เวลาเจอเพจพยายามเป็นวัยรุ่นยุค 90s แล้วพูดเรื่องโปรโมชั่นมือถือโทรตอนกลางคืนหรืออะไรพวกนี้แล้ว ผมก็ออกจะขำๆ หน่อยนะครับ เพราะเอาเข้าจริงๆ กว่าโทรศัพท์มือถือมันจะแมสได้เนี่ย ก็เข้ายุค 2000s ไปแล้ว วัยรุ่นยุค 90s ตัวจริงเนี่ย แทนที่จะห่วงเรื่องค่าโทรศัพท์มือถือ (ยุคนั้นยังต้องไปโทรตามโต๊ะที่เปิดให้บริการเพราะตู้โทรศัพท์สาธารณะไม่พอ) วัยรุ่นยุค 90s ต่างต้องเผชิญกับความยากลำบากในการฝากข้อความผ่านคอลเซนเตอร์ของผู้ให้บริการเพจเจอร์ยี่ห้อต่างๆ ในตอนนั้นกันเกือบทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการสะกดข้อความผิด การสะกดชื่อผิด หรือกระทั่งความอายในการพยายามฝากข้อความหวานๆ ให้กับปลายทาง แต่ก็ต้องบอกผ่านทางโอเปอเรเตอร์ ต่างคนต่างเขินกันไป ยังไม่นับการอยากจะด่าปลายทางแรงๆ แต่โอเปอเรเตอร์ก็จัดให้ไม่ได้
จนกระทั่งโทรศัพท์มือถือเริ่มมีราคาถูกลง ค่าใช้บริการก็พอสมน้ำสมเนื้อ คนก็เลิกใช้เพจเจอร์กันเพราะว่ามันไม่ได้สะดวกเท่า เพราะค่าบริการที่จ่ายไปก็ทำได้แค่รอรับข้อความอย่างเดียว จะส่งทีก็เสียค่าโทรอีก ไม่แปลกที่เพจเจอร์ก็ล้มหายตายจากไปจากชีวิตของวัยรุ่นไทย แต่ใครจะคิดล่ะครับว่า ของที่ไม่เหลือความทรงจำเป็นแบบนี้ จริงๆ แล้ว ยังคงมีชีวิตต่อมาอยู่ในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเพจเจอร์ยังคงเปิดให้บริการมาจนถึงสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมานี่เอง แถมเหตุผลที่มันยังคงอยู่ ก็ต่างไปจากเครื่องโทรสารแบบที่ผมเคยเขียนถึง เพราะไม่ใช่ว่าคนไม่อยากเปลี่ยนทิศทางการใช้ แต่เพจเจอร์มันก็ยังอยูในสังคมเพราะจุดเด่นของมันเอง
ด้วยความเลือนรางทางความทรงจำ และหาคนจดบันทึกได้น้อย ผมจึงหาข้อมูลเรื่องการใช้เพจเจอร์ของชาวไทยได้อย่างยากลำบากหน่อย แต่ของชาวญี่ปุ่นนั้น ผมได้เห็นตามสื่อบันเทิงต่างๆ มาก่อนที่จะมีใช้เองด้วยซ้ำ แบบแรกสุดที่เคยเห็นคงเป็นตัวที่พ่อของโนบิตะใช้ ซึ่งตอนนั้นผมจำได้ว่า พ่อโนบิตะออกเดินสายหาลูกค้า แล้วเพจเจอร์ดัง เลยหาเครื่องโทรศัพท์สาธารณะโทรกลับที่ทำงาน ซึ่งก็ทำให้เข้าใจระบบของการทำงานของมัน
ต่อจากนั้นก็เริ่มเห็นเพจเจอร์ในมังงะยุค 90s ต่างๆ ทั้งในเรื่อง ‘GTO’ หรือ ‘Boys Be’ ซึ่งในช่วงนั้นก็เป็นยุคทองของเพจเจอร์ หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่า พ็อคเก็ตเบล สำหรับวัยรุ่น เพราะกลายเป็นเป็นไอเท็มสำคัญของวัยรุ่นญี่ปุ่น ชนิดที่เรียกได้ว่าเด็กสาวมัธยมตอนนั้นขาดพ็อคเก็ตเบล ลูซซ๊อคส์ (ถุงเท้าหลวมๆ กองๆ) และ รูปสติกเกอร์ปุริคุระ สามไอเท็มสำคัญไม่ได้เลย
ซึ่งในช่วงแรกพ็อคเก็ตเบลของชาวญี่ปุ่นก็มีฟังก์ชั่นหลักๆ ประมาณที่พ่อของโนบิตะใช้นั่นล่ะครับ ระบบการสื่อสารติดตามตัวอื่นๆ ยังแพงอยู่ ส่วนใหญ่เขาเลยให้พวกเซลส์ที่ต้องออกเดินสายนอกบริษัทพกพ็อคเก็ตเบลกันเป็นหลัก รวมถึงพวกฝ่ายบริหารที่อาจจะมีความจำเป็นต้องติดต่อกลับบริษัทเสมอ
ถึงมันจะไม่สามารถแสดงได้ว่าเบอร์ที่โทรมาเป็นเบอร์อะไร
แต่หลักๆ แค่เหมือนกับเอาไว้เรียกตัวคนพกให้โทรกลับสำนักงานอย่างเดียว
ดังปุ๊บ โทรกลับสำนักงานเท่านั้น แต่ก็เป็นฟังชั่นที่จำเป็นสำหรับวงการธุรกิจญี่ปุ่นที่แข่งกันเดือดมากในช่วงรุ่งเรือง ซึ่งก็เป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นเมื่อปลายยุค 60s ก่อนที่จะค่อยพัฒนาให้สามารถแสดงเบอร์ที่โทรเข้ามาได้ และค่าบริการถูกลง คนที่ใช้แบบส่วนบุคคล ไม่ใช่บริษัททำสัญญาให้ก็เพิ่มมากขึ้น ยุค 80s บางคนก็เริ่มซื้อให้ลูกใช้เพื่อความปลอดภัยของเด็ก
พอเข้ายุค 90s ความสามารถของพ็อคเก็ตเบลก็เพิ่มมากขึ้น สามารถส่งข้อความตัวเลขที่ไม่ใช่แค่เบอร์คนที่ส่งข้อความแล้ว ทำให้เริ่มเป็นที่นิยมในหมู่เด็กสาววัยรุ่น ซึ่งการส่งเบอร์ได้ ก็ช่วยเพิ่มช่องทางการสื่อสาร เพราะภาษาญี่ปุ่นมีลูกเล่นที่เรียกว่า ‘Goro Awase’ คือการแทนเสียงของตัวอักษรด้วยตัวเลข เช่น 4649 ก็หมายความว่า Yoroshiku (よろしく) ที่แปลว่า รบกวนด้วย ฝากด้วยได้ มาจากการอ่านตัวเลข Yon Roku Shi (การอ่านแบบจีนของ 4) และ Ku นั่นเอง
ซึ่งพอส่งข้อความตัวเลขได้ทำให้มีการคิดโค้ดตัวเลขต่างๆ เพื่อแทนคำเพิ่มมากขึ้น ทั้ง 724106 หมายถึงกับ nanishiteru? (なにしてる?) แปลว่า ทำอะไรอยู่, 4510 หมายถึง shigoto (しごと) แปลว่า (ทำ)งาน, 114 หมายถึง iiyo (いいよ) แปลว่าโอเค หรือ 14106 หมายถึง aishiteru (あいしてる) แปลว่า รักนะ แถมในการสื่อสารด้วยตัวเลขแบบนี้ ยังมีเวอร์ชั่นภาษาถิ่นอีกด้วย เช่น รักนะ ทางคันไซก็จะเป็น 1410 หมายถึง aishitou (あいしとう) แทนตามภาษาถิ่น ซึ่งยุคนั้นจะว่าไปก็เหมือนการส่งโค้ดกันอย่างจริงจัง จำเป็นต้องเข้าใจทั้งสองฝ่ายว่าใช้โค้ดอะไรกันอยู่ ก็เป็นจุดเด่นของภาษาญี่ปุ่นที่ช่วยให้พ็อคเก็ตเบลแพร่หลายได้มากขึ้น ขนาดที่จากเดิมผู้ใช้บริการแบบรายบุคคลมีไม่มากนัก ก็กลายเป็นของฮิตขนาดที่สินค้าขาดตลาด
ต่อมาความฮิตของพ็อคเก็ตเบลก็ยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อสามารถส่งข้อความตัวอักษรได้ ซึ่งของญี่ปุ่นเขาไม่จำเป็นต้องอาศัยโอเปอเรเตอร์คอยพิมพ์ข้อความลงไปในระบบแทนเรา แต่เขาสามารถส่งข้อความได้ด้วยวิธีการกดโทรศัพท์โดยตรง ซึ่งเขาเรียกว่า ระบบการคีย์ข้อมูลแบบ 2 Touch คือ จะมีตารางที่มีตัวเลขกำกับ ทั้งแนวตั้งแนวนอนก็มีช่อง 1 ถึง 0 รวมเป็นตาราง 100 ช่อง ซึ่งใน 100 ช่องนี้ ก็จะมีตัวอักษรญี่ปุ่นและตัวโรมันและตัวเลข รวมถึงคันจิบางตัวอยู่ เวลาเราต้องการส่งข้อความก็กดตัวเลขแนวตั้งแนวนอนเพื่อเลือกตัวอักษร เช่นต้องการส่งคำว่า A(あ) I(い) Shi(し) Te(て) Ru(る) ก็ต้องคีย์ว่า 11 12 32 44 93 เป็นต้น
2タッチ入力時のキーの割り当て (全角大文字) |
||||||||||||
2 桁 目 | ||||||||||||
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 0 | |||
1 桁 目 |
1 | あ | い | う | え | お | A | B | C | D | E | |
2 | か | き | く | け | こ | F | G | H | I | J | ||
3 | さ | し | す | せ | そ | K | L | M | N | O | ||
4 | た | ち | つ | て | と | P | Q | R | S | T | ||
5 | な | に | ぬ | ね | の | U | V | W | X | Y | ||
6 | は | ひ | ふ | へ | ほ | Z | ? | ! | - | / | ||
7 | ま | み | む | め | も | ¥ | & | 機 | 機 | 機 | ||
8 | や | ( | ゆ | ) | よ | * | # | 空 | 機 | 機 | ||
9 | ら | り | る | れ | ろ | 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | ||
0 | わ | を | ん | ゛ | ゜ | 6 | 7 | 8 | 9 | 0 |
ซึ่งช่วงที่ฮิตๆ ก็ถึงขนาดมีการแข่งการส่งข้อความแบบนี้ว่าใครสามารถพิมพ์ได้เร็วกว่ากัน และเท่าที่ผมถามภรรยา บางรุ่นก็สามารถส่งข้อความจากตัวเครื่องของตัวเองได้เลย บางรุ่นก็ยิ่งแปลกคือ พิมพ์ข้อความที่ต้องการลงในเครื่องก่อน แล้วก็ไปกดโทรศัพท์โทรหาโอเปอเรเตอร์ กดเบอร์ที่ต้องการส่งไป แล้วเอาลำโพงของตัวเครื่องพ็อคเก็ตเบลของเราไปจ่อที่ปากโทรศัพท์ แล้วกดส่ง เครื่องก็จะส่งเสียงโค้ดตามที่เราพิมพ์ไว้เข้าโทรศัพท์ แล้วเสร็จก็กด # ระบบก็จะแปลงสัญญาณเป็นข้อความตามที่เราพิมพ์ไว้แล้วส่งไปที่เครื่องปลายทาง ผมฟังแล้วก็ได้แต่ทึ่งในพัฒนาการอย่างบ้าบอกึ่งอนาลอกกึ่งดิจิตจอลของระบบและความขยันในการอยากส่งข้อความของวัยรุ่นญี่ปุ่นยุคนั้น
ซึ่งพอส่งข้อความได้มากขึ้น วัยรุ่นก็ยิ่งฮิตกว่าเดิม โดยเฉพาะวัยรุ่นในเขตเมือง จากเป้าหมายเป็นอุปกรณ์สำหรับเซลส์ กลายเป็นว่าตลาดสำคัญคือวัยรุ่นโดยเฉพาะสาวๆ ทำให้ดีไซน์เครื่องต่างๆ ออกมาดูน่ารักหวานแหววเอาใจวัยรุ่น และพ็อคเก็ตเบลก็ขึ้นจุดพีคในปีค.ศ. 1996 เพราะมีให้บริการถึง 10 ล้านเครื่อง แต่เมื่อพีคแล้วก็มีแต่ขาลง เมื่อโทรศัพท์มือถือ (รวมถึงเครื่อง PHS) เริ่มเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และสามารถทำอะไรได้มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้พ็อคเก็ตเบลเสื่อมความนิยมลงอย่างรวดเร็วจนช่วงปลายยุค 90s ก็หายไปจากความทรงจำของของวัยรุ่นรวมไปถึงผู้คนทั่วไป
แต่จริงๆ แล้ว ในญี่ปุ่น ยังมีการใช้พ็อคเก็ตเบลมาจนถึงทุกวันนี้นะครับ
โดยเจ้าดังๆ หลายเจ้าก็เลิกให้บริการไปกันหมด เหลือแต่บริษัท Tokyo Telemessage ที่ให้บริการในพื้นที่โตเกียวและจังหวัดรอบๆ ซึ่งคนที่ใช้ส่วนใหญ่ก็เป็นการทำสัญญาใช้งานแบบองค์กร ลูกค้าหลักก็คือองค์กรทางการแพทย์และกฎหมาย คงเอาไว้ให้แพทย์หรือทนายของตัวเองพกติดตัวไว้ เพราะว่าสัญญาณมันแรงกว่าโทรศัพท์มือถือครับ ไปไหนมาไหนก็ติดตามตัวง่ายกว่า มีอะไรฉุกเฉินโทรไม่ติด ก็ตามด้วยพ็อคเก็ตเบลนี่ล่ะครับ
แต่ถึงแม้จะมีคนใช้บริการอยู่ แต่บริษัทเองก็ไม่สามารถขยายการให้บริการเพิ่มได้ และเลิกรับลูกค้าใหม่ในปีค.ศ. 2013 และปัจจุบันก่อนที่จะยกเลิกการให้บริการเมื่อสิ้นเดือนที่ผ่านมา ก็มีลูกค้าที่ใช้บริการรวมทั้งหมดประมาณ 1,500 คน ซึ่งก็ตามที่บอกไปว่าเกือบทั้งหมดเป็นการทำสัญญาในนามองค์กร Yahoo! Japan เขาสงสัยเลยลองไปตามหาว่าใครเป็นลูกค้าแบบรายบุคคล ก็เลยให้บริษัทช่วยติดต่อคนๆ นั้น กลายเป็นว่า ได้พบกับคุณ เคน ฟุจิคุระ (Ken Fujikura) นั่นเอง
คุณเคนอาศัยอยู่ที่เมืองนาริตะ จังหวัดจิบะ และที่เขาใช้บริการพ็อคเก็ตเบลจนถึงทุกวันนี้ ก็มีเหตุผลน่ารักๆ คือ เพื่อให้คุณแม่อายุ 80 ติดต่อเขาได้ เพราะคุณแม่แก่มากจนไม่สามารถทำความเข้าใจกับคอนเซ็ปต์ของการโทรศัพท์ไปหาโทรศัพท์มือถือ (ไม่ใช่ไม่เข้าใจว่าทำยังไงนะครับ แต่ไม่เข้าใจระดับคอนเซ็ปต์เลย) แต่ติดต่อพ็อคเก็ตเบลได้ เพราะแต่ก่อนเคยใช้ติดต่อพ่อของคุณเคนอยู่ กลายเป็นว่าคุณเคนก็เลยใช้พ็อคเก็ตเบลเพื่อความเคยชินของคุณแม่ ซึ่งก็มีคุณแม่คนเดียวที่รู้เบอร์ ดังปุ๊บก็รู้ว่าต้องโทรกลับบ้านหาแม่ ก็น่ารักดี แม้จะต้องจ่ายเดือนละ 2,500 เยนเป็นค่าใช้บริการ แต่เพื่อแม่นั่นล่ะครับ แต่พอจะเลิกระบบ คุณเคนเองก็เศร้าเหมือนกันและคงต้องหาทางสอนให้แม่โทรเข้าโทรศัพท์มือถือให้ได้
ในวันสุดท้ายของพ็อคเก็ตเบล ชาวญี่ปุ่นเขาก็มีการติดแฮชแท็กรำลึกบ้าง บางคนก็เล่าเรื่องราวของตัวเองกับพ็อคเก็ตเบลบนโลกออนไลน์ และที่อากิฮาบาระก็มีการจัดพิธีไว้อาลัยให้กับพ็อคเก็ตเบลอีกด้วย กลายเป็นช่วงเวลารำลึกอดีตหันหอมหวานของวัยรุ่นยุค 90s ของชาวญี่ปุ่น และเป็นเครื่องเตือนใจได้ว่า อะไรก็ไม่จีรัง ว่าแต่ ผมเองก็อยากเอาถ่านไปใส่เครื่องเพจเจอร์ของผมดูว่า ข้อความเก่าๆ สมัยเรียนยังอยู่รึเปล่า ขึ้นมาเลยล่ะครับ
อ้างอิงข้อมูลจาก