ดูเหมือนคนไทยจำนวนมากโขทีเดียวกำลังตกอยู่ในภาวะหัวใจเขย่าเต้นร้อนรนต่อการลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ.2020 นับแต่วันที่ 3 พฤศจิกายนเรื่อยมา ซึ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) อดีตประธานาธิบดีคนเดิม และโจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดน จูเนียร์ (Joseph Robinette Biden, Jr.) หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า โจ ไบเดน (Joe Biden)
ล่าสุด ชัดแจ้งกันแล้วว่า โจ ไบเดน คือผู้คว้าชัยชนะ สามารถโค่นโดนัลด์ ทรัมป์และก้าวสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 46 มิหนำซ้ำ เขายังจะเป็นประธานาธิบดีที่อายุมากที่สุดของสหรัฐ เพราะขึ้นเป็นผู้นำประเทศในวัย 77 ปี
ว่าถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ก็ย่อมอนันต์ด้วยข้อมูลให้ศึกษาค้นคว้า แต่สำหรับครานี้ ผมใคร่ลองนำเสนอเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ อันเกี่ยวโยงกับเมืองไทยพอให้หอมปากหอมคอ ได้แก่ กรณีที่เคยมีช้างไทยไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1952
ผมคงจะไม่รับทราบข้อมูลนี้เลย ถ้าราวๆหกปีก่อนไม่บังเอิญได้อ่านงานเขียนชิ้นหายากของมนัส จรรยงค์เรื่อง ‘ช้างไทยไปช่วยหาเสียงให้ไอเซ็นเฮาว์ในวอชิงตัน’ ลงพิมพ์ในนิตยสาร เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม ๗ ประจำเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2495 มีคำโปรยว่า
“ชื่อ ‘พลายทองหล่อ’ ออกเดินท่อมๆ ไปตามถนนทุกสาย
พร้อมด้วยป้ายโฆษณาหาเสียงในการแค็มเปญ์น
เลือกตั้งประธานาธิบดีในวันที่ ๔ พฤศจิกายนที่จะถึงนี้”
ที่จริง ในงานชิ้นดังกล่าว มนัสไม่เพียงบอกเล่าเรื่องช้างไทยช่วยหาเสียงที่สหรัฐอเมริกา หากยังเผยให้เห็นภาพการส่งออกช้างไทยไปต่างประเทศ ซึ่งมนัสเรียกขาน ‘ช้างหัวนอก’ เปรียบเปรยเสมือนว่า ถ้าช้างพวกนี้เป็นคนก็คือพวกนักเรียนนอก
“ช้างหัวนอกของเรามีแยะ แต่ทว่าเขาเป็นหัวนอกชนิดที่ไปแล้วไม่ได้กลับมา เรียนสำเร็จหัดสำเร็จแล้วทำงานเลย ไม่ใช่ลากซุงงัดซุงหรือทำงานขนส่งในป่าพงดงดอน ช้างหัวนอกเหล่านี้ เขาทำงานก็คือแสดงละคร ขึ้นไปนั่งบนโต๊ะบ้าง เดินสองขาบ้าง นั่งยองๆให้คนดูบ้าง เจ้าช้างหัวนอกพวกนี้อาจดอดไปกินแยมมาเสียจนงวงเปรอะก็เป็นได้”
จากนั้น มนัสอธิบายชะตากรรมของช้างในฝรั่งเศสและช้างในอเมริกา ที่ทางสมาคมสงเคราะห์สัตว์พิพากษาให้ประหารชีวิตด้วยการยิง เนื่องจากช้างไปกระทืบหรือแทงคนตายเพราะคนเลี้ยงทารุณกรรม หรือช้างในคณะละครสัตว์กระทืบควาญช้างตายจึงถูกศาลพิจารณาคดีสั่งฆ่า มนัสส่งเสียงตัดพ้ออย่างสะเทือนใจทำนอง
“…เพราะช้างไม่มีทนายความ ธรรมดาอยู่ดีๆ
ช้างจะไม่ทำร้ายคนดีกับมันเป็นอันขาด…”
‘ช้างหัวนอก’ เชือกสำคัญที่ได้ไปช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ได้แก่ ‘พลายทองหล่อ’ มนัสแจกแจงรายละเอียดว่า
“ในการที่ ‘พลายทองหล่อ’ ช้างไทย จะได้ไปศึกษาในเมืองนอกเมืองนากับเขาก็คือ นายมอร์แกนเบอร์รี่ได้เดินทางเข้ามาหาซื้อสัตว์ในเมืองไทย เขาได้มาสมาคมคบหากับทองหล่อ บุณยนิตย์เข้าแล้วก็ชอบใจมาก เขาว่าเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของเขาที่ได้พบมาหรือได้คบมาก็ตาม เขาเป็นพนักงานรักษาสัตว์อยู่ที่สวนสัตว์วู๊ดแลนด์ปาร์คที่วอชิงตัน เขาแลเห็นลูกช้างตัวนี้เข้าก็พอใจขึ้นมาทันที เวลานั้นช้างไทยยังไปเรียนเมืองนอกได้
แต่ตอนหลังเสรีภาพในการศึกษาของนักเรียนช้างเหล่านี้ถูกตัดออกเสีย เพราะรัฐบาลห้ามส่งช้างออกนอกประเทศ เบอร์รี่เห็นตัวอ้ายนั่นก็อยากได้ เห็นตัวนี้ก็อยากได้ เพราะสัตว์ไทยแปลกประหลาดกว่าทางโน้นมาก แต่ทว่าเงินของเขาไม่พอ แต่ด้วยความช่วยเหลือของทองหล่อ บุณยนิตย์ ทำให้เขาไม่ลืมบุญคุณเลย เขาเลยเอาชื่อของทองหล่อเป็นชื่อช้างตัวนั้น เขาพักอยู่กับทองหล่อ บุณยนิตย์เกือบ ๓ เดือนเต็ม และใช้เวลาเหล่านั้นสอนพ่อพลาย วิธีสอนให้ช้างนั่งเก้าอี้ ก็ไม่เห็นจะต้องเหมือนการฝึกหัดของคนไทยเรา เขาทำเหมือนเราหัดหมาให้นั่ง คือถ้านั่งได้ให้รางวัล คือให้กิน ทำได้ทุกครั้งให้กินทุกครั้ง แล้วมันก็เคยไปเอง”
มอร์แกน เบอร์รี่ (Morgan Berry) แห่งสวนสัตว์วู๊ดแลนด์ปาร์ค (Woodland Park Zoo) ที่ซีแอตเทิล (Seattle) ในรัฐวอชิงตัน (Washington) เดินทางมาเมืองไทยและปรารถนาสัตว์หลายอย่างกลับไปประเทศ แต่เขามีเงินเหลืออยู่เพียง 4,000 ดอลลาร์เท่านั้น หากราคาสัตว์ทั้งหมดตามที่อยากได้เป็นจำนวนหมื่นกว่าดอลลาร์ นายเบอร์รี่วางเช็คหมดตัว อ้อนวอนขอสัตว์ไปก่อนแล้วเมื่อถึงสหรัฐอเมริกาจะส่งเงินที่ขาดมาเพิ่มให้ ถ้าเป็นแหล่งอื่น เขาคงจะได้สัตว์ไปไม่กี่ตัว
แต่พอเจรจากับนายทองหล่อ บุณยนิตย์ เจ้าของสวนสัตว์ธนบุรีวนารมย์ไม่พูดอะไรมากนอกจากตกลง มิหนำซ้ำ นายทองหล่อยังให้นายเบอร์รี่พำนักอยู่ด้วยโดยฟรีทุกประการ เป็นเวลานานเกือบสามเดือน นั่นทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนายทองหล่อกับนายเบอร์รี่แน่นแฟ้น นายเบอร์รี่จึงใช้ความรู้ของตนฝึกหัดสัตว์ต่างๆ ให้นายทองหล่อ

‘พลายทองหล่อ’ ขณะอยู่ที่สวนสัตว์ธนบุรีวนารมย์ ของนายทองหล่อ บุณยนิตย์ ภาพจากนิตยสาร เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม ๗
“…นอกจากช้างไทยและสัตว์เมืองไทยแล้ว นายมอร์แกนเบอร์รี่ยังรักเมืองไทยอยู่มากๆ เขาว่าคนไทยเป็นคนใจดี กว้างขวางและโอบอ้อมอารีเป็นที่ยิ่ง เบอร์รี่ให้วิชาเรื่องช้างไว้มากเหมือนกัน เช่น วิธีที่จะแก้ไขช้างตัวเมียที่ตกน้ำมัน แต่ก็เหมือนกับวิธีที่ใช้กันอยู่ในบ้านเมืองเรา คือใช้ด้ายดิบพันจากมือไปถึงข้อศอกเข้าช่วยเหลือมันก็จะค่อยคลายอาละวาดลงไปบ้าง มันก็เป็นวิธี ‘เคลื่อนพล’ นั่นเอง”
ตามทัศนคติของมนัส วิธีฝึกหัดสัตว์แบบนายเบอร์รี่นั้นดียิ่ง ผิดแผกจากวิธีฝึกหัดสัตว์ในเมืองไทยยุคสมัยนั้น ซึ่ง “…วิธีหัดของคนไทยเราคือตีหรือไม่อีกทีก็ฝิ่น ท่านคงจะได้เคยไปดูละครลิงมาแล้ว ท่านคงจะได้เคยเห็นว่า เมื่อไม่ถึงบทที่มันจะต้องแสดง มันนั่งโงกและบางตัวหลับตา ท่านคงจะไม่รู้ว่ามันอยากฝิ่นมันเต็มที ถ้าได้อ้ายเจ้าเม็ดขี้ยาสีดำๆ สักเม็ด กับดำร้อนสักหน่อย นัยน์ตาที่ปรือก็คงสว่างไสวอย่างแน่นอน สำหรับสุนัขก็ต้องใช้แม่ทองดำเหมือนกันคลุกกันเข้ากับกระดูกป่น ถ้านายไม่ทำฉันไม่ให้นายกิน…”
นึกๆ ดู ช่างน่าสงสารพวกสัตว์ที่ต้องมาติดสารเสพติดจำพวกฝิ่น หรือแม่ทองดำงอมแงม
ในที่สุด นายมอร์แกน เบอร์รี่ก็นำ ‘พลายทองหล่อ’ เดินทางไปอยู่ที่สวนสัตว์วู๊ดแลนด์ปาร์ค และพอมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1952 นายเบอร์รี่ก็พาช้างไทยไปช่วยหาเสียงให้กับผู้สมัครชิงตำแหน่งรายหนึ่ง มนัสถ่ายทอดว่า
“วันที่ ๔ พฤศจิกายน นี้แล้วจะเป็นวันเลือกตั้งประธานาธิบดีของอเมริกาเวลานี้ ‘พลายทองหล่อ’ คงจะเข้าไปเดินขบวนกับเขาอยู่เรื่อยๆ ไปทุกๆ วัน มันคงจะนึกครึ้มและภาคภูมิใจอยู่เป็นอันมาก ที่อาตมานอยู่ถึงในป่าลึกของเมืองไทย แล้วได้ไปเดินเล่นอยู่ตามถนนหลายสายของกรุงวอชิงตัน แถมยังทำให้นายมอร์แกนของเราได้เงินวันละ ๒๐๐ เหรียญเสียอีกด้วยหลายๆ วันเข้าคุ้มค่าตัวไปนานแล้ว”
ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนนั้นคือ ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ (Dwight D. Eisenhower) จากพรรครีพับลิกัน และก็เป็นผู้คว้าชัยชนะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 34

ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์ ภาพจาก millercenter.org
ตัวอักษรของมนัส จรรยงค์สอดคล้องกับข้อมูลจากข้อเขียน ‘คุณทองหล่อ บุณยนิตย์ในความทรงจำของครอบครัว’ ในหนังสือ นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพนายทองหล่อ บุณยนิตย์ ที่ได้เอ่ยถึงเรื่องราวนายทองหล่อกับช้างไทย ความว่า
“…คราวหนึ่งท่านได้นำ Mr.Flegal ไปซื้อช้างที่สุรินทร์ เลือกได้ช้างลักษณะดีมาตัวหนึ่ง เพื่อส่งไปเลี้ยงในสวนสัตว์ใหญ่ที่เมืองปอร์ทแลนด์ และต่อมาในโอกาสที่ท่านไปเยี่ยมเมืองปอร์ทแลนด์ ท่านก็ได้รับเกียรติจากนายกเทศมนตรีของเมืองปอร์ทแลนด์ โดยได้รับมอบกุญแจเมืองของเมืองนั้น ชื่อเสียงของท่านเกี่ยวกับสัตว์ป่าจึงมีผู้รู้จักในต่างประเทศ ท่านได้ให้ลูกช้างพลายตัวหนึ่งกับเพื่อนชาวอเมริกัน ผู้ติดต่อทำการค้าขายสัตว์กับท่าน ซึ่งเพื่อนผู้นั้นได้ให้ชื่อช้างตัวนั้นว่า “ทองหล่อ” ช้างพลายตัวนี้เป็นช้างพลายตัวเดียวที่เลี้ยงอยู่ในสวนสัตว์แถบนั้น เมื่อก่อนหน้าท่านจะเสียเล็กน้อย ท่านได้อ่านพบข่าวจากหนังสือ รีดเดอร์ไดเจส ว่าช้างพลายตัวนั้นได้ให้กำเหนิดลูกช้าง แก่พังที่สวนสัตว์ปอร์ทแลนด์”
จากถ้อยความข้างต้น ครั้นผมไปสืบค้นต่อก็พบความเชื่อมโยงว่า นายเบอร์รี่นำ ‘พลายทองหล่อ’ (Thonglaw) ไปอยู่ที่สวนสัตว์วู๊ดแลนด์ปาร์ค แล้วได้ผสมพันธุ์กับช้างตัวเมียชื่อ ‘พังเบลล์’ (Belle) ต่อมาแม่ช้างพังย้ายไปอยู่ที่สวนสัตว์เมืองพอร์ตแลนด์ หรือ Portland Zoological Gardens จนคลอดลูกช้างออกมาชื่อว่า ‘แพ็คกี้’ (Packy) เมื่อวันที่ 14 เมษายน ค.ศ.1962 นับเป็นช้างตัวแรกสุดที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา และมีอายุยืนยาวจวบเพิ่งหมดสิ้นลมหายใจในปี ค.ศ.2017

การ์ตูน ‘พลายทองหล่อ’ ภาพจากนิตยสาร เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม ๗

มอร์แกน เบอร์รี่กำลังวัดขนาด ‘แพ็คกี้’ ลูกช้างที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่าง ‘พลายทองหล่อ’ และ ‘พังเบลล์’ หลังจากคลอดไม่นาน ภาพจาก www.oregonzoo.org
คุณผู้อ่านอาจชักจะสงสัยใคร่รู้ นายทองหล่อ บุณยนิตย์ เป็นใครกัน?
จริงๆ เรื่องราวของบุคคลผู้นี้ มีแง่มุมสนุกสนานมากมายเลยทีเดียว ถ้าเล่าทั้งหมดคงยืดยาวไม่เบา
เอาเป็นว่า ผมจะขอเล่าคร่าวๆพอสังเขป นายทองหล่อ บุณยนิตย์ เกิดที่กรุงเก่า พระนครศรีอยุธยา ในปี พ.ศ.2450 สำเร็จวิชากฎหมายจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรมและเป็นเนติบัณฑิต เคยผ่านงานในกรมสารวัตรเสือป่า กรมพลำภัง กระทรวงมหาดไทย กรมรถไฟ จนออกมายึดอาชีพทนายความ ทำธุรกิจ และยังเคยสร้างผลงานหนังสือหลายเล่ม มีโรงพิมพ์เป็นของตนเอง จัดพิมพ์หนังสือแนวกฎหมายร่วมกับพี่ชายคือ ขุนจรรยาวิเศษ (บุญเที่ยง บุณยนิตย์) รวมถึงเคยเป็นเทศมนตรีชุดแรกของเทศบาลนครธนบุรี

นายทองหล่อ บุณยนิตย์ภาพจาก ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพนายทองหล่อ บุณยนิตย์
ทางด้านการเลี้ยงสัตว์และการค้าขายสัตว์ เดิมที นายทองหล่อเริ่มสนใจการสัตว์เลี้ยงเล็กๆ จำพวกไก่ หมู และเลี้ยงไว้ขายบ้าง จวบจนค่อยๆ ขยับขยายมาเลี้ยงสัตว์ใหญ่ๆ เช่น ช้าง และเกิดแนวคิดที่จะทำสวนสัตว์ขึ้น นั่นคือ สวนสัตว์ธนบุรีวนารมย์ กระทั่งนำไปสู่การส่งออกสัตว์ไปต่างประเทศ
ในงาน ‘ช้างไทยไปช่วยหาเสียงให้ไอเซ็นเฮาว์ในวอชิงตัน’ มนัส จรรยงค์พาดพิงถึงนายทองหล่อตอนหนึ่งคือ “ทองหล่อ บุณยนิตย์เล่าว่า เมื่อเขาไปในสวนสัตว์ของญี่ปุ่น มีช้างวิ่งเข้ามาคำนับเขา ๓ ตัว มันเป็นช้างที่เขาเคยเลี้ยงมันมา มันจำได้ดีเสมอ แม้แต่จะข้ามน้ำข้ามทะเลไปเพียงไรก็ตาม”
อย่างไรก็ดี ต่อมาภายหลัง ราวๆ กลางทศวรรษ 2490 ทางรัฐบาลไทยมีนโยบายควบคุมการส่งสัตว์ป่าออกนอกประเทศ นายทองหล่อจึงเลิกกิจการค้าสัตว์แล้วมาประกอบกิจการนำเที่ยวแทน
ชื่อของ ‘พลายทองหล่อ’ อาจจะไม่ค่อยเป็นที่คุ้นเคยเท่าไหร่นัก แต่ครั้งหนึ่งในวันวาน ช้างไทยนามนี้เคยปรากฏเรื่องราวว่าไปช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ปัจจุบันก็ยังเป็นสิ่งที่คนไทยมักเกาะติดสถานการณ์
เอกสารอ้างอิง
จิระประภา บุญยนิตย์ (เรื่อง), พิมโจฐ อรชุนกะ (ภาพประกอบ). พลายทองหล่อ. กรุงเทพฯ: ปาณยา, 2523
ที่ระลึกในการพระราชทานเพลิงศพนายทองหล่อ บุณยนิตย์ ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส วันที่ 29 ธันวาคม 2505. พระนคร: บริษัท ฉัตราการพิมพ์ จำกัด, 2505
มนัส จรรยงค์. “ช้างไทยไปช่วยหาเสียงให้ไอเซ็นเฮาว์ในวอชิงตัน.” เพลินจิตต์พิเศษ เล่ม๗. (พฤศจิกายน 2495). พระนคร: เพลินจิตต์, 2495. หน้า 58-71
มานิต วัลลิโภดม.นำเที่ยวพิมายและโบราณสถานในจังหวัดนครราชสีมา.พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงาน
พระราชทานเพลิงศพนายทองหล่อ บุณยนิตย์ ณ สุสานหลวงวัดเทพศิรินทราวาส 29 ธันวาคม 2505 พระนคร: บริษัท ฉัตราการพิมพ์ จำกัด, 2505
อนุสรณ์มนัส จรรยงค์. พิมพ์ครั้งที่ 2. พระนคร: เรือใบ, 2509