ตั้งแต่เดือนกันยายน 2024 ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (The Centre Pompidou) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส กำลังมีนิทรรศการครั้งใหญ่ที่จัดขึ้นในวาระครบรอบ 100 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในขบวนการศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า Surréalisme ซึ่งเป็นชื่อในภาษาฝรั่งเศสของขบวนการศิลปะที่มีชื่อว่า ‘เซอร์เรียลลิสม์’ นั่นเอง
เซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) หรือที่เรียกในภาษาไทยว่า ‘ขบวนการศิลปะเหนือจริง’ เป็นกระแสเคลื่อนไหวและขบวนการศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่เรียกแบบนี้เพราะ เซอร์เรียลลิสม์ เป็นลักษณะของงานศิลปะที่พูดถึงเรื่องราวที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในความเป็นจริงได้ อย่างเช่น ก้อนหินขนาดมหึมาเท่าภูเขาลอยอยู่กลางอากาศ, รถไฟทั้งขบวนวิ่งออกมาจากเตาผิง, นาฬิกาหลอมละลายเหมือนเนยเหลว มีมดรุมตอม หรือโทรศัพท์บ้านกลายเป็นกุ้งล็อบสเตอร์
แรกเริ่มเดิมที เซอร์เรียลลิสม์ ได้รับอิทธิพลมาจากขบวนการศิลปะหัวก้าวหน้าของยุโรปที่เรียกว่า ดาดา (Dada) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในราวปี 1916 โดยมีสมาชิกที่ประกอบด้วยจิตรกร นักเขียน กวี เช่น ทริสตร็อง ท์ซารา (Tristan Tzara), กีโยม อาโปลิแนร์ (Guillaume Apollinaire), หลุยส์ อารากง (Louis Aragon), อองเดร เบรอตง (André Breton) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) ฯลฯ
ด้วยความที่เป็นกระแสเคลื่อนไหว ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยุโรปเพิ่งบอบช้ำจากสงครามโลกครั้งที่ 1 มาหมาดๆ ดาดาจึงมีแนวคิดปฏิเสธความเป็นเหตุผลและจิตสำนึก ค่านิยม ตรรกะ รวมถึงต่อต้านลัทธิทุนนิยม อุดมการณ์ชาตินิยม ลัทธิล่าอาณานิคม รวมถึงปฏิเสธสุนทรียะและความงามตามขนบเดิมๆ อย่างสิ้นเชิง เพราะพวกเขามองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่นำพาผู้คนไปสู่ความทุกข์ยาก งานของพวกเขาจึงละทิ้งเหตุผลทั้งมวล แต่ใช้สัญชาตญาณ ความบังเอิญ ความเหลวไหลไร้สาระ ซึ่งพวกเขาถือว่าเป็นอิสระและเสรีภาพ ในการกระตุ้นผู้คนให้คิดถึงมุมมองและหนทางใหม่ๆ จนขบวนการศิลปะนี้เองที่กลายเป็นต้นธารของขบวนการศิลปะเซอร์เรียลลิสม์นั่นเอง
เซอร์เรียลลิสม์เริ่มต้นอย่างเป็นทางการในปี 1924 จากการนำของอองเดร เบรอตง และหลุยส์ อารากง กวี นักวิจารณ์ศิลปะ และนักประพันธ์ชาวฝรั่งเศส ที่ต้องการก้าวพ้นจากร่มเงาของดาดา เพราะเขามองว่าพวกดาดานั้นมองโลกในแง่หดหู่สิ้นหวัง และไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์อะไรขึ้นมาใหม่
โดยในเดือนตุลาคม 1924 เบรอตงออกแถลงการณ์เซอร์เรียลลิสม์ฉบับแรก (Manifeste du surréalisme) ขึ้น โดยนิยามว่าเซอร์เรียลลิสม์คือ ‘การแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตในสภาวะบริสุทธิ์ดั้งเดิม ที่ถ่ายทอดออกมาด้วยคำพูด การเขียนถ้อยคำ หรือด้วยวิธีการใดก็ตาม เป็นการทำงานที่แท้จริงของความคิดที่ควบคุมตัวมันเองโดยปราศจากการควบคุมของเหตุผล ละเว้นไปจากความงามหรือความคำนึงทางศีลธรรมอันใดก็ตาม’
คำว่า เซอร์เรียลลิสม์ เป็นศัพท์ที่กีโยม อโปลิแนร์ เป็นผู้ให้กำเนิดขึ้นเมื่อปี 1917 โดยอยู่ในบทละครล้อเลียนเสียดสีที่มีชื่อว่า Les mamelles de Tirésias (เต้านมของทีรีไซอัส) จนกระทั่งเบรอตงและพวกหยิบมาใช้ตั้งเป็นชื่อกลุ่ม คำคำนี้จึงเกิดความสำคัญและรู้จักกันเป็นที่แพร่หลายในวงกว้าง
นอกจากเซอร์เรียลลิสม์จะได้รับแนวคิดในการต่อต้านความเป็นเหตุเป็นผล ตรรกะ จิตสำนึก และสุนทรียะแบบเดิมๆ มาจากพวกดาดาแล้ว พวกเขายังคัดค้านความเชื่อทางศาสนาและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างสิ้นเชิง เพราะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดสงคราม ทำให้ผู้คนล้มตายไปนับล้าน และนำพาความทุกข์มาสู่ผู้คน ทางเดียวที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกก็คือการสำรวจเส้นทางของความคิดใหม่ๆ พวกเขาเชื่อว่าอยู่ในเวลาที่จิตสำนึกและเหตุผลของเราหลับใหล หรือตอนที่เรากำลังฝันอยู่นั่นเอง ความฝันสำหรับพวกเซอร์เรียลลิสม์จึงเหมือนเครื่องมือที่ปลดปล่อยเราออกจากกรงขัง เพราะในความฝัน เราจะทำอะไรก็ได้ ไม่มีเหตุผล ไม่ต้องมีคำอธิบาย และเป็นแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ให้กับศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ทุกยุคสมัย พวกเขาเชื่อว่ามีแต่ในความฝันเท่านั้น ที่คนเราจะเป็นอิสระอย่างแท้จริง
ประจวบกับในช่วงเวลาเดียวกันที่นักจิตวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ค้นพบสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตไร้สำนึก’ (Unconscious mind) ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นสภาพดั้งเดิมของจิตใจที่ไร้การควบคุม ไตร่ตรอง และไร้เหตุผล ตั้งแต่ความต้องการพื้นฐานอย่างความหิว ความอยากขับถ่าย ไปจนถึงความต้องการทางเพศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็มีอยู่ในตัวคนทุกคน เพียงแต่ส่วนใหญ่เรามักจะเก็บกดเอาไว้ในส่วนลึกของจิตใจไม่ยอมแสดงออกมาเต็มที่ แต่พอถูกเก็บสะสมเอาไว้มากๆ ก็แอบถูกระบายออกมาในรูปของความฝัน แต่ความฝันก็เพียงแค่บรรเทาความต้องการเหล่านั้นลงชั่วคราว ตามสำนวนของฟรอยด์ว่าเป็น ‘การกวาดเศษแก้วแตกเอาไปซุกไว้ใต้พรม’ และถ้าความต้องการเหล่านั้นไม่ได้รับการตอบสนองในชีวิตจริง มันก็จะตกค้างในจิตใจ สะสมจนกลายเป็นความป่วยทางจิตในที่สุด ไม่ต่างกับเศษแก้วที่แทงทะลุพรมออกมา ซึ่งฟรอยด์เชื่อว่าวิธีการบำบัดทางหนึ่งคือการทำงานศิลปะนั่นเอง แนวคิดที่ว่านี้โดนใจชาวเซอร์เรียลลิสม์อย่างจัง จนนำเอามาใช้เป็นแนวทางหลักของกลุ่มเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ งานของพวกเซอร์เรียลิสม์จึงมักจะเต็มไปด้วยอะไรที่ไม่คาดฝัน เรื่องราวไร้เหตุผล พิลึกพิลั่นเกินจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องราวทางเพศ ซึ่งนับเป็นหัวข้อที่ชาวเซอร์เรียลิสม์ชอบทำกันเป็นอย่างมาก เช่น ภาพวาดที่เต็มไปด้วยความอีโรติกแบบเหนือจริงของ ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí), เรอเน มากริตต์ (René Magritte) ภาพถ่ายนู้ดอันพิลึกพิลั่นและเย้ายวนของแมน เรย์ (Man Ray), หรือแม้แต่ผลงานของศิลปินหญิงอย่าง เมเร็ธ ออปเพนไฮม์ (Meret Oppenheim) อย่าง Object (or Luncheon in Fur) (1936) ซึ่งเป็นถ้วยชาและจานรองธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะมันมีขนปกปุยปกคลุมเต็มไปหมดจดดูคล้ายกับสิ่งมีชีวิตหรืออวัยวะในร่มผ้าอะไรสักอย่าง ผลงานที่แฝงนัยยะทางเพศเหล่านี้สั่นสะเทือนวงการศิลปะ และทำให้คนดูงานสมัยนั้น อึ้ง ทึ่ง เสียว กันไปถ้วนหน้า บางคนถึงกับด่าว่าพวกเขาเป็นคนจำพวกบ้าห้าร้อย ไร้สาระ ไปจนถึงทะลึ่งลามกจกเปรต วิตถารและอนาจารไปเลยก็มี แต่อันที่จริงแล้วพวกเขานิยมความไร้ระเบียบ ยกย่องจินตนาการให้เหนือเหตุผล และมองว่าความฝัน จิตไร้สำนึกคือช่องทางในการบรรลุความจริงที่ถ่องแท้ ซึ่งสูงส่งกว่าความเป็นจริงที่มาจากตรรกะเหตุผลและหลักคิดทางวิทยาศาสตร์
การเปิดโอกาสให้ศิลปินแสดงออกถึงแรงขับทางเพศอย่างเสรี การปฏิเสธตรรกะและเหตุผลของศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ที่ว่านี้เอง ก็ถือเป็นการขบถต่อค่านิยมของสังคมในเรื่องศีลธรรม จารีตประเพณี และจริยธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางเกี่ยวกับสถาบันครอบครัว และความมุ่งมั่นต่อภาระหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นเสาหลักในการดำรงไว้ซึ่งสังคมอันดีงามในยุคสมัยนั้นนั่นเอง
กลุ่มเซอร์เรียลลิสม์รวบรวมสมาชิกในกลุ่มซึ่งต่อมาเป็นศิลปินโด่งดังเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เช่น ซัลบาดอร์ ดาลี, เรอเน มากริตต์, ฆวน มิโร (Joan Miró), จอร์จิโอ เดอ คิริโก (Giorgio de Chirico), มักซ์ แอร์นส (Max Ernst), แมน เรย์, โบดแลร์ (Baudelaire), หลุยส์ บุนเยล (Luis Buñuel) (กระทั่งศิลปินผู้ยิ่งใหญ่อย่าง ปาโบล ปิกัสโซ่ (Pablo Picasso) เองก็ถูกจีบให้เข้าร่วมในกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ด้วยเช่นกัน) และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการสร้างความเคลื่อนไหวและปฏิวัติแนวคิดในวงการศิลปะหลากแขนง ทั้งทัศนศิลป์ วรรณกรรม กวี รวมถึงภาพยนตร์ (ผลงานภาพยนตร์เซอร์เรียลลิสม์ที่โด่งดังที่สุดเรื่องหนึ่งคือ Un Chien Andalou (1929) ซึ่งเป็นการร่วมงานกันระหว่าง ดาลี และ บุนเยล ที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้ชมในยุคนั้นเป็นอย่างมาก ด้วยการนำเสนอภาพอันชวนสยองของหญิงสาวที่ถูกมีดโกนกรีดลูกตา หรือมือที่ถูกฝูงมดตอมยุ่บยั่บ)
แม้จะมีแนวคิดที่ต่อต้านเหตุผล ปฏิเสธกฎเกณฑ์และกติกาของสังคม แต่ในกลุ่มเองก็มีกฎ กติกา มารยาทหยุมหยิมมากมายที่สมาชิกกลุ่มต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด และก็พร้อมที่จะไล่ตะเพิดสมาชิกคนใดก็ตามที่ละเมิดกฎออกจากกลุ่มอย่างไร้เยื่อใย ถึงแม้ว่าสมาชิกคนนั้นจะเป็นศิลปินที่โด่งดังและสร้างชื่อเสียงให้กับกลุ่มขนาดไหนก็ตาม แม้แต่ศิลปินที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในกลุ่มอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี เองก็โดนขับไล่ไสส่งออกจากกลุ่มด้วยเหมือนกัน
และถึงแม้จะยุติบทบาทและประกาศยุบกลุ่มลงอย่างเป็นทางการในปี 1969 แต่แนวคิดของเซอร์เรียลลิสม์ก็ยังคงส่งอิทธิพลและสร้างแรงดลบันดาลใจต่อวงการศิลปะอย่างสูงจวบจนกระทั่งปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นผลงานศิลปะในยุคหลังสมัยใหม่ (Postmodern) หรืองานวรรณกรรมอย่าง กลุ่มบีท เจนเนอเรชั่น (Beat Generation) (ที่เป็นต้นธารวัฒนธรรมบุปผาชนหรือฮิปปี้) อัลเลน กินสเบิร์ก, วิลเลียม เอส. เบอร์โรห์ หรือแม้แต่นักเขียนยุคโพสต์โมเดิร์นอย่าง พอล ออสแตร์ รวมถึงให้แรงบันดาลใจกับงานสร้างสรรค์ในสื่ออื่นๆ อย่างงานโฆษณา มิวสิกวิดีโอ ละครเวที และภาพยนตร์ เป็นต้น
Surréalisme เป็นนิทรรศการที่รวบรวมผลงานของศิลปินในขบวนการศิลปะเซอร์เรียลลิสต์ทั้งหลายมาจัดแสดง ทั้งผลงานของศิลปินผู้เป็นที่รู้จักคุ้นหูคุ้นตามิตรรักแฟนศิลปะ และอาจไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างจำนวนมากมายหลายคน
เริ่มต้นนิทรรศการด้วยประตูทางเข้าในรูปของหน้าอสุรกายอ้าปากกว้างให้เราเดินเข้าไปสำรวจความลึกลับน่าพิศวงภายใน ทางเดินคดเคี้ยวไปสู่ห้องแสดงงานวกวนคล้ายเขาวงกต แต่ละห้องถูกแบ่งเป็นแต่ละบทคล้ายหน้าหนังสือที่มีหัวข้อของแต่ละห้องที่บ่งบอกเนื้อหาและเรื่องราวของผลงานที่จัดแสดงเป็นกลุ่มอยู่ภายในอย่าง forests, night, alice, mélusine, dream, eroticism, cosmos ผลงานภาพวาด ประติมากรรม วาดเส้น ศิลปะจัดวาง วัตถุ ภาพพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม บทกวี ไปจนถึงสื่อสิ่งพิมพ์อย่าง โปสเตอร์ นิตยสาร และหนังสือต่างๆ
ถ้าจะให้แนะนำผลงานทั้งหมด พื้นที่ในคอลัมน์นี้คงไม่พอเขียน เลยจะขอแนะนำผลงานที่เป็นไฮไลต์สำหรับเราในนิทรรศการนี้โดยเรียงตามศิลปินเจ้าของผลงาน เริ่มต้นจากผลงานของ มักซ์ แอร์นส์ท ศิลปินชาวเยอรมัน ผู้ทำงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และบทกวี เขาเป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะดาดา และ เซอร์เรียลิสม์ แอร์นส์ทเรียนรู้ศิลปะด้วยตัวเองโดยไม่เคยผ่านการฝึกฝนหรือเล่าเรียนศิลปะที่ไหนเลย แต่เขาก็เป็นศิลปินที่มากความสามารถและเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ การคิดค้นทดลองทางศิลปะของเขากลายเป็นเทคนิคพื้นฐานทางศิลปะจวบจนปัจจุบัน
ผลงานชิ้นเด่นของ มักซ์ แอร์นส์ท ในนิทรรศการนี้คือ L’Ange du Foyer (Fireside Angel) (1937) ภาพวาดที่แอร์นส์ทวาดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่เขาจะลี้ภัยไปยังสหรัฐอเมริกา โดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ทางการเมือง ที่พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน หรือพรรคนาซี ขึ้นสู่อำนาจในเยอรมนี และพรรคฟาสซิสต์ครองอำนาจในอิตาลี รวมถึงฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์ของ นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก เอาชนะฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในสงครามกลางเมืองสเปน (โดยได้รับการสนับสนุนจากนาซีเยอรมันและฟาสซิสต์อิตาลี) และปกครองประเทศสเปนด้วยระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ แอร์นส์ทแสดงความหวาดกลัวต่อเค้าลางแห่งหายนะที่กำลังแพร่ขยายไปทั่วยุโรป (ซึ่งภัยคุกคามส่วนหนึ่งก็มาจากดินแดนบ้านเกิดของเขาอย่างเยอรมนีด้วย) โดยใช้สัญลักษณ์แทนด้วยภาพของเทพแห่งความตาย ที่เป็นเหมือนอสูรกายผู้บดขยี้ทำลายล้างทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางทางมัน
ด้วยผลงานในลักษณะนี้ ทำให้ในเดือนกันยายน 1939 แอร์นส์ถูกจับในฐานะศัตรูต่างด้าว ซึ่งเป็นเจ้าของภาพวาดอันเสื่อมทรามตามนิยามของผู้นำพรรคนาซี และถูกควบคุมตัวในค่ายกักกันนักโทษการเมือง ก่อนที่จะหลบหนีไปยังนิวยอร์กในปี 1941 ในที่สุด
ถ้าจะถามว่างานชิ้นนี้โดดเด่นยังไง ก็เด่นจนได้ขึ้นเป็นโปสเตอร์ของนิทรรศการครั้งนี้
ตามมาด้วยผลงานของซัลบาดอร์ ดาลี ศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน หนึ่งในศิลปินคนสำคัญผู้ถูกจดจำในฐานะสัญลักษณ์และภาพจำของกระแสเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์
ดาลีเป็นสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญและมีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดของลัทธิเซอร์เรียลลิสม์ ด้วยเทคนิควิธีการทำงานที่เขาคิดค้นขึ้นที่เรียกว่า ‘วิธีจิตตาพาธ – วิพากษ์’ (Paranoiac-critical method) หรือวิธีการอันฉับพลันที่ทำให้ได้มาซึ่งความรู้อันไม่ยึดติดกับเหตุผล ด้วยการวิเคราะห์ ตีความอาการเพ้อที่เกิดจากสภาวะหลงผิดหวาดระแวงอย่างเป็นระบบ ด้วยวิธีการนี้ ดาลีกระตุ้นให้ศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ปรับความเป็นจริงของโลกภายนอกให้สอดคล้องกับแรงปรารถนาหรือจินตนาการของพวกเขา ด้วยความที่กลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ในระยะแรก มีจุดอ่อนในการมัวแต่มุ่งเน้นการแสดงออกอย่างอัตโนมัติของจิตบริสุทธิ์และการถ่ายทอดความฝันตรงๆ จนทำให้ขาดการสื่อสารกับโลกภายนอก
ดาลีเชื่อว่าวิธีการของเขาสามารถทำให้ศิลปินเซอร์เรียลลิสม์สื่อสารกับโลกภายนอกได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถแสดงออกถึงความไร้เหตุผลภายในจิตได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น อุปมาเหมือนศิลปินเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทประเภทหลงผิดหวาดระแวงที่เพ้อคลั่ง มองเห็นภาพลวงตา หรือภาพหลอนซ้ำซ้อน หากแต่นำเสนอภาพลวงตาและภาพหลอนเหล่านั้นออกมาอย่างน่าติดตาตรึงใจด้วยทักษะทางศิลปะอันเชี่ยวชาญนั่นเอง พูดง่ายๆ ก็เหมือนกับเอากล้องเข้าไปถ่ายภาพฝันร้ายของคนเสียสติออกมาให้เห็นเป็นภาพนั่นเอง
เบรอตงชื่นชมและยกย่องวิธีการนี้ของดาลีอย่างมาก และกล่าวว่ามันมีศักยภาพในการนำไปปรับใช้กับงานจิตรกรรม บทกวี ภาพยนตร์ และการสร้างสรรค์วัตถุในแบบเซอร์เรียลลิสม์ทุกสิ่งอัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น ประติมากรรม ประวัติศาสตร์ศิลป์ หรือแม้กระทั่งใช้ในการอธิบายหรือตีความข้อเขียนทุกประเภทก็ตาม
หนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของดาลีในลักษณะนี้ที่ปรากฏในนิทรรศการนี้ ก็มีอย่างผลงาน The Great Masturbator (1929) ผลงานอันเป็นผลพวงจากจิตไร้สำนึกของดาลี ในช่วงที่เขากำลังตกหลุมรัก กาล่า (Gala) อดีตผู้ลี้ภัยชาวรัสเซีย ภรรยาของพอล เอลูอาร์ด (Paul Éluard) กวีชาวฝรั่งเศส เพื่อนของดาลี โดยกาล่าใช้เวลาร่วมกับเขา 2-3 วันในสเปน ก่อนจะกลับไปยังปารีสตามสามีเธอที่ล่วงหน้าไปก่อน ภาพวาดนี้เป็นเหมือนกับเครื่องระบายความอัดอั้นตันใจในเชิงอีโรติกของดาลีที่มีต่อกาล่า (ซึ่งกลายเป็นภรรยาในอนาคตของเขาในเวลาต่อมา) ในภาพแสดงถึงศีรษะของดาลี ในรูปกายของอสูรกายผู้ต้องช่วยตัวเองย้อมใจจากการคิดถึงกาล่า นางในดวงใจของเขาผู้ซบหน้ากับเป้ากางเกงสามีของเธอ (เพื่อนของดาลี) ในภาพ ด้านล่างของศีรษะมีตั๊กแตนตัวใหญ่เกาะอยู่ ซึ่งตั๊กแตนเป็นแมลงที่ดาลีเกลียดกลัวอย่างมากตั้งแต่เด็กๆ ที่สื่อถึงความหวาดกลัวของเขาที่จะสูญเสียกาล่าไปตลอดกาลนั่นเอง
และผลงาน Lobster Telephone (1936) หรือโทรศัพท์ล็อบสเตอร์ หนึ่งในวัตถุเซอร์เรียลลิสม์ที่มีชื่อเสียงที่สุดเท่าที่เคยมีมา ด้วยการนำวัตถุ 2 สิ่งที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกันมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน อันถือเป็นแนวคิดหลักของดาดาและเซอร์เรียลลิสม์ โดยดาลีได้นำโทรศัพท์ซึ่งเป็นวัตถุที่คนเราถือเอาไว้แนบชิดสนิทหูอย่างใกล้ชิดมาจับคู่กับกุ้งล็อบสเตอร์ขนาดใหญ่ที่มีก้ามและขาอันแหลมคม ผลงานชิ้นนี้แสดงถึงการหยิบเอาสิ่งมีชีวิตแปลกๆ มาจับคู่กับข้าวของธรรมดาๆ ในชีวิตประจำวันจนดูคล้ายกับความฝัน ซึ่งทำให้เรารู้สึกสับสนและหวาดกลัวต่อสิ่งที่ไม่มีเหตุผลในระดับจิตสำนึก
หรือผลงาน Soft Construction with Boiled Beans (Premonition of Civil War) (1936) ที่ดาลีวาดภาพนี้ก่อนสงครามกลางเมืองสเปนในช่วงปี 1936-1939 เริ่มขึ้นไม่นาน เขากล่าวว่า ภาพนี้เป็นหลักฐานของพลังแห่งการทำนายจากจิตใต้สำนึกของเขา ด้วยการวาดภาพความวิตกกังวลที่มีต่อความรุนแรง สยองขวัญ และความหายนะที่ชาวสเปนจำนวนมากต้องเผชิญในช่วงที่จอมพลฟรานซิสโก ฟรังโก กำลังจะขึ้นสู่อำนาจในเวลาต่อมาได้อย่างชัดเจน ด้วยภาพของอสุรกายรูปร่างพิสดาร 2 ตนกำลังต่อสู้กันอย่างดุเดือดและน่าสยดสยอง ดาลีกล่าวว่าภาพวาดนี้แสดงให้เห็น “ร่างมนุษย์ขนาดมหึมาที่องคาพยพกำลังแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แขนและขาฉีกขาดออกจากกันอย่างน่าสยดสยอง จนทำให้ผู้ชมหายใจไม่ทั่วท้อง” องค์ประกอบในภาพวาดนี้ของดาลีสามารถแสดงถึงความโกรธเกรี้ยวทางการเมืองที่มีต่อเผด็จการอย่างชัดแจ้ง แต่ช่างน่าย้อนแย้งที่หลังจากนั้นไม่นาน ดาลีกลับแสดงการสนับสนุนผู้นำเผด็จการของสเปนอย่างฟรังโกจนออกนอกหน้า และแสดงความเลื่อมใสต่อผู้นำเผด็จการของเยอรมนีอย่าง อดอฟล์ ฮิตเลอร์ ว่า “ไม่มีอะไรเซอร์เรียลไปกว่าผู้นำเผด็จการ” จนทำให้สมาชิกในกลุ่มหลายคนสาบส่งดาลีอย่างเกรี้ยวกราด หัวหน้ากลุ่มอย่างเบรอตง เองก็ประกาศขับดาลีออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มอย่างเด็ดขาด เมื่อมีการแสดงนิทรรศการเซอร์เรียลลิสม์นานาชาติที่นิวยอร์กในปี 1942 เบรอตงก็ไม่ยินยอมให้ดาลีนำผลงานเข้ามาร่วมแสดง เพราะถือว่าเขาไม่มีคุณสมบัติในการเป็นสมาชิกของกลุ่มอีกต่อไป โดยกล่าวหาว่าเขา ‘แสวงหาชื่อเสียงและความสำเร็จทางการค้ามากเกินไป (Avida Dollars)’ จากการที่เขาเริ่มรับงานจ้างวานที่ได้รับค่าตอบแทนสูง อีกทั้งยังสร้างผลงานที่เลียนแบบความสำเร็จของตัวเอง รวมถึงข้อหาที่ร้ายแรงอย่างการ ‘ฝักใฝ่ในลัทธินาซีและเผด็จการ’
แต่ถึงแม้จะถูกขับออกจากกลุ่ม ทว่าท้ายที่สุดแล้ว ดาลีก็ยังเป็นศิลปินที่เป็นเสมือนตัวแทนผู้ถูกจดจำมากที่สุดของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์ ถึงขนาดที่ว่า ถ้าพูดถึงเซอร์เรียลลิสม์ คนก็จะนึกถึงงานของดาลีเป็นอันดับแรกอยู่ดี
ตามมาด้วยผลงานของ เรอเน มากริตต์ ศิลปินเซอร์เรียลิสม์คนสำคัญชาวเบลเยียม ผู้มีผลงานเป็นที่รู้จักมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วยความที่เขาเป็นคนเงียบขรึม สุขุม และค่อนข้างเก็บตัว หากแต่เก็บเอาความพิลึกพิลั่น มหัศจรรย์และความคิดฝันอันน่าตื่นตะลึงทั้งหลายทั้งปวงไปใส่ไว้ในงานศิลปะของเขาจนหมดสิ้น เขาสร้างสรรค์ภาพวาดอันแปลกประหลาดน่าพิศวงจนเกินกว่าที่ศิลปินหัวก้าวล้ำนำหน้าในยุคเดียวกันจะจินตนาการออกมาได้ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่มีรายละเอียดอันเรียบง่าย แต่แฝงเอาไว้ด้วยความน่าพิศวง และมีเรื่องราวที่ดูเหมือนจะเป็นไปได้แต่ในความฝันเท่านั้น
ผลงานชิ้นเด่นๆ ในนิทรรศการครั้งนี้ของมากริตต์ก็มีอย่าง Time Transfixed (1938) ภาพวาดขบวนรถจักรไอน้ำควันพวยพุ่งวิ่งออกมาจากเตาผิงในห้อง มากริตต์อธิบายถึงแรงบันดาลใจในการวาดภาพนี้ว่า เขาตัดสินใจวาดภาพหัวรถจักรเพื่อให้เกิดความลึกลับ เขาจึงวาดภาพสิ่งของอีกอย่างที่ดูธรรมดาสามัญและไร้ความลึกลับอย่างเตาผิงในห้องอาหารลงไปอยู่ในภาพด้วย อนึ่ง ชื่อของภาพนี้แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘เวลาที่กำลังเคลื่อนที่ถูกแทงด้วยมีด’ เขาต้องการให้นักสะสมที่ซื้องานชิ้นนี้ไปแขวนภาพเอาไว้ใต้บันไดเพื่อให้รถไฟทิ่มแทงแขกที่จะเดินขึ้นไปยังห้องบอลรูม แต่ภาพวาดนี้กลับถูกแขวนเอาไว้เหนือเตาผิงแทนเสียอย่างนั้น
และผลงาน The Empire of Light (L’Empire des lumières) (1954) ภาพวาดที่ดูเผินๆ เหมือนภาพทิวทัศน์ของบ้านหลังน้อยบนถนนมืดครึ้มในยามพลบค่ำ ท่ามกลางแสงสลัวรางจากโคมไฟถนนตามปกติธรรมดา แต่เมื่อมองไปยังเบื้องบนกลับกลายเป็นท้องฟ้าสีฟ้าสดใสสว่างไสว มีเมฆสีขาวล่องลอยเป็นปุยอยู่ราวกับเป็นตอนกลางวัน การวาดออกมาด้วยฝีแปรงอันประณีตสมจริงราวกับภาพถ่าย มากริตต์สร้างความรู้สึกขัดแย้งระหว่างความสมจริงเข้ากับความเหนือจริง เพื่อสะกิดให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า สิ่งที่พวกเขามองเห็นอยู่นั้นเป็นความจริงหรือเป็นภาพมายากันแน่?
ในนิทรรศการยังมีอีกผลงานที่ส่งอิทธิพลต่อมากริตต์อย่างสูง นั่นก็คือผลงานของจิตรกรชาวอิตาเลียน จอร์โจ เดอ คิรีโก (Giorgio de Chirico) อย่าง The Song of Love (1914) ภาพวาดถุงมือแพทย์ขนาดยักษ์ข้างหนึ่งที่ถูกหมุดตรึงแขวนห้อยอยู่บนกำแพงตึกรูปทรงประหลาด เคียงข้างด้วยส่วนหัวของรูปสลักแบบกรีกโบราณ ภาพวาดนี้เป็นแรงบันดาลใจให้มากริตต์หันเหจากการทำงานโฆษณาและพาณิชย์ศิลป์ มาเริ่มต้นเริ่มพัฒนาสไตล์การทำงานศิลปะของตัวเองขึ้นมา เขากล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า
“ภาพวาดที่เหมือนกับบทกวีอันเลิศเลอนี้แทนที่ภาพลักษณ์จำเจในการวาดภาพแบบเดิมๆ มันเป็นตัวแทนของการทำลายกรอบทางความคิดแบบเดิมๆ ของศิลปินที่มักจะเป็นนักโทษที่ถูกจองจำโดยพรสวรรค์ สุนทรียะ และความสามารถของตัวเอง ภาพวาดนี้เป็นวิสัยทัศน์ใหม่ที่อาจจะทำให้ผู้ชมรับรู้ถึงความโดดเดี่ยวของตนเองและได้ยินความเงียบสงัดของโลกใบนี้”
ภาพวาดของเดอ คิรีโก กระตุ้นเร้าความคิดและทิศทางแห่งการสร้างสรรค์ของมากริตต์ ด้วยการตอบคำถามของการค้นหาปรัชญาทางศิลปะใหม่ๆ ของเขา นั่นก็คือ บทกวีที่อยู่ในรูปของภาพวาด สำหรับมากริตต์ ภาพวาดเซอร์เรียลิสม์ของเขาก็คือ การเขียนบทกวีด้วยภาพวาดนั่นเอง
นอกจากเหล่าบรรดาศิลปินเพศชายข้างต้นแล้ว ในขบวนการเซอร์เรียลลิสม์ก็มีศิลปินหญิงที่มีผลงานโดดเด่นไม่แพ้กัน หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินคนโปรดของผู้เขียนอย่าง ดอรา มาร์ (Dora Maar) ศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศสผู้เป็นที่รู้จักในฐานะนางแบบและคู่รักของปิกัสโซ แต่อันที่จริงแล้ว ดอรา มาร์ เป็นอะไรมากกว่านั้น เพราะเธอเป็นทั้งช่างภาพ จิตรกร และกวีผู้มีผลงานโดดเด่น ก่อนที่จะพบกับปิกัสโซ ดอรา มาร์ เป็นศิลปินภาพถ่ายหัวก้าวหน้า ผู้ใช้เทคนิคการตัดต่อภาพ (Photomontage) ในการสร้างผลงานอันหาญกล้า แหวกแนว และน่าพิศวง ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความฝันและจิตใต้สำนึก เธอเป็นศิลปินภาพถ่ายรุ่นบุกเบิกของกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์
ในฐานะช่างภาพผู้เปี่ยมพรสวรรค์ ดอรา มาร์ สร้างผลงานที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดดจากเรื่องราวความเป็นจริงบนท้องถนนอันเฉียบคมราวกับบทกวี ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงเหล่านั้นให้กลายเป็นเรื่องเหนือจริงอันหลุดโลก เธอมีความสามารถอันยิ่งยวดในการใช้แรงขับจากสภาวะอันยุ่งเหยิงที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในจิตใจ และความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากมัน ให้กลายเป็นผลงานอันน่าพิศวง
ผลงานของเธอส่งอิทธิพลทางความคิดต่อคนรุ่นหลังอย่างมาก ดอรา มาร์ ถูกยกให้เป็นศิลปินภาพถ่ายเซอร์เรียลลิสต์ที่โดดเด่นที่สุดในยุคสมัย ด้วยการนำเสนอความงามแบบเซอร์เรียลลิสม์อันน่าพิศวง พรั่นพรึง เต็มไปด้วยความหลอนหลอกราวกับฝันร้าย หรือเปี่ยมด้วยความแฟนตาซีเหนือจินตนาการ ในขณะเดียวกัน ภาพของเธอก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความงามด้วย ภาพของเธอสะท้อนตัวตนของเธออย่างเต็มเปี่ยม ในฐานะหนึ่งในศิลปินหญิงรุ่นใหม่ที่เสาะหาที่ทางของตัวเองในโลกศิลปะที่ถือครองโดยเพศชายได้อย่างโดดเด่น
นอกจากนี้ยังมีผลงานอันโดดเด่น พิลึกพิลั่น พิสดาร ของศิลปินในขบวนการเซอร์เรียลลิสม์ อย่าง จอร์โจ เดอ คิรีโก, วิคเตอร์ เบราเนอร์ (Victor Brauner), พอล เดลโวซ์ (Paul Delvaux), ฮานส์ เบลเมอร์ (Hans Bellmer), อัลแบร์โต จาโกเม็ตติ (Alberto Giacometti), เมเร็ธ ออปเพนไฮม์ (Meret Oppenheim), โดโรเธีย แทนนิง (Dorothea Tanning), อองเดร เบรอตง, แมน เรย์, ปิกัสโซ หรือแม้แต่ศิลปินเอเชียอย่าง ทัตซึโอะ อิเคดะ (Tatsuo Ikeda) ผลงานสำคัญๆ หลายชิ้นในนิทรรศการต่างถูกหยิบยืมมาจากพิพิธภัณฑ์ชั้นนำของทั้งยุโรปและอเมริกา มาจัดแสดงในวาระครบรอบ 100 ปี ของขบวนการเซอร์เรียลลิสม์ในครั้งนี้ เรียกได้ว่ามิตรรักแฟนศิลปะทั้งหลาย ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะถ้าพลาดคราวนี้ กว่าเขาจะจัดอีกทีอาจต้องรออีก 100 ปี ก็เป็นได้
นิทรรศการ Surréalisme จัดแสดงที่ ศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแห่งชาติฌอร์ฌ ปงปีดู (The Centre Pompidou) ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2024 – 12 มกราคม 2025
อ้างอิงจาก
หนังสือ Art is Art, Art is Not Art อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ
วารสารหนังสือใต้ดิน ฉบับที่ 14 “เซอร์” กันยายน 2551