หลายต่อหลายครั้งที่ทอม แฮงค์มักจะรับบทบาทเป็นฮีโร่ผู้ช่วยชีวิตจนผมเองก็ชักจะชินตา ไม่ว่าจะเป็นบทกัปตันมิลเลอร์ผู้พาหน่วยทหารออกตามหาพลทหารในสังกัดที่พลัดหลงไปในแดนศัตรูใน Saving Private Ryan ศาสตราจารย์โรเบิร์ต แลงดอน ยอดนักถอดรหัสที่ไขปริศนาเพื่อช่วยเหลือมนุษยชาติมาบ่อยครั้งทั้งใน The Davinci Code และ Angels & Demons หรือกัปตันฟิลิปส์ ผู้ช่วยเหลือลูกเรือขนสินค้าจากการบุกปล้นของโจรสลัดโซมาลี และแม้กระทั่งล่าสุดทอม แฮงค์ก็ยังคงวนเวียนอยู่กับบทบาทของวีรบุรุษแห่งชาติต่อไป เมื่อในภาพยนตร์เรื่อง Sully นี้ เขารับบทเป็น Chesley Sullenberger หรือกัปตันซัลลี นักบินอาชีพผู้พาเครื่องบินพาณิชย์ลงจอดบนแม่น้ำฮัดสันตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี 2009
แน่นอนว่าการลงจอดครั้งนี้เป็นภาวะเร่งด่วนและสุดจะจำเป็น เพราะขณะที่เครื่องบินกำลังไต่ระดับขึ้นเหนือน่านฟ้าก็ให้พอดีกับที่ฝูงนกที่บินผ่านเข้ามาในระดับเดียวกับที่เครื่องบินกำลังทะยานตัว นกจำนวนหนึ่งพุ่งตรงเข้ามาในเครื่องยนต์ตรงปีกจนถึงกับระเบิด และถึงขั้นว่าหยุดทำงาน แม้ทีแรกกัปตันซัลลีจะพยายามบังคับตัวเครื่องให้มุ่งไปยังสนามบินใกล้เคียงโดยเชื่อว่าน่าจะยังพอทันเวลา หากแต่ที่สุดแล้วเขาก็ตัดสินใจว่าจะพาเครื่องแล่นลงกลางแม่น้ำฮัดสัน อย่างที่ไม่น่าเชื่อว่าการกระทำที่หลายคนมองว่าบ้าในครั้งนี้จะสามารถช่วยลูกเรือทั้ง 155 ชีวิตได้จนหมด
เปล่าครับ ผมไม่ได้กำลังสปอยล์แต่อย่างใด เพราะเหตุการณ์เหล่านี้คือเรื่องราวซึ่งเกิดขึ้นจริง ทั้งยังถูกโหมประโคมข่าวอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะที่กัปตันคนนี้สามารถช่วยชีวิตผู้โดยสารของเขาได้ ซัลลีกลายเป็นวีรบุรุษของสหรัฐอเมริกาภายในชั่วข้ามคืน และผู้คนต่างพากันเฉลิมฉลองให้กับเขาอย่างที่เราก็คงจะเคยได้ผ่านหูกันมาบ้างเพราะเหตุการณ์ก็เพิ่งผ่านมาแค่ไม่กี่ปี
แต่ประเด็นที่หนังเรื่องนี้หยิบขึ้นมาไม่ใช่เรื่องที่สาธารณะชนส่วนใหญ่รับรู้ในทันทีนั้น อย่างที่ว่าในขณะที่อเมริกันชนกำลังสรรเสริญฮีโร่ของประเทศผู้นี้ สิ่งที่ตัวซัลลีกลับต้องเผชิญคือกระบวนการสอบสวนด้วยมีข้อเท็จจริงที่ว่า หรือการร่อนลงในแม่น้ำฮัดสันนั้นเป็นการตัดสินใจที่ผิดและเกินจำเป็น ดังที่เมื่อมีการตรวจสอบจากบันทึกทางการบินก็คล้ายจะพบว่าตัวเครื่องยนต์นั้นอาจจะยังมีกำลังพอที่จะพาเครื่องบินไปลงในสนามบินอย่างปลอดภัย จนเกิดข้อสงสัยว่าการตัดสินใจของกัปตันซัลลีนั้นเป็นความผิดพลาดหรือเปล่า และการพาเครื่องบินลงจอดในแม่น้ำนั้นสุ่มเสี่ยงและอาจก่ออันตรายต่อชีวิตผู้โดยสารโดยใช่เหตุหรือไม่
ด้วยการที่หนังหยิบยกเอาเรื่องนี้มานำเสนอ ประเด็นหนึ่งที่ถูกยกชูขึ้นมาอย่างน่าสนใจคือเรื่องของมนุษย์ และความไม่สมบูรณ์พร้อมในตัวของมนุษย์ ในช่วงเวลาที่ปัญญาประดิษฐ์หรือคอมพิวเตอร์ได้ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้นทุกที คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ ถ้าถึงจุดหนึ่งที่จำเป็นต้องเทียบเคียงระหว่างระบบปฏิบัติการสมองกล กับสมองและสติสัมปชัญญะของมนุษย์ เราจะสามารถนำเอาผลลัพธ์ที่เกิดจากอีกฝั่งหนึ่งมาตัดสินของอีกฝ่ายหนึ่งได้สักแค่ไหน
อาจจะพูดได้ว่าซัลลีคือตัวอย่างของหนังที่วางตัวอยู่ตรงประเด็นปัญหาระหว่างปัญญาประดิษฐ์และสมองมนุษย์ ในแง่ที่ว่ากระบวนการสอบสวนความจริงโดยอาศัยการจำลองการบินของซัลลี่นั้นคือตัวอย่างของการทาบทับระบบประมวลผลที่ไม่ใช่มนุษย์ลงบนร่างกายของมนุษย์ กล่าวคือ ซัลลีถูกตรวจหาความผิดพลาดในฐานะกัปตันของเขาด้วยระบบซิมูเลชั่นที่อาศัยเอานักบินจำลองสองคนมาแสดงเป็นตัวเขากับนักบินผู้ช่วย ในสภาพการณ์ตามความเป็นจริงซึ่งมีฝูงนกพุ่งเข้ามาติดในเครื่องยนต์แล้วจะยังพอมีเวลาลำเลียงเครื่องบินไปจนถึงสนามบินใกล้ๆ ได้อยู่ แต่กระนั้นสิ่งที่กำกับพฤติกรรมของนักบินจำลองทั้งสองคือข้อมูลซึ่งรู้อยู่แล้วล่วงหน้า ทั้งระบบคิดซึ่งถูกวางไว้แล้วอย่างรัดกุมและเสถียร หรือกระทั่งอารมณ์ใจเย็นที่ไม่ตื่นตระหนกแม้เครื่องบินจำลองกำลังจะจมก็ตามที พูดได้ว่าแม้จะเป็นการจำลองโดยอาศัยมนุษย์ด้วยกันเป็นตัวสาธิต กระนั้นทั้งแบบแผน วิธีคิด หรือกระทั่งพฤติกรรมอันแน่นิ่งก็หาใช่มนุษย์แต่อย่างใด เป็นอย่างที่แซลลีบอกไว้ว่าการตัดสินใจของเขาที่ทำลงไปนั้นเพราะว่าเขาเป็นมนุษย์ ต่างจากซิมูเลชั่นที่เอามาแสดงเพราะมันไม่ใช่พฤติกรรมของมนุษย์แม้แต่น้อย
ฉะนั้นแล้ว ด้วยวิธีคิดเช่นนี้เองที่หนังพยายามให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดขึ้นหากนำเอาผลลัพธ์ของพฤติกรรมสมองกลมาตีขลุมพฤติกรรมของสมองมนุษย์เอาเสียตื้นๆ นั่นเพราะระบบปฏิบัติการนั้นหาได้มีช่วงเวลาที่นิ่งอึ้ง ตื่นตระหนกถึงขั้นทำตัวไม่ถูกอย่างคนทั่วไป และด้วยเหตุนี้จึงทำให้การตัดสินใจของซัลลีที่ก็เป็นแค่มนุษย์เพียงคนหนึ่งในชั่วเสี้ยววินาทีอันคับขัน หากแต่ก็สามารถช่วยชีวิตผู้โดยสารเอาไว้ได้จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมเมื่อวัดกันด้วยฐานะของมนุษย์ด้วยกันเอง
ในด้านของตัวละคร ซัลลีเองนั้นไม่ใช่ตัวละครที่มีเรื่องราวน่าสงสัย ลึกล้ำ และชวนให้รักได้ด้วยตัวเขาเองขนาดนั้นหรอกครับ พูดได้ว่าสิ่งซึ่งขับเคลื่อนตัวละครนี้หาใช่ตัวเขาที่เป็นตัวเขาอันมีเลือดเนื้อและวิญญาณ แต่เป็นความเป็นกัปตันผู้ช่วยชีวิตนั่นต่างหากที่พาให้ตัวซัลลีดำเนินไปตามเส้นทางซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว กล่าวได้ว่าซัลลีนั้นมีความคล้ายคลึงกับตัวละครในหนังของผู้กำกับ David Fincher (Se7een, The Social Network, Gone Girl) อยู่ อย่างที่ว่าในหนังของฟินเชอร์นั้น ตัวละครแทบจะไม่ได้มีชีวิตจิตใจที่เป็นอิสระนอกเหนือจากบทของตัวเอง คือเป็นเพียงแค่ตัวละครซึ่งปรากฏขึ้นบนหน้าจอเพื่อกระทำสิ่งหนึ่ง จากนั้นก็เดินจากไป โดยที่เราเองก็ไม่ได้สนใจ หรือสัมผัสได้ถึงเลือดเนื้อหรือชีวิตซึ่งกำลังขับเคลื่อนอยู่นอกฉากนั้น อาจเรียกได้ว่าตัวละครเหล่านี้มีลักษณะคล้ายเครื่องจักรซึ่งทำงานแค่ตามที่ผู้กำกับได้คอยกดปุ่ม จากนั้นก็แค่หยุดเพื่อรอจะเข้าฉากใหม่ ที่ผมว่ามานี้เป็นแค่ข้อสังเกตหนึ่งที่ผมสัมผัสได้ ดังเช่นที่ตัวซัลลีนั้นก็หาได้เป็นตัวละครที่มีชีวิตจิตใจเกินไปกว่าแค่เฉพาะเวลาที่เขาปรากฏบนหน้าจอ
คิดไปแล้วก็ตลกดีเหมือนกันโดยเฉพาะกับหนังเรื่องนี้ที่พูดถึงความเป็นมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันกลับเป็นหนังที่แห้งแล้งชีวิตจิตใจพอสมควร อย่างที่ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาแค่เพื่อเป็นภาพขยายของเหตุการณ์ของกัปตันผู้ห้าวหาญ และในช่วงเวลาหนึ่งเราก็รู้สึกบันเทิงไปกับมัน หากก็เพียงเท่านั้น เพราะเมื่อหนังจบลงเราก็อาจจะลืมมันไปในเวลาไม่นานนัก แม้ว่าเราจะเคยเอาใจช่วยกัปตันซัลลีผู้นี้สักแค่ไหนก็ตาม