‘ตาลิบัน’
คำคำนี้คนไทยเองคงเคยได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน จากหน้าหนังสือพิมพ์และบทความรายการต่างๆ ความรู้สึกที่มีก็คงเหมือนกับการได้ยินชื่อปีศาจร้ายกระหายเลือดที่นิยมแต่ความรุนแรง และภาพที่ตามมาก็คือชายหนวดครึ้มโพกผ้าถือปืนกลอยู่กลางทะเลทราย แต่คงมีเพียงแค่ไม่กี่คนที่ได้รู้ที่มาที่ไปว่ากลุ่มก่อการร้ายที่มีอิทธิพลมากที่สุดในอัฟกานิสถานนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร
หากจะเล่าประวัติศาสตร์ของตาลิบัน บางทีเราอาจจะต้องย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นของประเทศอัฟกานิสถานเสียก่อน เพื่อให้เราสามารถเข้าใจสภาพแวดล้อมที่สร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างถี่ถ้วน
ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของชาติอัฟกานิสถานในรูปแบบปัจจุบัน เริ่มต้นย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 300 ปีก่อน เมื่อ Ahmad Shah Durrani กษัตริย์องค์แรกในราชวงศ์ Durrani ได้ยึดอำนาจขึ้นปกครองดินแดนแถบนี้ที่แตกออกมาจากจักรวรรดิเปอร์เซียอีกที เขาสามารถรวบรวมเผ่าพาชตุนที่แตกกระจายอยู่ทั่วให้เป็นหนึ่งเดียวภายใต้อำนาจของเขาได้ และภายในเวลาไม่กี่ปีสามารถเข้ายึดครองดินแดนที่เป็นอัฟกานิสถานในปัจจุบัน รวมไปถึงปากีสถาน และส่วนหนึ่งของอิหร่านเอาไว้ได้ หลังจากนั้นก็มีการแย่งชิงราชบัลลังก์กันไปกันมาหลายต่อหลายครั้ง
มีคำกล่าวหนึ่งในแวดวงนักประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า Geography is destiny หรือภูมิศาสตร์คือสิ่งลิขิตชะตา และเนื่องด้วยอัฟกานิสถานอยู่ในทำเลทองของสามแยกแห่งเอเชียกลาง คือเป็นทางผ่านระหว่างเปอร์เซีย (อิหร่าน) อินเดีย และ จักรวรรดิรัสเซีย ดินแดนแห่งนี้จึงต้องพบกับภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่รบกวรการเติบโตและพัฒนาของประเทศแห่งนี้เรื่อยมา นั่นก็คือการเข้าแทรกแซงจากชาติมหาอำนาจ
ในการแข่งขันชิงอำนาจระหว่างจักรวรรดิอังกฤษ และรัสเซียในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่เรียกกันทั่วไปว่า The Great Game อัฟกานิสถานคือถ้วยรางวัลที่สำคัญที่สุดในการชิงชัยกันระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง เพราะนี่คือดินแดนที่เป็นกุญแจสำคัญในการเข้าถึงมหาสมุทรอินเดียของรัสเซีย ตลอดระยะเวลาเกือบหนึ่งศตวรรษดินแดนแห่งนี้ลุกเป็นไฟด้วยสงครามที่ถูกเติมเชื้อไฟจากมหาอำนาจต่างชาติ จนเกิดสงคราม Anglo-Afghan War ระหว่างอังกฤษและอัฟกานิสถานถึง 3 ครั้ง
สงครามทั้งสามครั้งมีบริบทที่แตกต่างกันไป แต่ทุกครั้งล้วนแล้วแต่มีเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่มหาอำนาจผู้รุกรานได้แสดงความไม่เคารพในธรรมเนียมและขนบของคนท้องถิ่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามแทบทั้งสิ้น และนี่เป็นลักษณะที่สำคัญของคนที่นี่ คือความมีความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเองสูงมาก ยึดมั่นศาสนาเหนือสิ่งอื่นใด และพร้อมเสมอที่จะสู้รบเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีตนและวิถีของตนไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มชาวอัฟกันที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แต่กระจายตัวกันอยู่ตามหุบเขา คนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงในโลกสากลน้อยมาก เป็นกลุ่มคนที่คงอยู่วิถีโบราณอันอิงศาสนาที่มั่นคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นตัวแปรสำคัญในตัดสินผลลัพธ์ของการทำสงครามแทบจะทุกครั้ง ทั้งในฐานะกองกำลังสู้รบ และในฐานะแรงทางการเมืองสนับสนุนผู้นำคนต่างๆ เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงสงครามครั้งปัจจุบันที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2001
ตลอดศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจหลายครั้ง มีทั้งกษัตริย์ที่พยายามหลุดจากอิทธิพลของตะวันตก กษัตริย์ที่เป็นเพียงเบี้ยของตะวันตก กษัตริย์ที่รวมชาติสำเร็จ กษัตริย์ที่แบ่งแยกดินแดนออกเป็นฝั่งเป็นฝ่าย แต่ละคนต่างมีลักษณะและเรื่องราวที่น่าสนใจของตัวเองที่แตกต่างกันไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามขั้วอำนาจ ก็คือความสำคัญของศาสนาในสังคมของชาวอัฟกัน หนึ่งในเรื่องราวของตัวละครที่มีสีสันเป็นพิเศษในประวัติศาสตร์ของอัฟกานิสถานสามารถแสดงถึงความจริงข้อนี้ได้อย่างชัดเจนและน่าสนใจ
Amanullah Khan (อมานุลเลาะห์คาน) เป็นกษัตริย์ในราชวงศ์ Barakzai ขึ้นครองราชย์ระหว่างปี 1919 ถึงปี 1926 และในขณะที่กษัตริย์ (หรือ Khan หากจะเรียกแบบคนอัฟกานิสถาน) คนอื่นๆ ก่อนหน้า ไม่ว่าจะมีนโยบายแบบไหน หรือจะโหดเหี้ยมกับประชาชนปานใด ทุกคนก็พยายามจะห่อตัวเองเอาไว้ในคราบของมุสลิมผู้เปี่ยมศรัทธาเสมอ เพราะนั่นคือคุณลักษณะข้อแรกที่ผู้นำประเทศแห่งนี้ต้องมี จากนั้นจะดีจะเลวก็ค่อยว่ากันอีกที
อมานุลเลาะห์คานเองก็ประกาศตัวเป็นมุสลิม แต่วิถีที่เขาได้นำมาใช้ในการปกครองประเทศมันช่างแตกต่างจากสิ่งที่คนอัฟกันคุ้นชินออกไปอย่างมาก พระองค์เริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยการเปิดโรงเรียนที่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงสามารถเข้าเรียนได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่แสนแปลกใหม่สำหรับชาวอัฟกัน จากนั้นก็สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงความคิดให้ผู้ชายทุกคนมีภรรยาเพียงแค่คนเดียว ต่างจากธรรมเนียมที่เคยมีมา และยังนำความคิดสมัยใหม่จากชาติตะวันตก ทั้งเรื่องการร่างกฎหมาย การแต่งกาย การวางตัวของเพศชายเพศหญิงในสังคมเข้ามาในอัฟกานิสถาน ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นการปฏิรูปที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากๆ และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไปก็ย่อมต้องก่อให้เกิดกระแสต่อต้านขึ้นมาอย่างช้าๆ ในสังคม
นอกจากจะทำการปฏิรูปสังคมครั้งใหญ่แล้ว อมานุลเลาะห์คานยังท้าทายอำนาจของอังกฤษด้วยการเปิดสถานทูตอัฟกานิสถานในประเทศต่างๆ ทั่วทั้งยุโรป ทั้งๆ ที่จากเดิมที่มีข้อตกลงกับอังกฤษไว้ว่าจะให้อังกฤษเป็นผู้ดูแลนโยบายต่างประเทศทั้งหมดของอัฟกานิสถาน การทำเช่นนี้ถือเป็นการตบหน้าอังกฤษจังๆ และเป็นการสร้างศัตรูที่ทรงอำนาจจากภายนอกขึ้นมาพร้อมๆ กับการสร้างศัตรูจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมภายในประเทศของตัวเองขึ้นมา
ฟางเส้นสุดท้ายขาดเมื่อตอนที่อมานุลเลาะห์คานออกทัวร์ยุโรปพร้อมกับราชินีของพระองค์ที่ชื่อว่า Queen Soraya Tarzi (โซรายา ทาร์ซี) การเดินทางไปยุโรปครั้งนั้นของทั้งคู่ได้รับผลตอบรับอย่างดีจากประเทศต่างๆในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส เยอรมัน และประเทศอื่นๆ ต่างจัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างสมเกียรติให้กับทั้งสองพระองค์ ซึ่งในงานเลี้ยงทุกครั้งอมานุลเลาะห์คานก็จะปรากฏตัวในชุดสูทเต็มยศ ควบคู่กับราชินีในชุดราตรีอันแสนสวยงาม ที่สำคัญคือมีหลายครั้งในภาพถ่ายปรากฏศีรษะราชินีไร้ผ้าคลุมหน้า เผยเนื้อหนังมังสาจนถึงหัวไหล่ ซึ่งหากดูจากสายตาของคนยุโรปหรือคนไทยก็คงบอกว่าสวยงามดี แต่หากผ่านสายตาของประชากรส่วนมากของอัฟกานิสถานผู้คุ้นชินกับการเห็นผู้หญิงคลุมร่างกายปกปิดตั้งแต่หัวจรดเท้า ประชากรของประเทศที่ยังเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่เสื่อมเสียวงศ์ตระกูลมากๆ หากยอมให้ผู้ชายนอกเหนือจากคนในบ้านได้เห็นหน้าเห็นตาผู้หญิงในครอบครัวตน และนับประสาอะไรกับการเห็นไปจนถึงไหล่! สำหรับคนเหล่านี้ ภาพถ่ายของราชินีในค่ำคืนเหล่านั้นเหมือนหลุดออกมาจากฝันร้าย รูปถ่ายที่โดนกระจายไปทั่วอัฟกานิสถานอย่างรวดเร็วเหล่านั้นเป็นสัญญาณบ่งบอกอย่างชัดเจนว่าอมานุลเลาะห์คานไม่ใช่ผู้นำที่เหมาะสมสำหรับประเทศของพวกเขาอีกต่อไป
อมานุลเลาะห์คานกลับจากยุโรปสู่ประเทศที่ไม่ใช่ของพระองค์อีกต่อไป ประชาชนออกมาต่อต้านการปฏิรูปต่างๆ ที่พระองค์สร้างไว้อย่างรุนแรง เกิดการเคลื่อนไหวต่อต้านนำโดยกลุ่มอนุรักษ์นิยมต่างๆ ทั่วประเทศ จนท้ายสุดคนที่ขับไล่อมานุลเลาะห์คานออกไปได้ก็คือ Amir Habibullah (อาเมียร์ ฮาบิบูลเลาะห์) ผู้มีสมญานามว่า Bachi-Saqaw หรือลูกชายของคนหาบน้ำ ซึ่งถือเป็นสถานะที่แทบจะต่ำสุดในสังคมอัฟกานิสถาน ฮาบิบูลเลาะห์เริ่มต้นจากการเด็กบ้านนอกผู้เติบโตมาเป็นโจรในหุบเขา ปล้นไปปล้นมาจนมีลูกน้องเยอะแยะ วันดีคืนดีก็ยกทัพเข้ามายึดปราสาทและขับไล่อมานุลเลาะห์ออกนอกประเทศ และตั้งตนเป็นผู้ปกครองแทนโดยที่ไม่รู้เรื่องการปกครองอะไรเลย กลายเป็นกษัตริย์องค์แรกของอัฟกานิสถานที่ไม่ได้มาจากราชวงศ์เดิม และคนแรกที่เป็นชาวทาจิก ไม่ใช่ชาวพาชตุน แต่ปกครองได้อยู่ไม่กี่เดือนก็ถูกบรรดาเครือญาติของอมานุลเลาะห์วางแผนฆ่าทิ้งและทวงบัลลังก์คืน ส่วนตัวอมานุลเลาะห์เองต้องอพยพหนีไปอยู่สวิตเซอร์แลนด์และตายที่นั่น ที่สวิตเซอร์แลนด์ เขาต้องทำอาชีพทำเฟอร์นิเจอร์ขายและสุดท้ายก็ตายอย่างยากจน ถูกหลงลืมและไม่ได้มีบทบาททางการเมืองใดๆ ในอัฟกานิสถานอีกต่อไป
เรื่องราวของอมานุลเลาะห์แสดงลักษณะสำคัญของการเมืองอัฟกานิสถานสองประการให้เราได้เห็น หนึ่งคือในเกมส์อำนาจที่แสนรุนแรงนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้กุมอำนาจรัฐจะต้องเสียชีวิตจากการชิงบัลลังก์ หรือไม่ก็ต้องพบกับบั้นปลายชีวิตที่แสนอาภัพ จนเรียกได้ว่าแทบไม่มีคนไหนได้ปกครองจนแก่ตาย ส่วนใหญ่ตายก่อนทั้งนั้น อย่างที่สองคือสภาพการเมืองที่ศาสนาอยู่เหนือทุกสิ่ง แนวคิด Secular เป็นสิ่งแปลกปลอมสำหรับที่นี่ และคาดว่าคงจะเป็นเช่นนี้ไปอีกนาน เพราะแม้แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่ากฎหมายทุกข้อต้องไม่ขัดกับอิสลาม และรัฐธรรมนูญทุกข้อสามารถแก้ไขได้หมด เว้นไว้แต่เพียงข้อนี้ เพราะฉะนั้นการมองการเมืองอัฟกานิสถานจะไม่สามารถมองผ่านแว่นที่แบ่งแยกทางโลกกับทางธรรมออกจากกันเหมือนตามแนวคิดแบบพุทธเถรวาทในไทย เพราะในประเทศที่มีวิถีอิสลามลึกซึ้งเฉกเช่นที่นี่ การเมืองกับศาสนาไม่เคยถูกแยกออกจากกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
ภายหลังการจากไปของฮาบิบุลเลาะห์ ราชวงศ์บารัคไซก็ขึ้นมามีอำนาจต่อจนถึง ‘ยุคทอง’ ภายใต้การปกครองของ Mohammed Zahir Shah (โมฮัมหมัด ซาเฮีย ชาร์) ผู้ปกครองอัฟกานิสถานยาวนานถึง 40 ปี ตั้งแต่ปี 1933-1973 ในยุคสมัยของพระองค์อัฟกานิสถานได้พบกับการเมืองที่มีเสถียรภาพอาจจะครั้งแรกตั้งแต่ตั้งประเทศมา จากเดิมที่มีแต่ประวัติของการแย่งชิงราชสมบัติกันซ้ำแล้วซ้ำอีก ภายในยุคสมัยของซาเฮียชาร์ ตระกูลบารัคไซได้มีการจัดสรรอำนาจกันอย่างเป็นระบบและร่วมกันปกครองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีซาเฮียชาร์เป็นเหมือนแค่ผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของประเทศ แต่หน้าที่บริหารปกครองจริงๆเป็นของทั้งตระกูลซึ่งนำโดย Mohammed Daoud Khan (โมฮัมหมัด ดาอูด คาน) ลูกพี่ลูกน้องของซาเฮียชาร์ ผู้เป็นผู้กุมอำนาจตัวจริงในรัฐบาล และหลังจากช่วยซาเฮียชาร์ปกครองมาถึง 40 ปี ในปี 1973 ดาอูด คาน ก็ตัดสินใจยึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร แต่เป็นรัฐประหารในที่ไม่มีการนองเลือด เป็นเหมือนการส่งผ่านอำนาจอย่างสงบระหว่างเครือญาติ ดาอูดคานตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนแรกของอัฟกานิสถาน และยุติระบบกษัตริย์ที่ดำรงอยู่ในอัฟกานิสถานมาเกือบ 300 ปี
ในช่วงระยะเวลาเกือบ 50 ปี ระหว่างปี 1933-1978 เป็นยุคที่อัฟกานิสถานได้พบกับการเติบโตในหลายๆด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมือง นี่เป็นยุคที่มีความสงบเป็นส่วนใหญ่ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลมาเยือนจากทั่วทุกมุมโลก มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและวิทยาการกับนานาชาติ ทุกอย่างเกิดภายใต้การนำของดาอูดคานและตระกูลบารัคไซ ผู้มีชื่อเสียงว่าแม้เป็นเผด็จการ กุมอำนาจไว้เพียงตระกูลเดียวแต่ขณะเดียวกันก็มีหัวคิดแบบนักปฏิรูปหัวสมัยใหม่ รัฐบาลนี้ได้นำความคิดต่างๆ จากตะวันตกเข้ามาในอัฟกานิสถานหลายประการ ทั้งการศึกษาแบบเสมอภาค ทั้งเรื่องการมีรัฐธรรมนูญ ฯลฯ แต่จะต่างจากอมานุลเลาะห์ตรงที่ดาอูดคานและคณะทำการปฏิรูปสังคมอย่างเชื่องช้าและระวังระไวมากกว่าที่อมานุลเลาะห์คานเคยทำมากนัก
ช่วงเวลา 50 ปีนี้ทำให้คนอัฟกานิสถานหลายคนเชื่อว่าหลังจากที่ประเทศต้องหยุดอยู่กับที่มาเป็นเวลานานจากสงครามแย่งชิงอำนาจภายในและการแซกแทรงจากมหาอำนาจภายนอก ในที่สุดอัฟกานิสถานก็จะได้เติบโตต่อไปให้ทันกับวิถีโลกเสียที ในที่สุดความเจริญรุ่งเรืองก็จะมาเยือนประเทศอันเต็มไปด้วยบาดแผลฟกช้ำดำเขียวแห่งนี้เสียที
แต่แล้วทุกสิ่งก็พังทลายลงอีกครั้ง เมื่อดาอูดคานและครอบครัว โดนลอบสังหารในวันที่ 28 เมษายน 1978
ในช่วงสิบกว่าปีสุดท้ายของสงครามเย็น อุดมการณ์คอมมิสนิสต์และอิทธิพลของสหภาพโซเวียตได้แพร่กระจายไปทั่วเอเชียกลาง พื้นที่ของดินแดนที่อยู่รายรอบอัฟกานิสถานล้วนถูกยึดครอง กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็นอุซเบกิสถาน คาซัคสถาน จอร์เจียร์ ฯลฯ
โดยตลอดหลายทศวรรษก่อนหน้านั้น ทั้งอเมริกา และโซเวียตรัสเซีย คู่กรณีทั้งสองในสงครามเย็น ก็ต่างหมายปองจะแผ่อิทธิพลเข้ามาในอัฟกานิสถานด้วยกันทั้งคู่ ด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างอะไรจากอังกฤษและจักรวรรดิรัสเซียมากนัก แต่ในตอนแรกๆ อัฟกานิสถานกลับกลายเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันครั้งนั้น เพราะการแผ่อิทธิพลดังกล่าวมาในรูปแบบของการผูกมิตรมากกว่าการยึดครอง อัฟกานิสถานได้ทั้งเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่จากอเมริกา ถนนไฮเวย์เชื่อมต่อเมืองทั้งประเทศจากรัสเซีย และอื่นๆทอีกมากมาย แต่ในขณะที่ประชาชนและสังคมทั่วไปได้รับผลประโยชน์จากสิ่งก่อสร้างเหล่านี้พอควร สิ่งที่เพิ่มขึ้นช้าๆ อย่างเลี่ยงไม่ได้ก็คืออิทธิพลของทั้งสองประเทศในการเมืองของอัฟกานิสถาน
จนกระทั่งในปี 1978 กลุ่มกบฏคอมมิวนิสต์ชาวอัฟกันภายใต้การสนับสนุนของรัสเซีย ได้ทำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำการสังหารครอบครัวของประธานาธิบดีดาอุดคานทั้งครอบครัว และเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากระบบสาธารณรัฐที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข สู่ระบบสังคมนิยม และเปลี่ยนชื่อประเทศจากสาธารณรัฐอัฟกานิสถาน เป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยอัฟกานิสถาน
โดยรัสเซียยอมให้พรรคคอมมิวนิสต์ในอัฟกานิสถานปกครองประเทศกันเองอยู่ปีหนึ่ง แต่พอเห็นว่าคุมกันไม่ได้ ก็ตัดสินใจยกกองทัพบุกเข้ามายึดกรุงคาบุลเสียเอง เป็นจุดเริ่มต้นของสงครามระหว่างโซเวียตและอัฟกานิสถานเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม1979 และว่ากันว่าการบุกเข้ามาในครั้งนั้น กองทัพรถถังของรัสเซียได้เคลื่อนตัวผ่านถนนที่รัสเซียเองเป็นผู้ช่วยเหลือรัฐบาลอัฟกานิสถานก่อสร้างเมื่อหลายปีก่อนหน้า
และหากถามว่าสภาพหลังจากนั้นอีก 9 ปี 1 เดือนที่ประเทศอัฟกานิสถานโดนยึดครองโดยกองทัพแดงอันแสนทรงแสนยานุภาพของสหภาพโซเวียตเป็นอย่างไร ก็ขอให้นึกถึงเรื่องของอมานุลเลาะห์กษัตริย์นักปฏิรูปผู้มาก่อนกาลที่ได้เล่าไปแล้ว หากว่าการยอมให้ราชินีของตนโชว์เนื้อหนังมังสาในที่สาธารณะเป็นเรื่องใหญ่มากพอที่จะทำให้กษัตริย์พระองค์หนึ่งโดนขับไล่ออกนอกประเทศได้ ลองคิดดูว่าการพยายามบังคับใช้ระบบคอมมิวนิสต์ที่ไม่เชื่อในศาสนาและไม่อนุญาตให้คนมีศาสนาจะได้รับผลตอบรับเช่นไรในดินแดนแห่งนี้