เราพูดกันเสมอว่าพื้นที่สาธารณะ จัตุรัส ลานกว้าง เป็นส่วนสำคัญหนึ่งของเมืองที่สัมพันธ์กับความเป็นประชาธิปไตย ยุคกรีกโบราณมีอกอร่า (Agora) มีจัตุรัสโรมันฟอรัม (roman forum) เป็นศูนย์กลางของเมือง และเป็นศูนย์กลางของอำนาจ โดยพร้อมกันนั้นพื้นที่เหล่านั้นก็เป็นสาธารณะของผู้คน เป็นที่ๆ พลเมืองของรัฐจะออกมีชีวิตสาธารณะ ออกมาแลกเปลี่ยนถกเถียง มาฟังความคิดเห็นของคนอื่นซึ่งนำไปสู่ภาคปฏิบัติต่อรัฐได้
นับจากยุคกรีกเรื่อยมา นักวางผังเมืองและนักวิชาการเองก็ยังคงมองพื้นที่สาธารณะ มองจัตุรัสลานกว้างทั้งหลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของเมือง เป็นพื้นที่รวมตัวที่ในที่สุดจะขับเคลื่อนเมืองๆ นั้นต่อไป ยิ่งในยุคปัจจุบันการชุมนุมเรียกร้องถือเป็นอีกหนึ่งฟังก์ชั่นสำคัญของโลกประชาธิปไตย การชุมนุมเคลื่อนไหวที่ในที่สุดก็ยังต้องการพื้นที่ทางกายภาพสำหรับการรวมตัวแสดงออก เรียกร้องหรือต่อต้านอย่างเป็นรูปธรรม
แต่ทว่าการลงถนน ด้วยส่วนหนึ่งนั้นอาจจะเกิดจากการขาดพื้นที่ขนาดใหญ่ของกรุงเทพ หรืออาจจะเพื่อการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ในการลงถนนเช่นพื้นที่ที่ราชประสงค์ ในที่สุดเรากลับพบความขัดแย้งบางอย่างที่ปรากฏอยู่บนพื้นที่สาธารณะอันเป็นฉากหลังของการชุมนุมใหญ่ เราเริ่มเห็นนอกจากการขาดพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่แล้ว ส่วนประกอบที่ควรจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะต่างๆ ในห้วงเวลาการแสดงออกของประชาชนกลับไม่ได้ถูกใช้เพื่อประชาชนเป็นหลักแต่อย่างใด สะพานลอย สกายวอร์คถูกปิดและใช้โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เมื่อทางลอยฟ้าปิด ถนนหนทางก็เต็มไปด้วยความแออัด จนกระทั่งเกิดการงัดประตูจนทำให้การหมุนเวียนของทางเท้าบริเวณแยกคล่องตัวขึ้น
ด้วยฉากการชุมนุมในค่ำคืนที่ราชประสงค์ อาจจะมีประเด็นเรื่องความกังวลของทรัพย์สิน แต่ในทางกลับกันก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่าในที่สุดแล้วทรัพย์สินที่ทอดตัวออกมายังพื้นที่ส่วนกลาง ตลอดจนความคับคั่งแออัดจากกิจกรรมการรวมตัวเรียกร้องความคับคั่งในที่สุดอาจสัมพันธ์กับปัญหาเรื่องภูมิทัศน์เมืองของบ้านเราที่ไม่ได้หยุดแค่คำถามที่ว่า สาธารณูปโภคที่ควรจะแปะป้ายว่า ‘เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ’ ถูกใช้เพื่อสาธารณชนและสาธารณะประโยชน์มากน้อยแค่ไหน แต่ความอึมครึมของกลางเมืองอาจนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น ทางเท้าที่แสนกระจิริด และการจัดสรรพื้นที่ที่กลายเป็นแปลงขนาดใหญ่จนขัดขวางการเดินเท้า สะท้อนเรื่องการแบบและใช้งานเมืองที่ทำไปสู่คำถามว่าเรากำลังยึดประโยชน์ของคนเมืองเป็นสำคัญอยู่รึเปล่า
ความสาธารณะอาจไม่ได้เป็นเรื่องของประชาชน
เวลาเราพูดคำว่าพื้นที่สาธารณะเรามักจะมองในทางบวก บวกในที่นี้คือมองในฐานะพื้นที่ประโยชน์ของส่วนรวม เป็นที่ของประชาชนเป็นสำคัญ แต่ว่ามีหลายครั้งที่พื้นที่สาธารณะเช่นสวนสาธารณะ ลานขนาดใหญ่ หรือถนนแบบอเวนิวนั้นใช่ว่าจะถูกสร้างขึ้นเพื่อประชาชน กลับกันกับเป็นพื้นที่ที่รัฐใช้เพื่อแสดงอำนาจและแสนยานุภาพผ่านพื้นที่ขนาดใหญ่ของเมือง เราเห็นภาพเทียนอันเหมินของจีน หรือจัตุรัสลานจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนาซี
ถ้าเรามองย้อนไปที่ฟังก์ชั่นของพื้นที่สาธารณะในยุคๆ หนึ่ง มิแชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) เสนอว่าพื้นที่สาธารณะเช่นลาน ทางแยก ร้านค้า หรือพื้นที่ของชีวิตสาธารณะนั้นเป็นพื้นที่ที่รัฐใช้แสดงอำนาจ และใช้เพื่อควบคุมประชากรของตนผ่านความกลัว การลงโทษที่รุนแรง การตัดคอเป็นมหรสพที่รัฐใช้แสดงเพื่อปราบปรามพลเมืองให้เข็ดหลาบและเกรงกลัว ลานบางแห่งแม้ในยุคที่เป็นรัฐสมัยใหม่ (ซึ่งฟูโกต์เสนอว่าการควบคุมยุคใหม่ซับซ้อนกว่าการขู่ให้กลัว) รัฐบาลโดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการก็มักจะมีการสร้างลานและถนนที่สวยงามยิ่งใหญ่ มักเป็นถนนกลางเมืองที่รายล้อมอาคารทางอำนาจของรัฐ เป็นที่ๆ ผู้คนต้องเดินและตระหนักถึงความเล็กจ้อยและเข้าใจพลานุภาพของรัฐที่กำลังปกครองพวกตนอยู่ในขณะนั้น
แต่อย่างว่าความพิเศษของความเป็นมนุษย์คือการปรับตัว ความเลื่อนไหล และการต่อต้าน คัดง้างก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ พื้นที่เช่นจัตุรัสที่ตูนีเซีย ลานขนาดใหญ่ที่ห้อมล้อมด้วยอาคารอันเคร่งขรึมและสะท้อนการปกครองกันหนักแน่นของรัฐบาลทหาร ที่ที่เคยถูกล้อมแบริเออร์และป้ายผ้าของรัฐ สุดท้ายถนนแบบอเวนิวที่เป็นเกาะ เป็นทางกว้างๆ อันออกแบบตามถนนของฝรั่งเศส ในที่สุดกลายเป็นพื้นที่ลุกฮือ เป็นจุดเริ่มต้นของกระแส Arab Spring
ที่ที่ต้องทำตัวลีบๆ กับที่ที่เป็นเจ้าของร่วมกัน อ่านความเป็นสาธารณะหลายๆ เฉด
คำว่าประชาธิปไตยไม่ใช่แค่คำเท่ๆ แต่คือการที่เราบริหารจัดการทรัพยากร กำหนดความเป็นไปโดยมีผลประโยชน์ร่วมของเราเป็นที่ตั้ง ทีนี้การมีพื้นที่สาธารณะเองก็เช่นกัน ใช่ว่าเราจะมีเพื่อประดับหรือเพื่อให้ความชอบธรรมกับรัฐ กับระบบทุนนิยมว่าทำเพื่อสังคมแล้วนะ แต่พื้นที่สาธารณะควรเป็นพื้นที่ที่ทั้งสะท้อนวิธีคิดของสังคมนั้นๆ และอาจนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้ในท้ายที่สุด
หนึ่งในข้อเสนอ-กรอบความคิดสำคัญที่เขาเสนอคือ ด้วยความที่มองความเป็นสาธารณะของพื้นที่สาธารณะไปตามบริบทและพื้นที่ทางกายภาพ จอห์นเลยเสนอกระบวนทัศน์ในการประเมินพื้นที่ไว้คร่าวๆ 4 ข้อ ซึ่งใน 4 ข้อนี้ไม่มีข้อคำนึงว่า ‘ใคร’ เป็นเจ้าของ เพราะเขาบอกว่าการไประบุ หรือดูว่าใครเป็นเจ้าของ จะรัฐ จะเอกชนเป็นเจ้าของไม่สำคัญเท่ากับการดูสี่ข้อนี้ คือ 1 เข้าถึงได้โดยทั่วไปไหม 2 ใช้ทรัพยากรของส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน 3 ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมหรือไม่ และ 4 คือ เป็นพื้นที่หรือเวทีสำหรับบทบาทเชิงสาธารณะหรือไม่
มิติอันซับซ้อนของพื้นที่สาธารณะที่จอห์นศึกษาจริงๆ จัดอันดับและอรรถาธิบายไว้ค่อนข้างละเอียด และทำให้เราเห็นความยอกย้อนทั้งความสัมพันธ์ของวิธีคิดที่จะเป็นประชาธิปไตย หรืออำนาจนิยมที่ทั้งสะท้อนออกมาผ่านการมี หรือใช้พื้นที่สาธารณะในเมืองนั้นๆ เมืองที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากๆ เช่นเบอร์ลินของเยอรมัน เวลลิงตันของนิวซีแลนด์ อ็อตโตว่าของแคนนาดา ในขณะที่ฮ่องกง กระทั่งลอนดอนและสหรัฐเองที่แม้จะมีทั้งพื้นที่สาธารณะ แต่ตัวพื้นที่นั้นก็อาจสะท้อนความเป็นประชาธิปไตยได้ไม่เท่า
สิ่งหนึ่งที่ผู้ศึกษาชี้ให้เห็นคือ การมีพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับศูนย์กลางอำนาจ ทำให้การประท้วงเรียกร้องและการดำเนินเข้าหาภาคส่วนของการใช้อำนาจ การออกกฏหมาย หรือพื้นที่ของรัฐในบางที่แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน ในทางกลับกันพื้นที่เช่นฮ่องกงเองที่โอเคอาจจะเล็กด้วย แต่ฮ่องกงก็มีสวนชื่อ Chater Garden จัตุรัสกลางเมืองที่อยู่ถัดจากอาคารรัฐสภา พื้นที่ที่แน่นอนว่าถ้าคุณอยากจะตะโกนให้รัฐฟังต้องไปที่นี่ ตัวพื้นที่สาธารณะของฮ่องกงกลับมีขนาดเล็กจุคนได้ 5000 คน ดังนั้นการเรียกร้องที่ฮ่องกงในทางกลับกันก็เลยสร้างความอึดอัดใจ เป็นพื้นที่กายภาพที่ไม่ค่อยสะดวกในการส่งเสียงสู่รัฐเท่าไหร่นัก
หรือกระทั่งลานมหึมาในกรุงวอร์ชิงตัน ลาน The Mall ลานมหึมาที่เคยเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์การเรียกร้องของคนผิวดำ ลานขนาดใหญ่ที่อยู่ถัดจาก the Capitol ศูนย์กลางอำนาจของสหรัฐที่แม้ว่าจะนับว่าเป็นพื้นที่สาธารณะขนาดมหึมา แต่ผู้วิจัยก็ให้ความเห็นว่าในทางปฏิบัติลานยักษ์ใหญ่นี้กลับไม่ได้ฟังก์ชั่นเพื่อประชาชน คงด้วยความที่อยู่ใกล้กับกลุ่มอาคารของรัฐและความคิดบางประการ ตัวพื้นที่สาธารณะแห่งนี้จึงเต็มไปด้วยกฏ ระเบียบและการควบคุม แค่ใช้ในเรื่องประจำวันเช่นการปิกนิก หรือถ่ายทำสนุกสนานก็ทำได้ยากยิ่ง การจะรวมตัวและใช้เป็นพื้นที่เพื่อการส่งเสียงของผู้คนก็เลยยากพอๆ กัน
กรุงแคนเบอร์ร่าของแคนาดาเป็นตัวอย่างที่ดีทั้งในแง่ของการใช้พื้นที่ทางอำนาจ พื้นที่สาธารณะ และมุมมองของรัฐและผู้คนที่มองพื้นที่สาธารณะที่ไม่ใช่แค่ลาน ถนน ทางลอยฟ้า แต่รวมกระทั่งตึกอาคารของรัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้คือ ความเป็นสาธารณะที่ทางผู้วิจัยพยายามชี้ให้เห็นว่า ในที่สุดสิ่งที่ตราว่าเป็นพื้นที่และประโยชน์สาธารณะนั้นเป็นของสาธารณะมากน้อยเพียงใด กลับมาที่กรุงแคนเบอร่า ผู้ศึกษาวิจัยชี้ว่าที่แคนเบอร่านั้นเนินของรัฐสภาคือพื้นที่ของชุมนุมประท้วงเลยด้วยซ้ำ ที่นั่นประชาชนสามารถรวมตัวกันที่สวนที่เนินหน้าอาคาร กระทั่งเดินเข้าไปเพื่อพบผู้แทนและแจ้งสิ่งที่ตัวเองต้องการได้
ในมุมมองเรื่องความเป็นสาธารณะนีที่นี้เลยค่อนข้างมีมุมที่ต่างไปเล็กน้อย คือกลายเป็นว่าผู้คนมองว่าพื้นที่กระทั่งตัวอาคารรัฐสภาเองนั้นก็เป็นพื้นที่ของตน เป็นที่ที่สร้างขึ้น ตั้งอยู่และดำเนินการไปโดยมีประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ความเก๋ของที่นั้นคือ พลเมืองรู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของ เป็นส่วนหนึ่งกระทั่งว่ารัฐสภาที่ควรจะศักดิ์สิทธิ์และต้องทำตัวลีบเล็ก คนแคนาดากลับรู้สึกเวรี่ใกล้ชิดขนาดที่ว่าจะยกหู และแจ้งไปที่ตัวอาคารว่า จะใช้พื้นที่สวน ลานของรัฐสภาเพื่อจัดงานแต่งก็ทำได้
มีคำกล่าวว่าพื้นที่กายภาพสะท้อนระบบความคิดที่อยู่ด้านหลังพื้นที่นั้นๆ พร้อมกันนั้นการเรียกร้องรวมตัวแม้จะเป็นยุคดิจิทัลเราเองก็ต้องการพื้นที่กายภาพ การมีและใช้พื้นที่สาธารณะที่เมื่อเราเกิดกิจกรรมการรวมตัวขึ้น ก็อาจยิ่งทำให้เราเห็นปัญหาที่ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่ของสาธารณะชนนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น
พื้นที่กลางเมืองที่ในที่สุดยัดเยียดไปด้วยอาคารหรูที่คนทั่วไปใช้ไม่ได้ สิ่งปลูกสร้างจำนวนมากที่อยู่ในที่สาธารณะแต่กลับไม่ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณชนแต่กลับใช้ไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ การที่แปลงขนาดใหญ่ที่ทำให้เมื่อตึกอาคารทั้งหมดปิดลงก็ทำให้พื้นที่กลางเมืองกลายเป็นพื้นที่ของความยัดเยียดที่ทำให้นึกได้ว่า แม้ว่าจะไม่มีม็อบ มหานครแห่งนี้ก็ไม่ได้สร้างไว้สำหรับคนเดินถนน เป็นที่ของผู้คนที่เดินถนนแต่อย่างใด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Democracy and Public Space:The Physical Sites of Democratic Performance by John R. Parkinson