ‘สำนึก’ ใน ‘บุญคุณของบรรพบุรุษแต่โบราณ’ ที่ท่าน ‘ยอมสละ’ เลือดเนื้อ และ ‘ชีวิต’ เพื่อรักษา ‘แผ่นดิน’ รักษาความเป็น ‘ชาติไทย’ เอาไว้ เพื่อให้ลูกหลานมีชีวิตอยู่กันอย่างผาสุก”
โดยไม่ต้องไปเถียงกันว่า ในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา (เอิ่ม… อีกเรื่องก็คือ ที่จริงแล้ว คำว่า ‘อโยธยา’ ในเอกสารโบราณมักจะหมายถึงช่วงก่อน-ต้นกรุงศรีอยุธยา สมัยปลายอยุธยาอย่างในท้องเรื่อง เค้าไม่เรียกชื่อบ้านเมืองตัวเองด้วยชื่อนี้กันหรอกนะ รู้ยัง?) ต่อเนื่องมาจนถึงกรุงธนบุรี และช่วงต้นกรุงเทพฯ อันเป็นช่วงเวลาซึ่งภาพยนตร์ซีรีส์เรื่องนี้อยากจะเล่าถึงเป็นสำคัญนั้น จะมีอะไรที่เรียกว่า ‘ชาติไทย’ แล้วหรือยัง? (ยังไม่มีอยู่แล้วแหละครับ ก็ชาติในความหมายอย่างนี้เป็นของใหม่จะตายไป)
แต่ ‘จุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่’ ของภาพยนตร์ซีรีส์ชุดนี้ (อย่างน้อยก็ตามที่เจ้าของทุนเขาอ้าง) ที่อยากจะชวนให้ใครต่อใครพากันมาซาบซึ้งในความรัก และภักดีต่อแผ่นดินชาติไทยนั้น กลับให้ตัวละครหลัก (ซึ่งดูจากเสื้อผ้าหน้าผม และโหงวเฮ้ง ของทั้งคอสตูม และก็ตัวนักแสดงแล้วคงจะเป็นพระเอกของเรื่องแหงๆ) เองนั่นแหละครับ ที่เป็นคนเอาสมบัติของชาติ ของบรรพบุรุษแต่โบราณ คนที่ยอมสละเลือดเนื้อ และชีวิตเพื่อรักษาแผ่นดิน และอีกสารพัดบลาๆๆ อะไรนั่น ไปขายเอากำไรมันซะอย่างนั้น…
อันที่จริงแล้ว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ดร. พิมาน’ นั้นก็ดูจะเป็นภาพตัวแทนของ ‘นักโบราณคดี’ ที่วงการบันเทิงไทยหมายหัวถึงนะครับ เพราะในชีวิตจริงนั้นมันเคยมีนักโบราณคดีที่ไหน ใส่สูท ผูกไท แต่งเนี้ยบ จัดเต็ม ไปลงไซต์งานที่ต้องคลุกฝุ่น คลุกดิน เลอะๆ เทอะๆ กันบ้าง?
เช่นเดียวกันกับภาพนักโบราณคดี แต่งตัวเนี้ยบ ในละคร (ซึ่งคงจะไม่เนี้ยบ และอลังการงานสร้างเท่า ภาพยนตร์ซีรีส์ อย่างศรีอโยธยา) อีกหลายๆ เรื่อง เท่าที่เห็นมาในช่วงไม่กี่ปีหลัง ที่ผ่านพ้นมานี้
ก็ไอ้คนพวกนี้มันดูเหมือน ‘นักโบราณคดี’ ที่ไหนกัน? นี่มันภาพของ ‘นักค้าของเก่า’ ที่เอาสมบัติของชาติ (ใช่ครับใช่ ชาติเดียวกับที่ภาพยนตร์ซีรีส์ชุดนี้ เขาอยากให้เราซาบซึ้งกันจนน้ำหูน้ำตาไหลนั่นแหละ) ไปขายหากำไรเข้ากระเป๋าสตางค์ตัวเองต่างหาก
จะจัดทำอภิมหาภาพยนตร์ซีรีส์อลังการดาวล้านดวงจนเว่อร์วังกันเบอร์นี้ ก็หาข้อมูลก่อนเขียนบทกันบ้างสิ ไม่ใช่จะตอกย้ำให้ใครรักชาติ แต่เอาคนขายสมบัติของชาติกินมาเป็นพระเอก ปั๊ดโธ่วว!