ภาพยนตร์ไทย ‘ตาคลี เจเนซิส’ ของชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล เข้าฉายโรงตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา แม้จะในแรกเริ่มหนังอาจไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ในบ้านเกิดนัก (แต่หนังสามารถขายลิขสิทธิ์ได้ในหลายประเทศแล้ว) ทว่าหนังเรื่องนี้ ก็สร้างกระแสและข้อถกเถียงในโลกโซเชียลพอสมควร
ในบทความนี้จะไม่ได้เน้นการวิเคราะห์สาระของหนัง ซึ่งมีหลายแหล่งทำไว้ดีแล้ว ไม่ว่าจะการวิจารณ์ในภาพรวม หรือเจาะประเด็นลูกครึ่งและสงครามเวียดนาม แต่อยากจะพูดถึงสิ่งที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น ‘คำสาป’ 3 อย่างที่แวดล้อมหนังเรื่องนี้ นั่นคือ ‘ไซไฟไทย’ ‘6 ตุลา’ และ ‘ความทะเยอะทะยาน’
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ตาคลี เจเนซิส*
- คำสาปของไซไฟไทย
ผู้เขียนเคยถามนักศึกษาภาพยนตร์ในคลาสว่าหลังจากดูเทรลเลอร์ของ ‘ตาคลี’ แล้วรู้สึกอยากดูหนังหรือไม่ ทั้งห้องพร้อมใจกันส่ายหัว เมื่อสอบถามถึงเหตุผลก็ได้ความว่าตัวอย่างดูประหลาด ด้วยความเป็นไซไฟอีสานมากกว่าไซไฟเท่ๆ แบบที่คุ้นชิน และรู้สึกไม่ค่อยไว้ใจหนังไซไฟแบบไทยๆ ซึ่งนี่เป็นปัญหามาช้านานว่าหนังตระกูลนี้ของไทยมักถูกครหาไปก่อนแล้วว่า ‘ทำไม่ถึงหรอก’ ‘ไม่น่าเชื่อถือ’‘ต้องออกมาดูเด๋อแน่ๆ’ และอีกมากมาย
ผู้กำกับสแตนลีย์ คูบริก (Stanley Kubrick) เคยพูดประโยคคลาสสิกไว้ว่า “สิ่งใดที่ได้คิดหรือเขียนขึ้นมาได้ ก็ย่อมทำเป็นภาพยนตร์ได้” (If it can be written, or thought, it can be filmed.) ซึ่งประโยคที่ว่าก็เป็นที่ถกเถียงพอสมควร เพราะการทำหนังนั้นมีปัจจัยมากมาย เช่น เรื่องเงินทุน หรือในกรณีคูบริกยังมีเรื่องสไตล์การทำงานแบบเพอร์เฟกต์ชั่นนิสต์ (เขาเคยสั่งนักแสดงให้เล่นซ้ำๆ เป็น 100 เทค)
ผู้เขียนทราบข้อมูลอย่างไม่ทางการมาว่าหนึ่งในสาเหตุที่ภาพยนตร์เรื่อง ‘14 Beyond’ (ภาคต่อของ ‘13 เกมสยอง’) ไม่สามารถสร้างได้เมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว ก็เพราะหนังมีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ และยุคนั้นเทคโนโลยีด้านซีจีในไทยยังไม่พัฒนามากนัก หากแต่ ‘ตาคลี’ ก็ทำให้ประโยคของคูบริกดูใกล้เคียงความจริงมากขึ้น เสียงส่วนใหญ่รวมถึงผู้เขียนด้วยไม่ติดขัดเรื่องซีจีหรือบรรยากาศของ ‘ตาคลี’ แต่อย่างใด แม้หนังจะใช้ทุนสร้างเพียง 60 ล้านบาท (ในขณะที่หนัง GDH ที่เน้นหนังดราม่าหรือตลก เรื่องหนึ่งใช้ทุนประมาณ 40-50 ล้าน) อาจจะมีขมวดคิ้วในบางฉาก เช่น แก๊งเด็กโลกอนาคตที่คอสตูมเหมือนวัยรุ่นในเอ็มวีเพลง RS ยุค 90 ถือบีบีกันมากกว่าจะเป็นนักปฏิวัติ
หลายบทวิจารณ์มักเขียนทำนองว่า ‘ตาคลี’ มีแผลตามรอยทางบ้างในเรื่องของบทและการแสดง แต่สำหรับผู้เขียนแล้วนี่คือแผลใหญ่หรือแผลสาหัสเสียมากกว่า ในแง่หนึ่งตัวบทก็ค่อนข้างซับซ้อนและน่าจะตัดทอนไปหลายส่วน (ทราบมาว่าเวอร์ชั่นแรกๆ ของหนังยาว 3 ชั่วโมงครึ่ง) โทนการเล่าก็ขึ้นๆ ลงๆ บางช่วงซีเรียสจริงจัง บางช่วงกลับดำเนินเรื่องอย่างเร็ว ตัวละครเข้าใจอะไรง่ายดาย ซ้ำร้ายการแสดงของนักแสดงหลักก็ไม่ค่อยชักชวนให้อินตามสักเท่าไร ไม่ว่าจะฉากนางเอกพูดปลุกใจเด็กๆ ถึงเรื่องความหวัง หรือฉากพระเอกพูดอย่างเท่ว่าเขาเลือกจะอยู่ที่โลกอนาคตต่อไป ทั้งหมดล้วนออกมาประดักประเดิด
เช่นนั้นแล้วสำหรับผู้เขียน ปัญหาของ ‘ตาคลี’ จึงไม่ได้อยู่ที่ความเป็นไซไฟ หากเป็นองค์ประกอบด้านภาพยนตร์ต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น และเมื่อหนังยิ่งดำเนินไปเหล่าตัวละครเริ่มกลายสภาพเป็นสมการเคมีบางอย่างที่ผลักเส้นเรื่องไปข้างหน้าเรื่อยๆ แต่ไม่อาจทำให้รู้สึกอะไรกับพวกเขาได้เลย จนไม่สนใจ ไม่เห็นใจ ไม่แยแสชีวิตของตัวละครเหล่านี้อีกต่อไป
- คำสาปของ 6 ตุลา
แม้ประเทศเราจะพัฒนาจากยุคที่หนังสือเรียนวิชาสังคมพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เพียง 2 บรรทัด มาถึงยุคที่คนรุ่นใหม่สามารถหาข้อมูลเรื่องนี้ทางเว็บไซต์หรือยูทูบได้ภายใน 3 วินาที แต่ดูเหมือนยังไม่มีภาพยนตร์ไทยเรื่องใดที่พูดถึง 6 ตุลาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะด้วยเรื่องความสุ่มเสี่ยงหรือความละเอียดอ่อนแบบไทยๆ
หากย้อนดูในรอบ 15 ปี มีภาพยนตร์ไทยพูดถึง 6 ตุลาอยู่จำนวนหนึ่ง แต่มักจะเป็นเพียงฉากหลังบางๆ อย่าง ‘เชือดก่อนชิม’ (2552) หรือ October Sonata (2552) หรือหากจะพูดถึงฉากฆ่าล้างนักศึกษาก็มักจะเป็นอุปมาที่ต้องแกะรหัส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผีแบบ ‘มหา’ลัยสยองขวัญ ตอน ลิฟต์แดง’ (2552) หรือ ‘ดาวคะนอง’ (2559) ที่อาจเป็นกรณีต่างออกไป บางคนดูจนจบยังไม่รู้เลยว่าหนังเกี่ยวกับ 6 ตุลาอย่างไร เนื่องด้วยผู้กำกับเลือกวิธีการเล่าเรื่องที่ไม่เป็นไปตามแบบแผน หรือจะเรียกว่าพิสดารก็ยังได้
จุดเด่นซึ่งบางคนอาจมองเป็นข้อเสียของ ‘ตาคลี’ คือการผสมเรื่องราวหลากหลาย มีทั้งเดินทางข้ามเวลา ความเชื่ออีสาน ไคจู ไปจนถึงซอมบี้ ซึ่งส่วนนี้ผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องของการทำเอามันเอาสนุก มากกว่าการยัดมาอย่างสะเปะสะปะ เพียงแต่อาจจะผสมได้ไม่ลงตัวนัก อย่างไรก็ดี พาร์ทของ 6 ตุลาเป็นส่วนที่ค่อนข้างน่าประทับใจของหนัง มีการเฉลยว่าตัวละครหนึ่งเป็นนักศึกษาที่รอดชีวิตมาจากการสังหารหมู่นักศึกษา เขาถูกโยกย้ายมิติเวลาเพื่อลบเลือนให้หายไป สะท้อนได้ดีของความพยายามฝังกลบเรื่อง 6 ตุลาในสังคมไทย
แม้จะไม่ถึงขั้นตะโกนออกมาชัดๆ ว่านี่คือเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่ผู้สร้างก็ใส่มาทั้งเสียงจากวิทยุยานเกราะ หรือซีจีเด็กหัวเราะยืนดูคนถูกแขวนคอ ส่วนฉากสังหารหมู่ทำออกมาได้ทรงพลังและน่าสะเทือนใจอยู่ไม่น้อย จะติดก็ตรงคอสตูม (อีกแล้ว) ของฝั่งไล่ล่านักศึกษาที่มาในชุดฟอร์มสีแดงล้วน แล้วดันออกมาเหมือนแก๊งลูกน้องของตัวร้ายในหนังซูเปอร์ฮีโร่มากกว่าจะดูน่าสะพรึง
ในอีกด้าน ศิลปะกระแสรองที่นำเสนอถึง 6 ตุลานั้นมีไม่น้อย มีหนังสั้นหลายเรื่องที่เอาฟุตเทจที่ธรรมศาสตร์มาใส่ มารีมิกซ์ มีตัดต่อใหม่ จนยุคหนึ่งต้องตั้งคำถามกันว่านี่คือการผลิตซ้ำความรุนแรงหรือไม่เคารพผู้เสียหายหรือเปล่า ส่วนฝั่งละครเวทีโรงเล็กก็มีประเด็น 6 ตุลาบ่อยมาก ช่วงเดียวกับที่ ‘ตาคลี’ ฉายโรงมีละครเวทีเรื่อง ‘รักดงดิบ’ แสดงพอดี ครึ่งแรกเล่าถึงเหล่าสหายที่หนีเข้าป่าหลัง 6 ตุลา ส่วนครึ่งหลังว่าด้วยหนุ่มสาวยุคหลังการประท้วงปี 2563
จากการได้ดู ‘ตาคลี’ และ ‘รักดงดิบ’ ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน แวบหนึ่งผู้เขียนก็รู้สึกถึงความเป็นวังวนที่หนีไม่พ้น แต่สักพักก็ต้องตั้งสติกับตัวเอง สาเหตุที่ศิลปะ หรือหนังใดๆ ยังต้องบอกเล่าถึง 6 ตุลา ก็เพราะนี่คือประวัติศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย จนเราไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้โดยง่าย เหมือนกับที่ตัวละครนักศึกษาใน ‘ตาคลี’ หันมาพูดกับคนดูว่า “อย่าลืมเรานะ”
- คำสาปของความทะเยอทะยาน
อันที่จริงผู้เขียนไม่แปลกใจนักที่จะมีกระแสแซะ ค่อนขอด ปรามาส ‘ตาคลี’ ตั้งแต่ยังไม่ทันฉายหรือคำเหล่านั้นมาจากคนที่ยังไม่ได้ดู อาจจะด้วยอคติต่อหนังไทยหรือหนังไซไฟไทยตามที่กล่าวไปแล้ว นอกจากนั้นก็ยังเห็นความพยายามโยงหนังไปเรื่องการเมืองแบบผิดฝาผิดตัว เช่นการบอกว่าเป็นหนังซ้ายจัด (!?) ซึ่งพูดแบบแฟร์ๆ แล้วเนื้อหาของหนังว่าด้วยการต่อสู้ต่ออำนาจกดทับถือเป็นประเด็นคลาสสิกที่ถูกบอกเล่าในหนังหรือวรรณกรรมมาทุกยุคสมัย ตราบใดที่สังคมยังมีความอยุติธรรม
อีกเรื่องคือประเด็นคำว่า ‘ทะเยอทะยาน’ สืบเนื่องจากบทวิจารณ์ต่อตาคลี มักจะมีคำนี้พ่วงมาด้วย แรกๆ ก็เป็นเรื่องขำขันทำนองชาเลนจ์กันว่า “จงเขียนถึง ‘ตาคลี’ โดยห้ามมีคำว่าทะเยอะทะยาน” แต่หลังๆ ก็ชักเลยเถิดประหนึ่งมันเป็นคำต้องห้ามหรือคำที่ไม่ควรเอ่ยถึง ใครวิจารณ์โดยมีคำนี้ก็จะถูกแซวบ้างเสียดสีบ้าง หรือใครไม่มีก็จะมีคอมเมนต์มาทวงถามว่า “ไหนล่ะครับคำว่าทะเยอทะยาน”
สำหรับผู้เขียนแล้ว ในเมื่อผู้สร้างเขาทะเยอทะยาน ก็ต้องบอกว่าเขาทะเยอทะยานจริงๆ แต่คำนี้ไม่ใช่คำชมด้านบวกโดยสัมบูรณ์ จากข้อติติงที่ผู้เขียนสาธยายไปอาจสรุปได้ว่าเป็นความทะเยอทะยานที่มีหลายจุดทำได้ไม่ถึง ไม่สำเร็จ หรือไม่น่าพอใจนัก แต่ผู้เขียนก็หวังว่าผู้คนจะสละเวลาพิจารณาถึงคำนี้อย่างถี่ถ้วนสักนิด ก่อนจะพิมพ์เป็นคำด่าสนุกๆ ทิ้งไว้เป็นดิจิทัลฟุตปริ้นต์ …แต่ที่ว่ามานี้ก็อาจจะเป็นความหวังที่ทะเยอทะยานเกินไปก็ได้