จากการสอบถามนักศึกษาคณะครุศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีเพียง 10% เท่านั้นที่อยากจบไปเป็นครู ซึ่งต่างจากฟินแลนด์ที่มีประชากรประมาณ 5 ล้านกว่าคน แต่มีครูถึง 80,000 คน และบุคลากรด้านการศึกษาอื่นๆ อีก 50,000 กว่าคน
ผลสำรวจของสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพเยาวชน (สสค.) จากความเห็นครูไทย 210 คน พบว่ามี 6 ปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ของครู คือ ภาระหนักนอกเหนือจากการสอน, จำนวนครูไม่เพียงพอ สอนไม่ตรงกับวุฒิ,ขาดทักษะด้าน ICT , ครูรุ่นใหม่ขาดจิตวิญญาณ ขณะที่ครูรุ่นเก่าไม่ปรับตัว, ครูสอนหนัก ส่งผลให้เด็กเรียนมากขึ้น และขาดอิสระในการจัดการเรียนการสอน
Young MATTER จะพาไปดูกันว่า ประเทศที่ถูกจัดให้เป็นอันดับต้นๆ ในด้านการศึกษาเขาดูแลครูกันอย่างไร ทำไมใครๆ ก็อยากเป็นครู
ฟินแลนด์ แม้ไม่ใช่แฟนแต่จะช่วยเติมแทนในสิ่งที่ครูขาด
รัฐบาลฟินแลนด์มีแนวคิดว่าประชากรคือทรัพยากรที่สำคัญ ดังนั้นการจะพัฒนาประเทศได้ต้องเริ่มจากการพัฒนาคุณภาพประชากร รัฐจึงเริ่มให้ความสำคัญกับการศึกษาและอาชีพครู ครูฟินแลนด์ทุกคนจบจากคณะศึกษาศาสตร์ และต้องจบปริญญาโทก่อนถึงจะสามารถสมัครคัดเลือกเป็นครูได้ แถมระหว่างการเป็นครูก็ยังต้องพัฒนาศักยภาพตัวเองอยู่เรื่อยๆ ตามกฎหมายกำหนดให้ครูมีเวลาปีละ 3 วัน ในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตัวเอง เป็นการเสริมความเชี่ยวชาญหรือความสนใจของครูในด้านต่างๆ อย่างการคอร์สพัฒนาทักษะใหม่ๆ
ฟินแลนด์เน้นความรู้ของนักเรียนเป็นสิ่งสำคัญดังนั้นเมื่อมีการประเมินคุณภาพครูก็จะไม่มีหน่วยงานเข้าไปประเมินแต่อย่างใดแต่จะมีผู้เชี่ยวชาญมาสังเกตช่วยเหลือเรื่องการสอนและเติมในสิ่งที่ครูคนนั้นขาดเพื่อให้เด็กได้รับประโยชน์มากที่สุด
สิงคโปร์ เงินเดือนสู้งสูง แถมลาสอนไปหาความรู้เพิ่มเติมได้
รัฐบาลสิงคโปร์เชื่อว่า ‘ครู คือ หัวใจของการศึกษา’ จึงให้ความสำคัญและส่งเสริมวิชาชีพครูให้เป็นอาชีพที่มีเกียรติ จริงจังในการคัดเลือกคุณภาพ และให้เงินเดือนสูงประมาณ 3,360 ดอลลาร์สิงคโปร์ (82,290 บาท) เพื่อดึงดูดคนเก่งให้มาเป็นครูกันมากขึ้น ว่าที่ครูทุกคนต้องเข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพครูจากสถาบันการศึกษาแห่งชาติสิงคโปร์ (National Institute of Education : NIE ) เป็นเวลา 1 ปี เมื่อปฏิบัติหน้าที่ครูแล้วก็ต้องเข้ารับการประเมินและพัฒนาทุกปี หากไม่ผ่านการประเมินในครั้งที่ 3 ก็จะต้องออกจากการเป็นครู และระหว่างที่ทำหน้าที่เป็นครูก็สามารถลาสอนเพื่อไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมได้
ในด้านการทำงาน ครูต้องสอน 30-32 คาบต่อสัปดาห์ ซึ่งต้องใส่ใจในการสอนเป็นอย่างมากเพราะผลการเรียนของเด็กมีผลต่อการประเมิน นอกจากนี้ครูยังต้องติดต่อกับผู้ปกครองอย่างสม่ำเสมอ และทุกครั้งที่ติดต่อผู้ปกครองจะมีการบันทึกไว้ การประเมินผลครูจะแบ่งเป็นระดับตั้งแต่ A – E ครูที่ได้ E ต้องปรับปรุง ถ้าได้ E ถึง 3 ครั้ง จะถูกเรียกไปยังกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ และอาจถูกตัดสิทธิไม่ให้ประกอบอาชีพครูอีกต่อไป แต่หากผู้ใดมีผลงานดีจะมีโบนัสให้ตามผลการประเมิน
ไต้หวัน สนับสนุนครูทุกด้าน โดยเฉพาะการเติมความรู้
ไต้หวันเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาชีพครูมาก จากความเชื่อที่ว่าครูที่ดีสามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพได้ ทำให้รัฐบาลไต้หวันพยายามสนับสนุนอาชีพครูในทุกๆ ด้าน ไม่เพียงแต่เงินเดือนที่สูงเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมเรื่องการศึกษาของครูอีกด้วย โดยครูสามารถลาสอนได้เมื่อต้องการหาความรู้เพื่อพัฒนาตนเอง รัฐยังจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมครูมัธยมเพื่อให้ครูมัธยมสามารถนำความรู้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับเด็กนักเรียน ส่วนครูมหาวิทยาลัยสามารถหยุดสอนเพื่อทำวิจัยได้ และช่วงที่หยุดสอนนั้นยังได้ค่าเบี้ยเลี้ยงนอกเหนือจากเงินเดือนอีกด้วย โดยสิ่งต่างๆ เหล่านี้ที่รัฐสนับสนุนอาชีพครูก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสอนของครูนั่นเอง
เกาหลีใต้ ให้ห้องเรียน 1 ห้องมีครู 2 คน ต่อนักเรียน 35 คน
ในเกาหลีใต้พ่อแม่ชาวเกาหลีมีความคาดหวังต่อความสำเร็จของลูกๆ สูงมาก รัฐจึงให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก ทำให้อาชีพครูเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้เงินเดือนสูง การเป็นครูในเกาหลีไม่ใช่เรื่องง่าย ครูแต่ละคนจะต้องผ่านการประเมินโดยครูใหญ่และเพื่อนร่วมงานอย่างน้อย 3 คนใน 2 ครั้งต่อเทอม นอกจากนี้ยังมีการสำรวจความคิดเห็นของนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อนำมาพัฒนาการสอนในห้องเรียนด้วย บางโรงเรียนมีการประชุมตั้งแต่ต้นเทอมเพื่อปรับความเข้าใจให้ตรงกันระหว่างนักเรียน ครูและผู้ปกครองเพื่อให้เกิดการเรียนที่มีประสิทธิภาพ และในห้องเรียนหนึ่งห้องจะบังคับให้มีนักเรียนแค่ 35 คนต่อครู 2 คน ทำให้การเรียนการสอนสามารถคาดหวังคุณภาพได้
ฮ่องกง เงินเดือนไม่เบา ดึงดูดหนุ่มสาวด้วยสวัสดิการ
ฮ่องกงเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่าให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก มีการปฏิรูปการศึกษาเพื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งพัฒนาครูให้มีคุณภาพ กับความเชื่อที่ว่า เมื่อครูมีคุณภาพจะทำให้ประชากรของฮ่องกงมีคุณภาพ และสังคมจะสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่งคง รัฐเริ่มพัฒนาครูจากการเพิ่มเงินเดือนของครูและให้สวัสดิการมากมายเพื่อดึงดูดคนหนุ่มสาวที่มีความสามารถ เงินเดือนเริ่มต้นของครูในฮ่องกงเริ่มที่ 19,000 เหรียญฮ่องกง (ประมาณ 85,000 บาทไทย) และยังมีสวัสดิการต่างๆ เช่น ให้ค่าเช่าบ้าน มีค่าประกันสุขภาพให้ทั้งครอบครัว วันหยุดตามสิทธิ และมีเงินโบนัสด้วย ด้วยข้อเสนอเหล่านี้ทำให้มีคนจำนวนมากอยากเป็นครู ส่งผลให้สามารถคัดเลือกคนที่มีคุณภาพจริงๆ ได้
ญี่ปุ่น ครูทำงานหนักมาก แต่เงินเดือนก็สูงมากเช่นกัน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คล้ายกับเกาหลี คือ พ่อแม่คาดหวังในตัวลูกสูงมาก จึงสนใจเรื่องการศึกษาของลูกๆ เป็นอย่างมาก และทำให้การคัดเลือกบุคลากรครูต้องเข้มงวดอย่างมากเช่นกัน ใครที่อยากเป็นครูในประเทศญี่ปุ่นจะต้องเรียนโรงเรียนผลิตครูโดยเฉพาะ คนที่สอบผ่านเข้ามาเรียนได้จะมีเพียงร้อยละ 14 คนเท่านั้น เมื่อเรียนจบแล้วต้องผ่านการสอบและการประเมินโดยรัฐ จึงจะได้เป็นครูอย่างที่ต้องการ หรือถ้าจบสายอื่นมาก็ต้องสอบประกาศนียบัตรวิชาชีพครูให้ผ่าน
การศึกษาของครูญี่ปุ่นขั้นต่ำคือต้องจบปริญญาตรีและมีใบประกาศนียบัตรวิชาครู ครูญี่ปุ่นทำงานกันหนักมาก ในช่วงที่นักเรียนปิดเทอม ครูห้ามหยุด และต้องเตรียมตัวเพื่อสอนในภาคการศึกษาต่อไป ทำให้เงินเดือนครูญี่ปุ่นสูงมากเช่นกัน โดยเริ่มต้นที่ 84,000 บาท/เดือน และยังได้โบนัส 4.65 เท่าของเงินเดือนปีละสองครั้ง นอกจากนี้ในขณะที่ยังเป็นครูยังมีหน้าที่ต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา ต้องเข้าร่วมอบรมโดยการศึกษาของกรรมการจังหวัด และยังต้องเรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานโดยคัดเลือกห้องเรียนที่สอนดีที่สุดเป็นตัวอย่างเพื่อช่วยกันพัฒนาต่อไป
เวียดนาม เมื่อสอนเกินเวลา ครูได้ค่าบำรุงพิเศษ
สิ่งที่รัฐบาลเวียดนามเห็นว่าควรเร่งพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพให้ประชากรมากที่สุดคือระบบการศึกษา เวียดนามลงทุนทางด้านการศึกษาสูงมากโดยเริ่มจากการพัฒนาและสนับสนุนอาชีพครู คือให้นักเรียนที่ต้องการเป็นครูสามารถเข้าศึกษาในสถาบันผลิตครูได้ฟรี และอาชีพครูมีหน้าที่สอนหนังสือสัปดาห์ละ 16 ชั่วโมง ถ้าสอนเกินกว่านี้จะได้รับเงินค่าบำรุงพิเศษ
ประชากรส่วนใหญ่ในเวียดนามประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำให้พ่อแม่คาดหวังว่าลูกต้องได้รับการศึกษาที่ดีเพื่อจะได้ไม่ลำบาก ทำให้ผู้ปกครองใส่ใจเรื่องการศึกษาและให้ความร่วมมือกับครู ปัจจุบันเวียดนามจึงเป็นประเทศที่มีระบบการศึกษาดีเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน
อ้างอิงข้อมูลจาก