ในปี ค.ศ.1965 นาซ่า ได้เลือกโลมาตัวหนึ่งนามว่า ‘ปีเตอร์’ สำหรับการทดลองใหม่ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อฝึกให้มันสามารถพูดและเข้าใจภาษาอังกฤษได้ แต่โครงการนี้กลับกลายเป็นเรื่องแปลกประหลาดและโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรจะเกิด
มาร์กาเรต เฮาวอ์ โลแวตต์ (Margaret Howe Lovatt) เติบโตขึ้นมาพร้อมกับความประทับใจเรื่องราวของสัตว์ที่พูดได้ “มีหนังสือเล่มหนึ่งที่แม่ของฉันมอบให้ฉันเรียกว่ามิสเคลลี่ มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแมวที่สามารถพูดและเข้าใจมนุษย์ได้ และมันก็ติดในใจฉันเสมอมาว่าอาจมีความเป็นไปได้นี้” เธอจำเรื่องราวหนังสือเล่มนี้ได้เสมอด้วยแววตาเป็นประกาย
ในช่วงต้นปี ค.ศ.1964 บนเกาะเซนต์โทมัส ในทะเลแคริบเบียน พี่เขยของมาร์กาเรตเคยพูดถึงห้องทดลองลับโลมาที่บริเวณตะวันออกของเกาะที่พวกเขาทำงานกับโลมา เธอจึงตัดสินใจขับรถไปดูว่ามันเป็นอย่างไร ในที่สุดเธอก็พบอาคารสีขาวขนาดใหญ่ตั้งตระหง่านอยู่ด้านล่างของหน้าผาที่หันออกไปทางทะเลไม่ไกลจากบ้านของเธอ
มาร์กาเรตพบเข้ากับ เกร็กกอรี่ เบตสัน หนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขากำลังสูบบุหรี่ ยืนสูงโปร่ง และหันมาถามเธอด้วยความสงสัยในฐานะผู้อำนวยการห้องแล็บ
“คุณมาที่นี่ทำไม?” เกร็กกอรี่ถาม
“ฉันได้ยินมาว่าคุณมีโลมา และฉันคิดว่าฉันพอจะช่วยได้ หรือมีวิธีใดที่จะช่วยได้บ้างไหม?”
ความองอาจของมาร์กาเรตทำให้เกร็กกอรี่ประทับใจ เขาพาเธอไปพบกับโลมา และลองให้จดบันทึกรายละเอียดสิ่งที่เห็นเกี่ยวกับโลมา ถึงแม้จะไม่ได้จบมาด้านนี้โดยตรงนัก แต่มาร์กาเรตก็สามารถจดรายละเอียดพฤติกรรมของโลมาได้อย่างยอดเยี่ยมจนเกร็กกอรี่ประทับใจ และบอกเธอว่าสามารถกลับมาได้ทุกเมื่อที่ต้องการ
ในช่วงเวลานั้นมีโลมาอยู่ 3 ตัว ปีเตอร์ พาเมล่า และซิสซี่ ซิสซี่นั้นตัวใหญ่ที่สุด พลังเยอะ เสียงดัง ส่วนพาเมล่านั้นขี้อายและขี้กลัวมาก ส่วนปีเตอร์เป็นโลมาตัวผู้เพียงตัวเดียว มันขี้เล่นและซนนิดหน่อย
อาคารชั้นบนของห้องทดลองมีบ่อสระน้ำทะเล มันได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มนุษย์และโลมาใกล้ชิดกันมากขึ้น จากแนวคิดของ ดร.จอห์น ลิลลี่ นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน ที่หวังว่ามนุษย์จะสามารถสื่อสารกับโลมาได้ ผ่านความสามารถในการสร้างเสียงที่คล้ายกับมนุษย์ผ่านรูเสียงของพวกมัน
ไม่กี่เดือนต่อมา มาร์กาเรต ก็กลับมาอีกครั้งด้วยความตื่นเต้นและตั้งใจที่จะพยายามเข้าใจสัตว์ร่วมโลกให้ได้มากที่สุด จอห์น ลิลลี่ มอบหมายให้เธอช่วยสร้างบทเรียนประจำวันให้แก่โลมา บทเรียนที่จะกระตุ้นให้พวกมันทำเสียงเหมือนมนุษย์ให้ได้มากที่สุด ในขณะที่เกร็กกอรี่ เบตสัน กำลังจดจ่ออยู่กับงานการสื่อสารระหว่างสัตว์กับสัตว์ของตนเอง มาร์กาเรต ก็ช่วยสอนโลมาให้พยายามพูดภาษาอังกฤษ
มาร์กาเรตรู้สึกว่าถ้าเราสามารถอาศัยอยู่กับโลมาได้ตลอดเวลา โดยให้ความสนใจมันเหมือนมนุษย์ เหมือนราวกับที่แม่สอนให้เด็กพูดเมื่อยังเล็ก การทดลองอาจจะประสบความสำเร็จมากขึ้น มาร์กาเรตจึงเสนอให้ลิลลี่ทำห้องทดลองที่ท่วมไปด้วยน้ำเพื่อเธอและโลมาจะได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา ความคิดสุดขั้วของมาร์กาเรตดึงดูดใจลิลลี่ และเขาก็ตัดสินใจทำตามนั้น
มาร์กาเรตเลือกโลมาหนุ่มปีเตอร์ สำหรับการทดลองอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเช่นมนุษย์ เธอจะพยายามอยู่สองต่อสองกับปีเตอร์ 6 วันต่อสัปดาห์ โดยเธอจะนอนบนเตียงที่ตั้งสูงขึ้นมาพร้อมกับเอกสารและอุปกรณ์ต่างๆ อยู่ชั้นลอยเหนือน้ำในจุดที่ปีเตอร์เห็นตลอดเวลา ทุกวันที่ตื่นขึ้นมามาร์กาเรตจะพยายามใช้ชีวิตใกล้ชิดกับปีเตอร์ให้ได้มากที่สุด พร้อมกับสอนให้มันพูดไปด้วย จนวันที่ 7 ของสัปดาห์ ปีเตอร์จะกลับไปที่สระใต้ทะเลที่ชั้นล่างเพื่อใช้เวลากับโลมาตัวเมีย 2 ตัว พาเมลาและซิสซี่
บทเรียน 6 วันต่อสัปดาห์ ทั้งฝึกในสภาพแวดล้อมกึ่งน้ำและในน้ำ จากความใกล้ชิดและความผูกพัน ทำให้โลมาปีเตอร์เริ่มพัฒนาความรู้สึกที่มันมีต่อมาร์กาเรต การฝึกสอนอย่างเข้มข้นในที่สุดก็เห็นผล ปีเตอร์พยายามทักทายมาร์กาเรตซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยประโยคว่า ‘Hello M’argaret’ แต่เริ่มมีความรู้สึกบางอย่างที่ขัดขวางการเรียน
“โลมามีความต้องการทางเพศ และผมแน่ใจว่าปีเตอร์มีความคิดมากมายเกี่ยวกับแนวความคิดเหล่านั้น
แอนดี้ วิลเลียมสัน สัตวแพทย์ผู้ดูแลโลมาที่ Dolphin House กล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองเริ่มลึกซึ้งและรุนแรงมากขึ้น ปีเตอร์มันจะชอบลูบไล้ที่ขาของมาร์กาเรตอยู่เสมอ มันแสดงออกว่ามีความต้องการทางเพศ อีกทั้งมาร์กาเรตยังอธิบายว่าปีเตอร์นั้นเป็นเสมือน “แฟนที่หมกมุ่นอยู่กับเธอตลอดเวลา” ซึ่งมันจะตามเธอไปรอบๆ ทุกครั้งที่อยู่ใกล้ และจะรู้สึกหดหู่เมื่อต้องแยกจากกัน
ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา จอห์น ลิลลี่ และนักประสาทวิทยาไม่กี่คน ได้รับใบอนุญาตให้ทำการวิจัย LSD ได้โดยรัฐบาลอเมริกัน โดยเชื่อว่ายานี้มีคุณสมบัติทางยาที่สามารถใช้รักษาผู้ป่วยทางจิตได้ ลิลลี่จึงตัดสินใจทดลองยากับโลมาปีเตอร์ มาร์กาเรตนั้นได้ต่อต้าน กล่าวหาว่าพวกเขานั้นฉีด LSD ให้กับปีเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์จากมันเพื่อดูผลของยา ท่ามกลางคำปฏิเสธของนักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าจะไม่มีวันทารุณสัตว์
แอลเอสดี (LSD) คืออะไร? LSD ย่อมาจาก lysergic acid diethylamide เป็นสารที่ผลิตขึ้นมาจาก lysergic acid ซึ่งเป็นราที่ขึ้นอยู่ตามเมล็ดข้าวไร ค้นพบโดยนักเคมีชาวสวิส มีฤทธิ์หลอนประสาทอย่างแรง ทำให้รูม่านตาขยาย อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เพิ่มความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ หากเสพในระยะแรกๆ จะมีความสุข อารมณ์ดีรู้สึกคึกคัก แต่หลังจากนั้นจะเกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง มีอาการหวาดกลัว จนกระทั่งอาจทำร้ายตนเองหรือนำไปสู่การฆ่าตัวตาย
พวกเขาไม่ได้คำนึงถึงผลข้างเคียงนี้ เมื่อการทดลองบนงบประมาณที่สูงลิ่วไร้ซึ่งผล ก็ตามมาด้วยเสียงของประชาชนที่เริ่มคัดค้าน งบประมาณจึงถูกตัดออกทันที ปีเตอร์ถูกแยกออกจากมาร์กาเรต มันถูกส่งไปยังเมืองไมอามี รัฐฟลอริดาและถูกจับใส่ไว้ในแทงค์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่มันเคยอาศัย รวมถึงยังมีแสงสว่างน้อย ปีเตอร์ทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว และหลังจากนั้น 3 สัปดาห์มาร์กาเรตก็ได้รับข่าวร้ายจากจอห์น ลิลลี่
“ปีเตอร์ฆ่าตัวตายด้วยการหยุดหายใจแล้วจมไปในก้นถัง”
โลมาฆ่าตัวตายได้อย่างไรกัน?
“โลมาไม่ได้หายใจแบบอัตโนมัติเหมือนที่เรากำลังทำอยู่ ทุกลมหายใจคือความพยายามอย่างมีสติ หากชีวิตเหลือทนเกินไป โลมาก็จะหยุดหายใจและจมลงสู่ก้นบึ้ง พวกเขาตัดสินใจไม่หายใจต่อไปจนเสียชีวิต” ริชาร์ต โอ แบร์รี่ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิสัตว์ชาวอเมริกันและอดีตครูฝึกโลมากล่าว
โลมาปีเตอร์ผู้อกหัก มันทนไม่ได้จากการพลัดพรากคนที่มันรักสุดหัวใจ และตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการจมตนเองลงสู่ก้นถัง
“ฉันเสียใจอย่างยิ่งกับเรื่องนี้ ฉันไม่พอใจที่เขาต้องไปอยู่ในสภาพเหล่านั้นที่ไมอามี” มาร์กาเรต กล่าว
หลังจากเหตุการณ์นี้จบลง เธอยังคงอาศัยอยู่บนเกาะนี้ แต่งงานกับช่างภาพที่ถ่ายภาพการทดลองนี้ แต่งงาน และมีลูกสาว 3 คน ความทรงจำที่อาคารทดลองที่ปัจจุบันดัดแปลงเป็นบ้านจะอยู่ในความทรงจำดีๆ ของเธอไปตลอดกาล และการทดลองให้โลมาพูดก็ไม่เกิดขึ้นอีกเลย
นิตยสาร Science Times ระบุถึงการฆ่าว่าการฆ่าตัวตายของสัตว์นั้นเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการฆ่าตัวต้องใช้ความสามารถในการคิดประมวลขั้นสูง และในทางกลับกัน ลอรี มาริโน นักประสาทวิทยาด้านพฤติกรรมและผู้เชี่ยวชาญด้านโลมา กล่าวว่าโลมามีความสามารถของสมองในการรับรู้การวางแผนและฆ่าตัวตาย
ไม่ว่าจะสัตว์ชนิดไหน ย่อมจะมีหัวใจด้วยกันทั้งนั้น
แหล่งข้อมูล :
https://allthatsinteresting.com/margaret-howe-lovatt
https://www.theguardian.com/environment/2014/jun/08/the-dolphin-who-loved-me
https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/?p=6088
Illustration by Sutanya Phattanasitubon